ข้อเท็จจริงเรื่องกบฏบวรเดช - ข้อเท็จจริงเรื่องกบฏบวรเดช นิยาย ข้อเท็จจริงเรื่องกบฏบวรเดช : Dek-D.com - Writer

    ข้อเท็จจริงเรื่องกบฏบวรเดช

    ความพยายามของกลุ่มศักดินาคลั่งเจ้าในการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475

    ผู้เข้าชมรวม

    2,909

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    4

    ผู้เข้าชมรวม


    2.9K

    ความคิดเห็น


    2

    คนติดตาม


    2
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  18 มิ.ย. 53 / 14:12 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น

    free counters
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
       ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีพ.ท.หลวงพิบูลสงครามเป็นกำลังสำคัญยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา การทำรัฐประหารของกลุ่มพระยาพหลพลหยุหเสนาและพวก ไม่เป็นที่พอใจอย่างยิ่งของพระองค์เจ้าบวรเดชและขุนนางทั้งหลาย ตลอดจนนายทหารบางพวกที่ยังจงรักภักดีกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
      โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์เจ้าบวรเดชไม่พอพระทัยกลุ่มคณะราษฎร์ ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีกรณีนายถวัติ ฤทธิ์เดช ได้เป็นโจทย์ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เชื้อพระวงศ์มีความเคียดแค้นยิ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนหลวงประดิษฐ์ฯกลับสู่ประเทศไทย และมีการเชิญให้เข้าเป็นรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ ทำให้คาดการณ์ได้ว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี จะต้องก่อความเดือดร้อนให้กับเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และผู้ที่จงรักภักดีต่อระบบกษัตริย์อย่างแน่นอน

      เพื่อความอยู่รอด ..... พระองค์เจ้าบวรเดชตัดสินพระทัยทำการปฏิวัติ ด้วยการรวบรวมผู้จงรักภักดีในทางการทหาร มีการประชุมหารืออยู่บ่อยครั้ง แต่การเคลื่อนไหวของพระองค์และพวก คณะราษฎร์ได้ติดตามอยู่ตลอดเวลา และเพื่อให้พระองค์ล้มเลิกความคิดเช่นนั้น พันเอกหลวงพิบูลสงคราม จึงได้ยื่นคำขาดแก่พระองค์ ดังมีความว่า 

      "......ในฐานะที่ข้าพเจ้า เป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อย จึงขอเตือนให้ท่านจงสงบจิตสงบใจ หากท่านยังจุ้นจ้านอีก คณะราษฎร์ตกลงจะทำอย่างรุนแรงและจำต้องถือเอาความสงบของบ้านเมืองเป็นกฎหมายสูงสุดในการทำแก่ทาน ที่กล่าวมานี้มิใช่เป็นการขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาด้วยความหวังดี " 

      คำขาดที่ว่านี้มีไปถึงบุคคลที่คิดก่อการ ดังเช่น พระองค์เจ้าบวรเดช พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ ม.จ. วงศ์ เนรชร ม.จ. ไขแสง ระพีพัฒน์ ม.จ. โสภณ ภาราไดย์ พระยาอธิกรณ์ประกาศ พระศราภัยพิพัฒน์ ทุกพระองค์และทุกคนพากันเข้าพบหลวงพิบูลสงครามและหลวงศุภชลาศัยที่วังปารุสกวันเพื่อเคลียร์ตัวเอง เว้นพระองค์เดียว คือ พระองค์เจ้าบวรเดช พระองค์ยังคงเดินทางไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพฯและจังหวัดนครราชสีมา

      รัฐบาลคลายความหนักใจลงบ้าง เพราะมีการเตือนพวกคิดก่อการไปแล้วคาดว่า ในช่วงนั้นคงไม่มีเหตุการณ์อะไรขึ้นมาแน่นอน ....... แต่รัฐบาลคิดผิด! 

      วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๗๖ พระองค์เจ้าบวรเดช พร้อมด้วยพลตรีพระยาเสนาสงคราม พลตรีพระยาจินดาจักรรัตน์ พลตรีพระยาทรงอักษร พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม พันเอกพระยาเทพสงคราม พันเอกพระยาฤทธิ์รณเฉท พันเอกพระยาศรีสรศักดิ์ ได้เล็ดลอดหลบหลีกการติดตามสายลับของรัฐบาล มุ่งหน้าสู่นครสวรรค์โดยทางรถไฟ และได้พบกับพระยาไชยเยนทร์ฤทธิรงค์ ซึ่งเป็นนายทหารนอกราชการและคิดก่อการในครั้งนี้ด้วย

      ผู้ก่อการวางแผนยึดนครราชสีมาโดยทหารที่ยังจงรักภักดีต่อพระองค์เจ้าบวรเดช พร้อมกับเกณฑ์ทหารจากหัวเมือง อย่างเช่น อุบลราชธานี เข้าร่วม แต่ส่วนใหญ่หัวเมืองต่างๆไหวตัวทัน เพราะเชื่อว่าพวกตนโดนหลอก พระยานายกนรชุน ผู้ว่าการจังหวัดนครราชสีมา ไม่คิดสังหรณ์ใจสักนิดว่าในช่วงวันที่ ๘ และ ๙ ตุลาคมนั้น กองทหารในจังหวัดมีการเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติและแล้วเช้าวันที่ ๑๐ ตุลาคม ที่ชาวเมืองนครราชสีมาจะไม่มีวันลืม

      เวลา ๐๙.๐๐ น. ทหารกลุ่มหนึ่งอาวุธครบมือ ปืนเล็กยาวติดดาบปลายปืนตรงเข้ายึดศาลากลางจังหวัด โดยการนำของพันตำรวจตรีหลวงชาญนิคม นายตำรวจนอกราชการ เข้าคุมตัวผู้ว่าการจังหวัด คุมตัวเจ้าหน้าที่กองคลัง ทั้งยังคุมตัวหลวงเดชาติวงศ์ นายพิศิษฐ อรรถจินดา เจ้าหน้าที่กองรถไฟหลวง ไปคุมตัวไว้ที่กองทหารพร้อมกับข้าราชการใหญ่น้อยอีกหลายท่าน ที่กองทหาร พระองค์เจ้าบวรเดชแจ้งให้ข้าราชการใหญ่น้อยได้ทราบว่า ทางกรุงเทพฯเกิดเหตุร้าย รัฐบาลจะเอาระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้และยกเลิกไม่มีพระมหากษัตริย์ จึงต้องนำทหารเข้าไปปราบปราม ขอให้บรรดาข้าราชการจงปฏิบัติไปตามหน้าที่อย่าได้กระทำการใดเป็นที่ขัดขวางเป็นอันขาด
      จากนั้นได้ปล่อยให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยออกไปปฏิบัติหน้าที่ แต่ยังคุมตัว พ.ต.อ พระขจัดทารุณกรรม ผู้บังคับกองตำรวจนครราชสีมา ร.อ. โจมพินาศ ร.อ. หลวงไกรสงคราม หลวงเดชาติวงศ์ หลวงสถล ถ่องวีรชัย หลวงสุนทร ธนะรัตน์ นายเชาว์ ชัยเวช นายพิษฐ์ อรรถจินดา ร.อ. ขุนศรี ศรากร ม.ร.ว ลาภหัสดิน

      ขณะที่ชาวบ้านในเมืองโคราชกำลงสับสนอยู่นั้น ฝ่ายทหารได้ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลจำนวนมากขึ้นรถไฟที่สถานีจิระ นครราชสีมา ใช้ขบวนรถถึง ๓ ขบวนเป็นงวดแรกออกเดินทางเข้ากรุงเทพฯและมีจัดทัพเตรียมขนสิ่งบำรุงเพิ่มเติมอยู่เป็นระยะๆ

      บ่ายสองโมงของวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ ทหารจากนครราชสีมาอุบลราชธานี สระบุรี และอยุธยา ได้เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานีรถไฟบางเขนและดอนเมือง
      การปฏิวัติของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากนายทหารนอกราชการซึ่งเคยเป็นลูกน้องของพระองค์ แต่ได้ถูกปลดออกจากราชการเมื่อครั้งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ แต่คนเหล่านี้ยังมีบารมีทางทหารเป็นอันมากอันได้แก่
      พลตรี พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว อี๋ นพวงศ์) พลตรีพระยาทรงอักษร (นายเจิม อาวุธ) พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (นายดิ่น ท่าราบ) พันเอกพระยาฤทธิรงค์รณเฉท (นายทองคำ ไทไชโย) พันเอกพระยาไชเยนทร์ฤทธิ์รงค์ (นายอึ่ง โพธิกกนิษฐ์) พระยาศรีสรศักดิ์ (นายทองอยู่ ตุกานนท์)
      ทันทีที่พระองค์เจ้าบวรเดชเข้ายึดดอนเมือง และวัดแคราย ฝ่ายรัฐบาลก็ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำการอารักขาบรรดาสถานทูตต่างๆไว้อย่างเข้มแข็ง และส่งทหารไปให้ความอารักขาบุคคลสำคัญๆของรัฐบาลสมัยพระยามโนปกรณ์ฯ เช่นพระองค์เจ้าอลงกต พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ พระยาเทพหัสดินฯ ส่วนพระยาศราภัยพิพัฒน์ได้หลบหนีไปเสียก่อน

      ในตอนค่ำ ทางรัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ออกแถลงการณ์ให้ประชาชนได้ทราบทั่วประเทศมีใจความว่า พระองค์เจ้าบวรเดช พระยาศรีสิทธิสงคราม พระยาเทพสงคราม เป็นกบฏต่อแผ่นดิน และพยายามล้มล้างระบอบประชาธิปไตยยกเลิกรัฐธรรมนูญ และสถาปนาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม

      วันที่ ๑๒ ตุลาคม เวลา ๐๔.๐๐ น. ทหารฝ่ายกบฏได้เคลื่อนกำลังส่วนหนึ่งเข้ายึดวัดแครายทางทิศใต้ ห่างจากสถานีบางเขน ๓๐๐ เมตร
      ฝ่ายรัฐบาลได้รวบรวมกำลังทหารในพระนคร จัดเป็นกองผสม มีทหารรวม ๓ กองพัน ทหารม้า ๑ กองพัน กับปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขึ้นอยู่กับการบังคับบัญชาของพันโทหลวงพิบูลสงคราม เข้ายึดแนวสถานีบางซื่อ สนามเป้า สามเสน มักกะสัน

      ในตอนบ่ายวันเดียวกันนั้น พวกกบฏได้ใช้เครื่องบินทำการบินเหนือพระนครเพื่อเป็นการขู่ขวัญและสืบการเคลื่อนไหว รัฐบาลได้ใช้ปืนต่อสู้อากาศยานยิงสกัดเพื่อไม่ให้เครื่องบินฝ่ายกบฏบินลงมาต่ำ

      ในช่วงสองวันมานี้ ฝ่ายกบฏได้ยื่นข้อเสนอ โดยให้นาวาเอกพระยาแสงสิทธิการ เป็นผู้ถือหนังสือยื่นคำขาดเสนอกับรัฐบาลความว่า

      คณะรัฐมนตรีปล่อยให้คนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเอาหลวงประดิษฐ์มนูธรรม กลับมาเพื่อดำเนินการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จึงขอให้คณะรัฐบาลถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งภายใน ๑ ชั่วโมง มิฉะนั้นจะใช้กำลังบังคับ และจะเข้ายึดการปกครองชั่วคราว จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งไม่มีนายทหารประจำการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

      คณะรัฐบาลพากันประชุมเครียดถึงข้อเสนอฝ่ายกบฏ เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่า รัฐบาลนี้ก็ปกครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งยังประกาศยืนยันไม่เอาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯมาใช้ ดูแล้วข้อเสนอของพวกกบฏเป็นอุบายใช้กำลังมาบีบรัฐบาล และเห็นควรต่อต้านปราบปรามพวกกบฏเหล่านี้

      ดังนั้นรัฐบาลจึงทำการจับกุมนาวาเอกพระยาแสงสิทธิการในฐานะสมคบกับพวกกบฏ
      และเย็นวันที่ ๑๒ ตุลาคม ฝ่ายรัฐบาลได้เริ่มผลักดันฝ่ายกบฏให้ออกจากพระนคร ด้วยการใช้ปืนใหญ่ตั้งยิงจากสถานีบางซื่อเข้าถล่มกบฏจนกระทั่งมือ

      วันที่ ๑๓ ตุลาคม รัฐบาลใช้ปืนใหญ่ถล่มกบฏอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายกบฏก็ตอบโต้ด้วยปืนใหญ่ที่ขนมาจากสระบุรีเช่นกัน พอตกเย็นพวกกบฏเริ่มถอยออกจากวัดแคราย ไปยึดแนวคลองบางเขน นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ทราบมาอีกว่า กองทหารที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก ราชบุรี ลพบุรี ไม่ได้เข้ากับพวกกบฏ คงมีแต่กองทหารจังหวัดนครสวรรค์ หน่วยปืนใหญ่ของพลตรี ม.ร.ว พระยาเสนาสงคราม ได้นำกำลังลงมา แต่ได้ถูกทหารที่โคกกระเทียม ลพบุรี สกัดเอาไว้ ทหารจากนครสวรรค์จึงกลับเข้าที่ตั้ง และยอมให้ปลดอาวุธในเวลาต่อมา ในตอนค่ำ กองทหารบางส่วนจากจังหวัดปราจีนบุรี เดินทางเข้าสู่พระนครร่วมมือกับรัฐบาลปราบปรามกบฏในคืนนั้นอย่างต่อเนื่อง

      วันที่ ๑๔ ตุลาคม การต่อสู้ได้ทวีความรุนแรง ตั้งแต่ใกล้รุ่งจนสว่างคาตา ในที่สุดเข้ารบประชิดตัว ทหารรัฐบาลไล่ยิงพวกกบฏจนต้องถอยร่นออกจากแนวคลองบางเขนอย่างอลหม่าน ทิ้งปืนใหญ่ไว้ ๓ กระบอก ปืนกลหนัก ปืนกลเบาและเครื่องมือสื่อสารตลอดจนยุทธปัจจัยต่างๆมากมาย ตอนค่ำ กองทหารปืนใหญ่จากราชบุรี โดยการนำของพันโทพระชัยศรแผลง ได้เดินทางโดยรถไฟมาถึงพระนคร แต่ก็ต้องถูกส่งกลับในทันทีพร้อมด้วยกำลังผสมจากพระนครอีกจำนวนหนึ่ง เพราะทราบข่าวมาว่า.....กองทหารจากเพชรบุรีเป็นฝ่ายกบฏ เตรียมที่จะยกกำลังเข้ามาสมทบตีกระหนาบล่างของพระนคร

      วันที่ ๑๕ ตุลาคม กองทหารฝ่ายรัฐบาลได้รุกคืบหน้าเข้าสู่หลักสี่อย่างช้าๆเพราะฝ่ายกบฏต่อต้านสุดกำลัง ส่วนทางจังหวัดราชบุรี กองทหารจากเพชรบุรีซึ่งเข้ากับฝ่ายกบฏได้เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานีรถไฟบ้านน้อย พ.ท. พิชัย ศรแผลง ผู้บังคับบัญชากองกำลังผสมได้จัดวางกำลังปืนใหญ่พร้อมด้วยอาวุธหนักเบา เพื่อรักษาเมืองราชบุรีไว้ นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้านโป่งและกาญจนบุรีได้เตรียมพร้อมรับมือกับทหารเพชรบุรีเช่นกัน

      วันที่ ๑๖ ตุลาคม ทหารกบฏค่อยๆถอยจากหลักสี่ไปดอนเมือง และบางส่วนได้ขึ้นรถไฟจากดอนเมืองถอยไปอยุธยาและสระบุรี ทิ้งกำลังส่วนน้อยไว้ยันทหารรัฐบาล ตอนเที่ยง รัฐบาลยึดหลักสี่ได้ และมุ่งตรงเข้ายึดดอนเมืองได้ในตอนบ่ายสอง ทหารรัฐบาลยึดเครื่องบินและยุทโธปกรณ์ไว้มากมาย และสามารถจับตัวพวกกบฏไว้ได้จำนวนหนึ่ง ส่วนทางอยุธยา รัฐบาลได้ส่งเรือสุริยมณฑลไปยึดเมืองอยุธยาไว้ได้
      ทางจังหวัดเพชรบุรี ทหารกบฏได้ถอยจากสถานีบ้านน้อยกลับเข้าตัวเมืองเพชรบุรียึดเป็นที่มั่นเอาไว้

      วันที่ ๑๗ ตุลาคม รัฐบาลได้จัดระเบียบที่ดอนเมือง อยุธยา และปลดอาวุธทหารกบฏ พร้อมกับผลัดเปลี่ยนกองทหารเข้าทำการใหม่

      อย่างที่กล่าวมาแล้ว ทหารฝ่ายกบฏส่วนใหญ่ถูกหลอกให้ทำการปฏิวัติ ในเมืองนครราชสีมาเองก็เริ่มวุ่นวาย ทหารบางส่วนเริ่มไม่แน่ใจสถานการณ์ ข่าวทหารฝ่ายกบฏถอยร่นมาถึงปากช่อง ความปั่นป่วนจึงเกิดขึ้นกับเหล่าก่อการกบฏ

      ๐๔.๐๐ น. เช้ามืดของวันที่ ๑๗ พระประยุทธอริยั่น กบฏคนสำคัญคนหนึ่งได้ปรากฏตัวในที่คุมขังที่ใช้ควบคุมตัว พ.ต.อ. พระขจัดทารุณกรรม ผู้บังคับการตำรวจและพวก เพื่อปลดปล่อยพวกเขาเหล่านั้น พร้อมกับกล่าวว่า ......

      " ผมขอลาออก และเลิกทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ทำไปแล้ว จะปล่อยให้ทุกคนออกไปเดี๋ยวนี้ ขอให้รีบหนีไปให้พ้นโคราชก่อนโมงเช้า มิฉะนั้นก็ไม่รับรองเหมือนกันว่า ชีวิตข้างหน้าของพวกคุณจะเป็นเช่นไร "

      เมื่อเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่พ้นจากที่คุมขัง ได้มาคิดวางแผนกู้เอานครราชสีมากลับคืนมาจากพวกกบฏทันที โดยยึดเอาสถานีตำรวจกลับคืนมาได้อย่างง่ายดาย เพราะมีทหารคุมเพียงไม่กี่คน และใช้ที่นี่เป็นกองบัญชาการต่อไป
      ๑๐.๐๐ น. วันเดียวกัน ชาวโคราชก็ต้องตกใจ เมื่อขบวนรถไฟบรรทุกทหารแน่นขนัด ซึ่งทหารหน่วยนี้อยู่ในการบังคับบัญชาของ พ.ต.หลวงพลเดชวิสัย แห่งกองพันทหารราบที่ ๑๗ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นกองกำลังหนุนของฝ่ายกบฏ เขายอมรับกับ พ.ต.อ พระขจัดฯที่ยึดเมืองโคราชกลับคืนมาแล้วว่า ถูกพระองค์เจ้าบวรเดชและพระศรีสิทธิสงคราม หลอกมาให้รบกับรัฐบาล และยังเล่าต่อไปว่า ขณะนี้กำลังฝ่ายกบฏได้ถอยร่นมาเป็นระยะๆในไม่ช้านี้จะแตกพ่ายกลับเข้านครราชสีมา กองทหารอุบลฯกองนี้ได้ถอยมาจากปากช่อง ขณะที่ถอยมานั้นได้รื้อรางรถไฟออกเพื่อไม่ให้ทหารกบฏพระองค์เจ้าบวรเดชตามมานครราชสีมาได้สะดวก ในตอนบ่าย ทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจังหวัดนครราชสีมาได้หารือกับพันตรีหลวงพลเดชวิสัย หากฝ่ายกบฏถอยมาถึงโคราชเมื่อไหร่ กองทหารที่มีอยู่คงต้านไว้ไม่อยู่ สู้ถอยไปตั้งมั่นที่เมืองอุบลฯซึ่งมีกองกำลังสนับสนุนและอาวุธมากมาย เพียงพอกับการต่อกรกับพวกกบฏ จึงมีมติถอยไปตั้งหลักที่อุบลฯตอนบ่ายสามโมงส่วนทางด้านจังหวัดราชบุรีได้รับทหารกองพันผสมจากกรุงเทพฯเพิ่มเติมและเคลื่อนตัวเข้าหาพวกกบฏที่จังหวัดเพชรบุรี พวกกบฏยอมแพ้แต่โดยดีและบางส่วนถูกควบคุมตัว

      วันที่ ๑๘ ตุลาคม กองกำลังรัฐบาลได้เขายึดชุมทางบ้านพาชีไว้ได้ตอน ๔ โมงเย็น พระองค์เจ้าบวรเดชถอยไปอยู่ที่สระบุรีทางนครราชสีมา กำลังตำรวจที่พระขจัดทารุณกรรมคุมการต่อต้านพวกกบฏไม่ให้เข้าเมือง แต่ต่อต้านไว้ไม่อยู่ต้องถอยไปรวมกันอยู่ที่อุบลฯ ขณะเดียวกันพระองค์เจ้าบวรเดชทรงแค้นพระทัยที่กองทหารราบที่ ๑๗ ซึ่งเป็นกองหนุนจากอุบลฯไม่ยอมเข้าช่วยเหลือ ทั้งยังทำการยึดเมืองโคราชคืนเสียอีกก่อนยกกลับเมืองอุบลฯ พระองค์จึงให้พระยาเสนาสงครามคุมกำลังทหาร ๔๐๐ คน ขึ้นไปยึดจังหวัดบุรีรัมย์ไว้เป็นที่มั่นโจมตีจังหวัดอุบลฯต่อไป ทางจังหวัดอุดรธานี จัดเตรียมกองกำลังทหารเพื่อช่วยฝ่ายรัฐบาลปราบกบฏโดยจะเดินทางมาขอนแก่น

      วันที่ ๑๙ ตุลาคม รุ่งเช้าของวันนี้รัฐบาลเข้าตีพวกกบฏจนถอยออกจากสระบุรี ไปตั้งมั่นอยู่ที่แก่งคอยทหารจากจังหวัดอุดรฯ ส่งกำลังส่วนย่อยเข้ายึดกีดกันพวกกบฏที่กิ่งไผ่จังหวัดขอนแก่น ทางอุบลฯส่งกองกำลังส่วนย่อยเช่นกัน ซึ่งประกอบด้วยทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และอาสาสมัคร เข้ามากั้นพวกกบฏที่จังหวัดสุรินทร์

      วันที่ ๒๐ ตุลาคม ทหารรัฐบาลเข้ายึดแก่งคอย โดยพวกกบฏถอยไปคุมเชิงที่บัวใหญ่

      วันที่ ๒๑ ตุลาคม ฝ่ายรัฐบาลค่อยรุกคืบคลานได้ทีละน้อย และส่งหน่วยย่อยซึ่งมีทหารเรือร่วมด้วยขึ้นไปยังทับกวาง พวกกบฏถอนกำลังส่วนใหญ่ไปไว้ที่ปากช่อง โดยวางกำลังส่วนน้อยไว้ที่ทับกวางและหินลับ ในส่วนต่างจังหวัดสถานการณ์คงอยู่ในสภาพเดิม และบัดนี้รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ส่วนใหญ่ไว้ได้แล้ว กองกำลังต่างจังหวัดพร้อมรับโทรเลขจากพระนครเพื่อออกกวาดล้างกบฏ

      วันที่ ๒๒ ตุลาคม กำลังส่วนหน้าของรัฐบาลได้เคลื่อนตัวถึงหลักกิโลเมตรที่ ๑๔๐ ห่างจากหินลับเพียง ๔ กิโลเมตรเท่านั้น สภาพต่างจังหวัดยังคงเหมือนเดิมคงมีกองทหารจังหวัดปราจีนบุรีประมาณ ๑ หมวด ทำการลาดตระเวนที่จังหวัดนครนายก เพื่อคอยสกัดจับพวกกบฏที่หนีแตกทัพ

      วันที่ ๒๓ ตุลาคม เป็นวันชี้เป็นชี้ตายของทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างใช้อาวุธนานาชนิดเข้าโรมรันกันตลอดทั้งวัน โดยทางรัฐบาลมุ่งเข้ายึดหินลับจากพวกกบฏให้ได้ การรบถึงขั้นตะลุมบอน พระยาสิทธิสงคราม มือขวาของพระองค์เจ้าบวรเดช ถูกยิงตายในสนามรบ ทางอุบลฯ พวกกบฏเข้ายึดจังหวัดบุรีรัมย์ กองกำลังรัฐบาลยึดลำเปรี๊ยะไว้เป็นที่มั่น ทางอุดรธานี กองทหารรัฐบาลเข้าตีฝ่ายกบฏที่ยึดอำเภอพล จังหวัดขอนแก่นแตกพ่ายไม่เป็นขบวน ทางช่องตะโก ทหารรัฐบาลจากปราจีนบุรีส่งกำลังทหารราบ ๑ กองร้อยเข้าคุมสถานการณ์ ทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ทหารเรือได้ส่งเรือเร็วไปรักษาไว้

      ข่าวการรบพุ่งที่หินลับและความพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏ จนทหารเอกพระยาศรีสิทธิสงครามตายในที่รบ สร้างความตระหนกให้แก่เหล่าทหารกบฏที่ปากช่องและฐานที่มั่นใหญ่ที่โคราช พระองค์เจ้าบวรเดชถึงกันครุ่นคิดหนัก

      วันที่ ๒๔ ตุลาคม ทหารกบฏที่ปากช่องยอมยกธงขาวเพราะต้านทหารรัฐบาลไม่อยู่ ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชเสด็จขึ้นเครื่องบินออกนอกประเทศ ทางด้านจังหวัดบุรีรัมย์ ทหารกบฏอันมีพระยาเสนาสงคราม พันเอกพระยาเทพสงคราม พันโทพระยาปัจนึกพินาศ พันเอกพระไชยเยนทร์ฤทธิรงค์ หลวงลบบาดาล หลวงจรูญฤทธิไกร พากันหนีทัพเอาตัวรอด ทิ้งหลวงหาญรอนรบไว้ที่บุรีรัมย์ หลวงหาญฯรู้ตัวว่าถูกเพื่อนพ้องหลอกและพากันเอาตัวรอดไปแล้ว จึงประกาศยอมแพ้ ทหารของรัฐบาลเข้าปลดอาวุธนายทหาร นายสิบ พลทหาร รวมทั้งสิ้น ๔๒๓ คน สำหรับฝ่ายรัฐบาลมีทหารเสียชีวิตทั้งสิ้น ๑๕ คน บาดเจ็บอีก ๔๙ คน 

      สรุป การพยายามยึดอำนาจของพระองค์เจ้าบวรเดช หรือที่เรียกว่า “กบฏบวรเดช”มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

      1.มีทหารบาดเจ็บล้มตายและทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก นายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของฝ่ายกบฏถูกยิงตายในที่รบคือ พันเอกพระยาสิทธิสงคราม

      2.เหตุผลของฝ่ายกบฏเป็นเหตุผลที่ดีเช่นการห้ามข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมือง การแต่งตั้งและถอดถอนรัฐบาลต้องทำตามรัฐธรรมนูญ

      3.ทหารเรือประกาศตัวเป็นกลางในการสู้รบ เมื่อการรบจบลงแล้วผู้บัญชาการทหารเรือถูกปลดจากตำแหน่งและรองผู้บัญชาการทหารเรือคือนาวาโทหลวงศุภชลาศัยถูกย้ายไปเป็นอธิบดีกรมพลศึกษา ถ้าไม่ใช่ผู้ก่อการคนหนึ่งนาวาโทหลวงศุภชลาศัยก็คงถูกปลดจากราชการไปแล้วเหตุการณ์ครั้งนี้เริ่มแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกันระหว่างฝ่ายทหารกับทหารเรือ

      4.รัฐบาลของพระยาพหลพลฯ จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 การเลือกตั้งมีขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 มีสมาชิกสภาทั้งสิ้น 78 คน ส่วน ส.ส.ประเภท 2 นั้น พระยาพหลฯ เป็นผู้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าให้รัชกาลที่ 7 ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งจำวน 78 คนเท่ากัน ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ส. ประเภท 2 ถึง 47 คนรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้ง 2 ประเภท ได้ประชุมกันและเลือกพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คงต้องเป็นเช่นนั้นเพราะ ส.ส. ประเภท 2ก็คือคนที่ฝ่ายพระยาพหลฯเป็นผู้คัดเลือกทั้งสิ้น

      ที่มา กบฏเมืองสยาม / เพลิง ภูผา

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×