พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่๗ - พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่๗ นิยาย พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่๗ : Dek-D.com - Writer

    พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่๗

    เผยข้อเท็จจริงที่ซ่อนเร้นอยู่ในจดหมาย

    ผู้เข้าชมรวม

    1,059

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    5

    ผู้เข้าชมรวม


    1.05K

    ความคิดเห็น


    1

    คนติดตาม


    1
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  18 มิ.ย. 53 / 14:06 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น

    free counters
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      ปี ๒๔๗๕ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นมีความแตกแยกทางความคิดในคณะราษฎร์ระหว่างกลุ่มพันเอกพระยาพหลฯ,ปรีดี,รท.แปลก ขีตะสังคะ(จอมพล ป.)และสมาชิกคณะราษฎรส่วนใหญ่ และกลุ่มพันเอกพระยาทรงสุรเดชและอีก2ทหารเสือกับสมาชิกคณะราษฎรจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนพระยามโนปกรณ์ฯ

      ปี ๒๔๗๖ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ใช้อำนาจเผด็จการในรัฐสภา; พระยาพหลพลพยุหเสนา ทำการรัฐประหารครั้งแรก; เกิดกบฏบวรเดช เป็นกบฎครั้งแรก
      ปี ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ สละราชสมบัติ เมื่อคราวเสด็จประพาสอังกฤษ เพื่อทรงรับการถวายการผ่าตัดพระเนตรด้านซ้าย

      เอกสารอ้างอิงอื่นๆ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ (20 MB pdf) แต่ไม่มีพระราชหัตถเลขาที่สละราชสมบัติ ซึ่งเมื่ออ่านแล้ว ก็พอเข้าใจได้ ว่าทำไมรัฐบาลในสมัยนั้นจึงไม่นำมารวม

      ผมอ่านแล้วจึงอยากอัญเชิญพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ มาตีพิมพ์ไว้เพื่อให้มีเอกสารอ้างอิงแบบออนไลน์ดังนี้ครับ

      บ้านโนล, แครนลี, ประเทศอังกฤษ.

      เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา กับพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง โดยใช้กำลังทหารในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.​๒๔๗๕ แล้วได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้นเพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯ และพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลาย ซึ่งใช้การปกครองตามแบบนั้นเพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆ อันจะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนี้อยู่แล้ว และกำลังจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปนั้น โดยมิได้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้วและเมื่อผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนี้เป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นไปได้ แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง และจากรัฐธรรมนูญทั้ง ๒​ ฉะบับจะพึงเห็นได้ว่าอำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่างๆนั้นจะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกพ้องเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนราษฎรได้เป็นผู้เลือก เช่นในฉะบับชั่วคราวแสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ จะไม่ให้เป็นผู้แทนราษฎรเลย ฉะบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำขอร้องของข้าพเจ้า แต่ก็ยังมีสมาชิกซึ่งตนเลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่ง ๑ การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก ๒ ประเภทก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงานและชำนาญในวิธีการดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วๆ ไป ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ นอกจากนี้คณะผู้ก่อการบางส่วนได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการณ์เศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง จึงเกิดแตกร้าวกันขึ้นเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง จนต้องมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยคำแนะนำของรัฐบาลซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น ทั้งนี้เป็นเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหลฯ กับพวกก็กลับเข้ายึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ ๒ และตั้งแต่นั้นมา ความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นไปโดยราบรื่นก็ลดน้อยลง.

      เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนมิได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ จึงเป็นเหตุให้มีการขบถขึ้น ถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองในระหว่างคนไทย.

      เมื่อข้าพเจ้าได้ขอร้องให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเสียให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริงเพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน คณะรัฐบาล และพวกซึ่งกุมอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ ก็ไม่ยอม ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการและนโยบายอันสำคัญมีผลได้เสียแก่พลเมือง รัฐบาลก็ไม่ยินยอม และแม้แต่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญ เช่นเรื่องคำร้องขอต่างๆ ของข้าพเจ้า สมาชิกก็ไม่ได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องโดยถ่องแท้และละเอียดละออเสียก่อน เพราะถูกเร่งรัดให้ลงมติอย่างรีบด่วนภายในวาระประชุมเดียว นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฏหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคลซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมืองในทางที่ผิดยุติธรรมของโลก คือไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผย ซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ในเมื่ออำนาจอันสิทธิ์ขาดยังอยู่ในมือของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกวิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม.

      ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุติธรรมจามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามข้าพเจ้าต่อไปได้.

      ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก้ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร.

      บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิ์ออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้วข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์.

      ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใด ให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไปตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิที่จะทำได้ตามกฏมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์.

      อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศเพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า หากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เป็นไปโดยความยินยอมเห็นชอบหรือสนับสนุนของข้าพเจ้า.

      ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ตามความตั้งใจและความหวัง ซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญและขอประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย.

      (พระปรมาภิธัย) ประชาธิปก. ปร.

      วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

      เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที.

      การพิมพ์ตัวหนา ตัวสะกด และเครื่องหมายวรรคตอน เป็นไปตามที่ปรากฏในหนังสือ

      อ่านแล้วได้อะไรไหมครับ

      ห้าวันต่อมา รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีมีโทรเลขส่งไปอังกฤษเพื่อกราบบังคมทูล ความว่า

      วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

      อรรคราชฑูตสยาม

      ลอนดอน

      โปรดนำความต่อไปนี้ กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จะพระปรมินทรมหาประชาธิปก-

      “รัฐบาลได้รับพระราชหัตถเลขา ทรงสละราชสมบัติแล้วด้วยความโทมนัส รัฐบาลได้นำพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับทราบไว้ด้วยความโทมนัส

      สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์ สืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามความในมาตรา ๙ แห่งรัฐธรรมนูญ และโดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์อยู่ สภาผู้แทนราษฎร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ แห่งรัฐธรรมนูญ ได้ลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์​ประกอบด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ เป็นประธาน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช

      รัฐบาลของถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกและสมเด็จพระบรทราชินีรำไพพรรณี ขอให้คงทรงพระสำราญอยู่ตลอดไป.

      (ลงนาม) นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

      นายกรัฐมนตรี.


      ปกติกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญจะต้องดำรงในความเป็นกลางไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองอย่างแท้จริง และต้องไม่พึงกล่าวในสิ่งที่ชี้นำความเห็นทางการเมืองอย่างชัดแจ้งเช่นนี้ ขอให้ไปคิดพิจารณาเองนะครับ

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×