พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล ? - พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล ? นิยาย พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล ? : Dek-D.com - Writer

    พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล ?

    พระองค์ทรงนิพนธ์ จริงหรือ ?

    ผู้เข้าชมรวม

    4,123

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    14

    ผู้เข้าชมรวม


    4.12K

    ความคิดเห็น


    1

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  10 ก.ค. 46 / 14:18 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      เมืองใดไร้สิ่งอันพึงมี ย่อมเสื่อมศักดิ์ศรีไร้คุณค่า
      พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล

      เมืองใดไม่มีทหารหาญ เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า
      เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน
      เมืองใดไม่มีพณิชเลิศ เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน
      เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม
      เมืองใดไม่มีกวีแก้ว เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม
      เมืองใดไร้นารีงาม เมืองนั้นสิ้นความภูมิใจ
      เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย
      เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย ฯ

      คำประพันธ์ชุดนี้ทุกคนเชื่อมาแต่เล็กแต่น้อยว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพิจารณาดูเนื้อหาสาระแล้วนับว่าเป็นคำประพันธ์ที่มีคุณค่ายิ่ง เพราะได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญอันสังคมที่เจริญแล้วพึงมี หากสังคมหรือชนชาติใดปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้วไซร้ ความวิบัติหรือการมีอันเป็นไปต่าง ๆ ย่อมปรากฏแก่สังคมหรือชนชาตินั้นอย่างมิต้องสงสัยเลย

      ทว่า เมื่อเกิดคำถามว่าคำประพันธ์ดังกล่าวนี้ ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องใดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นทีจะเป็นคำถามที่ทำให้ผู้ถูกถามต้องหัวปั่นเป็นแน่ นอกจากพยายามบ่ายเบี่ยงแล้วยืนกรานตามความเห็นว่าเป็นพระราชนิพนธ์จริง หากเป็นเรื่องใดนั้นจำไม่ค่อยได้

      ผมเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีข้อสงสัยต่อกรณีนี้เช่นเดียวกัน ผมจึงพยายามศึกษางานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มากชิ้นที่สุดเท่าที่ผมจะหาข้อมูลมาได้ เหตุอันน่าประหลาดใจเกิดขึ้นในขณะนั้นเองว่าไม่พบคำประพันธ์ชุดนี้ในพระราชนิพนธ์เรื่องใดเลย

      ผมได้หอบหิ้วความสงสัยนี้เรียนถาม รองศาสตราจารย์ กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนวิชาสัมมนาวรรณคดีรัชกาลที่ ๖ ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อ.กัญญรัตน์ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นพระราชนิพนธ์อย่างแน่นอน และได้กรุณาสอบทานไปยัง “หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ พระนคร” ซึ่งเจ้าหน้าที่ของหอวชิราวุธฯ มีใจเอื้อเฟื้อค้นหาข้อมูลให้เป็นอย่างดี

      เจ้าหน้าที่ประจำหอวชิราวุธฯ ได้กรุณาส่ง Fax สำเนาบทความที่ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล” เขียนลงใน “มานวสาร” ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๘ บทความนั้นชื่อ “กังวลเรื่องเมืองกังวล”

      บทความที่ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล เขียนไว้นั้นสรุปความได้ว่าท่านมีความกังวลใจมานานเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ทั้งท่านเองได้ทำงานใน “คณะอนุกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” หรือชื่อย่อว่า ก.ร.ว. คราหนึ่งได้มีครูบาอาจารย์โทรศัพท์ไปสอบถาม ก.ร.ว. ว่าคำประพันธ์บทนี้เป็นพระราชนิพนธ์เรื่องใด ทาง ก.ร.ว. ตอบไปว่าไม่ทราบ ทั้งนี้เพราะ ก.ร.ว. เองไม่ทราบจริง ๆ ทั้งไม่เชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ด้วย ข้อนี้ไม่น่าแปลกเพราะ ก.ร.ว. จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมผลงานพระราชนิพนธ์ทุกชิ้นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ย่อมจะต้องรู้จักและสนใจงานพระราชนิพนธ์ทุกชิ้นยิ่งกว่าใคร จะเป็นรองก็แต่พระองค์ท่านผู้พระราชนิพนธ์เองเท่านั้น

      ต่อมาไม่นานวงดุริยางค์กองทัพบก ได้นำบทประพันธ์บทนี้ซึ่งใส่ทำนองเพลงเรียบร้อยแล้วมาบรรเลง กรรมการ ก.ร.ว. ท่านหนึ่งจึงได้อาสา ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น ไปสอบถามที่มาจากวงดุริยางค์กองทัพบก โดยได้รับคำตอบว่าได้บทประพันธ์นี้มาจากเศษกระดาษวารสาร “สามมุข” เมื่อสอบถามต่อไปยังบรรณาธิการวารสารสามมุข ได้รับคำตอบว่าจำที่มาหรือชื่อผู้ที่ส่งมาให้ไม่ได้เพราะนานเหลือเกิน

      เพลง “เมืองกังวล” เป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานนำมาบรรเลงเพื่อถวายเป็นราชสดุดี ในกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ กรมพลศึกษานำเพลงนี้มาบรรเลงในวันลูกเสือแห่งชาติ ถ่ายทอดออกอากาศทั้งวิทยุและโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ หรือวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน อันเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต กรมประชาสัมพันธ์ และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยก็ถวายราชสดุดีด้วยเพลงนี้เช่นเดียวกัน เลยยิ่งทำให้ความเชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ได้หยั่งรากฝังลึกลงทุกที
      โดยเฉพาะกรมประชาสัมพันธ์ได้เชิญ ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น ไปบันทึกเสียงสัมภาษณ์สดุดีสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พอเสร็จการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ก็ถวายราชสดุดีด้วยเพลงนี้อีก

      จวบจนกระทั่งวันหนึ่ง ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ได้บ่นเปรย ๆ ขึ้นมา ผู้ที่ได้ยินเข้าจึงกราบเรียนว่ารู้จักผู้ที่แต่งกลอนบทนี้ คือ คุณถนอม อัครเศรณี และได้นำหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ ให้ ฯพณฯ อ่าน ได้ความว่าคุณถนอมประพันธ์กลอนบทนี้ให้โรงเรียนประจำอำเภอบ้านโป่ง (ราว พ.ศ. ๒๔๙๒) แรกนั้นตั้งชื่อว่า “หัวใจเมือง” ใช้นามปากกา “อัครรักษ์”

      หลายปีต่อมา คุณสง่า อารัมภีร์ คงมีความประทับใจคำประพันธ์บทนี้เป็นพิเศษ จึงประพันธ์ทำนองเพลงเพื่อส่งเข้าประกวดในงานวชิราวุธานุสรณ์ โดยได้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “เมืองกังวล” ยังดีที่คุณสง่า เกิดกังวลสมชื่อเพลง จึงได้โทรศัพท์สอบถามคุณถนอมว่าเป็นพระราชนิพนธ์หรือไม่ คุณถนอมได้ตอบคุณสง่าว่า “เป็นบทกลอนของผมเอง” คุณสง่าจึงไม่ส่งเพลงนี้เข้าประกวดเนื่องจากผิดกติกา

      ปัญหาสุดท้ายที่ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ยังติดใจสงสัยอยู่ก็คือใครหนอเป็นผู้นำเพลงที่ไม่ได้ส่งเข้าประกวดไปเผยแพร่

      อาจมีผู้อ่านจำนวนมากมีความเคลือบแคลงสงสัยข้อมูลที่ ม.ล. ปิ่น มาลากุล เขียนมา ผมจึงขอเรียนให้ทราบว่า ม.ล. ปิ่น มาลากุล เคยถวายงานเป็นมหาดเล็กรับใช้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดมาก่อน จนได้สัมผัสต้นฉบับลายพระหัตถ์ของล้นเกล้าฯ มามากมาย มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งสมัยเด็ก ม.ล. ปิ่น เคยลืมงานต้นฉบับของล้นเกล้าฯ ไว้บนรถเมล์ ยังดีที่ไม่สูญหายไปไหน สามารถติดตามนำกลับคืนมาได้ นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่า ม.ล. ปิ่น ต้องรู้จักงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านไม่น้อยเลย ทั้ง ม.ล.ปิ่น ยังมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก ดังนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ ม.ล.ปิ่น จะกล้ากล่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงหากเป็นพระราชนิพนธ์จริง

      ประการต่อมา ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ แต่กลอนบทนี้ประพันธ์ขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๒ หลังปีเสด็จสวรรคตถึง ๒๔ ปี แล้วจะเป็นงานพระราชนิพนธ์อย่างไรได้ ในเมื่อผู้ทรงนิพนธ์ได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว

      ความเข้าใจผิดนั้นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนย่อมมีกันได้ หากประเด็นสำคัญอยู่ที่เมื่อเราทราบแล้วว่าเราเข้าใจผิด เราควรยินดีที่จะแก้ไขความเข้าใจผิดนั้นให้ถูกต้อง ผมเองไม่ได้เป็นผู้วิเศษมาจากไหน เพราะเข้าใจผิดมาก่อนเช่นเดียวกัน แต่เมื่อเข้าใจผิดและทราบความจริงแล้ว ผมจะไม่ดันทุรังต่อไปเพียงเพื่อ “รักษาความเชื่อที่ฉันเคยเชื่อมา”

      ถ้าจะถามว่าแล้วไฉนคุณถนอมจึงประพันธ์ว่า “พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล” ข้อนี้ไม่แปลกเพราะงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านหลายชิ้น ได้กล่าวถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ไว้เช่นเดียวกัน การที่คุณถนอมจะนำเอาแนวคิดเหล่านั้นมาแต่ง โดยบอกว่าพระองค์ท่านทรงนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวลจึงเป็นอันไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

      ผมเชื่ออย่างเหลือเกินว่าการชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ไม่ได้เป็นการลดพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่อย่างใด แต่การที่กล่าวผิดยกเอางานของผู้อื่นมาเป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์นั้นย่อมเป็นการไม่สมควร พอ ๆ กับการที่หากผมแต่งกลอนสักบทแล้วใครนำไปป่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์ ผมคงรู้สึกคัน ๆ บน “ลอมปอมกระหม่อมบาง” ของผม เพราะไม่รู้ว่าขี้กลากจะขึ้นหัวผมไปแล้วหรือยัง

                      

        

      ขอยกความดีทั้งหมดแด่
      ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ม.ล. ปิ่น มาลากุล
      ร.ศ. กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์
      คุณวรชาติ มีชูบท เจ้าหน้าที่ประจำหอวชิราวุธานุสรณ์

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×