ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รอบรู้กฎหมายสไตล์ฮาๆกับเจ้าชาน้อย

    ลำดับตอนที่ #1 : ลิขสิทธิ์ : เมื่อเราเขียนงานมันจะมีผลอะไรบ้างเนี่ย!

    • อัปเดตล่าสุด 23 พ.ย. 49


    ช่วงนี้ได้ข่าวมาเข้าหูเกี่ยวกับเรื่องลอกงานเขียนบ่อยมากและเห็นว่าหลายๆคนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์หรือจะบอกว่าสิทธิ์ของนักเขียนก็ได้ จนมีการตั้งกระทู้ถามกันอยู่เรื่อยๆและมีพวกที่ไม่เห็นถึงโทษภัยอันมหันต์ของมันหลงผิดกระทำการละเมิดออกมาให้เห็นอยู่เสมอ

     

    วันนี้เลยได้ฤกษ์ภูมิใจเสนอรวมมิตรเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ (เพื่อการอ่านได้สะดวกขอแยกเป็นประเด็นๆนะครับ)

     

    - เรื่องแรกมาว่าด้วยการคุ้มครองผลงานกันก่อน


    งานที่เราอุตส่าห์ตั้งหน้าตั้งตาโต้รุ่งอดตาหลับขับตานอนปั่นหรือรวบรวมมานั้น ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายตั้งแต่เราเริ่มเขียนกันทีเดียว ไม่ต้องเผยแพร่ ไม่ต้องลงเน็ต ไม่ต้องจดลิขสิทธิ์ ก็ได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันเป็นฝนที่ตกทั่วฟ้าแผ่นดินสยาม


     

        ถ้ายังงงว่าไม่ต้องให้ใครอ่านก็คุ้มครองรึ ผมจะอธิบายให้ฟังครับ

     

    งานเขียนนั้นจัดอยู่ในประเภทวรรณกรรมที่กฎหมายจะเริ่มมายุ่มย่ามกับเราตั้งแต่เริ่มเขียนนั่นแหละครับ แม้จะเขียนแล้วแอบซุกไว้ในไหอ่านคนเดียว แล้วเกิดมีเจ้าโจรใจทรามทุบไหขโมยไปแจกให้ชาวบ้านอ่าน เราก็เอาผิดมันได้ แต่อาจจะต้องสู้กันหนักหน่อย เพราะต้องไปบอกข้าแต่ศาลที่เคารพว่าเราเขียนก่อนเจ้าโจรร้านนั่นนะ ถ้าไม่มีพยานหลักฐานก็ลำบากใช่มั้ย 


     

    วิธีแก้พิษเบื้องต้นก็ให้เซฟลงเครื่องก่อนเลย อย่างน้อยก็มีเวลาบอกว่าเราเขียนเมื่อไหร่ ยกเว้นเครื่องจะโดนไวรัสเขมือบไป หรือไม่อีกวิธีก็ยัดเยียดหาพยานบุคคลด้วยการเอาให้เพื่อนอ่านซึ่งอาจจะอ่านแล้วไม่ยอมจำอันนี้ก็น่าหวาดๆ วิธีที่ดีที่สุดหากเขียนเสร็จแล้วก็เอาไปจดลิขสิทธิ์ซะ (ซึ่งวิธีการอย่างไรนั้นขอยกไปอธิบายตอนหลัง)

     

    แต่ว่าที่บอกคุ้มครองนี่ไม่รวมถึงพล็อตเรื่องนะครับ ใครอย่าเอาเรื่องพล็อตซ้ำไปฟ้องศาลล่ะเดี๋ยวจะโดนไล่กลับมา แล้วจะหาว่าคนหน้าตาดีไม่เตือนไม่ได้นะ

     

    นางสาวก  : ท่านเป่าเคอะ นายก ลอกพล็อตเดี๋ยนเคอะ ดูสิในเรื่องมีตบจูบๆ พระเอกเป็นคาสโนว่า นางเอกเป็นคุณนายตื่นสายเดินชนกันหน้าประตูโรงเรียนเหมือนกันเลย

     

    ท่านเปา(เอ็มวอส) : หนูเอ้ย ถ้าอย่างนั้นละเมิด สงสัยนิยายร้อยละเก้าสิบคงไม่รอดแล้วแหละหนู เวปบางเวปอาจจะโดนหางเลขต้องปิดตัวก็ได้นะนั่น เขาคุ้มครองแต่สาระสำคัญแยกเอาเองนะว่าอันไหนสำคัญ พูดมากไปก็มากความ เสียเวลาเล่นปังย่า เอาคดีต่อไป


     

    เสมียนศาล : โหววววววววววววววววววววววววววว


    ข้างบนนี้ตัวอย่างนะครับอย่าคิดมาก ส่วนเรื่องเวลาของการคุ้มครองนั้น นับไปห้าสิบปีตั้งแต่คนเขียนตาย ถ้ามีหลายคนก็เอาอายุคนที่อยู่ผงาดค้ำโลกให้นานที่สุดบวกไปอีกห้าสิบ แต่ถ้าใช้นามแฝงหรือว่าไม่รู้ว่าเป็นของใคร ก็เอาห้าสิบปีนับแต่เขียนขึ้น

     

    - ข้อต่อมา การลงบทความในเวปคุ้มครองรึเปล่า

     

    อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีข้อความหวงกันสิทธิ์ไว้หรือไม่ ยังไงก็ควรมีเพื่อความปลอดภัย แต่ที่เด็กดีของเราน่าอยู่ก็ไม่จำเป็นอีกเช่นกัน เพราะอะไรนั่นหรือครับ เอาละพวกเราเปิดไปที่หน้านิยายนะลองดูที่มุมล่างด้านซ้าย นั่นแหละเห็นอะไรมั้ย


    คำเตือน : "ข้อความในทุกบทความในคอลัมน์นี้ ถือเป็นสิทธิ์ของเจ้าของบทความแต่เพียงผู้เดียว ห้ามมิให้ทำการลอกเลียน คำลอก ทำซ้ำหรือทำการเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาต"


    ข้างบนนี้เรียกว่าข้อความหวงกันสิทธิ์ ใครเอาไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของจะโดนประทับตราว่าลอกทั้งสิ้น แล้วในหน้าที่เราเอานิยายลงก็จะมีบอกอยู่แล้วว่า ผู้แต่งรับรองว่าอันนี้เป็นเรื่องของเราเอง ไม่เชื่อไปดูดิ เพราะงั้นถ้าไปลอกชาวบ้านมาก็เจอสองเด้ง ชี้ชัดมัดตัวดิ้นไม่หลุดหรอก งานนี้ร้องแบ๊ะๆ แต่ไม่มีแพะแน่


    - อย่างไรถึงจะเป็นลอกนั้น แม้ข้างบนจะได้เกริ่นไปบ้างแล้ว แต่มาย้ำกันอีกรอบดีกว่า


    คำว่าลอกเข้าใจกันง่ายๆเลยคือ ก๊อปมาแปะ เหมือนกันทุกตัวอักษร อันนี้จะเจอบ่อยสุด แต่ถ้าบางพวกดัดแปลงเปลี่ยนนี่นิดเปลี่ยนนู้นหน่อย เอาอันนั้นอันนี้มาผสมกันบ้างจะเข้าข่ายรึเปล่า


    หากเป็นพวกนักผสมผสานเราต้องมาดูว่าอันที่มันเหมือนหรือคล้ายกันนั้นมันเป็นใจความหรือว่าส่วนสำคัญของเรื่องหรือไม่ คือดูจากสามัญสำนึกเลยก็ได้ว่ามันเป็นเรื่องทั่วไปที่คนปกติจะคิดเหมือนกันได้มั้ย หากพระเอกนางเอกนายรองตัวร้ายชื่อเดียวกันหมดสำนวนเดียวกัน เดินเรื่องแบบเดียวกันลอกชัวร์ ไม่ต้องหมอลักษณ์เจ้าชาก็ฟันธงเองได้

     

    แม้จะลอกเพียงหนึ่งประโยคหนึ่งชื่อก็ผิดแล้วไม่ต้องรอให้เขาเอาไปทั้งหมดเรื่องหรอก แต่ประโยคหรือชื่อที่ว่ามาจะต้องแสดงความเป็นต้นแบบ คือใช้เป็นคนแรกหรือว่าเป็นสิ่งที่แสดงตัวตนของเจ้าของงาน อย่างเช่น

     

    "รู้เขารู้เรา รบรู้ครั้งชนะร้อยครั้ง...." ประโยคนี้ใครเห็นก็ต้องคิดถึง ซุนวู ใช่มั้ยครับ หรือว่าชื่อก็อย่าง แบดแบดซึมารุ (เจ้าเพนกวินดำของซาริโอ) หรือว่า ผู้พันแซนเดอร์ หากเราเอาชื่อพวกนี้ไปตั้งเป็นชื่อตัวละครก็ผิดเพราะเขายังหวงกันสิทธิอยู่ (แต่ของซุนวูเราเอามาใช้ได้ไม่ผิดเพราะงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นจะมีอายุการคุ้มครองอยู่ครับ คุ้มครองตั้งแต่สร้างสรรค์(เขียนขึ้น) จนกระทั้งตายแล้วกี่ปีก็ว่าไป ของไทยเราคุ้มครองหลังตายอีก 50 ปี ส่วนเรื่องชื่อถ้ากลายเป็นเครื่องหมายการค้าอย่างพวกที่ยกข้างบนไปนี่ก็จะมีหวงกันได้ต่อไปอีก)

     

    แล้วจะทำการดัดแปลงก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน อย่างตัวเอกชื่อ สร้อยประคำเป็นหมอดูอยู่ประตูน้ำ มีคนเอามาเขียนเป็นชื่อสายสินญจ์เป็นหมอผีอยู่ป่าช้าวัดดอน แต่ดำเนินเรื่องเหมือนกันหมดนี่ก็ไม่ได้ ลอกๆไม่ผ่านกองตรวจจับ ถ้าจะดัดแปลงงานของใครก็ต้องไปของอนุญาตจากเจ้าของก่อน พวกแฟนฟิคนี่ก็เข้าข่ายนะครับ เพราะงั้นก่อนจะแต่งแฟนฟิคเรื่องไหนถ้ามีทางติดต่อได้ก็ไปบอกเจ้าของเขาไว้ก่อนก็ดี (ถ้าเป็นฟิคต่างประเทศอาจจะอนุโลมเพราะคงยากที่เจ้าของจะรู้เรื่องแล้วอ่านไทยออกว่ามีคนเอาเรื่องไปแต่งฟิค) แล้วอีกอย่างลอกแฟนฟิคชาวบ้านก็ผิดเช่นเดียวกัน เพราะของใครเขียนก็ของคนนั้น จะมาบอกว่าเขาตั้งใจเผยแพร่หรือดัดแปลงมาอีกทีมันก็ไม่เกี่ยว คนละประเด็นถือว่าคำพูดนี้ไม่มีน้ำหนัก อ้างมั่ว ศาลไม่รับฟัง

     

    - คงมีคำถามสงสัยต่อมาจากข้อก่อนเป็นลูกโซ่ว่า ถ้าจะอ้างบทความหรืออะไรก็ไม่ได้เลยอ่ะดิ ทำอะไรก็เข้าข่ายลอกหมดมือไม้สั่นไม่กล้าเขียนงานกันพอดี มันก็ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าจะเอาไปทำรายงาน สื่อการเรียนการสอน หรือทำเพื่อกระจายความรู้อันนี้กฎหมายยกเว้น เพื่อเห็นแก่ความรู้ที่จะเสริมสร้างเซลล์สมองของชาติ ทางป้องกันง่ายๆคือให้ทำการอ้างอิงถึงผู้ประพันธ์เดิมซะ ว่าเอามาจากใคร จากที่ไหน อันนี้ก็รอดแล้ว


    หากนักเขียนมีบทหวงกันสิทธิ์เป็นอาวุธตีหัวโจร นักอ่านทั้งหลายที่อยากเอาไปใช้งานหรือเผยแพร่ต่อก็มีบทอ้างอิงไว้เป็นยันต์กันหมายจับ ฉันใดก็ฉันนั้น เขียนไว้เถอะครับ ประโยคเดียวเองสั้นๆว่าเอามาจากไหน เขียนไปไม่ตายหรอกแต่ถ้าไม่เขียนอาจมีรายการ เจอเอ็งตาย!! ได้


    - ประเด็นต่อมาในคำถามฮ๊อตฮิตติดชาร์จ ต้องเอาไปจดลิขสิทธิ์รึเปล่า


    อย่างที่บอกไปตอนต้น ไม่จำเป็นเลยเพราะกฎหมายคุ้มครองตั้งแต่เราเขียนแล้ว เรียกว่าสร้างออกมาก็มีการรองรับแล้ว แม้คอนโดยังตั้งเสาไม่เสร็จไม่ออกเป็นรูปเป็นร่างก็ต้องจ่ายเงินผ่อนมันอยู่ดี (เกี่ยวมั้ยเนี่ย) เอาเป็นว่าถ้าเราจดมันก็จะเป็นประโยชน์ในแง่ พยานหลักฐานชั้นเอก เอาไว้ปิดปากพวกไร้สามัญสำนึกไม่ยอมรับความจริงมัวแต่ใช้สีข้างเข้าแถกจนถลอกปอกเปิกนั่นเอง


    ส่วนวิธีการจดทำอย่างไรนั้น ขั้นแรกเราก็ต้องกรอกใบที่เรียกว่า ลข 01 เพื่อแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ (บอกว่าเรามีผลงานแล้วนั่นเอง) จากนั้นก็แนบใบลข 01 ไปกับต้นฉบับที่ปรินซ์มา ถ้างบน้อยจะแม็กซ์ไปให้เขาก็ได้ไม่ต้องถึงขึ้นทำรูปเล่มจัดอาร์ตเวิร์กซะสวยงามเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่รังเกียจหรอกครับ เว้นแต่จะรุ่งริ่งไม่เป็นชิ้นไป เกิดเขาเข้าใจผิดว่าเป็นขยะรีไซลเคิลอันนี้คงว่ากันไม่ออก พอจดเสร็จแล้วก็ไปยื่นเรื่องขอรับใบรับรองลิขสิทธิ์ ทุกอย่างมีออนไลน์หมดเข้าไปที่เวปของกรมทรัพย์สิน 



    http://www.ipthailand.org/dip/index.php?option=com_frontpage&Itemid=1 หรือ
    http://www.ipthailand.org/dip/index.php?option=com_docman&task=cat_view&gid=143&Itemid=162โหลดฟอร์มลข 01  

     

    วิธีการนั้นง่ายแสนง่ายที่ยากยิ่งกว่าเอาไปจดคือแต่งให้จบต่างหาก เขาไม่รับผลงานครึ่งๆกลางๆนะเออ ใครยังไม่จบก็เย็นไว้ก่อนโยม


    - ต่อมาอันนี้สำคัญ เอาไว้เป็นน้ำร้อนไปลวกพวกหมูที่รู้จักที่ตาย (หมูไม่กลัวน้ำร้อน <-- ใครจะเก็ตมุขนี้เนี่ย) คือเรื่องความผิดโทษฐานลอกงานชาวบ้าน


    ใครลอกงานนี่เลยครับ ถ้าเจ้าของผลงานไม่สามารถใช้น้ำเย็นและขันติ อุเบกขา แก่สัตว์โลกที่ดวงตาไม่สามารถเห็นธรรมได้แล้ว ให้ไปแจ้งความภายใน 30 วันนับแต่รู้ถึงการลอกดังกล่าว ไม่ใช่นับแต่วันที่เขาลอกนะครับ เอาวันที่เรารู้เป็นหลัก รวบรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความเอาผิดต่อผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์เอาผลงานเราไปอย่างน่าไม่อาย ย้ำอีกครั้งว่าแจ้งความ อย่าเผลอไปลงบันทึกประจำวันเชียวนะ ผลคนละอย่างเลย


    ตอนไปก็หอบเอาหลักฐานไปด้วย เราแต่งเมื่อไหร่ เขาลอกเมื่อไหร่ มีการอายัดเรื่องไว้แล้วยังไง มีการบรรเทาความเสียหายให้มั้ย หรือมันด่าเรากลับอย่างเดียว (อันนี้พ่วงหมิ่นประมาทไปด้วยเลย หึหึ) ถ้ามีข้อมูลคนลอกด้วยยิ่งสะดวก เสร็จแล้วก็รอให้เขานัดไกล่เกลี่ยเพราะคดีมันยอมความกันได้ แต่หากมันไม่ยอมมาเจรจาหรือเราไม่สามารถยอมความได้แล้ว ก็ปล่อยให้ตำรวจกับอัยการเขาดำเนินการต่อ ส่วนเราก็ตีพุงรอฟังความคืบหน้าต่อไป ซึ่งถ้าเรื่องถึงศาลแล้ว แกะน้อยผู้หลงผิดนั้นก็จะโดนโทษ ปรับ 20,000 - 200,000 บาท และถ้าเป็นการทำเพื่อการค้าแล้วละก็จะยิ่งโดนหนักขึ้นเป็น จำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี ปรับ 100,000 - 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ายังไม่กลัวกันอีกก็ไม่รู้จะว่าไงแล้ว

     

     - เรื่องสุดท้ายแต่อาจไม่ท้ายสุดที่จะยกมาคือเรื่อง สัญญา ครับ


    บางคนที่เป็นนักเขียนได้ตีพิมพ์แล้วอาจมาปัญหากับสนพ.อันนี้ก็ต้องดูว่าสัญญาที่มีต่อกันเซ็นไว้ว่าไง ผูกพันเป็นนามปากกาหรือว่านับแค่เรื่องนั้นๆ ก่อนจะเซ็นก็ดูให้ดีว่าใครต้องรับผิดอะไรบ้าง เราต้องทำอะไรและสนพ.มีความรับผิดชอบอะไรต่อเรา ไม่ได้จะให้มองโลกในแง่ร้ายนะ แต่ก็ต้องเผื่อเอาไว้บ้างเพราะบางครั้งอาจไม่เป็นไปตามที่หวัง แต่เรื่องที่จะพูดจริงๆไม่ใช่อันนี้ (อ้าว แล้วพิมพ์มาทำไมซะยาว)


    ประเด็นของสัญญาที่ว่ามาคือเรื่องส่งไปสนพ.แล้วถูกเอาไปตีพิมพ์ในชื่อคนอื่น หรือว่าคนอื่นเอาเรื่องเราไปส่งสนพ.แล้วดันได้ตีพิมพ์ (โอ้กรณีนี้เจ็บใจมากมาย ห้ามยอมความโดยเด็ดขาด) ให้ดำเนินการเหมือนโดนลอกทุกประการครับ เห็นหนังสือที่น่าจะมีชื่อเราบนปกกลายเป็นชื่อคนอื่นวางบนแผง ท่านอย่าเพิ่งตกใจว๊ายกริ๊ดบ้านบึ้มเต้นเร้าๆหรือเป็นลมอยู่ตรงนั้น ไม่ต้องตีอกชกหัวน้อยใจในวาสนาของตนเองว่าทำไมฟ้าส่งเรามาเกิดแล้วจึ่งส่งคนหน้าด้านมาเกิดพร้อมกันด้วยเล่า


    ให้รีบซื้อหนังสือเล่มนั้นโดนด่วน (ถ้าไม่แน่ใจว่าเหมือนจริงให้ไปเอาต้นฉบับเรามาแล้วนั่งเทียบมันในร้านหนังสือก็ได้ไม่มีใครว่า ถึงเขาอาจมองๆก็ไม่ต้องสนใจ) อย่าไปเสียดายว่าต้องเสียเงินที่มีค่าของเราให้คนที่ไม่มีค่าพอ แต่จงคิดว่านี่คือปฐมบทแห่งการเอาคืน


    จากนั้นพอได้หนังสือที่ยืนยันว่าลอกมาอยู่ในมือแล้วก็รีบเอาเรื่องเราพร้อมหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องไปแจ้งความ พร้อมประกาศความคืบหน้าในเวปบอร์ดที่เหล่านักเขียนทั้งหลายสถิตย์อยู่เป็นระยะๆ ไม่ต้องกังวลครับว่าจะมีคนหาว่าคุณใช้วิธีนี้โปรโมตตัวเองเพราะความเสียหายมันชัดอยู่แล้ว ที่ให้ป่าวประกาศก็เพราะว่าการดำเนินการต่างๆจะเร็วขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อต่างหาก ยอมเสียเวลาสักเล็กน้อย(แต่ความรู้สึกเสียไปมากโคตร) คุณจะได้เงินมากว่าค่าลิขสิทธิ์อีกเชื่อเหอะ เพราะถ้าเป็นการเอางานที่รู้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์อยู่แล้วไปทำเพื่อการค้าโทษจะหนักกว่าปกติ คือรู้ว่าลอกแต่ยังเอาไปหากินว่างั้นเหอะ บ้านเมืองไม่ยอมยกโทษให้ง่ายๆอยู่แล้ว และเราก็ไม่ควรยอมให้ใครมาหากินบนน้ำพักน้ำแรงเราด้วย

     

    หากยอมในวันนี้วันหน้าก็ไม่หมดไปสักที ช่วยกันรักษาสิทธิ์ของตัวเองกันเถอะครับ เพื่อมาตรฐานสำหรับอนาคต



    ข้อมูลเพิ่มเติม พรบ.ลิขสิทธิ์ http://www.finearts.cmu.ac.th/library/law-license.htm










    ------------------------------------------------------------------------



    ถ้าเห็นว่าเข้าท่าก็เมนต์กันหน่อยนะครับ อยากได้อะไรเพิ่มเติมก็บอกเพราะหากท่านไม่จุดประกายผมเองก็นึกไม่ค่อยออกว่าจะเอาอะไรมาว่ากันต่อดี


    กระผมนายชารายงาน
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×