Inspire ใจดลใจ (เทปแรก) : คุกกี้ เรียนรู้โลกกว้าง ด้วยหัวใจการเมือง - Inspire ใจดลใจ (เทปแรก) : คุกกี้ เรียนรู้โลกกว้าง ด้วยหัวใจการเมือง นิยาย Inspire ใจดลใจ (เทปแรก) : คุกกี้ เรียนรู้โลกกว้าง ด้วยหัวใจการเมือง : Dek-D.com - Writer

    Inspire ใจดลใจ (เทปแรก) : คุกกี้ เรียนรู้โลกกว้าง ด้วยหัวใจการเมือง

    Inspire ใจดลใจ...คอลัมน์ที่ได้ไอเดียและแรงบันดาลใจดีๆจากการสัมภาษณ์วัยรุ่นในวัยเรียน ซึ่งคอลัมน์นี้เน้นปลุกกระตุ้นการสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องของ "การเรียน" และ "การใช้ชีวิตวัยรุ่น" เป็นหลักจ้า

    ผู้เข้าชมรวม

    104

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    0

    ผู้เข้าชมรวม


    104

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  12 มิ.ย. 55 / 17:46 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    แรงบันดาลใจ มีความสำคัญมากๆในการทำภารกิจต่างๆให้ลุล่วง สำหรับนุ่นแล้วแม้สิ่งนี้จะจับต้องไม่ได้ แต่หากขาดแรงบันดาลใจ นุ่นคงขาดแรงสำคัญที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้

    ทุกคนต้องการแรงบันดาลใจค่ะ

    จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้นุ่นสนใจด้านความฝัน ความคิด พลัง แรงบันดาลใจ และขอเป็นส่วนหนึ่งช่วยกระตุ้น ช่วยสร้าง ช่วยผลักดันความคิดและแรงบันดาลใจดีๆส่งต่อให้วัยรุ่นไทยได้รับกัน ผ่านบทสัมภาษณ์วัยรุ่นวัยเรียนที่ใช้ชีวิตอย่างมีสาระและมีความสุข จะดีไม่ดียังไง ติดตามกันละกันนะคะ
    ติชมงานเขียนกันได้ รับฟังทุกความเห็นค่ะ

    ออ...นอกจากนั้นก็จะมีเทปอื่นๆเทปสองเทปสาม และคอลัมน์อื่นๆ้ด้วย ถ้าติดใจ ก็ติดตามด้วยนะคะ

    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      ประเดิมคอลัมน์ครั้งแรก ขอทักทายคุณผู้อ่านด้วยถ้อยคำสำเนียงไทยว่า “สวัสดี” อย่างจริงใจนะคะ แนะนำตัวสั้นๆว่าผู้เขียนคอลัมน์นี้ มีชื่อนามปากกาว่า “IDEANOON หรือเรียกกันเองๆว่านุ่น” ค่ะ

      คอลัมน์ Inspire…อินสปายร์ ใจดลใจ ไม่มีอะไรจะให้มากไปกว่า ข้อคิดดี ไอเดียดีๆ ที่ได้บุคคลที่คิดดี ทำดี มีแรงเยอะมากพอ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจ และกำลังใจ...ให้คุณได้เดินตามฝันต่อไปค่ะ

      แขกรับเชิญนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่นุ่นรู้จัก (แต่อาจคุณไม่รู้จัก) เชื่อว่าหลังจากอ่านจบ คุณผู้อ่านต้องรู้จักแขกรับเชิญของนุ่นแน่นอนค่ะ ดีไม่ดีอาจจะอยากรู้จักเขาและเธอมากขึ้นกว่าเดิมก็ได้

      ไปพบกับแขกรับเชิญประเดิมเทปแรกของเรากันเลยดีกว่านะคะ
       

      สาวน้อยหน้าหมวยสวยหวานคนนี้ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่1 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สำคัญคือติดรอบสอบตรงที่รับเพียง 45 คนด้วย ว้าวๆ *-* 

      นอกจากนั้น เธอยังเป็นอดีตนักเรียนแลกเปลี่ยนไปประเทศสหรัฐอเมริกา ในโครงการ
      AFS ด้วยค่ะ แต่เอาเป็นว่า ผลงานและความสำเร็จของเธอนั้น เราถือว่าเป็นผลค่ะ

      ต้นเหตุทั้งหมดต่างหาก ที่จุดประกายให้เธอทำตามความฝันที่เธอฝันไว้เหล่านี้

      เราไปพูดคุยกับสาวน้อยชื่อขนมอบหวานกรุบกรอบ “คุกกี้ สิตานัน คำสิทธิ์” กันดีกว่าค่ะ...

      จุดเปลี่ยนสู่ทางฝัน

      ตอนแรกก็ไม่ค่อยแน่ใจ แต่เหมือนตอน ม.ต้น คุกกี้ไม่ค่อยตั้งใจเรียน เลยรู้สึกว่า ฮึ้ย...มันเป็นไปได้เหรอที่จะเรียนอะไรแบบนี้ พอซัก ม.3 เริ่มแน่ใจ ก็เลยพยายามตั้งใจเรียนขึ้นมาว่า เราต้องหา สิ่งที่เราชอบจริงๆแล้วนะ จนแน่ใจจริงๆก็คงตอนที่ไปแลกเปลี่ยน คือแน่ใจว่าเรียนด้านนี้ ชอบที่จะเจอคนหลากหลาย หลายๆชาติ ที่เขามีความต่างวัฒนธรรมจากเรามากๆ

      ตั้งใจเรียนเพราะอยากรู้ตัวตน

      เริ่มรู้สึกว่าทำไมคนอื่นเค้าแบบ เอ๊ย...อยากเป็นหมอ อยากเป็นวิศวะอะไรอย่างนี้ เลยอึ๊ย...แล้วเราล่ะ เริ่มรู้สึกว่า ทำไมคนอื่นเขามีวิชาที่ชอบวะ แล้วทำไมเราแบบไม่ชอบซักวิชาเลย (หัวเราะ) อารมณ์ประมาณนั้น เลยแบบ เฮ้ย...บางทีถ้าเราแบบลองเรียนๆแบบเรียนจริงๆ เราอาจจะชอบอะไรซักอย่างขึ้นมาก็ได้นะ ก็เลยชอบภาษาก่อน ชอบที่จะเจอคนหลากหลาย เจอคนต่างวัฒนธรรมกับเรามากๆ อยากได้ทำงานตรงนั้น เลยคิดว่าถ้าได้มาทำงานด้านการเมืองด้วยการต่างประเทศด้วย ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจแล้วก็ชอบด้วย

      คือที่บ้านสนับสนุนมาทางด้านนี้

      ใช่ คือที่บ้านขอให้เป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดีก็พอ (ฮิ้ววว ^^ -- คนสัมภาษณ์ฮิ้วเองค่ะ ฮ่าๆ)

      ไอดอลของสาวขนมหวานกรุบกรอบ

      จริงๆก็มีนะ เป็นดอกเตอร์ สุรินทร์ พิศสุวรรณ คือเวลาที่เราพูดถึงการทูต เรามักจะมองคนที่มาจากสังคมแบบลูกท่านหลานเธอ คุกกี้เลยคิดว่า เอ๊ย...แล้วคนธรรมดาอย่างเราๆล่ะ จะเป็นได้หรือเปล่า ก็เลยไปเสิร์ชหาดูเลย ว่ามันเป็นไปได้มั้ย ก็เลยมาเจอคนนึง เค้าคือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เค้าอธิบายตัวเองแค่ว่าเค้าเป็นลูกชาวนา เราเลยคิดว่าเอ๊...เค้ายังทำได้เลยนะ เค้ายังไม่มีโอกาสมากมายแบบเรา เช่น เราได้เรียนโรงเรียนดีๆ ในขณะที่เค้าต้องพยายามสอบเข้า เลยคิดว่า เรามีโอกาสมากกว่าเค้า แล้วทำไมเราไม่พยายามล่ะ

      ตัดสินใจไปแลกเปลี่ยน

      ก็คิดว่าโอกาสมันอยู่ตรงหน้าแล้ว ถ้าเราอยู่เมืองไทยเนี่ย ถามจริงๆว่าโรงเรียนหนึ่งมีนักเรียนห้าพันคน สายชั้นหนึ่งประมาณเจ็ดร้อย รู้สึกว่าถ้าเราได้ไป มันได้โอกาสที่ดีขึ้น หนึ่งคือภาษา แน่นอนอยู่แล้วต้องได้ ไม่ว่าจะไปประเทศไหนก็ตาม อีกอย่างที่ได้คือ เราโตขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เราได้อยู่ในอีกสังคมที่เราไม่คุ้นเคย ไปอยู่กับคนที่เราไม่เคยรู้จักเลย คิดว่าทุกๆตำแหน่ง ทุกๆหน้าที่ในชีวิตมันทำได้แค่ครั้งเดียว ถ้าเรามีโอกาสที่จะลองทำ ก็อยากที่จะลองทำดู

      สอบติดปั๊บ ไปปุ๊บ

      ตอนแรกคิดว่าเวลาที่นี่ (เมืองไทย) จะหายไปปีหนึ่งเลยนะ แต่มันได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง

         

      เลือกไปอเมริกา แผ่นดินแห่งเสรีภาพ

      คือตอนที่เลือก เลือกอเมริกาอันดับหนึ่ง อิตาลี  แล้วแคนาดา ตอนนั้นก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้อเมริกา คิดว่าโอ๊ย...ไม่ได้หรอก ไม่คิดว่าจะได้ซักอันดับด้วยซ้ำไป พอได้มาก็ดีใจ ถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกอเมริกา เป็นเพราะอเมริกามีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาก อย่างเราไปยุโรป หรือญี่ปุ่น วัฒนธรรมมันจะชัดเจนมาก เป็นเอกลักษณ์มากๆ แต่อเมริกานี่ ทุกๆอย่างทั้งคนจากยุโรป จากแอฟริกา หรือเป็นคนจากเอเชีย หรือจากที่ไหนก็ตาม นี่คือสิ่งที่เรียกว่าอเมริกา เหมือนกับเราไปประเทศเดียว แต่ได้เรียนรู้ทุกๆประเทศในครั้งเดียว อยู่ที่นั่นก็ไปอยู่โรงเรียนรัฐบาล ชื่อ Bay High School ต่างจากโรงเรียนสุรนารีมาก (โรงเรียนในชั้น ม.ปลายของคุกกี้) แต่ที่โน่นเป็นสหศึกษา ที่ไทยมีนักเรียนห้าพันคน ที่นั่นมีเจ็ดร้อย สังคมในโรงเรียนก็แตกต่างจากเมืองไทยมากๆ (เน้นเสียง) ที่อเมริกา คนที่มีเพื่อนเยอะ คือคนที่ทำกิจกรรมเยอะ คือคนที่เล่นกีฬาหรือเข้าชมรมอะไรอย่างนี้ แต่ที่ไทยคือเราอยู่กันเป็นห้องเรียน เราจะไม่ค่อยสนใจสักเท่าไหร่ว่า เราจะหาเพื่อนยากหรือเปล่า เพราะเพื่อนที่เมืองไทยหาง่ายมาก เรานั่งเรียนในห้องเรียนเดียวกันทุกๆวัน แต่ที่นู่นคือ ทุกๆคลาสเรามีเพื่อนไม่ซ้ำหน้า คือถ้าเราคิดที่จะไม่ทำกิจกรรมอะไรเลย เราก็จะไม่สนิทกับใครเลย ตอนได้ไปเรียนที่อเมริกาแล้ว ก็ลงวิชาแปลกๆเช่นจิตวิทยา ไม่มีสอนในโรงเรียนที่เมืองไทย เลยรู้สึกว่าทำไมการศึกษาไทยไม่มีแบบนี้บ้าง  เหมือนการศึกษาแบบของเราจะบีบว่า ต้องค้นตัวเองให้เจอว่าเราอยากเป็นอะไร ต้องการเรียนอะไร แต่ไม่เคยมีบอกเลยว่ามันมีอะไร เราต้องค้นหาด้วยตัวเอง เราไม่มีวิชาจิตวิทยา ปั้น หรือโบราณคดี หรือวิศวกรรม ในโรงเรียนไม่มีสอน มันไม่มีเฉพาะเจาะจงอย่างนั้น แต่เรากลับต้องเลือกตอนสอบเข้าว่าจะเรียนอะไร แตกต่างจากที่นู่นที่เค้ามีวิชาพวกนี้หมดเลย อารมณ์เหมือนเราถูกบีบคั้นให้เลือกทั้งๆที่ก็ไม่รู้ว่าเราชอบอะไร แต่คนที่นู่นที่เค้าเลือกเรียน คงคงแน่ใจมากๆแล้ว เหมือนระบบการศึกษาไทยไม่ support ให้เด็กรู้ตัวเอง เหมือนเรียนแบบหยิบโหย่ง เรียนทุกอย่าง แต่ไม่รู้ว่าอะไรที่เราชอบจริง แตกต่างจากที่นู่นที่เรียนอะไรก็ได้ แล้วก็ขอให้เก่งในสิ่งๆนั้น รู้สึกว่ามันเหมือนจุดอ่อนของการศึกษาไทย แล้วก็ลงวิชาเรียนศาสนา คือศาสนาอาจเกิดจากการเมือง ตรงที่เกิดจากชนชั้นปกครองใช้ศาสนาเพื่อให้ประชาชนเชื่อฟัง

      ปรับตัวกว่าจะเข้าที่ แต่ไม่มีที่ทำไม่ได้

      พวกภาษานี่เรียนรู้เรื่องในห้องเรียน ก็ประมาณซักสามเดือน แรกๆพอครูพูดมาก็ โอ้โห..ครูพูดเร็วจังวะ วันนี้สอนเรื่องอะไรวะ สั่งให้อ่านกี่หน้า ไม่รู้เรื่อง งง อะไรอย่างเนี้ย ดีที่เขาเข้าใจว่าเราเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน เขาก็จะแบบช่วยเราเยอะ

      กิจกรรมที่ทำในต่างแดน

      ก็เล่นกีฬา เล่นเทนนิส เล่นซอฟท์บอล เล่นสกี แล้วก็อยู่ชมรมออกแนววัฒนธรรม ชื่อ Culture Club
       

      สังคมการเรียนแดนเสรี ที่ไม่แข่งกันเรียน

      เด็กที่นั่นไม่ค่อยแข่งกันเรียนเท่าไหร่ เพราะว่าระบบการศึกษาเขาช่วยนักเรียนเยอะมาก เขาไม่ได้สนใจว่าคุณจะต้องสอบให้ได้ที่หนึ่งนะ หรือว่าคุณจะต้องสอบได้คะแนนเยอะนะ เขาสนใจว่า หลังจากเรียนแล้ว คุณได้อะไรติดตัวคุณไปบ้าง มีวิชาหนึ่งที่ชอบเป็นวิชาศิลปะ สอบแบบให้สอบกี่รอบก็ได้ ให้ได้คะแนนเยอะที่สุดเท่าที่เราอยากได้ ครูบอกว่า ทุกครั้งที่เราสอบ เราก็จะจดจำสิ่งที่เราตอบลงไปได้มากขึ้นเพราะมันเป็นข้อสอบแบบเขียนหมดเลย ยิ่งเราทำมากครั้งเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจำได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการ เขาต้องการนักเรียนที่จำสิ่งที่เขาสอน ไม่ใช่นักเรียนที่ได้คะแนนเยอะ

      ระบบการศึกษาที่ต่าง ความพยายามในปรับตัวให้เข้ากับบ้านใหม่

      เคยมีช่วงที่ท้อนะ รู้สึกแบบเฮ้ย เหนื่อยน่ะ ทั้งภาษา ต้องทำอย่างนู้น ต้องทำอย่างนี้ ต้องหาเพื่อน ต้องฝึกภาษา ต้องอ่านหนังสือ ไม่งั้นก็เรียนไม่รู้เรื่อง บางทีก็ต้องปลอบใจตัวเองว่ามันไม่ใช่ภาษาแม่เรา แล้วทุกๆอย่างมันจะค่อยๆปรับของมันไปเอง ไม่มีใครคาดหวังกับเราเท่ากับตัวเราเอง
       

      แนะนำน้องอยากไปแลกเปลี่ยน (แบบพี่)

      ข้อแรกก็อยากจะแนะนำว่า การได้ไปแลกเปลี่ยนไม่ใช่ต้องไปประเทศดีๆชื่อดังๆ หรือประเทศที่เจริญแล้ว อย่าไปคิดว่าฉันต้องได้ไปอเมริกา ได้ไปฝรั่งเศสนะ เหมือนคำที่มีคนพูดว่า Don’t just a book by cover อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก ทุกประเทศมีดีเป็นของตัวเอง บางคนเลือกที่จะไปอาร์เจนติน่า ประเทศที่เราแบบ เฮ้ย...มันอยู่ตรงไหนของโลกวะ อย่าปานามาอย่างเนี้ย เฮ้ย...มันอยู่ตรงไหนวะ คือบางทีเราไปที่ๆไม่มีใครเคยไป เราจะอาจจะได้อะไรมากกว่าที่ๆเราคิดว่าดีก็ได้ อย่าคิดว่าอุปสรรคของมันคือภาษา คุกกี้คิดว่าอุปสรรคของการแลกเปลี่ยน คือการไม่มีประสบการณ์ของเรามากกว่า ภาษามันเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ประสบการณ์คือการที่ต้องสั่งสม พอไปถึงตรงนั้นไม่ว่าภาษาคุณจะเก่งแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่คุณมีเท่ากันคือประสบการณ์
       

      ได้เวลากลับเมืองไทย

      คิดว่ากลับมาเมืองไทยตอนกรกฎาแล้ว เพื่อนเปิดเทอมไปสองเดือนกว่าๆ ก็แบบ...ฮึ้ย เราจะทำงานส่งทันหรือเปล่า ม.6แล้ว เกรดก็ต้องใช้ สอบเกรดจะถึงมั้ย แต่ครูก็ช่วยด้วย คือตอนนั้นเราไม่มีเวลาโฟกัสเรื่องอื่นแล้ว ทั้งเครียดเรื่องมหาลัย ทั้งเครียดเรื่องตามงาน สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี

      อุปสรรคต้องฟันฝ่า กว่าจะมาเป็นลูกแม่โดม

      คิดว่าคงเป็นตอนที่ คนอื่นเค้าเตรียมตัวกันแล้ว เรายังอยู่ที่อเมริกาอยู่เลย กว่าเราจะกลับมาก็ตั้งเดือนกรกฎา อย่างพวกข่าวอย่างเนี่ย ข่าวในประเทศเราก็ไม่รู้เรื่องเลย เรารู้แค่ว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่การที่เราจะสอบรัฐศาสตร์ มันคือการที่เราต้องตามข่าวเยอะมาก เลยรู้สึกว่า ฮึ้ย...เราจะทำยังไงดี เลยเริ่มนั่งอ่านมติชนย้อนหลังไปจนถึงวันเลือกตั้ง เป็นสิบๆฉบับ คือแบบ นั่งอ่าน นั่งอ่าน นั่งอ่าน พยายามตามข่าวให้ตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะรู้สึกว่า ถึงเราไม่มีโอกาสได้อยู่ในเมืองไทยตอนนั้น ตอนที่คนอื่นเค้าอยู่กัน แต่เราก็พยายามอ่านได้ ส่วนอุปสรรคอีกอย่างก็คือ คุกกี้ไม่ได้อยู่กรุงเทพ เราอยู่ต่างจังหวัด (โคราช) แต่เราต้องไปพักในกรุงเทพ ไปอยู่กับเพื่อน ไปอยู่กันเอง ก็เป็นอีกอารมณ์นึง

      และแล้วก็ต้องเตรียมสอบเข้า

      จะบอกว่าตอนที่คุกกี้สอบ อ่านหนังสือเยอะมาก ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำได้ขนาดนี้ ท้อมาก...ตอนนั้นก็ท้อ แต่ว่าการสอบตรงธรรมศาสตร์มันสอบได้แค่ครั้งเดียว ถ้าพลาดครั้งนี้ก็คือต้องแอดมิชชั่น ก็ไม่คิดว่าเราจะแอดมิชชั่นได้ที่นี่หรือเปล่าเพราะคะแนนแอดมันสูงมาก เราเลยแบบถ้าอย่างนั้นเราอยู่กับตรงนี้แล้วทำมันให้ดีที่สุดดีกว่า ก็ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ภายในเวลาที่เหลือแค่นั้น ก็อ่านมติชน อ่านหนังสือทุกเล่มที่พี่เค้าแนะนำ อ่านหนังสือที่เรียน ทำข้อสอบที่เรียน เอามาทบทวนทุกเย็น อ่านจนจำให้ได้ทุกข้อ แต่ตอนแรกก็ท้อนะ ตอนที่ทำข้อสอบก่อนเรียนน่ะได้32เต็ม 60 คือรู้สึกแบบ ฮึ้ย...เรามาผิดทางรึเปล่าวะ มันใช่อะไรที่เราชอบเหรอ ทำไมเราได้คะแนนแค่นี้ เคยคิดนะว่าจะเรียนอะไรอย่างอื่นดีมั้ย แต่คิดว่าลองดูมันซักตั้งแล้วกัน ถ้าเชื่อว่าเราตั้งใจ เราก็ทำได้

      การอ่านหนังสือของสิตานัน

      ตอนสอบเหรอ อืม คือคิดว่าเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือเท่าไหร่ คือชอบอ่านนิยายอะไรอย่างนี้ แต่พอต้องมาอ่านจริงๆ คือมันเป็นเรื่องการเมือง หลายๆคนบอกการเมืองน่าเบื่อ เราก็พยายามอ่านแบบ...คือเป็นคนไม่มีสมาธิที่จะอ่านตอนหัวค่ำ ต้องอ่านตั้งแต่สี่ทุ่มขึ้นไป แล้วก็จะอ่านตั้งแต่แบบสี่ทุ่มถึงตีสอง แล้วก็นอน ตื่นมาสายๆสิบโมงกินข้าว ซักบ่ายๆก็จะเอาข้อสอบมานั่งอ่าน ตอนนั้นจะไม่มีสมาธิอ่านหนังสือ จะอ่านอะไรที่เป็นเนื้อหาไม่ได้ ต้องอ่านข้อสอบ จากนั้นก็จะไปนั่งเล่นเฟซบุ๊ค นั่งเล่นคอม รอซักสี่ทุ่มค่อยมาอ่านหนังสือใหม่อีกสี่ชั่วโมง

      สิ่งที่อยากทำต่อหลังสอบติด

      ก็ตอนช่วงที่ว่าง คิดว่าอยากจะลงเรียนภาษาที่สาม เพราะว่าพอเข้าไปเรียนแล้ว ภาษาที่สามของสาขาคุกกี้เป็นตัวบังคับ แล้วก็อยากไปเที่ยว แล้วก็อยากไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง อยากไปบ้านคนตาบอด ไปอ่านหนังสือ เป็นอีกอย่างหนึ่งที่อยากทำแต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีโอกาสได้ทำ

      แผนสำรองถ้าสมมติสอบตรงและแอดไม่ติด

      อาจจะไปต่ออเมริกาหรือไปเอแบค ถ้าเราไปอเมริกา สิ่งที่ได้คือเราต้องโตขึ้นแน่ๆ เราต้องอยู่ด้วยตัวเอง เราต้องทำงาน แล้วเราต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย แต่มันก็คงลำบากด้วยแหละ ถ้าไปเอแบคก็ไม่มีคณะที่อยากเรียน แต่มีนิติศาสตร์ที่อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นปีว่างๆซักปี ลองไปเที่ยว ไปทำอะไร ไปดูโลก ไปดูว่าเราชอบอะไรจริงๆ บางทีเราอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้

      สมมติว่าชีวิตรันทดมาก พ่อแม่เลิกกัน แม่เป็นหนี้ แต่ต้องเตรียมตัวสอบด้วย จะรับมือยังไง

      อย่าเอาปัญหาของคนอื่นมาเป็นปัญหาของเรา ไม่ใช่พ่อแม่เลิกกันแล้วต้องกลายเป็นเด็กมีปัญหา ถ้าแม่เป็นหนี้เราก็ช่วยได้ ต้องพยายามทำงานเก็บเงิน คิดว่าถ้าเป็นอย่างนั้นโอกาสที่จะเรียนพิเศษคงน้อย แต่เชื่อว่าหลายๆคนไม่ต้องเรียนพิเศษ อ่านหนังสือด้วยตัวเอง ก็ทำได้ เรื่องแบบนี้มันอยู่ที่ความพยายามของแต่ละคน มันไม่เกี่ยวว่าคุณจะมีเงินมากแค่ไหน มันอยู่ที่ว่าคุณหาโอกาสให้กับตัวเองแค่ไหนมากกว่า อย่างหนังสือพิมพ์ เราเลือกที่อ่านได้ หนังสือเยอะแยะ เราหามันได้ถ้าเราพยายาม

      วางแผนหลังเรียนจบ

      แต่ก่อนคิดว่าจะเป็นนักการทูต แต่พอคิดๆไปแล้วกว่าจะไปถึงตรงนั้นก็อาจจะยาก คือก็ยังคิดไว้นะแต่ตอนนี้ก็คือมีช้อยส์อย่างอื่นไว้แล้ว คืออยากทำงานพวกองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UN

      หากต้องฉีกสายงานที่จบมา สาวสิตานันจะทำอะไร

      อยากเปิดร้านเบเกอรี่ อยากชิลล์ๆ แบบเป็นร้านอยู่ข้างล่าง แล้วบ้านอยู่ข้างบน เป็นบ้านไม้น่ารักๆที่ข้างล่างบ้านเป็นร้านอาหาร เป็นเบเกอรี่ร้านเล็กๆ (หัวเราะ) ตอนนี้ก็คิดอยากทำอยู่นะ ถ้าเบื่อจากทำงานอย่างนั้นก็อาจจะมาเปิดร้านของตัวเอง แต่ก็กลัวไม่มีตังค์ใช้เหมือนกัน (หัวเราะเล็กๆ)
         

      หน้าหมวยๆโดนใจแมวมอง มีแอบคิดก้าวสู่สายงานบันเทิงไหม

      คิดว่าคงไม่ มันไม่น่าจะเป็นอะไรที่เราชอบ ไม่ได้คิดว่าตัวเองหน้าตาดีอะไรขนาดนั้น อ้วน (หัวเราะ)

      การเรียนกับความรัก

      ก็คิดว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องผิดน่ะ มันก็คงเป็นวัยของมัน ถ้าไม่มีก็แปลกอ่ะ ไม่มีสิแปลก อารมณ์น่ารักกุ๊กกิ๊กแค่แบบกรี๊ดกร๊าด แต่ก็อย่าไปซีเรียสกับมันมาก อายุเรายังแค่นี้ ชีวิตมันยังอีกเยอะ อย่าไปคิดที่จะฝากชีวิตหรือยกชีวิตเราให้กับใคร คนที่เรารู้จักแค่ไม่กี่ปีหรือไม่กี่เดือน

      การเมืองแนวใหม่สไตล์คุกกี้

      อยากจะบอกว่า ยิ่งถ้าเราเกลียดอะไร เรายิ่งอยากจะเปลี่ยนมัน ยิ่งถ้าเราอยากจะเห็นอะไรเปลี่ยน เราก็ยิ่งต้องมีส่วนร่วมในการที่จะทำให้มันเปลี่ยน ไม่อยากให้คิดว่า แค่หนึ่งเสียงน่ะ กาลงไปก็คงจะไม่มีประโยชน์อะไรหรอก อยากให้คิดว่าหนึ่งเสียงของเราถ้าหลายๆเสียงรวมกัน มันก็จะแปรเปลี่ยนเป็นพลังได้ ถึงมันจะเป็นการออกเสียงมาว่าไม่ลงคะแนน แต่อย่างน้อยเราต้องรักษาสิทธิ์ของตัวเอง การเลือกตั้งไม่ใช่แค่สิทธิอีกต่อไป การเลือกตั้งตอนนี้เป็นหน้าที่ มันคือสิ่งที่พลเมืองควรจะทำเพื่อที่จะมีส่วนร่วมในสังคม เหมือนที่มหาตมะ คานธี เคยกล่าวว่า Be the change you wish to see in the world เป็นความเปลี่ยนแปลงที่คุณอยากจะเห็นในโลกนี้ เมื่อคุณไม่ชอบอะไร จงเปลี่ยนสิ่งนั้น

      หัวสมัยใหม่ ไม่เชื่อเรื่องพิสูจน์ไม่ได้

      ไม่ค่อยเชื่อเรื่องดวงแล้วนะ แต่ก่อนน่ะอาจจะเชื่อ ตั้งแต่สอบติดรัฐศาสตร์มารู้สึกไม่เชื่อเรื่องดวงเลย คือก่อนไปสอบรัฐศาสตร์เคยไปดูดวงมา ตอนนั้นก็เชื่อเรื่องดวงเยอะ เค้าก็บอกเราจะสอบไม่ติดหรอก เราก็แบบคอยดูละกัน สุดท้ายผลออกมาสอบติดก็เลยเลิกเชื่อเลย เพราะรู้สึกแบบทำไมเราต้องเชื่อคนอื่นพูดทั้งๆที่เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเค้าเป็นใครมากกว่าเราเอง เค้าจะรู้เราดีกว่าเราเองเหรอ ทำไมไม่เชื่อตัวเราเอง

      ให้กำลังใจคนมีฝันรัฐศาสตร์

      อย่าไปคิดว่ายากเกินไป อย่าไปคิดว่า ฮึ้ย...ธรรมศาสตร์เหรอ จะทำได้เหรอ ให้คิดว่าทำไมเราจะทำไม่ได้ คนอื่นที่สอบเข้าไปได้มันก็คนเดินดินเหมือนกันแหละวะ แต่เค้าแค่มีความพยายามแค่นั้นเอง ถ้าเราพยายาม ทุกอย่างมันทำได้หมดแหละ

       ฝากกำลังใจถึงคนมีฝันทุกคน

      เชื่อในเรื่องกฎแห่งการกระทำ ถ้าเราพยายาม ตั้งใจที่จะทำมัน เชื่อว่าถึงเราจะล้มเหลว99ครั้ง แต่ครั้งที่ร้อยมันก็ต้องสำเร็จบ้างแหละ ไม่มีใครที่จะล้มเหลวไปตลอดชีวิต คนที่ล้มเหลวก็คือคนที่ไม่เคยคิดจะลองเลย เราต้องลอง ถ้าไม่ลองเราก็ไม่รู้หรอก เราจะผ่านมันได้ ด้วยการที่ลองหรือทำมันลงไปแล้ว.

      หากเดินผ่านเธอเพียงผิวเผิน เชื่อว่าทุกคนคงคิดว่าเธอเป็นเพียงเด็กหญิงคนหนึ่ง แต่พอได้นั่งลงคุยแบบสบายๆแต่เอาจริงเอาจังในการเล่า ก็พบว่าสาวน้อยคนนี้ไม่ได้มีดีแค่ความสวย ความน่ารัก หรือชื่ออันน่าหยิก แต่มีดีเข้าไปถึง “กึ๋น” ที่คนเขียนเชื่อว่า หากอ่านอย่างช้าๆพร้อมทำความเข้าใจ คุณจะได้อะไรมากมายจากวาทะสบายๆใสๆที่มากด้วยความคิดที่ตกผลึกดีๆของสาวน้อยคนนี้แน่นอน

      อย่าไปมองว่าเธอสำเร็จอะไรมาบ้าง แต่มองว่ากว่าเธอจะสำเร็จ เธอผ่านอะไรมาบ้างที่เรียกว่าขวากหนาม

      เพราะนั่นเป็นสิ่งที่คนมีฝันทุกคนต้องฟันฝ่าค่ะ!

      เป็นกำลังใจให้ จากหัวใจเสมอ...

      IDEA-NOON

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×