อากู๋ 's Coming พวกเราอยากให้ศิลปินได้โกอินเตอร์ ดังแบบ rain - อากู๋ 's Coming พวกเราอยากให้ศิลปินได้โกอินเตอร์ ดังแบบ rain นิยาย อากู๋ 's Coming พวกเราอยากให้ศิลปินได้โกอินเตอร์ ดังแบบ rain : Dek-D.com - Writer

    อากู๋ 's Coming พวกเราอยากให้ศิลปินได้โกอินเตอร์ ดังแบบ rain

    ผู้เข้าชมรวม

    444

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    0

    ผู้เข้าชมรวม


    444

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    หมวด :  รักอื่น ๆ
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  27 ก.ค. 50 / 06:48 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      "5-6 ปีก่อน เรนมาเมืองไทย ยังมายืนดูเบิร์ด ธงไชย ซ้อมคอนเสิร์ตอยู่เลย แถมเดินไปเดินมาที่ตึกแกรมมี่อยู่หลายวัน ก็ไม่เห็นใครสนใจ แต่ผ่านไปไม่นาน เรน กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลกไปแล้ว แต่แกรมมี่เรายังต้วมเตี้ยมอยู่เลย เทียบกันก็เหมือนว่าเรายังขาสั้น คอซองกันอยู่"

      ข้อมูลข่าวจากที่นี่ค่ะ:)

      http://www.bangkokbizweek.com/

      ทีมข่าวการตลาด
      อากู๋ 's Coming
      การจ่อแถวเข้ามาเปิดคอนเสิร์ตโกยรายได้จากกระเป๋าคนไทยของศิลปินอินเตอร์หลายเบอร์จากหลายๆ ประเทศ ทั้งแนวป๊อบ ร็อค แจ๊ส และอีกหลายแขนงในรอบหลายสิบปีมานี้ อาจเป็นเรื่องธรรมดา และไม่สามารถเรียกความสนใจ ให้ อากู๋ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งค่ายแกรมมี่ จนกระทั่งมาถึงปรากฏการณ์ "เรน" จากแดนกิมจิ



      ความแรงของ "เรน" ศิลปินเกาหลี เพียงพอที่จะจุดประกายความคิดให้กับ "อากู๋" ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ว่า …. "เราก็ทำได้

      ท่ามกลางจังหวะเปลี่ยนของอุตสาหกรรมเพลงที่มีดิจิทัล คอนเทนท์นำทาง การพึ่งพารายได้จากซีดีและเทป แม้จะยังเป็นรายได้หลัก แต่อาจไม่ใช่คำตอบของอนาคต

      Cross Culture
      จึงเป็นอีกบทใหม่ของธุรกิจเพลง ที่อาจพลิกอนาคตแกรมมี่

      งานนี้ไม่เพียง ปั้นศิลปิน แต่ยังเป็นการ ปั้นเม็ดเงิน และชื่อชั้นสู่เครดิตอีกขั้นในระดับอินเตอร์

      ภารกิจพลิกธุรกิจเพลงที่ก่อสร้างมาถึง 24 ปี จึงเริ่มต้นที่บิ๊กบอสไพบูลย์ ซึ่งอาศัยการต่อยอดจาก รากฐานเดิมที่ทำมากับความเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์ครบวงจร

      การปั้นศิลปินนักร้องให้มีความสามารถรอบด้าน ทั้งร้องเพลง ดีเจ ดารา พิธีกร ฯลฯ ให้พร้อมเข้าไปปรากฏในทุก หน้าต่างที่สร้างรอไว้ ผ่านธุรกิจสื่อในมือ ทั้งแมกกาซีน รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ ธุรกิจภาพยนตร์ ละครเวที ธุรกิจเพลง และโชว์บิซ

      เท่านี้อาจไม่เพียงพอที่จะต่อยอดสู่เส้นทางที่อากู๋เรียกว่า “Cross Culture” ได้เต็มรูปแบบ

      คนและ คอนเนคชั่นกลายเป็น 2 หัวใจแห่งความสำเร็จที่จะมาพลิกเกม แกรมมี่ให้ ดังข้ามแดนได้จริง

      การเหลียวมองถึงความร่วมมือกับพันธมิตรที่เคยมีมายาวนานระหว่างแกรมมี่ กับหลายบริษัทค่ายเพลงในญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งในอดีตความสัมพันธ์อยู่ในระดับคู่ค้า นำเข้าเพลงรายใหญ่

      แต่วันนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะพันธมิตรเหล่านี้ได้กลายเป็น จิ๊กซอว์สำคัญ ที่จะเชื่อมผ่าน ความดังนักร้องในสังกัด สู่ ตลาดเอเชีย ได้เพียงพริบตา

      ไม่ต่างไปจากเส้นทางที่เรนสามารถก้าวขึ้นมาเป็น แถวหน้าของเอเชียวันนี้

      เมื่อ JYP สร้างเรนให้ดังกระหึ่มทั่วเอเชียได้ อากู๋ก็ขอฮึดอีกครั้งเพื่อภารกิจนี้

      แรงฮึดเริ่มกลับขึ้นมาอีกครั้งหลังรู้สึกเข็ดไปพักใหญ่ (หลายปีทีเดียว) กับแผนพาสินค้า (นักร้อง) หวังไปดังที่ไต้หวันเมื่อหลายปีก่อน

      ย้อนไปสมัยที่แกรมมี่พยายามสยายปีกสู่นอกประเทศเมื่อสิบปีก่อน ต้องถือว่าล้มลุกคลุกคลาน และเจ็บตัวมาพอสมควร แม้จะไม่ได้ล้มเหลวเสียทั้งหมด แต่ที่เห็นๆ คือ แกรมมี่หมดเงินไปไม่น้อยกว่าร้อยล้าน เพื่อแลกกับความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตัวเองว่า คิดจะบุกตลาดต่างประเทศให้สำเร็จนั้น ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

      บิ๊กบอสแห่งแกรมมี่ เผยถึงประสบการณ์การโกอินเตอร์ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ที่สอนให้รู้ว่า ไม่ควรเปลืองตัวกระโดดลงไปแข่งในสนามที่มีเจ้าของพื้นที่เป็นท้องถิ่นเดิมอยู่แล้ว เพราะการตระเวนหานักร้องจากท้องถิ่นเต็มไปด้วยคู่แข่งขัน

      ประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้เลิกคิดเรื่องการจะไปตั้งบริษัทนอกประเทศแล้วสรรหาศิลปินในท้องถิ่นมาทำอัลบั้ม เพราะจะไปสู้บริษัทท้องถิ่นและยักษ์ข้ามชาติที่ทำตลาดอยู่ก่อนยากเต็มที สู้หันมาปั้นเด็กของตัวเองเพื่อส่งออกน่าจะเป็นการดีกว่า

      "
      ตอนนั้นเราไปสู้ทั้งๆ ที่องค์ความรู้ยังไม่ครบ ก็เลยเหมือนเสียค่าโง่ไป เพราะมัวแต่ไปหานักร้องท้องถิ่น ซึ่งค่าตัวก็แพง จนมาคิดได้ทีหลังว่า ถ้าจะทำโดยใช้นักร้องท้องถิ่น เราก็ต้องผจญกับคู่แข่งในท้องถิ่นที่เราจะต้องไปร้องภาษาเขา ที่สำคัญทำให้รู้อีกด้วยว่าโนว์ฮาวอย่างเดียวไม่พอที่จะทำธุรกิจในต่างแดน"

      แม้ว่าจะพักยกการทำธุรกิจในต่างประเทศไปพักใหญ่ เหตุเพราะ "เข็ดขยาด" แต่ไพบูลย์ก็ทราบดีแก่ใจว่าอย่างไรเสีย แกรมมี่จะต้องเดินไปในแนวทางดังกล่าว

      โมเดล Rethink คิดใหม่อีกครั้งจึงเกิดขึ้น

      คีย์หลักในการ "คิดใหม่ ทำใหม่" ของแกรมมี่ คืออาศัยความเหนียวแน่นของพันธมิตรที่มีทั้งในญี่ปุ่น, เกาหลี, ฮ่องกง และจีน เพื่อส่งออกศิลปินไปชิมลางตลาดต่างประเทศ

      "
      แทนที่จะไปหาซื้อตัวศิลปินจากที่โน่น เราก็คิดใหม่ว่า ถ้าเราปรุงจากที่นี่ ใช้ facility ของเราเองผลิตขึ้นมาแล้วค่อยส่งไปขายที่โน่น ก็น่าจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยเราจะใช้พาร์ทเนอร์ของเราเป็นที่ปรึกษา พร้อมทั้งมองหาโปรเจคอื่นๆ ร่วมกัน"

      ปัจจุบันพันธมิตรที่เข้าขั้น แน่นปึ้กของแกรมมี่ ได้แก่ Johny & Associates จากญี่ปุ่น เจ้าของค่ายเพลง J Storm ที่มีศิลปินในสังกัดอย่าง Arashi, Kat-tun และ News

      กับพันธมิตรรายนี้ แกรมมี่ได้ส่ง 2 นักร้องหน้าใส 'กอล์ฟ-ไมค์' พิชญะ-พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล ไปออกอัลบั้มร่วม

      เริ่มจากการออกอัลบั้มร่วมกับ Yamashita ในชื่อชุด GYM เมื่อสิงหาคม 2549 ซึ่งก็เรียก เสียงกรี๊ดพร้อมยอดขายที่พุ่งสูงกว่า 3 แสนแผ่นในญี่ปุ่น

      ความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ค่ายเพลงต้นสังกัดในญี่ปุ่นต้องเข็นออกอัลบั้มเดี่ยวในชื่อ Nippon Ainiikuyo ออกมารับกับกระแสที่กำลังฮอต

      นอกจาก 'กอล์ฟ-ไมค์' อีกดีลที่เกิดขึ้นแล้วคือ ความร่วมมือระหว่างแกรมมี่กับ NEST อีกหนึ่งค่ายเพลงของญี่ปุ่น โดยล่าสุด ส่งไอซ์-ศรันยู วินัยพานิช เข้าไปชิมลางออกอัลบั้มที่ญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะวางตลาดราวเดือนสิงหาคมนี้

      การสยายปีกความสัมพันธ์ไปยังญี่ปุ่น ผ่าน AVEX Group ยักษ์ใหญ่ต้นสังกัดของศิลปินชื่อดังอย่าง Ayumi, Koda, Tackey & Tsubasa และ Boa ครั้งนี้ สืบเนื่องจากสัมพันธ์ที่ยาวนานกว่าสิบปีจากการที่แกรมมี่รับหน้าที่เป็นตัวแทนถือลิขสิทธิ์นำเข้าและจัดจำหน่ายผลงานเพลงของ AVEX ในไทย

      ข้ามไปที่ฝั่งแดนกิมจิ แกรมมี่ได้จับมือกับพันธมิตร JYP Entertainment ต้นสังกัดของ Rain, Wonder Girls ซึ่งก็มีโปรเจคของ นิชคุณ หรเวชคุณ เด็กไทยซึ่งเติบโตที่อเมริกา และได้ผ่านการออดิชั่นจาก JYP สาขาอเมริกา จนได้ร่วมสังกัดกับเรน โดยกำลังอยู่ระหว่างการทำอัลบั้มเดี่ยวอยู่

      ขณะที่สองพี่น้อง กอล์ฟ-ไมค์ ก็ข้ามฝั่งจากญี่ปุ่นสู่เกาหลีด้วยเช่นเดียวกัน โดยวางแผนจะออกอัลบั้มภาษาเกาหลี ราวเดือนพฤศจิกายนปีนี้

      ถัดจาก 2 พี่น้อง กอล์ฟ-ไมค์ ยังมี เจมส์-เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ นักร้องและผู้บริหารจากมีฟ้า อะคาเดมี่ ซึ่งจับพลัดจับผลูเข้าตาทีมงานของ DR Music ต้นสังกัดของ Baby VOX หลังจากที่บินไปคุยงานในฐานะผู้บริหาร ก็กลับกลายเป็นความร่วมมือเพื่อออกอัลบั้มเดี่ยวที่เกาหลีด้วยเช่นเดียวกัน

      ในส่วนของเจมส์นั้น นอกจากจะเรียนภาษาเพื่อรอทำอัลบั้มที่เกาหลีแล้ว ยังได้ร่วมโปรเจคกับทาง TVB ของฮ่องกง ร่วมกับสองดาราจากฮ่องกง คือ Bosco และ Kevin ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ซีรีส์ The Strong Sword (ยอดกระบี่เงาปิศาจ) ซึ่งกำลังออนแอร์อยู่ในบ้านเราขณะนี้

      สำหรับความร่วมมือระหว่างแกรมมี่กับทาง TVB นั้น ยังจะมีโครงการแลกเปลี่ยนศิลปินระหว่างกันอีกด้วย

      ส่วนที่อยู่ในคิวโกอินเตอร์อีกล็อต เป็นทีของสาว แคทลียา อิงลิช ซึ่งเพิ่งจะออกอัลบั้มใหม่นั้น ซึ่งจากรูปลักษณ์โดดเด่น ลูกครึ่งสไตล์เอเชียแล้ว ไพบูลย์บอกว่า น่าจะเป็นที่นิยมในตลาดเกาหลีได้ไม่ยาก

      ขณะที่โปรเจค ไชน่า ดอลล์ ก็กำลังจะถูกรื้อขึ้นมาทำใหม่ โดยเปลี่ยนเพียงตัวนักร้อง แต่ยังคงชื่อ ไชน่า ดอลล์ เอาไว้

      นอกจากนี้ ประเทศในแถบอินโดไชน่า อาทิเช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ก็ยังเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจในสายตาของไพบูลย์ ด้วยเพราะมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน น่าจะ Cross Culture ผ่านงานเพลงได้ไม่ยากนัก

      Talent Factory
      ปั้นพรสวรรค์ เป็น "ไม้ยืนต้น"

      โมเดลการ "โกอินเตอร์" ครั้งใหม่ นอกจากจะเริ่มต้นด้วยการต่อสายพันธมิตร เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด อีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญของ "แกรมมี่" ก็คือ Talent Factory โรงงานผลิตศิลปินคุณภาพระดับสากล


      "
      แกรมมี่ไม่ได้ทำพืชล้มลุก แต่เราทำพืชยืนต้น เราให้ความสำคัญกับเรื่องทาเลนท์ นี่คืออาชีพ ไม่ใช่แค่งานอดิเรก ใครก็ตามที่อยากจะเข้าสังกัดเรา ก็ต้องรับเงื่อนไขตรงนี้"


      ไพบูลย์ฉายภาพให้ฟังว่า จริงๆ แล้ว แกรมมี่เริ่มธุรกิจในต่างประเทศตั้งแต่เมื่อ 16-17 ปีก่อน โดยจับมือกับค่ายโพลีแกรมจากฮ่องกง ส่งลิขสิทธิ์เพลงของศิลปินชื่อดังขณะนั้น อาทิเช่น เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์, อัสนี-วสันต์ ไปขายที่ฮ่องกง

      ต่อมาก็เริ่มคิดตั้งบริษัทที่ไต้หวัน เมื่อราว 6-7 ปีที่แล้ว เพราะยุคนั้นใครๆ ก็อยากไปเปิดตลาดจีน

      แกรมมี่ออกชิมลางที่ไต้หวัน แต่สุดท้ายก็ล้มลุกคลุกคลาน กระทั่งมีสองสาวหมวย "ไชน่าดอลล์" เข้ามาช่วยพลิกสถานการณ์ให้

      สองสาวคู่นี้ร้องเพลงภาษาจีนได้ จึงทดลองส่งออกไปทำตลาดที่ไต้หวัน ปรากฏว่าได้รับความนิยม ขณะที่ "เต๊ะ ศตวรรษ" เป็นนักร้องอีกเบอร์ที่ส่งไปทำตลาดในช่วงเดียวกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จในช่วงแรก เพราะติดปัญหา เต๊ะ พูดจีนไม่คล่อง

      ไพบูลย์บอกว่า ครั้งนั้นทำให้มองเห็นว่าต้องหานักร้องที่พูดภาษาของประเทศนั้นๆ ได้ จะทำให้เข้าใกล้คนฟังมากขึ้น

      การกลับมาตั้งหลักครั้งใหม่เพื่อปั้น "ศิลปินข้ามชาติ" แกรมมี่จึงกลับมาพร้อมกับโครงการ Talent Factory

      "
      อากู๋" บอกว่า นี่คือกุญแจสำคัญในการโกอินเตอร์ โดยมี Talent Factory เป็นเครื่องมือในการพัฒนา และยกระดับความสามารถของศิลปินให้มีความเป็นสากล

      แผนงานที่เรียกว่า Cross Culture จึงเริ่มต้นขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การรับคนเข้ามา ต่อจากนี้ก็จะมองหาเด็กที่พูดได้สองภาษา

      "
      เมื่อเด็กเราร้องเพลงภาษาเขาได้ ก็จะง่ายขึ้นในการบุกตลาดต่างประเทศ"

      "
      อากู๋" ยกตัวอย่างโมเดลการสร้างศิลปินของพันธมิตรอย่าง JYP Entertainment ซึ่งเป็นต้นสังกัดของ 'เรน' ด้วยว่า

      เคสของการปั้น 'เรน' เป้าหมายของ JYP ไม่ใช่ตลาดเกาหลี แต่มองไกลไปที่ตลาดญี่ปุ่นก่อนเป็นลำดับแรก เพราะมองเห็นอยู่แล้วว่าถ้าเจาะเข้าญี่ปุ่นได้ ประเทศอื่นๆ ก็เรื่องเล็ก เพราะปัจจุบัน ตลาดเพลงในญี่ปุ่นใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

      จึงไม่น่าแปลกใจที่ในขณะนี้ JYP กระโดดได้ไกลไปยังถิ่นลุงแซมเรียบร้อยแล้ว

      "5-6
      ปีก่อน เรนมาเมืองไทย ยังมายืนดูเบิร์ด ธงไชย ซ้อมคอนเสิร์ตอยู่เลย แถมเดินไปเดินมาที่ตึกแกรมมี่อยู่หลายวัน ก็ไม่เห็นใครสนใจ แต่ผ่านไปไม่นาน เรน กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลกไปแล้ว แต่แกรมมี่เรายังต้วมเตี้ยมอยู่เลย เทียบกันก็เหมือนว่าเรายังขาสั้น คอซองกันอยู่"

      นั่นคือความในใจ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดลูกฮึดครั้งใหม่ของ "อากู๋" และ "แกรมมี่"

      ทั้งที่ถ้าเปรียบเทียบโนว์ฮาวของแกรมมี่กับ JYP Entertainment ของเกาหลีแล้ว ไพบูลย์บอกว่ามีเท่าๆ กัน ในเรื่องการทำธุรกิจเพลง แต่สาเหตุที่ทำให้ JYP Entertainment สามารถปั้นเรนให้ดังได้ในระดับโลก เป็นเพราะ "ความจริงจัง" และมุ่งมั่นที่จะปั้นศิลปินเพื่อส่งออกยังต่างประเทศ

      นอกจากแรงคิดใหญ่ ทำใหญ่ แล้ว อีกหนึ่งแรงผลักที่สำคัญอย่างมากก็คือ 'รัฐบาลเกาหลี' ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเต็มตัว เพราะมองว่าเป็นสินค้าวัฒนธรรมซึ่งจะเป็นใบเบิกทางให้กับสินค้าอื่นๆ ได้เดินตามโดยง่าย

      Key to Success
      ของพันธมิตรจากแดนกิมจิอย่าง JYP ที่ไพบูลย์มองว่าเกิดประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาศิลปินในค่าย คือ การสร้าง และ ปั้น

      กว่าที่ "เรน" จะก้าวมาถึงวันนี้ ตัวศิลปินต้องผ่านการเทรนนิ่งหนักมากในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ทักษะพื้นฐานอย่างการร้อง การเต้น จนถึงการพัฒนาด้านร่างกายให้ฟิต และการพัฒนาด้านจิตใจ, อีคิว ต้องดี ฉลาดในการสื่อสาร และยังพร้อมที่จะรับความกดดันต่างๆ ที่จะตามมา โดยเฉพาะแรงกดดันจากความสำเร็จที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว

      ไพบูลย์บอกว่า เมื่อเทียบเคียงกับการทำงานหนักของเกาหลีแล้ว คอร์สอบรมของแกรมมี่ แทบจะเรียก "หวานเย็น" ไปเลย

      แค่ "ปั้น" เท่านั้นก็ยังไม่พอ แต่ต้องมี ทัพหลังที่ดีด้วย เพราะหากทีมซัพพอร์ตไม่พร้อมออกรบ ก็คงยากที่จะชนะในสนามนี้

      นอกจากมองหา Talent เพื่อตอบโจทย์โกอินเตอร์ สิ่งที่ "อากู๋" ทำไปพร้อมกันก็คือ การสร้างทีมผู้บริหารใหม่ เพื่อรุกตลาดเพลงต่างประเทศอย่างจริงจังเช่นเดียวกับที่ JYP และ AVEX ทำให้เห็นแล้วว่า สำเร็จจริง

      จากที่อากู๋เคยใช้ ตัวเองเป็นแกนหลักของการเจรจา ไม่ว่าจะระดับ เล็กไปจนถึง บิ๊กๆโดยอาศัยความชำนาญด้านภาษาจีนแมนดาริน เดินสายพบปะพันธมิตรทั้งไต้หวันและจีน แต่สุดท้ายก็พบปัญหาว่า ดีลต่างๆ ที่ได้เริ่มต้นไว้นั้นกลับไม่มีคนมาสานต่อ

      "
      คอนเนคชั่น" ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่จำเป็นต้องสร้างทีมธุรกิจเบื้องหลัง

      การขอเกิดรอบใหม่ในตลาดต่างประเทศหนนี้ "อากู๋" จึงขอทำหน้าที่ติวเข้มกับสูตรปั้นคน ทั้ง ด่านหน้า” (นักร้อง) และ ทัพหลัง” (ทีมงาน) ให้เป็น มืออาชีพ

      "
      เรื่องภาษาสำคัญมากในการจะติดต่อกับบริษัทในเอเชียด้วยกัน จริงอยู่ว่าเราสามารถใช้ภาษาอังกฤษพูดคุยกันได้ แต่ก็ไม่ได้ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นเท่ากับการพูดคุยในภาษาของเขาเอง"

      จนที่สุด บริษัท จีเอ็มเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล จึงกำเนิดขึ้นเพื่อรับช่วงงานต่อ โดยมีทีมที่ดูแลพันธมิตรแต่ละประเทศ ซึ่งแกนหลักในทีมจะชำนาญด้านภาษาที่แตกต่างออกไป หลักๆ เป็นภาษาอังกฤษ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น

      ความพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรให้แนบแน่นขึ้น ดำเนินไปพร้อมๆ กับการเตรียมความพร้อมของศิลปินในสังกัดให้สมบูรณ์ พร้อมด้วยคุณสมบัติที่จะเข้าตา บริษัทตัวแทนและ ตลาดในแต่ละประเทศ

      ก้าวสำคัญต่อจากนี้ของแกรมมี่ จึงเน้นที่การสร้าง Talent หรือศิลปินที่มีพรสวรรค์ ซึ่งจะเป็นต้นกำเนิดคอนเทนท์มหาศาลในอนาคต

      ไพบูลย์เผยว่า 24 ปีที่ผ่านมา แกรมมี่เชื่อมาตลอดว่าธุรกิจนี้จะประสบความสำเร็จได้ ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ทีมผลิตดี บวกกับพรสวรรค์ของศิลปิน และการตลาดที่มีประสิทธิภาพ

      แกรมมี่จึงให้ความสำคัญกับ "คน" ในฐานะต้นทุน และต้นกำเนิดของทุกอย่างที่เป็นแกรมมี่ในวันนี้ จนนำมาสู่การปรับโมเดลการพัฒนาความสามารถของศิลปิน ซึ่งจะต้องเข้มข้นมากขึ้น

      สองหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารและพัฒนาคนของแกรมมี่ คือ อราทิสต์ และ มีฟ้า อะคาเดมี่ แม้จะเปิดมานานหลายปีแล้ว แต่มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ทำงานหนักขึ้น เข้มงวดขึ้น

      อากู๋เข้าใจแล้วว่า หากจะส่งศิลปินไปต่างแดน คำว่า "คุณภาพ" จะต้องเรียกว่าคับแก้วจริงๆ

      ในส่วนของอราทิสต์ ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยได้นำผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานมาร่วมนั่งเป็นบอร์ดของบริษัทด้วย เริ่มตั้งแต่ตัวไพบูลย์ ไปจนถึง บุษบา ดาวเรือง ตัวแทนจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา จากจีเอ็มเอ็มมีเดีย, ถกลเกียรติ วีรวรรณ จากเอ็กแซ็กท์-ซีเนริโอ, สถาพร พานิชรักษาพงศ์ จากแกรมมี่ เทเลวิชั่น และ ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย จาก บลิส พับลิชชิ่ง

      บอร์ดที่ว่านี้จะมีการประชุมร่วมกันทุกเดือน เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของ "คลังศิลปิน" ของแกรมมี่ ว่ามีใครโดดเด่น เห็นแววพิเศษตรงไหนบ้าง

      แต่ละคนจะใช้ความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เพื่อร่วมกันคัดเลือกศิลปินให้เหมาะกับความสามารถ บนเป้าหมายคือ ส่งงานที่เหมาะกับศิลปินแต่ละคน เพื่อให้ได้งานที่เก่งที่สุดก่อน แล้วจึงค่อยทำการ Cross Skill สู่การพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ

      ไพบูลย์เทียบธุรกิจเพลงว่าคล้ายกับการทำสวนทำไร่ คือถ้าคอยแต่จะเก็บเกี่ยวอย่างเดียว ไม่เพาะปลูก ก็คงไม่งอกงามเจริญเติบโต

      ดังนั้นการพยายามหาเด็กใหม่ๆ มาเข้าสังกัด ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่ตลอด "คนก็มีแต่จะแก่ตัว เรื่องการผลัดใบอย่างไรก็ต้องมี"

      "
      แกรมมี่ไม่ได้ทำพืชล้มลุก แต่เราทำพืชยืนต้น เราถึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องทาเลนท์ เรามองว่านี่คืออาชีพ ไม่ใช่แค่งานอดิเรก ใครก็ตามที่อยากจะเข้าสังกัดเรา ก็ต้องรับเงื่อนไขตรงนี้เลยว่า เราจริงจัง จะมาซ้อมเล่นๆ แบบหวานเย็นไม่มีอีกแล้ว"

      ไพบูลย์เชื่อว่า ขอเพียงปั้นศิลปินให้ดังได้ "เบอร์สอง" ถัดจากนั้นจะส่งเบอร์ต่อๆ ไปลงตลาดก็ง่ายขึ้น

      เพราะทุกสปอตไลท์จะเริ่มหันมาฉายที่เมืองไทย โดยใน 3 ปีนับจากนี้ น่าจะเห็นผลชัดของการบุกตลาดต่างแดนครั้งนี้


      JYP & AVEX
      โมเดลปั้น "คนดัง" ข้ามแดน

      เปิดโมเดล "ปั้นศิลปิน" สไตล์เอเว็กซ์ กรุ๊ป (ญี่ปุ่น) และเจวายพี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (เกาหลี) สองดาวรุ่งธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์เอเชีย ในฐานะ "มือปั้น" ระดับพระกาฬ หลังส่ง "เรน" และ โบอา ดังไกลตลาดไทย ญี่ปุน ลามถึงเมืองลุงแซม


      "
      ซ้อมอย่างบ้าคลั่ง และทำงาน เป๊ะๆ แทบไม่มีจุดพลาด เป็นหนึ่งในนิยามที่คนซึ่งเคยทำงานร่วมกับศิลปินค่ายเจวายพี ฉายภาพให้เห็นถึงการทำงานที่เคร่งครัด และเป็นมืออาชีพของศิลปินค่ายนี้"



      เจาะลึกเบื้องหลังเส้นทาง "ดัง" ถูกขีดตั้งแต่เริ่มต้นค้นหา เทรนนิ่ง ครบทุกกระบวนท่า เพื่อให้ "คนธรรมดา" กลายเป็น "ซูเปอร์สตาร์" ข้ามคืน

      ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หากเป็นผู้มีความฝัน กล้าแสดงออก และมีความสามารถในการร้องเพลง เต้น หรือการแสดง คุณก็สามารถเป็น "เรน" คนที่ 2, 3 ... ได้

      แผนค้นหาดาวของเจวายพี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ของบอสใหญ่ พาร์ค จิน ยอง (Park Jin Young) เริ่มต้นเมื่อ 3 ปีก่อน หลังปิ๊งไอเดียว่าต้องออกค้นหา "ดาวรุ่ง" ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ด้วยรูปแบบของการจัดประกวดความสามารถ ซึ่งในไทย ปิดฉากไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2549

      นอกจากเดินทางไปออดิชั่นควานหา "ดาวดวงใหม่" ยังมีอินเทอร์เน็ต เป็นอีกช่องทาง "เปิดรับ" บุคคลที่คิดว่าอยากเป็นหนึ่งในสังกัดของ "นักปั้น" มือโปรรายนี้

      ในแต่ละปี มีคนจำนวนมากที่เข้าแถวจ่อคิวให้ เจวายพี พิจารณา แต่มีเปอร์เซ็นต์แค่หนึ่งในพัน หรืออาจถึงหนึ่งในหมื่นเท่านั้นที่เข้าตา และ "เรน" ซึ่งดังเปรี้ยงปร้างอยู่ในตอนนี้ ก็เป็นผลผลิตหนึ่งของการค้นหาของเจวายพีเมื่อ 3 ปีก่อน

      เจวายพีสั่งสมประสบการณ์มากว่า 10 ปี ทั้งในด้านการวางแผน ผลิตคอนเทนท์ จัดการ บริหารศิลปิน ธุรกิจอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ และธุรกิจการค้นหาศิลปินหน้าใหม่ ที่พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรเอ็นเตอร์เทนเมนท์ทั่วเอเชีย

      หลังตระเวนออกหาดาวดวงใหม่ เจวายพีรับศิลปินจากไต้หวันเข้ามาอยู่ในสังกัดแล้ว 1 คน และอเมริกา 5 คน หนึ่งในจำนวนนี้มี "นิชคุณ หรเวชกุล" หนุ่มน้อยคนไทยวัย 18 ปี ที่ไปเติบโตในสหรัฐอเมริกา ผ่านการคัดเลือกให้เข้าเป็นศิลปินในสังกัด

      กว่าจะผ่านด่านแรกของเจวายพีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อถูก เจวายพี ค้นพบแล้ว ยังต้องเข้าสู่ด่านต่อไป ที่เรียกว่า "หิน" ไม่น้อย

      ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ จะต้องทุ่มทั้งเวลา กำลังเงิน และอาศัยแรงฮึดกับภารกิจการซ้อมหลายชั่วโมงต่อวัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับโปรแกรมที่ทางบริษัทจัดเตรียมไว้ เพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถให้รอบด้าน และเป็น "ตัวจริง" ให้ได้ ก่อนจะปล่อยออกสู่ "ตลาด"

      รวมถึงการเทรนนิ่งด้านภาษาให้มากกว่า 2 ภาษาได้เป็นดี เพื่อเจาะเข้าถึงตลาดที่หลากหลายสัญชาติ และภาษา (Cross Culture) ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ภาษาอังกฤษ ฯลฯ

      แผนพัฒนาทักษะ "ผู้คาดหวัง" (ว่าจะเป็นซูเปอร์สตาร์ในอนาคต) ถูกกำหนดไว้อย่างเข้มข้น พร้อมการประเมินที่เปรียบเป็นการ "ทดสอบ" ความสามารถทีละขั้น เทียบชั้นปี 1 ไล่ไปถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้

      หากใคร "ไม่ผ่าน" หรือ "หยุดพัฒนาความสามารถ" อาจถูกลดชั้น หรือ ปลด ออกจากกลุ่มไป เพราะยิ่งเทรนนิ่งนาน ย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายสูงขึ้นด้วย

      "
      นิชคุณ หรเวชกุล" ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การทดสอบจะมีขึ้นทุกเดือน ถ้าไม่พัฒนามากๆ ก็อาจถูกไล่ออก แต่หากใครที่เด่นกว่าคนอื่น ก็จะมีผลงานออกมาก่อน "หากไม่ผ่าน ยิ่งอยู่นาน ก็ยิ่งต้องจ่ายสตางค์มากขึ้น เพราะค่าที่พัก ค่าอาหารทุกอย่าง เราต้องออก 50 เปอร์เซ็นต์"

      "
      ซ้อม" อย่าง "บ้าคลั่ง" และทำงาน "เป๊ะๆ" แทบจะหาจุดพลาดได้ยาก เป็นหนึ่งในนิยามที่คนซึ่งเคยทำงานร่วมกับศิลปินค่ายเจวายพี ฉายภาพให้เห็นถึงการทำงานที่เคร่งครัด และเป็นมืออาชีพของศิลปินค่ายนี้

      ไม่นับรวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ของทีมงานดีไซน์คอนเสิร์ต และแดนเซอร์ที่ผ่านการเทรนอย่างเข้มงวด แทบจะไม่มีการยืดหยุ่น เห็นได้จากทุกโชว์ของ "เรน" ที่ออกมาดี และเป็นที่ยอมรับในระดับเอเชีย

      ในฟากญี่ปุน ใช้โมเดลปั้นดาวรุ่งไม่แตกต่างกันนักกับ JYP ฝั่งเกาหลี

      รูปแบบการปั้น "สตาร์" ของ เอเว็กซ์ กรุ๊ป (AVEX Group) ก็ส่งให้นักร้องหลายเบอร์ในค่ายดังเปรี้ยงปร้างในเอเชียไม่แพ้กัน ทั้ง อายูมิ, อาราชิ คัตตูน ฯ

      แต่ละคนที่ผ่านด่านแรกไม่ผิดจากเจวายพี ทางเอเว็กซ์ กรุ๊ป ยังมี เอเว็กซ์ อาร์ทิส อะคาเดมี (Avex Artist Academy หรือ aaa) เป็นเหมือนแหล่งบ่มเพาะองค์ความรู้ทุกด้านที่เกี่ยวกับวงการเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งถือเป็นเเพลตฟอร์มสำคัญของการมุ่งสู่เส้นทางบันเทิงให้สำเร็จ

      ที่สุดแล้ว การสรรหา (Recruit), กลั่นกรอง, เทรนนิ่ง และพัฒนา (ทักษะ) เป็น 4 หัวใจ ภายใต้โมเดล "ปั้น" คนดังชั่วข้ามคืน ของ 2 บริษัทนักปั้นมือโปร ซึ่งต้องผนวกเอาลูกเล่นการตลาด และสื่อครบสูตรเพื่อสร้าง "ระบบดาราในฝัน" ให้คนที่ได้ยิน ได้เห็น เกิดรู้สึกรักและคลั่งไคล้

      เมื่อโปรดักท์ (นักร้อง) ดี การตลาดเยี่ยม และเพิ่มการเข้าถึงท้องถิ่น (ด้วยภาษา) กลายเป็นโมเดล Cross Culture ชั้นเยี่ยมยุคโลกธุรกิจ และโลกเอ็นเตอร์เทนเมนท์เริ่มหลอมเป็นเนื้อเดียว

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×