นามนั้นสำคัญไฉน - นามนั้นสำคัญไฉน นิยาย นามนั้นสำคัญไฉน : Dek-D.com - Writer

    นามนั้นสำคัญไฉน

    เรื่องวุ่น ๆ ของ \"ชื่อ\"

    ผู้เข้าชมรวม

    1,374

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    2

    ผู้เข้าชมรวม


    1.37K

    ความคิดเห็น


    2

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  13 ก.ค. 46 / 21:51 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      คนไทยแต่ก่อนจะคิดจะทำอะไรเป็นต้องคิดถึงความดีความชั่วก่อนสิ่งอื่น ชมลูกชมเต้าก็ให้เป็นคนดีต่างกับสมัยนี้ที่ชอบให้เป็นคนเก่งมากกว่าคนดี การตั้งชื่อแซ่เช่นเดียวกัน ต้องตั้งแต่ในทางมงคล ดี งาม เช่น บุญมาก บุญหล่น บุญร่วง บุญทิ้ง ฯลฯ ไม่ก็ชื่อง่าย ๆ อย่างอีแดงอีเขียว นางนาค นางเกลื่อน อะไรไป นัยว่าการตั้งชื่อให้ยาวมากเป็นการทำตัวเทียมเจ้า เป็นกาลกิณีอัปมงคล ต่างกับสมัยนี้อีกเช่นกัน กล้าแม้กระทั่งนำชื่อของพระบรมวงศ์ชั้นสูงมาเป็นชื่อตัว

      ผ่านมาถึงยุคที่รัฐบาลบอกว่าประชาธิปไตยเบ่งบานเหลือเกิน ขัดกับพฤติกรรม “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ซึ่งดูเหมือนท่านชอบรวบอำนาจให้ใครคิดตามท่าน มากกว่าท่านจะฟังคนอื่น

      ผู้นำท่านนี้ไม่พอใจอะไรที่เป็นไทย ๆ หลายอย่าง ทั้งการกินหมาก การนุ่งโจงกระเบน แม้กระทั่งชื่อประเทศหรือชื่อคน ประเทศเราถูกเรียกขานว่าสยามมานานนับร้อย ๆ ปี ท่านไม่พอใจด้วยไม่สอดคล้องกับลัทธิชาตินิยมสุดโต่งของท่าน ท่านเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองไทย ไทยแลนด์ แลนด์ออฟเด็ก เอ๊ย.. แลนด์ออฟสไมล์

      ชื่อบุคคลทั่วไปท่านไม่พอใจก็สั่งให้เปลี่ยนอีก นัยว่าชื่อนั้นต้องบ่งเพศได้อย่างชื่อฝรั่ง ถ้าเรียกว่าอีตาจอร์จทีไหนทีนั้นต้องเป็นผู้ชายแน่ ๆ ถ้าเรียกลิลลีต้องเป็นสตรีทุกทีไป (แต่ลิลลีเมืองไทยยังสรุปไม่ได้ว่าชายหรือหญิง.. ฮา…) ท่านสั่งว่าชื่อชายต้องมีเดช ชื่อหญิงต้องมีศรี ชื่อคนไทยยุคนั้นจึงกลายเป็นชื่อน้ำเน่า เดินไปไหนมีแต่ อำนาจ สมชาย อาคม สมหญิง ศรีสมร ฯลฯ อย่างชื่อผู้เขียนเองหากเกิดในยุคนั้น เห็นทีท่านต้องให้เปลี่ยนเพราะชื่อกระเดียดคล้ายสตรี ถ้าต้องเปลี่ยนจริงผู้เขียนคิดว่าคงเปลี่ยนเป็น “ฌานวยหัวคิด” เพราะแสดงความเป็นชายอย่างเหลือเกิน

      ท่านผู้นำท่านนี้สั่งให้ประชาชนคนไทยเปลี่ยนชื่ออย่างเดียวไม่พอ ท่านยังเหิมเกริมอาจเอื้อมเข้าไปถึงในรั้วในวัง หันซ้ายหันขวาไม่รู้จะให้ใครเปลี่ยน แลเห็นไปทางสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามท่านคือ “สว่างวัฒนา” ท่านผู้นำคงคิดว่าได้ทีฉันล่ะหวา เดินทางไปขอเข้าเฝ้าพระองค์ท่านทันที แล้วกราบบังคมทูลว่า “ตอนนี้รัฐบาลเป็นยุครัฐนิยม เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย กฎประการหนึ่งคนไทยต้องตั้งชื่อให้ตรงเพศ พระนามของสมเด็จพระองค์ท่านคล้ายชายมากกว่าหญิง รัฐบาลขอให้ท่านเปลี่ยนพระนามเสียใหม่”

      สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ฟังแล้วตรัสออกมาด้วยน้ำเสียงเนิบ ๆ ว่า “พ่อตั้งชื่อฉันมา พ่อรู้ดีว่าฉันเป็นลูกชายหรือลูกสาว” !!!

      ท่านผู้นำจอมพลได้ยินดังนั้นไม่พูดพล่ามทำเพลง กราบปะหลก ๆ ครบสามคาบก็นั่งรถกลับไปเลียแผลที่ทำเนียบ นี่เรียกว่าทำอะไรไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง…

      มาถึงยุคนี้เป็นยุค “ถิ่นกาขาว” หรือไงไม่ทราบ ชื่อใครต่อใครต้องเป็นฝรั่งหัวดำ ฟังชื่องี้ฝรั่งจ๋า… ไม่ว่าบ้านจะอยู่ติดชายแดนเขมรหรือลาว เห็นสาว ๆ มีแต่น้องโน้ต นู๋แหม่ม น้องนิว ยัยสเตลลา   ไอ้บ้าเอริ์ธ ฯลฯ หาชื่อบุญมีบุญหล่นได้น้อยเต็มทน ถ้าจะตั้งชื่อไทยให้เก๋หน่อยต้องเป็นชื่อมากพยางค์อย่างน้องข้าวฟ่างหรือข้าวโพด แต่ยังไงก็ไม่มีวันเริ่ดเท่าชื่อฝรั่ง

      ถ้าท่านผู้นำมีอายุถึงยุคนี้ท่านคงประท้วงโดยการแก้ผ้าวิ่งรอบสนามหลวง แต่เอ๊ะ.. ท่านอาจชอบก็ได้ เพราะท่านอยากให้เมืองไทยศิวิไลซ์เหมือนเมืองฝรั่ง !!!

      สมัยที่ผู้เขียนไปศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ผู้เขียนได้ยินชื่อรุ่นพี่แปลก ๆ หลายชื่อ (ชื่อแปลก ไม่ใช่รุ่นพี่แปลก) เช่น พี่ถ่าง.. คนอะไรชื่อน่าเกลียดมาก ถ่าง.. แล้วอะไรหนอที่ถ่าง.. นี่ไม่สำคัญเท่าอะไรที่ทำให้พี่ต้องถ่าง ???

      พี่อีกคนหนึ่งหล่อเหลาเอาการมาก ถ้าประกวดหนุ่มดัชชีคงติดอันดับไม่เกินที่ ๓ วันนั้นผู้เขียนป่วยหนัก พี่คนนี้พาผู้เขียนไปหาหมอ เสร็จแล้วใจดีพาน้องไปกินน้ำเต้าหู้ในตลาด ผู้เขียนซดน้ำเต้าหู้สักพักจึงถามนามกรของพี่ท่าน พี่ท่านตอบว่า “พี่ชื่อเห่า”

      ผู้เขียนแทบสำลักน้ำเต้าหู้ คิดในใจว่า “เออหนอ… หน้าตาออกจะหล่อเหลาทำไมพ่อแม่ตั้งชื่อเหมือนกลั่นแกล้ง อยากให้ลูกเป็นหมาหรือไง” ท่าทางพี่ท่านจะจับกิริยาออกรีบอธิบายว่า “เห่า.. งูเห่าน่ะ” เป็นอันรอดตัวไปที คิดว่าคนรูปงามต้องหมดท่าเพราะ “หมาเห่า”





      สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
      ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×