นิทานเด็กน้อย - นิยาย นิทานเด็กน้อย : Dek-D.com - Writer
×

    นิทานเด็กน้อย

    นิทานจากการประกวด รางวัลนิทานมูลนิธิเด็ก ครั้งที่ 9 ผลงานของ นาวสาวมนชญา ดุลยากร ภาพประกอบ ชาญศิลป์ กิตติโชติพาณิชย์

    ผู้เข้าชมรวม

    1,241

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    4

    ผู้เข้าชมรวม


    1.24K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    จำนวนตอน :  0 ตอน
    อัปเดตล่าสุด :  1 ก.ย. 66 / 17:57 น.
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

    กาลครั้งหนึ่ง มีใครคนหนึ่งที่มือเปื้อนขนมได้มาจับฆ้องวง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่งเข้า ทำให้เชือกหนังตีเกลียวที่ร้อยรูฉัตรพลอยเปื้อนไปด้วย ตกกลางคืนหนูหริ่งสี่พี่น้องได้กลิ่นหอม ๆ ของขนมจึงแอบมาแทะเชือกหนังจนขาด "หมุ่ยโหน่ง" เจ้าลูกฆ้องตัวน้อยถือโอกาสกลิ้งหนีออกจากพรรคพวกทันที เขากลิ้งตัวอย่างเงียบ ๆ แต่เร็วมากเข้าห้องโน้นออกห้องนี้อย่างสนุกสนานที่ได้รับอิสระ "อ้อ ! ห้องนี้เก็บเสื้อผ้าหรือจ๊ะ โอ้โฮ ! ฉันอยากเป็นเสื้อสวย ๆ จังเลย เธอสวยงามน่าสวมใส่จริง ๆ"

              "ขอบใจจ้ะ" เสื้อสวยตอบ

              "หมุ่ยโหน่งสงสัยว่า ถ้าเสื้อเก่าแล้วจะยังสวยอยู่ไหม เสื้อสวยจึงอธิบายว่า

              "อ๋อ...ฉันก็สวยอย่างเสื้อเก่านะซีจ๊ะ พอคนเขาไม่ใช้ฉันแล้ว เขาก็เอาฉันไปทำผ้าขี้ริ้ว พอผ้าขี้ริ้วเก่าเปื่อย บางคนเขาก็เอาฉันไปผสมกับชันและน้ำมันยาง ปะตามรอยต่อของเรือกันรั่ว หรือไม่ก็อุดรอยต่อของยุ้งข้าวกันแมลง บางคนเขาเอาฉันผสมน้ำมันทำเป็นคบเพลิง และอีกหลาย ๆ อย่างแล้วแต่พวกเขาจะคิดได้ แต่ตอนนี้ฉันยังไม่เก่าฉันก็ขออวดความสวยของฉันก่อน" เสื้อสวยพูดพลางหมุนตัวให้หมุ่ยโหน่งดู

              "ฉันไม่อยากเป็นเจ้าลูกฆ้องเลย" หมุ่ยโหน่งคิด แล้วกลิ้งตัวไปยังอีกห้องหนึ่ง เป็นห้องเก็บโต๊ะและเก้าอี้

              "สวัสดีจ๊ะ พวกเธอช่างสวยงามจริง ๆ ฉันอยากเป็นเก้าอี้สวยอย่างพวกเธอจังเลย"

              "ขอบใจจ้ะ" เก้าอี้ไม้ยิ้มแย้ม แล้วอธิบายว่า "พวกเราก็ภูมิใจในตัวเองมาก แต่ไม่ใช่ความสวยอย่างที่เธอชื่นชมหรอกนะ แต่เราภูมิใจที่เรามีประโยชน์มากมายต่อมนุษย์" "แค่ให้เขาได้นั่งน่ะเหรอ" หมุ่ยโหน่งสงสัยเก้าอี้ไม้หัวเราะขำ ๆ ก่อนจะตอบว่า "ไม่ใช่หรอก เมื่อก่อนจะมาเป็นเก้าอี้ ฉันก็เป็นต้นไม้อยู่ในป่า ให้พวกสัตว์อาศัยร่มเงา ช่วยให้ฝนตก ป้องกันน้ำท่วม เป็นอาหาร เป็นสมุนไพร แล้วมนุษย์ไปตัดฉันมาเลื่อยให้เป็นแผ่นบาง ๆ เอามาทำที่อยู่อาศัย เครื่องใช้เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง ว่าที่จริงประโยชน์ของพวกเรายังมีอีกเยอะ ฉันขี้เกียจจะจาระไน" เก้าอี้ไม้ยังพูดต่ออีกว่า "ฉันภูมิใจที่ฉันเป็นฉัน"

              หมุ่ยโหน่งนึกในใจว่า ฉันซี...ฉันไม่อยากเป็นตัวของฉันเลย ฉันไม่ชอบที่ต้องถูกผูกรวมกับพรรคพวกเป็นแถวเป็นวง แล้วหมุ่ยโหน่งก็กลิ้งตัวออกจากห้องเก็บเก้าอี้อย่างหงอยเหงา จนกระทั่งมาถึงห้อง ๆ หนึ่งประตูเปิดแง้ม ๆ อยู่ เขารีบแทรกตัวเข้าไปในห้องนั้นทันที

              "สวัสดี" หมุ่ยโหน่งตะโกน "ทำไมมืดอย่างนี้ล่ะ"

              เสียงของเขาดังก้อง...เงียบ....ไม่มีเสียงตอบ เมื่อสายตาชินกับความมืดแล้ว เขาก็มองไปรอบ ๆ พบว่า ในห้องเต็มไปด้วยเครื่องดนตรีที่ชำรุด

              "โธ่เอ๊ย....ปิดประตูหน้าต่างซะแน่นหนา นึกว่าจะมีอะไร ที่แท้ก็ของผุ ๆ พัง ๆ ขยะของเครื่องดนตรีเอง เจ้าขยะไร้ค่า" หมุ่ยโหน่งตะโกน

              ทันใดนั้น.....เครื่องดนตรีที่ชำรุดในห้องนั้นก็ขยับตัวดังเกรียวกราวทำให้หมุ่ยโหน่งตกใจ แต่ก็ไม่วายพูดขึ้นว่า

              "อ๊ะ ๆๆ อย่าร่วงลงมาโดนฉันล่ะ ฉันไม่ชอบหรอกของเก่าไร้ค่าอย่างนี้น่ะ" ปู่หุ่ย ฆ้องชัยที่แขวนอยู่ข้างฝากระโดดลงมา แล้วกลิ้งเข้าหาหมุ่ยโหน่งทันที

              "หนอยแน่ะ ไอ้ลูกเจี๊ยบ เอ็งมาจากไหนวะไอ้หนู"

              เสียงของปู่หุ่ยแหบแห้งและสั่นสะท้านด้วยความโกรธ หมุ่ยโหน่งหัวเราะก๊ากอย่างขำเต็มที่

              "โถ ๆ ....คุณปู่ฆ้องปากแตก อย่าพูดเลยหยุดเถอะ ฉันไม่ชอบฟังเสียงของปู่หรอก เพราะฟังแล้วปวดหูพิลึก ฉันชื่อหมุ่ยโหน่ง ฉันออกมาวิ่งเล่นได้นี่ก็เพราะเจ้าหนูหริ่งหน้าแหลมมันมาแทะเชือกหนัง หาขนมกินกันจนเชือกขาดยังไม่ทันมีใครเห็น ฉันเลยได้โอกาสหนีออกมาเที่ยว แหม...สนุกจังเลยที่ไม่ต้องนั่งแช่แข็งอยู่ในห้องดนตรี ฉันเบื่อพวกเด็ก ๆ วัน ๆ ไม่ไปเล่นสนุกกันที่อื่นมั่ง นั่งซ้อมดนตรีกันอยู่ได้ แต่ก็โชคดีในวงที่ฉันอยุ่ไม่มีฆ้องปากแตกอย่างปู่" พูดจบหมุ่ยโหน่งก็หัวเราะเยาะที่สามารถใช้คำพูดย่ำยีปู่หุ่ยได้

              ปู่หุ่ยยิ้มอย่างใจเย็น มองดูหมุ่ยโหน่งอย่างสมเพช แล้วหันไปรอบ ๆ ห้องในขณะเดียวกันเครื่องดนตรีทุกชิ้นในห้องค่อย ๆ ขยับออกจากที่แล้วล้อมวงเข้ามาหาหมุ่ยโหน่ง

              "เจ้าเด็กเมื่อวานซืน" เสียงปู่หุ่ยพูดช้า ๆ "แกรู้ไหมว่า ฉันน่ะเคยใช้ตีเป็นสัญญาณในกองทัพมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน พอเลิกทำสงคราม ฉันก็ยังได้ใช้ตีในงานพิธีมงคลต่าง ๆ เพื่อน ๆ ในวงต่างมองฉันอย่างชื่นชมแกมอิจฉาที่ไม่ได้มีโอกาสอย่างฉัน...ใช่...ตอนนี้ฉันถูกใช้งานจนชำรุด แต่ฉันก็ภูมิใจ ฉันได้ยินพ่อครูเฒ่าาพูดว่าจะเก็นฉันไว้หล่อพระประธานในโบสถ์ แต่ก็ยังเสียดายที่ฉันเป็นสมบัติเก่าแก่ของตระกูล แกลองคิดซิใครจะได้มีโอกาสดี ๆ เท่าฉัน"

              "จริงจ้ะๆ" เสียงซอด้วงพูดเสริม

              ปู่หุ่ยชี้ให้หมุ่ยโหน่งมองไปรอบ ๆ แล้วบอกว่า

              "เครื่องดนตรีชำรุดพวกนี้อายุมากกว่าเข้าหลายสิบปีนัก ดูซอด้วงคันนี้ซิ คันชักเป็นงาช้างแกะสลัก เจ้านายในพระราชวังประทานให้พ่อครูเฒ่า พ่อครูโปรดปรานมากใช้จนชำรุด ท่านว่าจะซ่อมแซม รักษาไว้เป็นสมบัติของตระกูล ท่านรอจะใช้หางม้าเทศมาผูกที่คันชัก แล้วก็โน่นฉิ่งเสียงหวาน พ่อครูเก็บไว้เป็นที่ระลึกเพราะอายุยืนยาวใช้จนปากบิ่น กลองทัด กลองแขก ตะโพน รำมะนา เก่าแก่จนหน้ากลองฉีกขาดไม่ใช่เพราะทำงานหนักรึ....พวกเขากำลังรอว่าเมื่อไหร่ที่พ่อครูว่าง พ่อครูจะพาไปซ่อมให้กลับดูใหม่และใช้งานได้เหมือนเดิม พ่อครูไม่ยอมทิ้งพวกเราถึงได้เอามารวมไว้ในห้องนี้ และท่านก็หมั่นมาดูแลพวกเราอยู่บ่อย ๆ ท่านเรียกพวกเราว่าอะไรรู้ไหม ท่านเรียกว่า "เครื่องดนตรีคู่ทุกข์คู่ยาก" ท่านไม่เคยใช้คำหยาบคายเรียกพวกเรา ท่านห้ามลูกศิษย์ทุกคนข้ามพวกเรา ท่านนั่งเคียงคู่พวกเราอย่างภาคภูมิใจ เจ้าล่ะ เจ้าเคยได้ออกงานกับพ่อครูสักครั้งไหม"

              หมุ่ยโหน่งนิ่งเงียบไม่กล้าพูดออกมาว่าไม่เคย ปู่หุ่ยเดาใจถูกจึงพูดว่า

              "ไม่เคยล่ะซิ เจ้าถึงได้มาเรียกพวกเราว่า "ขยะเครื่องดนตรี" เจ้ายังไม่รู้จักความภูมิใจ เจ้ายังไม่เคยพบกับความสำเร็จ เจ้าหนูน้อย สิ่งที่เจ้าเห็นมันไม่ได้เป็นอย่างที่เจ้าคิดหรอกนะ" ปู่หุ่ยหยุดพูด แต่เนื้อตัวยังสั่นอยู่เพราะความโกรธ

              จะเข้น้อยขาหักนั่งพิงอยู่กับระนาดเอกที่ผืนบนเหลือลูกระนาดอยู่ 19 ลูก พูดขึ้นว่า

              "พวกเราไม่ต้อนรับเจ้าหรอกนะ ลองมองดูตัวเจ้าซิ เจ้าเองก็ขยะเครื่องดนตรีเหมือนกันแหละ แต่เจ้าไม่เคยได้มีวีรกรรมให้พวกเราได้ชื่นชม และที่น่าขำที่สุดก็คือ เจ้ายังไม่เคยออกงานเลย ดูซิ แค่เชือกตีเกรียวขาดเจ้าก็วิ่งหนีเจ้าของมาซะแล้ว เจ้าคงไม่รู้หรอกว่า เจ้าเด็กที่ตีฆ้องวงอันนี้อยู่น่ะเขารักเจ้าแค่ไหน ป่านนี้มิหาเจ้าให้จ้าละหวั่นแล้วรึ"

              สิ้นเสียงจะเข้น้อย เครื่องดนตรีชำรุดก็พากันหัวเราขำหมุ่ยโหน่ง ปี่ในเก่าแก่กระย่องกระแย่งมาก้มดูหมุ่ยโหน่งอย่างเวทนา

              "โถ....ยังเด็กจริง ๆ ดูซิปู่มตียังไม่มีรอยสึกเลย"

              แล้วคุณตาปี่ก็เป็นต้นเสียงร้องเพลงรำวงกันอย่างสนุกสนาน

    "อี่ แอ ตู่ แล แต หลู มาดูเจ้าเด็กอวดดี
    วันนี้เขา มีความสุข สนุกได้พบอะไร
    ที่นี่ก็ห้องขยะ ขยะ ที่ทิ้งไม่ได้
    ขยะ ขยะอะไร จำไว้ก็ขยะดนตรี
    ตู่ ลี ตู ลี ตี หลู"

              หมุ่ยโหน่งรู้สึกอับอายมาก จริงอย่างที่ปู่หุ่ยพูด หมุ่ยโหน่งยังไม่เคยพบกับความภูมิใจ เขาเคยรำคาญเมื่อเด็ก ๆ มาลูบคลำและทำความสะอาดให้เขา เขาไม่เคยไยดีกับสัมผัสที่รักใคร่ของเด็กพวกนั้น เขาค่อย ๆ กลิ้งตัวถอยหลังออกจากห้องนั้นอย่างเงียบ ๆ แล้วกลับไปยังห้องเดิมที่เขาหนีออกมาอย่างหงอยเหงา

              "อ้าว ๆ อยู่นี่เอง กลิ้งมาอยู่ตรงหลังประตูนี่เองถึงมองไม่เห็น"

              หมุ่ยโหน่งรู้สึกว่ามีมือน้อย ๆ หยิบเขาขึ้นอย่างทะนะถนอมใช้ผ้าสะอาดที่พาดไหล่อยู่บรรจงเช็ดอย่างรักใคร่ "นึกว่าจะไม่พบซะแล้ว วันนี้เราจะไปแข่งขันบรรเลงกันหน้าพระที่นั่ง ถ้าหาเจ้าไม่พบ พ่อครูก็คงต้องให้ฉันเปลี่ยนเป็นตีฆ้องวงอันอื่นแทน แต่ฉันชอบวงนี้มากกว่า เพราะหัดตีกับวงนี้ก็เลยรักและผูกพัน"

              หมุ่ยโหน่งฟังเสียงเด็ก ๆ พูดคุยอยู่รอบข้าง มีความรู้สึกว่าคนโน้นจับ คนนี้แตะอย่างเบามือ มีเสียงหนึ่งพูดว่า "อ๋อ เชือกหนังรอยหูฉัตรขาดนี่เองถึงได้หลุดน่ะ มา ๆ ฉันจะซ่อมให้ พ่อครูเคยสอนฉันให้ทำน่ะ เอ้า คนอื่น ๆ ก็เตรียมขนของไปตั้งวงได้แล้ว เหลือเวลาอีกไม่ถึงชั่วโมง พอฉันซ่อมฆ้องวงนี่เสร็จ ก็จะตามไป วันนี้พ่อครูจะได้ปลื้มใจ" เสียงชายคนที่รู้สึกจะเป็นที่เกรงใจของเด็ก ๆ พูดไปก็จับหมุ่ยโหน่งไปรวมกับพรรคพวกอย่างเดิม แต่ก็ยังไม่วายพูดต่อว่า

              "ดีนะที่ขาดเสียก่อน ถ้าขาดตอนกำลังบรรเลงละก็ฉันคงเสียใจแย่เลย ไม่นึกเลยยังใหม่อยู่แท้ เชือกหนังไม่น่าขาดเลย"

              เสียงบรรเลงดนตรีไทยบนเวทีหวานไพเราะจับใจ หมุ่ยโหน่งหลับตาอย่างมีความสุข เขาเพิ่งเคยมีความสุขดี ๆ กับเด็ก ๆ พวกนี้ วันนี้เขาได้พบความภาคภูมิใจ ได้ออกงานเป็นครั้งแรก และดูซิพ่อครูเฒ่านั่งอยู่ข้าง ๆ เขานี่เอง

              "ปู่หุ่ย...สักวันฉันคงได้เข้าไปอยู่รวมกับพวกปู่ได้โดยไม่มีใครรังเกียจนะ" หมุ่ยโหน่งรำพึงอย่างมีความหวัง

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น