การเจริญสัมพันธ์ไมตรีระหว่างไทยกับรัสเซียในสมัย ร.๕ - การเจริญสัมพันธ์ไมตรีระหว่างไทยกับรัสเซียในสมัย ร.๕ นิยาย การเจริญสัมพันธ์ไมตรีระหว่างไทยกับรัสเซียในสมัย ร.๕ : Dek-D.com - Writer

    การเจริญสัมพันธ์ไมตรีระหว่างไทยกับรัสเซียในสมัย ร.๕

    ผมจะมาเสนอการเจริญสัมพันธ์ไมตรีระหว่างไทยกับรัสเซียในสมัยของร.๕ว่าเป็นอย่างไรมีเอกสารหลายฉบับมากมายให้ดูกัน ใครอ่านแล้วจะติจะชมก็ช่วยๆกันโพสหน่อยน่ะครับ

    ผู้เข้าชมรวม

    2,912

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    2

    ผู้เข้าชมรวม


    2.91K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    1
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  21 มิ.ย. 50 / 19:33 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      บันทึก พระราชกรณียกิจ ร.5 ระหว่างประทับอยู่ที่วังปีเตอร์ฮอฟ - 9/6/2550

      บันทึก พระราชกรณียกิจ ร.5 ระหว่างประทับอยู่ที่วังปีเตอร์ฮอฟ

      พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนรัสเซียระหว่างวันที่ 3 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2440 ทรงประทับ ณ พระราชวังปีเตอร์ฮอฟฟ์ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ระหว่างวันที่ 3 ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม แล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังกรุงมอสโค

      ในปีนี้ (พ.ศ.2550) ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-รัสเซีย ครบรอบ 110 ปี อีกทั้งเป็นปีมงคล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา รัฐบาลไทยและรัฐบาลรัสเซียได้ร่วมกันรำลึกถึงวาระพิเศษนี้ โดยเริ่มโครงการฟื้นฟูสัญลักษณ์ไทยในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กด้วยการบูรณะปีกซ้ายของพระราชวังปีเตอร์ฮอฟฟ์ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยประทับเมื่อ พ.ศ.2440

      ในระหว่างที่เสด็จประพาสยุโรปคราวนั้น พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ) ตามเสด็จในตำแหน่งราชเลขาธิการในพระองค์ พระยาศรีสหเทพได้เขียนจดหมายเหตุบันทึกพระราชกรณียกิจไว้ และตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อจดหมายเหตุ เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.116”

      ในหนังสือได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจระหว่างประทับที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ ไว้อย่างละเอียด ในที่นี้จะขอคัดตัดตอนให้เห็นภาพคร่าวๆ เท่านั้น

      อนึ่ง คำถอดเสียงจากภาษาต่างประเทศ จะขอใช้การเขียนและสะกดการันต์ตามต้นฉบับของพระยาศรีสหเทพ เชีย ปีเตอร์ฮอฟฟ์ ก็จะใช้ ปีเตอร์ฮฟตามบันทึกของพระยาศรีสหเทพ เป็นต้น

      ในหลวงรัชกาลที่ 5 ประทับรถไฟพระที่นั่งจากเมืองวาสอ (วอร์ซอร์) ถึงสเตชั่นรถไฟเมืองปีเตอร์ฮฟ สมเด็จพระเจ้าเอมเปรอกรุงรัสเซียพระราชดำเนินมารับเสด็จด้วยพระองค์เอง จากนั้นก็นำเสด็จสู่พระราชวังปีเตอร์ฮฟ

      ตามทางแต่สเตชั่นรถไฟมาถึงพระราชวังปีเตอร์ฮฟมีพลตระเวณรายทางบ้านเรือนและตามฟากถนนมีธงช้างและธงสีต่างๆ ตกแต่งตลอด กับจุดประทีปโคมไฟถวายเป็นพระเกียรติยศเป็นอันมาก ซึ่งเต็มพื้นที่ที่จะจัดได้ ด้วยที่นี่เป็นตำบลเล็กๆ คล้ายกับเกาะบางปะอิน และพระราชวังปีเตอร์ฮฟที่สมเด็จพระเจ้าเอมเปรอมาประทับอยู่นี้ก็เป็นวังอย่างพระราชวังบางปะอิน......

      ในพระราชวังปีเตอร์ฮฟที่ประทับนี้ สมเด็จพระเจ้าเอมเปรอจัดให้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ มีห้องสำหรับพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอและราชองครักษ์ในพระราชวังเดียวกัน ส่วนข้าราชการจัดให้พักที่บ้านมิคกันเบิร์กในเขตของพระราชวังปีเตอร์ฮฟ แต่ไกลจากที่ประทับประมาณ 20 เส้นเศษ

      ในพระราชวังปีเตอร์ฮฟนี้ จะจัดตกแต่งงามเต็มที่อันพึงจะจัดได้ สิ่งใดที่เป็นของจะประกอบให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสำราญ เจ้าพนักงานได้จัดให้มีทุกอย่าง ข้างหน้าพระราชวังจะเป็นสวนชายทะเลมีถนนหนทางไปมาและต้นไม้อันงดงาม ในหมู่ต้นไม้เหล่านี้จะมีน้ำพุขึ้นสูงราวกึ่งเส้นเป็นอันมาก แลดูขาวไสว และ 2 ฟากถนนลงทะเลตรงพระราชวังลงไปจะมีแถวน้ำพุอยู่ 2 แถว ปานว่าเป็นแนวต้นไม้แก้วขาวงดงามมาก ทั้งในเวลานี้เจ้าพนักงานได้จัดจุดประทีปและตกแต่งถวายเป็นพระเกียรติยศทั่วในเมืองเซนต์ปีเตอร์ฮฟ ความงามของการตกแต่งรับรองและความงามในที่ใกล้เคียงพระราชวังเหลือที่จะพรรณาเป็นตัวหนังสือได้

      วันที่ 4 กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก 116 วันนี้เป็นวันอาทิตย์...สมเด็จพระเจ้าเอมเปรอกรุงรัสเซียพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวันในห้องขาว ซึ่งเป็นโต๊ะสำหรับพระมหากษัตริย์กับเจ้านายเท่านั้น เวลาเย็นสมเด็จพระเจ้าเอมเปรอพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารเย็นเป็นทางการ ณ ห้องเปียระ

      ครั้นถึงเวลาเลี้ยงอาหารหวาน สมเด็จพระเจ้าเอมเปรอกรุงรัสเซียทรงยืนมีพระราชดำรัสว่า ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับพระองค์ในเมืองของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าได้มีโอกาสขอบพระทัยที่ได้ทรงเมตตา รับรองข้าพเจ้าในเวลาข้าพเจ้าไปถึงกรุงสยาม ข้าพเจ้ายังจำการที่ได้ทรงต้อนรับข้าพเจ้าโดยทรงพระเมตตาอย่างเพื่อนอันสนิทในพระนครของกรุงสยามได้ดีทุกอย่าง ข้าพเจ้าขอดื่มถวายชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยาม......แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
      ทรงยืนมีพระราชดำรัสตอบว่า

      ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเฝ้าพระองค์ถึงกรุงรัสเซีย การที่พระองค์ได้เสด็จไปยังกรุงสยามนั้น ข้าพเจ้าและคนทั้งหลายในกรุงสยามยังจำได้โดยความยินดี ข้าพเจ้าถือว่าพระองค์เป็นมิตรผู้ทรงพระเดชานุภาพ ข้าพเจ้ามีความพอใจในการที่ได้ทรงจัดต้อนรับข้าพเจ้าเป็นอันมาก ข้าพเจ้าขอขอบพระทัยจากดวงจิตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอดื่มถวายชัยมงคลสมเด็จพระเจ้าเอมเปรอกรุงรัสเซีย

      ในวันที่ 5 กรกฎาคม ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จลงเรือกลไฟชื่ออาเล็กซันเดรีย พระราชดำเนินไปที่โบสถ์เซนต์ปีเตอร์และเซนต์ปอล อันเป็นที่ฝังพระศพในราชตระกูลพระเจ้ากรุงรัสเซีย เสด็จพระราชดำเนินชมพระราชวังวินเตอร์เสด็จทอดพระเนตรกองทหารดับเพลิง แล้วเสด็จพระราชดำเนินประพาสในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กต่อไปโดยขบวนรถ จากนั้นวกกลับไปชมพระราชวังวินเตอร์ชั้นล่าง อันเป็นที่เก็บรักษามงกุฏและเครื่องต้นของสมเด็จพระเจ้าเอมเปรอ เวลาค่ำสมเด็จพระเจ้าเอมเปรอได้จัดละครอย่างเอมเปรอถวายทอดพระเนตร

      ในวันที่ 6 กรกฎาคม ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปเสวยกลางวันที่ตำหนักเอมเปรสพระราชมารดา (ของเอมเปรอ) ตอนค่ำเสวยพระกระยาหารเย็นที่วังอาเล็กซันเดรีย แล้วทูลลาสมเด็จพระนางเจ้าเอมเปรสพระมเหสี เสด็จพระราชดำเนินไปสเตชั่นรถไฟ ประทับรถไฟไปสู่กรุงมอสโค

      หากจะกล่าวถึงวันที่เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียแล้วไทยจะนับเอา วันที่ 3 กรกฎาคม 2440 เป็นวันแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียอย่างเป็นทางการ เพราะไทยถือว่าวันนี้เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเหยียบย่างเข้าสู่รัสเซียอย่างเป็นทางการ แต่หากจะนับการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ของรัสเซียกับไทยแล้วก็คงต้องกล่าวว่าเริ่มต้นขึ้นมาก่อนหน้านั่นแล้วล่ะครับ เพราะว่าซาร์นิโคลัสที่ 2 พระองค์เคยเสด็จเยือนแผ่นดินสยามมาก่อน

      การเสด็จเยือนของซาร์นิโคลัสที่ 2 นั่นเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระองค์ยังเป็นมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียทรงพระนามว่าเซอร์เรวิซ แกรนด์ ดุ๊ดนิโคลัส โดยพระองค์ได้เสด็จเยือนไทยระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม พ.. 2434 รวมเป็นเวลา 5 วัน การเสด็จเยือนของพระองค์ในครั้งนี้ไทยก็ได้มีการต้อนรับอย่างอลังการ มีการบันทึกถึงการต้อนรับในครั้งนั้นไว้ว่าเป็นการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติอย่างยิ่ง

      แต่ก่อนอื่นขอย้อนไปเล่าถึงความเป้นมาของการเดินทางมาเยือนไทยของซาร์นิโคลัสที่ 2 ก่อนนะครับ ซึ่งการเดินทางมาเยือนไทยครั้งนั้นเกิดขึ้นจากการที่พระองค์มีกำหนดการเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียน ณ เมืองวลาติวอสต็อก ในปี พ..2434 พระองค์ได้เสด็จโดยเรือรบหลวงปาเมียต อโชวา พร้อมคณะผู้ติดตามออกจากรัสเซีย โดยใช้เส้นทางทะเลดำ ผ่านอียิปต์ ไปแวะอินเดีย ก่อนที่จะตัดผ่านเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อไปยังวลาดิวอสต็อกอันเป็นเมืองจุดหมายปลายทาง

                     เมื่อมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียเสด็จถึงสิงคโปร์ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีมีที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กับมหาอำนาจของโลกอย่างรัสเซีย ดังนั้นจึงได้มีการทูลเชิญมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียมาเยือนไทย ซึ่งพระองค์ก็ทรงตอบรับคำทูลเชิญเพื่อเสด็จเยือนสยามระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2434
      การเสด็จเยือนแผ่นดินสยามของมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย(ซาร์นิโคลัสที่ 2) ในครั้งนั้นได้รับการต้องรับอย่างยิ่งใหญ่ โดยระหว่างวันที่ 20 – 22 ทรงประทับที่พระราชวังสราญรมย์ ซึ่งได้รับการตกแต่งอย่างดีที่สุด และในระหว่างที่ประทับอยู่นั้นก็ได้มีพิธีพระราชทาน สายสะพายจักรีสีเหลืองสด ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ ชั้นสูงสุดของไทยที่สงวนไว้ เฉพาะผู้มีกำเนิดเป็นเจ้านายชั้นสูง แด่ มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียด้วย

      ส่วน2 วันสุดท้ายซาร์เรวิชและคณะก็ทรงเสด็จพระราชวังบางปะอิน มีการกล่าวถึงการต้อนรับในครั้งนั้นว่าในรัชหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานการรับรองในลักษณะของการปิกนิกแบบไทย ที่ไปกันเป็นคณะใหญ่จำนวน 3,000-4,000 กว่าคน และมีเรือเข้าร่วมขบวนเสด็จจำนวนนับร้อย สิ่งสำคัญที่สุดของการต้อนรับครั้งนี้ คือจัดให้มีพระราชพิธีคล้องที่เพนียดให้ทอดพระเนตร ซึ่งเป็นพระราชพิธีคล้องช้างที่สมบูรณ์แบบที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุดโดยมีช้างเข้าร่วมถึง 300 เชือก และที่สำคัญก็คือการคล้องช้างในครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายในสมัยรัตนโกสินทร์ และมีการตั้งชื่อช้างพลายที่คล้องได้วันนั้นว่าพลายซาร์วิช

      ส่วนงานเลี้ยงในยามกลางคืนก็ได้จัดให้มีมูนไลต์ปาร์ตี้ขึ้น ณ พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรในพระราชวังบางปะอิน บรรยากาศเป็นไปอย่างครึกครื้นรื่นรมย์ และมีการจุดโคมทั่วบริเวณอย่างสว่างไสว พร้อมกันนั้นได้จัดแสดงชุดต่างๆ เพื่อถวายความบันเทิงแด่พระราชอาคันตุกะสำคัญอย่างพร้อมสรรพ

      ครั้นถึงรุ่งเช้าวันที่ 25 มีนาคม 2434 ก็ได้มีการฉายพระรูปหมู่เพื่อเป็นที่ระลึก ณ ข้างพระที่นั่งเวหาสจำรูญจากนั้นขบวนเจ้านายฝ่ายสยามก็นำส่งเสด็จคณะเดินทางของมกุฎราชกุมารรัสเซีย โดยเรือพระที่นั่งสุริยมณฑลจนถึงเรือรบรัสเซีย 3 ลำที่ทอดสมอรออยู่

      หลังจากการเสด็จเยือนไทยของมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียเป็นไปอย่างแนบแน่นยิ่งนัก และเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนยุโรปพระองค์ก็เลือกที่จะเสด็จเยือนรัสเซียเป็นประเทศแรก และการเสด็จการเยือนรัสเซียของพระองค์ท่านก็ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติเช่นกัน

      แม้แผ่นดินจะอยู่กันคนละขอบฟ้า แต่ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ ดุจดั่งญาติสนิท การเสด็จประพาสยุโรปของรัชกาลที่ 5 ได้สะท้อนถึงวิเทโศบายด้านการต่างประเทศอันแนบแน่นของพระองค์ ที่นำพาประเทศสยามซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียง รัฐกันชนเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาอำนาจในยุโรป ให้รอดพ้นจากการถูกกลืนเป็นเมืองขึ้นภายใต้กระแสลัทธิล่าอาณานิคมที่รุนแรงในช่วงเวลาดังกล่าว

      ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการนำความรู้และวิทยาการต่างๆ จากมหาอำนาจในยุโรปมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับอารยะประเทศต่างๆ รวมทั้งวางรากฐานความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในลักษณะพิเศษกับหลายประเทศในยุโรปสืบมาจนถึงปัจจุบัน

      วันเวลาแห่งญาติสนิทอาจมีบ้างที่ห่างเหิน เหมือนขอบฟ้าที่เลือนหายไปชั่วขณะหนึ่ง เมื่อข่าวโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นต่อการลอบสังหารพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัว เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) ล่วงรู้มาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ซึ่งมีความสนิทสนมกับจักรพรรดิรัสเซียและกับมเหสี อเล็กซานดร้า ฟีโยดรอฟน่า ไม่น้อยกว่าที่สมเด็จพระชนกทรงมี

      แม้ว่าเรื่องการสังหารพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวจะได้กลายเป็นข้อสงสัยและเป็นประเด็นของการถกเถียงในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมาว่า ได้มีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวจริงหรือไม่ก็ตามพ้นจากนี้แล้วความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ก็ได้อันตรธานหายไปในมิติของกาลเวลากว่า 70 ปี ที่รัสเซียเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสังคมนิยม และจากมิตรกลายเป็นศัตรู เมื่อไทยตัดสินใจเข้าสู่การทำสงครามเย็นกับรัสเซียในช่วงสงครามอินโดจีน

      เวลาที่หายไปอาจช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากเงื้อมือของทฤษฎีโดมิโน และรักษาระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไว้ได้ แต่ก็ทำให้คนไทยมากกว่า 3 รุ่นถูกตัดขาดจากการรับรู้ถึงความก้าวหน้าในอีกขั้วหนึ่งของสังคมมนุษยชาติ ที่ซึ่งอารยธรรมของชนชาติรัสเซียได้สร้างไว้ส่งผ่านสืบสานกันมา แม้จะหลบฉากอยู่หลังม่านเหล็กในร่างทรงของสหภาพโซเวียตเป็นเวลากว่า 70 ปีก็ตาม

      การนำอารยธรรมของ 2 กระแสของคนละขอบฟ้าให้มาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและต้องฟันฝ่าอุปสรรคการเมืองระหว่างประเทศอีกไม่น้อย กอปรกับความสัมพันธ์เครือญาติที่ห่างเหินไปนานทำให้ทัศนคติและกระบวนทัศน์ของคนที่ซึ่งแตกต่างทางวัฒนธรรมกันอยู่แล้ว คนไทยมองรัสเซียในอีกทัศนะหนึ่งของความเป็น พี่เบิ้มระบอบสังคมนิยม

      เมื่อเราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์รัสเซียดีพอ หรือไม่เรียนรู้ หรือเพิกเฉย ก็ย่อมขาดความเข้าใจวัฒนธรรมในตัวตนแห่งรัสเซีย ว่ากันเวลานั้นไม่มีทางอันใดเลยระหว่างระบอบสังคมนิยมของรัสเซียกับระบอบประชาธิปไตยของไทย จะประสานรอยต่อที่เคยเชื่อมความสัมพันธ์แห่งพระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ได้แต่เมื่อถนนเศรษฐกิจเชื่อมโลก การข่าวสารยุคใหม่ผ่านอินเตอร์เน็ต ความรับรู้รัสเซียของคนไทยในห้วง 70 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มคลี่คลายไปในลำดับที่ดีขึ้น

      มิตรภาพที่เลือนหายไปนาน ได้เปล่งแสงสว่างขึ้นเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จากจุดเล็กๆ ของหน่วยงานรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ เริ่มสานก่อเชื่อมสะพานมิตรภาพเมื่อ 3 ปีก่อน อันนอกเหนือจากการค้าและการทูตแล้ว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมการแสดงศิลปะของชาติมีตามมา และในปี พ.ศ.2550 นี้รัสเซียร่วมมือกับไทยในการเฉลิมฉลองการครบรอบ 110 ปีความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย โดยการยกห้องในส่วนปีกซ้ายของพระราชวังปีเตอร์ฮอฟ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บูรณะซ่อมแซมกลับสู่สภาพเดิมขึ้นมาใหม่

      ในรายงานเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก ได้กล่าวการดำเนินโครงการฟื้นฟู สัญลักษณ์ไทยจาก นาย Vadim Znamenov ผอ.พิพิธภัณฑ์พระราชวังปีเตอร์ฮอฟว่า รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันบูรณะอาคารส่วนดังกล่าว ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่บนชั้นที่ 2 ของพระราชวังฯ ปัจจุบันเป็นห้องแสดงคอนเสิร์ตของพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยห้องต่างๆ 9 ห้อง มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 300-500 ตารางเมตร

      เมื่อบูรณะซ่อมแซมเสร็จ ได้จัดแสดงนิทรรศการแบบถาวรเพื่อเทิดพระเกียรติ ร.5 และแสดงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ฉันมิตรสหายระหว่างราชวงศ์จักรีและโรมานอฟ อันเป็นจุดเริ่มของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้ง 2 อย่างเป็นทางการ

      สำหรับผู้แทนรัฐบาลไทย นอกเหนือจากกระทรวงการต่างประเทศที่มีบทบาทด้านการทูตและงานบูรณะซ่อมแซมห้องประทับนี้แล้ว กระทรวงวัฒนธรรมได้เข้าไปมีส่วนร่วมเช่นกัน คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม จะเป็นผู้สนับสนุนผู้แทนวิชาการจากกรมศิลปากร ไปคอยให้คำแนะนำความเหมาะสมในด้านสถาปัตยกรรมต่างๆ

      ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจะสนับสนุนงบประมาณในการบูรณะประมาณกว่า 200 ล้านบาท ในส่วนของรัฐบาลรัสเซียได้จัดสรรงบฯ บูรณะ จำนวน 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ ทั้งสำรวจและออกแบบการก่อสร้างซ่อมแซมไม่น้อยกว่า 3 ปี จึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ เปิดเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการความสัมพันธ์ของราชวงศ์ทั้ง 2 ประเทศ อันจะทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เข้าไปชมพระราชวังฯ นี้ ปีละกว่า 6 ล้านคน ได้รับรู้เรื่องราวอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก

      คุณหญิงไขศรี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้แทนพระองค์ เสด็จเยือนสหพันธรัฐรัสเซียอย่างเป็นทางการ ในปี 2550 และประกอบภารกิจเป็นองค์ประธานเปิดแพรคลุมศิลปะปูนปั้นภาพนูนติดผนังของ ร.5 และพระจักรพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซีย ที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ อันเสมือนเป็นการเริ่มโครงการที่สำคัญนี้อย่างเป็นทางการ

      ช่วงหนึ่งของขอบฟ้าในเงาวัฒนธรรมสัมพันธ์การทูตที่เลือนหาย แต่บัดนี้ได้พลิกฟื้นขึ้นอีกครั้งในโลกของการทูตวัฒนธรรมเชิงรุก

      +

      +

      +

      +

      +

      อ้างอิง

      http://www.eqplusonline.com/column_detail.php?id=266&PHPSESSID=923910f70cce603c4947d2f5656a7502

      http://www.siamrath.co.th/Education.asp?ReviewID=175259

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×