If On a Winter's Night, a Traveller ความยอกย้อนแห่งวรรณกรรม - If On a Winter's Night, a Traveller ความยอกย้อนแห่งวรรณกรรม นิยาย If On a Winter's Night, a Traveller ความยอกย้อนแห่งวรรณกรรม : Dek-D.com - Writer

    If On a Winter's Night, a Traveller ความยอกย้อนแห่งวรรณกรรม

    อิตาโล คัลวิโนท้าทายผู้อ่านตั้งแต่หน้าแรกด้วยกลวิธีดึงผู้อ่านเข้าสู่โลกของนวนิยาย เราจะรู้สึกอย่างไร เมื่อเราได้กลายเป็นผุ้มีส่วนร่วมในการประกอบสร้างนวนิยายเรื่องนี้ในฐานะตัวละครตัวหนึ่ง??

    ผู้เข้าชมรวม

    1,653

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    11

    ผู้เข้าชมรวม


    1.65K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    หมวด :  อื่นๆ
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  26 พ.ค. 51 / 23:06 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    If On a Winter's Night, a Traveller ผลงานของ อิตาโล คัลวิโน นักเขียน นักวิจารณ์นวนิยายชาวอิตาเลียนที่เราชอบมาก เล่มนี้อ่านจนเยิน ขนาดอ่านเพราะอาจารย์ให้อ่านเอามาทำรายงาน เดี๋ยวนี้บนโต๊ะก็ยังต้องมีนิยายเรื่องนี้วางเอาไว้ เวลาเบื่อวิทยานิพนธ์แล้วมึนๆ ก็หยิบมาอ่าน ถ้าสงสัยว่านิยายเรื่องนี้มันเจ๋งยังไง แนะนำให้อ่าน แปลไทยมีแล้วนะคะ ชื่อ "หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง"

    การได้มีโอกาสสัมผัสงานชิ้นนี้ ได้มีโอกาสวิจารณ์งานของเขา ทำให้เรายิ่งมีกำลังใจในการที่จำเขียนฟิคของตัวเอง ในฐานะผลงานอันเกิดจากการตีความ ความลื่นไหล ไม่ตายตัวของบทประพันธ์ (และแน่นอน อาการจิตตกที่ Seed Destiny ทำไว้ ก็ได้รับการเยียวยาจากทฤษฎีมรณกรรมของผู้แต่งที่เราจับมาใช้ในการวิจารณ์นวนิยายเรื่องนี้ เหอๆๆๆ)
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง
      โดย อิตาโล คัลวิโน
      : ความยอกย้อนของกลวิธีอย่างหลังสมัยใหม่


      "คุณกำลังจะเริ่มอ่านนวนิยายเรื่องใหม่ หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ของอิตาโล      คัลวิโน ทำใจให้สบาย รวบรวมสมาธิ ปัดความคิดอื่นออกไปให้ไกล ให้โลกรอบกายคุณเลือนหายไป ถ้าปิดประตูห้องได้เสียก็ดี....." 

      "คุณคือใครกัน คุณนักอ่าน อายุอานามเท่าไร สถานภาพการสมรส อาชีพ รายได้ ถ้าจะถามคุณคงไม่ถูกกาละเทศะ มันเป็นเรื่องของคุณ จัดการเอาเองแล้วกัน ที่สำคัญก็คือสภาพจิตใจของคุณในตอนนี้ ในบ้านของคุณที่มีความเป็นส่วนตัว ขณะที่คุณพยายามจะสร้างความสงบอันสมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อจะให้ตัวเองเพลินอยู่กับหนังสือ คุณยืดขาออกไป หดเข้ามา ยืดกลับไปใหม่ มีอะไรบางอย่างเปลี่ยนไปนับจากเมื่อวาน การอ่านของคุณไม่สันโดษเหมือนเดิมแล้ว   คุณกำลังคิดถึงนักอ่านอีกคน   ซึ่งในเวลาเดียวกันนี้ เธอเองก็กำลังเปิดหนังสือเช่นกัน      นี่อย่างไรล่ะที่หนังสือนวนิยายถูกนวนิยายชีวิตแซงหน้าขึ้นมา จะเป็นเรื่องราวของคุณกับเธอ หรือจะพูดให้ถูก     ก็คื เป็นจุดเริ่มของเรื่องราวที่มีความเป็นไปได้"

      นับแต่การเปิดเรื่อง ผู้อ่านจะพบว่า อิตาโล คัลวิโน (Italo Calvino) ท้าทายผู้อ่านต่อการอ่านนวนิยายเรื่องนี้ของเขาตั้งแต่หน้าแรกของ หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ด้วยกลวิธีการประพันธ์ที่ดึงตัวผู้อ่านเข้าสู่โลกของนวนิยาย ทำให้ผู้อ่านฉงนสนเท่ห์ไปกับวิธีการดำเนินเรื่องที่ฉีกจากขนบการประพันธ์เดิมๆอย่างแนวการประพันธ์แนวสัจนิยม ด้วยการดึงตัว "คุณ" สรรพนามบุรุษที่ 2 มาใช้เพื่อเป็นการแฝงนัยแห่งการ "เล่น" กับการตีความของแต่ละอัตตบุคคลต่อตัวบทที่เขาคนนั้นกำลังอ่านอยู่

      คัลวิโน เริ่มต้นนวนิยายเรื่องนี้ว่า "คุณ" ซึ่งหมายถึง นักอ่านชายได้ตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มใหม่ของ อิตาโล คัลวิโน ชื่อ หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง หลังจากอ่านอย่างสบายใจไปได้ไม่นาน "คุณ" ก็พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น หนังสือที่ซื้อมานั้นมีการสลับหน้า32 ย้อนไปหน้า17 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ "คุณ" ต้องออกเดินทางเพื่อตามหาเนื้อเรื่องตอนต่อไปของนวนิยาย

      ระหว่างทางนั้น "คุณ" ก็ได้พบเรื่องราวที่ซ้อนทับขึ้นมาในชีวิตมากมาย เริ่มตั้งแต่การได้พบกับนักอ่านหญิงชื่อ ลุดมิลลา และเกิดเรื่องราวความรักระหว่าง "คุณ"กับเธอ จากนั้นก็เป็นการเผชิญหน้ากับตอนต่อที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับนวนิยายที่คุณตามหาแต่แรกเลยสักนิด เข้าไปพัวพันกับการปลอมแปลงหนังสือผ่านองค์กร และนักแปลที่เปรียบเสมือนอาชญากรในนวนิยายเล่มนี้ ฯลฯ

      ตัวละครของคัลวิโน จึงมีทั้ง คุณ ผม นักอ่าน นักไม่อ่าน นักเขียน นักเล่า นักแปล บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ แม้กระทั่งนักวิชาการวรรณคดี ผู้คนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในแวดวงแห่งวรรณกรรมทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า คัลวิโนมิได้ท้าทายต่อขนบการประพันธ์เรื่องราวที่เคยดำเนินไปแต่ต้นจนจบอย่างสมบูรณ์แบบเท่านั้น หากยังแสดงความรู้สึกคลางแคลงใจต่อทั้งการเขียน การอ่าน นำไปสู่การคิดค้นกลวิธีนำแสนอแบบใหม่ๆ และในขณะเดียวกันก็วิพากษ์การเขียนของตนในงานชิ้นนี้ด้วยเช่นกัน

      การที่คัลวิโนได้จับทฤษฎี "มรณกรรมของผู้แต่ง" มาใช้ในการประพันธ์ และเขาได้ชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นแง่มุมที่ปราศจากต้นฉบับที่แท้จริง (Originality) ของวรรณกรรม อันเนื่องจากกระบวนการต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน ในขณะที่คัลวิโนเรียกร้องการอ่านอย่างมีส่วนร่วมจากผู้อ่านตามทฤษฎีมรณกรรมของผู้แต่ง  คือให้ผู้อ่านได้มีโอกาสสร้างเรื่องเล่าในตัวบทผ่านการตีความในแง่ต่างๆ แต่กระนั้นเขาก็ได้แสดงให้เห็นความเป็นเกมส์มาสเตอร์ (Game master) คือ ขณะที่เขาเองก็มีสถานะไม่ต่างจาก     ผู้เล่นคนหนึ่งที่ร่วมเล่นเกมส์แห่งการอ่านไปกับผู้เล่นคนอื่นๆด้วย หากแต่ในเวลาเดียวกันเขาก็มีหน้าที่ในการควบคุมการดำเนินเรื่องที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อๆไปด้วย  

       รูปแบบการประพันธ์ที่น่าสนใจและท้าทายต่อทั้งตัวผู้อ่านและผู้ประพันธ์เองทั้งในแง่การคาดหวังและขนบการประพันธ์ของคัลวิโน ที่ทำให้ หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง มีความน่าสนใจในฐานะ    นวนิยายรูปแบบหลังสมัยใหม่ ดังที่ มาร์กาเร็ต เอ. โรส  (Margaret A. Rose) ได้ให้ความสำคัญ ต่อลักษณะการแต่งเรื่องซ้อนเรื่อง (metafiction) ซึ่งจะทำให้วรรณกรรมมีลักษณะเป็นหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) นักเขียนในช่วงหลังทศวรรษ 1970 ได้แสดงทรรศนะว่าลักษณะการแต่งเรื่องซ้อนเรื่องเช่นนี้ ถือว่าเป็นการโต้แย้งกับแนวทางของยุคสมัยใหม่  และการโต้แย้งกับแนวทางของยุคสมัยใหม่นี้เองคือ ลักษณะสำคัญของแนวคิดหลังสมัยใหม่ 



      อิตาโล คัลวิโน กับการแสดงออกซึ่งทรรศนะ "มรณกรรมของผู้แต่ง" และแนวคิดหลังสมัยใหม่

      ทฤษฎีมรณกรรมของผู้แต่งโดย โรล็อง บาร์ธส์ แสดงทรรศนะปฏิเสธการมอบอำนาจเบ็ดเสร็จในการประพันธ์ให้อยู่ในมือของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียวในการสื่อสารความหมายของงานเขียน โดยมองว่า ผู้อ่านเองก็เป็นผู้สร้างความหมายของงานเขียนที่พวกเขากำลังอ่านได้ เนื่องจากงานเขียนหรือตัวบทต่างๆนั้นมิได้มีความหมายหยุดนิ่ง ตายตัว หรือมั่นคงสถานภาพเช่นนั้นชั่วนิรันดร์ เพราะตัวบทมิได้เกิดจากการสร้างสรรค์อันมีความเป็นต้นฉบับ หรือ Originality ของผู้เขียน หากเกิดจากการปะติดปะต่อและอ้างอิงกับตัวบทอื่นๆที่ดำรงอยู่ก่อนแล้ว  ตัวบทจึงมีสถานภาพของพื้นที่แห่งความเป็นกลาง เพราะตัวบทเป็นสายใยโยงใยอ้างอิงจากหลากหลายวัฒนธรรม 

      บาร์ธส์จึงปฏิเสธที่จะกำหนดความหมายตายตัวที่ผู้เขียนบรรจงจัดเรียงเอาไว้ในตัวบท หากมอบอิสระในการให้ความหมายใหม่ๆแก่ผู้อ่าน ให้พวกเขาได้เป็นผู้มีสิทธิ์ที่จะตัดสินและตีความหมาย หรือแม้กระทั่งสร้างความหมายใหม่ในตัวบทนั้นตามบริบทของตนเอง เพื่อให้ความหมายเกิดความไหลลื่นและหลากหลาย ดังที่บาร์ธส์ ได้ยืนยันถึงความสำคัญในบทบาทของผู้อ่านไว้ว่า

          "Thus is revealed the total existence of writing: a text is made of a multiple writings, drawn from many cultures and entering into mutual relations of dialogue, parody, contestation, but there is one place where this multiplicity is focused and that place is the reader, not, as was hitherto said, the author. The reader is the space on which all the quotations that make up a writing are inscribed without any of them being lost; a text's unity lies not in its origin but in its destination."

      คัลวิโนได้ประพันธ์นวนิยายที่ดูเหมือนจะมอบความเป็นอิสรเสรีให้แก่ตัวละคร ผู้ใดได้อ่าน ติดตาม ฉงนสนเท่ห์ไปกับบรรดานวนิยายเรื่องย่อยๆทั้งหลายที่หาได้มีความเกี่ยวข้องใดกันไม่ กระนั้นกลวิธีการประพันธ์ที่ดำเนินเนื้อเรื่องไปตามการ "ตามหา" เนื้อเรื่องตอนต่อไปของนวนิยายย่อยแต่ละเรื่อง ก็นำไปสู่การสร้างเรื่องราวใหม่ เกิดการตีความอันหลากหลาย และเปิดโอกาสให้เกิดนวนิยายชีวิต อันได้แก่เรื่องราวความรักของนักอ่านชายและหญิงซ้อนทับควบคู่ขึ้นมาขณะที่การเดินทางเพื่อค้นหาตอนจบ (ที่อาจมีหรือไม่มีก็ได้) นั้นดำเนินไป จึงเห็นได้ชัดว่านวนิยาย หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง เป็นความหมายสื่อสารของคัลวิโนต่อผู้อ่าน ถึงความเชื่อใน "มรณกรรมของผู้แต่ง" ด้วยความพยายามที่จะหายไปของผู้แต่ง และกระบวนการที่ทำให้ผู้แต่งหายไปด้วยกลวิธีการประพันธ์ที่ไม่ซ้ำแบบกันเลยสักครั้ง จากแนวการประพันธ์ที่ไม่เคยซ้ำเดิม แม้กระทั่งการปลอมแปลงโดยบรรดานักแปล นักปลอมแปลง สำนักพิมพ์และองค์กรอื่นๆที่อาจไม่มีในความเป็นจริง แต่แน่นอนว่าในนวนิยายเรื่องนี้ ทั้งหมดคือสภาพแวดล้อมรอบข้างที่มีส่วนผลักดันให้ผู้แต่งไปสู่ "มรณกรรม" และเมื่อตัวหนังสือที่ปรากฏในตัวบทอยู่ในสภาพของพื้นที่เป็นกลางอันปราศจากเรื่องราวเบื้องหลังของผู้แต่งแล้วไซร้ เมื่อนั้น

      ผู้อ่านก็จะมีเสรีภาพในการอ่าน, ตีความ หรือแม้กระทั่งเลือกที่จะสร้างเนื้อเรื่องในแบบของตนเอง เช่นเดียวกับที่บาร์ธส์ได้กล่าวไว้ในประโยคสุดท้ายของ "มรณกรรมของผู้แต่ง" ว่า

          "กำเนิดของผู้อ่านต้องชำระด้วยความตายของผู้แต่งนั่นเอง"

          นอกจากนี้ขนบการประพันธ์เดิมๆ หรือรูปแบบการประพันธ์ของนักเขียนที่อาจเรียกได้ว่า เป็นเอกลักษณ์ของนักเขียนแต่ละคน ล้วนนำไปสู่การคาดเดาได้ของนักอ่าน    แม้แต่ในช่วงต้นเรื่องคัลวิโน ก็ยังออกตัวไว้แต่แรกว่า

          "ใครบอกล่ะว่านักเขียนผู้นี้มีท่วงทำนองที่ไม่ผิดแผกแตกต่างกัน ตรงกันข้าม เป็นที่รู้กันว่าเขาคือนักเขียนที่มีความเปลี่ยนแปลงมากในหนังสือแต่ละเล่ม ก็จากความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่เราบอกได้ว่าคือเขา แต่ในเล่มนี้ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเลยกับที่เขาเคยเขียนมาแล้วทั้งหมด"

          ฉะนั้น ก็เช่นเดียวกับฟลันเนอรี่ ท่วงทำนองของคัลวิโนยังคงเล่นบทบาทในขอบเขตประสบการณ์ของ    นักอ่านนวนิยาย แม้ว่ามันจะไม่เคยมีการบ่งบอกจำเพาะเจาะจงลงไปก็ตาม เราจะพบว่าคัลวิโนยึดมั่นหลักการในประเด็นเกี่ยวกับ "ความเป็นนักเขียน" (Authorship) ของเขาตามอย่างอุดมคติของบาร์ธส์ แม้เขาจะตระหนักได้ว่า หลักการเช่นนี้ไม่สามารถอยู่รอดได้ในโลกสมัยใหม่ อย่างไรก็ตามคัลวิโนแสดงออกไว้ในการแสดงความรู้สึกของคุณคาเวดัญญา บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใน หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง

          "มันเป็นเหมือนสารจากโลกอื่น กับนักเขียนก็เช่นกัน แกต้องเกี่ยวข้องกับพวกเขาทุกวัน รู้จักสิ่งที่ฝังจิตฝังใจพวกเขา ความลังเล ความขี้ใจน้อย ความเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง กระนั้นนักเขียนที่แท้ สำหรับแกก็ยังคงเป็นเพียงชื่อบนหน้าปกหนังสือ เป็นคำหนึ่งที่รวมเป็นชื่อเรื่อง เป็นนักเขียนที่มีความเป็นอยู่อันแท้จริงของพวกเขา เป็นเช่นเดียวกับตัวละคร และสถานที่ที่เอ่ยในหนังสือ ที่ทั้งมีจริงและไม่มีจริงในเวลาเดียวกัน เฉกเช่นตัวละครและท้องถิ่นต่างๆเหล่านั้น นักเขียนคือจุดที่มองไม่เห็นอันเป็นที่มาของหนังสือ"
         
          นักเขียนที่มีบทบาทโดดเด่นในนวนิยาย หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง เช่นไซลัส       ฟลันเนอรี่อาจถูกแสดงออกในเรื่องด้วย ทั้งชื่อของเขาและด้วยกิจกรรมของเขาในเรื่อง อย่างการถูกกิจกรรมของ  สื่อ,การโฆษณา, สำนักพิมพ์เข้ามาแทรกแซง จนทำให้นักอ่านไม่อาจ "อ่าน"งานของนักเขียนโดยปราศจากตัวเขาอยู่เบื้องหลัง การ"หายไปของนักเขียน" (หรือมรณกรรมของผู้แต่ง) จึงกลายเป็นส่วนที่เป็นไปได้อย่างยากลำบาก สิ่งนี้สะท้อนอยู่ในทรรศนะของฟลันเนอรีในบันทึกของเขาว่า

          "ผู้คนแปลกๆวนเวียนอยู่ในหุบเขานี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนด้านวรรณกรรมผู้กำลังรอนวนิยายเล่มใหม่ของข้าพเจ้า พวกเขาได้รับเงินล่วงหน้าแล้วจากสำนักพิมพ์ทั่วโลก ตัวแทนด้านการโฆษณาที่ต้องการให้ตัวละครของข้าพเจ้าสวมเครื่องแต่งกายบางชิ้น หรือดื่มน้ำผลไม้บางชนิด นักเขียนโปรแกรมผู้ยืนยันจะใช้คอมพิวเตอร์ทำนวนิยายที่ข้าพเจ้ายังเขียนไม่จบให้จบ"

      คัลวิโนได้แสดงให้เราเห็นถึงความขัดแย้งในตัวเขาเองในฐานะนักเขียนผู้ซึ่งมีฐานะเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมด้วยในเวลาเดียวกัน ความรู้สึกยากลำบากใจ และปัญหาของนักเขียนที่เบื่อหน่ายต่อขนบวิธีการประพันธ์แบบเดิมๆ ผ่านตัวละครนักเขียนชื่อ ไซลัส ฟลันเนอรี่ ผู้กำลังอยู่ในสถานการณ์วิกฤตที่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้ ในบทที่ 8 เราก็พบว่าฟลันเนอรี่ได้พรั่งพรูความในใจที่อัดอั้นเอาไว้ออกมาว่า

          "ความรื่นรมย์แห่งการอ่านสำหรับข้าพเจ้าได้จบสิ้นลงตั้งแต่ข้าพเจ้ากลายเป็นทาสของการเขียน"
          "ข้าพเจ้าจะเขียนหนังสือได้ดีขนาดไหนนะ หากไม่มีตัวข้าพเจ้าอยู่ หากว่าไม่มีกำแพงเกะกะมาขวางกั้นระหว่างกระดาษสีขาวกับถ้อยคำที่พลุ่งพล่านและเรื่องราวที่ก่อรูปทรงแล้วหายไป โดยที่ไม่มีใครเขียน กำแพงนั้นคือตัวตนของข้าพเจ้าเอง! คือท่วงทำนอง รสนิยม ปรัชญาส่วนตัว อัตวิสัย และการขัดเกลาทางวัฒนธรรม ประสบการณ์ชีวิต จิตวิทยา พรสวรรค์ กลวิธี องค์ประกอบทุกประการที่ทำให้บอกได้ว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนเป็นของข้าพเจ้า เป็นคล้ายกรงขังที่จำกัดความเป็นไปได้ของข้าพเจ้า หากว่าตัวเองเป็นเพียงมือ มือที่ถูกตัดมาจับปากกาแล้วเขียน...ใครกันหนอจะเป็นผู้เคลื่อนมือนี้  ฝูงชนนิรนามอย่างนั้นหรือ หรือภูมิปัญญาแห่งยุคสมัย หรือจิตไร้สำนึกร่วม ข้าพเจ้าไม่รู้ ที่ข้าพเจ้าใคร่จะลบตัวเองนี้ หาใช่เพื่อจะสามารถเป็นผู้ประกาศให้กับอะไรบางอย่างที่จำกัดความหมายได้ แต่เพียงเพื่อจะถ่ายทอดสิ่งที่เขียนได้ ที่กำลังรอให้มีใครเขียน ถ่ายทอดเรื่องที่เล่าได้ที่ไม่มีใครเล่าต่างหาก"
         
      ดังเช่นที่ บาร์ธส์ ได้กล่าวอธิบายเอาไว้ว่า บรรดา"เรื่องเล่า"ในสังคมที่ชาติพันธุ์วิทยามักเข้าไปทำการศึกษานั้น จะไม่เคยได้รับการมอบหมายให้อยู่ในความรับผิดชอบของบุคคลใดอื่นนอกจาก "ตัวกลาง" (Mediator) หรือ "หมอผี" (Shaman) ที่เราอาจจะชื่นชมเพียง "ความสามารถในการเล่า"ของเขา แต่มิใช่ "อัจฉริยภาพ" ในฐานะผู้แต่งหรือผู้ให้กำเนิดเรื่องเล่านั้นๆ ฟลันเนอรี่แสดงความปรารถนาที่จะเป็นเช่นพาหนะอิสระอันปราศจากภูมิหลังใดๆที่สามารถจะถ่ายทอดถ้อยคำต่างๆผ่านไปบนหน้ากระดาษว่า

      "หากว่าตัวเองเป็นเพียงมือ มือที่ถูกตัดมาจับปากกาแล้วเขียน..." 

      กระนั้นก็น่าแปลก เมื่อลุดมิลลา นักอ่านหญิงของเรื่องได้กล่าวถึงภาพลักษณ์ของฟลันเนอร์รี่ในอุดมคติได้สอดคล้องกับความคิดเช่นนั้นของเขา เขากลับรู้สึกต่อต้านและขัดแย้งกับความปรารถนาที่จะไร้ตัวตนของนักเขียนดังที่ตนเคยกล่าวไว้เบื้องต้น

          "ข้าพเจ้ารู้สึกปวดแปลบ สำหรับผู้หญิงคนนี้ ข้าพเจ้าเป็นก็เพียงแต่พลังงานทางการขีดเขียนที่ไร้ตัวตน พร้อมที่จะเคลื่อนโลกในจินตนาการที่มีอยู่อย่างไม่ขึ้นต่อข้าพเจ้า"
             
      การสียดสีเกิดขึ้นในแง่ที่ว่า แทนที่ฟลันเนอรี่จะยินดีที่มีผู้อ่านงานของเขาด้วยความรู้สึกไร้ซึ่งภาพของผู้แต่งอยู่เบื้องหลัง กลับมี"ปวดแปลบ"ของเขาขึ้นมาแทนที่ ทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยประเด็นนี้ในทำนองเดียวกันกับตัวของคัลวิโน ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้เอง ว่าเป็นการสะท้อนความคิดคำนึงของตัวเขาเอง ขณะที่ตัวคัลวิโนได้ประพันธ์นวนิยายที่ดูเหมือนจะมอบความเป็นอิสรเสรีให้แก่ตัวละครแก่นวนิยายที่ผู้ใดได้อ่าน ติดตาม ล้วนแต่ต้องฉงนสนเท่ห์ไปกับบรรดานวนิยายเรื่องย่อยๆทั้งหลายที่หาได้มีความเกี่ยวข้องใดกันไม่ นำไปสู่การตีความ    อันหลากหลาย และเปิดโอกาสให้เกิดนวนิยายชีวิต อันได้แก่เรื่องราวความรักของนักอ่านชายและหญิงซ้อนทับขึ้นมาขณะที่การเดินทางเพื่อค้นหาตอนจบ (ที่อาจมีหรือไม่มีก็ได้) นั้นดำเนินไป หากแท้จริง เขาเองก็มิได้ปรารถนาที่จะไร้ตัวตนและไร้ความหมายไปเสียจริงๆจากการอ่านนั้น ดังนั้น นี่จึงเป็นความย้อนแย้งในการพยายามเสนอ มรณกรรมของผู้แต่ง ผ่านนวนิยาย หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ของอิตาโล คัลวิโน

      อย่างไรก็ตาม แม้จะเต็มไปด้วยข้อวิพากษ์วิจารณ์ (รวมถึงความอัดอั้นตันใจ) ต่อความเป็นนักเขียน (Authorship) แต่คัลวิโนก็หาทางออกที่ดีที่สุดให้กับงานของเขา โดยการนำลักษณะของ Metafiction หรือก็คือการแต่งที่มีลักษณะการเล่าเรื่องซ้อนกันมาใช้ โดยเนื้อหาของเรื่องเล่าที่แท้ก็คือ กระบวนการของการแต่งเรื่องเรื่องนั้นเอง จากปกติเรื่องเล่าประเภทนวนิยายมักจะพยายามทำให้ผู้อ่านเชื่ออยู่ตลอดว่า เรื่องเล่านั้นเกิดขึ้นจริงๆ แต่ในวิธีการที่คัลวิโนใช้ใน หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง คือการทำให้ผู้อ่านตระหนักว่ากำลังอ่านเรื่องที่ผู้แต่ง "ผูกขึ้น" หาใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นไม่ จุดเด่นของเรื่องเล่าที่ใช้กลวิธีเช่นนี้คือ กระตุ้นให้ผู้อ่านสำนึกในพลังอำนาจของความจริงและความลวง  โดยในตอนท้ายของบันทึก ฟลันเนอรี่ได้เผยให้เห็นถึงแนวทางการไขปัญหาใหม่

      "ข้าพเจ้าเกิดความคิดเรื่องการเขียนนวนิยายที่มีเฉพาะตอนเริ่ม ตัวละครอาจเป็นนักอ่านที่ถูกขัดจังหวะอยู่ร่ำไป นักอ่านซื้อนวนิยายเรื่องใหม่ชื่อเรื่อง เอ ของนักเขียน แซด ทว่าเป็นเล่มที่มีข้อบกพร่องไปไหนไม่ได้ไกลกว่าตอนเริ่ม...เขากลับไปที่ร้านหนังสือ เพื่อจะขอเปลี่ยนเล่ม...
          ข้าพเจ้าสามารถเขียนได้โดยใช้สรรพนามบุรุษที่สองได้ทั้งเล่ม ท่านนักอ่าน...ข้าพเจ้าอาจให้มีนักอ่านสาวเข้าฉากด้วย นักแปลปลอมแปลง นักเขียนชราผู้มีสมุดบันทึกเหมือนสมุดบันทึกเล่มนี้"

      ท้ายที่สุดนับแต่หน้าแรกของ หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ของอิตาโล คัลวิโนเริ่มขึ้น และเอ่ยถึง "คุณนักอ่าน" คนนั้น และเรื่องราวทั้งหมดที่ดำเนินมาจนถึงบัดนี้ว่า บางที เรื่องราวทั้งหมดอาจเป็นเพียงเรื่องที่ฟลันเนอรี่แต่งก็ได้ และการแต่งนวนิยายนี้ก็ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น จึงนำไปสู่ประเด็นเดียวกับที่นักปราชญ์หลังสมัยใหม่มักตั้งคำถามกับความจริงของโลกว่า แท้จริงแล้วเรามี "เรา" จริงหรือไม่? หรือเป็นเพียงเรื่องแต่งเรื่องหนึ่งที่มีคนขีดเขียนขึ้น? กระนั้นคัลวิโนก็ยังตั้งคำถามกับ "หลังสมัยใหม่"ด้วยว่า หากทุกอย่างเป็นเพียงการประกอบสร้างทางวาทกรรมเท่านั้น เป็นเพียงคำลวงและการโกหกที่สร้างขึ้นแล้ว การประกอบสร้างดังกล่าวนั้น ทุกอย่างก็จักไร้ซึ่งความหมายสิ้นหรือไม่?

      คัลวิโนได้ให้คำตอบนี้ไว้ในนวนิยายย่อยเรื่องสุดท้าย เรื่องราวใด ณ เบื้องล่างกำลังรอจุดจบ ตัวเอกซึ่งก็คือ "ผม" ซึ่งเป็นผู้ใช้จิตลบองค์ประกอบที่ตนไม่ชอบใจออกไปสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตึกรามบ้านช่อง หรือแม้แต่ผู้คน     ที่เดินขวักไขว่ไปมารอบกาย
         
          "โลกนี้ช่างซับซ้อน ยุ่งเหยิง และอัดล้น จนหากต้องการมองสิ่งใดให้ชัดหน่อย เราก็จำเป็นต้องตัดและทอน"

          เขาใช้จิตลบสิ่งที่เขาไม่ชอบใจ แม้ครั้งแรกๆเขาพยามจะไม่ลบผู้คนอื่นๆ แต่ในที่สุดเขาก็ลบเหล่าฝูงชนแปลกหน้ารอบกายออกไปสิ้น องค์กรรัฐ สถาบันทางสังคม หรือแม้กระทั่งธรรมชาติ "ผม" ก็ยังลบมันทิ้ง

          "ธรรมชาติ...อย่าคิดนะว่าผมไม่รู้ เรื่องธรรมชาติ นี่เป็นการหลอกลวงชั้นหนึ่งเหมือนกัน ไปตายเสียเถอะ! เหลือแค่แผ่นผืนดินที่แข็งพออยู่ได้ใต้ฝ้าเท้าและความว่างเปล่าทุกแห่งหนก็เพียงพอแล้ว"

          แต่เมื่อเขาได้รู้ว่าตนเองกำลังจะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มชาย "แผนก D" ผู้ที่ทำการลบทุกอย่างเช่นกัน เขาก็ตระหนักได้ถึงความสำคัญของสิ่งประกอบสร้างรอบกายทั้งหลาย การลบของเขาอาจทำให้เขาสูญเสียแม้แต่คนที่เขารัก ฟรันซิสก้า ไปด้วย เขากลับต้องการให้โลกรอบตัวกลับคืนมา โลกที่มีร้านกาแฟที่มีกระจกรายล้อม สะท้อนให้เห็นโคมไฟคริสตัลและวงออร์เคสตร้าบรรเลงเพลงวอลซ์ และแม้จะถูกแผนก D ร้องเรียกไม่ให้ไปไกลกว่านั้น "ผม" ก็ยังคงวิ่งไปตามชิ้นส่วนของโลกที่กระจัดกระจาย แล้วเมื่อเขาไปถึงตัวเธอ ผู้ศึกษาคิดว่า นั่นเป็นคำตอบของคัลวิโนเกี่ยวกับคำถามที่เขามีต่อโลกหลังสมัยใหม่

          "เธออยู่นี่ เบื้องหน้าผม กำลังยิ้ม ดวงตาเปล่งประกายสีทอง ดวงหน้าน้อยๆของเธอแดงเรื่อเพราะความหนาว "โอ คุณจริงๆด้วย! ฉันผ่านมาที่ ทิวทัศน์ ทีไร เป็นได้เจอคุณทุกครั้ง! อย่าบอกนะว่าแต่ละวันคุณเอาแต่เดินเล่น! นี่ ฉันรู้จักร้านกาแฟแห่งหนึ่งอยู่ตรงหัวมุมใกล้ๆนี้ มีกระจกเต็มเลย และก็วงออร์เคสตร้าบรรเลงเพลงวอลซ์ คุณจะชวนฉันไปไหม?"

          การย้อนแย้งในทฤษฎีความคิดนี้เองที่ยิ่งทำให้นวนิยายเรื่องนี้ทวีความน่าดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น และการ ย้อนแย้งนี้เองที่ตอกย้ำความเป็นวรรณกรรมแห่งหลังสมัยนิยม นั่นคือ ความหมายอันขัดแย้งกันเองภายในเนื้อเรื่อง กลวิธีการแต่ง กระทั่งตัวของผู้แต่งเอง ทั้งหมด นำไปสู่บทสรุปรวบยอดของความหมายอันลื่นไหลและ        ไม่ตายตัวของวรรณกรรมหลังสมัยนิยม ที่จะสามารถแปรเปลี่ยนไปได้เสมอจากการตีความของแง่มุมต่างๆที่มีอยู่อย่างหลากหลายในบรรณพิภพ


      อิตาโล คัลวิโน ในฐานะนักเขียนและเกมส์มาสเตอร์ใน
      หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง

      ตลอดเรื่องราวตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งจบ คัลวิโน ได้แสดงให้ผู้อ่านเห็นว่าเขาได้สร้างนวนิยายอันมีรูปแบบเฉพาะตัวขึ้น ให้เป็นนวนิยายที่ประกอบด้วย เรื่องเล่าแบบ Metafiction ซึ่งสร้างกรอบให้การสร้างเรื่องเล่าย่อยๆภายในนั้นขึ้นสิบเรื่อง ได้แก่
         
          "หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง นอกเขตชุมชนเมืองมาลบอร์ก ชะโงกจากชายฝั่งชัน ไม่หวั่นสายลมและความวิงเวียน มองเบื้องล่างตรงเงาทึบ ในร่างแหของสายที่เกี่ยวพัน ในร่างแหของสายที่ตัดกัน บนพรมใบไม้ที่แสงจันทร์ส่องสว่าง รอบหลุมเปล่า เรื่องราวใด ณ เบื้องล่างกำลังรอจุดจบ..."

          โครงสร้างเรื่องเล่าเช่นนี้ ทำให้คัลวิโนสามารถเพิ่มเติมความคิดของเขาเอง และความเห็นต่อทฤษฎีการอ่านและการเขียนทั้งหลายได้ เราจะสัมผัสได้ว่า แม้จะมีการแสดงความคิดเห็นหลายต่อหลายครั้งต่อความรู้สึกเห็นด้วยกับการอ่านแบบที่ผู้อ่านมีส่วนร่วมในการสร้างเรื่องราว (Writerly Text)  จากการไล่ล่าตามหาเนื้อเรื่องต่อ อันดูจะไม่มีวันจบสิ้นของนักอ่านชาย-หญิง ดังเช่นที่ ลุดมิลลากล่าวกับ "คุณ" นักอ่านชายว่า
         
          "นวนิยายที่ฉันอยากจะอ่านมากที่สุดตอนนี้" ลุดมิลลาอธิบาย "ควรจะมีแรงผลักดันเพียงความปรารถนาที่จะเล่าเรื่อง พอกพูนเรื่องราวซ้อนเรื่องราวโดยไม่ยัดเยียดทัศนะที่มีต่อโลก แต่ให้เราร่วมรับรู้การเติบโตของมันเท่านั้น เหมือนต้นไม้ การพัวพันของกิ่งของใบ..."

          แต่กระนั้นเมื่ออ่านนวนิยายเรื่องนี้จนจบทั้งหมด กลับให้ความรู้สึกถึงการยืนยันต่อ"อภิสิทธิ์ในฐานะผู้แต่ง" ผู้ซึ่งควบคุมเรื่องราวทั้งหมดของนวนิยายของเขา ไม่เพียงแต่ที่เขาควบคุมตัวละคร โครงเรื่อง โครงสร้างของนวนิยาย ฯลฯ แต่ยังสัมผัสได้ว่า เขาควบคุม "เรา" ในฐานะนักอ่านนวนิยายเรื่องนี้ด้วย  หากจะเปรียบว่า การอ่านนวนิยายเรื่อง หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับการเล่นเกมส์ทางวรรณกรรม ที่ผู้อ่านจะต้องคอยไล่ล่าไขว่คว้าเพื่อให้ได้มาซึ่ง "เรื่องราวในตอนต่อไป" อันจะนำไปสู่ต้นฉบับอันสมบูรณ์แบบ คัลวิโน ซึ่งก็เป็นผู้เล่นคนหนึ่งในเกมส์นี้ ในฐานะของผู้เล่าเรื่อง ก็คงเปรียบเป็นเช่น เกมส์มาสเตอร์ (Game Master) ผู้มีหน้าที่ทั้งเล่น และควบคุมเรื่องราวที่กำลังดำเนินไปของเนื้อเรื่องในเกมส์ด้วยเช่นกัน

      ประเด็นแรก คัลวิโนสร้างนวนิยายที่ทำให้ผู้ศึกษารู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเล่นเกมส์ ถูกดึงเข้าผจญภัยในโลกเสมือนจริงในนวนิยายที่เขาสร้าง ด้วยการใช้คำว่า "คุณ" ประหนึ่งตัวละครหนึ่งที่เขากำลังควบคุม "คุณ" ซึ่งก็คือ "คุณนักอ่าน"ในเรื่อง และอาจหมายถึง "คุณ" ผู้ที่กำลังอ่านนวนิยายเล่มนี้อยู่ เราต่างถูกดึงเข้าสู่เกมส์ทางภาษาของคัลวิโนในฐานะ "คุณนักอ่าน" และในทางเดียวกัน  เรา(ซึ่งก็คือ "คุณ")ก็กลายเป็น องค์ประธาน (Subject) สำหรับวาทกรรม Metafiction ของคัลวิโนด้วย เพราะในฐานะผู้อ่านนวนิยายเรื่องนี้ของเขา แน่นอนว่าผู้อ่านย่อมเกี่ยวข้องกับการคาดหวังการเขียน, ความเป็นนักเขียน และการตีพิมพ์ในวิถีทางซึ่งสะท้อนความคิดและความรู้สึกของคัลวิโน โดย "พูด"ความคิดเห็นของเขาผ่านตัวละคร "คุณนักอ่าน" ผู้ซึ่งถูกดึงเข้าไปหลอมตัวรวม (Identify) กับเขาได้ด้วยธรรมชาติของภาษา ดังนั้นเราผู้เป็นนักอ่าน จึงถูกจัดวางตำแหน่งเอาไว้ในนวนิยายเรื่องนี้ คือถูกควบคุมให้ต้องรู้สึกคิดเห็นไปตามผู้เขียนด้วยในเวลาเดียวกัน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ด้วยกลวิธีการใช้ Metafiction ของคัลวิโนในทางหนึ่ง นอกจากจะทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงกระบวนการสร้างเรื่องเล่าของผู้แต่งแล้ว  ยังสามารถสื่อไปถึงการสร้างนวนิยายที่เต็มไปด้วยการสะท้อนทัศนะของผู้แต่งได้อย่างเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาด้วย
         
          ประเด็นที่สอง ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ คัลวิโนทำให้ผู้อ่านต้องเผชิญหน้ากับร่องรอยที่นำไปสู่ความเชื่อที่ว่า ประสบการณ์การอ่านแบบยุคสมัยใหม่นั้นมิได้ทำให้เราเข้าถึงเรื่องราวของ "เรื่องเล่าอันสมบูรณ์แบบ"ได้อย่างที่เคยเข้าใจกัน ดังจะเห็นจากนวนิยายย่อยใน หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่งแต่ละเรื่องล้วนพัวพันกับการปลอมแปลง, การตีพิมพ์ที่ผิดพลาด, การตีความที่แปลกประหลาด ดังเช่นในบทที่ 4 หลังจากที่นักอ่านชายและลุดมิลลาได้ฟังการแปลปากเปล่าสดๆของนวนิยายเรื่อง ชะโงกจากชายฝั่งชัน จากศาสตราจารย์อุตซี-ตุซี

          "ยิ่งถ้าฟังคนแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งด้วยแล้ว จะหมายถึงมีกระแสแปรปรวนของความลังเลในคำพูด สะเก็ดของความสองจิตสองใจ และความไม่มั่นคง รวมอยู่ด้วย เวลาเราเป็นผู้อ่าน เนื้อเรื่องคือสิ่งที่มีอยู่ตรงนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องพุ่งเข้าไปหา ในขณะที่เมื่อมีคนอื่นแปลให้ฟัง เนื้อเรื่องกลับเป็นสิ่งที่ทั้งมีและไม่มี เป็นสิ่งที่เราไม่อาจแตะต้องได้"

          ประการที่สาม คัลวิโนก็ได้นำผู้อ่านของเขาไปในการผจญภัยเพื่อจะพบว่าในที่สุด ตลอดเวลาตนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคัลวิโน ผู้อ่านมิได้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในเกมส์ทางวรรณกรรมของคัลวิโนเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้มีส่วนร่วมในการเล่นที่ติดกับดักของผู้สร้างด้วยการ "หลอม"ตัวเองเข้ากับตัวละครเอก "นักอ่าน" และหลอมตัวเองเข้ากับความปรารถนาที่จะไปให้ถึงจุดจบของเรื่องราวอันสมบูรณ์แบบของวรรณกรรมเรื่องนั้นๆ กล่าวได้ว่า แม้เราจะบอกว่าเราเป็นเพียงผู้เฝ้ามองเหตุการณ์จากสถานที่ปลอดถัย ขณะที่ปล่อยให้เกมส์ระหว่างนักแต่งและนักอ่านที่ดำเนินไป แต่กระนั้นเราก็ยังถูกดึงเข้าไปมีส่วนร่วมจนได้ โดยผ่านการหลอมตัวตนเข้ากับตัวละครและความปรารถนาที่จะค้นพบปริศนาอันลึกลับต่างๆนั้น จึงเปรียบได้กับการส่งตัวเองให้ตกไปอยู่ในเงื้อมมือของผู้ประพันธ์ ผู้ซึ่งชนะเกมส์นี้โดยดึงเราเข้าสู่เรื่องเล่าได้ในที่สุด

          โดยขณะที่คัลวิโนดึงเราเข้าสู่เกมส์แห่งเรื่องเล่าของเขา แต่เขาก็มิได้ปิดบังวิธีการใดๆเลย เพราะผู้เขียนหรือเกมส์มาสเตอร์ผู้นี้ได้ใช้กลอุบายทางภาษาดึงดูดใจผู้อ่านให้ออกจากจุดสังเกตการณ์ของตน และเข้าสู่       เนื้อเรื่องนวนิยาย แรกสุดเลยที่เห็นได้ชัดคือตั้งแต่ที่นวนิยายเริ่มขึ้น  คัลวิโนก็เริ่มกล่าวกับเราทันทีว่า "คุณกำลังจะเริ่มอ่านนวนิยายเรื่องใหม่ หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ของอิตาโล คัลวิโน ทำใจให้สบาย รวบรวมสมาธิ ปัดความคิดอื่นออกไปให้ไกล ให้โลกรอบกายคุณเลือนหายไป ถ้าปิดประตูห้องได้เสียก็ดี"  เราถูกดูดเข้าสู่โลกของนวนิยายทันทีเพื่อจะค้นพบว่าตนได้หลอมรวมเข้ากับ"คุณ" นักอ่านชายหญิงตัวเอกของเรื่อง ด้วยการเลือกมุมมองสรรพนามบุรุษที่สองมาใช้บ่งบอกตำแหน่งแห่งที่ของนักอ่าน ด้วยคำว่า "คุณ" ซึ่งทำให้ผู้อ่านจริงๆ รู้สึกถึงความยากลำบากที่จะแยกตัวเองออกจากบทบาทของ "คุณนักอ่าน"ชายหญิงคู่นั้น

          "หนังสือเล่มนี้กระทั่งถึงตอนนี้ ได้คอยระวังที่จะเปิดช่องให้แก่นักอ่านชายผู้กำลังอ่าน ถึงความเป็นไปได้ในการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในฐานะนักอ่านชายผู้ถูกอ่าน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการตั้งชื่อให้เขา อันจะทำให้เขาเทียบเท่าบุรุษที่สามไปโดยปริยาย (.....)และให้เขาคงอยู่ในสภาพนามธรรมของคำสรรพนาม ใช้ได้กับคำขยายทุกคำ และทุกการกระทำ"

          ประการที่สี่ หลายครั้ง ไม่เพียงเป็นการควบคุม คัลวิโนยังเล่นเกมส์กับผู้อ่านด้วย จะรู้สึกได้ในหลายครั้งว่าคัลวิโนพูดกับผู้อ่านจริงๆ โดยดึงให้เราสนใจประเด็นต่างๆที่เขากำลังนำเสนอ และทำให้เราลืมไปว่าเขากำลัง     จัดวางตำแห่งให้เราเป็นนักอ่านชายอยู่ ที่ซับซ้อนไปกว่านั้นคือ ยังพบว่าการที่เขาใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งเป็น       ผู้เล่าเรื่องในนวนิยายเรื่องย่อยทั้งสิบเรื่อง ผลคือ เราไม่เคยแน่ใจได้ว่าตกลง "ผม" ที่กำลังเล่าเรื่องเป็นใครกันแน่ ในตอนเริ่มต้นนวนิยายแต่ละเรื่อง ที่ "ผม"เป็นผู้เล่า อาจหมายถึงใครก็ได้ เป็นการเปิดช่องให้ผู้อ่านนำตัวเองเข้าไปหลอมกับผู้เล่าสรรพนามบุรุษที่หนึ่งนั้นอีกทางหนึ่ง

          "ก็เพียงเพราะว่าผมมีชื่อว่า "ผม" และนี่ก็เป็นสิ่งเดียวที่คุณรู้เกี่ยวกับผม แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้คุณรู้สึกอยากใส่ตัวเองส่วนหนึ่งให้กับผมที่ไม่รู้จักนี้"

          ประโยคดังกล่าวทำให้เรารู้สึกว่าคัลวิโนต้องการให้ผู้อ่านหลอมตัวเองเข้ากับตัวละคร "ผม" แต่ก่อนที่เราจะทำเช่นนั้น เขาก็บอกว่า "ผม" อาจจะหมายถึงตัวผู้เขียนเองก็ได้

          "เช่นเดียวกับผู้แต่ง ทั้งๆที่เขาไม่มีเจตนาใดๆเลยที่จะพูดถึงตัวเอง กลับตัดสินใจเรียกตัวละครว่า "ผม" ก็เพื่อจะซุกซ่อนตัวละครก็ว่าได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องตั้งชื่อ ไม่ต้องพรรณนา เพราะนามอื่นหรือคำขยายใดๆ จะนิยามตัวละครมากกว่าคำสรรพนามพื้นๆนี้ กระนั้นเนื่องจากเป็นการเขียนถึง "ผม" ผู้แต่งจึงรู้สึกอยากจะใส่ตัวเองเข้าไปใน "ผม"นี้เสียหน่อย ใส่สิ่งที่เขารู้สึกและนึกว่ารู้สึก"

          ยิ่งเป็นการทำให้ผู้อ่านรู้สึกสับสนที่อยู่ๆ ตอนแรกเขาบอกว่าเราควรจะหลอมตัวเองเข้ากับ "ผม" แต่ "ผม"คนนั้นก็อาจหมายถึงตัวคัลวิโนเองด้วย ผู้เขียนพยายามจะหลอกล่อเราอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาพูดว่าอาจจะไม่มีใครเลยที่ควรจะหลอมตัวเองเข้ากับ "ผม" เพราะเราไม่รู้จักเขามากนัก

      การจัดการกับสรรพนามกับสรรพนามของคัลวิโนเป็นเครื่องมือในการควบคุมทั้งผู้อ่านและตัวละครของเขาเอง โดยดึงผู้อ่านเข้าไปปั่นหัวว่าเราจะกลายเป็นตัวละครในเกมส์นี้ของเขา รอที่จะได้รับมอบการกระทำใดๆเมื่อเขาสั่ง ในบทที่ 7 เขาทำเช่นนั้นกับนักอ่านชาย โดยการสลับที่ความสนใจจากสรรพนามบุรุษที่สอง "คุณ"นักอ่านชาย ไปสู่สรรพนามบุรุษที่สอง "คุณ"นักอ่านหญิง ลุดมิลลา แล้วก็สับเปลี่ยนมาที่สรรพนามบุรุษที่สอง "คุณ"นักอ่านชาย อีกครั้ง ราวกับว่าผู้อ่านทำได้เพียงมีปฏิกิริยาตอบโต้กลับไปตามที่คัลวิโนชี้แนะเท่านั้น อย่างประโยคที่ว่า "คุณนักอ่านชาย เงี่ยหูฟังหน่อย"  ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าเกมส์คำสั่งที่คัลวิโนใช้นั้นมีอิทธิพลต่อการอ่านนวนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องเลยทีเดียว

      ประการที่ห้า นอกจากเรา ผู้อ่าน จะกลายเป็นองค์ประธาน (Subject) สำหรับเกมส์ทางภาษาของวรรณกรรมเล่มนี้ของเขาแล้ว เรายังเป็นองค์ประธานในนวนิยายย่อยๆของกลวิธี Metafiction ของเขาอีกด้วย โดย Patricia Waugh ได้นิยาม Metafiction เอาไว้ว่า

       "A term given to fictional writing which self-consciously and systematically draws attention to its status as an artifact in order to pose questions about the relationship between fiction and reality." (Waugh, 2)

      ส่วนหนึ่งของการควบคุมและเป็นความชอบธรรมของคัลวิโนในฐานะนักเขียนและเกมส์มาสเตอร์ในเกมส์ทางวรรณคดีเรื่องนี้ มีมาจากการที่เขาใช้กลวิธีการการแต่งด้วย Metafiction ในฐานะเครื่องมือที่จะส่งผลต่อการกระทำและความคิดเห็นของผู้อ่านและต่อตัวผู้อ่านเอง ขณะที่นวนิยายสมัยใหม่ทั่วไปนั้นผู้แต่งจะพยายามดึงให้ผู้อ่านคล้อยตามความเชื่อว่า เรื่องเล่านั้นจริงเสมอ ไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ หรือเรื่องเหนือจริงเพียงไร แต่ Metaficton เป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของเรื่องเล่าต่อกระบวนการประกอบสร้างวรรณกรรม ทั้งในด้านการแต่ง การตีพิมพ์ ความเป็นนักเขียน การเขียน การแปลฯลฯ และต้องการทำให้ผู้อ่านตระหนักเสมอว่าตนกำลังเสพการประกอบสร้างวาทกรรมวรรณกรรมเรื่องหนึ่งอยู่ หาใช่ความจริงไม่ ดังที่มีเสียงเตือนคุณนักอ่านชายหลังจากที่เขาเพียรพยายามเสาะหาหนังสือที่จะเล่าตอนต่อ (ไม่ว่านั่นจะเป็นตอนต่อที่ถูกต้องหรือไม่ก็ตาม)อย่างบ้าคลั่ง และอาจจะลืมว่า ชีวิตความเป็นจริงของเขายังคงดำเนินอยู่

      "คุณนักอ่าน คุณพบหนังสือที่คุณตามหาแล้ว ตอนนี้คุณก็สามารถต่อเรื่องราวที่หยุดชะงักลงได้ รอยยิ้มปรากฏบนริมฝีปากคุณอีกครั้ง แต่คุณว่ามันจะดำเนินต่อไปแบบนี้ได้หรือ เรื่องราวนี้น่ะ ไม่ใช่ ไม่ใช่เรื่องราวในนวนิยาย เรื่องราวของคุณน่ะ! คุณจะปล่อยให้เหตุการณ์ฉุดลากคุณไปโดยที่คุณไม่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบจนถึงเมื่อไรกัน คุณได้กระโจนใส่เหตุการณ์ที่มีการผจญภัยโลดแล่นอยู่เต็มไปหมด แล้วไงล่ะทีนี้ หน้าที่ของคุณลดระดับลงอย่างรวดเร็ว คุณกลายเป็นเพียงผู้บันทึกสถานการณ์ที่คนอื่นเป็นผู้ตัดสิน ยอมตามความพอใจของผู้อื่น เป็นผู้พัวพันกับเหตุการณ์ที่ตนเองควบคุมไม่อยู่"

      ประการที่หก กล่าวได้ว่า "หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง" ถูกสร้างขึ้นมาอย่างพิถีพิถันในแนวทางที่คล้ายกับการสร้างเกมส์เสมือนจริง (Virtual Reality Game) "นักอ่าน" ผู้เป็นตัวเองเปรียบได้กับอยู่ในการผจญภัย เป็นการเดินทางเพื่อตามหาเนื้อเรื่องสมบูรณ์และความพึงพอใจอันจะได้มาจากการทำให้เรื่องราวที่เขากำลังสนใจ และอยู่ๆก็ขาดหายไปเหล่านั้นดำเนินต่อไปจนถึงตอนจบ นำไปสู่การเริ่มต้นและค้นพบนวนิยายสิบเรื่องอันปราศจากตอนจบ โดยนวนิยายย่อยแต่ละเรื่องที่ตัวเอกนักอ่านได้เข้าไปอ่านและเกี่ยวข้องกับมัน ก็เหมือนกับการทำภารกิจย่อย (Mini-Quest) ในเกมส์แห่งการอ่าน พยายามที่จะหาทุกวิถีทางที่จะได้ดำเนินการอ่านให้ไปถึงจุดจบของเรื่อง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ทุกครั้งไป การถูกตัดออกจากการต่อสู้นั้นเป็นเช่นเดียวกับการที่ตัวละครผู้เล่นเกมส์ถูกโค่นล้มลง เราจะเห็นได้เด่นชัดว่าเมื่อนวนิยายเรื่องใหม่แต่ละตอนกำลังจะดำเนินเรื่องไปจนถึงจุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง คัลวิโนก็จะหยุดเรื่องไว้และปล่อยให้ทั้งนักอ่าน(ตัวละครเอก)และนักอ่าน (จริงๆที่กำลังอ่านนวนิยายเรื่องนี้) รู้สึกเหมือนกำลังถูกทอดทิ้งให้ค้างเติ่งอยู่กับเรื่องราวที่ยังค้างคาใจเช่นนั้น คัลวิโนดึงดูดคนอ่านด้วยเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นและน่าสนใจของนวนิยายย่อยๆนั้นๆ หากแล้วก็ปล่อยให้เกิดความรู้สึกอึดอัด      คับข้องใจจากการถูกกระตุ้นและไม่พอใจกับความรู้สึกอยากรู้ว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไรต่อจากนั้น

      เราจะเห็นว่า คัลวิโนใช้กลวิธีนี้ไปตลอดเรื่องและผลก็คือ การสนับสนุนให้ผู้อ่านได้เข้าร่วมและติดตามการผจญภัยของ "นักอ่าน" เพื่อให้ไปให้ถึงเรื่องราว"ตัวบทอันสมบูรณ์" ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งนักแปลจอมปลอมแปลงและความผิดพลาดระหว่างขั้นตอนการพิมพ์ กระนั้นแต่ละครั้งที่ผู้อ่านก้าวข้ามไปสู่การเริ่มต้นผจญภัย (หรือก็คือการอ่านนวนิยาย)ครั้งใหม่ เขากลับไม่สามารถบรรลุประสบการณ์ในการอ่าน"ตัวบทอันสมบูรณ์"นั้นได้สักครั้ง จากที่เราจะเห็นได้ว่าตอนจบและบทสรุปเรื่องราวอันสมบูรณ์แบบของนวนิยายย่อยๆแต่ละเรื่องยังคงถูกเลื่อนหนีออกไปเรื่อยๆ นวนิยายเรื่องใหม่ที่เริ่มขึ้นก็ไม่ได้มีเนื้อเรื่องใดเกี่ยงข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น สิ่งนี้เป็นเช่นการแสดงออกให้ผู้อ่านได้รู้ตัวว่า ตนกำลังตามหาสิ่งที่ไม่อาจเข้าถึงได้ และเป้าของเกมส์ที่เขากำลังเล่นอยู่นั้นก็มิได้มี "ความสมบูรณ์แบบเบ็ดเสร็จในตัวเอง" การพยายามมองหาความสมบูรณ์แบบดังกล่าว ไม่อาจทำให้ผู้อ่านตามเกมส์ที่คัลวิโนเป็นผู้คุมกฏนั้นได้ ทั้งหมดนั้นจึงเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องการตามหาความสมบูรณ์ในตัวเองของนวนิยาย ซึ่งดูเหมือนไม่ว่าจะพยายามไขว่คว้าให้ได้มาเพียงใด ก็ต้องพบกับความผิดหวังทุกครั้งไป นักอ่านคนอื่นๆในห้องสมุดจึงกล่าวกับนักอ่านชายตัวเอกของเรื่องในตอนท้ายของ หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ว่า

          "คุณเชื่อว่าเรื่องทุกเรื่องจำเป็นต้องมีตอนเริ่มและตอนจบอย่างนั้นหรือครับ ในโบราณกาล เรื่องเล่ามีวิธีจบอยู่สองวิธีเท่านั้น คือหลังจากผ่านการทดสอบทุกอย่างแล้ว พระเอกนางเอกจะแต่งงานกัน ไม่อย่างนั้นก็ตาย ความหมายสุดท้ายที่ทุกเรื่องราวสื่อไปถึงมีสองด้าน คือความต่อเนื่องของชีวิต และการหลีกเลี่ยงไม่ได้ของความตาย"

          สารัตถะของคำกล่าวนั้นเป็นราวกับคำเตือนให้นักอ่านชายได้ตระหนักว่า หากเขายังคงฝืนผจญภัยเช่นนั้นไปเรื่อยๆ เขาอาจจะตายได้ ส่งผลให้เขาตัดสินใจที่จะหยุดความคิดที่จะ "ดำเนินเรื่องของนวนิยาย" แต่เพียงเท่านั้น แล้วเปลี่ยนไปดำเนินเรื่องราวของ "นวนิยายชีวิต"ของเขาเอง ก็คือการตัดสินใจแต่งงานกับลุดมิลลา ซึ่งจะเป็นบทสรุปที่มีความหมายมากกว่าความตาย เนื่องจากสำหรับนักอ่านชายแล้ว ในที่สุดเขาอาจจะไม่มีวันเข้าถึงความสมบูรณ์แบบทางวรรณกรรมได้ เขาอาจค้นพบความสมบูรณ์แบบนั้นเพียงชั่วคราวไม่ว่าจะในปริมณฑลของนวนิยายหรือของชีวิตจริง แต่เขาเลือกจะดำเนิน "นวนิยายชีวิตจริง" โดยตัดสินใจที่จะละทิ้งการตามหาความสมบูรณ์แบบเพียงชั่วคราวของวรรณกรรมในที่สุด แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็อาจวิเคราะห์ได้ว่า การแต่งงานกับนักอ่านหญิงมิได้ทำให้การมองหาเรื่องราวตอนต่อไปของนวนิยายเหล่านั้นจบลง แต่เป็นการ "ร่วมมือกัน"ตามหาตอนจบของนวนิยายเหล่านั้น และร่วมกันสร้างนวนิยายชีวิตของพวกเขาทั้งสองด้วยกันก็เป็นได้

          จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง มิเพียงมีรูปแบบการนำเสนอในแนวทางนวนิยายแบบหลังสมัยใหม่ ไม่ว่าเป็นเรื่อง มรณกรรมของผู้แต่ง หรือรูปแบบการเขียนในแบบ Metafiction เท่านั้น แต่คัลวิโนยังคงตั้งคำถามต่อแนวคิดหลังสมัยนิยมและตอกย้ำพลังอำนาจในฐานะผู้ประพันธ์ด้วยกลวิธีทางภาษาต่างๆ ผ่านความยอกย้อนในวิธีการประพันธ์ของเขาเอง ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เขาไม่ต่างอะไรกับเกมส์มาสเตอร์ผู้คุมกฏ ที่ผู้อ่านจำเป็นต้องเดินตามกฏที่เขาวางไว้ในนวนิยายเล่มนี้เท่านั้น


      บรรณานุกรม

      Barthes, Roland. The Death of the Author.
               อ้างถึงใน David Lodge, ed. Modern Criticism and   Theory: A render.
               London: Longman, 1988
      Bruner, Jerome. The Narrative Construction of Reality. [online]. เข้าถึงได้จาก:
                http://links.jstor.org/sifi?=0093-1896%28199123%2918%3A1%3C1%3ATNCOR%3E2.
                0.CO%3B2-J
       "If on a winter's night a traveler." [online]. เข้าถึงได้จาก:
      http://tadhg.com/wp/1999/05/30/if-on-a-winters-night-a-traveller-written-by-aliens-read-   by-fictional-constructs/
      "Italo Calvino as Author/Game-master in If on a winter's night a traveler." [online].
       เข้าถึงได้จาก: http://www.public.asu.edu/~dgilfill/digitaltexts/final_projects/moos/
      Rose, Margaret A. Parody: Ancient, Modern, and Post-modern.  Cambridge: Cambridge
      University Press, 1995.
      Waugh, Patricia. Metafiction: The Theory and Practice of Self-Concious Fiction.
                    London: Methuen, 1984.
      คัลวิโน, อิตาโล. หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง. แปลโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ.
                     กรุงเทพมหานคร: หนังสือยามเช้า, 2549.
      มุกหอม วงษ์เทศ. เล่นแร่แปรธาตุ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน, 2549.


















         

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×