คนจนไม่ใช่ปัญหา (ขอ) อย่าเพิ่มปัญหาให้คนจน
มีหลายคนที่คิดว่าคนจนในชุมชนแออัดเป็นปัญหาของสังคมเมืองหลวง.... แต่ที่จริงแล้วเค้าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเมืองหลวงของเราเกิดสมดุล
ผู้เข้าชมรวม
119
ผู้เข้าชมเดือนนี้
3
ผู้เข้าชมรวม
ขณะที่เขียนบทความนี้ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไร นายกรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งหรือไม่ จะต้องเลือกตั้งอีกครั้งหรือยัง อย่างไรก็ตาม ปัญหาของประชาชนก็ยังคงอยู่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทย จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารปัจจุบันหรือกลุ่มใหม่ที่ต้องมีแนวทางในการแก้ไขอย่างถูกต้อง
จึงขอเสนอมุมมองในเรื่องการแก้ปัญหาชุมชนแออัดและการพัฒนาเมืองไว้แก่ผู้ที่จะทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป
วิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ที่ต้องการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองสวยงาม โดยเน้นให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ฟังดูผิวเผินอาจเป็นสิ่งที่ถูกใจชนชั้นกลางและคนมีฐานะ เพราะเมืองสวย ไม่มีชุมชนแออัด มีพื้นที่สีเขียวให้คนได้ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ
คนไม่จนคงเห็นว่าเข้าท่า เป็นภาพเมืองในฝันที่ปรารถนา
แต่ในความจริงวิสัยทัศน์ของนายกฯ คงจะเป็นเพียงฝันที่ไม่อาจเป็นจริง และยังเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนพี่น้องผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดเป็นอย่างยิ่ง หรือแม้ว่าหากมีอำนาจใดดลบันดาลให้ฝันเป็นจริงได้โดยชาวบ้านไม่เดือดร้อน ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งถึงลักษณะทางสังคมก็จะพบว่า มีความจริงบางอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องให้มีชุมชนแออัดอยู่ในเมืองกรุงต่อไป
คนที่กำลังคิดว่าเรื่องย้ายชุมชนแออัดเป็นปัญหาของคนจนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เดือดร้อน แค่ให้เงินชดเชยปัญหาทุกอย่างก็จบ....ขอให้คิดใหม่
คนจนคือทรัพยากรบุคคลหรือแรงงานหลักของสังคมเมือง คนกวาดถนน คนเก็บขยะ คนทำความสะอาด พนักงานขับรถ กระเป๋ารถเมล์ วินมอเตอร์ไซด์ เด็กโบกรถ คนงานเข็นผัก แม่ค้าขายข้าวแกง เขาเหล่านี้ไม่มีบ้านหรูคนโดฯสูง เขาอาศัยอยู่ในชุมชน แล้วถ้าเขาต้องย้ายออกไปอยู่นอกเมือง ใครจะกวาดถนน ใครจะทำความสะอาด ใครจะขับรถ ใครจะขายอาหารให้เรา
จะเป็นไปได้หรือที่เขานั่งรถจากนอกเมืองเข้ามาทำงานโดยเสียค่าเดินทางสูงพอๆกับรายได้ที่ได้รับในแต่ละวัน และถ้าไม่มีเขาเหล่านั้น คนในสังคมที่เหลือจะอยู่อย่างไร จะหาแรงงานจากไหน สมมติว่าไม่มีพนักงานเก็บและกวาดขยะ กทม. จะมีสภาพอย่างไร
ดังนั้น คนจนและชุมชนแออัด จึงเป็นของคู่กับกับสังคมเมือง ปัญหามิได้อยู่ที่คนจน แต่อยู่ที่จะทำอย่างไรให้ที่อยู่อาศัยของคนจนมีความน่าอยู่ และคนเมืองมีพื้นที่สีเขียวไว้หายใจ ข้อเสนอก็คือ รัฐบาลต้องหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และกระทบต่อคนจนให้น้อยที่สุด
หากมองเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว รัฐบาลมีทางออกอื่นที่ดีกว่าโดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อใครเลย นั่นคือการใช้พื้นที่ราชพัสดุให้เป็นประโยชน์ ข้อมูลจากผังเมือง กทม.สำรวจพบว่า มีพื้นที่ราชพัสดุ 1,233 แปลง ประมาณ 29,000 ไร่ (3% ของพื้นที่กทม.) สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นสวนธารณะหรือเพื่อวัตถุประสงค์ทางสังคมได้ เช่น พื้นที่ในเขตยานนาวา 6 ไร่ เขตหนองแขม 45 ไร่ และเขตบางบอน 177 ไร่
นายกรัฐมนตรีผู้เคยเป็นผู้ว่าฯ กทม. ไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้หรือ!!!!
และหากต้องการจัดระเบียบชุมชนก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องขับไล่คนออกจากพื้นที่แต่อย่างใด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและการเคหะสามารถเข้ามามีบทบาทในการทำให้ชุมชนมีความน่าอยู่ สะอาด และเป็นระเบียบได้ เช่น ปล่อยสินเชื่อเพื่อการปรับปรุงบ้าน จัดโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ลอกคลอง ปรับปรุงทางเดินและพื้นที่ในชุมชน
ทั้งนี้ สำคัญที่สุดคือ นโยบายของรัฐบาลต้องชัดเจน ข้าราชการต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ คนในชุมชนต้องร่วมแรงร่วมใจในการเดินหน้าพัฒนาชุมชนของตนเองให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
การประกาศว่าจะย้ายสลัม 1,700 แห่ง ออกจาก กทม. แม้จะเป็นคำพูดสั้นๆแต่เป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนจน และยังทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความวิตกกังวลกับความไม่มั่นคงในการดำเนินชีวิตยิ่งขึ้น ลำพังเรื่องปากท้องก็สาหัสอยู่แล้ว ยังต้องมาทุกข์ใจเรื่องที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง
ขอเป็นกำลังใจให้ชาวชุมชนมุ่งหน้าทำงานต่อไปอย่างมีความสุข ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องมาเป็นทุกข์เรื่องนี้ เพราะการย้ายชุมชนแออัดเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ต้องมีคณะกรรมการเข้ามาดูแลในเรื่องแผนการดำเนินงาน และการรับรองผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เดือดร้อน ไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริหารคนใดออกมาพูดวันนี้แล้ววันรุ่งขึ้นจะขับไล่
หากเป็นเช่นนี้ถือเป็นนโยบายที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ขัดต่อหลักมนุษยธรรมและผิดต่อรัฐธรรมนูญ คงไม่มีผู้บริหารคนใดอยากเอาตัวไปเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายในขณะที่ยังมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า.............................
บทความเรื่อง "คนจนไม่ใช่ปัญหา (ขอ) อย่าเพิ่มปัญหาให้คนจน" ได้ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11134 หน้า 6.
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ผลงานอื่นๆ ของ karnrada ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ karnrada
ความคิดเห็น