ปรากฎการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ในเครือข่ายสังคมออนไลน์
เครือข่ายสังคมออนไลน์ สร้างความแตกแยกมากกว่าสมานฉันท์ จากผลศึกษาของโครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม(Media Monitor)
ผู้เข้าชมรวม
1,291
ผู้เข้าชมเดือนนี้
0
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ ตรวจสอบ ปรากฏการณ์การใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการชุมนุมระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 30 เมษายน 2553 ด้วยวิธีการวิจัยเนื้อหา (content analysis) ผ่าน 4 กลุ่มช่องทางสื่อใหม่อย่างเว็บเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ดพันทิป และการใช้ฟอร์เวิร์ดเมล์
ผลการศึกษา พบว่า มีการใช้พื้นที่สื่อออนไลน์เพื่อการสื่อสารทางการเมืองในระดับกว้าง และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ในสื่อไมโครเว็บอย่าง “เฟซบุ๊ค”. ซึ่งมีลักษณะของการรวมกลุ่มรณรงค์ต่อต้านการชุมนุมและสนับสนุนรัฐบาลไม่ให้ยุบสภาค่อนข้างสูงมากกว่ากลุ่มสนับสนุนเสื้อแดง การเชื่อมโยงจับกลุ่มทางออนไลน์ยังนำไปสู่การรวมตัวกันในโลกจริง เพื่อทำกิจกรรมรณรงค์และแสดงพลังทางการเมืองหลายด้าน
เฟซบุ๊คได้กลายมาเป็นพื้นที่แห่งการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มที่ตรงข้ามกัน มีการเข้าไปตรวจสอบความคิดเห็นทางการเมืองแต่ละฝ่าย การตรวจสอบเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และนำเอามาถ่ายทอดต่อในกลุ่มของตนเพื่อแจ้งข่าวสารยังสมาชิก ในลักษณะประจาน ประณามและขอให้ช่วยกันลงโทษทางสังคมออนไลน์ และมีการนำข้อมูลส่วนตัวของบุคคลดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อในอีเมล์, เว็บบอร์ด เพื่อให้รับรู้กันในสาธารณะ ซึ่งมีกรณีที่นำไปสู่การจับกุม การไล่ออกจากสถานที่ทำงาน และการไม่คบค้าสมาคม-ปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง
ขณะที่สื่อทวิตเตอร์นั้น โดดเด่นไปการใช้งานเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเกาะติด ต่อเนื่อง โดยมีนักข่าว/ผู้สื่อข่าวเป็นผู้ทรงอิทธิพลในข่าวสารมากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวในเครือเนชั่น
ส่วนพื้นที่เว็บบอร์ดสาธารณะในพันทิป ก็มีการตั้งกระตู้หลายพันกระทู้ในช่วงเกิดเหตุการณ์ชุมนุม และได้กลายเป็นพื้นที่วิวาทกรรมทางความคิดการเมือง พื้นที่แห่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางความขัดแย้งทางการเมืองหลายๆ กรณี มีการเชื่อมโยง ระดมข้อมูลข่าวสารจากพลเมืองเน็ตมากมายเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง การใช้ความรู้ ข้อเท็จจริงมาหักล้างซึ่งกันและกันอย่างเสรี ขณะที่การแสดงความคิดเห็นบางส่วนก็มีทั้งช่วยกันเสริมสร้างความสมานฉันท์ ความเข้าใจและส่วนหนึ่งก็ได้กลายเป็นพื้นที่วิพากษ์ วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างดุดัน แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และสะท้อนความเกลียดชัง ผ่านภาษาเชิงเหยียดหยาม ประณาม
และยังมีการใช้ฟอร์เวิร์ดเมล์เพื่อการสื่อสารให้ข้อมูลทางการเมืองในลักษณะชี้แจง แฉ วิพากษ์วิจารณ์ เบื้องลึกเบื้องหลังเหตุการณ์การชุมนุมของคนกลุ่มเสื้อแดง, พฤติกรรมของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในการตีตนเสมอเจ้าหรือการกระทำที่คิดล้มล้างสถาบัน-คดีคอร์รัปชั่นในอดีต, เบื้องหลังความรุนแรงของการชุมนุมของคนเสื้อแดง, กลุ่มบุคคล-องค์กร-สื่อเว็บไซต์ ที่เผยแพร่ความคิดล้มสถาบันกษัติรย์
การศึกษาพบว่า การใช้สื่อออนไลน์เพื่อการสื่อสารความขัดแย้งทางการเมือง กลายเป็นพื้นที่ของการโต้ตอบ ต่อสู้ เอาชนะกันทางการเมือง ระหว่างคนชนชั้นกลางและกลุ่มผู้ชุมนุม, ระหว่างผู้สนับสนุนรัฐบาลและผู้ต่อต้าน แม้จะมีเนื้อหาจากฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง/นปช. บ้าง แต่ก็พบค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจมาจากสาเหตุที่รัฐควบคุม หรือสั่งปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท ปลุกระดม และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และสะท้อนว่าผู้คนที่ใช้สื่อออนไลน์ในเชิงสันติวิธี การหาทางออกและข้อเสนอแนะของวิกฤติปัญหาทางการเมืองนั้นยังอยู่ในระดับที่ไม่เข้มข้น
ผลการศึกษา แบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ดังนี้
1. กลุ่มรณรงค์ทางการเมืองผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ “facebook” พบ 45 เว็บไซต์ โดยกลุ่มที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดคือ กลุ่ม “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคนต่อต้านการยุบสภา” เป้าหมายหลักของการตั้งกลุ่มการเมืองผ่านเว็บเฟซบุ๊ค คือการสื่อสารรวมกลุ่มความคิดทางการเมือง การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การรายงานข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวของการชุมนุม และจุดเด่นคือการวิพากษ์วิจารณ์อภิปรายและจัดกิจกรรมแสดงพลังทางการเมือง
กลุ่มความคิดทางการเมืองหลัก คือ “กลุ่มที่ไม่สนับสนันกลุ่มคนเสื้อแดง” และมีกิจกรรมทางสังคม/การเมืองที่หลากหลายกว่า เช่น การนัดรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ
การใช้ภาษาที่มีระดับตั้งแต่สุภาพไปจนระดับหยาบคาย รุนแรง และมีกรณีการประณาม ประจาน กลุ่มผู้ที่ให้ข้อมูลในเชิงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยการเชื่อมโยงกับอีเมล์และส่งต่อๆ กันไป นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับกลุ่ม “Social Sanction” ที่เน้นปฏิบัติการประณาม ประจาน และสืบค้นข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำมาเผยแพร่ และ ลงโทษทางสังคมออนไลน์
ขณะที่กลุ่มสนับสนุนคนเสื้อแดงก็มีการใช้ข้อมูลโต้ตอบกับฝ่ายตรงข้าม และพยายามให้ข้อมูลเชิงบวกต่อกลุ่มคนเสื้อแดงกันเอง รวมทั้งอาจมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อไทยและต่างประเทศ และยังมีเว็บเฟซบุ๊คที่เน้นกระบวนการเชิงสันติวิธี เช่น เครือข่ายสันติวิธี ที่ออกแถลงการณ์และทำกิจกรรมเฝ้าระวังการสื่อข่าวการชุมนุมอย่างแข็งขัน
กลุ่มอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสื่อสารเชิงเสียดสี ประชดประชันกิจกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในลักษณะเน้นผ่อนคลายบรรยากาศ เช่น กลุ่มคนเสื้อใน, กลุ่มคนเสื้อแพง, กลุ่มคนอย่าเอาสีเสื้อไปโยงกับการเมืองได้มั๊ย ในตู้เสื้อผ้าไม่เหลืออะไรให้ใส่แล้ว
การสื่อสารในเว็บเฟซบุ๊คค่อนข้างเป็นไปอย่างรุนแรง มีลักษณะการแบ่งแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน มีการด่าทอ ประณาม ตำหนิ วิพากษณ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นไปตามวัตถุปะสงค์ของการตั้งกลุ่ม พบว่ามีการตักเตือนเรื่องการใช้ภาษาบ้าง แต่ก็อาจถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีข้อความสื่อสารทั้งในเชิงสมานฉันท์และสร้างความเกลียดชังไปพร้อมๆ กัน
2. ผู้ทรงอิทธิผลข่าวสารทางการเมืองข้อมูลข่าวสารผ่านไมโครเว็บ “twitter”จาก 20 อันดับ ผู้ที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดในทวิตเตอร์ (ข้อมูลจาก lab/thaitrend) เป็นนักข่าวทั้งหมด 10 คน สังกัดเครือเนชั่นมากที่สุดถึง 8 คน ที่เหลือเป็นบุคคลจากวงการต่างๆ เช่น ดารา นักร้อง นักเขียน ฯลฯ โดยมีสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ที่คนอ้างอิงมากที่สุด
เนื้อหาที่พบในการทวิตเตอร์ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือ 1. กลุ่มเนื้อหาที่เน้นเผยแพร่ข่าวการเมือง ส่วนมากเจ้าของทวิตเตอร์ที่เน้นเนื้อหากลุ่มนี้พบว่าเป็นนักข่าวหรือองค์กรสื่อ 2. กลุ่มเนื้อหาที่เน้นวิพากษ์วิจารณ์การเมือง แต่มีเนื้อหาด้านอื่นสอดแทรก เช่น การพูดคุย ทักทายเรื่องทั่วไปในกลุ่มผู้ที่ติดตาม การพูดคุยเรื่องกีฬา เรื่องชีวิตประจำวันทั่วไป 3. กลุ่มเนื้อหาที่เน้นข้อมูลการจราจร เช่น ศูนย์วิทยุ จส.100 4. กลุ่มเนื้อหาที่เน้นด้านธรรมะ และ 5.กลุ่มเนื้อหาที่เน้นพูดคุยทั่วไปและ ความคิดเห็นทางการเมือง
เป้าหมายของการสื่อสาร เพื่อ 1) สื่อข่าวให้ประชาชนทั่วไปที่ใช้ทวิตเตอร์ได้รับข้อมูลข่าวสารทางการเมือง และ 2) ใช้เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ
ลักษณะการใช้ภาษาในทวิตเตอร์ คือ 2 รูปแบบ 1. ใช้ภาษาสนทนาทั่วไป หมายถึงใช้ภาษาพูดคุยทั่วไปและ 2. ใช้ภาษาในรูปแบบพาดหัวข่าว ซึ่งส่วนมากพบในทวิตเตอร์ของนักข่าว
การจัดกลุ่มของผู้ใช้ทวิตเตอร์ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ใช้ทวิตเตอร์ในนามส่วนตัว แต่ไม่บอกถึงสถานะการทำงานของตน 2) ใช้ทวิตเตอร์ในนามส่วนตัวและองค์กร เช่น สุทธิชัยหยุ่น นักข่าว, บรรณาธิการข่าวเครือเนชั่น, และ 3) ใช้ทวิตเตอร์ในนามองค์กร เช่น ศูนย์วิทยุ จส.100, ทวิตเตอร์ของไทยรัฐ, ทวิตเตอร์ของผู้จัดการของกรุงเทพธุรกิจ เป็นต้น
กลุ่มคำที่นิยมใช้ในการสื่อสารผ่านทวิตเตอร์ในช่วงการชุมนุมทางการเมือง ได้แก่ อภิสิทธิ์, เสื้อแดง, ยุบสภา, ชุมนุม, ฝนตก, ทักษิณ, เลือกตั้ง, ราชประสงค์, รถติด, เหวง, ปชป, สีลม
3. กระบวนการทางการเมืองผ่าน “เว็บบอร์ดสาธารณะ” พันทิป ดอตคอม แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มเนื้อหาสำคัญ
1) กระทู้เพื่อแจ้งข่าวสารเหตุการณ์ทั่วไป
2) กระทู้ที่เปิดโอกาสให้แสดงข้อมูล สืบค้น แสวงหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์
3) กระทู้ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสื่อสารกันภายในกลุ่ม
4) กระทู้ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพูดคุย เสนอแนะทางออกอย่างสันติวิธี/รณรงค์สร้างความสมานฉันท์
5) กระทู้ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อโจมตี วิพากษ์วิจารณ์ฝั่งตรงข้าม
พื้นที่ของเว็บบอร์ดพันทิปได้กลายเป็นเวทีสาธารณะทางความคิดเห็นทางการเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในโลกออนไลน์ จำนวนกระทู้ที่ถูกตั้งขึ้นหลายพันกระทู้ และหลายๆ กระทู้ที่โดดเด่นด้านการสืบค้น เสาะหา ตรวจสอบข้อเท็จจริง จากเหตุการณ์การปะทะ ระหว่างทหารและกลุ่มผู้ชมุนม หรือเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอื่นๆ ได้สร้างปรากฏการณ์ “นักข่าวไซเบอร์” (cyber journalism) ให้เกอดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
4. ฟอร์เวิร์ดเมล์การเมือง จากการสำรวจ พบฟอร์เวิร์ดเมล์ที่มีเนื้อหาทางการเมืองที่ถูกส่งต่อกันในช่วงที่มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แบ่งเป็น 3 ลักษณะเนื้อหา 1. วิพากษ์วิจารณ์ รณรงค์ต่อต้านกลุ่ม นปช. และทักษิณ ชิณวัตร 2. ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และ 3. วิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่หมิ่นสถาบันเบื้องสูง
ข้อเสนอแนะจากโครงการฯ สำหรับประชาชนและสื่อ: ควรมีความตระหนักและรู้เท่าทันการใช้สื่อออนไลน์ ดังนี้
1.ความน่าเชื่อถือของข้อมูล : พึงตระหนักว่าผู้ที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เว็บบอร์ด อาจไม่ได้เป็นผู้ที่เห็นเหตุการณ์นั้นจริง หรือมีวัตถุประสงค์อยู่เบื้องหลัง และสถานะ หรืออาชีพของบุคคลของผู้โพสต์ข้อความ ไม่ใช่สิ่งยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูล โดยเฉพาะผู้สื่อข่าว ควรตระหนักและเข้าใจว่า ข้อความที่ตนเองโพสต์ไว้ในที่ต่างๆ นั้น ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่าคนทั่วไป จึงควรมีความระมัดระวัง แยกแยะให้ชัดเจนระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นส่วนตัว
2.ความรวดเร็วของข้อมูล : พึงตระหนักว่า ความรวดเร็วของข้อมูลที่โพสต์ในในสื่อออนไลน์ อย่างรวดเร็วนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อมูลบางอย่างอาจไม่มีการตรวจสอบในเบื้องต้น อาจเป็นข่าวลือที่บอกต่อๆ กันมา ควรใช้วิจารณามากกว่าที่จะเชื่อถือเพียงเพราะความรวดเร็วของข้อมูล
การรับข่าวสารจากทวิตเตอร์ ควรใช้วิจารณญาณ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดในการหาประโยชน์โดยตรวจสอบข้อมูลก่อนเชื่อข้อความในทวิตเตอร์ เนื่องด้วยทวิตเตอร์เป็นสื่อใหม่ที่มีการแสดงความคิดเห็นได้รวดเร็ว ทำให้ข้อมูลข่าวสารอาจเป็นข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่ผิดพลาด หรือข้อมูลที่เอื้อ
ประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใด ดังนั้นก่อนเชื่อถือข้อมูลข่าวสารในทวิตเตอร์ ควรตรวจสอบก่อน โดยเปรียบเทียบกับสื่ออื่น เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์
3.การหมิ่นประมาทและการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล: พึงตระหนักว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ควรสงวนเอาไว้เพื่อปกปิด เช่น ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ ประวัติการทำงาน การศึกษา เป็นสิ่งที่จะละเมิดหรือนำเอาไปใช้เพื่อการสร้างความคุกคาม ข่มขู่ มิได้ ผู้เผยแพร่ด้วยการ เจาะสืบ (แฮคเกอร์) ผลิต ส่งต่อ เผยแพร่อาจมีความผิดตามพระ ราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
4. การแสดงความคิดเห็นบนพื้นที่สาธารณะ: พึงตระหนักว่าความคิดเห็นของผู้ใช้ อาจสร้างความรู้สึกเกลียดชัง การแบ่งแยก การสร้างความขัดแย้ง ผ่านการประณาม ด่าทอ การเหยียดหยามและหมิ่นประมาทผู้อื่น โดยภาษาหรือการตั้งกระทู้ที่ไม่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ และพึงตระหนักว่า พื้นที่สื่อออนไลน์อย่างเว็บบอร์ดสาธารณะ เว็บไซต์ส่วนตัวอย่างเฟซบุ๊ค ไฮไฟว์ ทวิตเตอร์ ฯลฯ เหล่านี้คือพื้นที่/ช่องทางการสื่อสารสาธารณะ ข้อมูลความคิดเห็นของผู้โพสต์จะไม่เป็นข้อมูลส่วนตัวอีกต่อไป การแสดงความคิดเห็นควรกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจและสุภาพ และตระหนักในผลที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น
1) ควรรณรงค์ให้เกิดกระทู้เพื่อพูดคุย เสนอแนะทางออกอย่างสันติวิธี/รณรงค์สร้างความสมานฉันท์ เป้าหมายเพื่อการรณรงค์สันติ ไม่ให้เกิดความแตกแยกแบ่งฝ่ายของกลุ่มคนต่างๆมากกว่าที่เป็นอยู่
2) เว็บมาสเตอร์หรือผู้ดูแล ควรมีการควบคุมในการแสดงความคิดเห็นที่โต้แย้ง-โจมตีกันให้มากขึ้น มากกว่าการให้สมาชิกเป็นผู้ควบคุมกระทู้กันเอง เพื่อไม่ให้เกิดการแบ่งกลุ่ม สร้างความเกลียดชัง แตกแยกภายในเว็บบอร์ด
3) ควรมีการควบคุมตรวจสอบข้อเท็จจริงของการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะการพาดพิงถึงบุคคลที่อื่น หรือในกระทู้ที่เปิดโอกาสให้แสดงข้อมูล สืบค้น แสวงหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ ว่าข้อมูลที่ถูกนำเสนอ มีความถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน เพียงพอหรือไม่ หรือถูกบิดเบือนข้อมูลอย่างไร
4) ควรรณรงค์ให้เรียกชื่อ หรือสรรพนามนำหน้าชื่อบุคคลที่ถูกพูดถึงอย่างสุภาพ แสดงความให้เกียรติกับผู้ที่ถูกกล่าวถึง งดเว้นการใช้ฉายาที่ไม่สุภาพหรือคำที่แสดงถึงการดูถูก เหยียดหยาม
5. อคติ ความเกลียดชัง ความรุนแรง: พึงตระหนักว่า พื้นที่สื่อออนไลน์นั้นเต็มไปด้วยข้อมูลหลากหลาย และไร้การควบคุมระดับความรุนแรงของเนื้อหา หน่วยงานรัฐหรือองค์กรอิสระด้านวิชาชีพสื่อหรือองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอาจไม่สามารถดูแลควบคุมได้ทั้งหมด ข้อมูลเนื้อหาจึงอาจแฝงไว้ด้วยเจตนาปลุกระดม สร้างอคติ ความเกลียดชังแก่บุคลหรือกลุ่มบุคคลใด จึงจำเป็นที่ต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูง
6. บทบาทสื่อใหม่ในการเสริมสร้างคุณภาพของความรู้ ความคิดเห็นเสรีที่หลากหลาย และการส่งเสริมการสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง: เจ้าของสื่อ ผู้ก่อตั้ง ทั้งในระดับองค์กรขนาดใหญ่ หรือส่วนบุคคล ผู้ให้บริการเนื้อหา เจ้าช่องทางการสื่อสาร และผู้ใช้สื่อออนไลน์ในระดับปัจจเจกชนทุกคน ควรมีความตระหนักรู้ถึงอิทธิพลและความสามารถของสื่อใหม่ และผลกระทบจากการใช้สื่อ ควรมีความเข้าใจร่วมกันว่า สื่อใหม่สามารถนำไปใช้ในทางที่จะเกิดประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว หลากหลาย เป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ เปิดโอกาสให้ความคิดเสรีได้ประจักษ์ ให้ความจริงได้ถูกแสวงหา ตรวจสอบ และนำเสนอ แต่เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกเหล่านี้ล้วนดำรงอยู่ได้ก็ด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบและจรรยาบรรณ ตลอดจนสำนึกแห่งความดี คุณธรรมและความถูกต้องเพื่อประโยชน์ของสังคม
( หมายเหตุ วิจัยโดย โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการเรียนรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม :Media Monitor )
ผลงานอื่นๆ ของ ชนชั้นเดียวกัน ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ ชนชั้นเดียวกัน
ความคิดเห็น