“What kinds of society is this where in one finds the most profound loneliness in the midst of millions of people?”
Karl Marx
คุณเคยสงสัยบ้างมั้ย ว่าทำไมในท่ามกลางเมืองใหญ่ที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คน ยังคงมีบางคนรู้สึกโดดเดี่ยว ,ทำไม? ในผับที่เสียงดัง อึกทึก ครึกโครม วุ่นวาย ยังมีบางคนกำลังอยู่กับความเงียบภายในใจ ,เพราะอะไร? คุณเคยรู้สึกมั้ยว่า ไม่ว่าคุณจะอ่านนิยายรักโรแมนติกเท่าไหร่ ฟังเพลงมากแค่ไหน แต่ก็ยังรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างขาดหาย อะไรบางอย่างข้างในใจลึก ๆ ที่คุณไม่สามารถที่จะเติมเต็มมันได้ นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า...ความเหงา
ความเหงา คืออะไร? หลายคนอาจกำลังมีคำถามอยู่ในใจลึก หลายคนไม่เคยรู้สึกว่าเหงา หลายคนเคยเหงา แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร และไม่รู้ว่ามันเกิดมาได้อย่างไร แล้วเราจะจัดการกับมันอย่างไรดี?
เราจะไม่สามารถทำอะไรกับความเหงาได้เลย หากเราไม่มาทำความเข้าใจกับมันให้ดีเสียก่อน หลายคนมักมองว่าสาเหตุที่คนเราเหงานั้น เป็นเพราะเราไม่มีเพื่อน หรือไม่มีการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว อ้างว้าง ไม่ได้หมายถึงการที่เรามีความสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อย แต่มันเป็นสภาพที่บุคคลรู้สึกไม่พึงพอใจกับสถานภาพของความสัมพันธ์นั้น ๆ มากกว่า พูดง่าย ๆ ก็คือ ความเหงา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีเพื่อนมากเท่าไหร่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราพึงพอใจกับเพื่อนที่เรามีอยู่มากเท่าไหร่ต่างหาก
Robert Weiss ได้นิยามความหมายของคำว่า ความเหงา(Loneliness) ไว้ว่า (Weiss ,1973 qouted in Vincenzi & Graboskt, 1987, pp.257-258)
ความเหงา คือ สถานะทางความรู้สึกและอารมณ์ของบุคคลที่มีระดับความไม่พึงพอใจต่อความสัมพันธ์ทางสังคม (ทั้งจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต) ซึ่งส่งผลต่อการแยกตัวจากสังคมในที่สุด รวมทั้งภาวะความเหงา(loneliness) อันเป็นผลมาจากการขาดรูปแบบของความสัมพันธ์ภายใน 6 ลักษณะ ดังนี้
1. ความรู้สึกปลอดภัยในการเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม (Attachments)
2. การมีเครือข่ายความสัมพันธ์ในสังคม ทั้งจากครอบครัวหรือเพื่อน (Social Integration)
3. ความรู้สึกรับผิดชอบต่อการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม (Opportunity for Nurturance)
4. การได้รับการยอมรับในทักษะหรือความสามารถของบุคคล (Reassurance of Worth)
5. การได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นในสังคม (Reliable Alliance)
6. การได้รับคำแนะนำปรึกษาจากบุคคลอื่นในสังคม (Guidance)
และถ้าถามถึงเรื่องความเหงา และภาวะแปลกแยกในทางจิตวิทยา เราก็จะได้คำอธิบายเกี่ยวกับคนที่รู้สึกเหงาจากนักจิตวิเคราะห์ว่า ลักษณะของคนเหงาที่แยกตัวออกมาจากสังคมนั้นเกิดจากการที่คน ๆ นั้นรู้สึกว่าตนเองด้อยค่า ไม่มีความสุขในความหมายของการมีชีวิต หรือถ้ามีก็มีน้อยกว่าคนอื่น ๆ นอกจากนี้คนที่รู้สึกเหงา มักจะเก็บตัว หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับตัวเอง เรียกว่ายิ่งรู้สึกเหงาเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเก็บตัวมากขึ้น และเมื่อเก็บตัวมากขึ้น ก็จะทำให้รู้สึกแปลกแยกไม่เป็นหนึ่งเดียวกับสังคมรอบข้าง ซึ่งก็ยิ่งจะมีผลให้เหงามากขึ้นตามไปด้วย
คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ อะไรที่เป็นตัวทำให้คนรู้สึกไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์? อะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเราขาดรูปแบบของความสัมพันธ์ 6 ลักษณะ ที่ Weiss กล่าวถึง? อะไรที่ทำให้คนเรารู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า และไม่มีความสุขในความหมายของการมีชีวิตอยู่? อะไรคือสาเหตุของความเหงา?
มีทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถนำมาอธิบายที่มาของความรู้สึกขาดหาย และแปลกแยกของคนได้ นั่นก็คือ ทฤษฎีสภาวะแปลกแยก (Alienation)
Karl Marx ได้อธิบายเกี่ยวกับความเหงาของผู้คนในสังคมทุนนิยมไว้ว่าต้นเหตุที่ทำให้คนในสังคมเหงา มันก็เป็นเพราะระบบการผลิตในสังคมแบบทุนนิยมนี่เอง ระบบการผลิตที่คนไม่มีสิทธิในสิ่งที่ตนเองเป็นคนผลิตขึ้นมา(นี่คือการแปลกแยกอย่างแรก แปลกแยกจากสิ่งที่ผลิต) คนเราถูกทำให้ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานที่เราไม่ชอบ แต่เป็นงานที่ได้เงิน ต้องเรียนในสิ่งที่เราไม่อยากเรียน เพียงเพื่อเวลาที่จบออกไปแล้วจะได้มีงานดี ๆ (ที่ได้เงินเยอะ)ทำ(นี่คือการแปลกแยกอย่างที่สอง แปลกแยกจากกระบวนการผลิต)
นอกจากนี้เรายังถูกกีดกันจากระบบการเมืองแบบตัวแทน ที่ทำให้เราต้องมอบทุกสิ่งทุกอย่างไปไว้ในการตัดสินใจของคนที่เราเลือกเข้าไปให้เป็นผู้แทนในสภา โดยที่เราไม่สามารถเลือก และ กำหนดวิถีทางการดำเนินชีวิตของเราได้เอง ทำให้ตัวเราเองรู้สึกไม่เป็นหนึ่งเดียวและรู้สึกไม่มีส่วนร่วมกับสังคมที่เราอยู่(แปลกแยกอย่างต่อมา แปลกแยกจากสังคมและมนุษย์คนอื่น ๆ) ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวแม้อยู่ท่ามกลางผู้คน จนกระทั่งนำไปสู่ความคิดที่ว่าเราเหงา เราไม่มีใคร เพราะเราไม่มีคุณค่าพอที่จะให้คนอื่นมาสนใจ ให้คนอื่นมารัก จนกลายเป็นความรู้สึกว้าเหว่(แปลกแยกอย่างสุดท้าย แปลกแยกจากตนเอง)
จากสิ่งที่ Marx อธิบายไว้ จะเห็นได้ว่า จริง ๆ แล้วคนเรานั้นถูกทำให้รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ทุกคนถูกทำให้รู้สึกว่า เรากับเขาไม่เหมือนกัน เราไม่ใช่เขา และเขาก็ไม่ใช่เรา ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรือเขาจะเป็นใคร แต่ต่างฝ่ายก็เป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมโลกเดียวกันทั้งนั้น แต่เราถูกระบบบ่มเพาะให้เกิดการแปลกแยกจากกันและกัน เราถูกระบบบ่มเพาะให้แปลกแยก แม้กระทั่งจากตัวเอง
มาถึงตรงนี้ อยากจะย้อนกลับขึ้นไปถึงคำถามที่ค้างเอาไว้ข้างต้น คือ แล้วเราจะจัดการกับความเหงาที่เกิดขึ้นอย่างไรดี? ขออนุญาตตอบด้วยข้อเขียนของคุณ วิทยากร เชียงกูล ในหนังสือ “ทางเลือกของสังคมไทย” แล้วกันนะคะ
"....คนทั่วไปมักมองว่า ความเหงาเป็นเพียงอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวของคนแต่ละคนในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต แต่ผมมองว่าอาจเป็นปรากฏการณ์ของสังคมที่สะท้อนอะไรบางอย่างก็ได้ ไม่ใช่เป็นเพียงความเหงาของคนหนุ่มสาวที่ไม่มีคู่รักหรืออกหัก หรือคนที่เข้ากับใครไม่ได้ ไม่มีเพื่อน แต่มันเป็นเหงาลึก ๆ ที่รู้สึกแปลกแยกกับสภาพสังคมที่เป็นอยู่ เป็นเรื่องราวของความขัดแย้ง ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เราจะไม่เหงา ไม่ว้าเหว่ ก็ต่อเมื่อเรามีความรู้สึกร่วมกับคนอื่น ๆ มีความรู้สึกที่เป็นมิตร เป็นพรรคพวกที่มีชะตากรรมร่วมกัน และไม่รู้สึกแปลกแยกแตกต่างจากคนอื่น ๆ ในสังคม ถ้าเราไม่ช่วยกันสร้างสังคม และชีวิตที่มีความหมายขึ้นมา เราจึงทำลายความเหงาลงได้อย่างแท้จริง เพราะความเหงาไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของคน ๆ หนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของคนในสังคมด้วย...."
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น