ศิลปกรรม มศว. - ศิลปกรรม มศว. นิยาย ศิลปกรรม มศว. : Dek-D.com - Writer

    ศิลปกรรม มศว.

    คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

    ผู้เข้าชมรวม

    26,821

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    9

    ผู้เข้าชมรวม


    26.82K

    ความคิดเห็น


    138

    คนติดตาม


    3
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  7 มี.ค. 49 / 03:57 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ


      ปฐมลิขิต : บทความนี้เป็นบทความที่ผู้เยี่ยมชมส่งเข้ามาทาง ubyi@dek-d.com

      เจ้าของบทความ : คนประสานมิตร ( nuyokskn@yahoo.com )

      -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

             คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งสถาปนาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2536 มีรากฐานพัฒนาการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2511 เมื่อครั้งเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ได้เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ศิลปศึกษา (Art Education) ขึ้นในแผนกศิลปศึกษา คณะวิชาการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์พิเศษอารี สุทธิพันธุ์ เป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษาพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในพุทธศักราช 2517 แผนกศิลปศึกษาก็ได้พัฒนาเป็นภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม สังกัดคณะมนุษยศาสตร์ และพัฒนาหลักสูตร 2 หลักสูตรในภาควิชาดังกล่าว คือหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกศิลปศึกษา (เดิม) และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) วิชาเอกศิลปะ ซึ่งวิชาเอกศิลปะเป็นหลักสูตรในเชิงบูรณาการที่ผู้เรียนสามารถพัฒนาศักยภาพได้กว้างและสอดรับกับความต้องการของแต่ละบุคคล ท่ามกลางกระแสลัทธิสมัยใหม่ที่ต้องการให้การศึกษาผลิตทรัพยากรบุคคลดิ่งเดี่ยวเฉพาะทาง เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบสายพานอตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม หลักสูตรวิชาเอกศิลปะดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้นิสิตพัฒนาทางด้านทัศนศิลป์ (Visual Art) และการออกแบบสื่อสาร (Communication Design) เป็นด้านหลัก และกำหนดให้ทั้งสองวิชาเอก (วิชาเอกศิลปศึกษาและวิชาเอกศิลปะ) เลือกเรียนวิชาโทอย่างใดอย่างหนึ่งนอกภาควิชาและนอกคณะ เพื่อให้วิชาโทช่วยขยายรากฐานทางปัญญาให้กว้างขึ้น และวิชาโทจะเป็นแรงผลักดันวิชาชีพหรือวิชาเอกด้วย พร้อมกันนั้นก็ได้เกิดภาควิชาดุริยางคศาสตร์ เปิดสอนหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกดุริยางคศาสตร์ไทยและสากลในคณะมนุษยศาสตร์ด้วย
       
             หลังจากการสถาปนาเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์ พุทธศักราช 2536 ได้เปิดสอนในระดับปริญญาตรีวิชาเอกต่างๆ รวม 14 วิชาเอก (2543) ใน 6 ภาควิชาคือ ภาควิชาดุริยางคศาสตร์ไทย ภาควิชาดุริยางคศาสตร์สากล ภาควิชาทัศนศิลป์ ภาควิชาทัศนศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะการแสดง และภาควิชาออกแบบทัศนศิลป์ และเปิดสอนในระดับบัณฑิตศึกษา ปริญญาโท 3 วิชาเอกภายใต้การบริหารจัดการของงานบัณฑิตศึกษา

             พุทธศักราช 2543 คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ปรับโครงสร้างและการบริหารจัดการทางวิชาการใหม่ โดยจัดการบริหารจัดการในระดับปริญญาตรีเป็น 3 มิติ ดังนี้
                    1. สาขาวิชา: คณะกรรมการประจำสาขาวิชา
                    2. หลักสูตร : คณะกรรมการบริหารหลักสูตร
                    3. เครือข่ายวิชา: คณะกรรมการเครือข่ายวิชา
             ภายใต้โครงสร้างและการบริหารจัดการดังกล่าว คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้กำหนดหลักการไว้ดังนี้ "คณะศิลปกรรมศาสตร์บริหารทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรวัตถุ และทระพยากรความรู้ ร่วมกัน เพื่อการลงทุนต่ำสุดให้มีประสิทธิภาพและผลงานสูงสุด" และปรัชญา "สร้างสรรค์ด้วยปัญญาธรรม" บุคลากรวิชาการเป็นกรรมการบริหารหลักสูตรได้หลายหลักสูตร (ไม่เกิน 3 หลักสูตร) สอน ค้นคว้า วิจัย บริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ข้ามสาขาวิชาได้ โดยกำหนดภาระงานให้กับทุกงาน รวมทั้งงานที่ร่วมพัฒนาสาขาวิชา คณะ และมหาวิทยาลัย พื้นที่การใช้งานและครุภัณฑ์ สาขาวิชาดูแลเฉพาะที่เกี่ยวข้องโดยตรง นอกนั้นได้รับการบริการจากศูนย์กลาง
       
             ถึงปีพุทธศักราช 2545 คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรี 15 วิชาเอกคือ หลักสูตร ศป.บ. วิชาเอกศิลปะจินตทัศน์ ศิลปศึกษา การออกแบบสื่อสาร การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบแฟชั่น ศิลปะเครื่องประดับ การแสดงและกำกับการแสดง การออกแบบเพื่อการแสดง นาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์สากล ดนตรีคลาสสิค ดนตรีร่วมสมัย ดนตรีเพื่อธุรกิจ // หลักสูตร กศ.บ. วิชาเอกดุริยางคศาสตร์ไทย ดุริยางคศาสตร์สากล เปิดสอนระดับปริญญาโท 3 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาศิลปศึกษา มานุษยดุริยางควิทยา และทัศนศิลป์: ศิลปะสมัยใหม่ มีอาจารย์ประจำประมาณ 60 คน อาจารย์พิเศษประมาณ 30 คน บุคลากรสนับสนุนวิชาการประมาณ 30 คน นิสิตปริญญาตรีประมาณ 1,000 คน นิสิตปริญญาโทประมาณ 200 คน
       
             ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 9 (2545-2549) การเปิดสอนในระดับปริญญาตรี อาจมีการปรับตัวไม่มากนัก ในระดับบัณฑิตศึกษา ปริญญาโท จะเปิดสอนเป็น 4-5 สาขาวิชาเอกคือ การศึกษาและวิจัยศิลปะ (ศิลปศึกษา) ศิลปะจินตทัศน์ (ทัศนศิลป์: ศิลปะสมัยใหม่) มานุษยดุริยางควิทยา นวัตกรรมการออกแบบ (ออกแบบทัศนศิลป์) ศิลปการแสดง ปริญญาเอก สาขาวิชาศิลปวัฒนธรรมวิจัย

             วัตถุประสงค์ของคณะศิลปกรรมศาสตร์
                    1. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นผู้นำ จริยธรรม ความคิดสร้างสรรค์ สติปัญญา และ    ทักษะทางด้านศิลปกรรมศาสตร์
                    2. เพื่อพัฒนาคุณภาพผลงานศิลปกรรมทั้งในระดับสังคมไทยและสากล
                    3. เพื่อพัฒนาวิชาการทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล
                    4. เพื่อพัฒนาวิชาชีพทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ให้สามารถร่วมพัฒนาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น
                    5. เพื่อพัฒนาองค์กรให้สามารถแข่งขันได้ภารกิจหลัก
                           5.1. การเรียนการสอน
                           5.2. การค้นคว้าวิจัย
                           5.3. การบริการวิชาการ
                           5.4. การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
                           5.5. การสร้างสรรค์ศิลปกรรม
                           5.6. การบริหารจัดการ
                           5.7. การเงินและงบประมาณ
                           5.8. การประกันคุณภาพการศึกษานโยบายหลักในการบริหารงานของคณะศิลปกรรมศาสตร์
       
             คณะศิลปกรรมศาสตร์ในสายตาของสังคมไทยและบุคลากรในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้รับการชื่นชมและเชื่อมั่นสูง ทั้งในฐานะสถาบันวิชาการทางด้านศิลปกรรมศาสตร์และการสร้างสรรค์ศิลปะสาขาต่างๆ ที่ก้าวหน้าทันสมัย อาจมีบางส่วนที่ต้องพัฒนาให้สอดคล้องกัน คณะศิลปกรรมศาสตร์มีระบบระเบียบวินัยในการบริหารจัดการที่ดีพอสมควร อิทธิพลจากการเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาในอดีตที่ส่งผ่านมาสู่การเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์ ความเป็นผู้นำในการศึกษาแบบพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) ของวิทยาลัยวิชาการศึกษาในสังคมไทย และการเริ่มต้นของผู้นำความคิดได้ส่งผลต่อกระบวนความคิดและการปฏิบัติ การพัฒนาระบบ การพัฒนาวิชาการ และการค้นคว้าวิจัย หลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนและการพัฒนานิสิต

             น้องๆคนไหนสนใจที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีของ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จะเปิดการรับสมัครในช่วงเดือน สิงหาคม-ตุลาคม ของทุกปี (โดยการรับตรง ไม่ผ่านการรับ admission) โดยติดตามได้จากเวปไซด์ http://admission.swu.ac.th/content/index_th.html หรือสอบถามได้ที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เบอร์โทรศัพท์ 02-6641000 ครับ

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×