ไขปริศนา “13 หอคอย” พันปีเปรู ที่แท้ลานสังเกต “พระอาทิตย์” - ไขปริศนา “13 หอคอย” พันปีเปรู ที่แท้ลานสังเกต “พระอาทิตย์” นิยาย ไขปริศนา “13 หอคอย” พันปีเปรู ที่แท้ลานสังเกต “พระอาทิตย์” : Dek-D.com - Writer

    ไขปริศนา “13 หอคอย” พันปีเปรู ที่แท้ลานสังเกต “พระอาทิตย์”

    13 หอคอย ที่ค้นพบมากว่าศตวรรษ ในแหล่งโบราณคดีของเปรู คือหอสังเกตดวงอาทิตย์ เชื่อใช้เก็บข้อมูลบันทึกปฏิทินสุริยคติ นับเป็นอุปกรณ์ทางด้านดาราศาสตร์อายุกว่า 2,400 ปีที่มีขนาดใหญ่มากของชาวอินคา

    ผู้เข้าชมรวม

    1,461

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    7

    ผู้เข้าชมรวม


    1.46K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  11 มี.ค. 50 / 22:24 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      ที่มา www.manager.co.th

      13 หอคอย ที่ตั้งตระหง่านเรียงเป็นแนวเดียวกันไปตามสันเขาจากทิศเหนือไปใต้ ท้าทายกาลเวลามาหลายร้อยปี (ภาพโดย อีวาน เกซซี)
      บีซีนิวส์/แอลเอไทม์ส - นักโบราณคดีเพิ่งจะถึงบางอ้อกับ “13 หอคอย” ที่ค้นพบมากว่าศตวรรษ ตั้งเรียงรายอยู่ในแหล่งโบราณคดีของเปรูที่แท้เป็นหอสังเกตดวงอาทิตย์ เชื่อใช้เก็บข้อมูลบันทึกปฏิทินสุริยคติ นับเป็นอุปกรณ์ทางด้านดาราศาสตร์อายุกว่า 2,400 ปีที่มีขนาดใหญ่มากของชาวอินคา
             
             อาณาจักร “อินคา” อันเก่าแก่ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าโรมันโบราณ ครอบคลุมพื้นที่หลายประเทศในแถบอเมริกาใต้ มักมีเรื่องราวสร้างความประหลาดใจให้ชาวโลกอยู่เสมอ และท้าทายให้เหล่านักโบราณคดีมุ่งหน้าไปขุดค้นหาความจริงในอดีตที่เคยรุ่งเรืองมานานนับพันปี ไม่แพ้อิยิปต์
             
             “เธอร์ทีน ทาวเวอร์ส” (Thirteen Towers) หรือหอคอย 13 แท่ง ที่บริเวณแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี เมืองแชงกิลโล (Chankillo) ประเทศเปรู ปรากฏสู่สายตานักสำรวจมากว่าศตวรรษ นับเป็นอีกหนึ่งปริศนาสำคัญท้าทายนักโบราณคดีให้ช่วยกันค้นหาว่าสถานที่อายุกว่า 2,400 ปีแห่งนี้ ชาวอินคาสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร
             

             ล่าสุดคลิฟ รุกเกิลส์ (Clive Ruggles) ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์โบราณ มหาวิทยาลัยไลเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ (Leicester University, UK) ได้รายงานข้อสรุปฟันธงว่าหอคอย 13 แท่งที่ตั้งตระหง่านคาใจมาร้อยกว่าปีนั้นคือเครื่องมือทางดาราศาสตร์โบราณขนาดใหญ่ โดยเขาได้รายงานข้อสรุปร่วมกับทีมงานลงในวารสารไซน์ (Science) เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
             
             รุกเกิลส์ ให้ความเห็นว่า มีผู้พบเห็นหอคอยพวกนี้มานานนับร้อยปีแล้ว หรืออาจจะนานกว่านั้น แต่กลับไม่มีใครรู้เลยว่าสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ทำอะไร และเขาเองยังรู้สึกประหลาดใจมากตั้งแต่ได้เห็นครั้งแรก เพราะหอคอยถูกสร้างให้เรียงเป็นแนวเดียวกัน และยังครอบคลุมทิศทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น
             

             หอสังเกตการณ์นี้มีแท่งหินลักษณะคล้ายหอคอย 13 แท่งเรียงรายจากทิศเหนือไปใต้ตามแนวสันเขาบนเนินเขาเตี้ยๆ แต่ละหอมีบันไดคู่เวียนเป็นทางขึ้นไปสู่ยอด ซึ่งพื้นที่โดยรวมมีโครงสร้างลักษณะเป็นช่องว่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดระหว่าง 75 ตารางเมตรและ 125 ตารางเมตร ยื่นเข้ามาด้านใน มองดูคล้ายฟัน โดยแต่ละอันอยู่ห่างกันเป็นระยะทางเท่าๆ กัน
             
             ทั้งนี้ เชื่อว่าจุดสังเกตดวงอาทิตย์ 2 จุด น่าจะอยู่ห่างออกไปทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตกประมาณ 230 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่สามารถมองเห็นตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในช่วงเวลาตลอดหนึ่งปีอยู่ภายในระยะทางยาว 300 เมตรที่หอคอยเหล่านี้เรียงตัวกันอยู่
             

             “ถ้าหากเรายืนอยู่ตรงจุดสังเกตการณ์ทางด้านทิศตะวันตก จะมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกตอนเช้า แต่การปรากฏขึ้นตามแนวระยะทางที่หอคอยเรียงกันอยู่ จะขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลาในปีนั้น” รุกเกิลส์ยอดนักดาราศาสตร์โบราณอันดับต้นๆ ของโลกกล่าว
             
             “ช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุดในฤดูร้อน ซึ่งในเปรูจะตรงกับเดือนธันวาคม จะมองเห็นดวงอาทิตย์อยู่ทางด้านขวาของหอคอยทางขวาสุด ส่วนเดือนมิถุนายน ช่วงที่ดวงอาทิตย์ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากสุดในฤดูหนาว จะมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางด้านซ้ายของหอคอยที่อยู่ซ้ายสุด ส่วนช่วงเวลาระหว่างนั้นก็จะขึ้นและตกตามแนวของหอคอย” รุกเกิลส์ระบุไว้ในไซน์
             
             “จุดสังเกตการณ์ทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นจุดที่มีข้อจำกัดอย่างมาก คุณไม่สามารถไปยืนเฝ้ามองดูดวงอาทิตย์ ณ ตรงจุดนั้น 2 หรือ 3 คนได้เลย และจากหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ ก็บ่งชี้ว่า สถานที่ที่ใกล้เคียงจุดสังเกตการณ์นั้นใช้เป็นบริเวณสำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญต่างๆ” รุกเกิลส์กล่าว และชี้นัยว่า จะต้องมีใครสักคนหนึ่งที่มีความสำคัญมากๆ อาจเป็นพระหรือนักบวชก็เป็นได้ ที่เฝ้าสังเกตดวงอาทิตย์และเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากมายร่วมพิธีอยู่บริเวณลานกว้างโดยรอบ
             
             ”13 หอคอย” ที่นักศึกษาอารยธรรมอินคารู้จักกันดีมีพื้นที่ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำคาสมา-เซชิน (Casma-Sechin) แถบชายฝั่งเปรู เชื่อว่าน่าจะเคยใช้เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในช่วง 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช เพราะในบริเวณใกล้เคียงยังมีสิ่งปลูกสร้างคล้ายอาคารบ้านเรือนและแหล่งชุมชนรวมอยู่ด้วยมากมาย
             
             ทางด้าน อีวาน เกซซี (Professor Ivan Ghezzi) ศาสตราจารย์จากสถาบันวัฒนธรรมแห่งชาติเปรู (National Institute of Culture, Peru) ผู้ร่วมเขียนรายงาน ระบุว่า ประชาชนในสมัยโบราณนับถือดวงอาทิตย์เป็นเทพเจ้า และมีการสร้างหอสังเกตการณ์ไว้เพื่อสังเกตการโคจรของดวงอาทิตย์ และบันทึกวันสำคัญต่างๆ ลงในปฏิทินตามแบบสุริยคติ
             
             อย่างไรก็ดี หอสังเกตการณ์ปรากฎการณ์บนท้องฟ้าเก่าแก่ที่สุดก็ยังคงเป็นของหอที่อยู่ทางตอนเหนือของกรุงลิมาในเปรู ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 4,200 ปี แต่เธอร์ทีน ทาวเวอร์สนี้ถือเป็นสถานที่สังเกตการณ์บนฟากฟ้าที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในท้องฟ้าทางด้านตะวันตก
             
             หอสังเกตการณ์แห่งนี้เชื่อว่าสร้างขึ้นในยุคสมัยที่อาณาจักรอินคาเจริญรุ่งเรือง ไว้เพื่อประกอบพิธีกรรมและเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของชาวลัทธิบูชาดวงอาทิตย์
             
             อาณาจักรอินคาถือกำเนิดขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อนที่บริเวณเทือกเขาแอนดิส (Andes) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ชาวอินคาจึงเริ่มใช้เทคโนโลยี มีศาสนา การเมือง และการปกครองเป็นของตนเอง โดยมีคุซโค (Cuzco) เป็นเมืองหลวงที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 3,395 เมตร นับเป็นหนึ่งในเมืองที่อยู่สูงแห่งหนึ่งของโลก
             
             ชาวอินคานับถือดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และนับถือดวงดาวอื่นๆ เป็นเทพเจ้า จึงมักจะสร้างวิหารใหญ่โตอลังการเพื่อเป็นที่บวงสรวงดวงอาทิตย์ และใช้ในพิธีทางศาสนา ซึ่งบางครั้งอาจฆ่าคน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงเพื่อบูชาด้วย
             
             จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1532 อาณาจักรอินคาถึงกาลล่มสลาย เมื่อกองทัพล่าอาณานิคมของสเปนภายใต้การนำของนายพลฟรานซิสโก ปิซาร์โร (Francisco Pizarro) บุกยึด ปล้นสะดมภ์ ของมีค่าต่างๆ ไปหมดสิ้น รวมทั้งสังหารกษัตริย์ของอินคาด้วย และปกครองดินแดนนี้นานถึง 300 ปี ทำให้ชาวอินคาหมดสิ้นเผ่าพันธุ์ในที่สุด แต่แหล่งอารายธรรมโบราณของอินคาก็ยังคงค่อยๆ ถูกค้นพบและไขปริศนาต่อไป

      บันไดหอคอยที่ทอดยาวขึ้นสู่ยอด

      รุ่งอรุณที่สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ขึ้นอยู่ในแนวของ 13 หอคอย และเป็นเช่นนี้ทุกๆปีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล (ภาพโดย อีวาน เกซซี)

      บริเวณโดยรอบเมืองโบราณเมื่อมองจากมุมสูง มองเห็นคล้ายกำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ และมีป้อมสังเกตการณ์เป็นระยะคล้ายซี่ฟันยื่นเข้าไปข้างใน

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×