รู้ทันเรื่องเหล้า เมาอย่างมีสติ | |
นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์
ขณะนี้เมืองไทยอยู่ในยุคหลังปฏิวัติ (19 กันยา 49) สังคมไทยกำลังมีการพูดถึงเรื่องออกกฎหมายห้ามโฆษณาแอลกอฮอล์และห้ามขายแอลกอฮอล์แก่เยาวชนกันมาก ทางกระทรวงสาธารณสุขต้องการจำกัดอายุที่ 25 ปีเพราะเห็นว่าเป็นอายุที่คนเรามีวุฒิภาวะของสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับวิจารณญาณเต็มที่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่คัดค้านเพราะเห็นว่าสูงเกินไป ตอนหลังจึงมีแนวโน้มที่จะลดอายุลงมาเหลือ 20 ปี กระทรวงสาธารณสุขต้องการเห็นแอลกอฮอล์หายไปจากโลกนี้ วิธีที่ดีที่สุดที่จะให้ได้ผลอย่างนั้นคือห้ามขาย แต่การทำอย่างนั้นมีประเทศตะวันตกเขาทดลองทำมาแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้ผลดี เกิดอาชญากรรมเกี่ยวกับเหล้ามากมาย ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากมีอุปสงค์ต่อแอลกอฮอล์มากมายในมนุษย์ที่ยังมีหัวใจเป็นคนนั่นเอง
จากการศึกษาของกองความปลอดภัยทางการจราจรและถนนหลวงของสหรัฐฯ เขาประมาณการณ์เอาไว้ว่าการเพิ่มอายุการห้ามดื่มสุราของคนหนุ่มสาวจาก 18 ปี ขึ้นมาเป็น 21 สามารถลดอัตราตายจากอุบัติเหตุจราจรได้ 13% และจะสามารถทำให้คนรอดตายได้ถึง 19,121 คนนับตั้งแต่ปี 1975 มา และมีการศึกษา 20 ถึง 29 ชิ้นที่แสดงว่ามีการลดลงของอุบัติเหตุจราจรเมื่อเพิ่มอายุคนกินเหล้าเป็น 21 ปี และถ้าใช้ตัวเลข 21 ปี บวกกับระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่ 0% ถึง 2 มก.%(zero-tolerant policy) ด้วยแล้วจะลดอุบัติเหตุลงได้ถึง 20% แต่ข้อเสียคือกฎหมายควบคุมอายุคนดื่มเหล้านี้มักจะไม่ได้รับการบังคับใช้เท่าที่ควร แม้จะเป็นในประเทศเจริญอย่างสหรัฐฯ ก็ตามที แล้วเมืองไทยจะมีการบังคับใช้กฎหมายแค่ไหน
แอลกอฮอล์มีผลเสียต่อสุขภาพหลายอย่าง และยังเป็นยาเสพติดด้วย ถ้าถามว่าแอลกอฮอล์มีฤทธิ์เสพติดมากแค่ไหนหลายคนคงตอบไม่ได้ จากการศึกษาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกันในระหว่างสารเสพติดทั้งหลาย แอลกอฮอล์ทำให้ผู้เสพทั้งหลายติดได้ 15% โคเคน 17% กัญชา 9% เฮโรอีน 25% ส่วนนิโคติน 32% ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ต่อร่างกายเราขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยคือ น้ำหนักตัว เพศ เชื้อชาติ อายุ พันธุกรรม
น้ำหนักตัวซึ่งมีส่วนประกอบของไขมัน โปรตีน และปริมาตรเลือดในร่างกายต่างก็มีส่วนทำให้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เปลี่ยนแปลงไป เช่น คนตัวโตย่อมดื่มได้มากกว่าคนตัวเล็ก เพศหญิงดื่มแอลกอฮอล์ได้น้อยกว่าชาย คือหญิงเมาเร็วกว่า เชื้อชาติก็มีผลต่อฤทธิ์แอลกอฮอล์ เช่น คนเอเชียมีพันธุกรรมที่ทำให้การทำงานของตับในการทำลายแอลกอฮอล์น้อยกว่าชนชาติอื่น คนเอเชียกินเหล้าแล้วมักจะเมาเร็วกว่าชาติอื่น (ฝรั่งวิจัยได้ความว่าอย่างนั้น) คนอายุมากจะมีความสามารถของระบบต่างๆ ลดน้อยลง เช่น ระบบหัวใจ ระบบเผาผลาญสารพิษ (อย่างแอลกอฮอล์) ระบบขับถ่าย ระบบย่อยอาหารและระบบประสาท แอลกอฮอล์จึงมีผลต่อระบบต่างๆ มากกว่าคนหนุ่มสาวแบบเดียวกับยาที่เราบริโภคเข้าไปก็มีผลอย่างเดียวกัน
นักดื่มมากรายเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาจะมีอาการแฮงค์โอเวอร์ปวดหัวไม่สบาย ความคิดไม่สดใส จึงชอบกินยาแก้ปวดหัว เช่น พาราเซตามอล (หรืออีกชื่อว่า อะเซตามิโนเฟน) การกินขนาดธรรมดาไม่มีปัญหา แต่หลายคนกินขนาดยักษ์ เช่น 26 เม็ดต่อวัน อย่างนั้นมันมากเกินไป ไม่มีใครกล้ายืนยันว่าจะไม่เป็นอันตราย เพราะยาพาราเซตามอลถ้ากินมากจะมีผลเสียต่อตับได้ และเนื่องจากคนกินเหล้าเป็นประจำมักจะมีโรคตับแข็งอยู่ด้วยซึ่งจะไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรกินมาก
ผู้หญิงกินเหล้าแล้วเมาเร็วกว่าชายในสัดส่วนต่อน้ำหนักตัวที่เท่ากัน เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากส่วนประกอบของร่างกายของชายและหญิงแตกต่างกัน ในหญิงมีส่วนประกอบของน้ำน้อยกว่า (มีไขมันมากกว่า) น้ำเป็นตัวเจือจางแอลกอฮอล์ในร่างกาย ทำให้ชายเมาช้ากว่าในขนาดการดื่มเท่ากัน และนอกจากนั้นน้ำในร่างกายทำให้มีอาการแฮงค์น้อยกว่าด้วย
คำถามว่าการดื่มเหล้าทำให้เกิดความมันหฤหรรษ์ซาบซ่านทางเพศมากขึ้นจริงหรือไม่? คำตอบคือไม่จริง ผลเสียของแอลกอฮอล์ต่อเรื่องเพศนั้นมีมากกว่าผลดี ผู้หญิงที่ดื่มเหล้าจะมีความยั้งคิดอิดออดปฏิเสธน้อยกว่า มักจะเออออห่อหมกร่วมหอได้ง่าย มีผลทำให้เสียใจ (หลังสร่างเมา) เสียตัว ติดโรคร้าย ตั้งท้องต้องทำแท้ง แอลกอฮอล์ยังทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศได้ง่ายเพราะขาดความยับยั้ง แต่เวลาร่วมหอลงเอยจริงๆ มักจะไม่เข้าท่าไม่เป็นรส เช่น ผู้ชายเกิดอาการจู๋นกเขาไม่ขันไร้น้ำยา หรือถ้าสู้ก็อาจจะมีความชาไร้ความรู้สึกซาบซ่า หรือบางคนอาจจะสู้แต่ต้องออกแรงทำมาก(เพราะชา) กว่าจะถึงบางออ(กัสซึม)ก็เหนื่อย แถมยังอาจจะทำให้ผู้หญิงบาดเจ็บได้ นอกจากนี้หญิงที่เมาเหล้าอาจจะไม่สามารถถึงสวรรค์ชั้นออกัสซึมเลยทำให้ค้างเติ่งเสียอารมณ์ไม่ดีเลย
การบริโภคแอลกอฮอล์และกัญชาไม่ควรจะเอามาปนกัน เนื่องจากสารสองตัวนี้มีฤทธิ์กดสมองเหมือนกัน มันจะร่วมมือกันทำให้สมองทำงานช้าลง การเป็นลมหมดสติเพิ่มมากขึ้น กัญชามีฤทธิ์ลดความไวของศูนย์อ้วก ทำให้การอาเจียนผิดปกติ ทำให้สำลักอาหารได้ง่าย ซึ่งอาจจะทำให้มีผลเสียถึงชีวิตเนื่องจากเป็นปอดบวมตาย สำหรับยาอื่นๆ 2 ตัวใช้ด้วยกันอาจจะมีผลเสริมกันแบบบวก แต่แอลกอฮอล์กับกัญชามีผลเสริมกันแบบทวีคูณ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับกัญชา นักศึกษามหา’ลัยควรจะสำเหนียกไว้อย่าไปลองของแผลงๆ หรือยัดเยียดให้น้องใหม่ลองเด็ดขาดเพราะอาจจะติดคุก
การดื่มเหล้าร่วมกับการบริโภคยามีผลเสียขึ้นได้ มียาประมาณ 150 ชนิดที่มีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ในทางไม่ดี ปฎิกิริยานี้อาจจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรค เพิ่มการบาดเจ็บล้มตาย แอลกอฮอล์ไปเพิ่มฤทธิ์ของยาที่ไปกดระบบประสาท เช่น ยานอนหลับ ยาต้านฮีสตามีน (แก้แพ้) ยาแก้โรคซึมเศร้า ยากล่อมประสาท ยาแก้ปวดบางอย่าง นอกจากนี้ยารักษาโรคหลายอย่าง เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ก็อาจจะมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ไปในทางที่ไม่ดี ถ้าท่านสงสัยควรถามแพทย์หรือเภสัชกรให้เข้าใจเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าซื้อยากินเองต้องระวัง ยกตัวอย่างเช่น ซื้อยาแก้แพ้ (ต้านฮีสตามีน) กินเอง ซึ่งอาจจะทำให้ง่วง เมื่อกินเหล้าเข้าไปด้วยยิ่งจะง่วงมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุล้มตายหรือบาดเจ็บได้
การดื่มเหล้ามีผลดีต่อโรคหัวใจขาดเลือดจริงหรือเปล่า? การดื่มแอลกอฮอล์แต่พอประมาณ(Moderate Drinking) สามารถลดอัตราการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่กินเหล้าและกินมากกว่าพอประมาณ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดได้ แต่ต้องกินพอประมาณจริงๆ เช่น กินเบียร์วันละ 1 กระป๋อง ดื่มไวน์วันละไม่เกิน 120 ซีซี. แต่การป้องกันโรคหัวใจไม่ใช่เหตุผลที่ดีที่ท่านจะนำไปอ้างสำหรับการเริ่มหัดดื่มเหล้า เนื่องจากเหล้ามีผลเสียอย่างอื่นมากมาย และวิธีป้องกันโรคหัวใจที่ดีกว่าเหล้าก็มี เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น
แอลกอฮอล์คร่าชีวิตคนมามากต่อมาก โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางการจราจร วัยรุ่นหนุ่มสาวเสียชีวิตจากการเมาแล้วขับปีละมากมาย วัยรุ่นหนุ่มสาวไม่ว่าที่ใดในโลกก็คงจะเหมือนกันเนื่องจากมีความคึกคะนองจากฮอร์โมนเพศที่พุ่งขึ้นสูงสุด ในสหรัฐฯ นักศึกษามหาวิทยาลัย (อายุ 18 ถึง 24 ปี)ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากแอลกอฮอล์ปีละ 599,000 คน อัตราการบาดเจ็บล้มตายของคนไทยก็คงจะไม่น้อยหน้ากว่าเขาโดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ แต่คนอเมริกันเขามีความรู้ดี รู้จักใช้ประสบการณ์เรียนรู้ความผิดพลาดแล้วนำไปปรับปรุงตัวเอง ทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุจากแอลกอฮอล์ลดลง เช่น ในระหว่างปี 2003 กับ 2004 อัตราตายลดลง 2.4% คือในปี 2003 มีอัตราตายจากอุบัติเหตุจราจรที่เกี่ยวเนื่องกับแอลกอฮอล์ 17,105 ราย ส่วนปี 2004 ลดลงเหลือ 16,394 ราย (แต่แอลกอฮอล์ยังมีบทบาทในอัตราตายจากอุบัติเหตุถึง 39%)
เมืองไทยเรากำลังจะออกกฎหมายเพื่อห้ามการโฆษณาและลดการเสพแอลกอฮอล์ แถมยังจะเอาเงินภาษีบาปจากแอลกอฮอล์ไปใช้รักษาสุขภาพที่เสียหายจากเหล้า แต่อย่าลืมคิดถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้วยนะครับ เงินภาษีบาปควรเอามาซื้อเครื่องตรวจแอลกอฮอล์ในลมหายใจ (Breathalyzers) ให้ตำรวจใช้มากขึ้น ตามความเห็นของผม เดี๋ยวนี้นักซิ่งกลัวเครื่องนี้กันมากขึ้นแล้ว
| |
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น