ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปเอเซีย

    ลำดับตอนที่ #23 : เนปาล

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 350
      0
      9 ม.ค. 50



     
    เนปาล
    Nepal


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง  ตั้งอยู่บนที่สูงของเทือกเขาหิมาลัย มีอาณาเขตติดกับแคว้นทิเบตของประเทศจีนทางตอนเหนือและทิศใต้ติดกับอินเดีย

    พื้นที่ 140,800 ตารางกิโลเมตร

    เมืองหลวง กรุงกาฐมาณฑุ (Kathmandu)

    เมืองสำคัญต่างๆ     
    จานักปูร เป็นเมืองด้านการท่องเที่ยว
    โภคครา เป็นเมืองด้านการท่องเที่ยว เป็นจุดชมความงามของเทือกเขาหิมาลัย
    ลุมพินี เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า

    ภูมิอากาศ มีพายุฝนในฤดูร้อนและมีอากาศเย็นจัดในฤดูหนาว

    ประชากร 28.2 ล้านคน (กรกฎาคม 2549)

    อัตราการเพิ่มของประชากร ร้อยละ 2.17 (ปี 2549)

    เชื้อชาติ มองโกลอยด์จากทิเบต และอินโด-อารยันจากทางตอนเหนือของอินเดีย

    ภาษา ภาษาเนปาลีเป็นภาษาราชการ

    ศาสนา ฮินดูร้อยละ 80.6 พุทธร้อยละ 10.7 และมุสลิมร้อยละ 4.2

    วันชาติ 7 กรกฎาคม (พ.ศ.2489 หรือ ค.ศ.1946) ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดีกิเนนดรา แต่ได้ยุติการเฉลิมฉลองไปในปี 2549 ซึ่งรัฐบาลเนปาลประกาศไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ โดยขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเปลี่ยนวันชาติเป็นวันอื่นหรือไม่

    การศึกษาอัตราการรู้หนังสือโดยรวม ร้อยละ 45.2 (ปี 2546) ในเพศชายร้อยละ 62.4 และเพศหญิงร้อยละ 27.6 (ปี 2546)

    ระบบการปกครอง

    หลังจากที่พระราชาธิบดีฯ ทรงยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ได้ปลดนาย Sher Bahadur Deuba นายกรัฐมนตรี และทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยพระองค์เอง ต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2549 ได้ทรงมีพระราชดำรัสประกาศมอบอำนาจทางการเมืองให้แก่ประชาชน และเมื่อวันที่ 30 เมษายน2549 ได้แต่งตั้งให้นาย Girija Prasad Koirala ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 4 ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของนาย Koirala อยู่ระหว่างการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเนปาล เพื่อกำหนดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ และระบอบการปกครองของเนปาลในอนาคต พร้อมทั้ง จัดการเจรจาสันติภาพกับกลุ่ม Maoists และจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวและร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวร่วมกันระหว่างรัฐบาลและกลุ่ม Maoists ดังนั้น ในขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระบอบการปกครองของเนปาลจนกว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น


    ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
    ประเทศเนปาลมีชายแดนที่กำหนดโดยข้อตกลงระหว่างอังกฤษ จีน และอินเดียในยุคหลังๆ (ราว ๒-๓ ร้อยปีมา) แต่เดิมดินแดนแห่งนี้ประกอบด้วยราชอาณาจักรเล็กๆ ตามหุบเขา ที่ขยายอำนาจบ้างแล้วหมดอำนาจบ้าง ประวัติศาสตร์เนปาลซับซ้อนยิ่งขึ้นเนื่องจากเป็นแดนที่ชนชาติพูดภาษาตระกูลทิเบต-พม่า จากทิศเหนือมาประสมประสานกับชนชาติพูดภาษาอินโด-ยุโรปจากทิศใต้

    เนปาลในปัจจุบันเกิดขึ้นเมื่อปี 2311 เมื่อพระเจ้าปฤถวี นารายัณ ชาห์ ซึ่งครองรัฐเล็กๆ ในหุบเขากุรข่า (Gurkha) เกลี้ยกล่อมเผ่าต่างๆ ได้สำเร็จ และสร้างกองทัพใหญ่ยึดเมืองกาฐมาณฑุ แล้วขยายอำนาจถึงชายแดนทิเบตและอินเดีย ระหว่างปี 2353 – 2359 มีสงครามระหว่างกุรข่ากับอังกฤษในอินเดีย แต่ลงท้ายโดยดีด้วยข้อตกลงที่อังกฤษยอมรับเนปาลเป็นประเทศเอกราช และขอทหาร “กรุข่า” (Gurkhas) เป็นทหารอาสาในกองทัพอังกฤษ ซึ่งยังปฏิบัติกันจนถึงทุกวันนี้

    พระเจ้าปฤถวี นารายัณ ชาห์ แห่งหุบเขากรุข่านี้ คือ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ “ชาห์” ที่ปกครองเนปาลมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม การปกครองเนปาลไม่ได้เป็นไปอย่างราบเรียบ เมื่อปี 2389 อัครมหาเสนาบดีชื่อ ชุง พหทรุ ราณา ได้ยึดอำนาจรัฐ แต่ยังคงให้พระเจ้าแผ่นดินตระกูลชาห์อยู่ในพระเศวตฉัตร และคนในตระกูลราณาสืบทอดอำนาจอัครมหาเสนาบดีสืบมา

    ระบบการปกครองนี้อยู่ได้เพราะความรู้เห็นและสนับสนุนของอังกฤษ เมื่ออินเดียได้เสรีภาพในปี 2489 สถานการณ์ในเนปาลพลิกผัน เพราะไม่มีอังกฤษสนับสนุนตระกูลราณาอีกต่อไปยังผลให้พวกราณาหมดอำนาจ พระเจ้าแผ่นดินตระกูลชาห์จึงกลับมามีพระราชอำนาจในรูปสมบูรณาญาสิทธิราชย์

    การเมืองการปกครอง
    นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน
    ปัจจุบันการเมืองภายในเนปาลยังไม่มีเสถียรภาพ นโยบายหลักของรัฐบาล คือ จัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าและสถานการณ์ภายในประเทศที่เกิดขึ้น โดยจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชนเนปาลตามครรลองประชาธิปไตย และเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกบฎนิยมลัทธิเหมา (Maoists)


    สถานการณ์ที่สำคัญ
    การเมืองภายใน
    วิกฤตการณ์ทางการเมืองเนปาลเกิดขึ้น หลังจากโศกนาฏกรรมการปลงพระชมน์สมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทรา และพระราชวงศ์ลำดับสำคัญของเนปาล เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 ต่อมาได้มีการแต่งตั้งสมเด็จพระราชาธิบดีกิเนนดรา (Gyanendra) พระอนุชาของพระราชาพิเนนทราขึ้นครองราชย์แทนเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2544

    เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีกิเนนดราได้มีพระบรมราชโองการปลดนายเชียร์ บาหดุร เดออูบา (Sher Bahadur Deuba) นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทั้งคณะออกจากตำแหน่ง ทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเองและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ทำให้เกิดการต่อต้านจากพรรคการเมืองต่างๆ ของเนปาล กลุ่ม Maoists และประชาชน ด้วยการเดินขบวนประท้วง การประกาศหยุดงานทั่วประเทศ มีการจุดไฟเผารถประจำทาง และโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐในต่างจังหวัดและชานเมืองกรุงกาฐมาณฑุอยู่เป็นประจำ

    เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2548 การประท้วงได้ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อทหารของรัฐบาลเนปาลได้ยิงปืนเข้าใส่ประชาชนที่หมู่บ้านนาการ์กอต เมืองบักตาปูร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน ประชาคมระหว่างประเทศได้เรียกร้องและกดดันให้สมเด็จพระราชาธิบดีฯ จัดการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยโดยเร็ว สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และกลุ่มประเทศ EU ได้ระงับการช่วยเหลือแก่เนปาลด้านอาวุธ แต่ยังคงให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาและด้านอาหาร จนกระทั่งปลายปี 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีฯ จึงได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 และการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน 2550

    กลุ่มพันธมิตร 7 พรรคการเมือง (Seven Party Alliances - SPA) ได้ประกาศการประท้วงใหญ่ในวันที่ 20 มกราคม 2549 เพื่อต่อต้านการเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม ซึ่งมีผู้ร่วมประท้วงถึง 500,000 คน รัฐบาลได้จับกุมแกนนำกลุ่มพันธมิตร เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน ผู้นำองค์กรต่างๆ และหัวหน้านักศึกษาที่นิยมพรรคฝ่ายค้าน จำนวนมากกว่า 100 คน ทำให้ประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ได้ออกมาประนามการกระทำดังกล่าว และขอให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมโดยเร็ว เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย

    กลุ่ม Maoist ได้ประกาศสนับสนุนการเดินขบวนประท้วงครั้งนี้ แต่จะไม่แทรกแซงใดๆ และกลุ่ม Maoist ได้ปิดกรุงกาฐมาณฑุ และโจมตีรถทหารที่นำส่งเสบียงอาหารเข้าเมือง ในช่วงระหว่างวันที่ 5 – 11 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งกลุ่ม Maoist ได้ประกาศการบังคับหยุดงานประท้วง (bandh) ทั่วประเทศในช่วงวันดังกล่าวแล้ว ส่งผลให้ประชาชนเนปาลออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้น้อยมาก เพียงร้อยละ 21 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1.4 ล้านคน เนื่องจากหวาดกลัวการข่มขู่ของกลุ่ม Maoist รวมทั้งกลุ่มพันธมิตรฯรณรงค์ไม่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ

    เมื่อเดือนมีนาคม 2549 กลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม Maoist ได้บรรลุข้อตกลงที่จะร่วมมือกันกดดันฝ่ายรัฐบาล โดยกลุ่ม Maoist ได้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่จะนัดหยุดงานทั่วประเทศระหว่างวันที่ 6 - 9 เมษายน 2549 และจัดการประท้วงใหญ่ที่กรุงกาฐมาณฑุในวันที่ 8 เมษายน 2549 เพื่อเพิ่มการกดดันสมเด็จพระราชาธิบดีฯ และรัฐบาล เพื่อให้พิจารณาดำเนินการปกครองประเทศด้วยวิถีประชาธิปไตย โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเบื่องต้น เพื่อลดทอนอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีฯ

    สถานการณ์การเมืองในเนปาลทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเดือนเมษายน 2549 โดยมีการประท้วงในกรุงกาฐมาณฑุและตามเมืองใหญ่ๆ ของเนปาลอย่างต่อเนื่อง มีการประกาศบังคับหยุดงาน หรือ bandh และเป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้ฝ่าฝืนการประกาศ curfew และออกมาชุมนุมประท้วงตามเมืองต่างๆ รัฐบาลได้พยายามขัดขวางการชุมนุมประท้วงโดยได้ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการสลายการประท้วง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และผู้เสียชีวิตทำให้ประชาชนรู้สึกโกรธเคืองอย่างมาก

    เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2549 อินเดียได้มอบหมายให้นาย Karan Singh ผู้แทนพิเศษของ นรม. อินเดียเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีฯ เพื่อแจ้งความห่วงกังวลของอินเดียต่อสถานการณ์ในเนปาล และขอให้มีการเจรจาอย่างจริงจังระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีและกลุ่มพันธมิตรโดยเร็ว เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในปัจจุบัน ภายหลังการหารือกับ Dr. Singh สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ได้มีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 ว่า พระองค์จะคืนอำนาจบริหารให้แก่ประชาชน และขอให้กลุ่มพันธมิตรฯ เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

    อย่างไรก็ดี กลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม Maoist ได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และเห็นว่าไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของพรรคการเมือง เป็นผลให้มีการประท้วงของประชาชน ทำให้สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ได้มีพระราชดำรัสอีกครั้งเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2549 ประกาศมอบอำนาจทางการเมืองให้แก่ประชาชน โดยยินยอมให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถูกยุบไปกลับมาทำหน้าที่ และเรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตร ฯ ร่วมมือกัน เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองและสงบสุขภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และทรงแสดงความเสียพระทัยต่อผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลให้สถานการณ์คลี่คลายลง และนำไปสู่ขบวนการเจรจาระหว่างทุกฝ่ายในประเด็นต่างๆ ที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ มีท่าทีในทางบวกต่อกระแสพระราชดำรัสในครั้งนี้ และได้รับการตอบสนองในทางที่ดีจากประชาชนเช่นกัน ทำให้สถานการณ์ในเนปาลจะค่อยๆ กลับคือสู่สภาวะปกติตามลำดับ

    การประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 และนาย Girija Prasad Koirala วัน 84 ปี ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาธิบดีฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 4 และได้เข้าพิธีสาบานตนเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2549 นาย Koirala เป็นนักการเมืองอาวุโสที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนของเนปาล และได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ เป็นอย่างดี

    รัฐบาลชุดใหม่ของเนปาลได้ดำเนินการลดทอนพระราชอำนาจของกษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง และได้เปลี่ยนการเรียกชื่อประเทศจาก Kingdom of Nepal เป็น Nepal เปลี่ยนการเรียก His Majesty’s Government ใหม่เป็น Government of Nepal และประกาศให้เนปาลเป็น secular state แยกศาสนาออกจากอาณาจักร ซึ่งมิใช่รัฐฮินดูอีกต่อไป

    การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลและกลุ่มกบฏนิยมลัทธิเหมา (Maoist) ยังคงมีความเสี่ยงสูง แม้จะมีการหารือในระดับสุดยอดระหว่างนาย Girija Prasad Koirala นรม เนปาลและนาย Prachanda ผู้นำสูงสุดของกลุ่ม Maoist เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2549 และได้หารืออย่างไม่เป็นทางการหลายครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2549 แต่ทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นขัดแย้งใน 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1. การจัดการด้านอาวุธและกองทัพของทั้งสองฝ่าย โดยเรียกร้องให้สหประชาชาติ (UN) เข้ามาช่วยกำกับดูแล ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการให้กลุ่ม Maoist วางอาวุธก่อนการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในปี 2550 แต่กลุ่ม Maoist ยืนยันไม่วางอาวุธจนกว่าจะเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง และ 2. อนาคตของสถาบันกษัตริย์ของเนปาล

    เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2549 หัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพของรัฐบาลและกลุ่ม Maoist ได้ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ UN ภายหลังที่สามารถตกลงในประเด็นการจัดการกับกองกำลังของทั้งสองฝ่าย ซึ่งหนังสือของแต่ละฝ่ายมีสาระคล้ายคลึงกันว่า ขอให้มีเจ้าหน้าที่ UN ตรวจตราและพิสูจน์การจำกัดกองกำลังและอาวุธของกลุ่ม Maoist ให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด และขอให้ UN สังเกตการณ์การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ




    เศรษฐกิจการค้า
    GDP 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)

    รายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัว 235 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2548)

    อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.7 (ปี 2548)

    หน่วยเงินตรา รูปีเนปาล (Nepalese rupee) 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับประมาณ 73 รูปี

    สินค้าส่งออกที่สำคัญ พรม เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากปอกระเจา และธัญพืช

    สินค้านำเข้าที่สำคัญ ทอง เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์จากปิโตเลียม และปุ๋ย

    ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย จีน/ฮ่องกง และสิงคโปร์

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเนปาล
    ความสัมพันธ์กับประเทศไทยและสถานะล่าสุดของความร่วมมือ

    1. ด้านการทูต

    ไทยและเนปาลได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2502 และได้ยกระดับเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อปี 2512 เอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ คนปัจจุบัน คือ นางวันวิสาข์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทั้งนี้ นายตาราพหาทุร ถาปา เอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทยถูกเรียกตัวกลับประเทศ เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 เนื่องจากปัญหาทางการเมืองเนปาล และขณะนี้ ยังไม่มีเอกอัครราชทูตเนปาลประจำปะรเทศไทย

    กลไกความร่วมมือที่สำคัญคือการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-เนปาล (JC) ระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ มีการประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อมกราคม 2547 ที่กรุงธากา โดยนายเตช บุนนาค ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย นอกจากนี้เนปาลยังได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ BIMSTEC เมื่อธันวาคม 2546

    2. ด้านความร่วมมือ
    ไทยมีนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่เนปาลในด้านต่างๆ โดยเฉพาะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในลักษณะการให้ทุนเจ้าหน้าที่เนปาลมาศึกษาดูงาน และฝึกอบรมในประเทศไทยในสาขาต่างๆ ที่ไทยมีศักยภาพ และการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่สามตาม Third Countries Training Programme โดยผ่านองค์การระหว่างประเทศ อาทิ UNDP และองค์กรเอกชน เป็นต้น
    นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขให้ความช่วยเหลือโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลแม่และเด็กขนาด 30 เตียง (Maya Devi Maternity Hospital) ที่ลุมพินี เป็นเงิน 50 ล้านบาท รวมการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และฝึกอบรมบุคลากร เพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 50 ปี และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเนปาลพิเรนทราทรงครองราชย์ครบ 25 ปี

    3. ด้านเศรษฐกิจ

    3.1 การค้า
    การค้าไทย-เนปาล(ปี 2548) มีมูลค่า 26.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 25.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    (มกราคม - กรกฏาคม 2549) มีมูลค่า 16.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 16.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 0.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเนปาลได้แก่ เส้นใยประดิษฐ์ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากเนปาลได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ ธัญพืชและธัญพืชสำเร็จรูป เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด

    3.2 การลงทุน
    มีนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนร่วมกับฝ่ายเนปาลเช่นบริษัท General Food Industries และบริษัท Nepal Thai Food ลงทุนเกี่ยวกับอาหารเส้นก๋วยเตี๋ยวสำเร็จรูป บริษัท Nepal Ekarat Eng. ผลิตเครื่องปรับกระแสไฟฟ้า และมีบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้จัดทำโครงการผลิตเสื้อแจ็คเก็ตและกางเกงคือบริษัท Reliance International สำหรับธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารไทยมีจำนวน 2-3 ราย

    เนปาลขอให้ไทยส่งเสริมให้เอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเนปาล โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมผ้าไหม กาแฟ ผลผลิตทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูง และการลงทุนที่จะพัฒนาพืชสวน และดอกไม้ตัด และเนปาลจะเร่งดำเนินการพิจารณาร่างความตกลง Promotion and Protection of Investment ที่ไทยเสนอ

    3.3 ด้านการท่องเที่ยว
    ไทยมีความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับเนปาลค่อนข้างจะใกล้ชิด นอกจากนี้ เนปาลยังเป็นประเทศที่มีพุทธสถานลุมพินีที่คนไทยนิยมเดินทางไปเยี่ยมชม และไทยเป็นประตูเข้า-ออกสำหรับชาวเนปาล

    ในปี พ.ศ. 2548 มีนักท่องเที่ยวเนปาลเดินทางเข้ามาประเทศไทย 23,081 คนเพิ่มจากปี พ.ศ. 2547 ที่มี 20,356 คน ส่วนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเนปาลในปี 2548จำนวน 2,273 คน ลดลงจากปี 2547 ที่มี 4,480 คน

    3.4 ด้านการบิน
    ไทยและเนปาลได้ลงนามความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างกันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2514

    ต่อมาเมื่อ 16-17 กุมภาพันธ์ 2547 คณะกรมการบินพาณิชย์ได้เดินทางไปเนปาลเพื่อเจรจาขอสิทธิการบินเพิ่มโดย ได้มีการลงนามในความตกลง Air Service Agreement ระหว่างกัน ทำให้การบินไทยสามารถเพิ่มสิทธิการบินจาก 7 เที่ยวต่อสัปดาห์เป็น 10 เที่ยวต่อสัปดาห์

    4. ด้านสังคมและวัฒนธรรม
    ความสัมพันธ์ด้านศาสนาและวัฒนธรรมเป็นมิติความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดระหว่างไทยและเนปาล โดยเน้นในเรื่องศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมมากกว่าด้านเศรษฐกิจ หรือการเมือง ซึ่งเนปาลเองมีสถานที่สำคัญทางศาสนาเช่นเมืองลุมพินี หรือเมืองจานักปูร์ (เมืองมิถิลาในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก) นอกจากนี้ ไทยและเนปาลยังมีความคล้ายคลึงกันในด้านวรรณกรรม คือในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีฉากบางส่วนในเนปาลอีกด้วย

    นอกจากนี้ ไทยและเนปาลยังได้ตกลงที่จะทำแผนปฏิบัติการในความร่วมมือด้านวัฒนธรรมให้มีกิจกรรมส่งเสริมที่ชัดเจน รวมทั้งเห็นว่าเป็นช่องทางนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงศาสนา และเชิงนิเวศ (Eco – Tourism) โดยทำโฆษณาส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน และทำแพ็คเก็จทัวร์แบบ Combined Destination

    5. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
    ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนเนปาลเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 4 – 7 ตุลาคม 2542 ศูนย์รักษาดวงตา Tilganga Eye Centre ได้บริจาคแก้วตา (Cornea) ให้แก่ฝ่ายไทยจำนวน 4 ดวงต่อเดือน ในปี 2546 กระทรวงการต่างประเทศได้อนุมัติงบประมาณดำเนินงานด้านสันถวไมตรีโดยบริจาคเงิน 136,800 บาท ให้กับองค์กรที่มิใช่รัฐบาล (NGO) ที่ดำเนินงานด้านการกุศลและสาธารณประโยชน์ต่างๆ ในเนปาล 4 องค์กร คือ องค์กร (National Health Foundation องค์กร International Buddhist Society องค์กร Youth Eye Service และองค์กร Children's Forum Nepal สำหรับภาคเอกชนชาวเนปาลที่มีฐานะดีนิยมเดินทางมารับการตรวจสุขภาพและรักษาพยาบาลในประเทศไทย

    ความตกลงที่สำคัญกับไทย
    1. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาณาเขตของแต่ละฝ่ายและพ้นจากนั้นไป (ปี 2514)
    2. หนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับเนปาลว่าด้วยการได้มาซึ่งเป็นที่ดินและสิ่งก่อสร้างเพื่อใช้เป็นที่ทำการและที่พักของสถานเอกอัครราชทูต (ปี 2526)
    3. ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ปี 2541)
    4. ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ (พิเศษ) (ปี 2542)

    การเยือนของผู้นำระดับสูง
    1. ฝ่ายไทย
    1.1 พระราชวงศ์
    - สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกฎราชกุมาร และพระวรชายา เสด็จฯ เยือนประเทศเนปาลเมื่อวันที่ 1 – 5 พฤศจิกายน 2522
    - สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เสด็จฯ เยือนประเทศเนปาลเมื่อวันที่ 11 – 13 กุมภาพันธ์ 2533
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนประเทศ เนปาลเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงทอดพระเนตรโครงการ Nepal Nutrition Intervention Project – Sarlahi ของมหาวิทยาลัยแม่และเด็ก โรงพยาบาลตา และศูนย์รักษาดวงตา Tilganga เมื่อวันที่ 4 – 7 ตุลาคม 2542

    1.2 ผู้นำทางศาสนา
    - สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จฯ เยือนประเทศเนปาล เพื่อทรงวางศิลาฤกษ์วัดไทย ณ เมืองลุมพินีเมื่อวันที่ 18 – 20พฤศจิกายน 2538
    - สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จฯ เยือนเมืองลุมพินีเมื่อวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2542

    1.3 รัฐบาล
    - พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเยือนประเทศเนปาลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4-6 สิงหาคม 2526

    2. ฝ่ายเนปาล
    2.1 พระราชวงศ์
    - สมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทราและสมเด็จพระราชินีไอศวรราชย์ เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 – 15 ธันวาคม 2527
    - มกุฎราชกุมารดิเพนทราเสด็จฯ เยือนไทยเมื่อวันที่ 24 – 27 มิถุนายน 2537
    - สมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทรา และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงรับการตรวจพระวรกายประจำปีที่โรงพยาบาลศิริราช และเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายพระพรในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 พรรษา เมื่อวันที่ 12 – 17 มกราคม 2540
    - His Royal Highness Crown Prince Paras Bir Bikram Shah Dev มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรเนปาล เสด็จศึกษาดูงานที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2546 และหลังจากนั้นได้เสด็จเยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ระหว่างวันที่ 8-11 พฤษภาคม 2546 ระหว่างการเสด็จเยือนเป็นการส่วนพระองค์ ได้ทรงเสด็จเยือนดอยอินทนนท์ อ่าวพังงา และเกาะสิมิลันด้วย
    - สมเด็จพระราชินีเนปาลและพระราชธิดา ได้เสด็จฯ เยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2547
    - องค์มกุฎราชกุมารปรัสฯ และมกุฎราชกุมารีพระชายา เสด็จฯ เยือนไทย เป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 17 – 22 กรกฎาคม 2548

    2.2 รัฐบาล
    - นาย Girija Prasad Koirala นายกรัฐมนตรีแวะผ่านไทย และเข้าเยี่ยมคารวะนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2534
    - นาย Sher Bahadur Deuba นายกรัฐมนตรีแวะเยือนไทย และเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 – 26 เมษายน 2539
    - นาย Kamal Thapa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 – 3 กุมภาพันธ์ 2541
    - นาย Sher Bahadur Deuba นายกรัฐมนตรีเนปาล เดินทางแวะผ่านไทย และได้เข้าพบหารือทวิภาคีและรับประทานอาหารเช้ากับนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2545
    - นาย Parashu Narayan Chaudhary ประธานองคมนตรีเนปาล (Raj Parishad )และคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นาย ธานินทร์ กรัยวิเชียร และ พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี ที่ทำเนียบองคมนตรี พระราชอุทยานสราญรมย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2547
    -นาย Sher Bahadur Deuba นายกรัฐมนตรีเนปาล เดินทางเยือนไทยในช่วงการประชุม BIMSTEC และได้เข้าพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547
    - นาย K.P. Sharma Oli รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนปาล เดินทางแวะผ่านไทย เพื่อไปกรุงกัวลาสัมเปอร์ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2549
    - นาย Girija Prasad Koirala นายกรัฐมนตรีเนปาล เดินทางเยือนไทยเป็นการส่วนตัวเพื่อรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร ระหว่างวันที่ 17 - 27 มิถุนายน 2549 และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีทักษิน ชินวัตร เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2549 ที่ทำเนียบรัฐบาล


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×