หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
ใครแต่ง : Necrodarkman
10 ก.ค. 54
60 %
12 Votes  
#21 REVIEW
 
เห็นด้วย
15
จาก 16 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Evalis ดวงดาวแห่งราชันย์

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 มิ.ย. 53

Evalis ดวงดาวแห่งราชันย์ ของ Necrodarkman มีแนวโน้มว่าจะเป็นนิยายแฟนตาซีเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่ง แม้ว่าขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 19 แล้ว แต่เรื่องก็ยังอยู่เพียงแค่ช่วงต้นเรื่องเท่านั้น นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของไฟสงครามครั้งใหญ่ซึ่งจะรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากทุกเผ่าพันธุ์ที่อาศัยในอิวาลิซ (น่าจะเป็น อิวาลิส) (Evalis) โลกแห่งเวทมนตร์และพลังเหนือธรรมชาติ จะเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ด้วย หนทางเดียวที่จะยุติสงครามครั้งนี้ได้ก็ต้องอาศัยคนต่างแดนที่มีความกล้าเพื่อมาหยุดยั้งหายนะในครั้งนี้ได้

นิยายแฟนตาซีเรื่องนี้ไม่แตกต่างเรื่องอื่นเท่าใดนัก โดยเฉพาะการแนะนำเรื่องด้วยคำพยากรณ์ เพราะในปัจจุบันคำพยากรณ์หรือคำทำนายดูจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของนิยายแนวนี้ไปแล้ว ผู้วิจารณ์เห็นว่าการเปิดเรื่องด้วยคำพยากรณ์เช่นนี้จะกุมใจผู้อ่านก็ต่อเมื่อคำพยากรณ์นั้นมีพลังของภาษาวรรณศิลป์ที่เข้มข้น ขณะเดียวกันก็มีเรื่องราวที่น่าติดตาม แต่คำพยากรณ์ในเรื่องนี้ยังขาดความโดดเด่นทางวรรณศิลป์ที่จะสร้างความประทับใจให้ผู้อ่าน เนื่องจากผู้แต่งยังขาดความจัดเจนในการเขียนกวีนิพนธ์ จึงมีการเลือกใช้คำผิดพลาด เพราะมีหลายวรรคที่ไม่มีสัมผัสระหว่างวรรค และสัมผัสระหว่างบทที่ผิดเกือบทั้งหมด เช่น คำว่า “กาล” ก็ไม่สามารถส่งสัมผัสกับคำว่า “ไว้” หรือ คำว่า “แผ่นดิน” ก็ไม่สามารถส่งสัมผัสกับคำว่า “นิสัย” ได้ เช่นเดียวกับคำว่า “ราชา” ไม่สามารถส่งสัมผัสกับคำว่า “ไหว” ในบทต่อไปได้ ความผิดพลาดเช่นนี้ลดทอนอรรถรสของบทประพันธ์ไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำพยากรณ์ชิ้นนี้ประกอบด้วยกลอนสุภาพ 5 บท กับ 1 วรรค ซึ่งโดยกฎการประพันธ์ที่ถูกต้องนั้น ผู้แต่งต้องแต่งให้จบบท และไม่มีการแต่งโดยปล่อยให้มีวรรคเกินมา 1 วรรค เช่นนี้เด็ดขาด ผู้แต่งจึงควรจะตรวจสอบความถูกต้องของฉันทลักษณ์หรือแบบแผนในการประพันธ์อีกครั้ง ก็จะช่วยแก้ความผิดพลาดในประเด็นนี้ได้

ส่วนเรื่องราวที่ผู้แต่งสอดแทรกไว้ในคำทำนายนั้น นับว่าสารสื่อความได้อย่างชัดเจน และกระตุ้นความสนใจผู้อ่านได้เป็นอย่างดี เนื่องจากคำพยากรณ์เก่าแก่นี้ไม่เพียงแต่ทำนายอนาคตของอิวาลิซเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนการบอกผู้อ่านให้ทราบ เค้าโครงเรื่องโดยย่อไปพร้อมกันด้วย โดยระบุว่าสงครามที่จะกิดขึ้นต่อไปนั้นจะนำความหายนะครั้งใหญ่มาสู่อิวาลิซ และทางรอดเดียวที่จะทำได้คือต้องค้นหาผู้กล้าในคำทำนายมาเพื่อจะมาหยุดยั้งสงครามครั้งนี้ และในคำพยากรณ์ก็อำนวยความสะดวกด้วยการระบุทั้งลักษณะนิสัยและที่มาของวีรบุรุษดังกล่าวไว้ว่า

หนทางรอด คงจะมี แต่เพียงหนึ่ง
ประกอบซึ่ง คนต่างแดน ไตรนิสัย
ต่างมีจิต อันพิสุทธิ์ สว่างไกร
ใจแกร่งกล้า ประดุจดัง สิงห์ราชา
ปัญญาเปรื่อง ดุจดังปราชญ์ นำวิถี

เป็นน่าเสียดายที่ว่าเมื่อเปิดเรื่องได้เพียง 3 บท ผู้แต่งก็สร้างคำทำนายโบราณเฉพาะของอาณาจักรอิสฮานขึ้นมาอีกชิ้น โดยระบุว่า “กลียุคจะเข้าครอบงำทวีปออร์เนีย หนทางที่จะหยุดยั้งหายนะนี้ลงได้ นั่นคือการรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวด้วยน้ำมือของผู้มีหัวใจกล้าหาญดังสิงห์ (Coeur de Lion)” จะเห็นว่าผู้ที่หยุดยั้งสงครามในคำทำนายครั้งนี้ ได้ลดคุณสมบัติจากคำพยากรณ์เดิมที่มีถึง 3 ข้อ คือ มีจิตพิสุทธิ์ มีใจแกร่งกล้า และมีปัญญาปราดเปรื่อง เหลือเพียงข้อเดียวคือมีใจกล้าหาญเท่านั้น อีกทั้งไม่ได้ระบุว่าผู้ที่จะมาหยุดยั้งสงครามครั้งนี้จะต้องเป็นคนต่างแดนด้วย ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้แต่งน่าจะใช้คำพยากรณ์เก่าแก่เพียงชิ้นเดียวก็พอแล้ว เพราะคำพยากรณ์นั้นระบุคุณสมบัติของผู้หยุดยั้งสงครามครั้งนี้ชัดเจนกว่าคำทำนายชิ้นที่สอง และบุคคลที่ราชินีอิสฮานนำกลับมายังอิวาลิซก็มีคุณสมบัติตรงกับคำพยากรณ์เก่าแก่ของ
อิวาลิซมากกว่าคำพยากรณ์เฉพาะของอาณาจักรอิสฮานเอง เพราะราชินีอิสฮานนำ ธัน เอ็ม และไท ซึ่งเป็นคนต่างแดนที่มีคุณสมบัติครบทั้งสามประการตามที่ระบุไว้

จากการที่ผู้แต่งสร้างให้วีรบุรุษจากต่างแดนเป็นคนไทยนั้น อาจเป็นเพราะต้องการจะสอดแทรกความเป็นไทยไว้ในนิยายแฟนตาซีของ ผู้วิจารณ์เห็นว่าการเลือกให้ตัวละครจากต่างแดนเป็นคนไทยนั้นกลับสร้างความขัดแย้งให้กับเรื่อง มากกว่าที่จะสร้างดินแดนสมมุติอื่น ให้เป็นบ้านเกิดของตัวละครเอกกลุ่มนี้ เนื่องจากความโดดเด่นของการใข้พลังเวทมนตร์และพลังจิตของตัวละครเองเหล่านี้ขัดแย้งกับความเป็นจริงที่รับรู้กันเป็นอย่างดี เพราะดูประหนึ่งว่าคนไทยส่วนใหญ่มีพลังจิตและพลังเวทมนตร์เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต จนเมื่อมีเหตุให้ต้องข้ามมิติไปอยู่ในดินแดนอื่นพลังเหล่านี้ก็ติดตัวไปได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องฝึกฝนและเรียนรู้การใช้พลังเท่าใดนักก็สามารถทำได้ อีกทั้งพลังของธันและเอ็มนับว่าเป็นพลังที่หายากมาก แม้ในอิวาลิซอันเป็นโลกแห่งเวทมนตร์และพลังเหนือธรรมชาติก็ตาม ขณะเดียวกันเมื่อธัน ไท และเอ็มได้ใช้ชีวิตอยู่ในอิวาลิซแล้ว พวกเขาทั้งสามไม่มีส่วนใดที่แสดงความเป็นไทย หรือไม่ต้องอาศัยความเป็นคนไทยเพื่อให้พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ในดินแดนใหม่แห่งนี้อีกเลย

แม้ว่าโครงเรื่องหลัก (Plot) นั้น ผู้แต่งจะระบุว่าเป็นเรื่องของสงครามที่ตัวละครเอกต่างแดนเหล่านี้จะมาเป็นผู้หยุดยั้ง แต่ทว่าเรื่องราวของสงครามกลับมีให้เห็นเพียง 3 ตอนเท่านั้น ซึ่งเป็นสงครามระหว่างจักรพรรดิเนเบียสแห่งจักรวรรดิอาร์เคเดีย กับราชาเร็กซ์แห่งอาณาจักรอิสฮาน ที่เกิดขึ้นเฉพาะในออร์เกีย ที่เป็นเพียงทวีปหนึ่งในสามทวีปของอิวาลิซเท่านั้น หลังจากนั้นเรื่องกลับเปลี่ยนแนวไปสู่โรงเรียนเวทมนตร์แทน โดยให้กลุ่มตัวละครเอกและพวกพ้องพยายามเข้าทดสอบเพื่อเข้าเรียนที่สถาบันโรส หากเดาไม่ผิดเรื่องจะกลับมาสู่โครงเรื่องหลักอีกครั้งหลังจากที่กลุ่มตัวละครเหล่านี้เข้าเรียนที่สถาบันโรสแล้ว เนื่องจากผู้แต่งปูเรื่องไว้ว่าสงครามครั้งใหญ่จะปะทุหลังจากนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ในขณะที่เล่าถึงเรื่องราวของการเข้าทดสอบที่สถาบันโรสก็ดูเหมือนว่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับสงครามก็จะหายไป ราวกับว่าขณะนี้แผ่นดินสงบปราศจากสงคราม ทั้งๆในความเป็นจริงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะจากที่สังเกตจากอุปนิสัยของจักรพรรดิเนเบียสที่ต้องการปกครองครองทวีปออร์ก้าทั้งหมดเพียงลำพังก็ไม่น่ายุติสงครามลงโดยสิ้นเชิงเช่นนี้ เพราะหลังจากที่สามารถเข้ายึดครองอาณาจักรอิสฮานได้แล้ว ก็เหลือเพียงดินแดนของนครมิรินลัสเท่านั้นที่ยังยึดครองไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะยังคงมีสงครามต่อไปโดยอาศัยอาณาจักรอิสฮานเป็นดินแดนสะสมกำลังไปโจมตีนครมิรินลัสตามที่วางแผนไว้

ผู้วิจารณ์เห็นว่าการนำโครงเรื่องใหญ่ 2 เรื่องซึ่งต่างก็มีรายละเอียดจำนวนมากมาผสานไว้เป็นเรื่องเดียวนั้น ทำให้องค์รวมของเรื่องอ่อนลง แม้ว่าผู้แต่งจะมีความสามารถสร้างเรื่องราวได้อย่างน่าตื่นเต้น ทั้งในส่วนของสงครามและการทดสอบเข้าสถาบันโรสก็ตาม แต่ผู้แต่งแสดงให้เห็นว่าสนุกกับโครงเรื่องของโรงเรียนเวทมนตร์มากกว่า จึงทำให้เรื่องเปลี่ยนจุดเน้น จนทำให้โครงเรื่องหลักที่ตั้งไว้แต่เดิมพร่าเลือนไป เพราะไม่มีการกล่าวถึงสงครามอีกเลยนับตั้งแต่บทที่ 5 เป็นต้นมา ปัญหานี้อาจแก้ด้วยการแยกเรื่องออกมาเป็นภาคอย่างชัดเจน เช่นตอนนี้อาจจะใช้ชื่อว่ากำเนิดผู้กล้าจากต่างแดนหรืออะไรก็ได้เพื่อเล่าเรื่องราวและภูมิหลังของตัวละครเอกกลุ่มนี้ และใช้โครงเรื่องหลักเป็นโรงเรียนเวทมนตร์ จากนั้นก็ค่อยกลับไปยังโครงเรื่องสงครามครั้งใหญ่ของอิวาลิซในภาคมหาสงคราม ก็จะช่วยให้เรื่องมีเอกภาพมากขึ้น

มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง เกี่ยวกับการทำสงครามระหว่างระหว่างจักรพรรดิเนเบียส
แห่งจักรวรรดิอาร์เคเดียกับราชาเร็กซ์แห่งอาณาจักรอิสฮาน แม้ว่าจะเป็นที่คาดเดาได้อยู่แล้ว ว่าอิสฮานจะต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เพราะเป็นประเทศที่เล็กกว่า มีทหารน้อยกว่า มีอาวุธที่ด้อยประสิทธิภาพมากกว่า และแม้แต่ราชาก็ขาดประสบการณ์ในการรบ แต่เหตุใดเมื่อราชาเร็กซ์ถูกสังหาร ไม่มีผู้ใดลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินอีกครั้ง จนยอมกลายเป็นเมือขึ้นของจักรพรรดิเนเบียสเลยหรือ แม้แต่ราชาฟิเดอลิซที่ 4 แห่งอิสฮานผู้มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน และเป็นที่คร้ามเกรงของจักรพรรดิเนเบียสที่ต้องรั้งรอ ไม่กล้าบุกอิสฮาน จนกระทั่งพระองค์จะสละราชสมบัติ ในเมื่อพระองค์เพียงสละราชบัลลังก์ให้ราชาเร็กซ์ลูกชายเท่านั้น จึงไม่แปลกหากพระองค์จะกลับมานำทัพอีกครั้ง หลังจากที่ราชาเร็กซ์สิ้นพระชนม์ ดังนั้น หากผู้แต่งต้องการตัดบทบาทของราชาฟิเดอลิซที่ 4 ออกอย่างที่กระทำอยู่ ก็น่าจะให้พระองค์สิ้นพระชนม์จนเป็นเหตุให้เร็กซ์ขึ้นเป็นราชาแทน ก็จะสมเหตุผลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างเหตุกาณ์ที่มีความสมจริง จนไม่เกิดข้อกังขาในประเด็นนี้อีก
ความโดดเด่นชัดเจนที่พบในเรื่อง คือตัวละคร ผู้แต่งสามารถสร้างตัวละครให้มีบุคลิกลักษณะ และอุปนิสัยเฉพาะตัวได้อย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตัวละครเอกทั้ง 3 ที่ต่างก็มีลักษณะนิสัยและบุคลิกที่ต่างกันออกไป นับตั้งแต่ธันที่เป็นหนุ่มขี้เล่น ฉลาดและรู้จักวิเคราะห์สถานการณ์ หรือ ไท ชายหนุ่มแสนสุภาพและสุขุม นอกจากนี้ยังมีตัวละครแปลกๆที่เป็นเผ่าพันธุ์อื่นที่ผู้แต่งสร้างขึ้นโดยอาศัยจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็น เผ่าวิเอร่า รูปร่าสูงโปร่ง มีหูคล้ายกระต่าย แต่มีจมูกกับปากคล้ายคน และมีผิวขาวสะอาด หรือ เผ่ามูเกิ้ล จะมีรูปร่างคล้ายกระต่ายยืนสองขา มีปีกสีแดงสดที่ยื่นออกมาจากหลังคล้ายค้างคาวและมีขนเป็นสีครีมทั้งตัว เผ่าบังก้าที่ดูจะคล้ายกิ้งก่า หรือเผ่าพิคคูร่าที่มีวิวัฒนาการมาจากหมู จึงมีความคล้ายคลึงกับหมูมาก

นอกจากนี้ ผู้แต่งยังมีความสามารถในการบรรยายและการพรรณนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายฉากต่อสู้ได้อย่างชัดเจน จนสามารถเห็นภาพการต่อสู้ตามที่ผู้แต่งบรรยายได้ แม้ว่าผู้อ่านจะไม่เคยรู้จักพลังเวทมนตร์ต่างๆที่ตัวละครใช้มาก่อนเลยก็ตาม เช่นเดียวกันการบรรยายฉากและบรรยากาศก็สามารถทำได้อย่างดี การบรรยายของผู้แต่งจึงช่วยสร้างภาพของโลกอิวาลิซให้ผู้อ่านไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากโลกอิวาลิซนั้นแตกต่างจากโลกมนุษย์อย่างมาก

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีกลวิธีสำคัญที่ผู้แต่งเลือกใช้เพื่อใช้กระตุ้นเร้าความสนใจผู้อ่านให้อยากทราบเรื่องราวตอนต่อไป ด้วยการทิ้งท้ายก่อนจบตอนไว้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำนายอนาคต (foreshadow) ว่าเหตุการณ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร เช่นในบทนำจบเรื่องไว้ว่า “5 ปีจากนี้ ทุกคนทิ้งสันติเป็นอดีต…” การทิ้งค้างเรื่องราวขณะที่ตื่นเต้นสูงสุดไว้ เช่น การหายตัวไปต่อหน้าต่อตาของราชินีซินเทีย ราชินีม่ายแห่งอาณาจักรอิสฮาน ขณะที่กำลังอ่านคำทำนายโบราณ หรือการทิ้งค้างผลการต่อสู้ครั้งสุดท้ายระหว่างเรเดลกับไทไว้ ในตอนที่ 19 นับว่าเป็นความชาญฉลาดที่ผู้แต่งเลือกใช้กลวิธีนี้ในการสร้างความน่าสนใจให้กับเรื่อง และผู้แต่งก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี

ในเรื่องคำผิดนั้นมีให้เห็นประปราย เช่น เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทมนต์ บัลลังก์ เขียนเป็น บัลลังค์ อานุภาพ เขียนเป็น อณุภาพ รัตติกาล เขียนเป็น รัลติกาล ปริมาณ เขียนเป็น ปริมาน ปรโลก เขียนว่า ปรกโลก หมดจด เขียนเป็น หมดจรด สารบบ เขียนเป็น สาระบบ แป๊บ เขียนเป็น แป๊ป นิรันดร์ เขียนเป็น นิรัดน์ โป่งพอง เขียนเป็น โปร่งพอง โบราน เขียนเป็น โบราณ เวท เขียนเป็น เวทย์ และเขียนสลับกันระหว่างคำว่า นั่น กับ นั้น

--------------------------------
     
 
ใครแต่ง : ธุวัฒธรรพ์
30 ต.ค. 65
100 %
1 Votes  
#22 REVIEW
 
เห็นด้วย
14
จาก 14 คน 
 
 
วิจารณ์ SSS สงครามวัตถุวิญญาณ

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 17 พ.ค. 55

ก่อนอื่นต้องขออภัย MyU_immi เจ้าของนิยายเรื่อง SSS สงครามวัตถุวิญญาณด้วยครับที่อ่านและวิจารณ์ให้ค่อนข้างช้า นอกจากจะเกิดจากคิวที่แสนยาวเหยียดของนิยายที่นักเขียนนำมาฝากให้วิจารณ์แล้ว ยังเป็นเพราะผมเองที่ไม่ค่อยได้เข้าไปดูในส่วนของข้อความลับ จึงไม่ทราบมาก่อนว่ามีการฝากนิยายเอาไว้ที่นั่น จึงทำให้เวลาล่วงเลยมานานจนนักเขียนแต่งเรื่องนี้จนจบภาค แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้อ่านจนจบภาคแรก ก็ต้องขอยอมรับว่านิยายเรื่อง SSS สงครามวัตถุวิญญาณ มีความสนุกเป็นอันดับต้นๆ ของนิยายที่ผมได้อ่านในเว็บไซต์เด็กดีเลยทีเดียว

อาจเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่นที่จะได้พบกับ “การ์ตูนบู๊สายหลัก” (อ้างอิงศัพท์นี้จากการ์ตูนเรื่อง “วัยซนคนการ์ตูน” หรือ Bakuman) ที่ตัวละครเอกประมาณ 4-5 คน เป็นเพื่อนกัน แต่ละคนรวมทั้งศัตรูจะมีความสามารถพิเศษเหนือมนุษย์ที่แตกต่างกัน เช่น ล่องหนได้ มีพละกำลังมหาศาล ขโมยความสามารถของผู้อื่น การควบคุมเวลา ฯลฯ ตัวละครเอกเหล่านี้จะร่วมผจญภัยกันด้วยจุดหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กำจัดตัวร้าย ทำภารกิจที่ได้รับมอบหมาย หรือปกป้องบุคคลอันเป็นที่รัก ฯลฯ อีกทั้งแต่ละคนก็จะมีจุดหมายของตนเองที่ไม่เหมือนกัน เช่น ตามหาพ่อ แก้แค้นให้ครอบครัว ตามหาของในตำนาน ฯลฯ หลังจากได้ต่อสู้กับศัตรูที่มีฝีมือมากขึ้นเรื่อยๆ (บางคนอาจกลับใจมาเป็นพวกตัวเอก) และอาจมีความขัดแย้งในหมู่เพื่อนเป็นบางครั้ง ในที่สุดพวกเขาก็จะใช้พลังมิตรภาพร่วมมือกันกำจัดศัตรูที่ดูเหมือนว่าจะมีพลังอำนาจกล้าแข็งจนไม่อาจเอาชนะได้สำเร็จ แต่ผมไม่ค่อยได้สัมผัสกับเรื่องราวแบบนี้ในรูปแบบนิยายเท่าใดนัก นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ SSS สงครามวัตถุวิญญาณ แตกต่างจากเรื่องอื่น

ความน่าสนใจอีกประการของนิยายเรื่องนี้ยังอยู่ที่ที่มาของพลังพิเศษ ที่ไม่ได้เกิดจากพรสวรรค์หรือการฝึกวิชา แต่กลับอยู่ที่ “วัตถุวิญญาณ” หรือ SSS (Sacred Spirit Synthesis) ซึ่งก็คือวัตถุที่ได้รับจิตวิญญาณของผู้เป็นเจ้าของที่มีความผูกพันเป็นอย่างมากกับวัตถุนั้นๆ เช่น กิ่งแอบเปิ้ลของเซอร์ไอแซค นิวตัน ฟอสซิลของชาร์ลส์ ดาร์วิน แท่งคำนวณของจอห์น นาเปียร์ เป็นต้น เมื่อวิญญาณของเจ้าของวัตถุเลือกแล้วว่าผู้นั้นมีคลื่นวิญญาณตรงกับพวกเขา และเมื่อได้รับวัตถุเหล่านี้ พวกเขาก็จะได้รับพลังพิเศษที่สอดคล้องกับหน้าที่ของวัตถุนั้นๆ ซึ่งผมคิดว่าแนวคิดนี้มีความแปลกใหม่และน่าสนใจ เพราะเมื่อเราอ่านไปเรื่อยๆ ก็จะได้จินตนาการว่า วัตถุวิญญาณชิ้นต่อไปที่จะออกมาโลดแล่นจะเป็นของบุคคลใดในประวัติศาสตร์ และวัตถุชิ้นนั้นจะมีพลังอย่างไร ซึ่งบางชิ้นนักเขียนจินตนาการพลังของมันได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น นาเปียร์ โบนส์ ของ เรแพน หนึ่งในตัวละครเอก ในโลกแห่งความเป็นจริงวัตถุนี้มีหน้าที่เป็นเพียงเครื่องคำนวณที่คล้ายกับลูกคิด แต่ในโลกของ SSS นาเปียร์ โบนส์ กลับมีประสิทธิภาพที่พลิกแพลงได้หลากหลาย นั่นคือการเปลี่ยนแปลงค่าต่างๆ ของวัตถุที่ผ่านเข้ามาในตารางที่นาเปียร์ โบนส์ สร้างขึ้น เช่น เปลี่ยนค่าความเร็ว ความแข็ง ความร้อน ให้เป็นไปตามที่เรแพนต้องการ หลายครั้งที่เขาได้ใช้พลังของวัตถุชิ้นนี้เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างที่ผู้อ่านไม่คาดคิด หรือพลังของ X’mas Gifts หรือของขวัญจากซานตาคลอสที่ซูอัล ตัวละครเอกอีกคนหนึ่งได้รับ จะเป็นการอธิษฐานขอของขวัญได้สามครั้งต่อวัน โดยซูอัลหรือผู้อ่านจะไม่มีทางทราบได้เลยว่าเขาจะได้รับของขวัญอะไร และเมื่อได้เปิดกล่องของขวัญดูแล้ว ก็ยังยากที่จะคิดแทนตัวละครว่า จะใช้ประโยชน์อะไรได้ในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งถือได้ว่านักเขียนมีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่ดีเยี่ยม นอกจากนี้ นักเขียนยังได้เขียนเกร็ดที่มาของวัตถุต่างๆ ไว้ท้ายบทนิยายอีกด้วย ซึ่งก็ถือได้ว่า นักเขียนทำการบ้านมาดีมาก และสร้างความสะดวกให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อที่มาของพลังพิเศษเป็นเช่นนี้กลับทำให้ผมเกิดข้อกังขาหลายประการ เช่น พลังของซูอัลที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะได้รับของขวัญที่ไม่ทราบว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร แต่เมื่อผู้เขียนได้กล่าวว่า ของขวัญที่ซูอัลได้รับจะต้องมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้นแน่นอน จึงสงสัยว่า เพราะเหตุใดซูอัลจึงไม่ได้ใช้พลังของเขาในการช่วยเหลือสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าที่เขาเคยอาศัยอยู่ หากเขาได้ลองขอของขวัญเพื่อการนี้ สิ่งที่อยู่ในนั้นอาจเป็นเงินจำนวนมากพอก็เป็นได้ หรือก่อนที่เหล่าตัวละครจะได้รับการ “ปลดปล่อยขีดจำกัด” ซึ่งทำให้พวกเขามีพลังพิเศษที่เหนือกว่าเดิม พวกเขาจะต้องไปสนทนากับวิญญาณเจ้าของวัตถุชิ้นนั้นในโลกจิตใต้สำนึก เพื่อขอให้พวกเขามอบพลังให้ หากเป็นพวกตัวละครเอก เจ้าของวัตถุอาจมอบพลังให้โดยง่าย เพราะมีวัตถุประสงค์การใช้พลังที่ดี แต่กับเหล่าร้ายที่ได้รับพลังขั้นที่สอง ค่อนข้างแปลกใจว่า เพราะเหตุใดเจ้าของวัตถุจึงยินยอมมอบพลังให้กับพวกเขา โดยเฉพาะ วาร์ด เยอร์มูห์ ผู้ครอบครองพลังของลีโอนาร์โด ดาร์วินชี เพราะไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่ดาร์วินชีจะยินยอมมอบพลังให้กับผู้ที่ต้องการฆ่ามนุษย์ทั้งโลก อีกประเด็นหนึ่งคือวัตถุวิญญาณบางชิ้นก็ไม่ได้เป็นของหายากมาก เช่น กิ่งไม้ของเซอร์ไอแซค นิวตัน เพราะทุกวันนี้ต้นแอบเปิ้ลต้นนั้นก็ยังอยู่ในสวนหน้าบ้านเกิดของนิวตันที่ วูลส์ธอร์ป เมืองลินคอล์นไชร์ ประเทศอังกฤษ ถึงแม้ว่าทางการจะห้ามนักท่องเที่ยวเข้าใกล้ต้นไม้ต้นนี้ แต่เหล่าโจรรัตติกาล ตัวร้ายของเรื่อง หากจะโจรกรรมไป ก็คงจะไม่ใช่เรื่องยาก หรือพลังของ อิกรอดจ์ อัลคอสโซ ที่มีพลังจากเรือกอนโดลาของฝีพายเรือกอนโดลาหญิงคนแรกของโลก คงจะไม่ผิดแปลกอะไร หาก Giorgio Boscolo ฝีพายกอนโดลาหญิงคนที่กล่าวถึงจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ความเป็นจริง เธอยังมีชีวิตอยู่ และมีอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น หากผู้เขียนแก้ไขข้อสงสัยเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้เนื้อเรื่องมีความสมจริงขึ้นอีกมาก

นอกจากนี้ การใส่ใจหาข้อมูลของนักเขียนยังส่งผลชัดในการบรรยายการเดินทางไปตามที่ต่างๆ ของตัวละครเอก และทำให้มีฉากในนิยายที่หลากหลาย ทั้งประเทศจีน รัสเซีย อิตาลี อเมริกา อียิปต์ เยอรมัน ตลอดจนสถานที่ในจินตนาการทั้งปราสาทเงารัตติกาล โลกจิตใต้สำนึก ก็ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเหมือนว่าได้เดินทางไปตามที่ต่างๆ ตามตัวละครไปด้วย

จุดเด่นอีกประการของนิยายเรื่องนี้คือการหักมุม ที่ถึงแม้ว่าจะไม่อาจพูดได้ว่าไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ก็ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะการหักมุมก่อนที่จะขึ้นภาคสอง อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของเหล่าตัวละครเอกมักจะจบลงด้วยชัยชนะ จึงทำให้ค่อนข้างสงสารเหล่าร้ายที่มีฝีมือขนาดกำจัดกองทัพสหรัฐฯ มาแล้ว ที่ต้องพ่ายแพ้ต่อเด็กวัยรุ่นทุกครั้งไป หากจะให้ตัวละครเอกพ่ายแพ้เสียบ้าง ก็น่าจะทำให้นิยายเรื่องนี้สนุกขึ้น

สำหรับสิ่งที่นักเขียนกังวลได้แก่ (1) เรื่องคำผิด เท่าที่อ่านดูไม่พบคำผิดมากนัก (2) ครอบครัวของเรแพน หากจะเขียนให้มีข้อมูลแน่นขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดี (3) การต่อสู้ที่ผิดหลักวิทยาศาสตร์ ส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นการเสียหายอะไรมาก เพราะการต่อสู้ในเรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นแนว Sci-fi อยู่แล้ว หากจะผิดหลักวิทยาศาสตร์ไปบ้างก็คงไม่เสียหาย แต่ถ้าหมายถึงการบรรยายที่สมจริง หากจะแก้ไขได้ก็เป็นการดี และสุดท้ายคือ (4) ความสามารถที่อาจผิดลิขสิทธิ์ของเยลซิท เจ้าของดินสอของวอลท์ ดิสนีย์ ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นการผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ใช้ตัวละครนั้นๆ ในการดำเนินเรื่องเป็นหลัก ฮิโรฮิโกะ อารากิ ผู้แต่งการ์ตูนเรื่อง โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ยังเคยเขียนถึงความสามารถของตัวละครที่คล้ายกันนี้ (รายละเอียด http://jjba.wikia.com/wiki/Bohemian_Rhapsody) ออกมาจำหน่ายได้เช่นกัน
     
 
ชื่อเรื่อง :  The Chronicles of Dragon
ใครแต่ง : Cherrykids
29 เม.ย. 52
80 %
18 Votes  
#23 REVIEW
 
เห็นด้วย
14
จาก 15 คน 
 
 
บทวิจารณ์ The Chronicles of Dragon

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 14 ส.ค. 52
The Chronicles of Dragon ของ Cherrykids เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักเขียนฝากลิงค์ไว้ให้ช่วยวิจารณ์ เรื่องนี้เพิ่งโพสต์ถึงตอนที่ 12 บทที่ 11 เป็นนิยายแฟนตาซีที่เกี่ยวกับตำนานมังกร ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องจะดำเนินไปในลักษณะใด เพราะในบทนำนั้นผู้แต่งไม่ได้เกริ่นทิศทางของเรื่องไว้เลย เพียงแต่บอกว่านี่คือตำนานมังกรเท่านั้น และจากที่อ่านไปทั้งหมด 12 ตอนพบว่าเรื่องนี้ยังไม่ต่างจากนิยายแฟนตาซีแนวโรงเรียนเรื่องอื่นๆ เท่าใดนัก เพราะยังมีลักษณะเด่นหลายๆ อย่างของงานแนวนี้ปรากฏชัดเจนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้าโรงเรียนเวทมนตร์ของตัวเอก (แม้ว่าเรื่องนี้จะมีวิธีสอบที่ต่างออกไป) หรือการกำหนดหอพักของนักเรียน ซึ่งในเรื่องแบ่งออกเป็น 5 หอตามพลังธาตุ หรือแม้แต่การปลอมตัวเข้ามาเพื่อเป็นนักเรียนของตัวละครเอก เรื่องราวที่ดำเนินไปทั้งหมดนั้นก็ยังเป็นเพียงแค่เกริ่นนำเรื่องเท่านั้น ยังไปไม่ถึงแก่นเรื่องหลักที่เกี่ยวข้องกับตำนานมังกรเลย จะมีก็แต่การทิ้งปมปริศนาใหญ่ๆ ไว้ 3 ข้อ คือ
1) ภารกิจการตามหาเชื้อพระวงศ์ของอาณาจักรมอร์แกไนท์ของเซธ 2) ใครคือเจ้าชายสองคนที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนเทกูลเดอร์ (อาจจะพอเดากันได้บ้างแล้ว) และ 3) คนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาติดต่อกับคีนคือใคร

จากชื่อเรื่องต้องยอมรับว่าความคาดหวังแรกที่คิดว่าจะได้อ่านคือเรื่องราวของมังกร โดยมีมังกรเป็นตัวดำเนินเรื่อง แต่เมื่อลงมืออ่านจริง กลับเป็นมังกรที่ต่างไปจากที่คิด เพราะแทนที่จะเป็นมังกรตัวจริง กลับกลายเป็นร่างแปลงของมังกรในคราบมนุษย์ จึงทำให้ลักษณะท่าทาง อุปนิสัย บุคลิก หรือแม้แต่วิธีคิดของมังกรในเรื่องกลายเป็นมนุษย์ไปทั้งหมด ไม่มีลักษณะใดๆ ของมังกรเหลือให้เห็นเลย และเมื่อยอมรับและมองผ่านกรอบแนวคิดของผู้เขียนในการนำเสนอนี้ก็ต้องยอมรับว่า เซธ มังกรหนุ่มในร่างมนุษย์คนนี้มีบุคลิกที่เด่นชัด ทั้งอุปนิสัย และการพูดจา เมื่อผู้เขียนกำหนดให้เขาเป็นตัวดำเนินเรื่องก็นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่จูงใจให้ผู้อ่านติดตามการเดินทางเพื่อทำภารกิจต่างๆ ที่เขาสัญญาไว้ ขณะเดียวกันก็สร้าง คีน หนุ่มน้อยผู้มีภูมิหลังลึกลับและต้องมาอยู่ในความดูแลของเซธ และความเป็นคู่ปรับของทั้งคู่ช่วยยังสร้างสีสันให้กับเรื่องด้วย

ในส่วนของภาษานั้น ต้องยอมรับว่า Cherrykids ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษามาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบรรยายที่ให้รายละเอียดมากพอที่จะให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ โดยเฉพาะ การบรรยายฉาก ส่วนบทสนทนานั้น ผู้เขียนพยายามที่จะถ่ายทอดบุคลิก ลักษณะ และอุปนิสัยต่างๆ ของตัวละครผ่านบทบรรยาย หรือ แม้แต่การสะกดคำ ซึ่งจะพบคำที่สะกดผิดไม่มากนัก และคำที่สะกดผิดส่วนใหญ่จะเป็นคำเดิมๆ ซึ่งเข้าใจว่าผู้เขียนคิดว่าคำๆนี้เขียนเช่นนี้จริงๆ เช่น เขียนคำว่า แป๊บ ว่า เป๊บ หรือ เขียนคำว่า เวท เป็น เวทย์ และคำที่ผิดอีกส่วนหนึ่งจะเป็นคำอุทานต่างๆ โดยเฉพาะคำที่สะกดด้วยรูปวรรณยุกต์ตรี หรือไม้ตรี จะพบว่ามีคำอักษรต่ำ และ อักษรสูงหลายคำที่ผู้เขียนสะกดด้วยรูปวรรณยุกต์ตรี ซึ่งตามหลักไวยากรณ์ภาษาไทยนั้นจะมีเฉพาะอักษรกลางเท่านั้นที่สะกดด้วยรูปวรรณยุกต์ได้ ด้วยเหตุนี้ คำว่า “ม๊า” หากต้องการให้คำนี้ออกเสียงเป็นเสียงตรีต้องเขียนว่า “ม้า” แต่ในบริบทนั้นน่าจะเขียนว่า “มั้ย” เช่นเดียวกับคำว่า “ห๊ะ” คำที่ถูกต้องคือคำว่า “ฮะ”

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตส่วนตัวบางประเด็นเกี่ยวกับข้อบกพร่องที่เห็นชัดในเรื่อง ประการแรกคือ บทนำ เห็นได้ว่าบทนำที่เขียนไว้นั้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเลย จึงน่าจะปรับบทนำ โดยอาจจะแสดงแก่นหลักของตำนานมังกรที่ต้องการเสนอนี้ว่าเป็นอย่างไร ต่างจากตำนานมังกรเรื่องอื่นๆอย่างไร หรืออาจจะเป็นการนำข้อขัดแย้ง ปัญหา หรือประเด็นใดก็ได้ที่ผู้เขียนเห็นว่าจะดึงดูดให้ผู้ที่เข้ามาอ่านบทนำแล้วตามอ่านตำนานมังกรเรื่องนี้ต่อไป

ประเด็นที่สอง ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนติดการใช้คำว่า “ฮ่าฮ่า” ในบทสนทนา เพราะพบคำนี้อยู่ในหลายๆ ตอน ซึ่งบางตอนสามารถที่จะตัดคำๆ นี้ออกได้ เพราะไม่จำเป็นต้องให้ตัวละครหัวเราะก่อนที่จะพูดทุกครั้งก็ได้ โดยเฉพาะบทสนทนาของ นฮาร์ ในบทที่ 3

ประเด็นที่สาม คือ การใช้คำว่า ชายหนุ่มนามเซธ เด็กน้อยนามคีธ ชายแก่นามอัลราห์น ซึ่งพบบ่อยมากในบทบรรยาย เห็นว่าการใช้ประโยคเช่นนี้โดยปกติจะใช้เพียงการกล่าวถึงครั้งแรกเท่านั้น เมื่อทราบแล้วว่าตัวละครเหล่านี้ชื่ออะไร ก็น่าจะแทนตัวเขาด้วยชื่อ หรือใช้สรรพนามบุรุษที่สามแทนมากกว่า

ประเด็นที่สี่ คือ ประโยคที่เป็นความคิดคำนึงในใจตัวละครไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องหมายอัญประกาศ หรือเครื่องหมายคำพูด (“........”) เนื่องจากเครื่องหมายดังกล่าวจะใช้กับประโยคสนทนาหรือประโยคคำพูดเท่านั้น และความคิดคำนึงต่างๆเหล่านี้สามารถที่จะเขียนเป็นเนื้อเดียวกับประโยคบรรยายได้เลย ไม่จำเป็นต้องแยกออกมาเป็นประโยคต่างหากหรือการใช้ตัวเอนเพื่อแยกให้เห็นชัด เพราะในประโยคบรรยายนั้นจะมีคำขยายเพื่อแสดงให้ผู้อ่านทราบอยู่แล้วว่าประโยคส่วนนี้เป็นความคิดของตัวละคร เช่น ในโรงเรียน?! เซธนึกในใจอย่างงงๆ “ปล่อยเข้ามาในโรงเรียนได้เนี่ยนะ?” ก็ใช้ว่า เซธนึกในใจอย่างงๆว่า ปล่อยเข้ามาในโรงเรียนเนี่ยนะ

ประเด็นสุดท้าย คือ การดำเนินเรื่อง กล่าวคือ ผู้เขียนดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ เพราะผ่านมา 11 ตอนแล้ว ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเข้าไปสู่เรื่องของตำนานมังกรเลย จึงเห็นว่าผู้เขียนน่าจะสร้างแก่นเรื่องหลักที่ต้องการนำเสนอให้ชัด ขณะเดียวกันก็น่าจะสร้างโครงเรื่อง(plot) ให้ชัดเจนกว่านี้ เพราะโครงเรื่องที่ตั้งไว้ดูหลวมมาก จึงเห็นได้ว่าถ้าวางแก่นเรื่องและโครงเรื่องชัด จะช่วยให้การสร้างเหตุการณ์แวดล้อมต่างๆ อันนำไปสู่การขยายหรือดำเนินเรื่องตามแก่นเรื่องและโครงเรื่องที่วางไว้ง่ายขึ้นและเรื่องก็จะกระชับ และดูมีทิศทางมากกว่านี้ เพราะขณะนี้ดูเหมือนเรื่องจะดำเนินเรื่องลอยๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งสังเกตได้จากการเพิ่มตัวละคร อาณาจักร และเรื่องราวประกอบต่างๆ ที่ยังจะไม่ใช่จุดเน้นของเรื่องมากจนเกินไป

อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์ก็เห็นความพยายามและความตั้งใจของผู้เขียนที่จะเขียนเรื่องให้สนุก ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาความถูกต้องของการใช้ภาษา หากผู้เขียนสามารถที่จะสร้างแนวเรื่องที่ชัดมากกว่านี้ ก็จะช่วยให้เรื่องกระชับและน่าสนใจมากขึ้น ขณะเดียวกันหากแก้ไขให้บทนำดึงดูดใจ และสามารถสรุปหรือนำไปสู่แก่นสำคัญของเรื่องที่ต้องการนำเสนอได้ก็จะช่วยผู้อ่านเข้าใจทิศทางเรื่องหรือสารที่ผู้เขียนต้องการสื่อได้มากขึ้น

----------------------------
     
 
ใครแต่ง : JENNY D RENGER
21 ม.ค. 57
80 %
399 Votes  
#24 REVIEW
 
เห็นด้วย
14
จาก 16 คน 
 
 
บทวิจารณ์ CHangE ภารกิจรักร้าย★ เปลี่ยนคุณชายให้กลายเป็นเกย์!?!

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 26 พ.ย. 52
CHangE ภารกิจรักร้าย เปลี่ยนคุณชายให้กลายเป็นเกย์ !?! นิยายแนวรักหวานแหววขนาดยาว 33 ตอนจบ ของ องค์หญิงต๊อกแต๊ก เป็นเรื่องราวของภารกิจที่แสนแปลกที่ครอบครัวตระกูลผักรับจ้างกะเทยคนหนึ่งให้เปลี่ยนชายที่เธอแอบหลงรักให้เป็นเกย์ เพื่อให้รักของเธอสมหวัง

ความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้คือการติดตามว่าครอบครัวตระกูลผักที่ประกอบไปด้วย ขึ้นฉ่าย (พี่ชาย) กุยช่าย (นางเอก) และ หัวหอม (น้องสาว) จะสามารถปฏิบัติภารกิจที่รับจ้างมาเพื่อเปลี่ยนให้ดัชมิลค์ (พระเอก) จากชายแท้ให้กลายเป็นเกย์ได้จริงหรือไม่ และใช้วิธีการใดเพื่อเปลี่ยนแปลง เมื่ออ่านเรื่องจบลง สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้คือผู้เขียนมุ่งเน้นความฮามากกว่าความสมเหตุผล เนื่องจากวิธีการที่ครอบครัวนางเอกใช้เพื่อเปลี่ยนพระเอกนั้นไม่สามารถที่จะเปลี่ยนผู้ชายให้กลายเป็นเกย์ได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการให้กุยช่ายไปสารภาพว่าแอบหลงรักดัชมิลค์มาตั้งแต่วันปฐมนิเทศ การมอมเหล้าดัชมิลค์เพื่อเปิดโอกาสให้กับเจ๊ชมพู (เกย์ที่ว่าจ้าง) มีโอกาสได้อยู่กับดัชมิลค์ตามลำพัง หรือการพาไปดูชีวิตของสาวคาบาเร่ต์เพื่อให้ดัชมิลค์สัมผัสกับชีวิตของกะเทยมากขึ้น จะได้เบี่ยงเบนง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการให้ติดโปสเตอร์ผู้ชายสวย เผื่อดัชมิลค์จะเปลี่ยนใจมาหลงชอบผู้ชายสวยแทนผู้หญิง

ด้วยความตั้งใจของผู้เขียนที่เน้นความฮาและความสนุกของเรื่องเป็นสำคัญ จึงส่งผลต่อโครงเรื่องโดยรวม เนื่องจากในเรื่องนี้มีการผสานของแนวเรื่องย่อยๆ ที่ต่างกันหลายแนว เริ่มตั้งแต่การรับจ้างปฏิบัติภารกิจเปลี่ยนผู้ชายให้เป็นเกย์ ซึ่งเป็นแก่นเรื่องหลัก ต่อมามีการผสานเข้ากับเรื่องย่อยของความรักสามเส้าครั้งแล้วครั้งเล่าในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นคู่ที่หนึ่งระหว่างดัชมิลค์ มินมิน และไอติม คู่ที่ 2 ดัชมิลค์ กุยช่าย และไอติม คู่ที่ 3 ดัชมิลค์ มินมิน และกุยช่าย คู่ที่ 4 ไอติม มินมิน และ กุยช่าย คู่ที่ 5 ดัชมิลค์ เจ๊ชมพู และ กุยช่าย และ คู่ที่ 6 กุยช่าย ดัชมิลค์ และซิตร้า ซึ่งรักสามเส้าจำนวนมากที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆเช่นนี้ ยากจะเกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มความเข้มข้นในตอนจบด้วยปัญหาความไม่เหมาะสมในเรื่องชาติตระกูลระหว่างพระเอกลูกคนรวยกับนางเอกลูกคนจนที่ถูกพ่อพระเอกกีดกัน ขณะเดียวกันพ่อกลับส่งเสริมให้ดัชมิลค์รักกับซิตร้า ผู้หญิงที่เหมาะสมคู่ควรทั้งชาติตระกูลและฐานะ จนทำให้นางเอกต้องยอมรับคำท้าเพื่อพิสูจน์รักแท้ที่มีต่อพระเอก เมื่อโครงเรื่องย่อยแต่ละแนวมีความโดดเด่นในตัวเองอย่างชัดเจน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไปกลบแก่นเรื่องหลักที่ผู้เขียนตั้งใจเสนอไปอย่างน่าเสียดาย จะเห็นได้ว่าเมื่อผ่านไปครึ่งเรื่องภารกิจหลักที่นิยายเรื่องนี้เน้นมาตั้งแต่ต้นถูกกลบด้วยเรื่องราวความรัก ความผิดหวัง และความไม่เข้าใจกันที่แสนวุ่นวายของพระเอกและนางเอกแทน ภารกิจหลักของเรื่องที่วางไว้ตั้งแต่ต้นจึงกลายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ทำให้กุยช่ายได้รู้จักดัชมิลค์ จนพัฒนากลายมาเป็นความรักในภายหลังเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่าสิ่งสำคัญที่เป็นปัญหาของผู้เขียนอย่างเห็นได้ชัด คือ ผู้เขียนลืมตัวละครที่ตัวเองสร้างขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขึ้นฉ่าย กับหัวหอม ตัวละครทั้งสองมีบทบาทเพียงช่วงต้นของเรื่องเท่านั้น คือปรากฏอยู่จนถึงประมาณตอนที่ 8 แล้วก็หายไป และอาจจะมีการพูดถึงบ้างแต่ก็เพียง 1-2 ประโยค ราวกับว่าขึ้นฉ่ายกับหัวหอมกลับไปอยู่บ้านที่สุพรรณบุรีกับแม่ มากกว่าที่จะอยู่ร่วมกับกุยช่ายในบ้านที่กรุงเทพฯ หากพิจารณาจากโครงเรื่องหลักที่ผู้เขียนวางไว้ ตัวละครทั้งสามนั้นควรที่จะอยู่ร่วมกันเพื่อช่วยกับปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วง เนื่องจากตอนเปิดเรื่องผู้เขียนก็เน้นให้เห็นว่าพี่น้องทั้งสามคนนี้เป็นตัวจักรสำคัญของบริษัทรับจ้างสารพัดตระกูลผักที่จะสร้างสีสันให้กับเรื่องด้วยการทำภารกิจอันพิลึกพิลั่นนี้ แต่เมื่อเรื่องเปลี่ยนจุดเน้นจากการปฏิบัติภารกิจไปเป็นเรื่องความรักระหว่างกุยช่ายกับดัชมิลค์ ทั้งขึ้นฉ่ายและหัวหอมก็ถูดลดบทบาทหายไป ประกอบกับในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ผู้เขียนก็สร้าง ลั่นฟ้า ตัวละครใหม่อีกตัวเพิ่มเข้ามา โดยให้ลั่นฟ้าเพื่อนสมัยเด็กของนางเอกที่สุพรรณบุรี ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯและมาเรียนที่เดียวกับนางเอก อีกทั้งผู้เขียนยังโอนภารกิจต่างๆที่ทั้งสามพี่น้องเริ่มต้นไว้มาให้กับกุยช่ายและลั่นฟ้า โดยให้ลั่นฟ้ามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อไปยังความรักของกุยช่ายและดัชมิลค์ นั่นอาจเป็นเพราะผู้เขียนสนุกกับการสร้างสีสันให้กับตัวละครตัวนี้ เช่นเดียวกับที่ผู้อ่านก็ชื่นชอบบุคลิกภาพอันโดดเด่นของลั่นฟ้าด้วยเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้เขียนก็น่าจะมีวิธีกำจัดขึ้นฉ่ายและหัวหอมอย่างแนบเนียนมากกว่านี้ เช่น อาจจะสร้างเหตุการณ์ให้ทั้งสองต้องกลับไปอยู่กับพ่อแม่ที่สุพรรณบุรี เพราะมีลั่นฟ้ามาอยู่เป็นเพื่อนกุยช่ายแล้วก็ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ตัวละครสำคัญของเรื่องหายไปเสียเฉยๆ ดังที่เป็นอยู่

ขณะเดียวกันก็พบว่าผู้เขียนสร้างตัวละครบางตัวขึ้นมา เพื่อสร้างความตลกขบขันหรือสร้างความตื่นเต้นให้กับเนื้อเรื่องอย่างไม่มีที่มาที่ไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดตัวแม่ของกุยช่ายนั้น ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนต้องการสร้างความขบขันเท่านั้น โดยเฉพาะการให้แม่ขี่ควายไปส่งกุยช่ายที่หน้าโรงเรียน พร้อมทั้งโบกมือให้กับคนดูรอบๆตัว ราวกับเพิ่งจะได้รับตำแหน่งนางงาม แม้ว่าในช่วงหลังๆ ผู้เขียนได้เพิ่มบทให้แม่ทำหน้าที่ปลอบใจกุยช่ายยามทะเลาะกับดัชมิลค์ แต่ที่จริงนั้นไม่ต้องเพิ่มบทของแม่เพื่อทำหน้าที่นี้ก็ได้ เพราะมีทั้งขึ้นฉ่าย หัวหอม หรือแม้แต่ลั่นฟ้าซึ่งสามารถทำหน้าที่ปลอบใจกุยช่ายได้อยู่แล้ว การเพิ่มบทแม่เข้ามาจึงดูเป็นการจงใจมากเกินไป เช่นเดียวกับการเปิดตัวซิตร้า และพ่อของดัชมิลค์ในช่วงท้ายเรื่อง ก็น่าจะเป็นไปเพื่อสร้างอุปสรรคให้กับความรักของกุยช่ายและดัชมิลค์เท่านั้น แม้ว่าผู้เขียนอาจจะเห็นว่าตัวละครทั้งสองช่วยสร้างความเข้มข้นและสีสันให้กับเรื่องได้ แต่ผู้วิจารณ์เห็นว่าการเพิ่มบทพ่อของดัชมิลค์เช่นนี้กลับทำให้เรื่องขาดความสมจริงอย่างมาก เนื่องจากนักธุรกิจระดับนั้นไม่น่าที่จะลงมายุ่งกับความรักที่เพิ่งเริ่มต้นของลูกชายวัยรุ่น จนถึงต้องมาประกาศหน้าเสาธงว่าขอเชิญทุกคนในโรงเรียนร่วมงาน “ศึกแย่งลูกชายฉัน” ด้วยการนำม้าแข่งฝีเท้าจัดของตน มาวิ่งแข่งกับควายของนางเอกในท้องนาที่สุพรรณบุรีบ้านเกิด

ในแง่ความถูกต้องของการใช้ภาษา ผู้วิจารณ์เห็นว่าหากผู้เขียนลดการแซวตัวเองของตัวละคร หรือการนินทาตัวละครตัวอื่น ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะที่ตัวละครคิดในใจ หรือลดการพูดกับตัวเองลงบ้างก็จะดีกว่านี้ เพราะผู้เขียนใช้วิธีการนี้เพื่อสร้างอารมณ์ให้กับเรื่องมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ขัน โกรธ ประชดประชันหรือรัก จนกลายเป็นสูตรสำเร็จที่ผู้อ่านจับได้ วิธีการดังกล่าวบางครั้งก็ดูเฝือ ยิ่งกว่านั้นยังสร้างความรำคาญให้กับผู้อ่านด้วย เนื่องจากประโยคแซวตัวเอง บ่น หรือ นินทาต่างๆที่เพิ่มเข้ามานั้น มีความยาวมากกว่าประโยคสนทนา หรือบทบรรยายที่ผู้เขียนต้องการสื่อความเสียด้วยซ้ำ เช่น “พวกนั้นอยู่ด้วยแล้วไม่สนุก...อึดอัดด้วย ฉันอยากอยู่กับเธอ ^^” TT[]TT ทำไมนายถึงพูดแบบนั้นได้อย่างน่าตาเฉย ไม่รู้ตัวบ้างหรือไงว่ามันทำหัวใจฉันมันเต้นแทบไม่เป็นจังหวะอยู่แล้ว อ๊ากก ทำไมกุยช่ายแปลกไป ~ T^Y ไม่นะ ถ้าจะพูดแบบนั้นเอาค้อนมาทุบหัวฉันแล้วลากเข้าถ้ำไปฆ่าหมกป่าเลยดีกว่า TT__TT” หรือ “ไม่น่า ฉันกลัวหายใจไม่ออก TT[]TT” ดัช
มิลค์มองหน้าฉันแล้วหัวเราะก่อนที่จะยกมือฟาดหัวฉันทีหนึ่ง โอ๊ย ไอ้เถื่อน~!! แรงนายไม่ใช่มดๆ ตีมายิ่งกว่าควายขวิดอีก TT[]TT ถ้าหัวหลุดจะว่าอย่างไรย่ะ ทำไมหัวฉันมันน่าฟาดนักรึไงเนี่ย มีแต่คนตบเอา ตบเอา” ผู้วิจารณ์เห็นว่าน่าจะเป็นเพราะผู้เขียนต้องการเพิ่มบทบรรยายให้มากขึ้น เพื่อไม้ให้เนื้อเรื่องเป็นเพียงบทสนทนาที่เรียงต่อกันเท่านั้น แต่บทบรรยายส่วนใหญ่ที่เพิ่มเข้ามานั้นก็มีวิธีการเขียนเช่นเดียวกับบทสนทนา จะต่างกันก็เพียงผู้เขียนไม่ใส่เครื่องหมายอัญประกาศ (“ ”) เพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คือบทสนทนาเท่านั้นเอง

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าผู้เขียนนิยมใช้อีโมติคอนแสดงสีหน้าตัวละครในเกือบทุกประโยค การใช้อีโมติคอนจำนวนมากติดต่อกันเช่นนี้อาจส่งผลเสียต่อเรื่องได้ เพราะทำให้ดูรกด้วยอีโมติคอนฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น วิธีแก้ง่ายที่สุดคือตัดอีโมติดคอนบางตัวที่ไม่จำเป็นออก โดยเฉพาะอีโมติคอนที่อยู่ระหว่างประโยคสองประโยค ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เนื้อความเสียไปแต่อย่างใด เช่น “พี่กับกุยช่ายไปปรึกษากันแล้ว” =_=^ แล้วทำไมไม่เรียกฉันไปปรึกษาด้วยล่ะ” หรือ “โอบาม่าช่วยหนูด้วย TT[]TT หมอนั่นเห็นฉันแล้ว” หรือ “ฉันรู้สึกหมั่นไส้เหลือเกิน = =^ รัศมีความหล่ออะไรของแก” เช่นเดียวกับ sound effect ที่ผู้เขียนใช้อย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นและสามารถตัดออกได้เหมือนกัน เช่น เชอะ :P โฮกก ฉันพึ่งโดนเจ้าดัชมิลค์มันหักหลังมาแท้ๆ ยังไม่อยากจะเห็นหน้าเลยสักกะนิ๊ด ฮึ่ยๆ หรือ กร๊ากๆฮ่าๆๆอุ๊บ :X “ฉันเผลอหัวเราะเสียงดังจนดัชมิลค์หันมามอง ว้าย~แย่แล้ว >< ทำอะไรลงไปเนี่ย กรี๊ด ฉันหันหลังจะวิ่งหนีไป..... ในบางกรณีผู้เขียนน่าจะใช้บทบรรยายแทนอีโมติคอนบางตัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคที่มีแต่ตัวอีโมติคอนล้วนๆ ถ้าเปลี่ยนเป็นการบรรยายแทนน่าจะสื่อความได้ดีกว่า เพราะบางครั้งผู้อ่านก็ไม่แน่ใจว่าตัวอีโมติคอนที่ใช้นั้น ผู้เขียนต้องการสื่อความว่าอย่างไรกันแน่ เช่น “=[]=” หรือ “=___=^” หรือ “= _=”
ในแง่ของการสะกดคำนั้น ผู้เขียนยังช้คำผิดความหมายหลายแห่ง เช่น ปวดบ้องหู ควรจะเปลี่ยนเป็น ปวดหู เพราะคำว่าบ้องหู มักใช้กับคำว่า ตบบ้องหู (คือส่วนด้านนอกของหู) มากกว่า หรือ “ได้ยินเสียงมันเต้นไหม ตุ๊บตั๊บ ตุ๊บตั๊บ หมายความว่าเรายังมีชีวิตอยู่ใช่ไหม” ควรจะเปลี่ยนเป็น “ได้ยินเสียงมันเต้นไหม ติ๊กตั๊ก ติ๊กตั๊ก หมายความว่าเรายังมีชีวิตอยู่ใช่ไหม” (ติ๊กตั๊กหรือตึกตัก คือ เสียงเต้นของหัวใจ ตุ๊บตั๊บ น่าจะเป็นเสียงของการใช้มือตีหรือตบลงไป) และยังมีคำสะกดผิดอยู่หลายคำ เช่น แป๊บ เป็น แปบ ฮะ - ห๊ะ กะทันหัน - กระทันหัน สุพรรณ - สุพรรณ์ เลศนัย - เลศนัยต์
ยิ่งไปกว่านั้น ความสม่ำเสมอของการดำเนินเรื่องก็เป็นปัญหาสำคัญด้วย จะเห็นได้ว่าบางครั้งผู้เขียนมุ่งเน้นการสร้างความสนุกให้กับเนื้อเรื่องมากเกินไป จนลืมเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่ปูพื้นไว้ โดยเฉพาะฉากที่กุยช่ายคุยกับลั่นฟ้าหลังจากที่ถูกเจ๊ชมพูและพวกซ้อมจนสะบักสะบอมในห้องเก็บของ ในตอนที่ 23 (หมาหัวเน่า) นั้น บางครั้งก็บรรยายว่ากุยช่ายบาดเจ็บมากจนแทบจะทรงตัวไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ดูว่ามีแรงมากจนสามารถทะเลาะกับลั่นฟ้าได้เหมือนคนปกติ จนคนอ่านก็สับสนเหมือนกันว่าตกลงผู้เขียนต้องการให้กุยช่ายเจ็บหรือไม่เจ็บกันแน่

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าหากผู้เขียนพยายามคุมการเขียนให้อยู่ในโครงเรื่องที่กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มแรก โดยพยายามไม่ให้อารมณ์ของตัวละครและของเหตุการณ์ต่างๆในเรื่อง หรือ ความต้องการที่จะสร้างสีสันและความสนุกให้กับเรื่องกลายเป็นประเด็นนำมากเกินไป เรื่องก็จะอยู่ในกรอบโครงตามที่ตั้งใจไว้ แทนที่จะมีบางฉากบางตอนดูล้นหรือผิดแปลกแตกแยกจากโครงเรื่องหลักที่วางไว้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ควรลดความฟุ่มเฟือยต่างๆดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็น่าจะทำให้นิยายเรื่องนี้กระชับมากขึ้น

--------------------------------------

     
 
11 ธ.ค. 53
80 %
4 Votes  
#26 REVIEW
 
เห็นด้วย
13
จาก 14 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Parallel Worlds

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 พ.ค. 53

Parallel World :: Era :: Dimension of time นิยายแนวแฟนตาซีของ ถนนคัดเดิ้ล ขณะนี้เขียนถึงตอนที่ 11 นิยายเรื่องนี้แปลกกว่านิยายเรื่องอื่น เพราะช่วยกันแต่งสองคน คือ B1 และ B2 ซึ่งเหมือนกับว่าแบ่งกันเขียนคนละตอน จึงยากที่จะทำให้เรื่องโดยองค์รวมหลอมกันได้แนบสนิทเหมือนมีผู้เขียนคนเดียว แต่ B1 และ B2 ก็สามารถเขียนออกมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวในนามของ ถนนคัดเดิ้ล ได้เป็นอย่างดี เพราะเรื่องราวดำเนินไปอย่างลื่นไหล จนไม่สะดุดใจเลยว่ามีผู้แต่งสองคน

นิยายแฟนตาซีเรื่องนี้เน้นที่ความลึกลับของประวัติความเป็นมาของคาเรลิน และมาการีน สองสาวฝาแฝดที่อยู่มาวันหนึ่งก็ประสบเหตุที่ทำให้พวกเธอต้องพลัดหลงไปอยู่ในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย แต่ทว่าดินแดนที่ไม่คุ้นเคยแห่งนี้กลับกลายเป็นสถานที่ที่กุมความลับที่ผูกพันกับประวัติความเป็นมาในอดีตและโชคชะตาของพวกเธอไว้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ต้องติดตามอ่านต่อไป

นิยายเรื่องนี้วางโครงเรื่อง (plot) ได้อย่างน่าสนใจ เพราะผู้แต่งอาศัยความลับเป็นเครื่องกระตุ้นความสนใจผู้อ่าน โดยสอดแทรกความลับต่างๆ ไว้เป็นระยะๆ จึงทำให้เรื่องไม่น่าเบื่อ และยังทิ้งประเด็นไว้ให้ผู้อ่านขบคิด ขณะเดียวกันก็เริ่มคลี่คลายความลับที่ทิ้งไว้บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านคาดเดาเหตุการณ์ต่างๆในเรื่องไปพร้อมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาของคาเรลินและมาการีน ความลับของพระราชินีและพระธิดาแห่งบาลอส ซึ่งอาจจะเกี่ยวพันกับความเป็นมาของคาเรลินและมาการีนก็ได้ หรือภารกิจของฟีเรลและฟาเรนขณะที่มาอยู่ที่บาลอส ซึ่งความลับต่างๆก็เริ่มทวีความเข้มข้นมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้แต่งสร้างตัวละครเอกได้อย่างโดดเด่น ตัวละครแต่ละตัวต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตาหรืออุปนิสัยต่างๆ โดยเฉพาะคาเรลินกับมาการีน แม้ว่าจะเป็นฝาแฝดเหมือนที่มีอายุห่างกันประมาณ 5 นาที แต่ผู้แต่งกลับสร้างให้ทั้งคู่มีความต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งสีตา ลักษณะนิสัยและรสนิยม ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านสามารถแยกตัวละครทั้งสองได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ ผู้แต่งยังให้ความสำคัญกับบทบรรยาย ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้อ่านสามารถสร้างจินตนาการได้อย่างดีมาก ผู้แต่งบรรยายได้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร ฉาก หรือบรรยากาศต่างๆ ในเรื่อง แต่บางครั้งก็พบว่าผู้แต่งตั้งใจมากเกินไป จนก่อให้เกิดความลักลั่นของระดับภาษาที่เลือกมาบรรยายด้วย เช่น “กลางดึกขณะที่ศศิธรลอยเคว้งกลางท้องฟ้า” ผู้วิจารณ์เห็นว่าหากต้องการใช้คำว่าศศิธร ก็ควรเปลี่ยนท้องฟ้า เป็น นภากาศ หรือ ท้องนภา แต่ถ้ายังคงใช้คำว่า ท้องฟ้า ตามเดิม ก็ควรเปลี่ยน ศศิธร เเป็น ดวงจันทร์ ที่แปลกมากคือเลือกใช้คำว่า เคว้ง ปรกติจะเป็นคำคู่คือเคว้งคว้าง ซึ่งให้ภาพที่ไม่ค่อยโรแมนติกนัก ในกรณีที่ใช้คำว่า เคว้ง จะไม่ได้หมายถึง การลอยอยู่โดดเดี่ยว แต่หมายถึง ไร้ทิศทาง ปราศจากจุดหมาย บางประโยคก็เลือกใช้คำผิดความหมาย เช่น ฝักดาบที่ไม่เคยเผยคมคาย (คมคาย แปลว่า ท่วงท่าดี เฉียบแหลม และมีไหวพริบ มักจะใช้ขยายบุคลิกภาพของบุคคล เช่น หน้าตาคมคาย หรือ หน้าตาคมสัน หรือใช้คำว่า คมคาย เมื่อเปรียบความคิด / สำนวนโวหาร เช่น ความคิดของเขาคมคายกว่าคนอื่น ถ้อยคำสำนวนนักเขียนคนนี้คมคายน่าสนใจ) ควรเปลี่ยนเป็น ฝักดาบที่ไม่เคยเผยคม (คม หมายถึง บางจนบาดได้ มักใช้ขยายอาวุธ หรือใช้คู่กับ แหลม เป็นแหลมคม เมื่อเปรียบเทียบความคิด สติปัญญา ) ปัญหาก้อนโตก็คือ... ควรเปลี่ยนเป็น ปัญหาใหญ่ก็คือ... เพราะลักษณะนามของปัญหาไม่ใช้ “ก้อน” และไม่ใช้คำว่าโตเป็นคำวิเศษณ์ขยาย “ปัญหา” ด้วย หรือ ผมสีเหลืองปะแล่มนี่ไม่ใช่คนที่นี่แน่นอน (เพราะคำว่าปะแล่มจะใช้ขยายรสชาติอาหาร เช่น หวานปะแล่มๆ หมายถึงหวานไม่มาก หวานอ่อนๆ) ควรเปลี่ยนเป็น ผมสีออกเหลืองนี่ไม่ใช่คนที่นี่แน่นอน

ขณะที่อ่านนั้น ผู้วิจารณ์สะดุดใจชื่อเรื่องเป็นลำดับแรก เพราะชื่อเรื่องประกอบขึ้นจากคำ 3 คำ ที่เป็นอิสระจากกัน คือ Parallel World Era และ Dimension of time (โลกคู่ขนาน – ยุคสมัย - มิติเวลา) ซึ่งทั้งสามคำนับเป็นคำสำคัญ (key word) ของเรื่อง โดยส่วนตัวเห็นว่าทั้งสามคำแม้จะมีความสำคัญอย่างไร แต่การตั้งชื่อเรื่อง ผู้แต่งก็น่าจะเลือกคำ หรือกลุ่มคำที่สามารถที่จะสื่อความในฐานะตัวแทนของเรื่อง หรือถ้าเห็นว่าทั้งสามคำนี้ไม่อาจตัดใจทิ้งได้ก็น่าจะนำมาเรียงกันให้อยู่ในรูปของกลุ่มคำที่สามารถสื่อความได้ในระดับหนึ่ง เช่น Era of Parallel World: Dimension of time ก็จะช่วยทำให้ชื่อเรื่องน่าสนใจ และดูเป็นชื่อเรื่องมากกว่าที่จะเอาคำสำคัญมาเรียงต่อกันเช่นนี้

ประการต่อมาคือ การตั้งชื่อบท ผู้แต่งจะตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษและมีคำแปลภาษาไทยประกอบ บางบทชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีความหมายคล้ายกัน เช่น life [not] Normal (ที่ถูกต้องน่าจะเขียนว่า [It isn’t] normal life หรือ [ab]normal life มากกว่า) /ชีวิตที่ (ไม่) ปกติ หรือ Intrusion to forbidden/สถานที่ต้องห้าม (ชื่อนี้แปลก intrusion แปลว่า การรุกราน ล่วงล้ำ forbidden แปลว่า ต้องห้าม ชื่อนี้จึงน่าจะหมายถึงการล่วงล้ำเข้าไปในสถานที่ต้องห้าม และการใช้บุพบท to กับ forbidden ก็แปลก เพราะ forbidden เป็นคำขยาย ไม่ใช่นาม ถ้าใช้ว่า to forbidden palace forbidden place forbidden world ก็อาจจะเป็นไปได้) แต่ชื่อบทส่วนใหญ่กลับมีความหมายที่ต่างกัน เช่น Sense of Melting/แลกเปลี่ยน Elysium of both/เข้าครัว The Casual Encounter?/พลาดท่า หรือ Puzzles Person/เมื่อคาเรลินเป็นหวัด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชื่อบทภาษาไทยเป็นการแปลแบบขยายความโดยอาศัยเนื้อเรื่องในบทนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่าเพื่อลดความสับสนของผู้อ่าน ผู้แต่งควรตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะเลือกใช้ชื่อบทเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย

นิยายเรื่องนี้ยังมีข้อมูลผิดพลาด 2 ประการ คือ ประการแรก การให้คาราลีนเล็มกิ่งดอกแดฟโฟดิล และเล็มกิ่งนาซิสซัส ความจริงแดฟโฟดิลเป็นชื่อสามัญของดอกนาซิสซัส ซึ่งเป็นชื่อเรียกในทางพฤกษศาสตร์ และต้นแดฟโฟดิลหรือนาซิสซัสนี้จะประกอบด้วยใบ (คล้ายใบหญ้าคา) และดอก ไม่มีส่วนที่เป็นกิ่งเหมือนดอกไม้บางชนิด ซึ่งสามารถตกแต่งด้วยการเล็มกิ่งได้ ดอกไม้ในกลุ่มแดฟโฟดิล จะมีหลากหลายชนิดมากมีแตกต่างกัน เช่น Hortus Third มี 26 ชนิด (species) และ Daffodils for North American Gardens มี 50 -100 ชนิด (species)

ประการที่สอง คือ เจ้าหญิงราเชลรีน่าเป็นโรคเลือดไหลไม่หยุด โดยผู้แต่งระบุว่าเป็นโรคลูคีเมียนั้น ในความจริงโรคเลือดไหลไม่หยุดเรียกว่า “ฮีโมฟีเลีย” เกิดจากการที่ร่างกายขาดโปรตีนบางชนิดในเลือดจึงทำให้เลือดไม่แข็งตัว ในขณะที่ “ลูคีเมีย” คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดมาจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือด ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดชนิดผิดปกติขึ้นมามากเกินไป เม็ดเลือดที่ผิดปกตินี้จะไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติ ทำให้เม็ดเลือดดีมีน้อยลง

นอกจากนี้ข้อมูลผิดพลาดแล้ว นิยายเรื่องนี้ยังมีความไม่สมเหตุผลในหลายตอน เช่น แหวนของคาเรลินและสร้อยของมาการีนหายไปตั้งแต่วันแรกที่ฟื้นขึ้นมาที่ชายแดนก่อนเข้าเมืองเอธิโอเปีย แต่เหตุใดผู้แต่งถึงให้มาการีนชวนคาเรลินไปหาของทั้งสองสิ่งที่ปราสาทด้านตะวันตกในเมืองบาลอส เพราะหาอย่างไรก็ไม่มีทางพบ อีกทั้งกษัตริย์เอเดรส แห่งบาลอส ทรงทราบได้อย่างไรว่าคาเรลินและมาการีนกำลังหาแหวนและสร้อยอยู่ จึงสามารถบอกได้ว่าของทั้งสองสิ่งอยู่ที่เมืองทีฟ ทั้งๆ ที่คาเรลินและมาการีนก็ไม่เคยบอกใครว่ากำลังหาอะไรอยู่

หรือการให้คาเรลินและมาการีน ปลอมตัวเป็นเจ้าหญิงของเอธิโอเปียแทนเจ้าหญิงราเชลรีน่า ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมือง กษัตริย์แห่งเอธิโอเปียไม่กลัวว่าจะถูกลงโทษบ้างหรือถ้าทางบาลอสทราบความจริงว่าส่งเจ้าหญิงปลอมมาให้ และการส่งเจ้าหญิงไปบาลอสก็ไม่ได้ส่งไปเพื่อเป็นตัวประกัน แต่เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่รัชทายาทของเมืองต่างๆ เหตุใดกษัตริย์เอธิโอเปียจึงส่งใครก็ไม่รู้ไปแทนพระราชธิดาของตน ขณะเดียวกันก็ยังสงสัยต่อไปอีกว่าจะไม่มีผู้ใดรู้เรื่องของเจ้าหญิงเอธิโอเปียเลยหรือว่ามีกี่พระองค์กันแน่ เพราะเอธิโอเปียไม่ใช่เมืองเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกลความเจริญเสียจนไม่มีผู้ใดทราบข่าวภายในเมือง แต่เอธิโอเปียเป็นดินแดนการค้าสำคัญ และยังเป็นเมืองพันธมิตรและดินแดนก็อยู่ติดกันน่าจะได้รับความสนใจมาก โดยเฉพาะข่าวการประสูติของเจ้าหญิง ดังนั้นในเมืองบาลอสจะไม่มีผู้ใดสงสัยเรื่องนี้เลยหรือ หากคนในบาลอสไม่รู้เรื่องนี้ เจ้าหญิงและเจ้าชายจากเมืองอื่นๆก็น่าจะสงสัยบ้าง
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้แต่งคุ้นเคยกับความเป็นคนไทย จนลืมไปว่าเรื่องราวในแต่งขึ้นนี้กล่าวถึงดินแดนสมมุติที่ไม่มีความเกี่ยวพันใดๆกับเมืองไทยเลย เมื่อสอดแทรกมุกตลกที่เกี่ยวกับเมืองไทยหรือภาษาไทย ซึ่งผู้แต่งอาจเห็นว่าจะช่วยเพิ่มสีสันให้กับเรื่องและสื่อกับผู้อ่านได้ แต่มุกตลกเหล่านี้กลับก่อให้เกิดความแปลกแยกมากกว่าสร้างความขบขัน เช่น บทที่ 2 กล่าวถึงประเพณีสงกรานต์ ในฉากที่ลินสาดน้ำแมรี่ โดยบรรยายว่า “กรี๊ด” เด็กหญิงแมรี่ก้มมองสภาพที่ดูไม่ได้ของตัวเองอย่างสะอิดสะเอียน หลังจากที่ลินคว้าถังใส่น้ำที่มีเศษฝุ่นลอยเต็มถัง ราดใส่ร่างเจ้าหล่อนเข้าอย่างจังฉลองสงกรานต์ล่วงหน้า หรือบทที่ 9 การแปลงชื่อตัวละครบางตัวเป็นชื่อภาษาไทย เช่น โบว์เรีย แปลงเป็น บัวลอย มิเกล แปลงเป็น มันแกว และ ชาลี แปลงเป็น ชานชลา หรือ บทที่ 11 ที่กล่าวถึงดาวลูกไก่ ซึ่งจู่ๆผู้เขียนก็แทรกเข้ามาในเรื่อง โดยบรรยายว่า

“คาเรลินส่งสายตานิ่งๆแฝงความไม่เข้าใจไปทางมาการีนที่ยังชี้โบ้ชี้เบ้ไปที่เตาผิงเก่าๆนั่นเหมือนเดิม คนถูกถามทางสายตายิ้มแป้น ดึงแขนคาเรลินให้ลุกขึ้น พาเดินไปที่เตาผิงใกล้ๆ แต่เธอก็ไม่เข้าใจอยู่ดี
ลูกเจี้ยบจะกระโดดลงกองไฟเวอร์ชั่นใหม่หรือ?
แล้วเธอจะกลายเป็นดาวดวงที่เจ็ด อะไรแบบนี้ แต่ว่าไฟมันมอดหมดแล้วนี่ แล้วเตาผิงนั่นก็สกปรกมากด้วย”

ข้อบกพร่องประการสุดท้าย คือ คำผิด ซึ่งพบอยู่ประปราย เช่น อนุญาต เขียนเป็น อนุญาติ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา ภูต เขียนเป็น ภูติ กฎ เขียนเป็น กฏ สนทนา เขียนเป็น สนธนา เวท เขียนเป็น เวทย์ อุตส่าห์ เขียนเป็น อุตส่า เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทย์มนต์ จักรพรรดิ เขียนเป็น จักรพรรดิ์ มั้ย เขียนเป็น มั๊ย มามี้ เขียนเป็น มามี๊ ชี้โบ๊ชี้เบ๊ เขียนเป็น ชี้โบ้ชี้เบ้ ลูกเจี๊ยบ เขียนเป็น ลูกเจี้ยบ หรือเลือกใช้คำผิดเพราะเป็นคำที่มีความหมายคล้ายๆกัน เช่น ราดน้ำ ควรเป็น สาดน้ำ

ท้ายที่สุด ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้แต่งควรอ่านทวนตั้งแต่ต้นเรื่องอีกครั้งก็จะพบคำผิด และความลักลั่นในการเลือกใช้คำ รวมทั้งความไม่สมจริงและข้อผิดพลาดบางประการที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ขณะนี้เรื่องเพิ่งดำเนินมาเพียงแค่ช่วงต้นเท่านั้น จึงสามารถปรับแก้ได้ไม่ยากนัก จะช่วยให้นิยายเรื่องนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

--------------------
     
 
ชื่อเรื่อง :  Punishment ทัณฑ์รัก (Yaoi)
ใครแต่ง : llคนตาลูป
24 มิ.ย. 57
80 %
7 Votes  
#27 REVIEW
 
เห็นด้วย
13
จาก 14 คน 
 
 
Punishment [Yaoi]

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 7 ธ.ค. 53
นิยาย Yaoi เรื่อง Punishment ของ แคนตาลูป โพสต์ไว้ถึงตอนที่ 16 (แต่มีเนื้อเรื่องจริงๆแค่ 11 ตอน ) เป็นเรื่องราวของเอฟและเซนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กันเลย แต่ต้องมาอยู่ด้วยกันเพียงเพราะเอฟต้องการแก้แค้นให้กับจีคนที่ตนรัก ในขณะที่เซนก็ยอมใช้ตัวเองเป็นตัวประกันเพื่อปกป้องความสุขของไผ่คนที่ตนรักให้พ้นจากการแก้แค้นในครั้งนี้ และตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน แม้ว่าเอฟจะปฏิบัติกับเซนราวกับเขาเป็นเครื่องเล่นที่จะทำอย่างไรก็ได้ แต่เซนกลับเริ่มที่จะผูกพันกับเอฟมาขึ้นทุกที จนกลัวว่าวันหนึ่งความรู้สึกที่เขามีต่อเอฟจะเปลี่ยงแปลงไปจากความเกลียดกลายเป็นความรัก

ความน่าสนใจประการแรกของเรื่อง คือ การที่มีเนื้อหาและเรื่องราวบางส่วนเชื่อมโยงกับนิยายเรื่อง Because, you’re my friend ซึ่งเป็นนิยายแนว yaoi ที่ แคนตาลูป เขียนจบไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ แคนตาลูป เลือกนำผลของการกระทำของเซนที่ทำกับไผ่ ในเรื่อง Because, you’re my friend มาเป็นเงื่อนไขหลักของการแต่งเรื่องนี้ กล่าวคือตลอดเวลาที่เซนได้รับความทุกข์ทรมานจากการกระทำอันโหดร้ายของเอฟ เขาก็ตระหนักว่านี่คือ การลงโทษ จากผลที่เขากระทำต่อไผ่ เช่นกัน สำหรับผู้อ่านที่เคยอ่านเรื่องดังกล่าวมาแล้วก็สามารถที่จะทราบเหตุการณ์เบื้องหลังระหว่างตัวละครต่างๆ ในเรื่องได้อย่างชัดเจน แต่สำหรับผู้ที่เริ่มอ่านนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกก็ไม่ได้รู้สึกว่าขาดอรรถรสในส่วนนี้ไปแต่อย่างไร เนื่องจาก แคนตาลูป สามารถที่ย้อนกลับไปสรุปเรื่องราวอันเป็นชนวนเหตุสำคัญได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

การแต่งเรื่องโดยมีเนื้อหาหรือเหตุการณ์บางส่วนที่เชื่อมโยงกันนิยายเรื่องก่อนหน้านี้ นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับนักเขียนไม่น้อย เนื่องจากเรื่องราวหรือเหตุการณ์บางตอนถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วจากเรื่อง Because, you’re my friend ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าเรื่องราวของนิยายทั้งสองเรื่องจะดำเนินคู่ขนานกันไป เรื่องราวหรือเหตุการณ์เหล่านี้กลายเป็นกรอบกำหนดโครงเรื่องของนิยายเรื่องนี้ไว้อย่างหลวมๆ ซึ่ง แคนตาลูป ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถที่จะผสานเหตุการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นในนิยายทั้งสองเรื่องได้อย่างแนบสนิท อันแสดงถึงความใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้เป็นอย่างดี เพราะมิใช่มีเพียงครั้งหรือสองครั้งที่จะต้องเชื่อมความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ที่ซ้อนกันในนิยายทั้งสองเรื่องนี้

ขณะเดียวกันกรอบหลวมๆ ของเหตุการณ์จากเรื่องเดิมก็อาจทำให้ผู้อ่านส่วนหนึ่งที่เคยอ่านเรื่องดังกล่าวจบลงแล้ว สามารถที่จะคาดเดาทิศทางของเรื่อง Punishment ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเซนกับเอฟว่าจะดำเนินไปในแนวทางใด แต่อาจจะต้องลุ้นเฉพาะบทสรุปในตอนจบว่า แคนตาลูป จะให้จบแบบเศร้าดังที่เอ่ยถึงไว้ในแล้วใน Because, you’re my friend เพื่อให้การลงโทษในตอนสุดท้ายเกิดกับเอฟด้วยเช่นเดียวกับที่เซนรู้สึกมาโดยตลอด หรือจะใจดีสร้างปาฏิหาริย์ให้กับความรักของคนทั้งคู่ด้วยการจบที่เต็มไปด้วยความสุขสมหวัง ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องรอลุ้นกันต่อไป

ในส่วนการเขียนนั้น หากจะให้เทียบระหว่างนิยายเรื่อง Because, you’re my friend กับเรื่อง Punishment ต้องยอมรับว่า แคนตาลูป พัฒนาการเขียนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นบทบรรยาย ที่จากเดิมที่ดูจะมีความอ่อนด้อยในการเขียนบทบรรยาย และอาศัยการใช้บทสนทนามาเป็นกลวิธีการดำเนินเรื่องหลัก แต่ในเรื่องนี้ แคนตาลูป เน้นบทบรรยายมากขึ้น ซึ่งบทบรรยายที่นำเสนอนี้กลายเป็นจุดเด่นของเรื่องนี้เลยก็ว่าได้ เพราะบทบรรยายเหล่านี้ โดยเฉพาะบทบรรยายความรู้สึกของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็น เซน เอฟ เบียร์ หรือ เขต ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจ เห็นใจ และมีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ยังช่วยสร้างความเข้มในเชิงอารมณ์ให้กับเรื่องด้วย นอกจากนี้ ในเรื่อง Punishment ก็ไม่ปรากฏอีโมติคอนหรือภาษาวิบัติ ซึ่งเคยเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเขียนเรื่องเดิมให้เห็นเลย เช่นเดียวกับคำผิดก็แทบจะไม่มีปรากฏ จะพบบ้างก็เพียงเล็กน้อย เช่น ต่างๆนานา เขียนเป็น ต่างๆนาๆ นัยน์ตา เขียนเป็น นัยย์ตา รถมอร์เตอร์ไซค์ เขียนเป็น รถมอร์เตอร์ไซ ทรมาน เขียนเป็น ทรมาณ เทศน์ เขียนเป็น เทศ แป๊บ เขียนเป็น แปบ กดกริ่ง เขียนเป็น กดกริ๊ง ว้าก เขียนเป็น ว๊าก เป็นต้น ในกรณีนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความใส่ใจในการเขียนของ แคนตาลูป ได้เป็นอย่างดี

มิติเรื่องความรักนับเป็นแก่นเรื่องสำคัญที่ แคนตาลูป ต้องการนำเสนอ ในเรื่องนี้ผู้อ่านจะมองเห็นแง่มุมความรักที่หลากหลาย ทั้งจากเซนที่เปลี่ยนนิยามความรักในใจตน จากเดิมที่ความรักคือการได้ครอบครอง กลายเป็นความรักคือการได้เห็นคนรักมีความสุขก็เพียงพอแล้ว จึงต่างจากเอฟ เมื่อคนที่เขารักถูกทำลาย เขาก็พร้อมที่จะแก้แค้นให้กับเธอ แม้ว่าเขาจะต้องฆ่าคนสักกี่คนก็ตาม หรือแม้ว่าคนๆนั้นเขาจะรักมากแค่ไหนก็ยอม ในขณะที่เบียร์ที่ถูกหักหลังจากคนรักคนแรก ซึ่งส่งผลให้เขาเข็ดขยาดกับความรักและไม่กล้าที่เผลอใจไปรักใครได้อีก แม้ว่าคนๆนั้นจะพยายามแสดงให้เห็นอยู่ตลอดเวลาว่ารักเขามากแค่ไหนก็ตาม หรือ โซดา เมื่อรักใครสักคนและเพื่อให้ได้เขามาเป็นของตน ก็พร้อมที่จะทุกวิถีทางแม้ว่าวิธีการเหล่านั้นจะผิดศีลธรรมก็ยอม

นอกจากนี้ แคนตาลูป ยังนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับความรักด้วยการสร้างวลีเก๋ๆ และนำเสนอนิยามความรักในแง่มุมต่างๆ สอดแทรกในเนื้อเรื่องโดยตลอด เช่น “ยามเมื่ออยู่ใกล้มักจะมองผ่าน ไม่ใช่เพราะมองไม่เห็นความสำคัญ แค่เป็นเพราะสิ่งๆนั้นสำคัญเกินไป สำคัญจนกลัวว่าถ้าแตะต้องแล้วจะสลายไปจากตน จึงได้แต่ทำเหมือนสิ่งๆนั้น ไม่มีตัวตนเพื่อที่จะ ... คงความสัมพันธ์นั้นเอาไว้” หรือ “นิยามความรัก ... รู้ไหมว่ามันหมายถึงอะไร แล้วทำไมใครต่อใครถึงได้มีมุมมองของนิยามนั้นแตกต่างกัน ใครคนหนึ่งบอกว่า ความรักคือรูปภาพ อยู่ที่ตัวเราจะแต่งแต้มสีสันให้สดใสหรือหม่นหมอง ใครอีกคนบอกว่าความรักคือสิ่งงมงาย ลุ่มหลงและหลับหูหลับตารัก แม้ว่าคนๆนั้นอาจจะมองไม่เห็นความรักที่มีให้ แต่บางคนบอกว่า ความรักคือผีเสื้อ ยิ่งไขว้ขว้ากลับยิ่งบินหนี หากยังฝันที่จะคว้าก็รังแต่จะทำให้ผีเสื้อต้องบาดเจ็บและตายไปเท่านั้น ...” หรือ “ในอดีตนิยามความรักของเขาคือ ‘รักคือการได้ครอบครอง’ แต่เมื่อเขาเลือกที่จะเปลี่ยนนิยามเพื่อคนที่เขารัก ‘การได้เห็นนายมีความสุข ฉันเองก็จะมีความสุขนั่นละคือความรักของฉัน’ และเพื่อให้คนที่รักมีความสุข ถึงแม้จะเจ็บปวดสักแค่ไหนเขาก็จะทำ...” การนำเสนอด้วยวิธีนี้นับว่าน่าสนใจ เพราะช่วยสร้างให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้งกับความหมายดีๆหรือให้คติเกี่ยวกับความรักที่แทรกอยู่ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้รับรู้อารมณ์เบื้องลึกของเหตุการณ์และของตัวละครในฉากนั้นๆ ได้มากขึ้น ซึ่งนับเป็นการลดช่องว่างระหว่างเรื่องกับคนอ่านลง ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้อ่านกับตัวละครผูกพันกันมากขึ้น แต่ตอนนี้ดูประหนึ่งว่า แคนตาลูป จะชื่นชอบวิธีการดังกล่าว จนเริ่มใช้กลวิธีนี้บ่อยๆครั้งขึ้น จึงอยากเตือนว่าหากใช้บ่อยครั้งเกินไป แทนที่จะสร้างความซาบซึ้งใจ กลับกลายเป็นสร้างความเคยชินให้กับผู้อ่านแทน เมื่อนั้นความประทับใจที่เกิดจากวลีเด็ดๆหรือคติดีๆในเรื่องความรักก็จะกลายเป็นเพียงประโยคธรรมดาไป ด้วยเหตุนี้ แคนตาลูป จึงต้องใช้อย่างพอเหมาะพอดีไม่ใช้จนเฝือเกินไปก็จะสร้างความจับใจให้กับผู้อ่านได้

โดยส่วนตัวเห็นว่ายังมีความไม่สมเหตุผลในเรื่องของการสร้างตัวละครอยู่บ้าง โดยเฉพาะเอฟ ที่ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า “จี” คือคนเพียงคนเดียวที่เขารักที่สุด และเพื่อแก้แค้นให้กับคนที่เขารักอย่างสุดหัวใจเช่นนี้ เขาก็พร้อมที่จะฆ่าใครก็ได้ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอันใดที่เอฟจะละเว้น แทมิน ผู้ชายที่ตัวการทำให้จีตาย เพียงเพราะเซน ซึ่งก็เป็นแค่ชายคนที่รักไผ่ ซึ่งเป็นแฟนของแทมิน ที่ยอมมาเป็นตัวประกันให้เอฟทำอะไรกับเขาก็ได้ เพื่อแลกกับคำสัญญาว่าจะไม่ใช้ไผ่เป็นเครื่องมือแก้แค้นแทมิน และยิ่งทราบภูมิหลังของเอฟที่ว่าเขาประกอบธุรกิจผิดกฎหมายหลายด้าน ไม่ว่าจะค้าอาวุธ ค้ายาเสพติด และค้าประเวณีทั้งหญิงแลชาย ดังนั้น เขาจึงไม่น่าจะเป็นคนที่ยอมอดทนรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับใครก็ไม่รู้ จนไม่กล้าที่จะทำร้ายไผ่หรือแทมินศัตรูคู่แค้นของเขา และต่อให้เขาทำร้ายแทมินหรือไผ่จริงๆ เซนก็ไม่อาจรู้ได้ เนื่องจากตลอดเวลาที่เซนอยู่กับเอฟ เซนก็ถูกขังให้อยู่แต่เฉพาะในคอนโดและที่ทำงานของเอฟเท่านั้น หรือแม้แต่โทรศัพท์เอฟก็ไม่อนุญาตให้เขาใช้

สำหรับนิยายเรื่อง Punishment ต้องยอมรับว่า แคนตาลูป พัฒนาฝีมือในการเขียนมากขึ้น และสามารถแก้ข้อบกพร่องต่างๆที่เคยวิจารณ์ไว้แล้วจากเรื่อง Because, you’re my friend ได้เป็นอย่างดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความเอาจริงเอาจังในการเขียน ในนิยายเรื่องนี้แม้จะยังมีข้อบกพร่องบางประเด็นดังที่กล่าวถึงไว้แล้วข้างต้น ก็เป็นเพียงประเด็นเล็กน้อยที่สามารถแก้ไขได้ เมื่อ แคนตาลูป แก้ข้อบพร่องต่างๆ เหล่านี้ได้ก็จะช่วยให้เรื่องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

-----------------------------------
     
 
1 มี.ค. 55
80 %
7 Votes  
#28 REVIEW
 
เห็นด้วย
13
จาก 14 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Adit Bow [เอดิท โบล] ; เด็กล้างจานผู้ยิ่งใหญ่

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 3 ก.พ. 54
ความรู้สึกแรกเมื่อได้อ่านชื่อเรื่อง Adit Bow [เอดิท โบล] ; เด็กล้างจานผู้ยิ่งใหญ่ นิยายของ ~นางฟ้าซาตาน~ คือ นิยายเรื่องนี้น่าจะมีความแตกต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆ ในเด็กดี ที่มักจะวางตัวละครเอกในนิยายให้เป็นคนที่มีความสามารถมาตั้งแต่ต้น ในแบนเนอร์ของนิยายเรื่องนี้ที่นักเขียนนำมาฝากไว้ ระบุเพียงว่า “คนที่ต่ำต้อยในสายตาใครๆอย่างเธอ จะต่อสู้เพื่อฝันและการยอมรับได้มั้ย..” จึงเข้าใจว่า จะได้อ่านเรื่องราวชีวิตของเด็กล้างจานที่ไต่เต้าขึ้นมาจนได้รับการยอมรับในสังคม

ทว่าเมื่อได้เข้ามาอ่านนิยายเรื่องนี้จริงๆ ก็ปรากฏว่าเนื้อเรื่องของนิยายผิดไปจากความคาดหวังประมาณครึ่งหนึ่ง ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่านักเขียนแต่งได้ไม่ดี แต่ข้อมูลที่ได้รับเบื้องต้นไม่ชวนให้คิดว่าจะได้อ่านนิยายแนว “แฟนตาซีโรงเรียน” ผมกลับจินตนาการว่าจะได้อ่านเรื่องราวของเด็กล้างจานในร้านอาหารที่ไต่เต้าจนได้เป็นเจ้าของภัตตาคารอะไรทำนองนั้น แต่ก็ปรากฏว่านิยายเรื่อง เอดิท โบล คือนิยายแนวแฟนตาซีโรงเรียนเต็มตัว หากจะต้องแนะนำการประชาสัมพันธ์นิยายออนไลน์แล้วล่ะก็ ผมคิดว่าผู้เขียนน่าจะต้องระบุแนวเรื่องให้ชัดเจนกว่านี้ เพื่อป้องกันความผิดหวังของผู้ที่อยากอ่านนิยายแนวอื่นมากกว่าแนวแฟนตาซี
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาโดยรวมของ Adit Bow [เอดิท โบล] ; เด็กล้างจานผู้ยิ่งใหญ่ ก็ยังคงเป็นไปตามคำแนะนำเรื่องในแบนเนอร์ คือเป็นเรื่องราวของสาวน้อยชื่อ เอดิท โบล เธอเป็นเด็กล้างจาน ที่ต้องการการยอมรับ ด้วยการสอบเข้าโรงเรียนเวทมนตร์ที่ชื่อเฮอร์เซโกวีน่า ซึ่งเป็นโรงเรียนของชนชั้นสูง เธอจึงได้รับการดูถูกเหยียดหยาม อีกทั้งยังสอบตก ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าโรงเรียนถึงสามครั้งกว่าจะผ่านในครั้งที่สี่

สิ่งที่เอดิท โบล ทำให้ผมแปลกใจ คือ ถึงแม้เธอจะมีนิสัยและท่าทางที่แข็งกร้าว และไม่ยอมลดละความพยายาม แต่การที่นักเขียนบอกว่า การเข้าเรียนที่โรงเรียนนี้เป็นความฝันของเธอ ก็ยังไม่รู้สึกว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการสอบครั้งแรกถึงครั้งที่สาม เกิดจากความต้องการของมารดา (เอ็มม่า โบล) ที่จะใช้ข่าวของเธอในการประชาสัมพันธ์โรงแรม ที่ในนิยายเรียกว่าโรงเตี๊ยม (คำเรียกดังกล่าวก็เป็นอีกอย่างที่แปลกใจ เพราะเป็นแนวแฟนตาซีตะวันตกเต็มตัว ไม่ใช่นิยายจีน) ความต้องการของเอดิทที่จะสอบเข้าเฮอร์เซโกวีน่าหรือเฮอร์เซนด้วยตนเองเพิ่งจะมีในการสอบครั้งที่สี่ ซึ่งเท่าที่อ่านทำให้เข้าใจว่า การสอบครั้งที่สี่เป็นความไม่ยอมแพ้ของเอดิท มากกว่าจะเป็นความฝันของเธอ หากผู้เขียนต้องการให้การเข้าเรียนที่นี่เป็นความฝันของเธอ ก็น่าจะให้เหตุผลในการสอบเข้าทั้งสี่ครั้ง (หรือสามครั้งหลัง) มาจากความต้องการของเธอเองมากกว่าที่จะเป็นของมารดา

นอกจากนี้ ความเป็นเด็กล้างจานของเธอก็ยังมีข้อกังขาอยู่ เพราะเป็นถึงลูกสาวเจ้าของโรงแรม จะมีหน้าที่เป็นเด็กล้างจานเท่านั้นหรือ หากผมเป็นเอ็มม่า คงจะให้เอดิทต้องฝึกงานหลายอย่างมากในโรงแรมเพื่อจะรับช่วงต่อจากตนเอง และคงจะให้เอดิทได้ออกหน้าในสังคมด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าจะให้ลูกสาวของตนเองต้องเป็นที่ดูถูกเหยียดหยาม ทั้งในเหตุผลทางธุรกิจและความเป็นแม่ (ที่ไม่มีพ่อช่วยเลี้ยงอีกด้วย) จึงมองไม่เห็นเหตุผลที่ทำให้เอ็มม่าอยากให้ลูกสาวของตนเป็นเด็กล้างจาน และไปสมัครสอบเข้าโรงเรียนเวทมนตร์ หากจะให้เอดิทไปสอบเข้าจริงๆ ก็น่าจะเป็นเพราะอยากให้ลูกสาวของตนได้ดี มากกว่าที่จะเป็นแผนการตลาด ดังที่นักเขียนกล่าวอ้าง

ด้วยความที่นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องของชนชั้นล่างที่ไปสอบเข้าโรงเรียนเวทมนตร์ชั้นสูง จึงอดเปรียบเทียบกับ “หัวขโมยแห่งบารามอส” ไม่ได้ เรียกได้ว่านิยายเรื่องนี้มีกลิ่นของ “หัวขโมยแห่งบารามอส” อยู่ค่อนข้างมากทีเดียว ทั้งในด้านของความเป็นชนชั้นล่างที่ต้องไปอยู่ในโลกของชนชั้นสูง ความรู้สึกเวลาอ่านที่รื่นไหล และมีลักษณะเหมือนกับอ่านนิยายแปล แต่เอดิท โบล เองก็มีความแตกต่างจากหัวขโมยแห่งบารามอสอยู่ที่ลักษณะของโรงเรียนที่ไม่ได้มีการแบ่งแยกเป็นบ้านหรือหอ และดูเหมือนว่านักเขียนจะเน้นให้เอดิทต้องเจ็บตัวในการเรียนแทบจะทุกวิชา นอกจากวิชาปรัชญา ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่แตกต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆ ที่จะให้ตัวละครเอกมีฝีมือมาตั้งแต่ต้น การที่ผู้อ่านได้พยายามร่วมไปกับเอดิท ก็ถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของนิยายเรื่องนี้ทีเดียว นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่มาเพิ่มเสน่ห์ให้กับเรื่องคือ มหาดเล็กของเอดิทที่มีชื่อว่าลิตเติลสปูน ซึ่งเหมือนกับเธอคือเป็นชนชั้นล่างที่ต้องดิ้นรนเช่นกัน และเป็นคนที่มีความสามารถด้านการเย็บปักถักร้อย นักเขียนสามารถแต่งให้เห็นถึงบุคลิกของลิตเติลสปูน หนุ่มน้อยที่ทำงานในหน้าที่อย่างตั้งใจ และมีความน่าเอ็นดู ได้อย่างเห็นภาพ ถือได้ว่าเป็นสีสันอย่างหนึ่งของเรื่องนี้

รายละเอียดเรื่องเรียนแต่ละวิชาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักเขียนใส่ใจ ในวิชาเวทมนตร์ นักเขียนได้ให้ภาพของการเริ่มต้นศึกษาเวทมนตร์ที่น่าสนใจและแปลกใหม่สำหรับเวทมนตร์ที่มีพื้นฐานจากธาตุ ที่ให้ไปเริ่มต้นจากธาตุที่ถูกเก็บไว้ในขวดแก้ว ธาตุเหล่านั้นมีสีสันและความเคลื่อนไหวไปตามเอกลักษณ์ของตนเอง ต้องขอยอมรับว่าผมไม่เคยอ่านพบการเรียนเวทมนตร์เช่นนี้ที่ใดเลย และต้องการที่จะอ่านวิธีการเรียนเวทมนตร์ในเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ น่าเสียดายว่าเมื่อเอดิทเกือบจะถูกธาตุไฟฆ่า ทำให้การเรียนเวทมนตร์ต้องหยุดชะงักไป ขณะที่วิชาต่อสู้ป้องกันตัว ก็ให้รายละเอียดของการที่ต้องฝึกฟันหุ่นไม้ได้อย่างน่าสนใจ มีการอธิบายสาเหตุที่ผู้ฝึกการต่อสู้ต้องฝึกฟันหุ่นไม้ซ้ำๆ ว่ามีความจำเป็นอย่างไร ในขณะที่อาจารย์ผู้สอนไม่ยอมบอกสาเหตุนั้น กลับต้องเป็นเพื่อนในชั้นเรียนที่มาอธิบายแทน ก็ทำให้รู้สึกเหมือนชมภาพยนตร์กำลังภายในแบบคลาสสิกที่อาจารย์เอาแต่สั่งโดยไม่เคยอธิบายเหตุผล

อีกเรื่องหนึ่งคือการเลี้ยงและควบคุมม้า นักเขียนได้ให้ภาพที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของม้าแต่ละตัว โดยเฉพาะตัวเด่นคืออัสลานและแบล็คไฟร์นั้นเห็นภาพชัดเจนมาก ตลอดจนสภาพของคอกม้าและตลาดขายม้า และวิธีการดูแลรักษาม้า ก็ทำให้รู้สึกว่าผู้เขียนเรื่องนี้ “ทำการบ้าน” มาดีมาก นอกจากนี้ยังมีการบรรยายการแต่งกายของตัวละครแบบต่างๆ ที่มีรายละเอียดของเสื้อผ้าชิ้นต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดีเช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากกล่าวถึงคือชื่อสถานที่ในเรื่องนี้เป็นชื่อที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น เฮอร์เซโกวีน่า (อดีตหนึ่งในหกสาธารณรัฐของยูโกสลาเวีย มีชื่อเต็มว่าบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา) และไฮเดนเบิร์ก (เมืองหนึ่งในเยอรมนี) ผมมีความเห็นว่าหากไม่ได้ตั้งใจให้เรื่องนี้เป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ก็น่าจะตั้งชื่อเมืองใหม่เลย แต่อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวว่าโลกของเอดิท โบล คือโลกสมมติที่สถานที่ต่างๆ เหล่านั้น “บังเอิญชื่อเหมือน” ผมก็คงจะโต้แย้งอะไรไม่ได้

สิ่งที่อยากชื่นชมนิยายเรื่องนี้อีกประการหนึ่งคือความน่าติดตาม เพราะนักเขียนได้ทิ้งปมให้ผู้อ่านใคร่รู้อยู่หลายปม ตั้งแต่ ใครคือบิดาของเอดิท เพราะเหตุใดธาตุไฟจึงพยายามฆ่าเธอ ความฝันเมื่อหลับของเอดิทที่เห็นแสงสีแดง และเวทมนตร์ครันทาราคืออะไร มีความพิเศษอย่างไร เป็นต้น ผมหวังว่านักเขียนคงจะคลี่คลายปมเหล่านี้ได้อย่างสมเหตุสมผล และน่าจะค่อยๆ สางปมเหล่านี้ไประหว่างทาง มากกว่าที่จะเป็นการเฉลยรวดเดียวตอนจบ เพราะผู้อ่านก็จะมีความสนุกจากการร่วมไขปริศนาในเรื่องไปด้วย

ด้านคำผิดที่ปรากฏในเรื่องนี้มีไม่มากนัก เช่น ฉัน เขียนเป็น ชั้น จอมเวท เขียนเป็น จอมเวทย์ เป็นต้น สำนวนแปลกๆ เช่น เคาะประตูจนมือจะเป็นม่าย น่าจะเป็น เคาะประตูจนมือจะเป็นง่อย มากกว่า นอกจากนั้นเป็นคำที่ไม่ตั้งใจพิมพ์ผิด เช่น เปลื้อน ที่ถูกคือ เปื้อน เป็นต้น จึงขอให้นักเขียนแก้ไขและตรวจทานให้ถูกต้อง ก็จะทำให้นิยายเรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีก

-------------------------
     
 
ใครแต่ง : CacoethesScribendi+
23 ก.พ. 61
80 %
20 Votes  
#29 REVIEW
 
เห็นด้วย
12
จาก 12 คน 
 
 
วิจารณ์ The TACHERS : พันธกิจสีเลือด

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 15 มิ.ย. 55

นิยายเรื่อง TheTACHERS : พันธกิจสีเลือด ของ CacoethesScribendi+ เป็นนิยายแนวแอคชั่นแฟนตาซี ที่ตัวละครเอกทั้งหลายใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนมัธยม แต่เนื้อเรื่องก็ไม่ได้อยู่ที่การเรียนการสอนในโรงเรียนเป็นหลัก ดังที่นักเขียนกล่าวไว้ว่า “อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่านี่เป็นนิยายแนวโรงเรียนนะคะ คนแต่งไม่เน้นเรียนค่ะ ดังนั้นตัวเอกเลยติดหางเลขไม่เรียนไปทั้งหมดด้วยกันเนี่ยแหละ!” แต่การที่เนื้อเรื่องเป็นไปเช่นนี้ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ยังกังขาว่าจำเป็นต้องใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ดำเนินเรื่องหรือไม่

จุดกำเนิดของเรื่องราวในนิยายเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อหลายร้อยปีก่อน เมื่อ เทพเจ้าแห่งนรก “เฮดีส” ได้ทำสัญญากับมนุษย์คนหนึ่งว่าจะมอบพลังเหนือมนุษย์ให้แลกกับการที่เขาต้องนำวิญญาณปิศาจทั้งมวลกลับสู่นรกหรือ “ทาร์ทะรัส” เวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ผู้นั้นสืบเชื้อสายกลายเป็นกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “แทชเชอร์” ที่ยังคงมีพลังและต้องต่อกรกับปิศาจทุกค่ำคืน และ “ภาคิน” ก็เป็นแทชเชอร์อีกคนหนึ่ง แต่จะแตกต่างกันตรงที่ว่า ในขณะที่สมาพันธ์แทชเชอร์ มีประวัติของทุกคน มีเพียงเขาที่ไร้ประวัติให้สืบค้น ข้อมูลที่ผู้อ่านรวมทั้งตัวละครในเรื่องส่วนใหญ่ทราบมีเพียงว่า ภาคินเติบโตจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า พร้อมกับ “ฝาแฝด” ต่างสายเลือดชื่อ “ภีลา” แต่ที่เรียกกันเป็นแฝดเพราะอายุเท่ากันและถูกเลี้ยงดูมาด้วยกัน ผู้เขียนกล่าวถึงเธอตั้งแต่ต้นเรื่องราวกับเธอเป็นคนสำคัญ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปบทบาทของภีลากลับมีน้อยมาก หากผู้เขียนอยากให้ภีลามีเป็นตัวละครที่สำคัญ ก็น่าจะให้เธอมีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากนี้ ภาคินมีรายได้จากการทำงานให้กับองค์กรลับแห่งหนึ่ง ในหน่วยของภาคินมี “ไคท์” เป็นหัวหน้าหน่วย ในภารกิจล่าสุดเขาส่งภาคินให้ไปสังเกตการณ์โดยการฝังตัวในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งนักเรียนในห้องเจ็ดของทุกชั้นปีล้วนแล้วแต่เป็นแทชเชอร์ และเรื่องมาเฉลยภายหลังว่าไคท์ก็เป็นแทชเชอร์เช่นกัน และได้จับตาดูภาคินมาโดยตลอด

เมื่อเข้ามาอยู่ในโรงเรียน ภาคินต้องปฏิบัติภารกิจปราบปิศาจไปพร้อมกับเพื่อนๆ พี่ๆ ห้องเจ็ด ซึ่งมีอยู่หลายคน แต่คนที่สนิทกับเขาที่สุด ณ ตอนนี้ คือ ตรัณ คู่หูสุดฮาบ้าพลัง และคิริสา เพื่อนสาวบุคลิกเย็นชา ทั้งสองคนมีบทบาทในการแนะนำชีวิตในโรงเรียน และการเรียนรู้วิธีการใช้พลังของแทชเชอร์ ในขณะที่คนอื่นๆ แวะเวียนกันเข้ามาสร้างสีสัน ซึ่งนักเขียนสามารถเขียนถึงตัวละครทั้งหลายได้อย่างมีบุคลิกที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการบรรยายลักษณะตัวละคร และคำพูดของตัวละคร ผู้อ่านจึงเกิดความสนุกสนานเมื่อได้เห็นเหล่าตัวละครปะทะคารม และร่วมต่อสู้ในสถานการณ์ต่างๆ อีกทั้งการบรรยายฉากการต่อสู้ก็ทำให้ผู้อ่านได้ร่วมลุ้นไปกับตัวละคร โดยเฉพาะบางฉากที่ตัวละครต้องอยู่ในสถานการณ์ที่คับขันมากๆ

การใช้แทช หรืออาวุธของแทชเชอร์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่นักเขียนสร้างสรรค์จากของใช้ของนักเรียนได้อย่างน่าสนใจ เมื่อตรัณมีไม้บรรทัดเหล็กเป็นอาวุธฟาดฟันคล้ายดาบ ในขณะที่คิริสาเป็นเครื่องเย็บกระดาษแบบยิง จึงใช้เป็นอาวุธระยะไกล เมื่อทั้งสามต้องอยู่ในทีมเดียวกัน จึงมีอาวุธทั้งระยะใกล้และไกล ส่วนภาคิน ถึงแม้เขาจะยังไม่สามารถพัฒนาพลังของตนเองจนถึงขั้นมีอาวุธได้ แต่ก็มีความเร็วเป็นความสามารถสำคัญที่สามารถล่อหลอกศัตรูให้เพื่อนๆ กำจัด การร่วมมือของทั้งสามคนจึงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้วางแผนมาแล้วอย่างดี ถึงแม้ว่าช่วงหลังภาคินจะต้องเปลี่ยนสมาชิกในทีม (คำว่า “ทีม” ที่ผมกล่าวถึงไม่ใช่ทีมที่ได้รับมอบหมายในเนื้อเรื่อง แต่หมายถึงผู้ที่ภาคินต้องร่วมมือในการต่อสู้กับปิศาจ) จากคิริสา เป็นรุ่นพี่ที่ชื่อวลัชญ์ แต่เธอก็ใช้แส้ซึ่งเป็นอาวุธระยะกลางถึงไกล น่าจะชดเชยกันได้

ข้อดีอีกประการหนึ่งของนิยายเรื่องนี้คือมีการอธิบายที่มาของความเก่งของตัวละคร ในขณะนี้การดำเนินเรื่องของนิยายยังอยู่ในช่วงพัฒนาความสามารถของภาคิน ผู้อ่านจึงต้องร่วมเรียนรู้การใช้พลังไปกับเขา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อพลังนั้นไม่ได้เรียกใช้ง่ายอย่างใจนึก ดังที่ผู้เขียนบรรยายไว้ว่า “เรียกหาพลันซ่อน วางเฉยพลันเผยตน” การใช้พลังซึ่งในเรื่องเรียกว่า “โซล” จึงต้องอาศัยการเรียนรู้อย่างยากลำบาก ทั้งต้องฝึกการใช้สมาธิ ฝึกการทำความรู้จักกับพลังผ่านการต่อสู้ ซึ่งก็ทำให้ภาคินต้องเลือดตกยางออกอยู่บ่อยครั้งกว่าจะจับหลักการใช้พลังขั้นต้นได้

นอกจากนี้ผู้เขียนยังใช้การฝึกฝนการใช้พลังของภาคิน ในการแนะนำตัวละครอื่นๆ ที่ต้องมาทำหน้าที่สอนการใช้พลังให้เขา ทั้งตรัณ คิริสา และจักรา โดยเฉพาะจักรานั้นถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดในการสอนการใช้โซลให้ภาคิน รวมถึงการถ่ายโซลให้กับเขา ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือภาคินในยามไร้พลังจากโซลของตนเอง ก็ยังสามารถโยงเข้าสู่ความสัมพันธ์ของภาคินกับไคท์ เพราะเมื่อภาคินมีโซลของสองคนอยู่ในตัว ทำให้ทางสมาพันธ์แทชเชอร์ต้องจับกุม จุดนี้ถือได้ว่าผู้เขียนดำเนินเรื่องได้อย่างแนบเนียน แต่สิ่งที่ผู้เขียนควรระวังคือการดำเนินเรื่องที่ดูเหมือนจะช้าเกินไป เพราะขณะนี้ The Tachers มีความยาวถึง 22 ตอน (รวมบทนำ) แต่ภาคินยังไม่มีอาวุธประจำกาย อีกทั้งยังไม่มีการต่อสู้กับปิศาจระดับสูงให้เห็นในเรื่องแม้แต่ตัวเดียว ในขณะที่นิยายเรื่องนี้เป็นแนวแอคชั่นซึ่งไม่น่าจะมีความยาวมากนัก จึงอยากให้ผู้เขียนดำเนินเรื่องให้กระชับขึ้น

ประเด็นสุดท้ายที่อยากกล่าวถึงคือ ข้อสงสัยประการหนึ่งของนิยายเรื่องนี้คือสถานที่ดำเนินเรื่องที่เป็นโรงเรียน เท่าที่อ่านดูยังไม่พบความจำเป็นที่เหล่าตัวเอกจะต้องอยู่ในโรงเรียน เพราะพวกเขาแทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรจากสถานที่นี้เลย นอกจากใช้เป็นที่พักผ่อนหลับนอนหรือรักษาตัวในห้องพยาบาล บุคลากรในโรงเรียนเช่นครู หรือนักเรียนห้องอื่น ก็ไม่ได้มีบทบาทในเรื่อง นอกจากสาวๆ ที่คอยตามกรี๊ดหนุ่มๆ แทชเชอร์ เท่านั้น อีกทั้งโรงเรียนนี้มีเพียงสามชั้นปี จึงสงสัยว่าเมื่อแทชเชอร์เรียนจบแล้วจะทำอย่างไรต่อไป หากตอบว่าไปอยู่ที่สมาพันธ์ ก็แล้วเหตุใดจึงไม่ให้เด็กห้องเจ็ดทั้งหลายไปอยู่ที่สมาพันธ์ตั้งแต่ต้น หากผู้เขียนต้องการสถานที่ฝึกหัดให้แทชเชอร์ สมาพันธ์ก็อาจจะจัดตั้งศูนย์ฝึกหัดให้แทชเชอร์โดยตรง โดยที่ไม่ต้องให้มาเรียนปะปนกับนักเรียนธรรมดา จึงอยากให้นักเขียนมีคำอธิบายที่เหมาะสมในเรื่องนี้เพิ่มเติม



     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12