เส้นทางสู่ฝันฟิสิกส์โอลิมปิกและสิทธิประโยชน์อีกมากมาย!!
เส้นทางสู่ฟิสิกส์โอลิมปิก จากทีมงาน Superposition อันประกอบด้วย นักเรียนโอลิมปิกเหรียญทอง,นักเรียนทุนญี่ปุ่น,นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง,วิศวะจุฬา,แพทย์จุฬาและแพทย์ศิริราช เพื่อน้องๆทุกคนโดยเฉพาะ : )
ผู้เข้าชมรวม
1,643
ผู้เข้าชมเดือนนี้
3
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
เส้นทางฟิสิกส์โอลิมปิกเนี่ย ก็เริ่มต้นเหมือนของวิชาอื่นๆครับ คือเริ่มจากค่าย สอวน. ซึ่งมีสองค่ายด้วยกัน สอวน.นี่จะมีศูนย์กระจายอยู่ทั่วประเทศนะครับ น้องๆลองสอบถามอาจารย์ที่ รร ว่าของเราเข้าที่ศูนย์ไหน ตอนแรกน้องๆจะต้องสอบคัดเลือกเพื่อเข้า สอวน. รอบแรกให้ได้ก่อนซึ่งจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนตุลา หรือราวๆช่วงปิดกลางภาค หลังจากนั้นจะมีการสอบปลายค่าย ถ้าผ่านก็เข้าค่ายสองคือประมาณช่วงเดือนมีนา หรือช่วงปิดเทอมใหญ่ จบค่ายจะมีการคัดผู้แทนศูนย์จำนวน 6 คน ไปแข่ง สอวน. ระดับชาติ คือจะแข่งกันทั้งประเทศเลย หลังการแข่งจะมีการมอบรางวัลเหรียญทอง เงิน ทองแดง เค้าจะคัดประมาณ 25 คนแรกไปเข้าค่าย สสวท. ซึ่งมี 2 ค่ายเช่นกัน ค่ายแรกเข้าประมาณเดือนตุลา หรือิดกลางภาค พอสอบปลายค่ายจะคัดประมาณ 15 คนเข้าค่ายสอง ซึ่งจัดประมาณธันวาถึงมกรา ช่วงนี้ต้องขาดเรียนนะครับ พอจบค่ายของฟิสิกส์นี่จะแปลกกว่าวิชาอื่น คือจะคัด 8 คนไปแข่งฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ก่อนแข่งจะมีการอบรมเตรียมความพร้อมที่ สสวท.อีกเช่นกัน ช่วงประมาณเดือนมีนา การแข่งจัดประมาณเดือนเมษา เค้าจะคัดคนที่ได้คะแนนดีสูงสุดห้าคนจากแปดคนในการแข่งขันครั้งนี้ไปเป็นตัว แทนประเทศแข่งฟิสิกส์โอลิมปิกเลย ก่อนแข่ง สสวท. จะจัดค่ายเตรียมความพร้อมอีก คือประมาณช่วงพฤษภา ไปจนแข่งคือราวๆกรกฎาครับ
จากที่อ่านมาคงเห็นว่าเส้นทางมันดูยาวไกลและยากลำบากมากใช่ไหมครับ เพราะต้องใช้เวลาราวๆสองปี แถมระหว่างทาง ยังมีการสอบเพื่อคัดคนออกเรื่อยๆ แต่ต่อไปนี้ก็เป็นคำแนะนำสำหรับแต่ละค่าย เพื่อให้คนที่สนใจได้เตรียมตัว เวลาไปเข้าค่ายจริงๆ จะได่ใช้โอกาสอย่างคุ้มค่านะครับ
ค่ายสอวน. ค่ายหนึ่ง
ค่ายนี้เป็นค่ายเตรียมความรู้พื้นฐานของวิชาฟิสิกส์ เนื้อหาจะไม่ยากมาก สิ่งที่ควรทำคือ ตั้งใจเก็บความรู้ในค่ายให้มากที่สุด และทำให้แน่ใจว่าเข้าใจ concept ต่างๆ ของฟิสิกส์อย่างถูกต้อง เพราะมันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนต่อไป
หนังสือที่ควรอ่านประกอบนอกจากเอกสารในค่ายแล้ว น่าจะเป็นพวก university physics ที่ใช้ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เช่น university physics with modern physics ของ Huge Young
ค่ายสอวน. ค่ายสอง
ค่ายนี้เนื้อหาจะเข้มข้นกว่าค่ายแรก อาจมีบางเนื้อหาที่สอนเพิ่มจากค่ายแรก หนังสือเดิมยังใช้ได้
ค่ายสสวท. ค่ายหนึ่ง
ค่ายนี้การเรียนในห้องสำคัญมาก เพราะข้อสอบปลายค่ายจะออกตามสิ่งที่อาจารย์สอนเป็นหลัก หนังสือที่ควรอ่านเพิ่มคือ ตำรา สอวน. วิชาฟิสิกส์ ซึ่งมีสามเล่ม คือ กลศาสตร์ อุณหพลศาสตร์ ไฟฟ้าแม่เหล็ก
ปล. ถึงแม้จะเป็นตำรา สอวน. แต่เนื้อหาจะยากกว่า สอวน. มาก จึงเหมาะสำหรับค่าย สสวท. มากกว่า แต่สามารถใช้อ่านเสริมตอนค่าย สอวน. ได้
ค่ายสสวท. ค่ายสอง
ค่ายนี้เนื้อหาจะยิ่งยากขึ้นไปอีก ควรสนใจไปที่เนื้อหาที่อาจารย์สอนให้มากๆ ประกอบกับควรเริ่มฝึกทำข้อสอบ IPhO ย้อนหลัง เพราะข้อสอบปีแรกๆจะยังไม่ยากมาก
ค่ายเตรียมแข่ง APhO และ IPhO
ค่ายเตรียมแข่งขันควรฝึกทำข้อสอบเยอะๆ และที่สำคัญควรจับเวลาด้วย ฝึกการเขียนให้คล่องๆ ประกอบกับฝึกทำ lab ให้แม่นยำโดยให้อาจารย์ช่วยดูให้ส่ามีจุดบกพร่องตรงไหน
หลักสำคัญคือ ต้องตั้งใจเรียนในค่ายให้ดีที่สุด พยายามถามถ้าสงสัย เข้าใจ concept ให้ถ่องแท้ และมีความพยายามฝึกฝนเสมอๆ ก็จะช่วยให้สำเร็จในฟิสิกส์โอลิมปิกได้
เพิ่มเติมน้าครับ
สำหรับน้องๆที่ได้ สอวน.รอบที่ 2 จะมีโควต้าเพิ่มเติมในการสอบเข้าแบบพิเศษของ
คณะวิศวะเกษตร มจธ. และลาดกระบังด้วยครับ [จริงๆมีอีกหลายมหาวิทยาลัยครับ ต้องรอดูประกาศครับ] : )))
สำหรับน้องๆที่ได้ สสวท.รอบที่ 1 ขึ้นไป จะมีโควต้าเพิ่มเติมในการสอบเข้าแบบพิเศษของ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ : )))
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประตูลับที่เด็กโอลิมปิกใช้กันครับ ซึ่งมันอาจจะทำให้น้องๆมีที่เรียนตั้งแต่ ม.2 ม.3 เลยก็ได้ครับ ^_^
นาย ชยากร พงษ์ศิริ
นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง, เหรียญทองฟิสิกส์โอลิมปิกนานาชาติ และ เหรียญเงินฟิสิกส์โอลิมปิกทวีปเอเชีย
ทีมงาม Superposition(www.facebook.com/superpositionteam)
ผลงานอื่นๆ ของ superpositionteam ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ superpositionteam
ความคิดเห็น