เมื่อสมัยผู้เขียนกำลังศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๕ นั้น ผู้เขียนได้เรียนเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย สมัยสุโขทัย ครูได้ยกตัวอย่างข้อความในหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่ว่า
         
“
ฃุนสามชนเจ๋าเมืองฉอดมาท่เมืองตากพ่กูไปรบฃุนสามชนหววซ๋ายฃุนสามชนขบบมาหววฃวาฃุนสามชนเกลื่อนเฃ๋าไพ่รฝ๋าหน๋าใสพ่กูหนีญญ่ายพายจแจ (กู) บ่หนีกูขี่ช๋างเบกพลกูขบบเฃ๋าก่อนพ่อกูกูฏ่(ช๋า)งด๋วยขุนสามชนตนกูพู่งช๋างฃุนสามชนตววชื่มาสเมืองแพ่ฃุนสามชนพ่ายหนีพ่กูจี่งฃื๋นชื่กูชื่พระรามคํแหง
”
          แล้วครูก็ถามว่า “คิดว่ากองทัพสองกองนี้พบกันหรือไม่” ด้วยความคิดเป็นเด็ก ๆ ว่า ทัพนึงไปซ้าย ทัพนึงมาขวา มันก็ต้องไม่เจอกัน แต่ปรากฏว่าครูเฉลยว่าที่ว่าซ้ายคือซ้ายของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ที่ว่าขวานั้นคือขวาของขุนสามชน ดังนั้นทัพทั้งสองจึงปะทะกัน พ่อขุนศรีอินทราทิตย์แพ้ จนลูกชายต้องมาแก้หน้า
          เมื่อฟังดูก็ยังงง ๆ อยู่ว่าทำไมลูกถึงกล้าประจานพ่อไว้ในศิลาถึงเพียงนั้น ไม่เห็นสมกันกับที่เขากล่าวว่าการจดบันทึกนั้นเขาจดกันแต่เรื่องดี ๆ ส่วนเรื่องไม่ดีเขาไม่จดกันหรอก การที่ลูกกล้ากล่าวถึงการไร้ความสามารถของพ่อขนาดนี้ ก็คงไม่ใช่คนดีเสียแล้ว
          ปมสำคัญไม่ได้อยู่ที่พ่อขุนรามคำแหงจะอกตัญญูต่อพ่อหรือไม่ แต่อยู่ที่ “คำและการตีความ” ต่างหาก การตีความว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์พ่ายต่อขุนสามชนนั้น
เป็นการตีความของยอร์ซ เซเดส์ ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส จะตีความผิดหรือถูกก็ต้องพิเคราะห์กันก่อนจึงจะเชื่อ เพราะยอร์ซ เซเดส์ไม่ใช่คนไทย อาจตีความโดยใช้แนวคิดของภาษาฝรั่งเศสก็เป็นได้ ดังนั้น เรามาตีความกันในฐานะคนไทยมองภาษาไทยกันดีกว่า
          ประโยคที่ว่า “
พ่กูไปรบฃุนสามชนหววซ๋ายฃุนสามชนขบบมาหววฃวา
”  เราต้องมานึกกันก่อนว่า “กู” ในที่นี้คือใคร ซึ่งก็คือพ่อขุนรามคำแหงนั่นเอง และ
ในภาษาไทยที่คนไทยพูดกัน เวลาเราบอกทิศทางเราจะบอกโดยใช้ตัวเราเป็นหลัก ดังนั้น “หววซ๋าย
หววฃวา” จึงน่าจะเป็นทางซ้ายหรือทางขวาของพ่อขุนรามเอง (แต่ยอร์ซ เซเดส์ บอกว่า ซ้าย คือ ซ้ายของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ส่วนขวา คือ ขวาของขุนสามชน ซึ่งขัดกับหลักภาษาไทย เราต้องไม่ลืมว่าพ่อขุนรามเป็นคนไทย ย่อมพูดตามแบบของภาษาไทย ไม่ใช่ภาษายอร์ซ เซเดส์)
          ดังนั้น เมื่อ “
พ่กูไปรบฃุนสามชนหววซ๋ายฃุนสามชนขบบมาหววฃวา
” ก็แสดงว่า
พ่อขุนศรี อินทราทิตย์ ดำเนินทัพไปเบื้องซ้ายแห่งพ่อขุนรามคำแหง ส่วนขุนสามชนดำเนินทัพมาทางเบื้องขวาแห่งพ่อขุนรามคำแหง ก็ในเมื่อทัพทั้งสองทัพ “ไปมา” กันคนละทางเช่นนี้เอง จึงกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า “นายทัพทั้งสองทัพ ไม่ได้ปะทะศึกกันเลย”
          หากมีใครคิดจะแย้งเรื่อง “หววซ๋ายหววขวา” ว่าไม่น่าจะเป็นอย่างที่ผู้เขียนสันนิษฐาน (เชื่อฝรั่งมากกว่าว่างั้นเหอะ) ก็ลองไปดูคำ “ไป
มา” ดูก็ได้ เพราะบอกว่า “
พ่กูไปซ๋าย ฃุนสามชนมาฃวา
” ถ้าเราจะยึดเอาตามฝรั่งจริง ๆ ก็มีคำถามว่าแล้วทำไมจึงไม่ใช้ว่า “พ่อกูไปซ้าย ขุนสามชนไปขวา” บ้างล่ะทั้ง ๆ ที่ถ้าเราถามขุนสามชนแล้ว ขุนสามชนจะต้องบอกว่า “กูไปรบ ไม่ใช่กูมารบ” เป็นแน่ คำ “ไปมา” นี้จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องช่วยยืนยันว่าการบอกทิศทางนั้น เป็นการบอกทิศทางโดยยึดที่ตัวพ่อขุนรามคำแหง ไม่ได้ยึดที่ “บุคคลผู้ถูกกล่าวถึง” อย่างที่ยอร์ซ เซเดส์ ตีความเอาไว้
          ประการต่อมาที่ช่วยยืนยันอีกครั้งว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ไม่ได้รบกับขนสามชน” คือประโยคที่ว่า
“
(กู) บ่หนีกูขี่ช๋างเบกพลกูขบบเฃ๋าก่อนพ่อกู
” ประโยคก็บอกอยู่แล้วว่า “กูขับเข้าก่อนพ่อกู” นี่ก็แสดงว่า “พ่อกูขับตามหลังกูมา”
          เพราะอะไรน่ะหรือ ?
         
ก็เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เดินทัพไปทางซ้าย ในขณะที่ขุนสามชนมาทางขวา แม่ทัพทั้งสองไม่ได้ปะทะกันเลย ส่วนพ่อขุนรามคำแหงคงคุมทัพอยู่ตรงกลาง (กองหลัง) เมื่อทัพของขุนสามชนเกลื่อนเข้ามาทางขวา ทัพปีกขวาของ “พ่อไทย” ทั้งสองถอยร่นลงมาไม่เป็นกระบวน พ่อขุนรามคำแหงเห็นดังนั้น จึงรีบขับช้างเข้าปะทะกับขุนสามชน พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งไปทางซ้าย เมื่อเห็นดังนั้น ก็รีบขับช้างกลับมายังทางขวา แน่นอน
ต้องเป็นการตามหลังพ่อขุนรามคำแหง ดังนั้น เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมีชัยเหนือขุนสามชน พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงยกย่องชมเชยบุตรชายผู้มีอายุได้เพียง “สิบเก้าเฃ้า” (๑๙ ข้าว หมายถึง ๑๙ ปี) โดยขึ้นชื่อว่า “พระรามคำแหง”
          ดังที่ได้อธิบายมานี้ เราจึงสามารถสรุปได้ว่าการที่เราเชื่อการตีความของ ยอร์ซ เซเดส์ นั้นไม่น่าจะเหมาะสมนัก เพราะผู้ตีความไม่ใช่คนไทย ย่อมไม่เข้าใจ “การใช้ภาษาไทย” ได้ดีไปกว่าคนไทยด้วยกันเอง และการที่คนไทยเชื่อฝรั่งมากเกินไปจนไม่รู้จักไตร่ตรองนี้เอง ก็ทำให้เราเข้าใจอะไรผิด ๆ กันตลอดมาในระยะเวลาหลายสิบปี เมื่อมีใครคิดจะแก้ความเข้าใจผิดนั้น ก็มักต้องประสบภัย “ต่อต้าน” จากคนไทยหัวฝรั่งทุกทีไป
          ส่วนที่มีผู้รู้ระดับ “ดอกเตอร์” คนหนึ่ง ชื่อ “ดอกเตอร์พ.” (นามสมมติ) อาจารย์ของมหาวิทยาลัยระดับ “กะทิ” ของไทยแห่งหนึ่ง กล่าวถึงหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ โดยสรุปง่ายๆ ว่า “รัชกาลที่ ๔ ปลอมขึ้นมาเอง” นั้น ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะ เรื่องปลอมจารึกนี้ผู้เขียนเห็นว่า
หากจารึกที่เราเห็นเป็นของปลอม คนปลอมก็คงเป็นฝรั่งที่ยุ่มย่ามกับจารึกหลักนี้มากกว่าใคร ๆ นั่นแหละ ไม่ใช่ใครอื่นเลย และของจริงอยู่ที่ไหนก็น่าจะเดากันได้
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย