ขลุ่ยโดยครูเทียบยอดครูขลุ่ย - ขลุ่ยโดยครูเทียบยอดครูขลุ่ย นิยาย ขลุ่ยโดยครูเทียบยอดครูขลุ่ย : Dek-D.com - Writer

    ขลุ่ยโดยครูเทียบยอดครูขลุ่ย

    คำแนะนำของครูเทียบเกี่ยวกับขลุ่ย

    ผู้เข้าชมรวม

    2,423

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    6

    ผู้เข้าชมรวม


    2.42K

    ความคิดเห็น


    2

    คนติดตาม


    1
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  2 ต.ค. 49 / 12:26 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      คำแนะนำของครูเทียบ คงลายทอง

      เรื่อง ขลุ่ย

             

           ขลุ่ย นับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ใกล้ชิดกับคนไทยมากที่สุดชนิดหนึ่ง
      คนทั่ว ๆ ไปนิยมเป่าขลุ่ยมากกว่าเล่นดนตรีชนิดอื่น หรือแม้แต่คนในวงการ ดนตรีไทย   ที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่นก็มักเป่าขลุ่ยด้วย เนื่องจากขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีที่สามารถนำติดตัวได้สะดวกเสียงไพเราะการหัดในเบื้องต้น ไม่สู้ยากนัก โดยทั่วไปคนมักเข้าใจว่าขลุ่ยนั้นเล่นง่าย แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เราเห็นว่าง่ายที่สุดกลับเป็นสิ่งที่เล่นยากที่สุด คนที่เป่าขลุ่ยได้ดีในปัจจุบันจึงหาได้ยากนักดนตรีจึงขาดครูผู้แนะนำไปด้วย


                 
      บทความนี้จึงมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นเครื่องชี้แนะต่อผู้ที่สนใจในเรื่องขลุ่ย โดยรวบรวมจากการสัมภาษณ์ คุณครูเทียบ คงลายทอง ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญการในเรื่องเครื่องเป่าโดยเฉพาะ แต่ในรายละเอียดบางหัวข้อ เช่น เรื่องของขลุ่ยเป็นเรื่องที่อธิบายด้วยภาษาพูดหรือ
      ภาษาเขียนได้ยาก นอกจากจะต้องฝึกหัดด้วยตนเองจึงจะรู้ ในที่นี้จึงต้องกล่าวแต่พอสังเขปเท่านั้น

      ลักษณะขลุ่ยโดยทั่วไป

                  ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เป่าให้เกิดเสียง จะเป็นเครื่องดนตรีที่คนไทยคิดทำขึ้นเองหรือได้รับอิทธิพลจากชาติอื่น ไม่มีหลักฐาน
      ปรากฎแน่ชัด ชาติอื่น ๆ ก็มีเครื่องลักษณะเหมือนขลุ่ยของไทยเหมือนกัน เช่นของอินเดีย มุราลี ใช้เป่าด้านข้าง ของญี่ปุ่น ซากุฮาช ซึ่งเป่า
      ตรงเหมือนเป่าขลุ่ย  นอกจากนี้ จีนก็มีขลุ่ยเช่นเดียวกัน คือ ฮวยเต็ก ซึ่งเป่าด้านข้างและ โถ่งเซียว ซึ่งเป่าตรงเหมือนขลุ่ยไทย มีรูนิ้วค้ำและสามารถทำได้เจ็ดเสียงเหมือนกัน โถ่งเซียวมีลักษณะ เรียบง่ายกว่าขลุ่ยไทย คือไม่มีดากการเป่าจะต้องผิวจึงจะเกิดเสียงดัง ระยะห่างของแต่ละเสียงก็เท่ากับขลุ่ยไทย   เสียงของขลุ่ยเกิดจากลมที่เป่าผ่านดากและปากนกแก้ว ไม่ใช้ผิดเหมือนขลุ่ยของชาติอื่น การทำให้เสียงเปลี่ยนทำโดย ปิด-เปิด รูต่าง ๆ ที่อยู่บนเลาขลุ่ย และใช้ลมบังคับประกอบกันไป


                
        ขลุ่ยโดยทั่วไป ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นไม้ไผ่เฉพาะพันธุ์เท่านั้น ปัจจุบันนี้ไม้ไผ่ที่ทำขลุ่ยส่วนใหญ่มาจากสระบุรี และนครราชสีมา นอกจากไม้ไผ่แล้วขลุ่ยอาจทำจากงาช้าง ไม้ชิงชัน หรือไม้เนื้อแข็งอื่น ๆ และปัจจุบันมีผู้นำพลาสติก มาทำขลุ่ยกันบ้างเหมือนกัน
                 
      ในเรื่องคุณภาพนั้น ขลุ่ยที่ทำจากไม้ไผ่จะดีกว่าขลุ่ยที่ทำจากวัตถุอื่นเนื่องจากไม้ไผ่เป็นรูกระบอกโดยธรรมชาติมีผิวทั้งด้านนอก
      ด้านในทำให้ลมเดินสะดวก เมื่อถูกน้ำสามารถขยายตัวได้ สัมพันธ์กับดากทำให้ไม่แตกง่าย นอกจากนี้ผิวนอกของไม้ไผ่สามารถตกแต่งลาย
      ให้สวยงามได้ เช่น ทำเป็นลายผ้าปูม (ครูเทียบมีตัวอย่างให้ดู) ลายดอก ลายหิน ลายเกร็ดเต่า เป็นต้น อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ไม้ไผ่มีข้อ
      โดยธรรมชาติ ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไป จะเห็นว่าส่วนปลายของขลุ่ยด้านที่ไม่ใช้เป่านั้นมีข้อติดอยู่ด้วยแต่เจาะเป็นรูสำหรับปรับเสียงของนิ้วสุดท้ายให้
      ได้ระดับ ส่วนของข้อที่เหลือจะทำหน้าที่อุ้มลมและเสียง ให้เสียงขลุ่ยมีความกังวานไพเราะมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นขลุ่ยที่ทำจากวัสดุอื่นโดยการกลึง ผู้ทำอาจไม่คำนึงถึงข้อนี้อาจทำให้ขลุ่ยด้อยคุณภาพไปได้
                 
      อีกประการหนึ่งส่วนของข้อนี้จะช่วยป้องกันมิให้ขลุ่ยแตกเมื่อสภาพของไม้หรือ อากาศมีการเปลี่ยนแปลง

      ลักษณะของขลุ่ยที่ดี

      ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าขลุ่ยที่ดี ควรทำมาจากไม้ไผ่ นอกจากนี้ควรพิจารณาสิ่งอื่น ๆ ประกอบกันด้วย

                  เสียง ขลุ่ยที่จะใช้ได้ต้องเสียงไม่เพี้ยนตั้งแต่เสียงต่ำสุดไปจนถึงสูงสุด คือทุกเสียงจะต้องห่างกัน 1 เสียง ตามระบบเสียงของไทยเสียงคู่แปดจะต้องเท่ากัน เสียงเลียนหรือนิ้วควงจะต้องตรงกัน เสียงแท้ เสียงต้องโปร่งใส มีแก้วเสียง
      ไม่แหบพร่าหรือแตก ถ้าเล่นในวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีที่เสียงตายตัว เช่น ระนาดหรือฆ้องจะต้องเลือกขลุ่ยที่มีระดับเสียงเข้ากับ
      เครื่องดนตรีเหล่านั้น
                 
      ลม ขลุ่ยที่ดีจะต้องกินลมน้อย ไม่หนักแรงเวลาเป่า ซึ่งจะทำให้สามารถระบายลมได้ง่าย
                 
      ลักษณะของไม้ที่นำมาทำ จะต้องเป็นไม้ที่แก่จัดหรือแห้งสนิท โดยสังเกตจากเสี้ยนของไม้ ควรเป็นเสี้ยนละเอียดที่มีสีน้ำตาล แก่ค่อนข้างดำตาไม้เล็กๆเนื้อไม่หนาหรือบางเกินไปคือต้องเหมาะสมกับประเภทของขลุ่ยว่าขลุ่ยอะไรในกรณีที่ไม้ไผ่แก่
      จัดหรือไม่แห้งสนิทเมื่อทำแล้วในระยะหลังจะแตกร้าวได้ง่าย เสียงจะเปลี่ยนไปและมอดจะกัดกินเสียหาย
                 
      ดาก ควรทำจากไม้สักทอง ไม่มีขุยหรือขนแมวขวางทางลม การใส่ดากจะต้องไม่ชิดหรือห่างไม้ไผ่ ซึ่งเป็นตัวเลาขลุ่ย
      จนเกินไป เพราะถ้าใส่ชิดจะทำให้เสียงทึบ ตี้อ ถ้าใส่ห่างจะทำให้เสียง โว่ง กินลมมาก นอกจากนี้การหยอดขี้ผึ้งที่ดากต้องทำอย่าง
      ประณีต   ละลายขี้ผึ้งให้ไหลเข้าไปอุดช่องว่างที่ไม่ต้องการรอบ ๆ ดาก ให้เต็มเพื่อไม่ให้ลมรั่วออก
                 
      รูต่าง ๆ บนเลาขลุ่ย จะต้องเจาะอย่างประณีต ขนาดความกว้างของรูต้องเหมาะกับขนาดของไม้ไม่กว้างเกินไป ขลุ่ยในสมัย
      โบราณ รูต่าง ๆ ที่นิ้วปิดจะต้องคว้านด้านในให้เว้า คือ ผิวด้านในรูจะกว้างกว่าผิวด้านนอก ซึ่งจะทำให้เสียงของขลุ่ย   กังวานดียิ่งขั้น แต่ในปัจจุบันไม่ได้คว้านภายในรูเหมือนแต่ก่อนแล้วซึ่งอาจจะเนื่องมาจากความเอาใจใส่ของคนที่ทำขลุ่ยน้อยลงทำให้เห็นแต่เพียง
      ว่าภายนอกเหมือนขลุ่ยเท่านั้น
                 
      ลักษณะประกอบอื่น ๆ เช่นสีของไม้สวย ไม่มีตำหนิ ขีดข่วน ไม่คดงอ เทลายได้สวยละเอียด แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีผลกระทบ
      ต่อเสียงของขลุ่ยแต่อย่างใด เพียงพิจารณาเป็นส่วนประกอบเพื่อเลือกให้ได้ขลุ่ยที่ถูกใจเท่านั้น

        ประเภทของขลุ่ย

      โดยทั่วไปขลุ่ยไทย อาจจำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

                  ขลุ่ยหลิบหรือขลุ่ยหลีกหรือขลุ่ยกรวด เป็นขลุ่ยขนาดเล็กเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออเป็นคู่สี่ ใช้ในวงมโหรีเครื่องคู่ เครื่องใหญ่ และวงเครื่องสายเครื่องคู่โดยเป็นเครื่องนำในวงเช่นเดียวกับระนาดหรือซอด้วงนอกจากนี้ยังใช้ในวงเครื่องสายปี่ชวาเพราะขลุ่ยหลิบ
      มีเสียงตรงกับเสียงชวาโดยบรรเลงเป็นพวกหลังเช่นเดียวกับซออู้
                 
      ขลุ่ยเพียงออ เป็นขลุ่ยที่มีระดับเสียงอยู่ในช่วงปานกลาง คนทั่วไปนิยมเป่าเล่น ใช้ในวงมโหรีหรือเครื่องสายทั่ว ๆ ไป โดยเป็นเครื่องตามหรืออาจใช้ในวงเครื่องสายปี่ชวาก็ได้แต่เป่ายากกว่าขลุ่ยหลิบเนื่องจากเสียงไม่ตรงกับเสียงชวาเช่นเดียวกับนำ
      ขลุ่ยหลิบมาเป่าในทางเพียงออต้องทดเสียงขึ้นไปให้เป็นคู่ 4 นอกจากนี้ยังใช้ในวงปี่พาทย์ไม้นวมแทนปี่อีกด้วย โดยบรรเลงเป็นพวกหน้า
                 
      ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่เสียงต่ำกว่าขลุ่ยเพียงออสามเสียง ใช้ในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งต้องการเครื่องดนตรีที่มีเสียงต่ำเป็นพื้น นอกจากนี้ในอดีตยังใช้ในวงมโหรีเครื่องใหญ่ ปัจจุบันไม่ได้ใช้เนื่องจากหาคนเป่าที่มีความชำนาญได้ยาก
                 
                         
      ขลุ่ยอู้ของโบราณจะมีเจ็ดรู (รวมรูนิ้วค้ำ) แต่ในปัจจุบันมีผู้คิดทำเพิ่มขึ้นเป็นแปดรู โดยเพิ่มรูที่ใช้นิ้วก้อยล่างขึ้นอีกรูหนึ่ง                      

                          ขลุ่ยอู้ปัจจุบันนี้หายากเนื่องจากต้องใช้ไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่ ปล้องยาก ซึ่งหาได้ยาก

                  ขลุ่ยเคียงออ เป็นขลุ่ยที่มีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออหนึ่งเสียง ซึ่งตรงกับเสียงปี่ใน ใช้ในวงปี่พาทย์ไม้นวมเป็นเครื่องนำแทนปี่
      ซึ่งอาจมีเสียงดังเกินไปใช้เล่นเพลงตับต่างๆแต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก
                 
      ขลุ่ยรองออเป็นขลุ่ยที่มีขนาดใหญ่กว่าและเสียงต่ำกว่าขลุ่ยเพียงออหนึ่งเสียงเสียงตรงกับเสียงปี่นอกต่ำอาจใช้ในวงมโหรีแทน
      ขลุ่ยเพียงออในกรณีที่ต้องการเสียงต่ำกว่าธรรมดา ปัจจุบันนี้ไม่ได้นำมาใช้เนื่องจากขาดคนเป่าที่มีความชำนาญ
                 
      ขลุ่ยอื่น ๆ ในระยะหลังในวงเครื่องสายได้นำเครื่องดนตรีตะวันตกเข้ามาเล่นร่วมด้วย เรียกว่าวงเครื่องสายผสม เช่น เปียโน ออร์แกน จึงมีผู้คิดทำขลุ่ยให้เข้ากับเสียงดนตรีเหล่านี้

       

      ทางของขลุ่ย

                  เป็นการยากที่จะอธิบายให้เข้าใจในเรื่องทางของขลุ่ย ผู้ศึกษาจะต้องปฏิบัติด้วยตนเองภายใต้การแนะนำของครู จึงจะมีความรู้สามารถ
      ปฏิบัติได้ถูกต้อง    ขลุ่ยเพียงออเมื่อใช้บรรเลงภายในวงบางครั้งจะมีการโหยหวนโดยยึดเนื้อฆ้องเป็นหลักบางครั้งก็เป่าเก็บบ้างซึ่งเข้ามาใกล้ทาง
      ของระนาดหรือซอด้วง แต่การที่จะเป่าแหบโหยจนเสียงสูงมากเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่ชำนาญพอเสียงจะเพี้ยนได้ง่าย และทำให้
      ้รกรุงรัง ฟังดูไม่ไพเราะ
                  
      สำหรับขลุ่ยหลิบนั้นเป็นเครื่องดนตรีพวกเครื่องนำในการบรรเลง   ต้องเป่าเก็บเป็นเครื่องใหญ่มีโหยหวนบ้างแต่น้อยกว่าขลุ่ยเพียงออ  
      และสามารถเป่าเสียงสูงได้     ในการบรรเลงแต่ละประเภทนั้น ทางของขลุ่ยจะต่างกันออกไป เช่น ในวงเครื่องสายปี่ชวาก็เป่าอย่างหนึ่ง วงปี่พาทย์ไม้นวม
      ก็เป่าอีกอย่างหนึ่ง    ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้จะเป่าขลุ่ยให้ได้ดีจะต้องศึกษาอย่างถ่องแท้จากครูผู้รู้  
                 
      ในปัจจุบันจะเห็นว่าผู้ที่เป่าขลุ่ย    หรือปี่ส่วนมากจะบรรเลงในวงอะไร หรือเครื่องดนตรีอะไรก็เป่าเป็นเครื่องดนตรีอย่างเดียวกันไปหมด ทำให้เสียงดนตรีด้อยคุณภาพลงไปมาก

      ลมและเสียง

                  ลมที่ใช้บังคับเสียงมีต้นกำเนิดมาจากลมภายในทรวงอก โดยใช้ผ่านลำคอแล้วอาจจะใช้อวัยวะภายในปากบังคบลม
      เช่น ลิ้น กระพุ้งแก้ม เป็นต้น ในที่นี้จะกล่าวถึงลม เสียงควบคู่กันไปดังนี้
                 
      ลมปลายลิ้น ใช้ปลายลิ้นบังคับลมให้เสียงขลุ่ยพริ้วแทนการพรมนิ้ว (การใช้นิ้วเปิดปิดสลับกันถี่ ๆ)
                 
      ลมปริบ ใช้ปลายลิ้นบังคับลมประกอบกับการใช้นิ้วเพื่อให้เกิดเสียงพิสดาร ใช้สอดแทรกเพื่อให้การดำเนินทำนองเกิดความไพเราะมากยิ่งขึ้น
                 
      ลมโปรย ใช้ลมและนิ้วบังคับทำให้เสียงขลุ่ยโรยจากหนักไปเบา หรือเบาไปหนัก ณ เสียงใดเสียงหนึ่ง
                 
      ลมแฝก เป็นการรวมสองเสียงเข้าด้วยกัน เช่น ถ้าต้องการเสียง มีก็เปิดนิ้วที่จะทำให้เกิดเสียง ฟาด้วยเล็กน้อย แต่ลมที่เป่า
      จะต้องใช้น้อยกว่าเสียง มี ธรรมดา ทำให้เกิดความไพเราะมากขึ้น หรือการทำให้เกิดครึ่งเสียงนั่นเอง เสียงของขลุ่ยไทยแต่ละเสียงจะห่างกันหนึ่งเสียง บางเสียงของขลุ่ยผู้เป่าสามารถเป่าเสียงครึ่งได้ เช่นเดียวกับเสียงครึ่งของดนตรีสากล อาจใช้ในเพลงเดี่ยว หรือเพลงหมู่ ทำให้เกิดความไพเราะมากขึ้น
                 
      ลมโหยหวน ใช้ลมและนิ้วบังคับทำให้เกิดเสียงต่อเนื่องระหว่างเสียง 2 เสียง ทั่วไปนิยมทำเสียงคู่สาม คู่ห้า อันเป็นคู่เสียงที่มีความกลมกลืน
      มากที่สุด ทำได้ทั้งจากต่ำไปหาสูงและจากสูงไปหาต่ำ จากต่ำไปหาสูงเรียกว่า โหยจากสูงไปหาต่ำเรียกว่า หวน
                 
      ลมกระพุ้งแก้ม ใช้กระพุ้งแก้มบังคับลมเข้าไปในขลุ่ย ใช้ในตอนระบายลม
                 
      เสียงครั่น เป็นการบังคับลมให้ออกมาเป็นช่วง ๆ ตามความถี่หรือห่างที่ต้องการทำให้เกิดเสียงคล้ายคลื่น สามารถทำได้ทุกเสียง
      ตามอารมณ์ของเพลง
                 
      เสียงเลียน เป็นการทำเสียงโดยใช้นิ้วต่างกัน แต่ให้เป็นเสียงเดียวซึ่งสามารถทำได้เกือบทุกเสียง ใช้เมื่อทำนองเพลงช่วงนั้นมีเสียงยาว ทำโดยเป่าเสียงจริงก่อน แล้วจึงเป่าเสียงเลียน และกลับมาเป่าเสียงจริงเมื่อหมดจังหวะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่านิ้วควง
                 
      การชะงักลม การบรรเลงเพลงบางช่วง ต้องมีการชะงักลม คือหยุดเล็กน้อยจะทำให้เกิดความไพเราะมากขึ้น

       

      การระบายลม

                  ผู้ที่จะเป่าขลุ่ยให้ได้ดีจะต้องระบายลมให้ได้ การระบายลมจะทำให้เสียงขลุ่ยไม่ขาดหายไป โดยเฉพาะในเพลงเดี่ยวมีความสำคัญมาก เพราะทำนองเพลงบางช่วงต้องการลักษณะเสียงที่ต่อเนื่อง ในสมัยโบราณการสอนระบายลม จะให้ผู้ฝึกหัดเป่าก้านมะละกอ ซึ่งปลายด้านหนึ่งอยู่ในน้ำแล้วสังเกตฟองอากาศที่ผุดขึ้นมาให้สม่ำเสมอ ในการฝึกหัดนี้อาจฝึกจากอุปกรณ์อย่างอื่นก็ได้เช่น หลอดกาแฟหรือขลุ่ยเลยก็ได้ แต่ต้องเลือกที่กินลมน้อย ๆ ก่อนเพื่อสะดวกในการระบายลม ได้แก่เสียงที่มีระดับต่ำ
              
      การระบายลม ทำได้ดังนี้   คือเมื่อเป่าขลุ่ยในระยะที่ลมในทรวงอกจะหมดให้รีบพองกระพุ้งแก้มออก   เพื่อเก็บลมแล้ว   ใช้กระพุ้งแก้มบังคับ ลมส่วนนี้เข้าไปในขลุ่ยเหมือนกับการบ้วนน้ำออกจากปาก พร้อมกับหายใจเข้าทางจมูกโดยเร็ว ก็ทำให้มีลมหมุนเวียนอยู่ภายในร่างกายตลอดไป
             
      การระบายลม การเลือกใช้ประเภทของลมและเสียงที่ถูกต้องในช่วงที่เหมาะสมของผู้เป่าขลุ่ย จะทำให้เสียงขลุ่ยไพเราะขึ้น
             
      ขลุ่ยก็มีข้อเสีย เหมือนดนตรีชนิดอื่น เนื่องจากขลุ่ยทำจากไม้ไผ่ โดยธรรมชาติขนาดไม่เท่ากัน การทำขาดความประณีต ทำให้ขลุ่ยที่ทำออกมา มีเสียงไม่เท่ากัน บางเลาสูงบางเลาต่ำ การนำมาใช้จึงต้องหาเลาที่มีเสียงเข้ากับระนาดหรือฆ้อง สำหรับขลุ่ยที่เพี้ยนนั้นถ้าเป็นน้อยอาจแก้ไขได้ โดยการตกแต่งขลุ่ย หรือใช้นิ้วและลมช่วยบังคับ แต่ทางที่ดีที่สุด คือ ควรเลือกขลุ่ยเลาที่ไม่เพี้ยนจะดีกว่า การแก้เสียงที่เพี้ยนในบางเสียง ถ้าตกแต่ง มากเกินไปอาจทำให้เสียงอื่นเสียไปด้วย

      การรักษาขลุ่ย

                  ขลุ่ยถ้าทิ้งไว้นาน ๆ จะแห้ง ดากจะหดตัวลง ทำให้เป่าเสียงไม่ใส การที่จะให้ขลุ่ยเสียงดี พระยาภูมีเสวินได้ให้คำแนะนำว่า ให้นำขลุ่ยแช่น้ำผึ้งให้ท่วมปากนกแก้ว น้ำผึ้งจะช่วยให้ขลุ่ยชุ่มอยู่เสมอและขยายตัว ไม่มีช่องที่ลมจะรั่วได้ หรืออีกวิธีหนึ่งทำโดย นำขลุ่ยไปแช่ในน้ำตาลสดหรือน้ำตาลเมาหลาย ๆ วัน จะทำให้เนื้อได้อยู่ตัว มอดไม่รบกวน นอกจากนี้ควรระวังด้านอื่น ๆ คืออย่าให้ถูกความร้อน
      นาน ๆ ไม่ควรเอาไม้หรือวัสดุอื่นแหย่เข้าไปใน ปากนกแก้ว เพราะอาจทำให้แง่ของดากภายในบิ่น เสียงจะเสียไปได

      ท่านั่ง การจับ ที่นั่ง

                  การเล่นเครื่องดนตรีของไทยทุกชนิด นักดนตรีต้องสำรวมกิริยามารยาท ปฎิบัติให้เรียบร้อยให้ความเคารพต่อครูบาอาจารย์
      เครื่องดนตรีผู้ฟัง ตลอดจนนักดนตรีด้วยกันเอง การนั่งเป่าขลุ่ยหรือปี่ ต้องนั่งตัวตรงเพื่อให้ลมเดินสะดวก ถ้านั่งกับพื้นควรนั่งพับเพียบ
                 
      การจับขลุ่ยหรือปี่นั้น แต่โบราณมาจะจับเอามือฃวาอยู่ข้างบนมือซ้าย ซึ่งสันนิษฐานว่าคนส่วนใหญ่ถนัดการใช้มือขวามากกว่ามือซ้าย การเป่าขลุ่ยหรือปี่ มือที่อยู่ด้านบนจะใช้มากกว่ามือที่อยู่ด้านล่าง ในการจับจึงควรจับมือขวาอยู่ด้านบน แต่ถ้าถนัดมือซ้ายก็ไม่ผิดแต่อย่างได้ แต่ก็ควรคำนึงถึงเอกลักษณ์ไว้บ้าง
                 
      สำหรับที่นั่งของขลุ่ยในการบรรเลงในวงนั้น ถ้าเป็นวงปี่พาทย์ไม้นวม ควรนั่งด้านขวาของฆ้องใหญ่ เพราะฆ้องใหญ่เป็นหลักของวง เครื่องดนตรีอื่นควรนั่งอยู่รอบ ๆ ถ้าเป็นวงอื่น เช่น วงเครื่องสาย ควรนั่งข้างซอด้วง วงมโหรีก็ควรนั่งข้างซอด้วงเข่นกัน แต่ถ้ามีขลุ่ยหลิบก็อาจ
      แยกกันได้ โดยปกติไม่ควรนั่งข้างซออู้ เพราะซออู้เสียงดัง สีตบหน้าตบหลัง ที่นั่งของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด จะมีอิทธิพลต่อเสียงรวมที่ออกมามาก ถ้านั่งที่ไม่เหมาะสมเสียงดนตรีรวมจะไม่ดีเท่าที่ควร    อีกประการหนึ่งการนั่งที่เป็นหลักแหล่งของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด จะทำให้ผู้ดูสามารถ
      รู้ว่าที่ตรงนั้น เป็นเครื่องดนตรีอะไร เพราะบางทีอยู่ไกลไม่สามารถมองเห็นเครื่องดนตรีที่เล่น
                 
      คุณครูเทียบ คงลายทอง ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกบนักดนตรีไทยรุ่นหลัง ๆ นี้ว่า การจะเป็นนักดนตรีที่ดีจะต้องมีผีมือและจรรยา
      ประกอบกันไป นักดนตรีปัจจุบันนี้ฝีมือสู้ในอดีตไม่ได้ต่างคนจะแข่งขันเอาความเก่งในการเล่น ไม่เอาความไพเราะ และส่วนมากยังขาดจรรยา ต่างวงมาพบกันเป็นต้องแสดงท่าเข้าหากันเสมอ เนื่องจากคิดว่าตัวเองเก่ง ต่อเพลงมาอย่างดีแล้ว ซึ่งนักดนตรีไทยเราไม่ควรคิดอย่างนั้นเลย เพราะแม้แต่คุณครูเทียบเอง ท่านยังกล่าว่าผมเองก็รู้ไม่หมดการศึกษาความรู้นั้นไม่มีใครที่จะรู้ได้สิ้นสุด ขอเพียงแต่ศึกษาอย่างถูกทาง ก็ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างอเนกอนันต์แล้ว


      บันลือ พงศ์ศิริ และ ปี๊บ คงลายทอง ผู้บันทึก

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×