สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา - สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นิยาย สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา : Dek-D.com - Writer

    สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

    คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้รับการก่อตั้งในปี พ.ศ. 2508 โดย ศาสตราจารย์ ดร. พลตรีบัญชา มินทรขินทร์ คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ตามประกาศในพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์...

    ผู้เข้าชมรวม

    38,491

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    6

    ผู้เข้าชมรวม


    38.49K

    ความคิดเห็น


    120

    คนติดตาม


    6
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  4 ก.ค. 48 / 20:53 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้รับการก่อตั้งในปี พ.ศ. 2508 โดย ศาสตราจารย์ ดร. พลตรีบัญชา มินทรขินทร์ คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ตามประกาศในพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 2 เมษายน 2508 ให้เพิ่มแผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ขึ้นในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และเรียกปริญญาบัตรในสาขานี้ว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต ชื่อภาษาอังกฤษว่า B.A. (Sociology and Anthropology)

      ในการเตรียมการแรกเริ่มนั้น ศาสตราจารย์ ดร. พลตรีบัญชา มินทรขินทร์ ได้พบปะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักคิดหลายท่าน จากสถาบันต่างๆ อาทิ ศาสตราจารย์ เกษม อุทยานิน ศาสตราจารย์ ประเสริฐ แย้มกลิ่นฟุ้ง ศาสตราจารย์ พัทยาสายหู รวมถึงการเรียนทาบทามรองศาสตราจารย์ จำเรียง ภาวิจิตร และรองศาสตราจารย์ เฉลิมศรี ธรรมบุตร มาร่วมงานในการเปิดแผนกวิชาดังกล่าว

      แต่ทว่าเมื่อถึงขั้นดำเนินการขออนุมัติ ตัวจากต้นสังกัดได้รับการอนุมัติเพียงให้มาช่วยราชการเป็นครั้งคราว ประจวบกับ ศาสตราจารย์ ดร.พลตรีบัญชา มินทรขินทร์ได้รับคำสั่งย้ายให้ไป เป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงไซง่อนจึงได้มอบภาระกิจสำคัญสำหรับการดำเนินงาน จัดตั้งทีมงานรวมถึงการร่างหลักสูตรไว้กับ ศาสตราจารย์ คุณหญิงสุภาพ วิเศษสุรการผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (เมษายน 2508 - ธันวาคม 2514)

      การดำเนินงานในการจัดตั้งผู้ร่วมงาน การร่างหลักสูตรได้ดำเนินลุล่วงไปด้วยดี ต่อมาปี พ.ศ. 2520 แผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้ปรับสถานะเป็นแผนกวิชาอิสระ มีสถานะเทียบเท่าคณะในวันที่ 17 มกราคม 2520 ต่อมาได้ปรับสถานะเป็น คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2527

      สำหรับการพัฒนาทางวิชาการ คณะฯ ได้เปิดสอนระดับปริญญาโทสาขาสังคมวิทยา โดยใช้ชื่อปริญญาบัตรว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (สังคมวิทยา) ชื่อภาษาอังกฤษว่า Master of Arts (Sociology) ต่อมาได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา โดยใช้ชื่อปริญญาบัตรว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) ชื่อภาษาอังกฤษ Master of Arts (Anthropology) ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมการวิจัยภาคสนาม และในปี พ.ศ. 2538

      คณะฯ ได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรการวิจัยทางสังคม โดยใช้ชื่อปริญญาบัตรว่า ประกาศนียบัตรบัณฑิตการวิจัยทางสังคม (Graduate Diploma in Social Research) แผนงานในอนาคตตามแผนพัฒนาการศึกษาระยะที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้วางแผนการพัฒนาคณะฯ ภายในระยะเวลา 5 ปี

      สังคมวิทยา

      สังคมวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาและอธิบายพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ด้วยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ ศึกษารูปแบบกระบวนการและผลของการกระทำระหว่างกันของคนในสังคม ชุมชน องค์การ กลุ่มคนไปจนถึงสถาบันสังคมแบบต่างๆ การศึกษาสังคมวิทยามีกลุ่มวิชาต่างๆ เช่น กลุ่มวิชาทฤษฎีและระเบียบวิธี กลุ่มวิชาจิตวิทยาสังคม กลุ่มวิชาประชากรชุมชนและสิ่งแวดล้อม กลุ่มการจัดระเบียบทางสังคม กลุ่มความเบี่ยงเบน และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

      มานุษยวิทยา

      มานุษยวิทยาศึกษาเกี่ยวกับตัวมนุษย์ ผลงานของมนุษย์ในด้านต่างๆ เช่น ภาษา วัฒนธรรม ตลอดจนพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน การศึกษามานุษยวิทยาในคณะแบ่งออกเป็นกลุ่มวิชาใหญ่ๆ คือ กลุ่มวิชาทฤษฎี กลุ่มวิชาระเบียบวิธี กลุ่มวิชาวัฒนธรรมและสังคมวิเคราะห์ กลุ่มวิชาของวัฒนธรรม กลุ่มวิชาโบราณคดี และพิพิธภัณฑ์ และกลุ่มวิชามานุษยวิทยาชีวภาพ

      ความมุ่งหมายของการศึกษาในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา


      ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ ในด้านการสำรวจและวิจัยทางสังคมสถิติสังคม การสอนและการวางแผนพัฒนาสังคม ตลอดจนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและ สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กับสังคม
      ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจ อย่างกว้างขวาง ในด้านวัฒนธรรม เพื่อวางแผนพัฒนาคน ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ตลอดจน สามารถช่วยเหลือ ชนกลุ่มน้อย และคนในสังคมชนบทได้
      เพื่อให้บัณฑิตสามารถประยุกต์ความรู้ไปประกอบอาชีพในสายวิชา โดยตรงหรือเกี่ยวข้องได้ตามความต้องการของสังคม
      ระดับหลักสูตรที่เปิดสอน

      หลักสูตรปริญญาตรี ผู้สำเร็จการศึกษาระดับนี้จะได้ปริญญาเรียกว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต ใช้อักษรย่อว่า สม.บ. ส่วนภาษาอังกฤษใช้ว่า B.A. (Sociology and Anthropology)
      หลักสูตรปริญญาโท เปิดสอนแยกเป็น 2 สาขา คือ สาขาสังคมวิทยาและสาขามานุษยวิทยา ผู้สำเร็จการศึกษาระดับนี้จะได้รับปริญญา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (สังคมวิทยา) หรือ (มานุษยวิทยา) แล้วแต่กรณี อักษรย่อใช้ว่า สม.ม. ภาษาอังกฤษใช้ M.A.(Sociology) หรือ M.A.(Anthropology)
      หลักสูตรประกาศนียบัตรวิจัยทางสังคม เปิดรับผู้จบปริญญาตรีทางด้านสังคมศาสตร์ ใช้เวลาศึกษา 1 ปี 2 ภาคการศึกษาปกติ และ 1 ภาคฤดูร้อน การสอนเน้นวิชาการวิจัยเป็นหลัก โดยนักศึกษาต้องเรียนวิชาบังคับ 20 หน่วยกิต และวิชาเลือกอีก 4 หน่วยกิต การเรียนการสอนจะดำเนินในวันศุกร์ช่วงเย็นและวันเสาร์วันอาทิตย์ตลอดวัน ผู้สำเร็จการศึกษา จะได้รับประกาศนียบัตรชื่อว่า ประกาศนียบัตรบัณฑิตการวิจัยทางสังคม (Graduate Diploma is Social Research) ใช้อักษรย่อว่า ป.บัณฑิต (การวิจัยทางสังคม)
      ข้อกำหนดหลักสูตร (ปริญญาตรี)

      นักศึกษาที่จะรับปริญญาตรีทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จะต้องเรียน

      วิชาพื้นฐานทั่วไปของมหาวิทยาลัย 30 หน่วยกิต
      วิชาในคณะสังคมวิทยาฯ 69 หน่วยกิต
      วิชาโท และ/หรือ วิชาเลือกอื่นๆ นอกคณะสังคมวิทยาฯ 39 หน่วยกิต

      รวม 138 หน่วยกิต
      ในส่วนวิชาโท และ/หรือวิชาเลือกอื่นๆ นอกคณะสังคมวิทยาฯ จำนวน 39 หน่วยกิต นักศึกษาสามารถจะไปเลือกเรียนวิชาโทในสาขาวิชาใดก็ได้ที่เปิดสอนในคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นักศึกษาเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมความรู้ให้กับวิชาเอกและโอกาศในการทำงานได้ เช่น เรียนวิชาเอกสังคมวิทยา วิชาโทบริหารธุรกิจ วิชาเอกสังคมวิทยา วิชาโทภาษาอังกฤษ วิชาเอกสังคมวิทยา วิชาโทวารสารศาสตร์ เป็นต้น

      คุณสมบัติผู้สมัคร

      ผู้สมัครเข้าศึกษาในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จะต้องสำเร็จการศึกษาชั้น ม.6 (ม.ศ.5 เดิม) หรือเทียบเท่า และจะต้องผ่านการสอบคัดเลือก 4 วิชา ดังนี้

      ภาษาไทย
      ภาษาอังกฤษ
      สังคมศึกษา
      คณิตศาสตร์ 2 หรือ ภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาเยอรมัน
      โดยมีคะแนนขั้นต่ำแต่ละวิชา 30% และค่าน้ำหนักวิชาหลัก 90% ค่าน้ำหนักผลการเรียน 10%

      จำนวนนักศึกษาที่สามารถรับได้

      ปีการศึกษา 2546 รับนักศึกษาได้ 100 คน

      ภาคปฏิบัติ

      คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามีนโยบายให้นักศึกษาได้ออกไปดูงานและศึกษาชุมชนแบบต่างๆ นอกสถานที่ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดในระยะสั้นๆ เพื่อช่วยให้นักศึกษามีความเข้าใจสภาวะทางสังคมตามที่ได้เรียนมาในภาควิชาการได้อย่างถ่องแท้

      สำหรับนักศึกษาที่มีความสนใจเกี่ยวกับสำรวจ และวิจัยทางสังคมจะมีโอกาสออกปฏิบัติงานวิจัยในสนามทั้งในและนอกเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อทดลองใช้ความรู้ทางทฤษฎีวิจัยสภาพสังคมจริงๆ ด้วยตนเอง หรืออาจจะฝึกฝนงานวิจัยร่วมกับโครงการสำรวจวิจัยของคณะสังคมวิทยาฯ เอง ซึ่งมีอยู่เป็นประจำก็ได้

      จบแล้วประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง

      ผู้สำเร็จการศึกษาทางด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สามารถทำงานในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

      เป็นนักวิจัย ส่วนราชการต่างๆ มักจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการวิจัยโดยตรง ซึ่งการค้นคว้าวิจัยในหน่วยงานเหล่านี้ครอบคลุมเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมทุกๆด้าน โดยที่แต่ละกรม กอง อาจจะวิจัยเน้นหนักไปในด้านใดด้านหนึ่ง มากกว่าด้านอื่นๆ ซึ่งก็แล้วแต่กรมกองนั้นๆ มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะในด้านใด

      ในภาคเอกชน ปัจจุบันมีบริษัทที่รับจ้างทำการวิจัยโดยเฉพาะ เช่น เดอมาร์ บี.โอ.อาร์ ทิสโก้ ลีเวอร์บราเดอร์ ดีทแฮล์ม เป็นต้น งานค้นคว้าในภาคนี้จะเป็นงานที่นักวิจัยเน้นหนักไปในด้านสำรวจการตลาดและงานที่ส่งเสริมผลประโยชน์และธุรกิจของบริษัทเท่านั้น

      งานวิจัยอีกส่วนหนึ่งเป็นงานวิจัยขององค์การนานาชาติ เช่น เจโทร เอสแคป ยูนิเซฟ ยูเนสโก เป็นต้น มีองค์การต่างชาติหลายองค์การททำการที่ทำการค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน

      เป็นครู อาจารย์ ในสถาบันการศึกษาต่างๆ หรือเป็นวิทยากรในสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ หรือเป็นวิทยากรในสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล

      เป็นนักวางแผนและนักบริหารในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลและเอกชน

      ทำงานด้านประมวลข้อเท็จจริงของสังคม เช่น งานด้านหนังสือพิมพ์ เป็นนักเขียนและนักวิจารณ์เกี่ยวกับสังคม เป็นวิทยากรให้ข้อมูลด้านบุคลิกภาพ สังคมและวัฒนธรรมไทย เป็นมัคคุเทศก์ ฯลฯ

      สรุปได้ว่างานที่ใช้ความรู้เกี่ยวกับสาขาวิชานี้โดยตรง ได้แก่ งานวิจัย งานด้านประมวลข้อมูลสถิติ งานด้านผังเมือง งานด้านพัฒนา งานคอมพิวเตอร์ งานด้านการวางแผน หรือวิเคราะห์นโยบายและงานสอนหนังสือ เป็นต้น ส่วนงานอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ความรู้ทางสังคมวิทยาโดยตรง ได้แก่ งานฝึกอบรม หรือการประชุม งานบริหาร เช่น ผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ เซลส์แมน งานข่าว เช่น พนักงานกรองข่าว ผู้สื่อข่าว พนักงานวิทยุ งานธุรการ เช่น Receptionist เจ้าหน้าที่สโมสร งานฝ่ายบุคคล และงานสังคมสงเคราะห์

      ดังนั้นหน่วยงานที่สามารถเข้าทำงานได้จึงแบ่งเป็น

      หน่วยงานของรัฐบาล ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสงเคราะห์ สำนักผังเมือง การเคหะแห่งชาติ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ฯลฯ

      นอกจากนี้ยังมีกระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกรุงเทพมหานคร และอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน หน่วยงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ธนาคาร องค์การ บริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจต่างๆ องค์การพัฒนาเอกชนและมูลนิธิต่างๆ เช่น โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ฯลฯ

      โอกาสในการศึกษาต่อ

      ผู้สำเร็จปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิตสามารถที่จะเข้าศึกษาต่อได้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ภายในประเทศ

      มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


      ปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สังคมวิทยา, มานุษยวิทยา)
      ปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ (พัฒนาชุมชน, สังคมสงเคราะห์)
      ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ (บริหารรัฐกิจ)
      ปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ (ประวัติศาสตร์)

      สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


      ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ, คณะรัฐประศาสนศาสตร์, คณะพัฒนาเศรษฐกิจ, คณะสถิติประยุกต์
      มหาวิทยาลัยมหิดล


      ปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ (ศาสนาเปรียบเทียบ, ประชากรศึกษา, สิ่งแวดล้อมศึกษา, สังคมศาสตร์การแพทย์)
      ปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (สังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม, อาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรม)
      ปริญญาโท คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ (เทคโนโลยีการบริหาร)
      ปริญญาโท สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (ประชากรศาสตร์, วิจัยประชากรและสังคม)
      จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


      ปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ (ประชากรศาสตร์)
      ปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ผังเมือง)
      มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


      ปริญญาโท สาขาพัฒนาชุมชน
      ปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ
      มหาวิทยาลัยศิลปากร


      ปริญญาโท คณะโบราณคดี (มานุษยวิทยา)
      สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติ


      ปริญญาโท คณะ Human Settlements Development (การวางแผนพัฒนาเมือง, การวางแผนพัฒนาชนบท)
      ต่างประเทศ


      สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาโท เอก ได้ในสาขาวิชาเอกโดยตรง และสาขาอื่นๆ เช่น บริหารรัฐกิจ บริหารธุรกิจฯลฯ
      การศึกษาต่างประเทศต้องมีพื้นความรู้ภาษาต่างประเทศ และวิชาการตามข้อกำหนดของแต่ละมหาวิทยาลัย

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×