ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมบทความการเมือง

    ลำดับตอนที่ #10 : 16 ล้านเสียงที่โง่เง่าและหิวเงิน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.39K
      1
      24 ม.ค. 50

    มองมุมใหม่ : 16 ล้านเสียงที่ "โง่เง่า" และ "หิวเงิน"?

    19 กรกฎาคม 2549 16:48 น.
    รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


    ในการเสวนาทางวิชาการ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา เลขาธิการประธานศาลฎีกาได้กล่าวข้อความ ซึ่งรายงานโดยสื่อมวลชนมีเนื้อหาทำนองว่า "แต่เราขอถามที่มาของผู้ทรงอำนาจรัฐ 16 ล้านเสียง แค่คูณด้วยเสียงละพัน มันก็เป็นเงินแค่ 16,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง เป็นเศษเงินของฐานทุนที่กุมอำนาจรัฐ เป็นสภาวะที่บกพร่องอยู่ในรัฐบริวารไม่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เกิดกับประเทศที่เป็นรัฐบริวารที่ลอกเลียนแบบมหาอำนาจ"

    ข้อความนี้สอดคล้องกับการแถลงข่าวก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า "ราชนิกุล" ซึ่งแถลงเป็นทำนองว่า คนยากคนจนเกษตรกรไม่มีการศึกษา ไม่มีข่าวสารข้อมูลเท่ากับคนมีการศึกษาในเมือง จึงไปเลือกตั้งเพื่อเงินนัยหนึ่ง รัฐบาลไทยรักไทยชนะเลือกตั้งมาจะกี่ล้านเสียงก็แล้วแต่ เป็นไปได้ว่า เสียงเหล่านั้นมาจาก "ความโง่" "เห็นแก่เงิน" และ "ขายเสียง" ของผู้ที่ลงคะแนน

    นี่ก็เป็นความเชื่อในหมู่ชนชั้นกลางในเมืองส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยบางกลุ่ม ซึ่งหยิ่งผยองว่า พวกตนมีการศึกษาสูงที่สุดในประเทศไทย จึงมีสิทธิไปชี้นิ้วตัดสินคนอื่นว่า "โง่ ไม่มีการศึกษา" "ขาดจริยธรรมและความชอบธรรม" ได้

    แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคน ก็ยังเชื่อในลักษณะเดียวกัน ทั้งๆ ที่เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่มีพื้นฐานแนวคิดที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดในบรรดาสังคมศาสตร์ทั้งหลาย เพราะทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันส่วนใหญ่ยืนอยู่บนข้อสมมติว่า มนุษย์มีพฤติกรรมที่สมเหตุสมผลและชาญฉลาด หมายความว่า เมื่อเราจะตัดสินใจกระทำการใดๆ เราย่อมชั่งน้ำหนักผลได้และผลเสียของการกระทำนั้น รวมทั้งศึกษาข่าวสารข้อมูลเท่าที่มีอยู่ เพื่อประกอบการตัดสินใจ

    เศรษฐศาสตร์ยอมรับว่า มนุษย์แต่ละคนไม่สมบูรณ์ ตัดสินใจผิดพลาดได้ แต่ก็มีกฎทางคณิตศาสตร์ที่กล่าวว่า เมื่อส่วนย่อยรวมกันขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ความผิดพลาดในส่วนย่อยจะชดเชยหักล้างกันเอง และลดน้อยลงในระดับส่วนใหญ่

    ในระดับปัจเจกชนแต่ละคน เขาอาจตัดสินใจผิดพลาดหรือถูกหลอกได้เป็นบางครั้ง แต่ในการตัดสินใจจำนวนมาก เขาจะตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผลและชาญฉลาด เช่น เขาอาจซื้อสินค้าแพงเกินไปในบางครั้ง ขับรถผิดเส้นทางในบางเวลา แต่โดยรวมแล้ว เขาซื้อสินค้าส่วนมากในราคาที่เหมาะสม และขับรถถูกเส้นทาง ประหยัดเวลาและพลังงานได้เป็นส่วนใหญ่

    เกษตรกรชาวไร่ชาวนาแม้การศึกษาน้อย อาจตัดสินใจผลิตพืชผลผิดพลาด ขาดทุนเป็นบางครั้ง แต่ก็สามารถตัดสินใจผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้เป็นส่วนใหญ่ ในการเลือกตั้ง เขาก็ไม่ต่างจากคนมีการศึกษาในเมืองคือ ชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว รวมทั้งผลได้จากนโยบายจริงของพรรคการเมืองและของผู้สมัครก่อนตัดสินใจลงคะแนน

    ในระดับกลุ่มคนหรือองค์กร สมาชิกบางคนในกลุ่มอาจตัดสินใจพลาดได้ แต่เมื่อรวมเป็นกลุ่มแล้ว ความผิดพลาดในด้านต่างๆ ของสมาชิกจะชดเชยหักล้างกันเอง ทำให้กลุ่มหรือองค์กรสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผลและถูกต้องเป็นส่วนใหญ่

    ด้วยเหตุนี้ ระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด จึงเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะแม้ว่าแต่ละคนจะแตกต่างกันมาก ความคิดหลากหลายและอาจตัดสินใจผิดพลาดในลักษณะต่างๆ แต่เมื่อรวมกันเป็นหมู่ใหญ่ มีการแลกเปลี่ยนอภิปรายอย่างเปิดกว้าง การตัดสินใจร่วมกันส่วนใหญ่ ก็จะเป็นไปอย่างมีเหตุมีผลและชาญฉลาด

    แต่เสียงข้างมากก็อาจผิดพลาดได้ในบางครั้ง ประชาธิปไตยจึงต้องให้การคุ้มครองสิทธิของเสียงข้างน้อยในการคิด พูดและแสดงออกอย่างเต็มที่ ให้เสียงข้างมากได้ซึมซับข้อมูลจนรู้ว่า ได้ตัดสินใจผิดแล้วแก้ไข นี่คือหนทางเดียวที่จะแก้ไขความผิดพลาดของเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย หากเสียงข้างน้อยหันไปใช้วิธีรุนแรงข่มขู่ หรือวิธีการนอกกฎหมายมาบังคับเสียงข้างมาก ก็เท่ากับทำลายประชาธิปไตย

    ความเชื่อที่ว่า พวกตนจำนวนน้อยเท่านั้น ที่ "ชาญฉลาดมีจริยธรรม" ขณะที่คนส่วนมาก "โง่เง่าเลวทราม" จึงเป็นฐานความคิดที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประชาธิปไตยและการปกครองด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความคิดเช่นนี้มีตรรกะที่นำไปสู่ระบอบเผด็จการในที่สุด เพราะเมื่อคนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ "ชาญฉลาด" ในกลุ่มคนดังกล่าวก็จะต้องมีบางคนที่ "ชาญฉลาด" กว่าคนอื่นๆ ในกลุ่มอีก ในที่สุด "ความชาญฉลาด" ก็จะไปตกอยู่กับคนเพียงคนเดียวที่ "ฉลาดที่สุด" ในกลุ่มนั้น คนอื่นในโลกล้วนโง่กันหมด นี่ก็คือความเชื่อของลัทธิเผด็จการฮิตเลอร์และมุสโสลินี

    อย่าลืมว่า มาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญ ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

    มาตรา 233 การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

    นัยหนึ่ง อำนาจตุลาการไม่ใช่อำนาจอิสระสัมบูรณ์ในสุญญากาศ แต่เป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านศาลเท่านั้น

    ท้ายสุด คำสัตย์ปฏิญาณในมาตรา 252 ที่ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายต่อพระมหากษัตริย์ว่า "จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน และความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ"

    ไม่ว่าใคร อาจารย์มหาวิทยาลัย องคมนตรี ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ แม่ค้าในตลาด พ่อค้าห้องแถว คนเก็บขยะ ชาวไร่ชาวนา รวมถึงทนาย อัยการ และผู้พิพากษา เมื่ออยู่ในคูหาเลือกตั้ง ล้วนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ถ้ารับตรงนี้ไม่ได้แล้วตั้งหน้าแต่จะฉีกรัฐธรรมนูญ ก็คือต้องการระบอบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×