ลำดับตอนที่ #2
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : อุบัติเหตุทางรังสี
อุบัติเหตุทางรังสี
การปฏิบัติเกี่ยวกับรังสีนั้นแม้จะมีการเตรียมการที่ดีมีความพร้อมในด้านสถานที่ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ/อุปกรณ์เหมาะสม บุคลากรได้รับการฝึกอบรมเป็นอย่างดี ทั้งทางด้านการใช้ประโยชน์ จากรังสีตามลักษณะของงานนั้น และการเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากรังสีที่เหมาะสม รวมทั้งมีมาตรการแนวปฏิบัติงานเป็นไปตามมาตรฐานครบถ้วนก็ตาม บางครั้งก้อาจเกิดเหตุสุดวิสัยซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้องได้
อุบัติเหตุทางรังสี หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายเกี่ยวข้องกับรังสี ต้นกำเนิดรังสีอันเป็นผลให้ไม่สามารถควบคุมต้นกำเนิดรังสี ปริมาณรังสีให้อยู่ในระดับที่กำหนดได้และอาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ปฏิบัติงาน ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ
ปัจจุบันการใช้สารกัมมันตรังสี(ต่อไปจะเรียกสั้นๆว่า สารรังสี) ในประเทศ ทั้งเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เกษตรกรรมและการศึกษาวิจัยต่างๆนั้น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางรังสีได้สืบเนื่องจากสาเหตุโดยสรุป 3 ลักษณะ ได้แก่
? สารรังสีสูญหาย ถูกโจรกรรมหรือทิ้งไว้โดยปราศจากการควบคุมดูแล เช่น สารรังสีที่ใช้ในงานถ่ายภาพด้วยรังสีเกิดหายไปจากที่เก็บ หรือนำสารรังสีที่เลิกใช้แล้วไปเก็บไว้ในที่ซึ่งไม่มีมาตรการป้องกันอันตรายจากรังสี
? สารรังสีขาดเครื่องกำบังรังสี เกิดการค้างหรือหลุดออกมาจากเครื่องกำบังรังสี เนื่องจากเหตุขัดข้องขณะปฏิบัติงาน เช่นการค้างของสารรังสีที่ใช้ในงานถ่ายภาพด้วยรังสี ไม่สามารถนำลงคืนภาชนะเก็บซึ่งกำบังรังสีได้
? สารรังสีแพร่กระจายออกจากที่เก็บหรือบริเวณที่ควบคุม เช่น เกิดการรั่วของสารรังสีขณะปฏิบัติงาน หรือมีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถอดชิ้นส่วนหรือเครื่องมือ ซึ่งสารรังสีบรรจุอยู่ ทำให้สารรังสีแพร่กระจายออกไป
ภาวะฉุกเฉินทางรังสีและระดับของความร้ายแรง
อุบัติเหตุทางรังสีแม้ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุเดียวกันแต่ความร้ายแรงของสถานการณ์อาจต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่นสภาพเหตุการณ์ คุณสมบัติของสารรังสีการดำเนินการแก้ไขสถานการณ์และอื่นๆเป็นต้น บางครั้งความรุนแรงอาจขยายขอบเขตกว้างออกไปจนอยู่ในระดับที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้ สถานการณ์ดังกล่าวนี้ เรียกว่า “ภาวะฉุกเฉินทางรังสี”
? ภาวะฉุกเฉินทางรังสีระดับ 1 สถานการณ์มีขอบเขตอยู่ภายในห้องทดลอง ห้องปฏิบัติการหรือภายในอาคารหนึ่งอาคารใด
? ภาวะฉุกเฉินทางรังสีระดับ 2 สถานการณ์ขยายขอบเขตออกไปทั่วโรงงาน สถาบันการศึกษาวิจัย หรือโรงพยาบาลที่เกิดอุบัติเหตุทางรังสี
? ภาวะฉุกเฉินทางรังสีระดับ 3 สถานการณ์อาจมีผลกระทบต่อสถานที่ข้างเคียง
? ภาวะฉุกเฉินทางรังสีระดับ 4 สถานการณ์มีผลกระทบต่อประเทศข้างเคียง
หลักการปฏิบัติภาวะฉุกเฉินทางรังสี
การดำเนินการต่างๆในภาวะฉุกเฉินทางรังสี มีเป้าหมายที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติตามสาเหตุของอุบัติเหตุทางรังสีที่เกิดขึ้น แต่อาจมีมาตรการและแนวการปฏิบัติงานในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะฉุกเฉินทางรังสีนั้นๆ
? เป้าหมายการแก้ไขสถานการณ์ในแต่ละอุบัติเหตุ
1. ต้องค้นหาสารรังสีให้พบ
2. นำกลับไปเก็บไว้ในที่เก็บ ซึ่งมีความปลอดภัยทางรังสี หรือย้ายสถานที่เก็บไปยังที่ซึ่งมีมาตรการควบคุม/ป้องกันอันตรายจากรังสีอย่างรัดกุม
3. การปฏิบัติการทั้งหมดจะต้องควบคุมให้ได้รับปริมาณรังสีต่ำที่สุดเท่าที่สมควรจะยอมให้รับได้
4. หากมีผู้ประสบอุบัติเหตุ จำเป็นต้องประเมินระดับปริมาณรังสีที่ผู้ประสบเหตุได้รับ เพื่อให้การรักษาพยาบาลได้ถูกวิธี
อุบัติเหตุเกิดจากการที่รังสีขาดเครื่องกำบังรังสี เกิดการค้างหรือหลุดออกมาจากเครื่องกำบังรังสี
สร้างเครื่องกำบังรังสีใหม่ หรือนำสารรังสีเข้าเก็บไว้ในเครื่องกำบังรังสีที่มีอยู่ การปฏิบัติงานทั้งหมดต้องควบคุมให้ได้รับปริมาณรังสีต่ำที่สุด เท่าที่สมควรจะยอมให้รับได้ หากมีผู้ประสบเหตุ จำเป็นต้องประเมินระดับปริมาณรังสีที่ผู้ประสบเหตุได้รับ เพื่อให้การรักษาพยาบาล ได้ถูกวิธี
ต้องขจัดความเปรอะเปื้อนรังสีให้แก่บุคคล เครื่องมือ และสถานที่ซึ่งมีการเปรอะเปื้อนรังสี รวบรวมเก็บ และกำจัดกากกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นการปฏิบัติงานทั้งหมด ต้องควบคุมให้ได้รับปริมาณรังสีต่ำที่สุดเท่าที่สมควรจะยอมให้รับได้ หากมีผู้ประสพเหตุ จำเป็นต้องประเมินระดับปริมาณรังสีที่ผู้ประสบเหตุได้รับ เพื่อให้การรักษาพยาบาลได้ถูกวิธี
หน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ
หน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานภาวะฉุกเฉินทางรังสี ได้แก่หน่วยงานที่ใช้สารรังสีจนเกิดภาวะฉุกเฉินทางรังสี หน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับท้องถิ่น เช่นตำรวจ หน่วยดับเพลิง โรงพยาบาล หน่วยงานฝ่ายปกครอง เป็นต้น และสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานจะมีส่วนร่วมในการปฏิบัติมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและขอบเขตของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และในบางกรณีอาจมีความรุนแรงจนกระทั่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานระดับชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง
? หน่วยงานที่ใช้สารกัมมันตรังสีมีหน้าที่รับผิดชอบเป็นอันดับแรก ในการควบคุมการใช้สารกัมมันตรังสีให้เป็นไปอย่างปลอดภัย โดยการออกกฎระเบียบและแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความปลอดภัยทางรังสี และมีความเสี่ยงภัยต่อการเกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด
? หน่วยงานที่ใช้สารกัมมันตรังสี ควรวางแนวปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยของสารกัมมันตรังสีที่ครอบครองอยู่แนวปฏิบัติในการตรวจระวังอุบัติเหตุ ซึ่งคาดว่าอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้และแนวปฏิบัติในการแจ้งเหตุเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ทันท่วงที
? หน่วยงานที่ใช้สารกัมมันตรังสี ควรมีแผนฉุกเฉินทางรังสีในการใช้สารกัมมันตรังสีที่ครอบครองอยู่ทั้งหมด โดยให้มีขอบเขตครอบคลุมอุบัติเหตุต่างๆซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงแนวทางการประเมินและการแก้ไขสถานการณ์ตลอดจนมาตรการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก
? หน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับท้องถิ่นมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันอันตรายให้กับประชาชน ได้แก่ การดับเพลิง การรักษาพยาบาล การป้องกันประชาชนไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ อันตราย การให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานค้นหาสารกัมมันตรังสีที่เกิดสูญหายช่วยเหลือในการปฏิบัติงานควบคุมการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสี รวมทั้งการแถลงข่าวตอบข้อซักถามให้ประชาชนและสื่อมวลชนทราบ
สืบค้นจาก http://www2.egat.co.th/ (วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551)
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น