ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เหตุผลของคนตาย

    ลำดับตอนที่ #17 : วันที่ 17 พฤศจิกายน 2011 เวลา 13.30 นาฬิกา

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 163
      2
      30 ก.ย. 56

    วันที่ 17 พฤศจิกายน 2011 เวลา 13.30 นาฬิกา (ห้องน้ำชาย ภายในเรือนจำกลาง)

              กระจกเงาเหนืออ่างล้างมือหม่นมัวตามสภาพความเก่าของอายุการใช้งานที่นานหลายปี แต่มันก็ยังคมชัดพอที่จะเห็นความทรุดโทรมบนใบหน้าของนายแพทย์เอกณรงค์ และสายตาที่มองตอบมาจากในกระจกเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น เมื่อสงสัยว่าสิ่งที่สร้างร่องรอยหมองคล้ำให้เขาคือสิ่งใด

    หมอเอกกวักน้ำล้างหน้าอีกครั้งหวังจะลบรอยคล้ำดำให้พ้นไป แต่ไม่ว่าจะทำยังไง หรือมองมุมไหนเขาก็ยังคงเห็นร่องรอยของความผิดปกติทั่วทั้งใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นดวงตาที่อิดโรย รอยคล้ำดำที่ใต้ตา แก้มผอมซูบตอบ ผิวซีดเผือดเหมือนคนอมไข้ ตลอดจนริมฝีปากที่แห้งผากจนตกสะเก็ด ชายหนุ่มยกมือแตะต้องสำรวจใบหน้าของตัวเองทีละส่วน แล้วพบว่ามือของเขากำลังสั่นด้วยความหวาดกลัว

    ………Brake………

     

    วันที่ 17 พฤศจิกายน 2011 เวลา 13.50 นาฬิกา (ห้องพยาบาล ภายในเรือนจำกลาง)

                แม้จะเป็นเวลาตรวจแต่หมอเอกก็ขออยู่ตามลำพัง โดยอ้างว่าไม่สบายขอพักสักครู่ ซึ่งคำอ้างนั้นก็เป็นความจริงอยู่ไม่น้อย เพียงแต่คนที่จบแพทย์ศาสตร์อย่างเขายังไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเจ็บป่วยด้วยโรคอะไร ถ้าเป็นครั้งอื่นเอกณรงค์คงจะไปให้แพทย์คนอื่นช่วยตรวจวินิจฉัย แต่ในครั้งนี้เขาเลือกจะสอบถามทางโทรศัพท์แทน

    มือของนายแพทย์เอกณรงค์ที่จับอยู่บนหูโทรศัพท์ตั้งโต๊ะกำแน่นจนข้อนิ้วขาวซีด แล้วเขาก็กลั้นใจยกหูโทรศัพท์ขึ้นจากแป้นก่อนจะวางลงที่เดิมอย่างรวดเร็ว เจ้าของมือจ้องมองโทรศัพท์ไร้ชีวิตด้วยสายตาหวั่นไหว เหมือนว่ามันกำลังจะส่งเสียงบอกข่าวร้ายแรงที่สุดในชีวิตออกมาให้เขาได้ยิน

    เวลานี้หมอเอกอยากให้มีใครสักคนอยู่เคียงข้างเขา คอยเป็นขวัญกำลังใจให้แก่เขา ใครสักคนที่จะเข้าใจสถาณการณ์เลวร้ายที่เขากำลังเผชิญ แต่มันก็ไม่มีสักคนที่เขาจะไว้ใจหรือวางใจพอที่จะขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้

    หลังจากใช้เวลาจับจ้องโทรศัพท์กว่านาที หมอเอกก็สูดหายใจเข้าอกให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อปลุกปลอบและให้กำลังใจแก่ตัวเอง เมื่อรู้สึกว่าพร้อมแล้ว ก็ยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อกดหมายเลขโทรศัพท์ที่เตรียมเอาไว้

                “คลีนิคนิรนามค่ะ”

                เสียงปลายสายตอบรับ หลังสัญญานเรียกไม่กี่ครั้ง แต่คนที่ถือหูรอกลับต้องใช้หลายวินาทีถึงจะค้นหาเสียงของตัวเองเจอ

    “เอ่อ...ผม ผมขอสอบถามเกี่ยวกับการทำงานของคลีนิคหน่อยได้ไหมครับ”

                เอกณรงค์ไม่บอกชื่อให้อีกฝ่ายรู้ ทั้งที่ตามมารยาทควรจะทำ เช่นเดียวกับที่อีกฝ่ายก็ไม่ถาม แต่ในกรณีที่คนโทรมาแบบนี้ มักจะไม่บอกชื่ออยู่แล้ว ซึ่งทั้งคู่รู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่ในใจของชายหนุ่มก็ยังเต้นรัว

                “ต้องการตรวจ หรือว่าสอบถามข้อมูลค่ะ”

                “ผม ผม เอ่อ...ผมต้องการข้อมูลน่ะครับ พอดี เพื่อนผมเขาอยากจะไปตรวจ ต้องทำยังไงบ้างครับ”

                คำโกหกไม่ลื่นไหลดั่งใจนึก แต่หมอเอกก็ไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองลังเล เพราะรู้ว่าหากเขาวางหูก็จะไม่สามารถรวบรวมความกล้าโทรออกไปได้อีก ด้านเจ้าหน้าของคลีนิคนิรนามก็ช่วยเหลือด้วยการตอบคำถามอย่างว่องไว

                “สะดวกวันธรรมดาหรือว่าวันเสาร์ค่ะ ทางคลีนิคเปิดให้บริการวันจันทร์ถึงเสาร์นะคะ มาได้ตามสะดวก”

                หมอเอกคิดในใจว่าจะลางานพรุ่งนี้เพื่อไปตรวจที่คลีนิคให้พ้นข้อสงสัยที่คาใจอยู่ จึงรีบถามข้อมูลต่อ

    “วันธรรมดาก็ได้ครับ เพื่อนผมไปวันธรรมดาก็ได้ ถ้าเขาไปถึงที่คลีนิค เขาต้องไปทำอะไรบ้างครับ”

                “ต้องมากรอกข้อมูลก่อนค่ะ เสร็จแล้วเราก็จะมีการพูดคุยกันเล็กน้อย สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับความเสี่ยง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบ รวมถึงใช้แก้ไขปัญหาที่คนมาขอรับบริการกำลังเผชิญอยู่ แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ เราค่อนข้างเป็นกันเอง และจะไม่ทำให้เครียดแน่นอน”

                น้ำเสียงเจ้าหน้าที่คลีนิคที่เน้นย้ำประโยคหลังเหมือนจะผ่อนคลายความเครียดที่พูดถึง ทำให้เอกณรงค์กล้าที่จะถามต่อ

    “แล้วการตรวจเลือดหา...หาเชื้อล่ะครับ”

                “เราจะขอตรวจเลือด หลังจากสอบถามข้อมูลของคนไข้เสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ จะได้ทำความเข้าใจกับคนไข้ด้วย”

                “ใช้เวลานานไหมครับ”

                เสียงที่ใช้ถามข้อมูลเบาลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป เหมือนใจของเอกณรงค์ที่หนักอึ้งขึ้นทุกวินาที

                “เวลาในการกรอกข้อมูล หรือว่ารอผลค่ะ”

                “ในการเข้าไปในคลีนิคน่ะครับ ทั้งการกรอกเอกสารแล้วก็การสอบถาม จะกินเวลานานไหมครับ”

                จากประสบการณ์ที่เคยเป็นแพทย์ฝึกหัดในหน่วยงานราชการ ทำให้หมอเอกนึกภาพความยุ่งยากใน การเข้าไปขอรับบริการ และขั้นตอนที่ต้องกรอก ด้วยความจำเป็นหลายๆ อย่างเอกณรงค์ไม่พร้อมจะทำตามขั้นตอนที่วุ่นวายและยาวนานขนาดนั้น

                “แล้วแต่คิวค่ะ ช่วงนี้เรามีคนเข้ามาค่อนข้างเยอะ อาจจะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงหน่อย เพื่อนของคุณพอจะลางานได้ไหมค่ะ ไม่ต้องทั้งวันค่ะ แค่ช่วงเช้า หรือช่วงบ่ายก็ได้ เราเปิดทำการตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่งถึงหกโมงเย็น แต่เจ็ดโมงเช้าเราก็เปิดให้เข้ามารอคิวตรวจแล้วนะคะ ทุ่มหนึ่งถึงจะปิด บางคนยังมาตอนช่วงพักเที่ยง แล้วกลับไปทำงาน ก่อนจะฟังผลอีกรอบทีหลัง”

    เมื่อเอกณรงค์เงียบไปไม่ถามต่อ เจ้าหน้าที่ก็เข้าใจเอาเองว่าไม่สะดวก จึงรีบพูดเสริมอย่างรวดเร็ว

    “วันเสาร์ก็ได้ค่ะเราเปิดแปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น เพื่อนของคุณจะได้ไม่ต้องลางาน แต่ว่าคนอาจจะเยอะหน่อย”

    ในหัวของเอกณรงค์เปรียบเทียบข้อดีในการไปวันเสาร์ แน่นอนว่ามันจะช่วยให้เพื่อนร่วมงานไม่สังเกตเห็นการลางานของเขา แต่มันเป็นวันหยุดของคนทั่วไป ซึ่งมันก็อาจจะเสี่ยงต่อการพบเจอคนรู้จักระหว่างที่เขาอยู่แถวคลีนิคนิรนาม เมื่อนึกภาพของตัวเองประจันหน้ากับคนที่รู้ว่าเขาเป็นใครในสถาณการณ์แบบนั้น มันก็ทำให้หมอหนุ่มตัดสินใจได้ในทันที ว่าตัวเองพร้อมจะไปในวันไหน

                “ไม่มีปัญหาครับ เดี๋ยวผมจะไป เอ่อ...หมายถึงเพื่อนผมจะไปตามที่คุณบอก แล้วผลตรวจเลือดล่ะครับยังต้องเป็นอาทิตย์หรือเปล่า”

                “ตอนนี้เรามีชุดตรวจตัวใหม่เข้ามาค่ะ ชื่อว่าFORTH Generation จะช่วยให้ทราบผลภายในหนึ่งชั่วโมงค่ะ แต่ขึ้นอยู่กับระยะเสี่ยงของเพื่อนคุณด้วย ถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยงเมื่อไม่นาน หรือไม่เกินสองสัปดาห์ อาจจะต้องเข้ามาตรวจซ้ำอีก หลังจากผ่านการตรวจครั้งแรก แต่ไม่ต้องถึงสามเดือน”

                ชายหนุ่มไม่สอบถามรายละเอียดอีก เพราะพอจะศึกษามาบ้าง ที่เขาโทรมาก็แค่เพื่อความแน่ใจ และเพื่อถามถึงสิ่งที่เขากำลังหวาดกลัวอยู่

                “แล้วข้อมูลที่กรอก มีสิทธิที่คนนอกจะเห็นได้ไหมครับ”

                “ไม่มีทางค่ะ เราจะให้ชื่อย่อแทนชื่อของคนที่เข้ามาใช้บริการ ทั้งในประวัติและในใบตรวจเลือด ยกเว้นแต่มีการระบุให้ใช้ชื่อเต็ม อันนั้นใช้เวลาผู้ตรวจต้องการเอาไปใช้ในอ้างอิง อย่างกรณีสมัครเข้าทำงานน่ะค่ะ”

                เสียงตอบหนักแน่นของเจ้าหน้าที่สร้างความมั่นใจให้เอกณรงค์พอสมควรแต่ก็ไม่มากพอที่เขาจะวางใจ

                “ถ้าตรวจพบเชื้อ แล้วคนที่ตรวจทำงานในหน่วยงานที่ไม่รับคนติดเชื้อ จะมีการแจ้งไปยังที่ทำงานของเขาไหมครับ”

                “ไม่ค่ะ เราเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของคนที่เข้ามา ถ้าเขาไม่ต้องการเปิดเผยชื่อก็เป็นสิทธิของเขา แน่นอนว่าในบางหน่วยงาน ที่มีกฎห้ามรับพนักงานที่ติดเชื้อเข้าทำงาน เขาจะให้พนักงานของเขาเอาผลการตรวจที่มีชื่อนามสกุลไปส่ง แต่เรารับรองได้ว่าจะไม่มีการรั่วไหลข้อมูลจากทางเราแน่นอน”

                คำตอบนั้นเหมือนรู้ถึงสิ่งที่ใจของหมอเอกกังวล หลังจากถามคำถามบางข้อ หมอเอกก็ขอบคุณและวางหูลงด้วยความสบายใจขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะสิ่งที่เขากลัวจริงๆ ไม่ใช่เรื่องข้อมูลผลตรวจจะรั่วไหล แต่เป็นเรื่องข้อมูลที่เขากำลังสงสัยอยู่ ว่าตอนนี้เขาอาจจะเป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อแล้วก็ได้

    ………Brake………

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×