ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เฮฮาประสาสามก๊ก

    ลำดับตอนที่ #86 : หงส์และมังกร(มันนี้ไม่มีรูปแฮะ)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 716
      5
      6 มี.ค. 57

    บังทองVSข่งเบ้ง--ใครเป็นใคร
     
    ในบรรดาผู้อ่านสามก๊กคงมีไม่น้อยที่รู้สึกเซ็งเป็ดกับบทของบังทองที่มาเร็วไปเร็ว ชนิดว่าไม่ทันได้หายใจก็ลาโลกซะแล้ว และต้องคิดถึงคำอุปมาอุปมัยที่ว่า "หงส์อ่อนมังกรหลับ สองสิ่งเป็นเลิศในปฏพี ใครได้ครอบครองเพียงสิ่งหนึ่งก็อาจครองใต้หล้าได้" ทำให้เกิดเป็นคำถามที่กลัดมันมาจนถึงทุกวันนี้ว่า แล้วที่เล่าปี่สามารถครอบครองไอ้สองสิ่งนี้ในเวลาเดียวไหงพบแต่ความผิดหวังฟะ  มันทำให้อดไม่ได้ที่คนขี้สงสัยจะคิดว่า ทั้งสิ้นทั้งปวงเขียนขึ้นเพื่ออวยเล่าปี่และคณะ
     
    อันที่จริงไม่น่าเรียกว่าอวยเล่าปี่ น่าจะเรียกว่าอวยข่งเบ้งมากกว่า
     
    ข่งเบ้งและบังทอง ตามประวัติว่าเป็นเพื่อนที่เรียนด้วยกันอยู่ที่สำนักของสุมาเต็กโซ(ในสามก๊กโมเอะ สุมาเต็กโซนี่สวยสุดยอดเลย) พวกเขาร่ำเรียนด้วยกันมาและได้รับฉายาว่าหงส์อ่อนมังกรหลับ  ซึ่งก็ตามที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่า ซีซีเรียนมาตั้งนานไม่เห็นได้รับฉายาเลย แต่สองคนนี้ได้รับฉายาหงส์และมังกร  ก่อนอื่นผมขอพิจารณาทีละขั้น
     
    ตามหลักของจีน หงส์เป็นสัญลักษณ์ของฮองเฮา ส่วนมังกรเป็นสัญลักษณ์ของฮ่องเต้(เอ๊ะๆๆ รู้น่า คิดอะไรอยู่ อย่ามั่ว นี่ไม่ใช่นิยายวาย) ซึ่งนั่นก็คือหยินและหยาง  แต่หากมองให้ลึกลงไป มังกรคือธาตุไม้(หยิน) และหงส์คือธาตุไฟ(หยาง) ทำให้ฟังดูเหมือนตลกร้าย เพราะฮ่องเต้ที่เป็นชายถูกแทนด้วยมังกรที่เป็นหยิน และฮองเฮาที่เป็นหญิงถูกแทนที่ด้วยหงส์ซึ่งเป็นหยาง  แน่นอน โดยสภาพแล้วหงส์หรือนกฟินิกซ์เป็นสัตว์ที่สวยงาม มันไม่แปลกที่จะถูกเปรียบเทียบกับผู้หญิง แต่ธาตุของมันก็คือหยางอยู่วันยังค่ำ ซึ่งคุณลักษณะของหยางคือเปลี่ยนแปล เคลื่อนไหวและไม่คงที่ ในแง่ของหลักแห่งเต๋านั้น แม้จักรวาลจะประกอบด้วยหยินและหยาง(เงาและแสง) แต่สิ่งที่เป็นความจริงเที่ยงแท้คือเต๋าซึ่งกลมกลืนกับทุกสิ่ง แต่คุณภาพของเต๋าใกล้เคียงกับหยินมากกว่าหยาง  เพราะลักษณะของเต๋าคือความมืดซึ่งคล้ายคลึงกับเงา(หยิน) และคงอยู่มาก่อนทุกสิ่ง แน่นอนว่าใครเคยศึกษาหลักฮวงจู้ก็จะพบเช่นกันว่าโบราณเปรียบภูเขาว่าเป็น "มังกร" และภูเขาเป็นหยิน! เพราะมันไม่เคลื่อนที่
     
    คนจีนจึงกำหนดให้ฮ่องเต้และผู้ชายซึ่งเป็นหยางเป็นมังกร(ทั้งๆ ที่มังกรคือหยิน) ทั้งนี้เพราะต้องการรักษาระบบบิตาธิปไตยให้คงอยู่ตลอดกาล เพราะธรรมชาติของผู้ชายเป็นหยาง ซึ่งหมายถึงเมื่อถึงเวลาก็ต้องหมดไป แต่ผู้หญิงนั้นเป็นหยินซึ่งเป็นเพศเดียวกันกับธรรมชาติ(เต๋า) พวกเธอสามารถคงอยู่ได้ตลอดกาล ฉะนั้นจึงกำหนดให้เป็นหยาง(หงส์)เพื่อที่อำนาจของสตรีจะไม่สามารถอยู่เหนือบุรุษ ฉะนั้น การกำหนดฮองเฮาเป็นหงส์และฮ่องเต้เป็นมังกรจึงมีความหมายว่า "ต้องการให้ฮ่องเต้คงอยู่ตลอดไป แต่ฮองเฮาเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงเวลา" มันเป็นการแก้เคล็ดในรูปแบบหนึ่งนั่นเอง(ฮา)
     
    โจโฉถูกเปรียบเป็นหงส์ เพราะจริงๆ แล้วโจโฉเป็นมังกรซึ่งคงอยู่ตลอด ก็เพื่อป้องกันไม่ใช้โจโฉสามารถคงอยู่และมีอำนาจเหนือฮั่นได้ตลอดไป ขณะที่เล่าปีถูกเปรียบเป็นมังกรทั้งที่ความจริงเป็นหงส์ซึ่งเปลี่ยนไปตามเวลา ทั้งนี่ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เล่าปี่ล้มหัวฟาดพื้นบ่อยเกินไป(มั้ง?)
     
    ออกทะเลแล้ว, กลับมาที่เบ้ง-บัง ความเป็นมังกรและหงส์ในหนังสือก็ปรากฏชัดเจนครับ เพราะหยางไม่สามารถคงอยู่ตลอดกาล(แม้นกฟินิกซ์จะถูกเรียกว่านกอมตะ แต่มันไม่เป็นอมตะในหลักของจีน มันเกิดจากเปลวไฟและหายไปเมื่อเปลวไฟหมดสิ้น) บังทองจึงร่วงหล่นเมื่อถึงเวลา ส่วนข่งเบ้งสามารถคงอยู่แม้เล่าปีโจโฉจะม่องไปแล้วหลายปี ขุนศึกอื่นๆ ก็ลาโลกไปหมด ฉะนั้นความหมายของหงส์และมังกรในวรรณกรรมจึงเป็นเช่นนี้นี่เอง
     
    แต่ในทัศนะคติของของสุมาเต็กโซล่ะ?
     
    หงส์ในความเห็นของสุมาเต็กโซไม่ใช่หงส์ธรรมดา แต่เป็นหงส์อ่อน  บางคนเรียกเป็นไก่อ่อนเลยด้วยซ้ำ เพราะหงส์ที่ยังเล็กมันไม่แตกต่างจากไก่ที่สู้ใครก็ไม่ได้ และหงส์คือความสวยงาม  ผมไม่คิดว่าตัวจริงของบังทองจะสวยงามจนต้องเรียกว่าหงส์หรอกนะ  แต่ผมคิดว่ามันอาจเปรียบได้กับความรู้ของบังทองมากกว่า มันดูสวยงาม แต่มันใช้จริงไม่ได้ ที่สำคัญ มันเปลี่ยนตามกาลเวลา เวลานี้มันอาจจะยอดเยี่ยม แต่สำหรับคนอนาคต มันอาจจะเป็นความคิดที่ไร้สาระและโง่เง่า--อย่างไรก็ตาม หงส์อ่อนก็คือมันยังสามารถพัฒนาได้ แต่แน่นอน มันไม่คงทนถาวร เปรียบได้กับนิยายขายดีหลายๆ เล่มที่พอเลิกบูมก็ไม่อยากอ่านอีก
     
    มังกรล่ะ--มันไม่ใช่มังกรธรรมดา แต่เป็นมังกรหลับ มันตอกย้ำความเป็นหยินหรือภูเขาของข่งเบ้ง คือมั่นคงและไม่เคลื่อนที่ ไม่ทำสงคราม  แน่อน, มังกรหลับหรือภูเขามันมั่นคงถ้ามันไม่เคลื่อนที่ หรือพูดให้ชัด เมื่อเล่าปี่เรียกข่งเบ้งมาสั่งเสีย เล่าปี่มองเห็นศักยภาพของข่งเบ้งในการที่จะค้ำจุนประเทศอยู่แล้ว แต่มีเงื่อนไขแค่อย่างเดียวเท่านั้น คือต้องอยู่กับที่! ตลอดเวลาที่ผ่านมา เล่าปี่ปฏิเสธกลยุทธทางสงครามที่ข่งเบ้งเสนอ แล้วทำไมอยู่ๆ อยากฝากบ้านไว้กับข่งเบ้ง!
     
    จากทั้งหมดนี้ ผมมั่นใจว่าจ๊กจะคงอยู่จนถึงปัจจุบันถ้าข่งเบ้งเป็นปราการให้กับประเทศ ไม่ใช่เป็นแม่ทัพ
     
    แต่นั่นแหละ ข่งเบ้งและบังทองเป็นเพียงเด็กหนุ่มเมื่อเปรียบเทียบกับคนมากประสบการณ์เช่นเล่าปี่-สุมาเต็กโซ ถ้าพวกเขาตระหนักถึงสิ่งที่พวกเขามี โฉมหน้าประวัติศาสตร์อาจเปลี่ยนเป็นอีกแบบก็เป็นได้
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×