ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปเอเซีย

    ลำดับตอนที่ #24 : รัฐสุลต่านโอมาน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 329
      0
      9 ม.ค. 50



    แผนที่
    รัฐสุลต่านโอมาน
    The Sultanate of Oman


    [ Print ]
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้งและพื้นทื่ โอมานตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของคาบสมุทรอาระเบีย อยู่ติดกับทะเลอาระเบียและอ่าวโอมาน และใกล้ช่องแคบ Hormuz ซึ่งเป็นทางเข้าสู่อ่าวเปอร์เซีย พรมแดนด้านตะวันตกติดกับซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับฯ และเยเมน โอมานมีเนื้อที่ประมาณ 212,460 ตารางกิโลเมตร ลักษณะของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายและภูเขา มีชายฝั่งทะเลยาว 2,092 กิโลเมตร
    เมืองหลวง กรุงมัสกัต (Muscat)
    เมืองสำคัญ Matrah, Ruwi, Nizwa, Salalah, Sohar
    พลเมือง ประมาณ 3,234,500 คน (เม.ย. 2004) ส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับ(ร้อยละ 88) และคนเชื้อชาติอิหร่านและอินเดีย

    ศาสนา ร้อยละ 75 นับถือศาสนาอิสลามนิกาย Ibadhi นิกาย สุหนี่ และนิกายชีอะห์มีประมาณร้อยละ 7 ที่เหลือนับถือศาสนาฮินดูและคริสต์
    ภาษาร อาหรับ (ภาษาราชการ) อังกฤษ Baluchi Urdu
    สกุลเงิน โอมาน ริยัล (Omani Rial) 1 ดอลลาร์สรอ.= .385 ริยัล (มิ.ย. 2003) เท่ากับประมาณ 110 บาท
    รายได้ต่อหัว 8,100 ดอลลาร์สรอ. (2003)

    ระบบเศรษฐกิจ โอมานมีระบบเศรษฐกิจแบบเสรี การค้าส่วนใหญ่ดำเนินการโดยเอกชน
    GDP 23.6 พันล้านดอลลาร์สรอ. (2004)
    อัตราการเติบโตของ GDP ร้อยละ 4.2 (2004)
    อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 0.1 (2004)
    หนี้ต่างประเทศ 5.7 พันล้านเหรียญสรอ. (2002)
    เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 592 ล้านเหรียญสรอ. (1999)
    ผลิตผลหลักทางการเกษตร ใบยาสูบ กล้วย อินทผลัม มะนาว พืชผัก ต่าง ๆ อูฐ ปลา ฯลฯ
    อุตสาหกรรมหลัก การกลั่นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี ปุ๋ย การผลิตอาหาร ประมง
    ปริมาณน้ำมันสำรอง 5.5 พันล้านบาร์เรล (2003)
    ความสามารถในการผลิตน้ำมัน วันละ 843,208 บาร์เรล (2003)
    ปริมาณก๊าซสำรอง 29.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (2003)
    ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หินอ่อน สังกะสี เหล็ก Asbestos ทองแดง เหล็ก
    สินค้าออก น้ำมัน ปลา เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ
    สินค้าเข้า อุปกรณ์เครื่องจักรและการขนส่ง อาหาร ปศุสัตว์ ฯลฯ
    ประเทศคู่ค้าสำคัญ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร อิตาลี ไทย เยอรมนี

    การเมืองการปกครอง
    ประวัติศาสตร์
    สนธิสัญญามิตรภาพระหว่างอังกฤษและโอมานได้รับรองความเป็นเอกราชของโอมานเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2494 (ค.ศ. 1951) Sultan Said bin Taimur ปกครองประเทศในปี 2475 (ค.ศ. 1932) โดยยึดนโยบายอนุรักษ์นิยมและโดดเดี่ยวตัวเองจนกระทั่งปี 2513 (ค.ศ. 1970) เมื่อสุลต่าน Qaboos bin Said ขึ้นครองราชย์โดยกระทำการรัฐประหารพระบิดาแบบไม่นองเลือด พระองค์ได้ดำเนินนโยบายที่เน้นทางด้านการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญ ทรงเป็นนักพัฒนาตลอด30 กว่าปีที่ครองราชย์ ผลักดันการปฏิรูปทางการเมือง สนับสนุนสวัสดิการของประชาชน โอมานเคยมีความขัดแย้งกับเยเมนเหนือ จากการที่เยเมนเหนือให้การสนับสนุนฝ่ายกบฎแบ่งแยกดินแดนในจังหวัด Dhofar ซึ่งมีชือเรียกว่า The Popular Front for the Liberation of Oman (PFLO) และภายหลังการไกล่เกลี่ยของประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ได้มีการลงนามในความตกลงฟื้นฟูสัมพันธภาพในปี 2525 (ค.ศ. 1982) ต่อมา ได้มีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในเดือนตุลาคม 2526 (ค.ศ. 1983) อย่างไรก็ดี ได้เกิดการปะทะตามแนวชายแดนระหว่างประเทศทั้งสองอีกครั้งเมื่อปี 2531 (ค.ศ. 1988) แต่ภายหลังได้ตกลงที่จะลงนามในความตกลงเรื่องพรมแดนระหว่างกัน

    ระบบการเมืองการปกครอง
    ระบบการเมือง
    โอมานมีระบบการปกครองแบบราชาธิปไตย (monarchy) โดยสุลต่านแห่งรัฐมีอำนาจสูงสุดในทุกด้าน อำนาจบริหารอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) ซึ่งองค์สุลต่านจะทรงแต่งตั้ง ในด้านนิติบัญญัติ มีสภาโอมาน (Council of Oman) ทำหน้าที่เป็นเสมือนรัฐสภา ประกอบด้วยสภาสูง (สภา Majlis Addawla หรือ State Council ตั้งขึ้นจากพระราชดำริขององค์สุลต่านกาบูสเมื่อเดือนตุลาคม 2540) สมาชิกมาจากการแต่งตั้ง 48 คน และสภาล่าง (Majlis Ash’Shura หรือConsultative Council) สมาชิกมาจากการเลือกตั้งจำนวน 83 คน (การเลือกตั้งครั้งแรกมีขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2540 องค์สุลต่านทรงมีอำนาจตัดสินผลการเลือกตั้งในขั้นสุดท้าย) ทั้งสองสภาทำหน้าที่กลั่นกรองร่างกฏหมาย ให้ข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจ (ยกเว้นด้านการปิโตรเลียม) และสังคมแก่รัฐบาล แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ อำนาจด้านตุลาการอยู่ที่ศาลสูงสุด (Supreme Court)เมื่อเดือนพ.ย. 2539 (ค.ศ. 1996) สุลต่าน Qaboos ได้ประกาศออกกฎหมาย Basic Law ซึ่งอาจถือเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโอมานได้นับแต่เริ่มครองราชย์เมื่อปี 2513 (ค.ศ. 1970) สุลต่าน Qaboos ทรงกำหนดเป้าหมายการปกครองประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะแก่รัฐบาล โดยมีรัฐสภาเป็นเวทีปรึกษาหารือ และทำงานร่วมกับรัฐบาล
    ประมุขของรัฐ H.M. Sultan Qaboos Bin Said Al Said (23 ก.ค. 1970)สุลต่านแห่งรัฐสุลต่านโอมาน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม การต่างประเทศ และการคลัง

    บุคคลสำคัญในด้านการบริหารของโอมาน
    1. H.M. Sultan Qaboos Bin Said สุลต่านแห่งรัฐสุลต่านโอมาน นายกรัฐมนตรี
    (The Prime Minister)
    2. H.H. Sayyid Fahad bin Mahmoud Al Said รองนายกรัฐมนตรีด้านคณะรัฐมนตรี
    (Deputy Prime Minister for the Council of Ministers)
    3. H.E. Sayyid Badr bin Saud bin Hareb รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
    (Minister Responsible for Defence Affairs)
    4. H.E. Yousef bin Alawi bin Abdullah รัฐมนตรีรับผิดชอบการต่างประเทศ
    (Minister Responsible for Foreign Affairs)
    5. H.E. Sayyid Ali Bin Hamoud Bin Ali al Busaidi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
    (Minister of the Interior)

    นโยบายต่างประเทศ
    โอมานเป็นประเทศอาหรับที่ดำเนินนโยบายสายกลาง มีความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และโลกตะวันตก สำหรับประเทศคอมมิวนิสต์นั้น โอมานมีความสัมพันธ์กับจีนและได้มีการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับโซเวียตเมื่อเดือนกันยายน 2528 (ค.ศ. 1985) หลักการด้านการต่างประเทศของโอมาน ได้แก่ การแสวงหาสันติภาพและความผาสุก มีความยืดหยุ่น ยึดหลักเหตุและผล ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองภายในของประเทศอื่น ไม่นำมิติศาสนาหรืออุดมการณ์เข้ามาเกี่ยวโยงกับนโยบายต่างประเทศ เพิ่มพูนความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาหรับและกลุ่มมุสลิม โดยเน้นความสำคัญแก่คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) เป็นพิเศษ
    เกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์ โอมานมีท่าทีเช่นเดียวกับซาอุดีอาระเบียและประเทศอาหรับอื่น ๆ โดยสนับสนุนการเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลางและสนับสนุนสิทธิอันชอบธรรมของชาวอาหรับที่จะได้คืนดินแดนที่ถูกยึดครองเมื่อปี 2510 (ค.ศ. 1967) รวมทั้งสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ที่จะกำหนดใจตนเอง และมีรัฐเอกราชเป็นของตนเอง โดยมีเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง อย่างไรก็ตาม โอมานมีการดำเนินนโยบายที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากกลุ่มประเทศอาหรับ อาทิ การธำรงความสัมพันธ์กับอียิปต์ เมื่อครั้งอียิปต์ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอลในปี 2522 และการที่โอมานเป็นประเทศอาหรับประเทศเดียวในกลุ่ม GCC ที่ให้การรับรองข้อตกลงระหว่างอิสราเอลและเลบานอนเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2526 เกี่ยวกับการถอนทหารต่างชาติออกจากเลบานอน โอมานยังได้ร่วมกับกลุ่ม GCC ให้การสนับสนุนการประชุมสันติภาพในตะวันออกกลาง รวมทั้งการประชุมสันติภาพตะวันออกกลางระดับภูมิภาคที่มอสโก เมื่อเดือนม.ค. 2535 ในเดือนเม.ย. 2537 โอมานได้เป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมของคณะทำงานว่าด้วยเรื่องน้ำของกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางอีกด้วย
    ในส่วนภูมิภาค รัฐบาลโอมานได้พยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค อาทิ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และผลักดันให้มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิรัก รวมถึงการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับเยเมนซึ่งเคยมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในอดีต ปัจจุบัน โอมานได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง

    นโยบายด้านความมั่นคงของประเทศ
    ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ได้เกิดความตึงเครียดขึ้นในภูมิภาคซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี 2521-2522 (ค.ศ. 1978-1979) สงครามอิรัก-อิหร่านเมื่อปี 2523 (ค.ศ. 1980) รวมทั้งอิทธิพลของโซเวียตในเยเมนเหนือและการคงกำลังทหารโซเวียตในอัฟกานิสถาน ก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่โอมานและประเทศในภูมิภาคอ่าวอาหรับทั้งหมด ในเดือน กุมภาพันธ์ 2523 องค์สุลต่านจึงตกลงในหลักการที่จะให้เกาะ Masirah ซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของโอมานเป็นฐานทัพของกองกำลังสหรัฐฯ ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินและต่อมาในเดือนมิถุนายน 2523 ทั้งสองประเทศได้ลงนามในสัญญาป้องกันร่วมกัน สาระสำคัญของสัญญาฯ คือ สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจแก่โอมาน รวมทั้งการมีภาระผูกพันต่อความมั่นคงของโอมานด้วย โดยแลกกับการที่โอมานอนุญาตให้กองกำลังทหารของสหรัฐฯ ใช้ฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศของตนในอ่าวได้ และจากการที่สงครามอิรัก-อิหร่านขยายตัวและเพิ่มความรุนแรงขึ้น โอมานก็ได้กระชับความสัมพันธ์กับกลุ่ม NATO ในเดือนสิงหาคม 2528 (ค.ศ. 1985) รวมทั้งเพิ่มงบประมาณทางด้านการป้องกันประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม โอมานก็ยังคงต้องการที่จะรักษานโยบายสายกลางของตนไว้ โดยจะเห็นได้จากการเข้าร่วมในการก่อตั้งคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับในเดือนพฤษภาคม 2524(ค.ศ.1981) ซึ่งนอกจากจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมุ่งที่จะจัดตั้งระบบการป้องกันร่วมกันในภูมิภาคอ่าวอาหรับด้วย

    สมาชิกภาพในองค์การระหว่างประเทศ
    - องค์การสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษต่าง ๆ ขององค์การฯ และมีคณะผู้แทนถาวรประจำอยู่
    - สันนิบาตอาหรับ (Arab League)
    - องค์การการประชุมอิสลาม (OIC)
    - กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement)
    - คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC)
    - องค์การการค้าโลก (WTO)

    เศรษฐกิจการค้า
    ระบบเศรษฐกิจ
    เศรษฐกิจของโอมาน ก่อนเริ่มการผลิตน้ำมัน เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาสินค้าเกษตรและประมงแบบพอประทังชีพ (subsistence agriculture) อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันเชิงพาณิชย์ ซึ่งเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2510 (ค.ศ. 1967) ทำให้เกิดการหักเหในการพัฒนาประเทศ จากสังคมที่พึ่งผลผลิตทางการเกษตร มาเป็นการพึ่งพาน้ำมันเป็นสินค้าออก รายได้มหาศาลจากการขายน้ำมันดิบถูกนำมาใช้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง นับแต่ปี 2518 (ค.ศ. 1975) เป็นต้นมา จนปัจจุบัน โอมานได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่รวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในโลก
    แม้ว่าโอมานจะมีทรัพยากรน้ำมันไม่มากเท่าประเทศเพื่อนบ้านรัฐริมอ่าวอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง แต่เมื่อไม่นานมานี้ โอมานได้พบน้ำมันเพิ่มขึ้น มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำมันสำรองในประเทศได้เพิ่มขึ้นจาก 2.9 พันล้านบาร์เรล ในเดือนมกราคม 2525 (ค.ศ.1982) เป็น 5.5 พันล้านบาร์เรลในปลายปี 2543 (ค.ศ. 2000) มีบ่อน้ำมันทั้งที่อยู่ภายนอกและภายในชายฝั่งจำนวนมากถึง 95 บ่อ ในปี 2543 โอมานมีรายได้สุทธิจากการขายน้ำมันเป็นเงิน 3,731.4 พันล้าน ริยัลโอมาน (ประมาณ 373,100 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2542 (ค.ศ. 1999) ร้อยละ 57.7 ทั้งนี้ น้ำมันเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้แก่รัฐในสัดส่วนมากถึงร้อยละ 80 และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 75 ของสินค้าออก หรือประมาณร้อยละ 50 ของ GDP นอกจากนี้ โอมานยังมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองจำนวน 45 พันล้านลูกบาศ์กฟุต โอมานพบก๊าซธรรมชาติครั้งแรกเมื่อปี 2532 (ค.ศ. 1989) โดยกลุ่มบริษัท Shell เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้และเสนอโครงการก่อสร้างโรงงาน ต่อมาในปี 2537 (ค.ศ. 1994) จึงมีการจัดตั้งบริษัท Oman LNG LLC ขึ้น โดยรัฐบาลโอมานถือหุ้นรายใหญ่ (ร้อยละ 51) ทำสัญญาซื้อขายก๊าซกับบริษัทต่างชาติต่าง ๆ รัฐบาลโอมานมีรายได้จากการขายก๊าซในปี 2543 ประมาณ 174.6 ล้านริยัลโอมาน (ประมาณ 17,400 ล้านบาท) ปัจจุบันรัฐบาลโอมานมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมภาคก๊าซธรรมชาติในการสร้างรายได้ ลดการพึ่งพาน้ำมันดิบ และสนองนโยบายสร้างงานให้ชาวโอมาน (Omanization)

    โอมานตระหนักดีถึงผลเสียของการพึ่งพารายได้จากน้ำมันในอัตราที่สูงเช่นนี้ จึงมีนโยบายกระจายฐานเศรษฐกิจ (diversification) เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมา อาทิ การเน้นกลยุทธ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยสินค้าออกเป็นตัวนำ (export-led growth) การพัฒนาอุตสาหกรรมสาขาอื่นที่มิใช่น้ำมัน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ โดยส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศในอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมทั้งนโยบายส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาดำเนินกิจการของรัฐ (privatization) นโยบายเหล่านี้ ได้รับการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันโอมานกำลังเข้าสู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (ค.ศ. 2001-2005) นอกจากกลยุทธ์กระจายฐานเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลโอมานยังมีนโยบายส่งเสริมการใช้แรงงานคนชาติ (Omanization) เป็นนโยบายด้านแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีอัตราการเพิ่มตัวของประชากรสูง และมีประชากรในวัยเรียนวัยทำงานเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น โอมานจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการฝึกอบรมคนชาติของตนให้มีทักษะความชำนาญในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมภาคบริการ (การท่องเที่ยว การโรงแรม การธนาคาร ฯลฯ)
    โอมานมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ โดยออกกฏหมายอนุญาตให้บริษัทต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการได้ทั้งหมด ในโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 5 แสนริยัล (ประมาณ 5 ล้านบาท) และต้องเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของโอมาน ปัจจุบัน องค์สุลต่านแห่งโอมาน กำลังจะปรับเปลี่ยนกฏหมายดังกล่าวให้ผ่อนคลายลงอีก รวมทั้งเปิดสาขาทางเศรษฐกิจสำหรับต่างชาติให้กว้างขึ้นด้วย ปัจจุบัน โอมานได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติที่เสรีมากที่สุดในอ่าวอาหรับ
    ในด้านภาษีภายในนั้น โอมานไม่มีการเก็บภาษีภายในใด ๆ เลย อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีสรรพสามิต เป็นต้น จะมีแต่เพียงภาษีรายได้ที่เก็บจากกำไรจากการดำเนินธุรกิจเท่านั้นการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ขององค์การการค้าโลก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2543 จะช่วยให้เศรษฐกิจของโอมานเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้อย่างสมบูรณ์ และทำให้ประเทศคู่ค้าและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโอมานมากขึ้น อันจะช่วยเพิ่มโอกาสของการลงทุนของต่างชาติในโอมาน อย่างไรก็ดี การเป็นสมาชิก WTO จะส่งผลให้ธุรกิจในประเทศต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันจากต่างประเทศ ทั้งด้านการค้าและการบริการ รุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาครัฐและเอกชนโอมานต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้ด้วย

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐสุลต่านโอมาน
    ด้านการเมือง
    -- โอมานกับไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2523 (ค.ศ. 1980) ไทยได้เปิดสอท.ที่กรุงมัสกัตเมื่อ 9 ก.ค. 2530 (ค.ศ.1987) ส่วนโอมานเปิดสอท.ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2537 (ค.ศ. 1994)
    -- โอมานกับประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกัน
    -- โอมานสนับสนุนท่าทีของไทยและอาเซียนในปัญหากัมพูชามาตลอด และยังเป็นผู้ร่วมอุปถัมภ์ร่างข้อมติของอาเซียน ว่าด้วยปัญหากัมพูชาในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติมาตั้งแต่สมัยที่ 39 ปี พ.ศ. 2527

    การแลกเปลี่ยนการเยือน
    -- รมว.กต. (พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา) ได้ไปเยือนโอมานระหว่าง 4-7 ก.พ. 2528
    -- รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ร.ท.ศุลี มหาสันทนะ) ได้เป็นผู้แทนของรัฐบาลไปร่วมพิธีฉลองวันชาติครบ 15 ปี ของโอมานระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. 2528
    -- คณะของผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปเจรจาทำความตกลงซื้อน้ำมันจากโอมานเมื่อ 4-8 พ.ค. 2529
    -- รมว.แห่งรัฐฝ่ายกิจการต่างประเทศโอมานเดินทางมาเยือนไทยเป็นการส่วนตัวเมื่อเดือนม.ค. 2531
    -- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนโอมานอย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญฯ ของรัฐบาลโอมาน ระหว่าง 8-10 มี.ค. 2532
    -- นาย Haitham bin Tariq Al-Asid ปลัดกระทรวงการต่างประเทศโอมานเดินทางมาเยือนไทยเมื่อเดือนก.ย. 2537
    -- นายมารุต บุนนาค ประธานรัฐสภาพร้อมคณะเดินทางเยือนโอมานระหว่างวันที่ 24-26 ม.ค. 2538
    -- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จฯ เยือนโอมานเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 15-18 มี.ค. 2541
    -- ฯพณฯ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รมว.กต.และคณะ เดินทางเยือนโอมานอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 7-9 มิ.ย. 2541
    -- Sheikh Suhail Bhawan ประธาน Bahwan Group ของโอมาน เดินทางมาเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงฯ ระหว่างวันที่ 19-20
    มิ.ย. 2543
    -- H.E. Mr. Yusuf bin Alawi bin Abdullah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโอมาน เดินทางมาเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่12-16 ก.ค. 2543
    -- H.E. Dr. Mohamed bin Hamad Al Rumhy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันและก๊าซโอมาน เยือนไทยระหว่าง 26-29 เม.ย. 2544
    -- H.E. Mr. Ahmed bin Abdul Nabi Macki รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติโอมานเยือนไทย ระหว่างวันที่ 25-31 มกราคม 2545
    -- H.E. Mr. Yusuf bin Alawi bin Abdullah รัฐมนตรีต่างประเทศโอมานแวะพักผ่อนที่ประเทศไทยเป็นการส่วนตัว พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ เมื่อเดือนเมษายน 2545
    -- นายประพาส ลิมปะพันธุ์ (ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน) และคณะ เดินทางเยือนตะวันออกกลาง รวมทั้งโอมาน ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2546
    -- H.E. Mr. Ahmed bin Abdul Nabi Macki รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติโอมานเยือนไทย ระหว่างวันที่ 11 - 14 ตุลาคม 2546 เพื่อลงนามในความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทย - โอมาน
    -- นายพรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) และคณะ เดินทางเยือนโอมานอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 19 - 21 ธันวาคม 2546
    -- นายโภคิน พลกุล (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) และคณะพร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางเยือนโอมาน ระหว่างวันที่ 19 - 22 มิถุนายน 2547
    -- H.E. Dr. Mohammed bin Hame bin Saif al Rumhy รมว. ก. น้ำมันและก๊าซโอมานเข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ รมว. กต. เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2547
    -- นายเด่น โต๊มีนา เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นำคณะภาครัฐและเอกชน เยือยโอมาน เพื่อแสวงหาลู่ทางขยายตลาดสินค้าอาหารฮาลาล
    ของไทย ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 4 ตุลาคม 2547
    ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
    1. การค้า โอมานเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับสามของไทยในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางโดยในปี 2545 มีมูลค่าการค้ารวม1,237.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำแนกเป็นการส่งออกมูลค่า 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 1,194.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้านำเข้าสำคัญได้แก่ น้ำมันดิบ
    ปัญหาในประเด็นทางการค้าระหว่างไทยกับโอมานเท่าที่สรุปได้คือ ทางโอมานยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจในสาขาต่าง ๆ กับประเทศไทยอยู่มาก อาทิ ไม่ทราบว่าไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าประเภทใดบ้าง
    แม้สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังโอมานจะมีมูลค่าไม่มากนัก (ไทยขาดดุลการค้ากับโอมานตลอด) แต่โอมานก็มีศักยภาพที่จะเป็นตลาดสินค้าที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะข้าว สิ่งทอรองเท้า นอกจากนี้ ยังมีลู่ทางอีกมากที่จะขยายการลงทุนและความร่วมมือในด้านการเกษตรและการประมง ซึ่งโอมานยังขาดแรงงานและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้มาก
    กรมส่งเสริมการส่งออกของไทยมีโครงการจัดแสดงสินค้านิทรรศการของไทยในโอมาน รวมทั้งมีโครงการจัดตั้ง Thailand Plaza/Market Place ในโอมาน โดยให้เป็นการดำเนินงานโดยหุ้นส่วนท้องถิน มุ่งเน้นสินค้าไทยในตลาดท้องถิ่น 6 ประเภท ได้แก่ Spa อาหาร ผลิตภัณฑ์สำหรับบ้าน( เฟอร์นิเจอร์และวัสดุก่อสร้าง) ผลิตภัณฑ์เครื่องตกแต่งและของขวัญ สินค้าแฟชั่น(เสื้อผ้าและสิ่งทอ เครื่องประดับ เครื่องหนัง) ชิ้นส่วนและเครื่องประดับรถยนต์
    ไทยนำเข้านำมันดิบจากโอมานมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2541 ในปี 2543 ไทยนำเข้าน้ำมันจากโอมานเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีปริมาณนำเข้ารวม 92,000 บาร์เรลต่อวัน น้ำมันดิบของโอมานมีคุณภาพดี เหมาะสมกับโรงกลั่นของไทย นับตั้งแต่ปี 2544 การปิโตรเลียม-แห่งประเทศไทย (ปตท.) มีสัญญาซื้อน้ำมันดิบระยะยาวกับโอมานในปริมาณวันละ 16,000 บาร์เรล
    การค้าไทย-โอมาน ดูเอกสารแนบ
    2. การท่องเที่ยว ในปี 2545 มีชาวโอมานเดินทางมายังประเทศไทยประมาณ 16,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 ชาวโอมานนิยมเดินทางมารักษาพยาบาลและตรวจสถุขภาพในประเทศไทย ขณะนี้รพ. บำรุงราษฎร์ได้เปิดสำนักงานตัวแทน (referral office) ที่กรุงมัสกัต เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่ประสงค์จะมารับการรักษาพยาบาลในกรุงเทพฯ
    3. ความร่วมมือด้านพลังงาน ในปี 2545 บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญา Exploration and Production Sharing Agreement กับกระทรวงน้ำมันและก๊าซของโอมาน โดยแปลงสัมปทานสำรวจหมายเลข 44 ที่ได้รับคลุมพื้นที่ 1,165 ตารางกิโลเมตร คาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้วันละ 20-50 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน และก๊าซธรรมชาติเหลว 1,000 - 2,000 บาร์เรลต่อวัน แหล่งก๊าซดังกล่าวห่างจากท่อก๊าซประธานเพียง 2-3 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถผลิตได้ภายใน 1 ปี หลังจากได้ทำสัญญาซื้อขายกับรัฐบาลโอมาน
    ไทยซื้อน้ำมันดิบจากโอมานในลักษณะ Term Contract โดยเป็นการซื้อขายในลักษณะรัฐต่อรัฐ ตั้งแต่ปี 2542 โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ทาบทามขอให้มีการเพิ่มปริมาณการซื้อขายเป็นระยะ แต่โอมานไม่สามารถสนองตอบได้ โดยให้เหตุผลว่า โอมานมีพันธะผูกพันกับลูกค้ารายอื่นๆ อีกมาก อย่างไรก็ดี โอมานถือว่าไทยเป็นลูกค้าที่สำคัญ และผลผลิตกว่าร้อยละ 25 ของโอมานส่งออกมายังไทย โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายผ่านบริทน้ำมันระหว่างประเทศ
    โอมานแสดงความสนใจที่จะจัดตั้งศูนย์การสำรองและการค้าน้ำมันดิบในภูมิภาคนี้ โดยใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเพื่อส่งออกน้ำมันของโอมานต่อไปยังประเทศในตะวันออกไกล ซึ่งได้มีการศึกษาความเป็นไปได้และเดินทางมาสำรวจข้อเท็จจริงแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา
    ความตกลง
    1. ความตกลงทางการค้า
    - - คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 16 ม.ค. 2539 อนุมัติให้มีการลงนาม
    - - ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามในความตกลงทางการค้ากับฝ่ายโอมานในระหว่างการเยือนโอมานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2541 และมีผลบังคับใช้ทันที
    2. ความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อน
    - - คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2541 เห็นชอบต่อร่างฯ แต่ต่อมาในปี 2542 ฝ่ายโอมานได้ขอแก้ไขบางส่วน ปัจจุบันสามารถตกลงกันได้ทุกข้อบทแล้ว และได้ลงนามแล้ว ในเดือนตุลาคม 2546
    3. ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน
    - - มีการเจรจาครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เมื่อ มิ.ย. 2544 ขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดวันเจรจาในรอบที่ 2

    ความร่วมมือ
    -- ไทยเคยส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านฝนเทียมไปช่วยโอมานเมื่อปี 2530 และต่อมาในปี2531 โอมานทาบทามที่จะทำความตกลงกับไทยเกี่ยวกับการทำฝนเทียม ซึ่งขณะนี้ฝ่ายไทยเห็นชอบในหลักการทำความตกลงกับโอมานในรูปของ Specific Agreement ซึ่งเป็นความตกลงรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเป็นการเอาบริการไปแลกเปลี่ยนกับประโยชน์ที่ฝ่ายไทยจะได้รับ กล่าวคือ ฝ่ายไทยจะระบุสิ่งที่ต้องการลงไปในความตกลงลักษณะนี้เลย
    -- ไทยเริ่มให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่โอมานตั้งแต่ปี 2530 ภายใต้โครงการ
    ความช่วยเหลือทางวิชาการของไทย โดยรัฐบาลไทยให้ทุนฝึกอบรมประจำปีในสาขาต่าง ๆ เช่น สาธารณสุข เกษตร การสื่อสาร เป็นต้น

    ด้านแรงงาน
    ขณะนี้มีคนงานไทยทำงานอยู่ในโอมานประมาณ 123 คน โดยส่วนหนึ่งทำงานในภาคธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ทั้งนี้ สาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่ ช่างเทคนิค แรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และปิโตรเคมี รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์
    สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต
    Royal Thai Embassy
    Villa No. 1339, Way No. 3017, Shati Al Qurum,
    P.O. Box 60, P.C. 115, M.S.Q. MUSCAT
    Tel. (968) 695250, 602684 to 5
    Fax. (968) 605714
    E-mail: thaimct@omantel.net.om
    สถานเอกอัครราชทูตโอมานประจำประเทศไทย
    เลขที่ 82 อาคารแสงทองธานี ชั้น 32 ถ. สาธรเหนือ กท. 10500
    โทร. 0-2639-9820 ถึง 2
    โทรสาร 0-2639-9390
    สิงหาคม 2547

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×