หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
ชื่อเรื่อง :  Kamen Rider : Evolution H to K
ใครแต่ง : Gokai Red
25 มี.ค. 54
60 %
8 Votes  
#83 REVIEW
 
เห็นด้วย
5
จาก 5 คน 
 
 
วิจารณ์ Kamen Rider : Evolution H to K

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 30 เม.ย. 55
ก่อนอื่นต้องขอสารภาพตามตรงว่าผมไม่ค่อยได้ติดตาม Masked Rider หรือที่เรียกกันติดปากคนไทยว่า “ไอ้มดแดง” เท่าไรนัก เคยได้ดูอย่างจริงจังจนจบซีรีย์มีเพียง Masked Rider Black หรือวีรบุรุษหน้ากากดำ ที่ผมได้ดูผ่านโทรทัศน์ช่องสาม สมัยยังเรียนประถมเท่านั้น ที่เหลือได้ชมเพียงซีรีย์ละไม่กี่ตอน อาจจะมีที่ตั้งใจว่าจะดูจนจบบ้างเช่น Masked Rider Kabuto หรือ Masked Rider W ที่ผมประทับใจในการออกแบบตัวละครต่างๆ แต่ก็มีเหตุให้ไม่สามารถติดตามดูจนจบได้อยู่ร่ำไป

นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ผมอ่านนิยายเรื่อง Kamen Rider : Evolution H to K ของ Gokai Red ได้ไม่ค่อยเข้าใจนัก แต่นั่นก็อาจจะเหมาะสมแล้วที่ผมได้มาอ่านนิยายเรื่องนี้ เพราะจุดด้อยหลักประการหนึ่งของนิยายเรื่องนี้คือการที่นักเขียนไม่คำนึงถึงความรู้ดั้งเดิมของผู้อ่านนั่นเอง จริงอยู่ที่นิยายเรื่องนี้มีรูปแบบของ “แฟนฟิคชั่น” หรือเรื่องราวที่แฟนของนิยาย ภาพยนตร์ การ์ตูน ฯลฯ จะเขียนขึ้นเพื่อต่อยอดจากเนื้อเรื่องเดิมที่ผู้ประพันธ์ได้สร้างสรรค์ขึ้น และผู้ที่จะมาอ่านแฟนฟิคชั่นเหล่านี้จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานมาก่อน แต่ “จักรวาล” ของไรเดอร์นั้น ออกจะกว้างขวางเกินกว่าที่ผู้ที่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้จะทำความเข้าใจได้ทั้งหมด เมื่อเข้าไปอ่านเนื้อเรื่องจึงเกิดความไม่เข้าใจศัพท์เฉพาะที่มีอยู่จำนวนมาก เช่น ไกอาเมมโมรี่ เคโมโนะ เดนไลเนอร์ ฯลฯ ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะได้ทำคำอธิบายไว้ต่างหากแล้ว แต่ก็ยังไม่ครบถ้วน อีกทั้งอ่านไปแล้วก็จำไม่ได้ เมื่อกลับมาอ่านเนื้อเรื่องก็เกิดความสับสนอีก เมื่อต้องกลับไปเปิดบทอธิบายอีกครั้งก็ทำให้เกิดความรำคาญ จนไม่อยากอ่านต่อ จึงขอแนะนำว่า ผู้เขียนน่าจะทำคำอธิบายแทรกไปในเนื้อเรื่องเลย แทนที่จะทำเป็นบทแยกต่างหากอย่างที่เป็นอยู่ และควรทำคำอธิบายให้ครบถ้วนด้วย

เนื้อเรื่องของ Kamen Rider : Evolution H to K เกิดขึ้นหลังจากขั้วแม่เหล็กโลกหยุดการทำงานไปแล้วสิบปี ทำให้รังสีจากนอกโลกสามารถเข้ามาในชั้นบรรยากาศได้ และเมื่อรังสีเหล่านั้นสัมผัสเข้ากับร่างกายของมนุษย์ ก็จะทำให้มนุษย์บางคนกลายเป็นมนุษย์ครึ่งสัตว์ที่เรียกกันในเรื่องนี้ว่า เคโมโนะ หรือเคโมะ พวกที่กลายเป็นเคโมะจะต้องอพยพไปอยู่รวมกันในเมือง Kemo City เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาก็เริ่มยอมรับสภาพของตนเอง และอยู่อย่างสันติสุข จนกระทั่งเกิดอาการ “สัญชาตญาณเป็นพิษ” กล่าวคือพวกเคโมะเริ่มทำร้ายมนุษย์ ทางการแพทย์ถือว่าเป็นอาการผิดปกติหรือเป็นโรค แต่ ฮิคาริ เรียวสุเกะ ตำรวจหนุ่มกลับไม่เชื่อเช่นนั้น และเขาต้องมาสืบเรื่องนี้ที่ Kemo City ตามคำสั่งของเบื้องบน ที่นี่เขาได้พบกับโทระ เคโมะครึ่งเสือ ที่จะกลายเป็นเพื่อนสนิทของเขา

ผู้เขียนค่อยๆ เฉลยเนื้อเรื่องว่าเป็นจริงดังที่เรียวสุเกะหรือเรียวคาดไว้ การที่เคโมะทำร้ายมนุษย์ไม่ได้เกิดจากอาการผิดปกติ แต่เป็นความตั้งใจขององค์กรลับที่มองว่าการเป็นมนุษย์ครึ่งสัตว์คือการวิวัฒนาการ และต้องกำจัดมนุษย์ธรรมดาให้หมดสิ้นไป เมื่อเรียวเข้ามาสืบความจริงเรื่องนี้ จึงเป็นธรรมดาที่องค์กรนี้ต้องกำจัดเขา แต่ไม่ง่ายนัก เมื่อเรียวประดิษฐ์อุปกรณ์แปลงร่างเป็นไรเดอร์ได้ทุกภาค แต่ที่เขาชื่นชอบมากที่สุดคงจะเป็นภาค W ที่ต้องมีชายหนุ่มสองคนรวมร่างกันเป็นไรเดอร์ ในขณะนี้เรียวยังต้องทนแปลงเป็นไรเดอร์ W ด้วยตัวคนเดียว ซึ่งสิ้นเปลืองแรงกายมาก แต่ก็ต้องจำยอมเพราะเขายังไม่ยอมให้โทระเข้ามารวมร่างด้วย เพียงแต่ให้อุปกรณ์แปลงร่างเป็นไรเดอร์ไฟส์ให้กับโทระไปเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีมนุษย์ครึ่งหมี ที่คนจากโลกอนาคตต้องการให้เขาแปลงร่างเป็นไรเดอร์เดนโอเพื่อช่วยเหลือเรียว และมนุษย์ครึ่งสุนัขป่าไซบีเรีย ที่หลงผิดใช้ยาจากองค์กรลับ โดยหวังว่าจะแข็งแกร่งขึ้นเพื่อช่วยเหลือน้องชาย กลับใจมาเป็นพวกของเรียวอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็คงไม่ยากนักสำหรับผู้อ่านที่จะเดาเนื้อเรื่องไปจนจบได้ว่า สุดท้ายแล้วเรียวก็คงจะต้องร่วมมือกับโทระ แปลงร่างเป็นไรเดอร์ W ร่วมกับเพื่อนหมีและมนุษย์หมาป่า ต่อกรกับองค์กรลับ สุดท้ายก็คงจะล้มองค์กรลับลงจนได้ ซึ่งจุดนี้ก็คงจะไม่ใช่ข้อด้อยของ Masked Rider ที่มักจะมีเนื้อเรื่องทำนองนี้อยู่แล้ว แต่หากจะมีเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนบ้างเช่นในภาค Rider Black ที่พระเอกต้องต่อกรกับชาโดว์มูน ซึ่งเคยเป็นเพื่อนสนิทของตนเอง หรือภาค Kabuto ที่อดีตของพระเอกมีความซับซ้อน ก็คงจะเป็นการดี เพราะจะทำให้ไม่น่าเบื่อ และทำให้เนื้อเรื่องมีความน่าติดตามมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ความสมจริงก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักเขียนควรต้องคำนึงถึง จริงอยู่ที่มีไรเดอร์หลายคนที่มีฝีมือเก่งกาจมาก เช่นคาบูโตะที่ไม่เคยพ่ายแพ้ หรือเดนโอที่สู้ไปคุยโทรศัพท์ไปได้ แต่ความเก่งเหล่านั้นก็ล้วนมีคำอธิบายในเนื้อเรื่อง ในขณะที่ความเก่งของเรียวสุเกะยังไม่มีข้อมูลที่บอกว่าอะไรคือสาเหตุของความเก่งของเขา ที่สามารถประดิษฐ์อุปกรณ์แปลงร่างของไรเดอร์ได้ทุกภาค ทั้งๆ ที่ในแต่ละภาค อุปกรณ์แปลงร่างก็เป็นสิ่งที่ซับซ้อน และยากยิ่งในการได้มา อีกทั้งการบอกว่ารังสีนอกโลกทำให้มนุษย์กลายเป็นเคโมะนั้น ถ้าคิดดูตามสาเหตุในเรื่องแล้วจะเห็นว่า คนทั้งโลกมีโอกาสโดนรังสีได้ทั้งหมด แต่ Kemo City กลับเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรเพียงไม่กี่คน ซึ่งก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เรื่องนี้ไม่สมจริง

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากวิจารณ์คือศัตรูของไรเดอร์ ปกติแล้วในไรเดอร์ทุกภาคจะมีการออกแบบศัตรูให้สวยงาม และมีบุคลิกที่น่าจดจำ แต่เท่าที่อ่านใน Kamen Rider : Evolution H to K ยังไม่มีศัตรูที่มีลักษณะเช่นนั้นเลย อีกทั้งฉากต่อสู้ก็ยังค่อนข้างเป็นการเล่าเรื่องมากกว่าที่จะเป็นการบรรยายการต่อสู้ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้การอ่านฉากต่อสู้ขาดอรรถรสไป อาจเป็นเพราะยากที่จะบรรยายการต่อสู้ของไรเดอร์ที่เคยเห็นแต่ในจอโทรทัศน์ออกมาเป็นตัวหนังสือ แต่ก็อยากให้ผู้เขียนลองไปอ่านนิยายที่มีการบรรยายฉากต่อสู้ เช่น เพชรพระอุมา หรือนิยายแปลของ Tom Clancy ก็น่าจะช่วยได้

สุดท้ายคือเรื่องของการสะกดผิด ซึ่งมีคำที่สะกดผิดอยู่จำนวนมาก เช่น คำว่า นั้น ที่หลายครั้งควรจะใช้คำว่า นั่น กระเป๋าเป๋ (กระเป๋าเป้) กบเกลื่อน (กลบเกลื่อน) ทิเล่นทิจริง (ทีเล่นทีจริง) ฯลฯ เป็นสิ่งที่นักเขียนต้องลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน
     
 
ใครแต่ง : Gabriel
30 มี.ค. 55
60 %
2 Votes  
#84 REVIEW
 
เห็นด้วย
5
จาก 5 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Demon Lord สงครามเทพอสูร

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 21 มิ.ย. 55
Demon Lord สงครามเทพอสูร ของ Gabriel น่าจะเป็นนิยายแฟนตาซีเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่ง เพราะขณะนี้เรื่องดำเนินมาถึง 36 ตอนแล้ว แต่เนื้อหาที่นำเสนอยังเป็นเพียงการเริ่มปูพื้นให้ผู้อ่านรู้จักประวัติความเป็นมาและความสามารถต่างๆ ของตัวละครหลัก 13 ตัวเท่านั้น นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของกลุ่มแฟนท่อมที่มีเป้าหมายจะฟื้นคืนชีพราชาเดม่อน จอมมารที่ถูกกิลลาส เฟอร์ดูเน่ ใช้เวทมนตร์ที่เขาสร้างขึ้นเป็นเขตอาคมและใช้ร่างกายของตนเป็นเขตกักกันไว้เมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา จนทำให้ ฟอล ฟรีด นักเรียนเข้าใหม่ปีหนึ่งของมหาวิทยาลัยอเคมี่อัลเวส และเพื่อนใหม่อีก 12 คน ได้รับมอบหมายจากครูใหญ่ให้มีหน้าที่หยุดยั้งแผนการของกลุ่มแฟนท่อมในครั้งนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นโลกก็จึงกาลวิบัติเป็นแน่

หากพิจารณาเพียงแค่ชื่อเรื่องก็ดูเหมือนว่าไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับนิยายแนวแฟนตาซีโรงเรียนเวทมนตร์แต่อย่างใด ถ้าไม่ใช่เพราะ Gabriel กำหนดให้กลุ่มตัวละครเอกเป็น 13 นักเรียนอัจฉริยะปีหนึ่งที่เพิ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยอเคมี่อัลเวสได้ และยังกำหนดให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นคุกที่ใช้กักขังพลังปีศาจของราชาเดม่อนอีกด้วย จึงทำให้เรื่องราวส่วนใหญ่ต้องเกิดขึ้นในบริเวณโรงเรียน หรือในระหว่างชั่วโมงเรียนโดยไม่อาจเลี่ยงได้ ด้วยเหตุนี้ นิยายเรื่องนี้จึงกลายเป็นแฟนตาซีแนวโรงเรียนเวทมนตร์ไปโดยปริยาย

นิยายเรื่องนี้มีความโดดเด่นในแง่ของการสร้างตัวละคร แม้ว่าในตอนนี้ Gabriel จะเปิดตัวละครออกมาเกือบ 30 ตัวแล้ว แต่ตัวละครแต่ละตัวยังคงความเฉพาะตัวของตนไว้ได้ ทั้งรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และ ความสามารถพิเศษต่างๆ รวมทั้งลักษณะนิสัยบางอย่างของตัวละครยังช่วยสร้างความทรงจำ และบางครั้งก็กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจในตัวละครบางตัวได้อย่างง่ายดาย เช่น เฟตัน ลิงค์ เด็กชายบ้าพลังที่มีความอดทนเป็นเลิศ และต่อสู้เหมือนสัตว์ป่า เคิส โซดีนัน เด็กหนุ่มที่มีวิญญาณสองดวงในร่างเดียว ในสายคนอื่นมันจะเห็นเขาพูดกับตัวเองอยู่เสมอๆ หรือ ลินน่า วอลเล่อร์ เด็กสาวสวยสูงศักดิ์ ผู้หยิ่งยโส เพราะเธอมาจากตระกูลเล่นแร่แปรธาตุที่โด่งดัง และมีฝีมือเก่งกาจจนสามารถเอาชนะอาจารย์ในการทดสอบฝีมือขณะสอบเข้าโรงเรียนได้ แต่ก็ยังมีบางครั้งที่ผู้อ่านเกิดความสับสนในการจดจำตัวละครบ้าง เมื่อ Gabriel เปิดตัวละครมาพร้อมๆ กันหลายตัว และกล่าวถึงตัวละครเหล่านั้นอย่างผ่านๆ

นอกจากนี้ Gabriel ยังสามารถสร้างความน่าติดตามให้กับผู้อ่าน ด้วยการสร้างให้ตัวละครหลักๆ เหล่านี้ต่างมีภูมิหลังที่เป็นความลับ หรือมีปริศนาบางอย่างที่ยังไม่เปิดเผย ซึ่งจะค่อยๆ ทยอยเปิดเผยขึ้นทีละน้อย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตอันแสนรันทนในอดีตของวิล โลเวนเซีย ผู้ที่เคยเป็นอดีตสมาชิกของกลุ่มแฟนท่อม ซึ่งปัจจุบันถูกสมาชิกของกลุ่มแฟนท่อมตามล่า จนต้องหนีเข้ามาเป็นนักเรียนใหม่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ หรือ ลาวี คอนเนอร์ เด็กใหม่ชั้นปีที่หนึ่งที่มีความเฉลียวฉลาด แต่เบื้องหลังที่แท้จริงเขาเป็นคนของหน่วยงานลับของราชวงศ์ มีหน้าที่ไล่ล่าสมาชิกกลุ่มแฟนท่อม และทำหน้าที่ดูแลลูกแก้ววิญญาณ ซึ่งก็คือหัวใจของราชาเดม่อน เพราะถ้าราชาเดม่อนไม่ตาย ดวงวิญญาณในลูกแก้วก็จะไม่ได้รับการปลดปล่อย หรือวิญญาณอีกดวงในร่างของเคิส โซดีนัน ที่มีฝีมือเทียบเท่าจอมเวทระดับสูงที่ใช้เวทสายศักดิ์สิทธิ์ และน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับกิลเลส ผู้กักขังราชาเดม่อนในอดีต

แม้ว่า Gabriel จะสามารถสร้างตัวละครได้อย่างน่าสนใจและชวนติดตาม แต่การที่เรื่องกำหนดให้มีนักเรียนอัจฉริยะชั้นปีที่ 1 เข้าโรงเรียนพร้อมกันมากถึง 13 คนในปีเดียว ซึ่งแต่ละคนก็มีความสามารถอันโดดเด่น จนทำให้พวกเขากลายเป็นความหวังที่รับหน้าที่อันสำคัญยิ่งในการต่อสู้กับกลุ่มแฟนท่อมที่เก่งกาจ และมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องต่อสู้ราชาเดม่อนด้วยก็เป็นได้ แทนเหล่าอาจารย์ผู้มากความสามารถและประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยอเคมี่อัลเวส ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในการสร้างแม่ทัพและนักปกครองของประเทศต่างๆ ทั้งๆ ที่พวกเขาเพิ่งเข้าเรียนได้ไม่ถึงหนึ่งภาคการศึกษา ดูเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อไปสักหน่อย เนื่องจากจะเห็นว่ายังมีตัวละครบางตัวที่เพิ่งใช้พลังและได้ต่อสู้อย่างแท้จริงก็เมื่อมาเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นครั้งแรก เช่น ฟอล ฟรีด

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้นิยายเรื่องนี้น่าติดตามก็คือ ความสามารถในการบรรยายของนักเขียนช่วยสร้างความสมจริงให้กับฉาก เหตุการณ์ และเรื่องเล่าต่างๆ ที่นำเสนอ อันรวมถึงฉากต่อสู้ ซึ่งถือเป็นฉากหลักของเรื่อง จะเห็นว่าแม้ตัวละครแต่ละตัวจะมีความสามารถเฉพาะที่ต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นการใช้เวท การเล่นแร่แปรธาตุ การใช้ซากศพ การใช้ผู้พิทักษ์ การใช้เวทรักษา หรือการใช้อาวุธต่างๆ ในการสู้ เช่น หอก ปืน Gabriel ก็ยังสามารถบรรยายฉากการต่อสู้เหล่านั้นได้อย่างชัดเจน จนผู้อ่านสามารถใช้จินตนาการสร้างภาพตามได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความน่าตื้นเต้น ลุ้นระทึก และความมีชีวิตชีวา ในขณะอ่านได้เป็นอย่างดี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในเรื่องยังปรากฏคำผิดอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งคำผิดที่ปรากฏเหล่านี้ลดทอนอรรถรสในระหว่างที่อ่านเรื่องลง เช่น เวท เขียนเป็น เวทย์ เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทย์มนต์ แป๊บ เขียนเป็น แปบ เกียจคร้าน เขียนเป็น เกลียดคร้าน อาณาเขต เขียนเป็น อณาเขต เพ้อฝัน เขียนเป็น เพ้อฟัน ไหม เขียนเป็น ไม ไสหัว เขียนเป็น ไส้หัว ผมยาวปะบ่า หรือ ผมยาวระดับบ่า เขียนเป็น ผมยาวประดับบ่า ขวางทาง เขียนเป็น ขว้างทาง เต็ม เขียนเป็น เติม เตะ เขียนเป็น เต๊ะ นี่นา เขียนเป็น นิน่า นี่ เขียนเป็น นิ ศูนย์กลาง เขียนเป็น สูญกลาง หิวโซ เขียนเป็น หิวโซ่ สัญลักษณ์ เขียนเป็น ศัญลักษณ์ เหวี่ยง เขียนเป็น เหวี่ง ถอดใจ เขียนเป็น ทอดใจ คล่องแคล่ว เขียนเป็น คล่องแคลว เคร่งเครียด เขียนเป็น เร่งเครียด ตระกูล เขียนเป็น ตระกู ท่าทาง เขียนเป็น ถ้าทาง ย้าก เขียนเป็น ย๊าก แปลกหน้า เขียนเป็น แปกหน้า ขี้เซา เขียนเป็น ขี้เศร้า จู๋จี่ เขียนเป็น จู้จี้ ช่วย เขียนเป็น ช้วย กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน หน่วยลับ เขียนเป็น หน่วยรับ กู่ไม่กลับ เขียนเป็น กรู่ไม่กลับ เต้นท์ เขียนเป็น เต้น สังเกต เขียนเป็น สังเกตุ ขมขื่น เขียนเป็น ข่มขืน และยังมีการใช้คำขยายวลีบางวลีที่ไม่ถูกต้อง เช่น เหวอไปพักใหญ่ เขียนเป็น เผลอไปช่วงใหญ่



--------------------------------------
     
 
ใครแต่ง : ไลเคน
11 ก.พ. 55
60 %
2 Votes  
#85 REVIEW
 
เห็นด้วย
5
จาก 5 คน 
 
 
วิจารณ์ Κατάρα: Katara; ผู้ต้องสาป

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 13 ก.ย. 55

Κατάρα: Katara; ผู้ต้องสาป ผลงานของ ไลเคน นับเป็นนิยายแฟนตาซีขนาดยาวอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้เป็นการนำเสนอภาค “จิตวิญญาณ” ซึ่งโพสต์ถึงตอนที่ 12 หากจะให้เดา เรื่องนี้น่าจะมีหลายภาค เพราะว่าผู้ต้องสาปที่จะกล่าวถึงนั้นสามารถแยกออกได้เป็น 13 กลุ่มตามธาตุพื้นฐานสำคัญที่ให้ไฟธาตุมีความต่างกันถึง 13 ชนิด ธาตุจิตวิญญาณในภาคนี้ได้รับพลังมาจากธาตุไซโค ซึ่งให้ไฟธาตุสีม่วง โดยมีตัวละครหลักที่เป็นตัวแทนของผู้ต้องสาปที่ได้รับพลังธาตุนี้คือ ฟอร์ทิส เด็กชายที่เกิดมาพร้อมกลับกลายเป็นผู้ต้องสาปแห่งคาทารา ซึ่งติดเชื้อไวรัสขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา ทำให้เมื่อเกิดมากลายเป็นสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์หรือเด็กต้องสาปที่ถูกผู้คนในสังคมรอบข้างรังเกียจ ทำให้ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ตกอยู่ในความทุกข์ทรมานมาตลอดนับตั้งแต่เกิด และที่สำคัญเขามีความสามารถพิเศษในการรับทราบความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในใจคนอื่นได้ ขณะเดียวกันก็ต้องฝืนแสดงออกว่าร่าเริง เพื่อปกปิดความทุกข์ทรมานให้คนในครอบครัวที่รักเขาต้องทุกข์ทรมานไปกับเขาด้วย

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าอ่านนิยายเรื่องนี้จบถึงที่ ไลเคน โพสต์ตอนล่าสุดคือตอนที่ 12 ไว้นานมากแล้ว แต่ที่ยังไม่วิจารณ์เพราะต้องการรอให้ rewrite นิยายตามที่แจ้งไว้ว่าจะขอแก้ไขในช่วงเดือนเมษายนก่อน แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ได้ rewrite จึงตัดสินใจวิจารณ์เลยเผื่อข้อคิดบางประการที่เสนอไว้อาจจะช่วยในการ rewrite ได้บ้าง
นิยายเรื่องนี้เปิดบทนำได้อย่างน่าตื่นเต้นและน่าติดตามเป็นอย่างมาก แต่น่าเสียดายที่ ไลเคน ไม่ได้นำเรื่องราวในบทนำพัฒนาหรือมีส่วนในการพัฒนาเรื่องในตอนต่อๆ ไปเลย เพียงแต่บอกว่าเรื่องราวในบทนำเป็นเพียงความฝันของ ฟอร์ทิสเท่านั้น ทั้งๆ ที่ขณะอ่านเรื่องราวในตอนต่อๆ มากลับรู้สึกว่าเรื่องราวในบทนำนั้นแท้ที่จริงน่าจะเป็นจุดกำเนิดที่ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์หรือคาทาราขึ้นมามากกว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ สิ่งที่ค้างใจที่ยังหาคำตอบไม่ได้ก็คือ ผู้หญิงท้องแก่ที่มีแสงสีม่วงส่องออกมาจากครรภ์ของเธอที่อยู่ในบทนำมีความสัมพันธ์กับฟอร์ทิส (ที่มีธาตุพิเศษของคาทาราเป็นสีม่วงเช่นกัน) อย่างไร

ประการต่อมาที่พบคือ พัฒนาการของเนื้อเรื่องดูจะผูกพันอยู่เฉพาะกับฟอร์ทิส ซึ่งเป็นตัวละครหลักในเรื่องเป็นสำคัญ โดยให้ฟอร์ทิสเป็นศูนย์กลางของเรื่อง ขณะเดียวกันก็ให้เขาเป็นตัวดำเนินเรื่องด้วย แต่เนื่องจากว่าฟอร์ทิสเป็นตัวละครที่ย้ำคิดย้ำทำ และมักจะหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกหม่นเศร้าของตนที่ต้องมารับรู้ความรู้สึกนึกคิดของคนรอบข้างที่รังเกียจและเกลียดกลัวเขาจนไม่อยากเข้าใกล้ จนทำให้ดูเหมือนว่าเรื่องดูจะวนซ้ำๆ ในประเด็นเดิมเสมอ แม้ว่าจะมีตัวละครอื่นๆ เสริมเข้ามาเพื่อดึงให้เรื่องดำเนินไปทางอื่นๆ ได้บ้าง แต่ท้ายที่สุดเรื่องก็มาจบลงที่ความรู้สึกหดหู่และเศร้าโศกของฟอร์ทิสอยู่ดี ด้วยเหตุนี้จึงอยากเสนอว่า ไลเคน น่าจะวางโครงเรื่องหลักไว้อย่างชัดเจนว่าจะเปิดเรื่องอย่างไร จะให้เรื่องดำเนินไปในทิศทางใด มีปมปัญหาใดบ้าง ซึ่งต้องพัฒนาปมปัญหาไปจนถึงจุดสูงสุด ก่อนที่จะมีการคลี่คลายปัญหาที่นำไปสู่ตอนจบของเรื่องต่อไป หากจะมีภาคต่ออาจจะต้องเริ่มแนะนำตัวละครในภาคต่อมาบ้างแล้ว และคงต้องคิดถึงการทิ้งท้ายเรื่องในตอบจบเพื่อจะต่อไปยังภาคต่อไปด้วย ในการวางโครงเรื่องไว้อย่างชัดเจนเช่นนี้ อาจจะช่วยลดปัญหาที่ว่าทำอย่างไรให้เรื่องดำเนินไปโดยไม่ต้องผูกติดกับความรู้สึกนึกคิดและการดำเนินชีวิตของฟอร์ทิสมากนัก แม้ว่าจะให้ฟอร์ทิสเป็นตัวดำเนินเรื่องก็ตาม

ความชัดเจนของคำอธิบายเกี่ยวกับ “ผู้ต้องสาป” หรือ คาทารา” ก็มีความสำคัญ เพราะเนื้อหาโดยรวมจะกล่าวถึงเรื่องนี้เป็นหลัก แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าเหตุผลที่ผู้เขียนให้ไว้เกี่ยวกับผู้ต้องสาปหรือคาทารายังไม่ชัดเจนนัก และบางครั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับคาทาราก็ดูจะขัดกันเองอยู่ หากพิจารณาจากคำอธิบายในเรื่องจะพบว่า จุดกำเนิดของคาทาราหรือผู้ต้องสาปเกิดการระเบิดของศูนย์วิจัยจนทำให้กัมมันตภาพรังสีที่ใช้ในการทดลองรั่วไหลออกสู่อากาศ และกลายพันธุ์เป็นไวรัส ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าวจะกลายเป็นคาทารา ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสนี้คือเด็กในครรภ์มารดา และนอกจากคนแล้ว สิ่งมีชีวิตที่สามารถกลายพันธุ์เป็นคาทาราได้อีกคือ พืช และสัตว์ แต่ผู้เขียนยังไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอะไรคือจุดเด่นหรือเอกลักษณ์สำคัญที่ทำให้คาทาราต่างจากสิ่งมีชีวิตธรรมดา จนกระทั่งสามารถแยกออกได้แค่เพียงการมองเห็น นอกจากนี้สิ่งที่น่าแปลกใจอีกประการหนึ่งคือ คุณลักษณะของคาทาราหรือผู้ต้องสาปก็น่าจะคล้ายคลึงกัน เพราะเกิดมาจากสารต้นกำเนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือ พืช แต่เหตุใดจึงดูเหมือนว่ามีแต่เฉพาะคาทาราที่เป็นคนเท่านั้นที่มีอันตรายและเป็นที่เกรงกลัวและรังเกียจจากคนทั่วๆไป จนกระทั่งเด็กบางคน แม้แต่พ่อแม่ยังรังเกียจเขาเลย เช่น อาเทอร์ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าหากคนส่วนใหญ่ในสังคมรู้สึกว่าคาทาราที่เป็นคนมีอันตรายมากขนาดนี้ก็น่าจะมีมาตรการป้องกันและควบคุมคาทาราเหล่านี้ให้รัดกุมขึ้น เช่นมีสถานที่เฉพาะสำหรับคนกลุ่มพิเศษกลุ่มนี้ หรือมีวิธีการสั่งสอนหรืออบรมให้คนกลุ่มนี้รู้จักวิธีการใช้พลังหรือควบคุมพลัง เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กๆ ทั้งนั้น ขณะเดียวกันก็จะเห็นว่าคนกลุ่มนี้มักจะแสดงพลังพิเศษออกมาก็ต่อเมื่อถูกรังแกจนถึงขีดสุดเท่านั้น พวกเขามิใช่ผู้ที่คิดว่าตนมีอำนาจพิเศษแล้วทำตัวเกะกะระรานผู้ที่อ่อนแอกว่าจนกลายเป็นที่หวาดเกรงของคนทั่วไป

ขณะเดียวกันเนื้อเรื่องที่นำเสนอตั้งแต่ต้นก็มิได้แสดงให้เห็นว่าคาทาราที่เป็นคนเหล่านี้เป็นภัยร้ายแรงที่ต้องกำจัดแต่อย่างใด เพราะยังมีการจัดแข่งขันร่วมกันระหว่างคนธรรมดากับคาทาราเพื่อขจัดอคติระหว่างกันด้วย สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ หากอ่านเพียงวัตถุประสงค์ก็ดูเหมือนว่าน่าจะเป็นสิ่งที่จะช่วยให้คาทาราอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างเป็นสุข แต่เมื่อไปดูรายละเอียดในการแข่งขันแล้ว ดูประหนึ่งว่ายิ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น และอาจจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้คนทั่วไปสามารถที่จะรังแกและทำร้ายคาทาราได้มากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก เพราะคาทารากลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขันครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขัน ผู้แสวงหา (ต้องตามหาสิ่งมีชีวิตที่ต้องสาปมากที่สุด) หรือ ผู้ควบคุม (ฝึกคาทาราของตนให้แข่งแกร่งในการประลองกับคาทาราของผู้อื่น) จึงเกิดข้อสงสัยว่าจุดยืนของเรื่องที่ ไลเคน ตั้งใจอยู่ที่กันแน่ เพราะขณะหนึ่งแสดงให้เห็นว่าแสดงความเห็นใจคาทารา แต่การกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องดูจะเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมให้คาทาราต้องทุกข์ทรมานมากขึ้นไปอีกอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากที่พ่อของฟอร์ทิสนำต้นเซ็นทิสกลับมาที่บ้าน ซึ่งเขาเองก็ทราบว่าต้นไม้ชนิดนี้เป็นต้นไม้ที่นำมาใช้ทำกำไรคาสลิสเพื่อใช้จับและกักขังพลังของคาทารา ก็ไม่น่าจะนำกลับมาบ้าน เพราะว่าต้นไม้ชนิดนี้จะมีผลร้ายกับเฟอร์ทิสลูกชายของเขาเอง ท้ายที่สุดก็ดูเหมือนว่าพ่อตั้งใจจะใช้ฟอร์ทิสเป็นเสมือนหนูทดลองเพื่อจะได้ทราบคุณลักษณะที่แท้จริงของต้นเซ็นทิสสายพันธุ์ใหม่ที่เขาเพิ่งค้นพบ จึงสงสัยว่าแท้ที่จริงแล้วพ่อรักเขาหรือกลัวเขากันแน่

ในส่วนของการเขียนนั้นพบว่า ไลเคน สามารถเขียนบทบรรยายได้ดี โดยเฉพาะการบรรยายความรู้สึกของตัวละครที่ถูกกระทำที่หม่นเศร้า หดหู่ และแปลกแยกจากสังคม จนทำให้ผู้อ่านสามารถเกิดความรู้สึกคล้อยตามและสงสารตัวละครเหล่านั้นได้ แต่บางครั้งการบรรยายลักษณะตัวละครหรือฉากต่างๆ ก็ยังไม่สื่อความได้อย่างชัดเจนเท่าใดนัก เช่น บรรยายอาร์เทอร์หน้าเหมือนเด็กมัธยมต้น ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็ไม่สามารถจินตนาการได้ว่าหน้าตาของเด็กมัธยมต้นที่ผู้เขียนต้องการอธิบายนั้นเป็นอย่างไร เพราะคำว่ามัธยมต้นยังไม่สามารถสื่อความในเชิงภาพพจน์ได้อย่างชัดเจน หรือยังมีคำขยายในการบรรยายที่แปลกๆ เช่น บรรยายว่า ตึกทั้งตึกสั่นระรัวราวกับลูกแมวเปียกฝนที่หนาวสั่น ก็นึกภาพของตึกที่สั่นเหมือนลูกแมวไม่ออกว่าเป็นอย่างไร และบางครั้งก็มีการบรรยายที่ผิดบริบทไปบ้าง จนทำให้การบรรยายในส่วนนั้นแปลกแยกจากเรื่องทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเรื่องราวที่ดำเนินอยู่นั้นน่าจะเป็นประเทศใดประเทศหนึ่งที่มิใช่ประเทศไทยหรือประเทศในโซนเอเซีย แต่ผู้แต่งกลับให้ตัวละครกินโจ๊ก หรือ เคารพธงชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่ามีคำที่เขียนผิดประปราย เช่น ปรารนา เขียนเป็น ปรารถนา ฮะ หรือ หา เขียนเป็น ห๊ะ พะรุงพะรัง เขียนเป็น พรุงพรัง สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ ขนลุกเกรียว เขียนเป็น ขนลุกเกียว อัคคี เขียนเป็น อัคคีย์ บริภาษ เขียนเป็น บริพาท ปฏิหารย์ เขียนเป็น ปาฏิหาริย์ แป๊บ เขียนเป็น แปบ อนุญาต เขียนเป็น อนุญาติ มหาศาล เขียนเป็น มหาศาส ภรรยา เขียนเป็น ภรรญา สถิต เขียนเป็น สถิตย์ ซาบซึ้ง เขียนเป็น ทราบซึ้ง ซุ่มซ่าม เขียนเป็น สุ่มซ่าม ว้าก เขียนเป็น ว๊าก กฎ เขียนเป็น กฏ ขยะแขยง เขียนเป็น ขยักแขยง เถา เขียนเป็น เถาว์ เถาวัลย์ เขียนเป็น เถาว์วัลย์ หอมกรุ่น เขียนเป็น หอมกรุน เขียวเข้ม เขียนเป็น เขี้ยวเข้ม พรุ่งนี้ เขียนเป็น พุร้งนี้ เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทมนต์ ใช่ เขียนเป็น ใช้ สู้ เขียนเป็น สู่ โธ่เว้ย เขียนเป็น โถ่เว้ย ศีรษะ เขียนเป็น ศรีษะ แปรเปลี่ยน เขียนเป็น แปลเปลี่ยน ฉัน เขียนเป็น ชั้น โศกเศร้า เขียนเป็น โสกเศร้า หา เขียนเป็น ห๋า กำไล เขียนเป็น กำไร ตระเวน เขียนเป็น ตระเวร นอกจากนี้ยังมีคำบางคำที่ไม่นิยมใช้ คือ ห้อโลหิต แต่จะใช้ว่า ห้อเลือด มากกว่า
ทั้งนี้ ผู้วิจารณ์หวังว่าข้อสังเกตที่เสนอไปข้างต้นอาจจะมีส่วนช่วยในการ rewrite เรื่องนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย


-----------------------------------------

     
 
8 พ.ค. 55
80 %
6 Votes  
#86 REVIEW
 
เห็นด้วย
5
จาก 5 คน 
 
 
วิจารณ์ Couple Planing Love วางแผนหัวใจรักยัยจอมแสบ

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 30 พ.ย. 55
Couple Planing Love วางแผนหัวใจรักยัยจอมแสบ นิยายรักหวานแหวว ผลงานของ คามีนาส_น้ำหมึกสีดำ เพิ่งโพสต์ถึงตอนที่ 13 ซึ่งเป็นเรื่องราวที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาความสัมพันธ์ของเพื่อนคือจินนี่และริว จนกลายเป็นคู่รักกันในที่สุด

ความสะดุดใจครั้งแรกเมื่ออ่านเรื่องนี้พบว่ามีคำผิดในชื่อเรื่อง นั่นคือคำว่า “Planing” คำที่ถูกต้องเขียนว่า “Planning” จึงเห็นว่าผู้เขียนต้องให้ความสำคัญกับชื่อเรื่องมากเป็นพิเศษ เพราะชื่อเรื่องเป็นเสมือนด่านแรกที่เชื่อมผู้เขียนและผู้อ่านเข้าหากัน จึงไม่ควรจะมีคำผิดปรากฏอยู่ในชื่อเรื่อง ไม่เช่นนั้นจะทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้อ่านต่อเรื่องและต่อผู้เขียนลดลงอย่างน่าเสียดาย นอกจากนี้ยังพบว่าชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีจุดเน้นที่ต่างกัน ในขณะที่ชื่อภาษาอังกฤษเน้นที่คำว่า “ความรัก” (love) เพราะเป็นคำนามหลักของวลีนี้ แต่ชื่อภาษาไทยกลับเน้นที่คำว่า “วางแผน” ดังนั้น ถ้าผู้เขียนต้องการให้ชื่อภาษาอังกฤษและภาษาไทยมีความหมายไปในทิศทางเดียวกัน โดยอาศัยภาษาไทยเป็นหลัก ชื่อภาษาอังกฤษก็ควรเปลี่ยนจาก “Couple Planning Love” เป็น “Lovers Couple’s Planning” หรือ “Couple Planning of Love” แทน

สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นเมื่ออ่านมาถึงตอนที่ 13 คือเรื่องยังไม่มีพัฒนาการของเรื่องไปในทิศทางใดเลย เพราะเรื่องยังคงวนอยู่ในประเด็นซ้ำๆ และให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมเดิมๆ นั่นคือให้จินนี่และริวเข้าใจผิด ทะเลาะ โกรธ งอน ง้อ และปรับความเข้าใจกันได้ในที่สุด หากจะบอกว่านี่เป็นช่วงเปิดเรื่องเท่านั้น เพราะตัวละครหลักทั้งสองเพิ่งจะเริ่มตระหนักว่ามีความรู้สึกพึงพอใจที่แปลกไปจากความเป็นเพื่อนระหว่างกันเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ก็ดูจะดำเนินเรื่องอย่างเนิบช้าไปสักหน่อย ขณะเดียวกันเรื่องก็ยังไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางที่สอดรับกับโครงเรื่องหลัก (main plot) นั่นคือ การที่ตัวละครตัวหนึ่งตัวใดเป็นผู้วางแผนเพื่อทำให้คนที่ตนหลงรักกลายมาเป็นคู่รักตนอย่างสมใจ ในที่นี้น่าจะเป็นริวที่วางแผนเพื่อให้จินนี่มาเป็นแฟนของตนให้ได้ เรื่องนี้จึงควรจะวางโรงเรื่องให้กระชับและน่าสนใจมากกว่านี้ โดยปูเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างริวกับจินนี่สั้นๆ ก่อนเริ่มเข้าสู่การพัฒนาโครงเรื่องด้วยการวางแผนเพื่อสร้างและถักทอความรักระหว่างตัวละครทั้งสองมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันในการพัฒนาเรื่องก็จะนำไปสู่จุดพลิกผันด้วยการสร้างปมปัญหาต่างๆ ซึ่งปมปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินตามแผนการต่างๆ ที่วางไว้ เช่น อาจมีเหตุทำให้แผนการที่วางไว้ไม่สามารถดำเนินตามที่หวังได้ หรือมีตัวละครตัวหนึ่งตัวใดที่ขัดขวางแผนการที่วางไว้ ก่อนที่ปมปัญหาเหล่านั้นจะพัฒนาเรื่องไปจนถึงจุดสูงสุดของเรื่อง และในที่สุดจึงจะคลี่คลายเรื่องมาสู่ตอนจบ
นิยายเรื่องนี้ยังคงใช้กลวิธีการเขียนคล้ายๆ กับนิยายแนวหวานแหววเรื่องอื่นๆ กล่าวคือ ดำเนินเรื่องโดยอาศัยบทสนทนามากกว่าบทบรรยาย แม้ว่า คามีนาส_น้ำหมึกสีดำ จะพยายามเขียนบทบรรยายไว้ในเรื่องคั่นระหว่างบทสนทนาแล้วก็ตาม แต่บทบรรยายที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นบทบรรยายที่เขียนโดยใช้ภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน เพราะบทบรรยายส่วนใหญ่มักจะเป็นบทรำพึงที่ตัวละครใช้พูดกับตัวเอง เมื่อแทรกอยู่ระหว่างบทสนทนาก็ทำให้กลมกลืนจนดูเหมือนกับเป็นบทสนทนาไป เช่น

หนอยๆ !! ฉันขอถอนคำพูดว่า ฉันแอบเป็นห่วงนายอยู่ในใจได้มั้ยเนี่ย เชอะ! ไอคนเราเป็นห่วงกันมาดู มาพูดซะ ระวังไว้เถอะเครื่องเล่นเครื่องสุดท้าย นายต้องส่งเสียงออกมาแน่

หรือ

ฉันค่อยๆ เดินไปนั่งที่เก้าอี้ข้างเตียง หลังจากที่ทำงานบ้านเสร็จหมดแล้ว ฉันหยิบนาฬิกาปลุกขึ้นมา พรุ่งนี้จะตื่นซักกี่โมงดีน้า ... เอ๊ย! ลืมไปได้ไงเนี่ย พรุ่งนี้ฉันต้องไปทำงานตอนเช้ากับแม่นี่นา ล... แล้วตอนนี้มันกี่โมงแล้วล่ะ เฮ้ย!! นี่มันตี 1 กว่า แถมพรุ่งนี้ฉันจะต้องตื่นตี 4 อีก งั้นไม่ไหวล่ะรีบไปแปรงฟันนอนแล้ว ขืนมัวแต่ทำนู้นทำนี่ต่อก็ไม่ได้นอนกันพอดี T^T

ด้วยเหตุนี้จึงอยากเสนอให้ คามีนาส_น้ำหมึกสีดำ เขียนบทบรรยายด้วยภาษาเขียนก็จะช่วยให้เห็นความแตกต่างระหว่างบทสนทนากับบทบรรยายได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า คามีนาส_น้ำหมึกสีดำ มักจะไม่บรรยายรูปร่างและลักษณะต่างๆ ของตัวละครตัวใดๆ เลย จนทำให้ผู้อ่านแทบจะไม่สามารถนึกภาพของตัวละครใดๆ ได้เลย ขณะเดียวกันผู้อ่านก็รู้จักตัวละครอย่างคร่าวๆ เพราะผู้แต่งละเลยที่จะบรรยายให้ผู้อ่านเห็นบุคลิก หรือลักษณะนิสัยอันโดดเด่นของตัวละครแต่ละตัวด้วยเช่นกัน โดยส่วนตัวพอจับได้ลักษณะเด่นของตัวละครเพียงสองตัวได้พอเลาๆ คือ ริว เป็นเด็กผู้ชายฉลาดเรื่องเรียน เป็นผู้นำทางด้านกีฬา ไม่เก่งเรื่องเดียวคือร้องเพลง รวยเป็นเจ้าของโรงเรียน มีนิสัยเฉยชา จึงไม่มีผู้หญิงคนใดมาชอบ และ จินนี่ เป็นเด็กผู้หญิง ไม่ไว้ใจหรือเชื่อใจคนรอบๆ ตัว ยกเว้น แซน เพื่อนสนิท และคนในครอบครัว เป็นเด็กดีในสายตาของอาจารย์ มีความฝันอยากไปเรียนต่อและทำงานที่ต่างประเทศ ส่วนตัวละครอื่นๆ นั้นเป็นภาพเบลอมากๆ รู้แค่ว่าตัวละครตัวนั้นชื่ออะไรและมีบทบาทใดในเรื่องเท่านั้นเอง เพราะตัวละครอื่นเป็นเหมือนตัวประกอบที่แทบจะไม่มีบทบาทใดๆ กับเรื่องราวที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้เลย

ลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์อีกประการหนึ่งของนิยายแนวหวานแหวว คือ การใช้อีโมติคอน ซึ่ง คามีนาส_น้ำหมึกสีดำ ก็นิยมใช้ด้วยเช่นกัน โดยส่วนใหญ่มักจะใช้อีโมติคอนเป็นเสมือนเครื่องแสดงการจบประโยคเท่านั้น อีโมติคอนดังกล่าวจึงไม่ได้ทำหน้าที่เสริมความให้กับบทสนทนาหรือบทบรรยายข้างต้นเท่าใดนัก และบางครั้งเมื่อมีการใช้อีโมติคอนในลักษณะนี้เป็นจำนวนมากก็ดูน่ารำคาญได้ จึงอยากให้ คามีนาส_น้ำหมึกสีดำ ตัดอีโมติคอนที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องใส่ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทสนนาหรือบทบรรยายที่สามารถสื่อความได้ด้วยตนเองออก ก็จะไม่ทำให้เนื้อเรื่องเต็มไปด้วยอีโมติคอนจนดูรกมากเกินไป นอกจากนี้ยังพบว่าผู้เขียนยังนิยมนำอีโมติคอนหลายๆ ตัวมาต่อกันเพื่อสื่ออารมณ์ของตัวละคร โดยไม่มีบทบรรยายหรือบทสนทนาแทรกเลย เช่น
“...”
“...”
“(0_0)”
“(0_0)”
หรือ
“(-- )”
“( --)”
“(-- )”
“(--)”

โดยส่วนตัวเห็นว่าบางครั้งแม้ว่าอีโมติคอนจะสื่ออารมณ์ของเรื่องให้ผู้อ่านทราบได้ แต่ก็มีข้อจำกัดว่าผู้ที่จะเข้าใจหรือแปลความอีโมติคอนเหล่านั้นได้จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจความหมายของอีโมติคอนตัวนั้นๆ เป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงเห็นว่าเพื่อให้เรื่องสามารถสื่อความได้กับผู้อ่านทุกคน ไม่ใช่ผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม ผู้เขียนควรใช้การบรรยายอารมณ์ด้วยภาษาแทนการใช้อีโมติคอนในการสื่อความก็จะส่งอารมณ์และความหมายได้ชัดเจนและตรงตามความประสงค์ของผู้อ่านทุกประการ

นอกจากนี้ การสร้างเหตุการณ์บางฉากยังขาดความสมจริง เช่น เหตุการณ์ที่แซม เชื่อใครก็ไม่รู้ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนมาบอกว่าเธอเป็นสาเหตุให้ริวกับจินนี่ทะเลาะกัน จนทำให้เธอหลบหน้าจินนี่กับริวตลอดเวลา หรือ เจ้าหน้าที่อนุญาตให้จินนี่ (น่าจะ)เป็นเพียงลูกสาววิศวกรที่ออกแบบเครื่องเล่น(มากกว่าที่จะเป็นเจ้าของสวนสนุก) สามารถพาเพื่อนมาเล่นเครื่องเล่นใหม่ที่ยังไม่ผ่านการทดสอบเรื่องความปลอดภัยใดๆ อีกทั้งบางเหตุการณ์ที่เรียงต่อกันบางครั้งก็ยังต่อกันไม่สนิท เพราะมีองค์ประกอบของฉากบางประการที่ผิดเพี้ยนไป เช่น มีเหตุการณ์หนึ่งที่เปิดฉากให้คนขายน้ำเรียกริวมารับน้ำปั่นที่สั่งไว้ ซึ่งจินนี่บอกว่าจะนำไปให้ริวเอง แต่พอเดินถือไปกลางทางอยู่ๆ น้ำปั่นในมือก็กลายเป็นไอศกรีมมะม่วงไป หรืออีกฉากที่เปิดว่าจินนี่อยู่ที่ร้านขายของของแม่ แต่อีกสองบรรทัดต่อมากลับบอกว่าจินนี่อยู่ที่บ้าน จึงอยากให้ คามีนาส_น้ำหมึกสีดำ กลับไปทบทวนเหตุการณ์เหล่านี้อีกครั้งว่าต้องการจะสื่อความถึงอะไรกันแน่ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันด้วย ริวบอกให้จินนี่รอเขาสักครู่เพราะเขาจะไปเข้าห้องน้ำ พอริวเดินกลับมา

จินนี่กลับโกรธและต่อว่าริวที่เขาปล่อยให้เธอรออยู่คนเดียวค่ำมืดไม่ปลอดภัย ในความเป็นจริง จินนี่ก็ทราบอยู่ก่อนแล้วและยินดีที่จะรอริวอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่จินนี่ควรเน้นที่ต้องโกรธริวที่สมเหตุสมผลที่สุดคือ การที่ริวโกหกว่าจะไปเข้าห้องน้ำ แต่จริงๆ แอบแวะไปซื้อของมากกว่า เช่นเดียวกับเหตุผลที่ริวให้กับตัวเองที่ทำให้จินนี่โกรธว่า สิ่งที่ทำให้จินนี่โกรธทำให้เขารู้ว่าเงินซื้อทุกอย่างไม่ได้ ทุกสิ่งเกิดขึ้นเพราะฟ้าลิขิตไว้แล้ว ในเหตุการณ์นี้ผู้วิจารณ์เห็นว่าเหตุผลที่จินนี่โกรธคือริวโกหกเธอ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการที่ริวจะมีเงินหรือไม่ หรือไม่เกี่ยวข้องกับชะตาที่ฟ้าลิขิตไว้ใดๆ เลย

ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งที่พบในเรื่องอีกประการหนึ่ง คือ นิยายเรื่องนี้มีคำผิดจำนวนมาก ซึ่งเกิดมาจากหลายสาเหตุ คือ การใช้วรรณยุกต์สลับกัน เช่น อึ้ง เขียนเป็น อึ่ง แก๊ง เขียนเป็น แก้ง ส่าย เขียนเป็น สาย อ้าว เขียนเป็น อ่าว พรุ่งนี้ เขียนเป็น พรุ้งนี้ ใส่ เขียนเป็น ใส้ การเขียนสระ ไ- และ สระ ใ- สลับกัน เช่น ทันใด เขียนเป็น ทันได การเขียนผิดเพราะไม่ทราบว่าคำที่ถูกเขียนว่าอย่างไร เหรอ เขียนเป็น หรอ อนุญาต เขียนว่า อนุญาติ บ้านผีสิง (สิง หมายถึง อยู่ เข้าอยู่ เข้าแอบแทรกอยู่) เขียนเป็น บ้านผีสิงห์ (สิงห์ หมายถึง สัตว์ในนิยายถือว่ามีความดุร้ายและมีกำลังมาก) อารมณ์ เขียนเป็น อารมย์ นี่ เขียนเป็น นิ ฮ่าๆๆๆ เขียนเป็น ห้าๆๆๆ เนอะ เขียนเป็น เนาะ อุตส่าห์ เขียนเป็น อุสา น่าเกลียด เขียนเป็น น่าเกียจ อันธพาล เขียนเป็น อันตพาน รำคาญ เขียนเป็น ลำคาญ สบายใจเฉิบ เขียนเป็น สบายใจเฉิ่ม พะรุงพะรัง เขียนเป็น พลุงพลัง รถเมล์ เขียนเป็น รถเมย์ บ้าบอคอแตก เขียนเป็น บ้าบอขอแตก ประมาณ เขียนเป็น ประมาน แป๊บ เขียนเป็น แปบ และ เขียนเป็น แระ พิรุธ เขียนเป็น พิรุต ร่องลอย (หมายถึง สิ่งที่ส่อเค้าให้รู้หรือเห็น) เขียนเป็น ล่องลอย (หมายถึง ลอยไปอย่างไม่มีจุดหมาย) ลังเล เขียนเป็น รังเร ก็ เขียนเป็น ก้ ธุระ เขียนเป็น ทุระ น่ากิน เขียนเป็น หน้ากิน กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน ตวาด เขียนเป็น ตะหวาด เคร่งเครียด เขียนเป็น เคล้งเคลียด
--------------------
     
 
ใครแต่ง : อคิน
9 ส.ค. 58
80 %
9 Votes  
#90 REVIEW
 
เห็นด้วย
4
จาก 4 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Probably Out of Luck...รักอุตลุด...

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 12 มี.ค. 56
Probably Out of Luck…รักอุตลุด นวนิยายแนวซึ้งกินใจ ผลงานของ อคิน ซึ่งเขียนจนจบเรื่องถึงตอนที่ 36 แล้ว ขณะนี้ อคิน กำลังรีไรท์เรื่องใหม่อีกครั้ง โดยลบตอนเก่าออก และโพสต์เฉพาะตอนที่รีไรท์เสร็จถึงตอนที่ 7 เท่านั้น เรื่องราวทั้งหมดเท่าที่ปรากฏเป็นการดำเนินเรื่องไปเพียงเล็กน้อย แต่ยังพอให้คาดเดาได้ว่าผู้เขียนจะดำเนินไปในทิศทางใด ซึ่งโครงเรื่องหลักคงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวความรักระหว่างชาครินทร์ ทายาทมหาเศรษฐี กับกอข้าว สาวชาวเหนือที่เพิ่งเรียนจบและเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตามลำพัง ตอนนี้เพิ่งจะตกงานและกำลังหางานทำอยู่ ทั้งคู่รู้จักกันเพราะรถชนกัน และต่างก็ไม่ค่อยชอบหน้ากันนัก แต่มีเรื่องราวชักนำให้ทั้งสองต้องพบปะกันเสมอ ซึ่งคาดว่าในไม่นานความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่คงจะเปลี่ยนจากความไม่ชอบหน้ากลายเป็นความรัก

นวนิยายเรื่องนี้ไม่แตกต่างจากนวนิยายเรื่องอื่นๆ ในแนวนี้เท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างตัวละครเอกตามความนิยม ไม่ว่าจะเป็นพระเอก คือชาครินทร์เป็นชายหนุ่มหน้าตาดี ทายาทเศรษฐี หน้าที่การงานดี เอาแต่ใจตัวเอง ใช้เงินเป็นเบี้ย และมีชีวิตเสเพล เพราะมีปมในจิตใจ ขณะที่นางเอก กอข้าว เป็นหญิงสาวหน้าตาดี ฐานะปานกลาง มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น ปากกล้า ไม่ยอมตามใจพระเอก แต่มีลักษณะบางอย่างที่ต้องตาและทำให้พระเอกถูกใจ อีกทั้งจะพบว่านวนิยายแนวนี้หลายเรื่องนิยมสร้างฉากรถชนเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างนางเอกและพระเอก ซึ่งในนิยายเรื่องนี้ก็สร้างให้พระเอกกับนางเอกพบกันด้วยปัญหานี้เช่นกัน อย่างไรก็ดีก็ยังเห็นความพยายามของ อคิน ที่ต้องการสร้างให้นวนิยายเรื่องนี้มีมิติอื่นๆ นอกจากเรื่องรวมความรักของชาครินทร์และกอข้าว นั่นคือการสร้างให้
ชาครินทร์มีปมในใจ เพราะมีข่าวลือว่าเขาเป็นสาเหตุให้แม่ตาย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อ แม้ว่าเขาพยายามทำตัวดีที่สุด จนเลวที่สุด แต่ก็ไม่เคยที่จะทำให้พ่อหันกลับมามองเขาได้เลย ซึ่งเรื่องราวระหว่างชาครินทร์นับว่าเป็นโครงเรื่องย่อย (sub plot) ที่น่าติดตามว่าท้ายที่สุดแล้วความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่จะลงเอยอย่างไร และใครจะมาเป็นกาวใจชักนำให้คนทั้งคู่เข้าใจกัน

เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้เพิ่งเปิดเรื่องไปเพียงเล็กน้อย จึงยังไม่ปรากฏแง่มุมให้วิจารณ์ได้มากนัก ผู้วิจารณ์ขอกล่าวถึงเพียงข้อบกพร่อง 2 ประเด็นที่พบ คือ ความสมจริงที่ปรากฏในเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนส่งสินค้าทางเรือที่นำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศของชาครินทร์ ซึ่ง อคิน ระบุว่าตั้งสำนักงานดังกล่าวอยู่ท่ามกลางตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมหึมาจำนวนมาก และทางเข้าก็ยังหายากเหมือนเดินในเขาวงกต นับเป็นสิ่งที่ไม่สมจริงเป็นอย่างยิ่ง เพราะในความเป็นจริง หากสำนักงานที่มีคนทำงานประจำมักจะตั้งอยู่บริเวณทางเข้าด้านหน้า และตั้งแยกออกจากส่วนจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งโดยปกติมักจะอยู่บริเวณด้านหลังสำนักงาน เพื่อความปลอดภัยของการขนย้าย อีกทั้งบริษัทขนส่งที่มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งสินค้าดังกล่าวน่าจะมีราคาสูง มิฉะนั้นผู้บริหารระดับสูงอย่างชาครินทร์ไม่น่าจะต้องเข้ามาตรวจดูบริษัทนี้ด้วยตนเอง ดังนั้น บริษัทแห่งนี้ควรจะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกว่าที่บรรยายไว้ในเรื่อง ซึ่งปล่อยให้คนร้ายถืออาวุธเข้ามาในพื้นที่ของบริษัทได้

หากจะสร้างความสมจริงให้กับเรื่องในตอนนี้ อาจจำเป็นต้องปรับเรื่องให้ชาครินทร์ต้องมาตรวจสินค้าที่เพิ่งขนส่งมาใหม่ ในบริเวณที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัท ไม่มีสำนักงานที่มีคนทำงาน มีเฉพาะยามที่คอยดูแลและตรวจตราความเรียบร้อยเพียงคนหรือสองคน และชาครินทร์ไม่เวลาว่างเวลาอื่น จึงจำเป็นต้องนัดกอข้าวมาพบยังสถานที่แห่งนี้ จนพบคนร้ายที่ลอบเข้ามาในพื้นที่ของบริษัทเขา หรือปรับให้ชาครินทร์รับกอข้าวเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเขา และทั้งคู่ออกไปตรวจสินค้าในบริเวณที่จัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัท และพบคนร้ายที่แอบเข้ามาพื้นที่จัดเก็บสินค้าของบริษัทเขาก็ได้ ซึ่งจะสมจริงมากกว่า

ข้อบกพร่องประการที่สอง คือ มีคำผิด ซึ่ง อคิน คงต้องให้ความสนใจในประเด็นนี้มากขึ้น อาจจะเป็นต้องตรวจสอบการสะกดคำที่ถูกต้องกับพจนานุกรมก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ สำหรับคำผิดที่พบ เช่น หารือ เขียนเป็น หาลือ โชยหึ่ง เขียนเป็น โชยฉึ่ง เนอะ เขียนเป็น เน๊อะ ปะแป้ง เขียนเป็น ประแป้ง อิโธ่! เขียนเป็น ฮิ๊โธ่! ทันที เขียนเป็น ทันที่ ยั้วะ เขียนเป็น ยั่วะ อินเทอร์เน็ต เขียนเป็น อินเตอร์เน็ต คู้ณ เขียนเป็น คู๊ณ จั้ก เขียนเป็น จั่ก นอกจากนี้ยังมีการใช้คำที่ไม่สื่อความหมาย หรือใช้คำไม่เหมาะสมกับบริบทแวดล้อม เช่น ซ้ำมิพอ ควรจะเปลี่ยนเป็น มิหนำซ้ำ เลือดสีเข้มไหลจั่ก (จั้ก นิยมใช้ขยายเฉพาะ ฝนตกจั้กๆ เท่านั้น) ควรจะเปลี่ยนเป็น เลือดสีเข้มไหลพลั่ก (พลั่ก หมายถึง อาการทะลักที่ถูกดันออกมา) เส้นคอทองคำ ควรจะเปลี่ยนเป็น สร้อยคอทอคำ ขมวดคิ้วงุ่น (งุ่น มักใช้ว่า งุ่นง่าน หมายถึง ขัดเคืองใจ ค้างคาใจ โกรธ กระวนกระวาย) ควรเปลี่ยนเป็น ขมวนคิ้วมุ่น (มุ่น หมายถึง ขมวด กังวล) ราตรีนี้ยังเยาว์นัก (เยาว์ หมายถึง อ่อน น้อย) ควรเปลี่ยนเป็น ราตรีนี้ยังยาวนัก ในประเด็นนี้อาจจะแก้ปัญหาได้ด้วยการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น เพราะยิ่งอ่านหนังสือมากเท่าใด ก็จะเห็นตัวอย่างการใช้สำนวน การใช้คำมากขึ้น และจะช่วยให้ อคิน สะสมคลังคำจำนวนมากพอที่จะเลือกใช้ให้เหมาะกับบริบทที่จะเขียน และสร้างความหลากหลายในการเลือกใช้คำได้มากขึ้น



-----------------------
     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12