ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    อนุบาลถ้ำหมีน้อย - หลักสูตรพื้นฐานสำหรับคน(หัด)เขียนนิยาย

    ลำดับตอนที่ #3 : คาบสอง - จากปมสู่พล็อตนิยาย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 149
      1
      23 ส.ค. 53


    ก่อนจะเข้าคาบที่สอง ผมขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านสองเรื่องคือ

    1. วิธีการสร้างพล็อตที่ผมแนะนำนั้นไม่ใช่วิธีการเขียนนิยายของผม
    (บอกแล้วว่าผมเขียนจากสัญชาตญาณ อิอิ)
    ที่ผมเขียนอย่างนี้ก็เพื่อให้เพื่อนๆ เห็นวิธีการแต่งนิยายอย่างเป็นระบบ
    เพราะถ้าจู่ๆ ผมเล่าวิธีการเขียนแบบที่ผมใช้อยู่ทันที
    ผมกลัวว่าเพื่อนๆ จะงงได้

    เมื่อจบหลักพื้นฐานแล้วผมจะอธิบายวิธีการแต่งนิยาย
    ตั้งแต่ต้นจนจบแบบที่ผมใช้อยู่จริงๆ ทีหลังนะครับ ^^

    2. ในกระทู้นี้ผมอธิบายหลักพื้นฐานในการแต่งนิยาย
    ซึ่งไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับ
    การแต่งนิยาย (น่าจะ) แทบทุกแนว

    เหมือนคนจะเล่นดนตรี ไม่ว่าจะเป็น ป๊อบ แจ๊ซ ร็อค หรือคลาสสิก
    ก็ต้องเริ่มเรียนจากทฤษฎีตัวโน้ต สเกล คอร์ด ซึ่งเป็นพื้นฐานเหมือนๆ กัน

    ใครที่ต้องการความแหวกแนว เทคนิกพิเศษ หรือหลักการแต่งนิยายเฉพาะแนวนั้น
    ผมอาจจะค่อยๆ เจาะให้เฉพาะแนวในภายหลัง

    ------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    3. ใช้ปมสร้างพล็อต


    เมื่อได้ "ปม" แล้วทีนี้เราก็จะผูกปมหลายๆ ปมเพื่อสร้างพล็อต

    ผมเห็นด้วยกับประโยคหนึ่งของคุณวินทร์ในหนังสือที่ชื่อ
    "ยาแก้สมองผูกตราควายบิน" เขากล่าวไว้ว่า

    "ไม่มีพล็อตใดในโลกใหม่อย่างแท้จริง
    ความใหม่นั้นเกิดจากวิวัฒนาการของความเก่า"


    ยกตัวอย่างเช่น ปมกว้างๆ อย่าง

    "คนแข็งแกร่งรังแกคนอ่อนแอ" หรือไม่ก็ "คนดีโดนรังแก"

    ในเทพนิยายกรีกนั้น เทพบิดรซุสเป็นคนเจ้าชู้
    เที่ยวจำแลงกายไปขืนใจผู้หญิงคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง
    (แม้แต่เฮร่าซึ่งเป็นพี่สาวแท้ๆ ของตน ซุสก็ใช้อุบายขืนใจเพื่อให้ได้มาเป็นพระชายา)
    แล้วเทพีเฮร่าก็เกิดลมเพชรหึง เที่ยวไล่สาป ไล่ฆ่าชู้รักของซุสเสมอๆ

    ผมอ่านแล้วก็มักรู้สึกว่าเทพเจ้ารังแกมนุษย์ชัดๆ เลย
    โดนซุสขืนใจแล้วยังโดนเมียซุสสาปซ้ำอีก อะไรมันจะซวยขนาดนั้น
    (ใครจะมองว่า ปมขัดแย้งหลักคือ ความเจ้าชู้มักสร้างปัญหา ก็ไม่ผิดนะครับ
    อย่างที่บอกว่าเรื่องเล่าแต่ละเรื่อง มีปมขัดแย้งได้มากกว่าหนึ่งปม)

    ทีนี้มาดูนิทานอมตะอย่าง ซินเดอเรล่า
    ก็จะเป็นเรื่องที่นาง(สาว)ซินฯ ถูกแม่เลี้ยงและพี่สาวรังแก
    จะต่างกับเทพนิยายกรีกตรงที่ สุดท้ายแล้วเธอได้รับความช่วยเหลือจากนางฟ้า
    และได้แต่งงานกับเจ้าชายในที่สุด

    จะเห็นได้ว่าในเทพนิยายกรีกกับซินเดอเรล่ามีปมแบบเดียวกัน
    ต่างกันแค่ว่าตอนจบเรื่องคลี่คลายไปทางใดเท่านั้นเอง

    การที่เรื่องคลี่คลายตรงที่นางซินฯได้พบกับความสุขในตอนจบ
    ในขณะที่แม่เลี้ยงและพี่สาวไม่สมหวังนั้น
    ทำให้คนอ่านทั้ง "ประทับใจ" "สมใจ" และ "สะใจ"
    และเป็นเหตุผลที่ทำให้นิทานประเภทนี้อยู่ในใจคนทุกยุคทุกสมัย

    (ลองนึกดูว่าถ้านางซินโดนรังแกตั้งแต่ต้นจนจบ
    และตายอย่างน่าอนาถ เหมือนพวกชู้รักของซุส
    ก็จะได้อารมณ์สะเทือนใจไปอีกแบบ
    แต่คงไม่มีใครเอามาอ่านให้เด็กฟังก่อนนอนหรอก!)

    ปมขัดแย้งเดียวกันนั้นเอง ก็มีอยู่ในเป็นนิยายบ้านเรา
    อย่าง "บ้านทรายทอง" ก็มีพจมาน (ที่ทั้งดีและแสนซื่อ)
    โดนคนในบ้านรังแก โขกสับสารพัด
    แต่ก็สู้ทนจนได้อยู่กับชายกลางอย่างมีความสุขตอนจบ

    หรือแม้แต่นิยายที่เอามาทำเป็นละคร และเพิ่งจบไปสดๆ ร้อนๆ
    อย่าง "เพียงใจที่ผูกพัน" ก็มี น้องมุก (เป็นคนดี๊คนดีคล้ายๆ พจมาน)
    ต่างกันตรงน้องมุกไม่ได้คอยแต่จะให้พระเอกปกป้อง
    เพราะเธอก็รู้จักสู้คนอยู่บ้าง

    หากมองเป็นปมขัดแย้งแล้วจะเห็นว่า
    ละครไทยนั้นใช้ปมขัดแย้งอยู่ไม่เกิน 2-3 รูปแบบเท่านั้นเอง
    ที่จะเปลี่ยนก็คือฉากหรือเซ็ตติ้ง เท่านั้นเอง

    โครงเรื่องหลักๆ ที่ชอบเขียนกันก็คือ

    1. พระเอกนางเอกรักกันแต่ถูกคนรอบข้างกีดกัน ต้องฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกัน
    เช่น "บ้านทรายทอง" "เพียงใจที่ผูกพัน"

    2. พระเอกนางเอกเกลียดกัน (จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) แล้วค่อยๆ รักกันทีหลัง
    (แนวนี้ส่วนใหญ่จะต้องมีผิดใจกันอีกสักครั้ง
    จากนั้นใครสักคนก็ต้องเข้าโรงพยาบาลแล้วอีกฝ่ายก็จะกลับมาเห็นใจ)

    3. อื่นๆ (นานๆ ทีอาจจะมีแหวกแนวบ้างเช่น "ลอดลายมังกร" ที่เป็นละครชีวิต ฯลฯ )

    ฉากอาจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสมัยนิยม
    นางเอกอาจจะเป็นลูกเศรษฐี ในขณะที่ครอบครัวพระเอกยากจน
    นางเอกอาจจะเป็นสาวชาวไร่ ส่วนพระเอกเป็นลูกคุณหนู
    ช่วงนี้ประเด็นทางการเมืองกำลังร้อนก็อาจจะแต่งให้แม่นางเอกเป็น สส. ฯลฯ

    คือฉากจะเป็นยังไงก็ได้ไม่สำคัญ
    เพราะพล็อตเดียวพี่ไทยเอาไปทำละครได้เป็นร้อยเรื่อง!


    4. ตัวอย่างการสร้างพล็อต


    อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว
    ปมๆ เดียวกัน หากเปลี่ยนตอนจบก็จะได้เรื่องที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

    ตัวอย่างเช่นปมที่ว่า "คนจนที่สู้ชีวิต" ก็จะได้เป็น

    1. "พระเอกยากจนแต่ขยันทำงานด้วยความซื่อสัตย์
    ในที่สุดก็สร้างเนื้อสร้างตัวเป็นมหาเศรษฐี"

    อันนี้น่าประทับใจและมีคติสอนใจด้วย เหมือนละครเรื่อง "ลอดลายมังกร"


    2. "พระเอกยากจนและต่อให้ขยันทำมาหากินอย่างซื่อสัตย์เท่าไร
    ก็ไม่ร่ำรวยเสียที ในขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ที่ฉ้อโกงกลับร่ำรวย
    ในที่สุดพระเอกป่วยและตายอย่างน่าอนาถ"

    อันนี้สะเทือนใจ ซ้ำยังเป็นการตอกย้ำความจริงด้านมืดของสังคม


    3. "พระเอกยากจนและขยันทำงานเท่าไรก็ไม่รวยซะที
    ในที่สุดเลยฉ้อโกง (เช่นขายยาเสพติด) จนร่ำรวย
    แต่แล้ววันหนึ่งก็พบว่าลูกชายตัวเองติดยาเสียอนาคต"

    ได้อารมณ์ไปอีกแบบ ทำนองกรรมติดจรวด แต่ยังไม่สะใจต้องเพิ่มอีกนิด เป็น...


    4. "พระเอกยากจนเลยหันไปขายเสพติดจนร่ำรวย
    วันหนึ่งลูกชายที่ติดยาคิดจะขโมยเงินไปซื้อยา
    แต่ถูกพระเอกจับได้เสียก่อนเลยเกิดทะเลาะกัน
    ในที่สุดลูกชายก็อาละวาดและฆ่าทุกคนในบ้านก่อนจะฆ่าตัวตายตาม..."

    ต้องแบบนี้สิ ถึงจะสะใจ!

    * * * * *

    นอกจากนี้ปมแบบเดียวกันยังสามารถใช้เขียนนิยายได้หลายแนวอีกด้วย

    อย่างครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยฝันว่ารักผู้หญิงคนหนึ่งมาก
    แต่แล้วก็ไปรู้ความจริงบางอย่างทำให้แค้นผู้หญิงคนนั้นมากพอๆ กัน
    ซึ่งความจริงที่ว่าคือเขาเป็นคนฆ่าแม่ไม่ก็พี่สาวที่เรารักมาก
    (ฝันเป็นตุเป็นตะเชียว อิอิ)

    ปมขัดแย้งก็คือ

    "พระเอกรักผู้หญิงคนหนึ่งมาก แต่ก็แค้นพอๆ กัน
    เพราะผู้หญิงคนนั้นทำให้คนที่เรารักตาย"


    (เป็นปมแบบที่สาม คือเน้นที่ความขัดแย้งภายในใจของตัวเอก)


    ถามว่าจะจะสร้างสถานการณ์ยังไงให้พระเอกต้องเผชิญกับ
    ปมขัดแย้งแบบนี้ได้บ้าง เรามาลองดูกัน...

    ถ้านำพล็อตนี้ไปแต่งเป็นนิยายแฟนตาซีก็จะได้ว่า

    "หมู่บ้านของพระเอกถูกมารตนหนึ่งทำลาย
    และมารตนนั้นฆ่าพี่สาวของพระเอกด้วย
    พระเอกเดินทางตามล่ามารตนนั้นจนมาพบเด็กสาวคนหนึ่ง
    พระเอกร่วมเดินทางกับเด็กสาวคนนั้นและทั้งคู่ก็ค่อยๆ มีใจให้กัน
    วันหนึ่งพระเอกก็มารู้ความจริงว่าเด็กสาวคนนั้นคือมารที่ฆ่าพี่สาวตน!"

    คิดว่าพระเอกจะทำยังไงต่อ...


    ... ... ...

    ถ้านำพล็อตนี้ไปแต่งเป็นแนวสืบสวนผสมไซไฟก็จะได้ว่า

    "พ่อแม่ของพระเอกเป็นนักวิทยาศาสตร์ทำงานให้กับองค์กรลับแห่งหนึ่ง
    วันหนึ่งทั้งคู่ก็หายตัวไปอย่างปริศนา ทิ้งไว้เพียงล็อคเกตให้พระเอกดูต่างหน้า

    วันหนึ่งพระเอกก็ตกหลุมรักหญิงสาวที่เป็นเพื่อนในมหาวิทยาลัย
    คำพูดบางอย่างที่ผู้หญิงคนนั้นพูดโดยบังเอิญ
    ทำให้พระเอกสะกิดใจเรื่องล็อคเกต เมื่อกลับไปดูก็พบว่า
    ในล็อคเกตนั้นซ่อนชิปที่เป็นข้อมูลผลิตอาวุธเชื้อโรคพร้อมสูตรวัคซีน

    พระเอกกับนางเอกต้องร่วมกับแกะรอยเพื่อสืบหาข้อเท็จจริง
    เกี่ยวกับการหายตัวไปของพ่อแม่พระเอก
    และพบว่าองค์กรลับนั้นเคยมีแผนจะทดลองอาวุธเชื้อโรคกับคนจริงๆ
    แต่ตอนนั้นพ่อแม่พระเอกพยายามคัดค้านจึงถูกฆ่าปิดปาก

    ในตอนนั้นเองพระเอกก็พบความจริงว่า
    นางเอกเป็นคนที่องค์กรลับส่งมาประกบพระเอก
    เพื่อสืบหาข้อมูลของอาวุธเชื้อโรคและวัคซีน
    ที่พ่อแม่พระเอกนำออกมาจากห้องทดลอง..."

    ถ้าคุณเป็นพระเอกจะรู้สึกยังไง...


    ... ... ...

    ถ้านำมาเขียนใหม่เป็นแนวละครไทยก็อาจจะได้ว่า

    "บริษัทของพ่อพระเอกถูกบริษัทคู่แข่งบีบให้ล้มละลาย
    พ่อฆ่าตัวตาย พระเอกต้องหาเงินส่งตัวเองเรียนพร้อมๆ กับ
    เลี้ยงแม่ที่เป็นบ้า (เพราะพ่อตายและบริษัทเจ๊ง)

    พระเอกพบรักกับนางเอกที่มหาวิทยาลัย
    แต่มารู้ทีหลังว่าพ่อนางเอกคือเจ้าของบริษัทคู่แข่ง
    การล้างแค้นอย่างเลือดเย็นจึงเริ่มขึ้น

    พระเอกแสร้งทำเป็นดีกับนางเอกต่อไป
    จนได้คบกันและกลั่นแกล้งนางเอกสารพัด (แนวตบจูบนั่นเอง)
    แต่แล้วความดีของนางเอกก็เอาชนะใจพระเอก

    แต่ก็ช้าไปนิดหนึ่ง เพราะนางเอกเกลียดพระเอกไปเรียบร้อยแล้ว
    คราวนี้พระเอกเลยต้องเป็นฝ่ายตามง้อนางเอก เพื่อพิสูจน์ตัวเองใหม่อีกรอบ"
    (ระหว่างนี้อาจจะใส่ตัวร้ายที่คอยตามตื๊อนางเอก...
    นางอิจฉาที่จ้องจะจับพระเอก หรืออุปสรรคอะไรเข้าไปก็ได้ให้มันบีบคั้นสุดๆ)

    เรื่องอาจหักมุมตรงที่ ความจริงแล้วพ่อพระเอกกับพ่อนางเอกเป็นเพื่อนกัน
    และพ่อนางเอกไม่ได้บีบให้บริษัทของพ่อพระเอกล้มละลาย
    วันที่พ่อพระเอกฆ่าตัวตายนั้น ที่จริงพ่อนางเอกมาพบเพื่อจะหยิบยื่นความช่วยเหลือ
    แต่พ่อพระเอกเป็นคนหยิ่งในศักดิ์ศรีจึงไม่ยอมรับความช่วยเหลือ
    (พระเอกไม่รู้ว่าทั้งสองคุยอะไรกันในวันนั้น เลยเข้าใจผิดคิดไปเอง)

    จากนั้นก็จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง... พระเอกนางเอกได้แต่งงานกันตามสไตล์ละครไทย


    ... ... ...

    ที่ยกมาทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวทางในการสร้าง "พล็อตนิยาย" จาก "ปมเล็กๆ" โดยสังเขป
    คาบต่อไปผู้เขียนจะพูดถึงการดำเนินเรื่อง และจังหวะในการเล่าเรื่องครับ ^^

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×