ภัยแล้งเป็นวิกฤตหรือโอกาสของซีอีโอ?
                         
              วิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว  นับว่ามีความรุนแรงที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยประสพมา  ทั้งนี้คาดว่า  มีผู้ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมดถึง 9.2 ล้านคนในพื้นที่ 63 จังหวัดทั่วประเทศ[1]  คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น 23,703 ล้านบาท[2]
              ภัยแล้งเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากกับสังคมไทยมาตลอดในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา  โดยที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยมา  และคาดได้ว่าจะยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้นไปอีกในอนาคตอย่างแน่นอน
              ที่ผ่านมารัฐบาลในแทบทุกยุคทุกสมัยก็ได้ทุ่มเทงบประมาณและทรัพยากรต่างๆมากมายไปกับการแก้ไขปัญหานี้  แต่ก็ต้องประสพกับความล้มเหลวเรื่อยมา
              เช่นเดียวกับทุกครั้งที่สังคมต้องประสพกับวิกฤตภัยแล้ง  อุทกภัยหรือปัญหาอุปสรรคต่างๆที่ภาครัฐไม่สามารถแก้ไขได้  คำถามสำคัญที่ถูกตั้งขึ้นตามมาก็คือ  อะไรกันแน่คือสาเหตุต้นตอที่ทำให้ภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้ให้ลุล่วงไปได้
              ในทุกครั้ง  หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็จะอธิบายว่า  สาเหตุของความล้มเหลวเป็นเพราะว่ารัฐบาลขาดนโยบายและแผนงานในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนปฏิบัติได้  ขาดแคลนงบประมาณและการสนับสนุน  รวมถึงมีการเมืองเข้ามาแทรก
              ในอีกด้านหนึ่ง  ผู้ที่เป็นรัฐบาลก็ชี้แจงว่า  เป็นเพราะการบริหารจัดการของหน่วยงานราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ  ขาดความโปร่งใส  เต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่น  ไม่ให้ความร่วมมือและไม่เข้าใจนโยบาย  เป็นต้น
              สำหรับตัวประชาชานเองแล้ว  พวกเขาได้ข้อสรุปมาช้านานแล้วว่า ต้นตอของปัญหาทั้งปวงอยู่ที่การบริหารจัดการของภาครัฐทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐบาลที่รับผิดชอบด้านนโยบายหรือหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบทางด้านปฏิบัติ
          ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า  การนำเอาแนวคิดและแนวทางการจัดการแบบธุรกิจเอกชนมาใช้ในการบริหารประเทศอย่างจริงจังเท่านั้นคือหนทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาทั้งปวงของพวกเขาได้  และด้วยเหตุนี้  พรรคไทยรักไทยที่มีผู้นำและทีมงานซึ่งพร้อมพรั่งไปด้วยอดีตนักบริหารมืออาชีพที่ประสพความสำเร็จในภาคธุรกิจระดับประเทศมาแล้วมากมาย  จึงได้รับฉันทามติอย่างท่วมท้นให้รับผิดชอบบริหารประเทศแทนพวกเขาถึงสองครั้งสองครา
              ทว่าหลายผ่ายาตั้งข้อสังเกตว่า  เหตุใดภายใต้การบริหารจัดการของพรรคไทยรักไทยในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาที่มุ่งเน้นการปฏิรูปภาครัฐสู่การบริหารจัดการแบบภาคเอกชน  ผ่านการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการและการจัดทำแผนงานต่างๆมากมายเป็นประวัติการณ์จนได้รับสมญาว่าเป็น “รัฐบาลเวิร์คชอป”  พร้อมทั้งได้ใช้โอกาสปรับเปลี่ยนโครงสร้างจัดการของหน่วยงานรัฐถึงระดับกระทรวงทบวงกรมไปทั้งหมดทั้งสิ้นถึง 10 ครั้ง 10 ครา
            เหตุใด  การแก้ไขปัญหาภัยแล้งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รวมถึงครั้งล่าสุดนี้จึงไม่แตกต่างกันเลย  กล่าวคือยังเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า  อาทิเช่น  การใช้รถบรรทุกน้ำ  การทำฝนเทียม  การขุดบ่อเก็บน้ำ การเพิ่มเครื่องสูบน้ำหรือการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเริ่มกำหนดแผนงานกันอีก  เสมือนหนึ่งว่าภัยแล้งเพิ่งจะเคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยเป็นครั้งแรก
              เป็นไปได้หรือไม่ว่า  แนวคิดและแนวทางการจัดการแก้ไขธุรกิจเอกชนหาใช่เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทยดังที่เข้าใจกันไม่  เป็นไปได้หรือไม่ว่าต้นตอปัญหาที่แท้จริงของการจัดการประเทศคือการมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้กับผู้ที่ไม่เพียงแต่ไร้ความสามารถ  มิหนำซ้ำไม่แยแสให้เป็นผู้แก้ไขปัญหาแทนประชาชน
ไม่มีการแข่งขันเสรีและก็ไม่มีมืออาชีพ
              ความเชื่อที่ว่าการจัดการภาคเอกชนมีประสิทธิภาพสูงกว่าภาครัฐนั้น  ตั้งอยู่บนสมมุติฐานตามทฤษฎีการค้าเสรีของนาย อาดัม สมิธ  ที่เสนอว่า  ประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นเองจาก “มือที่มองไม่เห็น” ในสภาพตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเสรี
              ในมุมมองผ่านทฤษฎีนี้  การจัดการภาครัฐเป็นการจัดการแบบผูกขาด  ไม่ต้องแข่งขัน  ดังนั้นจึงไร้ประสิทธิภาพ  ตรงกันข้าม  การจัดการของภาคเอกชน  มีการแข่งขันเสรี  ฉะนั้นจึงมีประสิทธิภาพ 
              เป็นที่น่าสลด ว่าสังคมมีโอกาสได้รับรู้ข้อเท็จจริงของทฤษฎีนี้เพียงแค่ข้อสรุปเท่านั้น  ทั้งที่นายอาดัม สมิธ  ได้พยายามอธิบายถึงที่มา  ปรัชญา  แนวคิดและสมมุตติฐานของทฤษฎีนี้อย่างละเอียดในหนังสือชื่อ “ ความมั่งคั่งของชาติ”ของเขา ที่มีความยาวถึง 900 หน้ากระดาษ[3] โดยย่อ เขาได้อธิบายคำว่า “ ตลาด” ของเขาไว้ว่า หมายถึง ตลาดที่มีสภาพดังนี้
1. ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องเป็นรายย่อย  ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดมีอำนาจในการกำหนดราคาตลาด
2. ผู้เกี่ยวข้องทั้งปวงจะต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเสรี  ไม่มีความลับทางการค้า
3. ผู้ขายจะต้องรับภาระต้นทุนทั้งหมดและสะท้อนอยู่ในราคาขาย
4. การลงทุนจะต้องจำกัดอยู่ในประเทศและดุลการค้าระหว่างประเทศจะต้องสมดุล
5. เงินออมจะต้องถูกนำไปลงทุนเพื่อการผลิตเท่านั้น
ที่มา “ The Post Corporate World” โดย  David C.  Korton  หน้า 38-39
 
              ทั้งนี้  หากหันมาพิจารณาสภาพตลาดหรือเศรษฐกิจโลกที่เป็นจริงกันแล้ว  จะพบว่า สภาพเศรษฐกิจโลกหาได้เป็นไปตามที่ อาดัม สมิธนิยามไว้ไม่  และเป็นเช่นนี้มาช้านานแล้ว
              แท้ที่จริง  กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่แอบอ้างข้อเขียนเพียงประโยคเดียวจากทฤษฎีการค้าเสรี  ได้ทำลายการจัดการที่ทรงประสิทธิภาพของกลไกตลาดจนแทบไม่มีเหลือ  การจัดการโดยมือที่มองไม่เห็นถูกแทนที่ด้วยการจัดการโดยมือที่มองเห็นของบรรดาผู้บริหารมืออาชีพและซีอีโอของบรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลก[4]  ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรืออังค์ทัดประจำปี 2537  ระบุว่า  บรรษัทข้ามชาติเป็นเจ้าของถึงกว่า 70%ของการค้าโลก และกว่า 80% ของการลงทุนระหว่างประเทศ[5]
              ภายในพื้นที่ที่บรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเป็นเจ้าของนี้  ซีอีโออาศัยการฮั้วและการผูกขาดในการกำหนดราคาตลาด  พวกเขาใช้ความชำนาญในการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคและปิดบังการทุจริตของพวกเขา เพื่อลดต้นทุน พวกเขาผลักภาระต้นทุนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม  และเพื่อให้มีกำไรที่สูงสุด  พวกเขานำเงินออมของประชาชนไปใช้ในการปั่นหุ้น แทนที่จะใช้ในการผลิต  เหล่านี้คือสิ่งที่พวกเขาชำนาญไม่ใช่การเพิ่มประสิทธิภาพ 
เครือข่ายธุรกิจการเมืองโลก : เบื้องหลังท่านผู้นำ
              เครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างนักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่ท้องถิ่นจนไปถึงระดับประเทศของไทยซึ่งดำรงอยู่มาช้านานจนปัจจุบันนี้  แท้จริงเป็นเพียงโครงสร้างส่วนล่างส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจการเมืองโลกเท่านั้น  สูงสุดของโครงสร้างอุปถัมภ์นี้คือ ซีอีโอของบรรษัทชั้นนำของโลก และบรรดาผู้นำกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก  พวกเขาเหล่านี้มีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับชนชั้นนำของไทยอย่างแน่นแฟ้นมาตลอดทั้งในอดีตและปัจจุบัน
              บทความชื่อ “สโมสรอดีตผู้นำ” ของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนอันโด่งดังของอังกฤษได้กล่าวถึงกองทุนคาร์ลัย กรุ๊ป  กองทุนส่วนบุคคลขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกว่า  เป็นกองทุนที่เต็มไปด้วยผู้บริหาร กรรมการและที่ปรึกษารวมถึงนักลงทุนที่เป็นบุคคลชั้นนำของโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน  อาทิเช่น  นายจอร์จ เอช ดับบลิว บุช  อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ,  นายเจมส์ เบเคอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ,  นายจอห์น เมเจอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ,  นายฟิเดล รามอส อดีตประธานาธิบดีผิลิปปินส์,  นายคาล ออตโต โพล อดีตผู้ว่าธนาคารชาติเยอรมัน,  ตระกูลบินลาเดน  และนายจอร์จ โซรอส  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีซีอีโอของบรรษัทชั้นนำของโลก อาทิเช่น  บริษัท บีเอมดับบลิว,  เนสท์เล่, โตชิบา, ฟูจิตสุและโรเช่  นั่งเป็นกรรมการที่ปรึกษาอีกด้วย
                นายจอร์จ บุช ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันก็เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทแห่งหนึ่งที่กองทุนคาร์ลัยเป็นเจ้าของ[6]
              สำหรับบุคคลสำคัญของไทยที่เคยเป็นกรรมการที่ปรึกษาให้กับกองทุนนี้ได้แก่  นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีและนายกทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน[7]
            ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2530 กองทุนนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงุถึง 34% ต่อปี  ปัจจุบันมีเงินลงทุนกว่า ห้าแสนล้านบาททั่วโลก  รวมถึงในไทยด้วย  ไม่เพียงแต่กองทุนนี้จะเป็นแหล่งทำกำไรใหักับชนชั้นนำของโลกเหล่านี้เท่านั้น  ทว่ากองทุนนี้ยังมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายของนานาประเทศทั่วโลก  เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกองทุนและบรรดาสมาชิกอีกด้วย[8]
ไอพีสตาร์ :  ต่างคนต่างได้ในกลุ่มธุรกิจการเมืองโลก ?
            ปลายปี 2545  ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าหรือเอกซ์ซิมแบงค์ของหสรัฐได้อนุมัติเงินกู้มูลค่ากว่า 7,300 ล้านบาทให้แก่บริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ ( ชิน แซท) สำหรับโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ของบริษัท  ทั้งนี้ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่มีระยะเวลา 8 ปีนี้มีเงื่อนไชปลอดดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรกอีกด้วย[9]
            เพื่อสร้างดาวเทียมไอพี สตาร์  ดาวเทียมเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกนี้  ทางชินแซทได้ว่าจ้างบริษัท ลอเรล สเปส แอนด์ คอมมิวนีเคชั่นส์  ของสหรัฐให้เป็นผู้ผลิต[10]
              ในบทความชื่อ “ เอกซ์อิมแบงค์ : พิทักษ์แรงงานหรือโรบินฮู้ดกลับขั้ว”  จากหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์ค ไทมส์  หนังสือพิมพ์ชั้นนำของโลก ฉบับวันที่  1 กันยายน  2545  ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลในการอนุมัติเงินกู้ก้อนนี้
              ตอนหนึ่งของบทความมีใจความว่า  “ มันยากที่จะจินตนาการออกว่าทำไมนายทักษิณ ชินวัตร มหาเศรษฐีพันล้านและเป็นถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย  จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐเพื่อธุรกิจครอบครับของเขา...เหตุผลง่ายาๆ เพราะบริษัทลอเรล  สเปส แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น  เป็นบริษัทของสหรัฐที่บริหารโดยนาย เบอร์นาร์ด ชวาห์ส ผู้บริจาคเก่าแก่ของพรรคเดโมแครต”
              ยิ่งไปกว่านั้นบริษัท ลอเรล สเปส แอนด์ คอมมีวนิเคชั่นส์  ยังมีความเกี่ยวพันไปถึงบุคคลสำคัญในคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีจอร์จ บุชอีกด้วย  นั่นก็คือนายดิก เชนนี  รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ  เนื่องจากภรรยาของเขาเคยนั่งเป็นกรรมการของบริษัท ลอกฮีท มาร์ติน[11]  บริษัทแม่ของบริษัทนี้
                          การแก้ไขปัญหาภัยแล้งกับกลุ่มธุรกิจการเมืองโลก
              ที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การที่รัฐบาลชุดนี้ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 2.2แสนล้านบาทสำหรับระยะเวลา 4 ปี เพื่อแก้ไขน้ำในภาพรวมของประเทศว่า รัฐยังขาดความเข้าใจในปัญหา  ดังนั้นการเร่งรีบทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลไปกับโครงการขนาดใหญ่  ทั้งที่ยังไม่ทราบว่าจะประสพความสำเร็จหรือไม่  จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง  ทว่า สำหรับเครือข่ายธุรกิจการเมืองโลกแล้ว  นี่คือโอกาสในการทำกำไรอย่างงดงาม
              บริษัท เทมส์ วอเตอร์  เป็นบริษัทด้านการบริการน้ำประปาและบำบัดน้ำเสียชั้นนำของโลก  บริษัทประกอบธุรกิจใน 46 ประเทศทั่วโลก  อาทิเช่น  สหรัฐอเมริกา, จีน, เยอรมันนี, โปแลนด์,  ชิลี, ออสเตรเลีย, มาเลเซีย ฯลฯ รวมถึงในประเทศไทยด้วย  เช่นเดียวกับบรรษัทขนาดยักษ์อื่นๆ  บริษัทนี้ก็มีเส้นสายโยงไยกับกลุ่มธุรกิจการเมืองโลกเช่นกัน
              บริษัทแม่ของเทมส์ วอเตอร์ คือ  อาร์ ดับบลิว อี บรรษัทขนาดยักษ์อันดับที่ 53 ของโลก  และเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในระบบสาธารณูปโภคด้านน้ำของประเทศสหรัฐ[12] ในปี 2545  ประธานาธิบดีบุช  ได้แต่งตั้งนาง แมรีริน แวร์  กรรมการที่ปรึกษาของบริษัท อาร์ ดับบลิว อี  และประธานบริษัทอเมริกัน วอเตอร์ เวอร์ก  บริษัทลูก ของอาร์ ดับบลิวอี  ซึ่งอดีตประธานาธิบดีบุชผู้พ่อมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านระบบสาธารณูปโภคแห่งชาติ[13] ทั้งนี้โดยหาได้คำนึงถึงประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใดไม่
            ในประเทศไทย บริษัทเทมส์ วอเตอร์ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท ช.การช่าง  ในบริษัทน้ำประปาไทย จำกัด  บริษัทที่ได้รับสิทธิ์ในการผลิตน้ำประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดนครปฐมและสมุทรสาคร  โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอด้วยเงินลงทุนกว่า  9500 ล้านบาท  โรงงานผลิตน้ำประปาของบริษัทที่สร้างเสร็จสมบูรณ์และเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีที่แล้ว  ถือเป็นโรงงานผลิตน้ำประปาขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย[14]
              นอกจากโครงการข้างต้นแล้ว  บริษัทยังมีโครงการอื่นๆในไทยอีก อาทิเช่น  โครงการผลิตน้ำประปาปทุมธานี- รังสิต  งานลดน้ำสูญเสียในพื้นที่สำนักงานประปาสาขาภาษีเจริญ ปทุมธานี-รังสิต เป็นต้น[15]
              บริษัทได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างมากมาย อาทิเช่น  ยกเว้นภาษี  ยกเว้นไม่ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ประกันการซื้อน้ำขั้นต่ำ  การประกันราคาค่าน้ำรวมถึงผลกำไร  ทำให้บริษัทแห่งนี้มีกำไรโดยที่ไม่ต้องรับภาระความเสี่ยงแต่อย่างใด  ตรงกันข้ามการประปาซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐกลับต้องแบกรับผลขาดทุนที่มากขึ้นแทน                                           
            คาดว่าบริษัท เทมส์ วอเตอร์  น่าจะเป็นบริษัทเอกชนรายสำคัญที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการเมกกะโปรเจก ภายใต้งบประมาณ 2.2 แสนล้านเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำของรัฐบาลชุดนี้ 
           
สรุป
                      เบื้องหลังภาพพจน์ของซีอีโอหรือผู้บริหารมืออาชีพทั้งไทยและเทศนี้  แท้จริงเป็นเรื่องราวของการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกันเองภายในกลุ่มธุรกิจการเมืองโลก  สำหรับพวกเขา  ปัญหาของประชาชนเป็นเพียงแต่โอกาสในการทำกำไรเพิ่มเติมเท่านั้น
                  แท้จริงแล้ว  ประสิทธิภาพในการจัดการไม่เคยอยู่ในมือที่มองเห็นของบรรดาผู้บริหารมืออาชีพ  แต่กลับอยู่กับมือที่มองไม่เห็นอันก่อเกิดจากการจัดการกันเองในหมู่ประชาชนต่างหาก 
>>>ยินดีให้เผยแพร่ ไม่สงวนลิขสิทธิ์
>>>ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่www.nokkrob.org
เชิงอรรถ
1.    “ขุดต้นตอวิกฤตภัยแล้งซ้ำซาก”  โดยทีมเศรษฐกิจ,  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 28/03/2548 หน้า 8
2.    “Crippling Drought Leaving Southeast Asia Desperately Dry”  สำนักข่าวAFP, วันที่ 16/06/2005
3.    “The Post Corporate  World” David C. Korton,หน้า154
4.    “The Visible Hand”  Alfred D. Chandler Jr.,หน้า1
5.    “ เศรษฐกิจที่อาศัยแรงงานราคาถูกในกระแสทุนนิยมโลก”โดย วิลาศ เตชะไพบูลย์, จุลสาร ปป ฉบับที่ 8 ก.ค. 2544 หน้า 23
6.    “Carlyle’s Tentacles Embrace Asia “ Tim Shorrock, Asia Times Online
7.    “Carlyle’s
..”
8.    “The Ex-Presidents’ Club”Oliver Burkeman and Julian Borger\",The Guardian,31/9/2001
9.    “Shinsat Has Obtained Financing For The IPStar Project\"  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 8/11/2002, Global NewsWire
10.    “Massive Communications Sattellite Archives Milestone “ Loral News Release 16/04/2003
11.    “New World Disorder”  Brian Awehali,11/11/2002,www.lipmagzine.org
12.    “RWE Corporate Profile”Polaris Institute,2003,www.polarisinstitute.org
13.    “Felton Fights Privatized Water”Ebar Miess,18/22003,www.santacruz.indymedia.org
14.    “RWE
.”
15.    “เธมส์ วอเตอร์ ในประเทศไทย”(ฉบับร่าง)โดย พยุงศักดิ์ คชสวัสดิ์
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น