ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    A Tranquilizer for your Christmas Eve : ยากล่อมใจในคืนฝัน

    ลำดับตอนที่ #21 : จิตติกับไดอารีของทัตตวา -1-

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 583
      1
      4 ต.ค. 54

    ทัตตวาเขียนไดอารี่มาส่งทุกวันไม่ขาด แต่ความยาวและเรื่องราวนั้นแตกต่างกันออกไป ลายมือของเธอนั้นควรค่าแก่การสังเกต เป็นลายมือเส้นบางอ่อนไหวเหมือนที่พบได้ตามหนังสือการ์ตูนผู้หญิง หรือนิตยสารวัยรุ่น ซึ่งอ่านง่ายมาก เป็นสิ่งที่แตกต่างจากสภาพภายนอกของเธอเหลือเกิน นอกจากนั้นยังไม่มีการสะกดหรือเรียงประโยคผิดๆ เด็กคนนี้ต้องได้รับการสอนวิธีเขียนมาตั้งแต่ยังเล็กดีกว่าเด็กคนอื่นๆ

    จิตติถือว่าการอ่านไดอารี่ของทัตตวาเป็นงานประจำ เขาอ่านมันหลังจากทำงานเสร็จหรือเมื่อเขาตั้งสมาธิได้ เขานั่งลงบนเก้าอี้ที่ระเบียงห้องยามค่ำคืน ลมเย็นโชยพัดต้องชายเสื้อ ลอดเข้าไปถูกผิวกายทำให้จิตติสั่นน้อยๆ เขาเปิดไดอารีของทัตตวาทีหน้าพลางจิบกาแฟดำในอีกมือหน่าง ซึ่งบางวันก็เป็นเบียร์ เขาบันทึกจุดที่น่าสนใจจากไดอารีนั้นลงในสมุดแยกไว้ต่างหาก

    สัปดาห์แรก

    ถึงหมอจิตติ

    ฉันไม่รู้จะเขียนอะไรจริงๆ ไม่เคยเขียนไดอารี่มาก่อนและไม่รู้ว่าทำไมหมอถึงอยากรู้เรื่องของฉันนัก บอกแล้วไงว่าฉันไม่ได้ป่วย

     

    ถึงหมอจิตติ

    ฉันดูข่าวเมื่อคืน น่าเบื่อมาก

     

    ถึงหมอจิตติ

    วันนี้ที่โรงเรียน ไม่สนุกเลย ฉันเบื่อโรงเรียนและเกลียดครูภาษาอังกฤษมาก

     

    (ตลอดสัปดาห์แรก ข้อความทั้งหมดสั้นและดูว่าจะรีบเขียน จิตติพูดไม่ได้ว่าเขาพอใจ ถ้าทัตตวามีความตื่นตัวกับการรักษา หรือเชื่อมั่นในตัวจิตติสักหน่อย ทุกอย่างคงไปได้ราบรื่นมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มการตรวจ เขาลองดูจุดสังเกตที่พบในไดอารี่ว่าน่าจะเป็นปัญหา แล้วถามทัตตวาเกี่ยวกับเรื่องนั้น จิตติแทบจำครั้งสุดท้ายที่เข้าพยายามทำงานมากขนาดนี้ไม่ได้แล้ว กรณีที่เขาพบผ่านมามักจะเป็นกรณีพื้นๆ ที่เขาจัดการได้อย่างรวดเร็วจนไม่ต้องใช้ความพยายามเท่าไร เพียงแค่จัดการสั่งยาตามขั้นตอนหรือแถลงว่าไม่สามารถรักษาได้เพราะขาดการรักษาพยาบาลเบื้องต้นในเวลาที่เหมาะสม กรณีของทัตตวานั้นผลักดันเขา ไม่ใช่แค่เพราะความซับซ้อนเท่านั้น แต่ความรักการอ่านในตัวจิตติทำให้เขามุ่งไปที่ไดอารีของทัตตวา การเขียนของเธอดึงดูดใจเขาแม้ว่าเขาจะไม่เคยสนใจอ่านบล็อกของวัยรุ่นคนไหนมาก่อน เขาเชื่อว่าในส่วนลึกของทัตตวาอยากจะสื่อสารออกมาแต่ไม่ใช่ด้วยการพูด เช่นเดียวกับจิตติเวลาที่เขาอยากส่งเอสเอ็มเอสหรือยื่นบันทึกข้อความให้เพื่อนร่วมงานมากกว่าจะคุยกันโดยตรง การเผชิญหน้ากันกับผู้คนตามความจำเป็นนั้นทำให้จิตติเบื่อหน่าย ยิ่งพูดกันไปนานเข้ายิ่งทำให้เขาคอแห้งและไม่มีอะไรจะพูดอีก ไม่ใช่เรื่องปัญหาในการสื่อสาร เขาเคยชอบการสนทนาในการประชุมวิชาการใหญ่ๆ มาก่อน แต่ในตอนนี้เขาคิดว่าการสื่อสารของมนุษย์นั้นขยายวงกว้างเกินไปจึงพยายามจำกัดโอกาสการพูดคุยนั้นให้น้อยที่สุด)

     

    สัปดาห์ที่ 2

     

    ถึงหมอจิตติ

    หมอบอกฉันว่าให้เขียนยาวๆ กว่านี้ แต่ฉันว่าหมอน่ะไม่ได้อ่านทุกอย่างที่เขียนไปหรอก ผู้ใหญ่ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เหรอไงกัน พวกเขาบอกให้ฉันเขียนอะไรดีๆ ลงไปในข้อสอบ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่อ่านมันหรอก พวกผู้ใหญ่ไม่เคยฟังสิ่งที่พวกเราพูด บางทีฉันก็เขียนอะไรไร้สาระลงในข้อสอบ แต่ได้คะแนนเต็มเสียอย่างนั้น สิ่งที่ผู้ใหญ่สนใจก็มีแค่ตัวเลข ค่าที่วัดได้ ผู้ใหญ่น่ะเป็นพวกหลอกลวง

     

    ถึงหมอจิตติ

    วันนี้ครูภาษาอังกฤษบ่นมา “มีพ่อเป็นฝรั่งแท้ๆ ทำไมใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้” ฉันไม่เข้าใจเลย ฉันเองยังแทบไม่ได้เจอพ่อ ไม่สิ จริงๆ แล้วฉันจำหน้าพ่อไม่ได้ด้วยซ้ำ หมอมีวิธีเปลี่ยนสีผิวมั้ย ขอโทษที น่าจะเป็นคำถามโง่ๆ ฉันไม่น่าถามเลย

     

    ถึงหมอจิตติ

    หมอบอกว่าอย่าให้ฉันย้อมผม หมอว่าผมสีน้ำตาลเหมาะกับฉันที่สุด แต่พอฉันมองกระจกแล้วฉันบอกหมอเลยว่าเกลียดมันจริงๆ ถ้าถามว่าทำไม ก็ต้องตอบว่ามันทำให้ฉันดูต่างจากนักเรียนคนอื่นๆ ทุกคนจะตะโกนใส่ฉันว่า “ฝรั่ง ฝรั่ง ฝรั่ง” ทั้งๆ ที่ฉันไม่ใช่แท้ๆ ฉันไม่ต้องการแตกต่างจากคนอื่น แต่ทุกคนทำให้ฉันแปลกแยก ฉันไม่รู้เลยว่าหมอจะยอมรับฟังและอ่านทุกอย่างที่ฉันเขียนมั้ย ฉันไม่คิดว่าหมอจะทำแบบนั้นหรอกนะ

     

    ถึงหมอจิตติ

    หมอคะ หมอไม่ต้องมาตรวจหรือรักษาฉันอีกแล้วก็ได้ คนอื่นเข้าใจว่าฉันเป็นคนบ้าที่เป็นใบ้ แล้วฉันก็พอใจที่ทุกคนคิดอย่างนั้น คนบ้านก็ต้องอยู่อย่างบ้าๆ ไม่ใช่หรือ ตราบเท่าที่ฉันไม่รบกวนใครหรือก่ออาชญากรรม ทุกคนก็จะปล่อยฉันไปแบบนี้

    (ความยาวของไดอารี่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับท่าทีแข็งกร้าวที่มากขึ้น เนื้อหาทั้งหมดไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันในโรงเรียนแต่เกี่ยวกับความโกรธเกรี้ยวของทัตตวาต่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว หรือแม้กระทั่งที่เธอไม่เห็นด้วยกับการรักษา ทัตตวาแสดง ออกถึงความไม่เชื่อใจในตัวเขา ครูของตัวเอง และผู้ใหญ่ทุกคน แต่ทำไมเธอยังใส่ใจเขียนไดอารีมาส่งทุกวัน ถ้าเธอแค่ปล่อยมันทิ้งให้ว่างหรือไม่พูดถึงมันอีกก็ได้ จิตติคิดเรื่องนี้จนได้ข้อสรุปมาว่าเธอไม่ได้เจตนาจะเพิกเฉยต่อเขา ทัตตวาอาจจะสมมติ “หมอจิตติ” ในฐานะบุคคลจำลอง แล้วทุ่มเอาความโกรธและความไม่พอใจทั้งหมดเข้าใส่ เหมือนเด็กมีปัญหาที่พยายามความดื้อรั้นออกมาเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ จิตติอ่านมันด้วยความอดทนอย่างยิ่ง เขารู้ว่าตัวเองค่อนข้างใจร้อนอยู่ลึกๆ เมื่อใครมายั่วโมโห หรือมาเล่นกับอารมณ์ของเขาอย่างที่ทัตตวาทำอยู่

    เมื่อเขาอ่านผ่านข้อความที่รบกวนอารมณ์ของตัวเองไป ความโกรธแวบเข้ามาเหมือนฟ้าแลบและหายวับไปก่อนที่เขาจะจับมันอยู่ ไม่มีทางที่ทัตตวาจะดูถูกหรือหมิ่นแคลนเขาได้ เขาจะไม่ดุว่าเธอ เป็นสัญญาที่ไม่มีลายลักษณ์อักษรระหว่างเขาและทัตตวา ความเชื่อใจแบบแปลกๆ เป็นวิธีเรียกที่เขาเลือกใช้

    เขาเขียนตารางลงไปในสิ่งที่ได้ทำแล้ว รายละเอียดเล็กน้อยและกริยาท่าทางใหม่ๆ ของทัตตวา จากการเคลื่อนไหวในแววตาหรือท่าแกว่งมือที่แปลกไป ถ้าสามารถมาอ่านสิ่งที่เขาเขียนต้องส่ายหัว ถอนหายใจ แล้วบอกว่า “จิตติ, นี่แกฝังใจเกินไปแล้วนะ รายละเอียดหยุมหยิมพวกนี้ไม่ได้ทำให้แกเจออะไรใหม่ๆ ได้หรอก” แต่เขาก็ยังดีใจถ้ามีคนมาบอกว่าเป็นเรื่องของความฝังใจ เพราะว่าเขาฝังใจจริงๆ ) 

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×