ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ประวัติตัวละครเรื่อง"สามก๊ก"

    ลำดับตอนที่ #28 : ซุกเกี๋ยน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 391
      0
      20 ม.ค. 50

    ซุนเกี๋ยนเกิดจากครอบครัวสามัญชนทั่วไปในเมืองต๋องง่อ ดังนั้นพื้นเพของตระกูลและชีวประวัติสมัยยังเด็กของซุนเกี๋ยนจึงไม่มีบันทึกไว้ แต่จากบันทึกของทางการแสดงให้เห็นว่าย้อนหลังไปหกร้อยปีซุนเกี๋ยนสืบเชื้อสายมากจากแม่ทัพซุนวู ผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเขียนตำราพิชัยสงคราม บางตำราบอกว่าพ่อของซุนเกี๋ยนชื่อ ซุนจง แต่อีกหลายเล่มไม่มีการบันทึกไว้ พ่อของซุนเกี๋ยนเป็นชาวสวนปลูกแตงโมเพื่อเลี้ยงชีพ ซุนเกี๋ยนจะเกิดมาอย่างสามัญชนในดินแดนที่ห่างไกล แต่ตัวเขากลับเป็นเด็กที่ใจกว้าง ฉลาด และมีพฤติกรรมที่แปลกเด็กทั่วไป ซุนเกี๋ยน มีพี่ชายฝาแฝดชื่อ ซุนเฉียง ซึ่งตายจากไปโดยที่อายุยังน้อย (แต่ก่อนตาย ซุนเฉียง มีบุตรชายสองคนคือ ซุนเปิ่น และ ซุนฝู)

    ประวัติศาสตร์บันทึกประวัติซุนเกี๋ยนครั้งแรก เมื่ออายุสิบห้าสิบหกปี มีตำแหน่งเป็นขุนนางการเมืองผู้น้อยคนหนึ่ง บางทีซุนเกี๋ยนอาจจะเกี่ยวข้องกับตระกูลขุนนางบางตระกูลในแถบนั้น หรือเคยรับใช้พวกเขาบ้าง ทำให้ได้รับตำแหน่งนี้ ต่อมาซุนเกี๋ยนได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งในผู้มีคุณสมบัติเป็นลูกกตัญญู ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่า ผู้มีความสมบูรณ์ ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือกนี้ล้วนแต่เป็นลูกหลานขุนนางทั้งนั้น ซุนเกี๋ยนไม่มีตำแหน่งและเส้นสายใด ๆ ที่จะช่วยเขาให้ได้รับตำแหน่งทีใหญ่โตเช่นนั้น ลำพังชื่อเสียงของครอบครัวที่เป็นคนพื้นเพนี้มาหลายชั่วคนอย่างน้อย นั้นเพียงแค่ช่วยให้เขาได้รับตำแหน่งขุนนางเล็ก ๆ นี้ ดังนั้นเป็นไปได้ที่จะคาดการณ์ว่า ครอบครัวของซุนเกี๋ยนนั้นไม่ได้ยากจนและพอมีอันจะกินบ้างไม่งั้นตัวเขาเองคงต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ ไม่มีโอกาสได้เป็นขุนนาง สำหรับเด็กหนุ่มที่มีความทะเยอทะยานอย่างเขา ตำแหน่งขุนนางที่เขาได้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ แม้ว่าเขาจะเอาดีเติบโตทางนี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นการสร้างเส้นสายกับทางการเมืองให้กับเขา

    จากประวัติที่ไม่ได้บอกอะไรมาก เป็นไปได้ที่ตำแหน่งของซุนเกี๋ยนอาจจะเป็นตำรวจหรือองครักษ์ให้กับขุนนางเนื่องจากประวัติการต่อสู้ของเขา เมื่อซุนเกี๋ยนอายุได้ 17 ปี เขาได้ติดตามบิดาไปที่เมือง เจียนต๋องระหว่างทางพวกเขาพบกับโจรสลัดกลุ่มหนึ่งดักปล้นนักเดินทาง ไม่เรือลำไหนกล้าแล่นเรือเข้าใกล้ค่ายโจรแห่งนี้ ซุนเกี๋ยนขออนุญาตจากบิดาเพื่อปราบโจรสลัดพวกนี้ แต่พ่อของเขาตอบว่า ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของเจ้า อย่างไรก็ตาม ซุนเกี๋ยนว่ายน้ำลอบขึ้นฝั่งไปคนเดียว สะพายดาบมุ่งหน้าไปหน้ากลุ่มโจร เมื่อเขาพบเจอพวกโจร เขาก็จะเหวี่ยงแขนทำท่าส่งสัญญาณเหมือนให้ทหารบุก พวกโจรสลัดคิดว่ามีกองทหารซุ่มอยู่และซุนเกี๋ยนเป็นผู้นำทหารของทางการบุกมาเพื่อจับตัวพวกเขาจึงวิ่งหนีกระจัดกระจายไปคนละทางซุนเกี๋ยนไล่จับตัวได้คนหนึ่งและตัดหัวกลับมาเป็นเครื่องพิสูจน์ชัยชนะของเขาต่อพวกโจร พ่อของเขาประหลาดใจมาก แม้กลุ่มโจรสลัดเล็ก ๆ กลุ่มนี้จะไม่ได้มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เลย แต่ซุนเกี๋ยนก็ได้สร้างชื่อเสียงและได้รับยศทางทหารจากเหตุการณ์นั้น อย่างไรก็ดี จากการที่พ่อของซุนเกี๋ยนไม่สนับสนุนเขาในวีรกรรมครั้งนี้ ดูเหมือนว่าพ่อของเขาจะไม่ใช่คนที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว และจากการเดินทางล่องเรือไปเมืองเจียนต๋อง หลายต่อหลายครั้ง เป็นไปได้ที่พ่อของเขาจะไม่ได้เป็นชาวไร่ชาวสวน แต่เป็นพ่อค้านักเดินทาง

    การได้รับยศทหารของซุนเกี๋ยน เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการก่อกบฏของ หือฉง นักบวชผู้ตั้งตัวเป็นกบฏ ซุนเกี๋ยนได้รับคำสั่งเป็นผู้นำกองพันนำทหารในเมืองง่อเข้าปราบปราม ซุนเกี๋ยนนำทัพพันกว่าพันเข้าโจมตีกบฏ เริ่มแรกตำแหน่งทางการทหารของซุนเกี๋ยนเป็นเพียงผู้ช่วยของผู้บัญชาการเป็นเพียงตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจสั่งการทางทหาร จริง ๆ แล้วเขาก็ยังเป็นขุนนางพลเรือนอยู่ แต่เพิ่มหน้าที่ความรับผิดชอบไปเป็นการรักษาความปลอดภัยในกองทัพ ควบคุมตำรวจท้องถิ่น และรับผิดชอบการเกณฑ์ทหารประจำปี จากประสบการณ์ทำให้ผู้บัญชาการแต่งตั้งเขาเป็นนายพัน และใช้ให้ไปเกณฑ์ทหารเพื่อปราบกบฏ

    ในการโจมตีกบฏ หือฉง ซุนเกี๋ยนนำทัพได้ประทับใจ จางหมิน ผู้ตรวจการมณฑลยังจิ๋วอย่างมาก เขาแนะนำซุนเกี๋ยนแก่ราชสำนัก ไม่นานก็มีจดหมายแต่งตั้งซุนเกี๋ยนจากทางการ ให้เป็นผู้ช่วยนายอำเภอ หยานตู เมืองกองเหลง

    (การเสนอชื่อแก่ทางการครั้งน่าจะเป็นการเสนอผ่านการคัดเลือก บุตรกตัญญู หรือ ผู้มีความสมบูรณ์ ซึ่งผู้ที่ถูกเสนอชื่อจะได้รับว่าจ้างเป็นขุนนางโดยทันที แต่การเสนอชื่อนั้นถูกจำกัดเพียงสิบสามชื่อจากหัวเมืองต่าง ๆ และอีกจำนวนเล็กน้อยจากขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองหลวง ผู้ถูกเสนอชื่อจึงมีจำนวนน้อยมากและเป็นเชื้อสายขุนนางเท่านั้น และขั้นตอนต่อไปเมื่อผ่านการคัดเลือกขั้นแรก คือการเข้ารับตำแหน่งองค์รักษ์พิธีการของฮ่องเต้ เพื่อที่ขุนนางชั้นสูงจะได้มีโอกาสสังเกตผู้ถูกเสนอชื่ออย่างใกล้ชิด ซึ่งในเวลาต่อมา การคัดเลือกเช่นนี้ถูกยกเลิก การถูกเสนอจากหัวเมืองท้องถิ่นคือการได้รับตำแหน่งจากทางการผู้ที่ได้รับการเลือก จะต้องได้คำมั่นสัญญาจากองค์ฮ่องเต้ เขาผู้นั้นจะเติบโตเป็นขุนนางผู้ใหญ่ต่าง ๆ เพราะตำแหน่งขุนนางผู้น้อยท้องถิ่นจะแต่งตั้งโดยหัวเมืองนั้น ๆ เอง แต่ตำแหน่งขุนนางใหญ่นั้นจะมาจากผู้ได้รับการคัดเลือกนี้ เรียกว่าเป็นการแต่งตั้งจากเมืองหลวงโดยตรง ดังนั้นการที่ซุนเกี๋ยนได้รับการเสนอชื่อจาก ผู้ตรวจการมณฑล จางหมิน ถือเป็นก้าวสำคัญในอาชีพของซุนเกี๋ยน แม้ว่าจะไม่ได้รับการคัดเลือก แต่ก็ทำให้ซุนเกี๋ยนได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้นจากเดิม)

    ช่วงเวลาเดียวกันกับที่เขาได้เลื่อนขั้น ตัวเขาเพิ่งอายุได้เพียง 19 ปี ซุนเกี๋ยนได้เจอกับภรรยาของเขา งอฮูหยิน เขาตกหลุมรักในความงามและบุคลิกของนางในทันที แม้ว่าครอบครัวของงอฮูหยินจะไม่ตกลงกับการสู่ขอของซุนเกี๋ยน แต่เป็นตัวงอฮูหยินเองที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกับซุนเกี๋ยน และเกลี้ยเกลี้ยให้คนในตระกูลยอมให้นางแต่งงาน การเลื่อนขั้นของซุนเกี๋ยนกลายเป็นหลักประกันอย่างดีต่อตระกูลงอว่าการเกี่ยวดองครั้งนี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

    ลูกคนแรกของซุนเกี๋ยนคือ ซุนเซ็ก เกิดในปี 175 ลูกคนที่สอง ซุนกวน ฮ่องเต้ง่อในอนาคต เกิดในปี 182 ลูกคนที่สามและสี่ ซุนเซียงและซุนของ เกิดในปีต่อ ๆ มารวมทั้งลูกสาวอีกหนึ่งคน ในเวลาเดียวกัน ซุนเกี๋ยนมีลูกชายอีกคนคือซุนลองจากภรรยาน้อย และบันทึกยังอ้างถึงลูกสาวอีกสองคนของซุนเกี๋ยน ซึ่งเป็นไปได้ที่ไม่ใช่ลูกของงอฮูหยิน

    ซุนเกี๋ยนเป็นผู้ช่วยนายอำเภออยู่ที่ หยานตู แล้วก็ย้ายไปที่ ซีอี้ สุดท้ายก็ย้ายเป็นผู้ช่วยนายอำเภอที่ แห้ฝือ ซึ่งถือเป็นหัวเมืองใหญ่ ของมณฑลชีจิ๋ว นั่นคือจากปี 174 ถึง 184 นั้นเป็นเวลาสิบปี ซุนเกี๋ยนไม่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเลย เพียงแต่ย้ายจากอำเภอเล็ก ๆ ไปอำเภอใหญ่ขึ้นเท่านั้น

    บันทึกบรรยายถึงชีวิตช่วงนี้ของซุนเกี๋ยนว่า เขาอยู่ที่ใดก็มีคนชื่นชมนับถือ บรรดาขุนนางและชาวบ้านรักและไว้ใจในตัวเขาและมักจะมีคนเป็นร้อยมาเยี่ยมเยียนเขาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเพื่อนเขาจากบ้านเกิด คนหนุ่มรุ่นใหม่ที่อยากรู้จักเขา ซุนเกี๋ยนรับรองแขกของเขาอย่างดี เหมือนเป็นครอบครัวตัวเอง

    ปี 184 ซุนเกี๋ยนอายุได้ 30 ปี เขามีกลุ่มเพื่อนและผู้ติดตามจำนวนหนึ่งที่พร้อมจะสนับสนุนเขาในอนาคต ในปีนี้เองราชวงศ์ฮั่นก็ส่อเค้าการเสื่อมโทรม เกิดกบฏโจรผ้าเหลืองโดยเตียวก๊ก ทางตะวันออกและ กบฏอีกกลุ่มทางตะวันตกเฉียงเหนือ ภายใต้ภาวะเช่นนี้ กองทัพหลวงนั้นไม่มีความสามารถจัดการกบฏเท่าไหร่นัก แต่ในวิกฤตนี้ กลับกลายเป็นโอกาสแก่ซุนเกี๋ยนการปราบโจรผ้าเหลือและกบฏอีกกลุ่มนั้น ทำให้เขาเลื่อนตำแหน่งและชื่อเสียงที่เขาไม่คาดคิดว่าจะได้รับในช่วงเวลาที่บ้านเมืองสงบสุข

    เตียวก๊กกับน้องชายเตียวโป้ เตียวเหลียง ก่อกบฏโจรผ้าเหลือง อาศัยความเชื่อที่ว่า บุญบารมีของราชวงศ์อั่นสิ้นแล้วท้องฟ้าจะเป็นสีเหลือง ยุคใหม่กำลังจะมาถึง

    เตียวก๊กนำบรรดาสาวกออกก่อการกบฏ โดยให้ทุกคนโพกศีรษะด้วยผ้าสีเหลือง จึงเป็นที่มาของชื่อกบฏโจรผ้าเหลือง เตียวก๊กส่งบรรดาลูกศิษย์ไปทั่วภาคเหนือของจีน ปลุกระดมชาวบ้านให้เข้าร่วมกับโจรผ้าเหลือง

    เตียวก๊กนัดบรรดาลูกศิษย์เพื่อที่จะก่อการกบฏพร้อม ๆ กันทุกเมือง แต่ว่าก่อนที่จะลงมือ มีการทรยศเกิดขึ้นลูกศิษย์ของเขาถูกจับและสังหารที่เมืองหลวง ทำให้บรรดาลูกศิษย์ของเขาที่เป็นผู้นำในเมืองอื่นโกรธแค้นและก่อการกบฏลุกฮือขึ้นก่อนเวลาที่เหมาะสม จากการขาดการประสานงาน เหล่าชาวบ้านที่เข้าร่วมจำนวนหลายหมื่น ลุกฮือขึ้นก่อกบฏ ทำลายสถานที่ราชการและยึดเมือง ทำให้กองทัพทางการตื่นตัวพร้อมป้องกันทันที

    กลุ่มกบฏประกอบด้วยสามกลุ่มหลัก ๆ คือกลุ่มของเตียวก๊กและน้องชายในเขตวุย กลุ่มที่สองอยู่ในเขต กวงหยาง และ จว่อ กลุ่มที่สามเกิดขึ้นที่ อิ๋งฉวน ยีหลำ และ หนานหยาง กำลังกลุ่มนี้ติดต่อกับขุนนางที่ทรยศในเมืองหลวงเพื่อที่จะยึดเมืองลั่วหยางเป็นกลุ่มที่อันตรายที่สุด ทำให้ในช่วงแรกของการกบฏ ทางการนั้นวุ่นวายอยู่กับการหาและสังหารขุนนางที่ทรยศในเมืองหลวงจนเข้าเดือนที่สาม ทางการถึงจัดกองทัพสามกองทัพเข้าจัดการกับโจรกบฏ ซึ่งนำทัพโดยจูฮีและ ฮองฮูสง

    จูฮีเป็นคนเมืองห้อยแข เป็นคนพื้นเพเดียวกับซุนเกี๋ยน เขาเป็นคนแนะนำให้ตั้งซุนเกี๋ยนให้เข้าร่วมในทัพปราบกฏนี้ด้วย เนื่องจากจูฮีได้ยินชื่อเสียงของซุนเกี๋ยนมาก่อนว่าเป็นคนที่จงรักภักดี และเป็นแม่ทัพที่มีความสามารถ อีกทั้งดินแดนตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีนั้น ไม่มีกลุ่มกบฏของเตียวก๊กอยู่ จึงสะดวกในการที่จะระดมชาวบ้านมาเกณฑ์เป็นทหารต่อสู้กบฏ ซุนเกี๋ยนจึงได้คำสั่งระดมพลเดินทัพเข้าร่วมกับกองทัพของจูฮี ซึ่งคนของซุนเกี๋ยนจึงประกอบไปด้วย คนหนุ่มจากบ้านเกิดของเขาที่ต้องการรับใช้ซุนเกี๋ยนคนเหล่านี้จึงยอมรับซุนเกี๋ยนเป็นผู้นำอย่างดี และเหล่าทหารเกณฑ์ที่เขาเกณฑ์และฝึกมาโดยตรง และเหล่าคนเร่ร่อนที่ไม่มีทางเลือกมากนัก

    การต่อสู้กับโจรผ้าเหลืองนั้นเป็นไปอย่างโหดร้าย รุนแรง แม้ทัพทางการจะได้ชัยในหลายพื้นที่ แต่เจ้าเมืองหนานหยาง และ ยีหลำก็พ่ายแพ้ในการสู้กับโจรผ้าเหลือง กลางปี 184 ฮองฮูสงและจูฮี รวมกองทัพเข้าด้วยกันโจมตีโจรผ้าเหลืองที่ยีหลำ หลังจากได้ชัยชนะ ฮองฮูสงนำกองทัพบุกตีโจรผ้าเหลืองทางตอนเหนือ ส่วนจูฮียกทัพไปสู้กับโจรผ้าเหลืองที่ หนานหยาง

    ซุนเกี๋ยนตามจูฮีโจมตีโจรผ้าเหลือง ในการรบทุกครั้ง โจรผ้าเหลืองไม่อาจต้านทางทัพของซุนเกี๋ยนได้เลย อย่างไรก็ดี มีการรบครั้งหนึ่งที่ซุนเกี๋ยนพ่ายแพ้ ได้รับบาดเจ็บจนร่วงจากหลังม้า จึงซ่อนตัวในพุ่มไม้ เหล่าผู้ติดตามก็หนีไปคนละทางไม่มีใครเจอกับซุนเกี๋ยนจนม้าของเขากลับไปที่ค่ายและนำทางทหารของเขามายังที่เขาได้รับบาดเจ็บจนพบซุนเกี๋ยน หลังจากรักษาตัวอยู่สองอาทิตย์ซุนเกี๋ยนก็หายดีและกลับเข้าร่วมรบอีกครั้ง

    หลังจากการปราบกบฏโจรผ้าเหลือง ซุนเกี๋ยนได้รับการนำเสนอชื่อกราบทูลฮ่องเต้ถึงความดีความชอบ และได้รับการเลื่อนตำแหน่งทางทหาร อย่างไรก็ดี แม้ว่าทางการจะได้รับชัยชนะ แต่สงครามครั้งนี้ก่อความเสียหายเป็นวงกว้าง สถานที่ทางราชการหลายแห่งถูกทำลาย ขุนนางท้องถิ่นถูกฆ่าตาย ชาวบ้านไร้ที่อยู่อาศัย เกิดการตกต่ำทางเศรษฐกิจ เข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง ทำให้เกิดโจรขึ้นในหลายพื้นที่

    ราวปี 184-185 เหล่าโจรผ้าเหลืองที่หนีไป รวมกับชนเผ่าเกี๋ยงก่อกบฏในมณฑล เหลียง สังหารเจ้าเมืองทำลายสถานที่ราชการขุนนางบางคนเข้าร่วมก่อการด้วย ฤดูใบไม้ผลิปี 185 มณฑล เหลียง ถูกกบฏขึ้นครอง ฝ่ายกบฏเดินทัพเข้าสู้เขตแดนวุย เข้าตีเมืองเตียงอัน

    วิกฤตครั้งใหม่นี้ ฮองฮูสง แม่ทัพปราบกบฏผ้าเหลือง ถูกเรียกตัวมานำทัพสู้กับกบฏ แต่เมื่อไม่สามารถปราบกบฏได้ สี่เดือนต่อมาทางการจึงแต่งตั้ง จางเหวิน มาเป็นแม่ทัพใหญ่แทน ฮองฮูสงแนะนำซุนเกี๋ยนแก่ จางเหวิน จางเหวินนำทัพหลวงไปที่เตียงอันโดยเรียกตั๋งโต๊ะให้ไปรวมทัพกันที่นั่น แต่ตั๋งโต๊ะมาช้ากว่าเวลาที่นัดมาก ซุนเกี๋ยนแนะนำให้สังหารตั๋งโต๊ะตามกฏอัยการศึก แต่ตั๋งโต๊ะเป็นแม่ทัพที่มีความสามารถ เคยนำทัพสู้กับโจรผ้าเหลืองภายใต้การนำทัพของฮองฮูสงเป็นผู้ที่มีบทบาทมากในการโจมตีกบฏผ้าเหลือง จางเหวินต้านทานกบฏที่เมืองเตียงอันได้ และตีกองทัพกบฏแตกพ่ายไป จางเหวิน ส่งโจวเสิ่น และ ตั๋งโต๊ะนำทัพคนละทัพไปต้านชนเผ่าเกี๋ยง ส่วนตัวเองนำทัพหลวงปิดล้อมกบฏที่เมือง ยู่จง

    ทัพของ โจวเสิ่น และซุนเกี๋ยนพ่ายแพ้ต่อกบฏที่เมือง เม่ยหยาง ทัพของตั๋งโต๊ะที่มาทีหลังสามารถเอาชนะกบฏได้ ตั้งโต๊ะรายงานว่าทัพของซุนเกี๋ยนนั้น ทหารหย่อนยานวินัยและการฝึก รวมทั้งตัวซุนเกี๋ยนก็ไม่ใช่แม่ทัพที่มีความสามารถ แต่อย่างไรก็ดีแม้ว่ากองทัพทางการจะเอาชนะและล้อมกบฏไว้ได้ ไม่นานก็ต้องล่าถอยไป เพราะไม่สามารถเอาชนะอย่างเด็ดขาดได้ (บันทึกประวัติส่วนตัวของซุนเกี๋ยนตรงนี้บอกไว้ว่า โจรกบฏที่ เม่ยหยาง ยอมจำนน เพราะศัตรูยอมจำนน ไม่มีการสู้รบ จึงไม่ได้รับการปูนบำเหน็จในทันที ซึ่งขัดกับบันทึกหลายฉบับว่า ซุนเกี๋ยนแพ้ และไม่มีหลักฐานว่ากบฏยอมจำนน กบฏที่จำนนมีจำนวนเท่าไหร่ แต่ก็เป็นไปได้ที่ทัพโจรกบฏเยอะกว่าทัพของซุนเกี๋ยนมาก ซุนเกี๋ยนเลยพ่ายแพ้ แต่กบฏก็เสียกำลังมาก พอตั๋งโต๊ะมาถึง เหล่ากบฏก็อ่อนกำลังไปแล้ว และเจอทัพตั๋งโต๊ะบดขยี้อย่างง่ายดาย)

    ซุนเกี๋ยนกลับเมืองหลวงในปี 186 เนื่องจากผลการรบที่ไม่ดีนัก เขาถูกแต่งตั้งเป็นขุนนางการเมืองชั้นต่ำลงกว่ายศนายพันที่เคยได้ แต่ในปี187 เมื่อมีการปูนบำเหน็จการปราบกบฏที่มณฑล Liang ซุนเกี๋ยนถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองเตียงสา ยศขุนนางใหญ่ที่สุดสำหรับขุนนางที่สังกัดอยู่นอกเมืองหลวง และเมืองเตียงสายังเป็นหัวเมืองใหญ่ที่สุดหัวเมืองหนึ่ง มีประชากรเกินกว่าล้านคน ซุนเกี๋ยนปราบกบฏ คูเสงที่มีพลกว่าหมื่นคนที่ เตียงสาในเดือนแรกที่เข้ารับตำแหน่ง และกบฏ โจเช่า และ กว่อสือ ใน เลงเหลง และ ฮุยเอี๋ยง เขายกทัพ
    ออกจากเขตเมืองตัวเองเข้าสู่เมืองทั้งสองเพื่อปราบกบฏเลยทีเดียว

    ซุนเกี๋ยนปราบกบฏในเขตเมืองทั้งสามอยู่ตลอด จนเหมือนว่าทั้งสามเมืองขึ้นตรงต่อเขา ซุนเกี๋ยนเคยแม้แต่ยกทัพไปช่วยเมืองที่อยู่ในมณฑลอื่น แม้ว่าที่ปรึกษาจะห้าม แต่ซุนเกี๋ยนบอกว่าตัวเขาไม่มีความสามารถในการบริหารบ้านเมือง การศึกสงครามเป็นสิ่งที่เขาถนัด ถ้าเขาข้ามเขตแดนเพื่อโจมตีกบฏ เป็นการปราบอาชญากร จะถือว่าเขาทำผิดได้อย่างไร จากการปราบกบฏอยู่เสมอทำให้ซุนเกี๋ยนได้รับตำแหน่ง ขุนพล แห่งอู๋เฉิง และเหมือนเป็นการยอมรับจากทางการว่าการยกทัพข้ามมณฑลของเขานั้นเป็นสิ่งที่ทางการยอมรับ ตำแหน่งมาร์ควิสนั้นเป็นตำแหน่งสูงสุดเท่าที่สามัญชนจะได้รับ เพราะยศที่สูงกว่านั้นสงวนไว้แก่เชื้อพระวงศ์เท่านั้น

    ในปี 189 ฮ่องเต้เลนเต้สวรรคต ทิ้งราชบุตรสองคน หองจูเปียน หองจูเหียบ หองจูเปียนขึ้นครองราชย์ โดยมีโฮไทเฮาและโฮจิ๋นคุมอำนาจในราชสำนักเนื่องจากตระกูลโฮไม่ใช่ตระกูลใหญ่ที่มีอิทธิพล รวมทั้งสถานการณ์ขันที แม้ว่าโฮจิ๋นจะมีอ้วนเสี้ยว อ้วนสุดคอยหนุนหลัง แต่เพื่อความมั่นคงโฮจิ๋นเรียกตั๋งโต๊ะและกองทัพของเขาเข้ามาตั้งทัพอยู่ใกล้เมืองหลวง แต่ไม่นานโฮจิ๋นก็ถูกกลุ่มขันทีสังหารและพยายามยึดทหารมาเป็นฝั่งตัวเองแต่อ้วนเสี้ยวขัดขวางไว้ ขันทีกลุ่มหนึ่งหลบหนีออกนอกวังโดยพาฮ่องเต้และราชบุตรหองจูเหียบไปด้วย แต่ถูกไล่ล่าและฆ่าตายหมด เหล่าทหารพาฮ่องเต้กลับเมือง ระหว่างทางได้เจอกับตั๋งโต๊ะ ตั๋งโต๊ะจึงอารักขาพาฮ่องเต้กลับวังหลวง

    อาศัยการควบคุมฮ่องเต้ ตั๋งโต๊ะยึดอำนาจในเมืองหลวง สังหารกลุ่มขันที ทหารในสังกัดของโฮจิ๋นต่างพากันขี้นกับตั๋งโต๊ะ ไม่นานตั๋งโต๊ะก็ถอดฮ่องเต้ออกและตั้งหองจูเปียนขึ้นเป็น ฮ่องเต้ นามว่า พระเจ้าเหี้ยนเต้ ส่วนหองจูเปียนและโฮไทเฮาถูกสังหารในเวลาต่อมา

    ในปี 190 เกิดกลุ่มกบฏกู้ชาตินอกเมืองหลวง นำโดยเจ้าเมืองต่าง ๆ โดยมีอ้วนเสี้ยวเป็นผู้นำ ซุนเกี๋ยนเองก็นำทัพจากเตียงสาเข้าร่วมต่อต้านตั๊งโต๊ะด้วยโดยร่วมกับทัพของอ้วนสุด

    ทัพพันธมิตรนั้นแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกมีอ้วนเสี้ยวเป็นผู้นำเป็นทัพ ตั้งทัพอยู่นอกเมืองหลวงทางเหนือทัพที่สองอยู่ที่เมืองตันลิว ตั้งทัพอยู่ทางตะวันออกของเมืองหลวง และกลุ่มที่สามนำโดยอ้วนสุดตั้งทัพอยู่ในเมือง หนานหยาง เจ้าเมืองที่เข้าร่วมมากมายแม้ว่าบางคนจะเป็นเจ้าเมืองที่ตั๋งโต๊ะแต่งตั้งด้วยตัวเอง ในจำนวนนี้ก็มีโจโฉ คนที่หนีออกจากเมืองหลวงและระดมกำลังจากคนในตระกูลและชาวบ้านท้องถิ่นเข้าร่วมทัพพันธมิตร

    ซุนเกี๋ยนก็เป็นหนึ่งในเจ้าเมืองที่ยกทัพมาร่วมต่อต้านตั๋งโต๊ะด้วย ระหว่างทางซุนเกี๋ยนได้สังหาร หวางยุ่ย ผู้ตรวจการมณฑลเกงจิ๋วและจางจื่อ เจ้าเมือง หนานหยาง ตามบันทึก หวางยุ่ย นั้นมีส่วนร่วมในการปราบกบฏนอกเมืองเตียงสาของซุนเกี๋ยนอยู่หลายครั้ง แต่จากผลงานการปราบกบฏของซุนเกี๋ยนทำให้ หวางยุ่ย ที่มาจากตระกูลขุนนางใหญ่อิจฉาและไม่พอใจในความก้าวหน้าของซุนเกี๋ยน เกิดเป็นความบาดหมางระหว่างสองคน เพราะ หวางยุ่ย เสนอให้เจ้าเมืองนั้นมีอำนาจเป็นเพียงผู้ช่วยผู้ตรวจการในการนำทัพ

    หวางยุ่ย ก็เป็นผู้หนึ่งที่คิดต่อต้านตั๋งโต๊ะ เขาระดมกองทัพเพื่อเข้าร่วมทัพพันธมิตรด้วย แต่เกิดทะเลาะกับ เฉาอินเจ้าเมืองบุเหลง หวางยุ่ย จึงคิดจะยกทัพตี เฉาอินก่อน เฉาอิน เกรงกลัว หวางยุ่ยมาก เมื่อซุนเกี๋ยนยกทัพผ่านทางมาระหว่างจะไปเข้าร่วมกับทัพพันธมิตร เฉาอิน จึงปลอมราชโองการให้มาส่งถึงตัวเอง กล่าวหาว่า หวางยุ่ย กระทำความผิดหลายอย่างราชโองการปลอมสั่งให้ซุนเกี๋ยนสังหาร หวางยุ่ยเสีย ซุนเกี๋ยนรับคำสั่งนำทัพตัวเองไปที่เมือง หวางยุ่ย ทำทีเหมือนมาขอเสบียงเมื่อเข้าเมืองแล้ว ซุนเกี๋ยนจึงบอกจุดประสงค์ที่แท้จริงตามราชโองการปลอม หวางยุ่ย รับรู้และตัดสินใจฆ่าตัวตาย

    จากการตายของ หวางยุ่ยทำให้ซุนเกี๋ยนสามารถลบความแค้นของเขา และมีสิทธิชอบธรรมที่จะอ้างถึงราชโองการปลอมว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเขายังได้กองทัพของ หวางยุ่ยมาเป็นของตัวเอง และซุนเกี๋ยนยังระดมพลในทุกท้องที่ที่เขาเดินทัพผ่านไป ทำให้กองทัพของซุนเกี๋ยนเมื่อเดินทัพมาถึงเมือง หนานหยาง มีจำนวนหลายหมื่นคนทีเดียว

    เมื่อเดินทางมาถึงเมืองอ้วนเซีย เมืองหลวงของเมือง หนานหยาง ซุนเกี๋ยนพบกับ จางจื่อเจ้าเมือง หนานหยาง ตามบันทึกซุนเกี๋ยนส่งจดหมายเพื่อขอเสบียงมาล่วงหน้า เมื่อทั้งสองพบกันก็คารวะกันตามธรรมเนียม ระหว่างที่จางจื่อ มาเยี่ยมที่ค่ายซุนเกี๋ยน เสมียนกองทัพของซุนเกี๋ยนก็แจ้งข่าวว่า เมือง หนานหยาง ไม่มีการเตรียมเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ตามที่ร้องขอล่วงหน้า ซุนเกี๋ยนจึงจับ จางจื่อ ประหารตามกฏอัยการศึก

    แต่อีกบันทึกเล่าเรื่องราวตอนนี้ว่า จางจื่อ ไม่เต็มใจมาเยี่ยมซุนเกี๋ยน แต่ซุนเกี๋ยนแกล้งป่วยหนัก และเสนอให้ จางจื่อทำหน้าที่บัญชาการกองทัพของตัวเองแทน เมื่อ จางจื่อ มาเยี่ยมที่ค่ายเพื่อรับตราแม่ทัพ ซุนเกี๋ยนโดดขึ้นจากเตียง ฟัน จางจื่อ และตัดหัวทันที

    แม้ว่าเจ้าเมืองที่ตั๋งโต๊ะแต่งตั้งหลายคนจะเอาใจออกห่างคิดเข้าร่วมกับทัพธมิตรโจมตีตั๋งโต๊ะ แต่ จางจื่อนั้นไม่ได้ช่วยเหลือทัพพันธมิตรเต็มที่อย่างที่ควรและยังซ่องสุมกองทัพไว้จำนวนมาก รวมถึงเมือง หนานหยาง นั้นอยู่ระหว่างทัพของอ้วนสุดและเมืองเตียงสา ถ้า จางจื่อ ไม่คิดเข้าร่วมทัพพันธมิตร ซุนเกี๋ยนที่ตั้งทัพอยู่กับอ้วนสุดจะถูกตัดขาดจากเมืองเตียงสาของตัวเอง เขาจึงต้องฆ่าคนที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นศัตรูของเขา

    หลังจากฆ่า จางจื่อ ซุนเกี๋ยนก็นำทัพขึ้นเหนือสมทบกับทัพของอ้วนสุด อ้วนสุดแต่งตั้งซุนเกี๋ยนเป็นนายพลและผู้ตรวจการมณฑลอิจิ๋ว แม้ว่าอ้วนสุดอ้างว่าตำแหน่งนั้นกำลังรายงานไปที่วังหลวง แม้ว่าตำแหน่งที่อ้วนสุดแต่งตั้งนั้น ไม่สามารถเป็นจริงได้ เพราะว่าอ้วนสุดเป็นศัตรูของตั๋งโต๊ะอย่างเปิดเผย ตั๋งโต๊ะไม่มีทางแต่งตั้งคนตามคำเสนอของอ้วนสุด แต่อ้วนสุดอ้างว่าทัพพันธมิตรนั้นทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของฮ่อง เมื่อทัพพันธมิตรปลดปล่อยฮ่องเต้แล้ว การกระทำและตำแหน่งของทัพพันธมิตรก็จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและชอบธรรม

    การแต่งตั้งทำให้ซุนเกี๋ยนมีอำนาจทางการทหารและการเมืองเพิ่มขึ้น มณฑลอิจิ๋วนั้นประกอบด้วยหกหัวเมือง รวมทั้ง อิ๋งฉวน และยีหลำ ซึ่งเป็นเขตแดนที่อุดมสมบูรณ์ของตระกูลอ้วน แม้ว่าตำแหน่งผู้ตรวจการมณฑลจะต่ำกว่าตำแหน่งเจ้าเมือง แต่ก็เป็นตำแหน่งที่สามารถระดมกองทัพได้จากเมืองที่ตนควบคุมอยู่ และตำแหน่งนี้ทำให้เขามีอำนาจทางการทหารในแถบนี้รองจากอ้วนสุดเท่านั้น

    จากการโจมตี หวางยุ่ย และ จางจื่อ ของซุนเกี๋ยนทำให้ตำแหน่งในเมือง หนานหยาง ว่างลง เมื่อซุนเกี๋ยนยอมเป็นลูกน้องอ้วนสุด ทำให้อ้วนสุดสามารถยึดเมือง หนานหยาง มาปกครอง ส่วนตำแหน่งผู้ตรวจการมณฑลเกงจิ๋วนั้น ตั๋งโต๊ะแต่งตั้ง เล่าเปียว เชื้อพระวงศ์คนหนึ่งมาเป็นแทน

    เล่าเปียวเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนโฮจิ๋นมาก่อน และถูกขับไล่โดยสิบขันที ฝ่ายตั๋งโต๊ะหวังว่าทัพพันธมิตรจะยอมรับในตัวเล่าเปียว อ้วนสุดยอมรับในตำแหน่งของเล่าเปียวโดยดีและเล่าเปียวก็เสนอให้อ้วนสุดเป็นเจ้าเมือง หนานหยาง แต่เล่าเปียวไม่ขอมีส่วนร่วมในสงครามระหว่างสองฝ่าย

    เป็นเรื่องน่าแปลกที่ซุนเกี๋ยนไม่ยึดครองอำนาจในมณฑลเกงจิ๋ว ที่เขาสามารถยึดมาได้แต่กลับยอมเป็นผู้ตรวจการอิจิ๋วที่เขาแทบจะไม่มีอำนาจบารมีอะไรที่นั่นเลย การยอมรับของซุนเกี๋ยน
    ทำให้เมือง หนานหยาง ตกเป็นของอ้วนสุด และมณฑลเกงจิ๋วที่เหลือทั้งหมดเป็นของเล่าเปียวที่ได้รับการแต่งตั้งจากตั๋งโต๊ะและตั้งตัวเป็นกลางไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงครามด้วย

    เป็นไปได้ว่าซุนเกี๋ยนถูกแรงกดดันอย่างมาก ตำแหน่งขุนนางของเขาไม่ใช่ตำแหน่งที่มั่นคงเท่าไหร่คนอย่างเล่าเปียว อ้วนสุด หรือเจ้าเมืองคนอื่นที่เข้าร่วมทัพพันธมิตรนั้นมาจากตระกูลขุนนางที่มีชื่อเสียงและมีเส้นสายในราชสำนัก แต่ซุนเกี๋ยนแม้ว่าจะได้อำนาจเพิ่มขึ้นจากการยึดเมืองในมณฑลเกงจิ๋วได้ไพร่พลเพิ่มขึ้น แต่เขาไม่มีเส้นสายเหมือนเจ้าเมืองคนอื่น ๆ เลย เมื่อเขาเดินทัพขึ้นเหนือร่วมทัพพันธมิตรเขาจำเป็นต้องยอมเป็นลูกน้องคนอย่างอ้วนสุด เพื่อป้องกันตัวเองจากตระกูลขุนนางอื่น ๆ ที่อาจไม่พอใจและหันมาโจมตีเขา ซุนเกี๋ยนพยายามอย่างมากเพื่อได้การยอมรับจากเจ้าเมืองคนอื่น ๆ

    ภายใต้คำสั่งของอ้วนสุด ซุนเกี๋ยนรับบทบาทสำคัญในการโจมตีตั๋งโต๊ะที่เมืองลั่วหยาง ซุนเกี๋ยนตั้งค่ายที่ลู่หยาง กับอ้วนสุด จัดทัพเตรียมพร้อมสำหรับการลำเลียงเสบียง ซุนเกี๋ยนเดินทัพขึ้นเหนือโจมตีมณฑลเลียงจิ๋วตั๋งโต๊ะส่ง ซีเอ๋ง กับ ลิเมิ่งนำทัพมาสู้กับซุนเกี๋ยน เป็นการรบที่ดุเดือดมาก ซุนเกี๋ยนพ่ายแพ้ต่อทัพของตั๋งโต๊ะจนต้องหลบหนีเอาชีวิตรอด องครักษ์คนหนึ่งของซุนเกี๋ยนนำหมวกแดงของศัตรูมาใส่แทนล่อให้ศัตรูติดตามไปอีกทางหนึ่งจนซุนเกี๋ยนสามารถหนีเอาตัวรอดจากวงล้อมศัตรูได้ บางบันทึกบอกว่าองครักษ์คนที่ช่วยซุนเกี๋ยนคือโจเมา หนึ่งในสี่ทหารเอกซุนเกี๋ยน

    ศึกครั้งนั้น ลิหมิน เจ้าเมือง อิ๋งฉวน ที่เข้าร่วมทัพพันธมิตรถูกจับได้ ตั๋งโต๊ะสั่งฆ่าโดยการจับต้มทั้งเป็น ทหารที่ถูกจับเป็นเชลยถูกประหารโดยใช้น้ำมันร้อน ๆ ลวกทั้งเป็น

    ศึกครั้งแรกฝ่ายตั๋งโต๊ะมีชัยชนะอย่างเด็ดขาด อ้วนเสี้ยวสั่งให้อองของเจ้าเมืองโห้ลายบุกเข้าโจมตี แต่ถูกทัพตั๋งโต๊ะป้องกันได้ทัพพันธมิตรพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ตั๋งโต๊ะป้องกันการโจมตีทั้งทางใต้และทางเหนือได้ ทัพพันธมิตรที่สองที่ตั้งทัพทางตะวันออกของเมืองหลวงแตกพ่ายไป ซุนเกี๋ยนทางตอนใต้นั้นไม่ได้รับการสนับสนุนเลยจากทัพพันธมิตร

    แต่จากการต่อสู้ระหว่างตั๋งโต๊ะกับอองของ ทำให้ทัพของตั๋งโต๊ะหันไปสนใจการป้องกันทัพอองของอย่างเดียว ทำให้ซุนเกี๋ยนมีเวลาจัดกองทัพที่แตกพ่ายไปขึ้นมาใหม่ ซีเอ๋ง อาจจะชะล่าใจในชัยชนะของเขาเกินไป การซุ่มโจมตีของเขานั้นทำลายเพียงบางส่วนของทัพซุนเกี๋ยนเท่านั้น ซีเอ๋งคิดว่าซุนเกี๋ยนไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว

    ราวเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมปี 191 ซุนเกี๋ยนยกทัพขึ้นมาใหม่ ตั๋งโต๊ะส่งโฮจิ๋นมาสู้กับซุนเกี๋ยน โดยมีขุนพลเลื่องชื่ออย่างลิโป้มาด้วยในทัพม้าของโฮจิ๋น พวกเขาโจมตีค่ายของซุนเกี๋ยน แต่ไม่สามารถเข้ายึดได้และต้องล่าถอยไป บันทึกบอกว่า ลิโป้และแม่ทัพหลายคนไม่พอใจที่โฮจิ๋นดูถูกพวกเขา เลยไม่เชื่อฟังคำสั่งโฮจิ๋น ทำให้พ่ายแพ้ในที่สุด ทำให้ซุนเกี๋ยนสามารถตั้งค่ายที่หยางเหยิน ได้ในที่สุด

    ระหว่างนั้น ซุนเกี๋ยนจัดทัพเตรียมตัวเข้ายึดเมืองหลวง ที่ปรึกษาคนหนึ่งของอ้วนสุดบอกอ้วนสุดว่าถ้าซุนเกี๋ยนยึดเมืองหลวงได้ซุนเกี๋ยนอาจเป็นศัตรูที่น่ากลัว จากการเข้าครองทัพของตั๋งโต๊ะ อ้วนสุดเห็นด้วยจึงเลิกส่งเสบียงให้ทัพซุนเกี๋ยน ซุนเกี๋ยนกระวนกระวายใจมาก เขาควบม้ากว่าห้าสิบกิโลในคืนเดียวเพื่อมาอธิบายกับอ้วนสุด ซุนเกี๋ยนยอมคุกเข่าวิงวอนร้องขออ้วนสุดว่าเขาทำทุกอย่าง อย่างบริสุทธิ์ใจ เพื่อประเทศชาติและเกียรติยศตระกูลอ้วน อ้วนสุดพอใจคำอธิบายซุนเกี๋ยนยอมส่งเสบียงให้อีกครั้ง

    เหตุผลหนึ่งที่ทำให้อ้วนสุดเชื่อว่าซุนเกี๋ยนจะแปรพักตร์ เนื่องจากลูกน้องของตั๋งโต๊ะได้ไปหาซุนเกี๋ยนที่ค่าย ของสงบศึกและเป็นพันธมิตรด้วย โดยตั๋งโต๊ะสัญญาจะแต่งตั้งญาติของซุนเกี๋ยนเป็นเจ้าเมืองหรือผู้ตรวจการมณทลซุนเกี๋ยนไม่ยอมรับ บอกว่าตั๋งโต๊ะนั้นเป็นศัตรูสวรรค์และปฏิเสธกฏหมายทุกชนิด ทำลายราชสำนักยึดครองอำนาจเป็นของตนเขาจะนอนตาไม่หลับจนกว่าจะฆ่าตั๋งโต๊ะและคนในตระกูล แล้วจะให้เขาสงบศึกและเป็นพันธมิตรกับตั๋งโต๊ะได้ยังไง

    ไม่มีทางที่ซุนเกี๋ยนจะยอมเป็นพันธมิตรกับตั๋งโต๊ะ ยิ่งวิเคราะห์ในแง่อื่น ซุนเกี๋ยนมีฐานกำลังและชื่อเสียงตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีทหารและเสบียงนั้นมาจากมณฑลอิจิ๋วและเกงจิ๋ว โดยการลำเลียงของอ้วนสุด ถ้าเขาคิดแปรพักตร์ เขาจะถูกตัดขาดจากที่มั่นของตัวเอง ตำแหน่งที่ตั๋งโต๊ะมอบให้ก็ไม่มีประโยชน์ อีกทั้งซุนเกี๋ยนมีฐานะที่มั่นคงจากการเป็นลูกน้องของอ้วนสุด

    หลังจากปรับความเข้าใจกับอ้วนสุด ซุนเกี๋ยนยกทัพเขาตีเมืองหลวง ตั๋งโต๊ะนำทัพออกมาสู้ด้วยตัวเอง กองทัพทั้งสองฝ่ายต่อสู้ท่ามกลางสุสานหลวงราชวงศ์ฮั่น ทัพของตั๋งโต๊ะพ่ายแพ้ยับเยิน ตั๋งโต๊ะหลบหนีไปทางตะวันตกไปทางเมืองเตียงอันตั้งค่ายที่เมืองหองหนอง เมื่อซุนเกี๋ยนเข้าเมืองหลวงก็ต้องเจอกับทัพที่สองของตั๋งโต๊ะนำทัพโดยลิโป้รักษาการเมืองอยู่ แต่ทั้งสองทำศึกกันเพียงครั้งเดียว ลิโป้ก็พาทหารหลบหนีไป ทำให้ซุนเกี๋ยนสามารถครองเมืองหลวงได้

    แม้ว่าจะได้ผลสำเร็จที่น่าพอใจยิ่ง แต่กลับเป็นชัยชนะที่ไร้ค่า เมืองลั่วหยางถูกตั๋งโต๊ะเผาทำลายเป็นส่วนใหญ่ ตัวฮ่องเต้ถูกตั๋งโต๊ะบังคับให้ไปอยู่ที่เมืองเตียงอัน หลังจากการพ่ายแพ้ของอองของ ซุนเกี๋ยนก็ไม่ได้รับการสนับสนุนทางทหารจากทัพพันธมิตรเลยเขาไม่สามารถไล่ตีตั๋งโต๊ะและลิโป้ที่แตกพ่ายไปได้ และตอนนี้ตั๋งโต๊ะก็อยู่ในเมืองเตียงอันป้องกันเป็นอย่างดี ไม่สามารถบุกโจมตีได้แถมตั๋งโต๊ะอาจจะโจมตีกลับเมื่อไหร่ก็ได้ การที่นำทัพตีโดยลำพัง ทำให้อยู่ห่างไกลจากทัพพันธมิตร ซุนเกี๋ยนจึงไม่สามารถอยู่ในเมืองลั่วหยางได้นาน ซุนเกี๋ยนจึงถอยทัพไปสมทบกับอ้วนสุด

    ก่อนที่ซุนเกี๋ยนจะจากเมืองหลวง เขาทำพิธีกราบไหว้สักการะราชวงศ์ฮั่น แสดงความจงรักภักดี ทำการบูรณการวัดและสุสานหลวงกราบไหว้บูชาเหล่าฮ่องเต้ในอดีต บันทึกกล่าวว่าทหารของเขาคนหนึ่งค้นพบพระราชลัญจกร ตราหยกแทนพระองค์ของฮ่องเต้ซึ่งซุนเกี๋ยนอาจเก็บตราหยกนี้ไว้ตกทอดในตระกูลซุน หรืออาจมอบให้อ้วนสุด จนเป็นสาเหตุให้อ้วนสุดตั้งตัวเป้นฮ่องเต้ในเวลาต่อมา

    หลังจากซุนเกี๋ยนยึดเมืองลั่วหยางได้ไม่นาน ทัพพันธมิตรก็ถึงคราวสิ้นสุด เกิดจากความไม่พอใจของอ้วนสุด ที่คิดว่าตัวเขาเป็นหัวหน้าตระกูลอ้วน อิจฉาอ้วนเสี้ยวที่ได้ตำแหน่งผู้นำทัพพันธมิตร เขาแพร่ข่าวลือว่า อ้วนเสี้ยวไม่ใช่คนที่สืบสายเลือดที่แท้จริงของตระกูลอ้วน อ้วนเสี้ยวเป็นแค่ทาสรับใช้ของตระกูลอ้วน ทำให้อ้วนเสี้ยวโกรธมาก อย่างไรก็ดี อ้วนเสี้ยวกังวลเรื่องเขตแดนของตัวเอง เพราะเขาไม่มีเมืองในครอบครอง ทำให้ไม่มีฐานอำนาจอย่างแท้จริงเหมือนผู้นำทัพพันธมิตรคนอื่น ๆ

    ปี 191 อ้วนเสี้ยวกดดันฮันฮก ให้มอบแต่งตำแหน่งผู้ครองแคว้นกิจิ๋วแก่เขาและในเวลาเดียวกัน อ้วนเสี้ยวส่งกองทัพเข้าโจมตีดินแดนในปกครองของอ้วนสุดแม่ทัพของอ้วนเสี้ยวคือ โจวยู่ จากห้อยแข (คนละคนกับจิวยี่ โจวยู่ คนนี้มาจาก ห้อยแขในขณะที่ จิวยี่อยู่ที่เมืองโลกั๋ง) อ้วนเสี้ยวส่งเขาเข้าตีดินแดนของซุนเกี๋ยนในระหว่างที่ซุนเกี๋ยนไม่ได้อยู่ที่เมืองตัวเอง

    สามพี่น้องจากห้อยแข โจวซิ่น โจวอั่ง และ โจวยู่ อยู่ภายใต้การบัญชาการของอ้วนเสี้ยวในเวลานั้น ตามบันทึกกล่าวว่า เมื่อโจโฉรวบรวมผู้คนในเมืองตันลิ่วสำหรับการปฏิวัติต่อต้านตั๋งโต๊ะในปี 189 โจโฉส่งจดหมายเชิญไปที่ โจวยู่ ให้มาร่วมด้วยโจวยู่ รวบรวมคนกว่าสองพันคนมาสมทบโจโฉร่วมกับพี่น้องของเขา พวกเขามาจากตระกูลขุนนางที่มีชื่อเสียง แม้แต่โจโฉที่อยู่ภาคกลางห่างไกลจากพวกเขายังได้ยินชื่อเสียงและส่งจดหมายเชิญให้ และพวกเขาสามารถระดมพลได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี เมื่อทัพพันธมิตรรวมพลจากหัวเมืองต่าง ๆ พวกเขาเปลี่ยนไปรับใช้อ้วนเสี้ยวแทน โจวยู่ ต่อสู้เพื่อความมั่นคงในตำแหน่งของเขาและตระกูล โจวยู่ เป็นผู้ตรวจการแคว้นอิจิ๋ว ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งที่อ้วนสุดตั้งให้ซุนเกี๋ยน และพี่ชายของเขา โจวอั่ง เป็นเจ้าเมือง จิ่วเจียง

    ในระหว่างทางมาเมืองลกเอี๋ยง ซุนเกี๋ยนได้ยึดเมือง หยางเฉิง เป็นทางผ่านแม้ว่าและมีตำแหน่งผู้ตรวจการมณฑลอิจิ๋ว แต่อิทธิพลของอ้วนเสี้ยวในมณฑลกิจิ๋ว และเมืองโห้ลาย ก็แผ่ขยายตอนบนของแม่น้ำแยงซีติดกับเมือง หยางเฉิง โจวยู่ จึงสามารถโจมตีเมือง หยางเฉิง ได้อย่างรวดเร็ว

    การต่อสู้กันของพี่น้องตระกูลอ้วนนี้ เป็นก้าวแรกของสงครามแห่งความวุ่นวายชิงอำนาจซึ่งกันและกันซึ่งนำไปสู่การล่มจมของราชวงศ์ฮั่น เมื่อทัพพันธมิตรแตกแยกกัน เหล่าผู้ครองเมืองทั้งหลายก็เตรียมนำทัพเข้าต่อสู้กันแย่งชิงกันเป็นผู้มีอำนาจ

    อ้วนเสี้ยวผู้นำของอดีตทัพพันธมิตรได้ครอบครองมณฑลกิจิ๋วและส่งคนไปปกครองมณฑลเฉงจิ๋วเล่าหงีและกองซุนจ้าน เจ้าเมืองและแม่ทัพของมณฑลอิวจิ๋ว ปกครองมณฑลร่วมกัน อ้วนสุดครองเมือง หนานหยาง และมณฑลอิจิ๋ว เล่าเปียวครองหัวเมืองที่เหลือของมณฑลเกงจิ๋ว

    ในระหว่างที่ผู้นำต่าง ๆ ยึดครองฐานที่มั่นของตัวเอง ซุนเกี๋ยนนำทัพต้านการรุกรานของ โจวยู่ โดยมีกองทัพทหารม้าจากมณฑลอิวจิ๋ว นำโดยกองซุนอวดร่วมด้วย

    หลิวเหอ ลูกของเล่าหงี เป็นขุนนางคนสนิทกับฮ่องเต้ นำสารลับจากฮ่องเต้มามอบให้เล่าหงี อธิบายเรื่องฮ่องเต้อยากเสด็จกลับเมืองหลวงเดิม แต่เมื่อ หลิวเหอ มาถึงเมือง หนานหยาง กลับถูกอ้วนสุดควบคุมตัวไว้และอ้วนสุดให้ หลิวเหอเขียนจดหมายถึงเล่าหงีเกี่ยวกับการช่วยฮ่องเต้

    เล่าหงีได้รับจดหมาย ก็ส่งทัพม้าหลายพันนายเข้าร่วม แต่กองซุนจ้านเชื่อว่าอ้วนสุดมีแผนคิดก่อกบฏจึงทักท้วงไว้ แต่เล่าหงีไม่ฟังกองซุนจ้าน กองซุนจ้านกลัวว่าอ้วนสุดจะรู้เรื่องและคิดร้ายกับตัวเขาจึงส่งกองซุนอวดนำทัพม้าของตัวเองอีกหลายพันคนเข้าร่วมกับอ้วนสุด สนับสนุนให้อ้วนสุดกักตัวหลิวเหอ และยึดทัพที่เล่าหงีส่งมา ด้วยเหตุนี้ เล่าหงีกับกองซุนจ้านเลยกลายเป็นศัตรูกัน

    กองซุนอวดเลยอยู่ในกองทัพของซุนเกี๋ยนด้วย แต่กองซุนอวดโดนฆ่าตายในการต่อสู้ครั้งแรกกองซุนจ้านโกรธแค้นมากที่ญาติผู้น้องถูกฆ่าตาย เขาโทษทั้งหมดเป็นความผิดของอ้วนเสี้ยว และนำกองทัพของเขาเข้าโจมตีดินแดนทางตอนเหนือของอ้วนเสี้ยว

    โจวยู่ ได้รับชัยชนะในศึกครั้งแรก แต่เมื่อซุนเกี๋ยนจัดทัพใหม่ ซุนเกี๋ยนก็สามารถเอาชนะโจวยู่ได้หลายครั้งในเวลาต่อมา อ้วนสุดก็นำทัพโจมตี โจวอั่ง ในเมือง จิ่วเจียง โจวยู่ นำทัพเขาลงใต้ไปช่วยพี่ชาย แต่ก็พ่ายแพ้จนต้องเลิกทัพกลับเมืองของเขา

    อ้วนสุดเอาชนะทัพของอ้วนเสี้ยวสองทัพ ทำให้สถานการณ์ของอ้วนเสี้ยวลำบากจากการพ่ายแพ้ทางใต้และทัพของกองซุนจ้านที่ด้านเหนือ กองซุนจ้านปฏิเสธคำขอสงบศึกของอ้วนเสี้ยวและเล่าหงี เขาสนับสนุนเจ้าเมืองต่าง ๆ ให้ก่อกบฏต่อต้านอ้วนเสี้ยว และตั้งชื่อกองทัพตัวเองว่าเป็นทัพศัตรูของผู้ตรวจการมณฑลกิจิ๋ว กุนจิ๋วและ เฉงจิ๋ว

    เมื่อเจอกับข้าศึกรายล้อม อ้วนเสี้ยวตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับเล่าเปียว ผู้ตรวจการมณฑลเกงจิ๋ว โดยอ้วนเสี้ยวคิดว่า อ้วนสุดจะหันไปขยายดินแดนตอนใต้ให้เขามีเวลารับศึกด้านอื่น ส่วนเล่าเปียวก็หวังครอบครองเมือง หนานหยาง ของอ้วนสุด

    อ้วนสุดสั่งให้ซุนเกี๋ยนนำกองทัพลงสู่ใต้ เล่าเปียวจึงส่งหองจอนำทัพขึ้นเหนือเมืองซงหยงเพื่อป้องกันซุนเกี๋ยนชนะทัพหองจอจากง่ายดายและล้อมเมืองซงหยง ไว้ไม่ให้หองจอยกทัพกลับเข้าเมืองได้ กองทัพของหองจอบางส่วนหนีขึ้นเขาเซียนซาน ซุนเกี๋ยนนำกำลังบางส่วนออกค้นหาทหารหองจอ ระหว่างการต่อสู้กับทัพหองจอ ซุนเกี๋ยนก็ถูกฆ่าตาย บางบันทึกว่า หองจอนำทัพสนับสนุนจากเมืองซงหยง ตอนกลางคืนทำให้การไล่ล่าในที่มืดพบกับความเสียหายใหญ่หลวง บางบันทึกว่าซุนเกี๋ยนถูกยิงด้วยธนู บ้างก็ว่าถูกตีที่ศีรษะและเสียชีวิตจากหินที่ขว้างมาจากที่สูง

    การเสียชีวิตที่น่าเป็นไปได้น่าจะเป็นการไล่ล่าในความมืดทำให้ไม่สามารถแยกแยะข้าศึกศัตรูหรือกองทัพตัวเองหรือถูกหมอกหนาทึบปกคลุมให้หลงจากกองทัพตัวเอง ศพของซุนเกี๋ยนถูกศัตรูยึดไว้ ฮวนเจี๋ย ชาวเมืองเตียงสาเป็นผู้ไปขอศพซุนเกี๋ยนคืนจากเล่าเปียว ศพของซุนเกี๋ยนถูกฝังที่ ฉูอา ในเมือง ตันหยาง

    การตายของซุนเกี๋ยนทำให้การต่อสู้ของเล่าเปียวกับอ้วนสุดสิ้นสุดลง เล่าเปียวไม่เสียเมืองซงหยง แต่ก็ไม่อาจยกทัพขึ้นเหนือได้ ซุนเปิ่น หลานของซุนเกี๋ยน ลูกของพี่ชายฝาแฝดซุนเกี๋ยนรับช่วงอำนาจซุนเกี๋ยนต่อและกลับไปหาอ้วนสุด อ้วนสุดแต่งตั้งให้ ซุนเปิ่น ครองตำแหน่งผู้ตรวจการมณฑล หยู ตำแหน่งของซุนเกี๋ยน

    ภายใต้การนำของซุนเกี๋ยน ตระกูลซุนภายใต้อ้วนสุด เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความสำเร็จมากมาย เมื่อซุนเกี๋ยนตายไป ความก้าวหน้าของตระกูลก็ดูเหมือนจะหยุดตามความตายของซุนเกี๋ยนไป

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×