ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #9 : การต่อสู้ทางชนชั้นในสังคมไทย

    • อัปเดตล่าสุด 24 ม.ค. 50


    หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
    16 มีนาคม พ.ศ. 2549


    คอลัมน์ มองมุมใหม่
    ดร. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
    Pichit@econ.tu.ac.th

    การต่อสู้ทางชนชั้นในสังคมไทย
    ความขัดแย้งครั้งใหญ่ในสังคมไทยขณะนี้ นอกจากจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลที่ต้องการปฏิรูปสังคมไทยตามแนวทางทุนนิยมโลกาภิวัตน์ กับกลุ่มแนวร่วมต่อต้านโลกาภิวัตน์แล้ว ยังมีมิติทางชนชั้นอันแหลมคมคือ เป็นการต่อสู้ครั้งสำคัญระหว่างชนชั้นล่างในเมืองและชนบทที่สนับสนุนผู้นำรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตยกับชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมือง ที่ต้องการขับไล่ผู้นำรัฐบาลและฉีกรัฐธรรมนูญ

    ชนชั้นล่างในเมืองและชนบทประกอบด้วย ประชาชนระดับรากหญ้าที่ตั้งแต่เกิดจนตายมีชีวิตยากจน ลำบากยากแค้น ไม่แน่นอน ไม่มีการศึกษา ขาดเงินทุน มีแต่หนี้สินและโรคภัยไข้เจ็บ ยาเสพติดในละแวกบ้าน อิทธิพลเถื่อนในพื้นที่ การข่มเหงรังแกของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากผู้ใด ไม่มีปากมีเสียง ถูกละเลยผ่านพ้นรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย

    พวกเขามีข้อได้เปรียบเพียงประการเดียวคือ มีจำนวนคนมากนับสิบล้านคนทั่วประเทศและระบบการเมืองที่พอจะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีปากมีเสียงบ้างก็คือ ระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นระบอบที่ทุกคนมี "หนึ่งเสียงเท่ากัน" ไม่ว่ายากดีมีจน การศึกษาสูงหรือต่ำ และยังเป็นระบบเดียวที่ทำให้พวกเขาพอจะส่งอิทธิพลไปยังนักการเมืองได้บ้าง

    พวกเขาสนับสนุนผู้นำรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง ก็เพราะนี่เป็นรัฐบาลแรกที่หยิบยื่นผลประโยชน์รูปธรรมเฉพาะหน้าให้กับพวกเขาได้จริงผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ เช่น หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ พักชำระหนี้ กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค บ้านเอื้ออาทร หมู่บ้านเอสเอ็มแอล ขจัดปัญหายาเสพติด ลดอิทธิพลเถื่อนในพื้นที่ แปลงหนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบ ฯลฯ

    ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองไม่เคยเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เพราะพวกเขาไม่ต้องเผชิญกับปัญหาสารพัดที่ชนชั้นล่างต้องประสบตลอดชีวิต ชนชั้นกลางมีเงิน การศึกษา ตำแหน่งงาน บ้าน รถยนต์ มีช่องทางเข้าถึงเงินทุนและเงินกู้ในระบบ เจ็บป่วยก็มีเงินรักษา ไม่มีปัญหายาเสพติดในละแวกบ้าน ไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐและอำนาจเถื่อนรังแก ไม่ต้องพึ่งรัฐบาลและนักการเมืองท้องถิ่น พวกเขาจึงมองชนชั้นล่างอย่างดูถูกดูแคลน ว่า "ถูกซื้อ" โดยรัฐบาล

    พวกเขาต้องการโค่นล้มผู้นำรัฐบาลและเรียกร้อง "รัฐบาลพระราชทาน" ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งก็เพราะในระยะเวลา 5 ปีมานี้ พวกเขาได้สูญเสีย "สวรรค์ของอภิสิทธิ์ชน" ของตนไปเรื่อยๆ

    กลุ่มทุนเก่าที่ผูกขาดระบบเศรษฐกิจไทยมาหลายสิบปี กำลังสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไปอย่างรวดเร็ว เพราะการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนของรัฐบาล พวกเขาจึงต้องโค่นล้มรัฐบาลเพื่อยุตินโยบายดังกล่าว และฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยถอยหลังไปสู่ระบบทุนนิยมอุปถัมภ์ดังเดิม

    ผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจต้องการขับไล่รัฐบาล เพราะสูญเสียประโยชน์และสถานภาพจากการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทมหาชน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ต่อต้านทุนนิยมต้องการโค่นล้มรัฐบาล เพราะปฏิเสธการพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันสมัย ปฏิเสธการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ต้องการฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยถอยหลังไปเป็นสังคมเกษตรกรรมหมู่บ้านบุพกาลตามลัทธิชุมชนอนาธิปไตยของพวกตน

    ข้าราชการเทคโนแครตไม่ต้องการรัฐบาลและรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะทำให้พวกเขาสูญเสียอำนาจ เกียรติภูมิและสถานภาพ จากเดิมที่เป็นผู้บริหารประเทศตัวจริงและมีอิทธิพลเหนือรัฐมนตรี นักการเมือง แต่วันนี้ พวกเขาเป็นเพียงคนรับคำสั่งของนักการเมือง

    กลุ่มก๊วนการเมืองต้องการฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะทำให้พวกตนไม่มีอำนาจต่อรอง ต้องผูกติดกับระบบพรรค ไม่สามารถข่มขู่รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีให้แบ่งปันผลประโยชน์แก่พวกตนได้เหมือนในอดีต

    นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ราษฎรอาวุโสแม้จะเกลียดชังความไม่โปร่งใสในทรัพย์สินของผู้นำรัฐบาล แต่ภูมิหลังคือ พวกเขาเป็นอนุรักษ์นิยม ไม่ต้องการโลกาภิวัฒน์ แล้วยังสูญเสียสถานภาพและความน่าเชื่อถือตลอด 5 ปีมานี้ เพราะรัฐบาลไทยรักไทยเป็นรัฐบาลที่ไม่สนใจนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่ให้คุณค่าความสำคัญแก่ราษฎรอาวุโส อีกทั้งยังคอยกล่าวตอบโต้รุนแรงอยู่เสมอ

    นักวิชาการและราษฎรอาวุโสเหล่านี้ปากพูดว่า "ต้องการประชาธิปไตย" แต่วันนี้ กำลังเรียกร้อง "รัฐบาลพระราชทาน" ให้ฉีกรัฐธรรมนูญ เอาระบบจารีตนิยมเข้ามากุมอำนาจรัฐ บางคนเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ฝ่ายทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจ เอาเผด็จการทหารกลับคืนมา ทั้งหมดนี้เพื่อโค่นล้มผู้นำรัฐาลเพียงคนเดียว ที่น่าสังเวชคือ นักวิชาการเหล่านี้บางคนปากอ้างมาตลอดชีวิตว่า เป็นทายาททางคุณธรรมของนายป๋วย อึ้งภากรณ์

    แม้แต่อดีตฝ่ายซ้ายและนักต่อสู้กับเผด็จการทหารในอดีต มาวันนี้กลับขึ้นเวทีร้องเพลงเพื่อชีวิต วิงวอนร้องขอ "รัฐบาลพระราชทาน" ให้ฉีกรัฐธรรมนูญ ฟื้นระบอบจารีตนิยม

    แม้เฉพาะหน้าจะเป็นประเด็นความไม่โปร่งใสของผู้นำรัฐบาล แต่พื้นฐานความขัดแย้งคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้และผู้นำรัฐบาลทำให้ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองสูญเสียประโยชน์และสถานภาพอภิสิทธิ์ ทำให้ชนชั้นล่างทั้งในมืองและชนบทได้มีสิทธิมีเสียงทัดเทียมกัน

    แม้คำขวัญเบื้องหน้าคือ "กู้ชาติ" "ปฏิรูปการเมือง" และชื่อกลุ่มลงท้ายด้วยคำว่า "เพื่อประชาธิปไตย" แต่เนื้อแท้คือ ต้องการฉีกรัฐธรรมนูญและทำลายระบอบประชาธิปไตยที่แบ่งอำนาจให้กับชนชั้นล่างมากเกินไป และเปิดช่องให้มีการปฏิรูปทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ฉะนั้นวาระของพวกเขาจึงเป็นปฏิกิริยาและถอยหลังเข้าคลอง

    สิ่งที่ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองต้องการไม่ใช่ประชาธิปไตย ที่"หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน" แต่เป็นระบอบคณาธิปไตยที่ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองมีอำนาจอภิสิทธิ์ และมีเสียงเหนือชนชั้นล่าง เป็นระบอบที่คนส่วนน้อยในเมืองจำนวนหนึ่งมีเสียงเหนือกว่า สามารถ "สั่ง" และขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนเสียงข้างมากของประชาชนชั้นล่างนับสิบล้านคนได้

    ประชาธิปไตยไทย จึงไม่มีวันเป็น "ประชาธิปไตย" ไปได้ เป็นได้แค่คณาธิปไตยจารีตนิยม
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×