ถอดรหัสวิกฤตอาร์เจนติน่า
GLOCALISING THAILAND: PART 3 โดย ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ Bangkok Innovation Forum
ผู้เข้าชมรวม
2,456
ผู้เข้าชมเดือนนี้
0
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ประเทศอาร์เจนติน่าได้กลายมาเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่มลาตินอเมริกาที่คนไทยกล่าวถึงบ่อย ๆ หลังจากที่รัฐบาลชุดปัจจุบันโดยการนำของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตรได้เข้ามาบริหารประเทศไทยเมื่อช่วงปี ค.ศ. 2001 เหตุผลสำคัญที่อาร์เจนติน่ากลายมาเป็นประเด็นถกเถียงกันใน สภากาแฟหรือตามสถานที่ต่างๆ คือ การที่ผลงานของผู้นำทางความคิดบางท่านได้นำเสนอความคิดเห็นในพื้นที่สื่อต่าง ๆ ว่า “ ประเทศไทยกำลังจะเป็นเหมือนอาร์เจนติน่า” นั่นเอง
ผลลัพธ์จากวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินอาร์เจนติน่าในระหว่างปี ค.ศ. 19992002 ทำให้เรากลับมาพูดคุยถึงประเทศนี้ โดยมองประเด็นด้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การดำเนินนโยบายประชานิยม และคอร์รัปชั่น ว่าเป็นสาเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชน โดยนำมาเป็นประเด็นเปรียบเทียบกับประเทศไทยในห้วงเวลาที่ประเทศไทยมีพรรคการเมืองเดี่ยวที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ปกครองประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงเวลานี้
จริงๆ แล้ว ไม่ว่า จะเป็น บราซิล มาเลเซีย ไทย หรือ อาร์เจนติน่า ก็ล้วนถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาชั้นนำของโลก แน่นอนปัญหาการพัฒนาการทางเศรษฐกิจย่อมต้องมีปัญหาร่วมกันไม่มากก็น้อย ความคล้ายคลึงของสถานภาพลักษณ์ข้างต้น อันเกิดจากกลไกเศรษฐกิจและการเมืองในระดับมหภาคที่เป็นอยู่ทั้งในอดีตและปัจจุบันของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ได้ทำให้หลายคนมองข้ามสาเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทยและอาร์เจนติน่าไปหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านเอกลักษณ์ของสถาบันในระบบของประเทศใดประเทศหนึ่ง ประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเด็นด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ และประเด็นด้านประวัติศาสตร์ เป็นต้น
บัวโนสไอเรส นครหลวงของประเทศอาร์เจนติน่าได้รับการขนานนามว่า เป็น ปารีสแห่งซีกโลกใต้ การถูกขนานนามเช่นนั้น ย่อมบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่และมั่งคั่งในอดีตของประเทศแห่งนี้เป็นแน่ วิวัฒนาการเชิงสถาบันของประเทศอาร์เจนติน่านั้น โดยเฉพาะ ระบบสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 1999 นั้น เปลี่ยนแปลงไปช้ามาก ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเหตุการณ์ในอีกซีกโลกหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียแปซิฟิก ในช่วงเวลาเดียวกัน ระบบโครงสร้าง สังคม การเมือง และ เศรษฐกิจ ของอาร์เจนติน่านั้น ถูกวางรากฐานมาจากสเปนเจ้าอาณานิคมเก่า ประเทศในแถบลาตินอเมริการวมถึงอาร์เจนติน่าไม่ได้รับผลกระทบในเชิงลบมากนักจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือแม้ระหว่างสงครามเย็นในช่วง 30 ปีให้หลัง
ด้วยวิวัฒนาการตามแนวนี้ การนำทรัพยากรที่มีมหาศาลตกอยู่ในมือของกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมือง นายทหาร กลุ่มชนชั้นสูง และบรรษัทข้ามชาติที่มาจากเจ้าอาณานิคมเก่า จึงทำให้เกิดความมั่งคั่งเฉพาะแต่บรรดาชนชั้นนำดังกล่าว
ผลงานวิจัยของ อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการของชุมชนเกษตรไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมกับศักยภาพชุมชน หรือเศรษฐกิจหมู่บ้าน แม้จะสะท้อนถึงความล่มสลายของระบบชุมชนไทย แต่ได้แสดงให้เห็นการมีรากทางวัฒนธรรม การวิวัฒนาการในการปรับตัวเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามนอกสังคมตนเอง ไม่ว่าจะมาจาก รัฐ เอกชน หรือ กลุ่มอิทธิพลต่างๆ อย่างเป็นระบบ
ประเทศอาร์เจนติน่าไม่มีประวัติศาสตร์เชิงระบบเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่นที่ยาวนานเหมือนประเทศไทย แต่เป็นการนำเอาระบบที่ได้รับการพัฒนาอย่างยาวนานจากโลกเก่ามาใช้เลยนั้นเอง เพียงแต่ว่าผู้ปกครองชาวสเปนเหล่านี้ ไม่ได้เข้มแข็งและเด็ดขาดเหมือนกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์อาณานิคมทางซีกโลกเหนือที่ได้คุมกำเนิดความคิดและจำนวนประชากรของชนพื้นเมืองไว้ได้ จนบางเผ่าก็สูญหายไปจากประวัติศาสตร์เลย ชนพื้นเมืองในลาตินอเมริกาจึงมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้นแต่และได้ถูกมองว่าคือแรงงานที่มีความหมายต่อการผลิตไป อาจพูดได้ว่า ก็ไม่ต่างจาก การมองว่าคนกลุ่มนี้เป็น ชนชั้นแรงงานที่ไร้ความหมายนั่นเอง
หากมองโดยอีกมุมหนึ่งต่อ การพัฒนาทางอุตสาหกรรมในอาร์เจนติน่าและประเทศอดีตอาณานิคมสเปนใน ลาตินอเมริกา ไม่ได้เน้นหนักในการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารงานให้สอดรับกับโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานของโลก การขาดภาวการณ์แข่งขันของตลาดในประเทศและภูมิภาค สถาบันการศึกษาแยกตัวออกจากการมีบทบาทชี้นำทางสังคม อิทธิพลของเผด็จการทหารที่กินเวลายาวนาน ภาคประชาชนที่แสนจะอ่อนแอ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญเชิงสถาบันที่มีส่วนผลักดันให้การคอรัปชั่นหยั่งรากลึก เศรษฐกิจถดถอยเป็นทศวรรษ
สิ่งเหล่านี้แตกต่างจากระบบเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศแถบเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย ในทางการเมืองแล้ว อาร์เจนติน่าพึ่งจะมีประชาธิปไตยเต็มรูปแบบที่มีคณะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 โดยก่อนหน้านั้น การเมืองอยู่ในอำนาจทหาร สิ่งที่การเมืองอาร์เจนติน่าสร้างขึ้นมาและเป็นเอกลักษณ์เด่นคือ ระบอบเปรอง (Peronism) หรือในบางครั้งถูกเรียกว่า ระบอบแห่งการส่งเสริมความยุติธรรม (Justicialism) อาจถือได้ว่าเป็นอุดมคติทางการเมืองที่มีรากฐานจาก Juan Peron กับภรรยาที่แสนจะโด่งดังของเขา และก็เป็นลัทธิการเมืองที่นักการเมืองหลายคนยืดถือมานาน
ยุคสมัยของเปรองเป็นการสร้างรากฐานการเมืองภาคประชาชนครั้งแรกๆ แต่ด้วยระบบการเมืองเศรษฐกิจที่ถูกครอบงำโดยชนชั้นนายทุนขุนศึกที่หยั่งรากลึก ภายหลังการเลือกตั้งในช่วงประชาธิปไตยเต็มใบ อาร์เจนติน่าก็ไม่ได้รอดพ้นจากวิบากกรรมทางระบบ นักการเมืองที่เข้ามามีอำนาจแทนที่มุ่งจะพัฒนาประเทศเป็นสำคัญแต่กลับกอบโกยแบบไม่คิดถึงอนาคต และทำหลายๆ เรื่องให้ประเทศเดินเข้าสู่ความหายนะซ้ำแล้วซ้ำอีก
เมื่อสถาบันราชการ สถาบันสังคม และสถาบันเศรษฐกิจ ไม่ได้รับการพัฒนาตามแนวอันสมควร แน่นอน การนำเอาแนวทางการพัฒนาและแก้ไขเศรษฐกิจจาก องค์การระหว่างประเทศอย่าง ธนาคารโลก และ IMF ย่อมเป็นการเร่งให้ร่างกายที่อ่อนแอยิ่งทรุดโทรมและถึงความหายนะเร็วขึ้น นั้นเอง
สำหรับผมแล้ว ประเทศไทยคงไม่เป็นแบบอาร์เจนติน่า เพราะว่าเรามีพัฒนาการเชิงระบบที่ต่อเนื่องและยาวนานกว่า ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิกที่มีพลวัตสูงกว่า การแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นธรรมชาติของภูมิภาคนี้มายาวนาน ระบบราชการที่เข้มแข็งกว่า ระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับโลกมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยน่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับ เศรษฐกิจบราซิลในผสมกับภาพสังคมและการเมืองแบบอิตาลี มากกว่า “ ดินแดนแห่งแทงโก้ เนื้อวัวรสเยี่ยม และเจ้าพ่อวงการลูกหนัง” แห่งนี้เป็นแน่ครับ ฉบับหน้ามาคุยกันต่อว่าทำไมผมคิดแบบนั้น
ผลงานอื่นๆ ของ [๑_๑]+สับ+ปะ+รัง+เค+[๑_๑] ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ [๑_๑]+สับ+ปะ+รัง+เค+[๑_๑]
ความคิดเห็น