ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องถิ่นเมืองเหนือ

    ลำดับตอนที่ #48 : หลวงปู่คำแสน คุณาลงฺกาโร ผู้เยื่อกเย็นและอ่อนโยน ภาค ประวัติและเกร็ดประวัติ

    • อัปเดตล่าสุด 23 ต.ค. 54


     


    หลวงปู่คำแสน คุณาลงฺกาโร

    วัดดอนมูล ( สันโค้งใหม่ ) ตำบลทรายมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

    นามเดิม

    คำแสน เพ็งทัน เป็นบุตรของนายเป็งและนางจันทร์ตา เพ็งทัน

    เกิด

    วันอังคารที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ ปีมะเมีย ที่บ้านสันโค้งใหม่ ตำบลทรายมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

    บรรพชา

    เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ อายุ ๑๗ ปี ที่วัดดอนมูล มีครูบาโพธิ วัดสันโค้ง เป็นพระอุปัชฌาย์

    อุปสมบท

    เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ณ วัดดอนมูล โดยมีครูบาโพธิ วัดสันโค้ง เป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาพิมพิสาร วัดแช่ช้าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์

    อุปนิสัย

    หลวงปู่คำแสนมีอุปนิสัยเยือกเย็น อ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส ผู้ที่ได้รับฟังธรรมจากท่านแล้วก็หายทุกข์โศก ท่านได้เสริมสร้างคุณงานความดีทั้งที่เป็นอัตประโยชน์ และปรหิตประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอเนกประการ

    มรณภาพ

    วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เวลา ๑๐.๑๒ น. สิริรวมอายุได้ ๘๖ ปี พรรษา ๖๔


    เกร็ดประวัติ

    หลวงปู่คำแสน คุณาลงฺกาโร

    ท่านเคยมีชื่อว่า ... “ท่านทุกขิตะ หรือ ท่านทุกภิกขะ

    ข้อมูลจาก เวปพระรัตนตรัย กระดานสนทนาธรรม กระทู้ที่ 01014

    โดย คุณ คนรู้น้อย  16-03-2003

    เนื้อความ :

    หลวงปู่คำแสน เป็นพระอาจารย์องค์หนึ่งที่หลวงพ่อฤาษีฯ ท่านพาลูกหลานไปกราบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระอริยเจ้านั้น ยังคงมีอยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง กระผมจึงขอนำประวัติของท่าน มาเรียนเสนอแด่ท่านทั้งหลาย รวมทั้งข้อเขียนของท่าน พ.ต.ท. อรรณพ กอวัฒนา (ยศเมื่อปี ๒๕๓๔) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ท่านหนึ่งของหลวงพ่อ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ครับ ...

    หลวงปู่คำแสน เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ ปีมะเมีย เป็นบุตรของนายเป็ง นางจันทร์ตา เพ็งทัน อยู่บ้านสันโค้งใหม่ ต.ทรายมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีพี่น้องรวมกัน ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๗ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี โดยมีพระอธิการ (ครูบา) โพธิ วัดสันโค้ง เป็นพระอุปัชฌาย์ และต่อมาก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดดอนมูลนี้ เมื่อบวชได้ ๓ พรรษา ท่านก็ได้ไปศึกษาต่อกับพระอธิการ (ครูบา) แก้ว ชัยยะเสโน ที่วัดน้ำจำ โดยได้ศึกษาธรรม และเรียนกัมมัฏฐาน

    ก่อนหน้านั้นท่านได้ทราบข่าวจากชาวบ้าน ว่าทางราชการได้จับครูบาศรีวิชัย ยอดนักบุญแห่งลานนาไทย มากักขังไว้ที่วัดศรีดอนไชย เชียงใหม่ หลวงปู่ฯมีความเคารพ และเลื่อมใสในครูบาเจ้าฯเป็นอย่างยิ่ง ก็ให้รู้สึกเสียใจ และอยากจะไปกราบนมัสการให้กำลังใจท่าน ได้ชักชวนพระสงฆ์ และชาวบ้านให้พากันไปเยี่ยม แต่คนทั้งหลายกลัวจะถูกตำหนิ หรือถูกกลั่นแกล้งจากทางราชการ ในที่สุดก็เดินทางไปกับเณร และลูกศิษย์เพียง ๒-๓ คนเท่านั้น ได้เดินทางประมาณ ๑๕-๑๖ กิโลเมตรกว่าจะถึงวัดศรีดอนไชย เมื่อเข้าไปภายในพระวิหารนั้น เขาใช้เชือกมนิลาเส้นโต ผูกเสาวิหารไว้เป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนคอกหมู ภายในคอกสี่เหลี่ยมนั้น มีพระสงฆ์รูปหนึ่งสูงอายุนั่งอยู่ด้วยอาการสงบ ในลักษณะขัดสมาธิ ห่มผ้าสีกลัก มีลูกประคำ เส้นโตๆ คล้องคอ กำลังนับลูกประคำนั้นอยู่ จึงคลานเข้าไปกราบตรงหน้า

    ในขณะที่กราบลงไปนั้นก็เกิดอารมณ์อ่อนไหว จิตใจอ่อนแอจนร้องไห้ออกมาโฮใหญ่ ด้วยอารมณ์สงสารในครูบาศรีวิชัย ที่ต้องมาถูกจองจำ และจะถูกจับสึกที่กรุงเทพฯ เสียงร้องไห้สะอึกสะอื้นของพระคำแสนในขณะนั้น คงจะทำให้ท่านครูบาฯออกจากการปฏิบัติ เพราะได้เอื้อมมือมาตบที่ไหล่ พร้อมกับดุว่า ท่านเป็นพระจะร้องไห้ไม่ได้ พระเป็นผู้ตัดแล้วซึ่งกิเลส เมื่อเป็นเช่นนั้นต้องระงับอารมณ์ ไม่ให้มีการร้องไห้เด็ดขาด ขณะเดียวกันก็เริ่มสอนให้นั่งขัดสมาธิ เอามือประสานกันวางไว้บนตัก หลับตาพร้อมกับท่องคำ นโม ในใจ หลายสิบหลายร้อยจบให้ท่องไปเรื่อยๆ พระคำแสนก็ปฏิบัติตามคำสั่ง ท่องไปท่องมาไม่นานอาการ สะอื้น และน้ำตาก็หายไป ครูบาฯจึงสั่งให้ลืมตาขึ้น แล้วก็สอบถามว่าเป็นใครมาจากไหน

    พระคำแสนก้มลงกราบแทบเท้า และนมัสการว่า มาจากอำเภอ สันกำแพง ครูบาฯได้เทศน์อบรมเกี่ยวกับขันติให้พระคำแสนฟัง พร้อมกับแนะนำสั่งสอนให้ศึกษาวิปัสสนาธุระ โดยเริ่มต้นปฏิบัติดังที่ได้ทำมาแล้วเมื่อสักครู่ แล้วก็ให้นมัสการลา จึงนับว่าเป็นบทเรียนบทแรกในชีวิต เกี่ยวกับการศึกษาวิปัสสนา และท่านก็ดิ้นรนหาลู่ทางจะศึกษาในเรื่องนี้ จากทุกแห่งที่มีข่าวว่ามีอาจารย์สอน ต่อมาเมื่อท่านได้เรียนกัมมัฏฐานจากท่านครูบาแก้ว ชัยยะเสโน แล้วท่านก็ขอลาพระอาจารย์ ออกเดินธุดงค์จาริกไปในที่ต่างๆ เมื่อถึงคราวเข้าพรรษา ท่านจึงจะกลับมาอยู่ที่วัดดอนมูล

    พออายุได้ ๓๔ ปี ๑๓ พรรษา ท่านเจ้าอาวาสก็มรณภาพลง ทางคณะศรัทธาจึงได้นิมนต์หลวงปู่คำแสน เป็นเจ้าอาวาสแทนสืบต่อมา... จนท่านมีอายุได้ ๓๙ ปี ๑๘ พรรษา มีพระธุดงค์ชื่ออาจารย์แหวน สุจิณโณ เดินธุดงค์มาพักอยู่ที่อู่ทรายคำ ในเมืองเชียงใหม่ เมื่อหลวงปู่ทราบดังนั้น ท่านได้ให้โยมไปนิมนต์ พระอาจารย์แหวน ให้มาเผยแพร่ อบรมศรัทธาที่วัดดอนมูล ต่อมาท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้มาพำนักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง พระอาจารย์แหวน และหลวงปู่คำแสน ก็ได้ไปนมัสการ และได้ มอบกาย มอบจิตถวาย เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น แต่บัดนั้นมา ...

    ต่อมาท่านอาจารย์แหวน ท่านได้จาริกไปๆ มาๆ ในเมืองเชียงใหม่ และไปจำพรรษา ที่วัดป่าห้วยน้ำริน อ.แม่แตง ส่วนหลวงปู่คำแสนหลังจากได้เรียนพระกัมมัฏฐาน จากท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็ออกเดินธุดงค์ไปยังประเทศพม่า ย่างกุ้ง หงสาวดี แล้วเดินย้อนกลับ เดินธุดงค์ไปสู่ภาคอีสาน ไปอยู่กับท่านอาจารย์สิงห์ที่โคราช แล้วกลับขึ้นไปทางเหนืออีก ที่ใดเป็นที่วิเวกเป็นป่าเปลี่ยวท่านก็ได้พักภาวนา ตามอัธยาศัยของท่าน ระยะหลังๆ ท่านได้ ไปอยู่ร่วมปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์แหวน ตามวัดป่าต่างๆ ๑ พรรษาบ้าง ๒ พรรษาบ้าง แม้เมื่อท่านอาจารย์แหวนย้ายไปจำพรรษา อยู่ที่วัดป่าดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ หลวงปู่ฯ ก็ไปมาคารวะท่านอาจารย์อยู่เสมอๆ (ท่านเป็นลูกศิษย์เพียงองค์เดียว ที่ท่านอาจารย์มั่นอนุญาตให้อยู่ในมหานิกายได้ ไม่ต้องญัตติใหม่เป็นธรรมยุติกนิกาย) ... หลวงปู่ได้มรณภาพ ในวันอาทิตย์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ อายุได้ ๘๖ ปี ๖๘ พรรษา ...

    กระผมขอจบเรื่องด้วยข้อเขียนของ ท่าน พ.ต.ท.อรรณพ กอวัฒนา ซึ่งเขียนถึงหลวงปู่ไว้ดังต่อไปนี้ครับ ...

    หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร แห่งวัดป่าดอนมูล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ องค์นี้ภายหลังหลวงพ่อฯ ของเรา เปิดเผยว่า เคยเป็นพี่ชายของท่านมาหลายชาติแล้ว ท่านเป็นคนใจบุญ ได้ทรัพย์ได้สมบัติมาเท่าใด ก็ไม่สะสม เทออกทำบุญจนหมดสิ้น ทำบุญจนหมดตัวเหมือนกับ ท่านมหาทุกขตะ ยังไงยังงั้น

    แต่จริงๆ แล้วสมัยเดิมโน้น... โน้น.. โน้น ท่านเคยมีชื่อว่า ท่านทุกขิตะ หรือ ท่านทุกภิขะ เพราะฉะนั้นเมื่อประสบพบกัน ทั้งสององค์ก็คุยกันกระหนุงกระหนิง แต่โน่นแน่ะเป็นเรื่องราวสมัย พระเจ้าพรหมมหาราช มีโต้มีเถียงกันกระจุ๋มกระจิ๋มบ้าง เรื่องยุทธการสมัยนั้น (แล้วพวกผมจะไปรู้เรื่องเรอะ) ตอนที่กำลังคุยรู้เรื่องกันเพียง ๒ องค์ ต่างองค์ก็แสดงทัศนะ ในเรื่องรายละเอียดของมหายุทธวิธีในยุคที่ว่านั้น หลวงปู่ว่าถ้าหลวงพ่อเชื่อท่าน ทำตามที่ท่านคิด เหตุการณ์จะเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อฯ ก็ว่าท่านมีเหตุผลที่ดีกว่านั้น ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นไปอย่างโน้น

    เฮ้อ ดีครับดี รู้เรื่องกันเพียง ๒ องค์ ตาเถรเณรยายชีไม่มีใครรู้เรื่อง

    บางตอนหลวงพ่อฯ ท่านก็หันมาถาม ท่าน พล.อ.ท. ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์ ที่พวกเรามักจะเรียกท่านว่า ท่านเจ้ากรมเสริมฯ หรือลุงเสริมฯนั่นแหละ (ท่านที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน จะไม่มีวันทราบเลยว่าท่านเป็น นายทหารใหญ่ครองยศถึง พลอากาศโท และเป็นเชื้อพระวงศ์ ถึง หม่อมราชวงศ์ เพราะท่านวางตัวเป็นกันเอง มีเมตตาต่อพวกเราทุกคนเหมือนลูกเหมือนหลาน ไม่ถือเนื้อถือตัว ให้เกียรติ และยกย่องผู้อื่น ยิ่งท่านทำตัวเป็นกันเองกับพวกเราเท่าใด พวกเราก็ยิ่งให้ความเคารพท่านมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งท่านทำตัวเล็กลงเท่าใด ก็ดูเหมือนตัวท่านจะยิ่งโตใหญ่ขึ้นๆ เป็นทวีคูณ ท่านผู้นี้หลวงพ่อฯ ว่าเป็นเพื่อนเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่าน มาทุกยุคทุกสมัย)

    สมัยนั้นหลวงปู่ฯ ท่านกำลังหนีคนไปสร้างวัดใหม่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดเดิม ซึ่งเริ่มไม่สงบ ท่านเรียกว่า วัดป่าดอนมูล ผมเคยท้วงติง โดยถามท่านว่าด้านหลังวัดอยู่ติดลำห้วย มีป่าโปร่งๆ อยู่นิดหน่อยกระหรอมกระแหรม ไหงหลวงปู่ตั้งชื่อเสียน่ากลัวว่าวัดป่า

    ท่านว่า ป่าที่เอาเป็นชื่อวัดนั้น ไม่ได้หมายความตามอย่างที่ผมเข้าใจ ท่านหมายถึงป่าช้าต่างหาก เพราะเดิมที่ตรงนั้นเป็นป่าช้า ไอ๊หยา ! เป็นอันว่าที่ท่านตั้งชื่อว่า ป่า ไม่ใช่เพื่อเพิ่มความขลังให้กับสถานที่ แต่เพราะเดิมมันเป็นป่าช้า ได้ตัดคำว่า ช้า ออกไปเพราะเกรงว่ามันจะน่ากลัวเกินไปต่างหาก

    พอรู้แล้วผมก็หมดกังขาว่าเวลาวิกาล หลวงปู่ฯ จะต้องได้ความสงบวิเวกอย่างเต็มที่ เพราะท่านเข้าไปจำวัดอยู่ในป่าช้า คงไม่มีใครกล้าเข้าไปรบกวนหรอกครับ บรื๊อ... !

    และแล้ววันหนึ่ง กรรมของผมก็มาถึง จำไม่ได้ว่าหลวงพ่อฯใช้ให้ไปหาเรื่องอะไร ก็ไปกันหลายคนกับรุ่นน้องๆ นี่ละครับ สมัยนั้นกำลังหนุ่มแน่น (ผมน่ะหนุ่มใหญ่ แต่น้องๆ เพิ่งจะสอนขัน แต่เพราะเพิ่งจะสอนขันก็เลยอยากจะขันบ่อยๆ ) ดังนั้นแทนที่พวกเราจะรีบไปทำธุระให้หลวงพ่อ เจ้าลิงพวกนี้ก็เลยแวะโน่นแวะนี่ (ไม่เห็นเจ้าเห็นหลังคาบ้านเจ้าก็ชื่นใจแท้) เที่ยวกันจนดึกดื่น พอเลี้ยวควับเข้าไปที่วัดนอก (วัดดอนมูล) กะนอนที่วัดนอก

    ตาย.. แล้ว หลวงพี่ที่เราคุ้นเคยก็ไม่อยู่ หลวงปู่ก็ไปจำวัดอยู่ที่วัดป่า (ก็ที่ป่าช้านั่นแหละคุณ) ใครจะกล้าตามเข้าไปหือ ทั้งเปลี่ยวทั้งน่ากลัวหนทางก็รกชัฏไม่มีบ้านคน หาข่าวได้มาเพิ่มเติมอีกว่า รุ่งขึ้นแต่เช้าหลวงปู่ก็จะไม่อยู่จะเข้ากรุงเทพฯ แต่เช้ามืดทำอย่างไงดี เอาละวาสู้ตาย มากันหลายคนนี่หว่าจะไปกลัวอะไร เอ็ม ๑๖ ในรถก็มีหลายกระบอก ผมเป็นหัวหน้ารับผิดชอบอยู่แล้ว ใครๆ ก็เชื่อมือหลับกรนครอกๆ กันทุกคน (ก็คงจะเพลียนั่นแหละ)

    ผมก็เลี้ยวซ้ายขวาด้วยความชำนาญ ในใจนึกดูหมิ่นว่าป่าขนาดแค่นี้จะมีอะไร ไม่พอมือพอขี้ยา ป่าดงดิบแถมยังเต็มไปด้วยกับระเบิด พ่อยังฝ่ามาเสียหลายสมรภูมิ ป่าใกล้ๆ แค่นี้ไม่พอมือพอตีนลูกช้างหรอก (ขี้โม้ประจำเลยผมนี่)

    ผมขับอยู่นาน เอ๊ะ ! ไหงมันนานนักไม่ถึงเสียที มันน่าจะถึงตั้งนานแล้วนี่นา ??? ง่วงก็ง่วง รำคาญเสียงกรนก็รำคาญ เพราะก็อยากจะนอนเต็มแก่เหมือนกัน แต่เอ๊ะๆ นั่นรอยรถบนถนนข้างหน้าทำไมมันถึงได้เหมือนกับล้อรถเราจัง จอดลงไปดูซะหน่อย ฮี่ธ่อ ก็จะไม่เหมือนได้ไง๊ ก็มันคือรอยล้อรถของเราเองไม่ใช่ของใครอื่น

    ตาย.. หลงว่ะ หลงทาง รู้ไปถึงไหนอายตาย... ดีแล้วที่พวกน้องๆ มันยังหลับไม่รู้ว่าเราพาหลงทาง จอดรถข้างทางคว้าไฟฉายลงไปดูลู่ทาง มองไปแต่ไกลเห็นหลอดไฟแดงๆ สูงระดับยอดตาลอยู่ 2 หลอดไม่ไกลนัก เออค่อยยังชั่วน่าจะเป็นอะไรๆ สักอย่างที่มนุษย์ทำขึ้น เพื่อล่อแมงดาหรือไล่ค้างคาวหรือนกกลางคืน อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไปที่ตรงนั้น ก็คงจะได้พบคน จะได้ถามทาง

    กลับมาขึ้นรถอีก คราวนี้ไม่ไปตามทางแล้ว สังเกตเอาทิศ จับเอาทางที่เห็นหลอดไฟแดงแล้วมุ่งตรงเข้าไปหา

    พอเข้าไปใกล้ เอ้า! ไฟหายไปอีกแล้ว ลงจากรถอีก ไฟฉายท่านก็ไม่เป็นใจเหลือไฟอยู่ริบหรี่ นี่ขนาดเป็นไฟฉายในรถของท่านนายพลเอกในอนาคตนะ (รถขอยืมไปจากท่าน พล.อ. ชวาล กาญจนกูล สมัยนั้นท่านยังเป็น พ.อ.)

    เดินย่องเข้าไปสำรวจเห็นลำตาลคู่ทะมึนอยู่ตรงหน้า คะเนว่าต้องเป็นเสาที่เขาแขวนหลอดสีแดงที่เห็นมาก่อนนั้น เดินเข้าไปจนห่างซักประมาณ 5 วา เอาไฟฉายส่องดู

    ใจหายแว้บ!!! ไอ้เวร... ไม่ใช่ลำตาลนี่หว่า ดูๆ มันคล้ายกับหน้าแข้งคน ถอยห่างมาอีก 5 ก้าว กลั้นใจส่องไฟฉายไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ

    โอ๊ย... กูว่าแล้ว เปรตโว้ย เปรต ยืนทะมึนนัยน์ตาแดงโร่ คร่อมทางอยู่ตรงหน้า โกยแน่บกลับมาที่รถแหกปากร้องเรียกน้องๆ ให้ตื่น เปรตมันจะมาเหยียบกบาลพวกมึงแล้วไม่รู้หรือ ชุลมุนกันไปหมด

    พอมีสตินึกขึ้นมาได้ยกสองมือประนมขอให้พระช่วย แล้วตัดสินใจหันหัวรถเอาไฟรถส่องดู

    อ้าว... หายไปแล้ว เอ๊ะ! แล้วไอ้ตรงที่เห็นว่าเป็นขาของมันยืนคร่อมอยู่นั้น แต่ถัดออกไปหน่อยคือประตูเข้าวัดป่านั่นเอง รอดตายแล้วกู

    กระทืบคันเร่งเลี้ยวควั๊บเข้าไปเลย จอดลงตรงหน้ากุฏิ หลวงปู่ยืนยิ้มเผล่รอรับอยู่ที่ระเบียง

    ไอ้ทะโมนทั้งสี่ตัวเผ่นผลุงเข้าไปในกุฏิ จับกลุ่มนั่งกอดเข่าตัวสั่นงก ไม่พูดไม่จา กว่าจะตั้งสติพอมีสตังค์ได้ จึงหันไปกราบหลวงปู่ฯ

    ท่านทำหน้าตายถามว่า ไปทำอะไรมา หนาวเหรอ

    ธ่อ... หลวงปู่ฯ นะหลวงปู่ฯ แกล้งทำเป็นมาถาม ไม่เห็นเร๊อะขี้อยู่บนหัวขมองกันทุกคน

    คราวนี้ต่างคนก็ต่างอ้อนซิ คนโน้นก็เห็นคนนั้นก็เห็น กูเห็นมึงเห็น เห็นกันทุกคน ชิงกันเล่าน้ำไหลไฟแลบ หลวงปู่ก็เอาแต่หัวเราะหึๆ ไล่ให้พากันไปอาบน้ำ แต่แหมทีนี้หยุดเล่าเงียบกริ๊บ อิดๆ เอื้อนๆ กลัวหนาวกันไปหมดไม่มีใครยอมไปอาบน้ำ (กลัวหนาวนะครับ ไม่ใช่กลัวผี) แถมเมื่อไม่ยอมอาบน้ำอ้างว่าหนาวและง่วงนอน แต่เมื่อจะนอน หลวงปู่ฯ ยังต้องยอมตกลงให้ไอ้พวกลิงทะโมนนอนเบียดสุมหัวกันในกุฏิหลวงปู่ฯ ทุกคน

    ภายหลังหลวงปู่ฯ ท่านก็เล่าให้หายสงสัยว่า ที่เห็นนั้นน่ะไม่ใช่เปรต แต่เป็นยักษ์ที่เขารักษาสถานที่วัดป่าอยู่

    เอาเถิดครับหลวงปู่ฯ ไม่ว่าจะเป็นเปรตหรือไม่เปรต ยักษ์หรือไม่ยักษ์ พวกผมก็ไม่อยากได้ไม่อยากเห็นทั้งสองอย่างนั่นแหละครับ โปรดเรียกให้เขาไปอยู่ที่อันควรส่วนของเขาเถิด

    ในส่วนลึกของใจผมนั้น ผมคิดเอาเองนะครับว่าหลวงปู่ฯ จะต้องมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นเป็นใจอย่างแน่นอน บางทีอาจจะเป็น ตัวการ ทีเดียวแหละที่ส่ง คุณตาแดง ตนนั้นออกไปดัดสันดานพวกผม ที่อยากเอาแต่เที่ยวเอาแต่เถลไถล จนเกือบจะเสียงานของหลวงพ่อฯ เป็นแน่

    เรื่องที่พวกเราเห็นนี้ หลวงปู่ฯ ท่านเตือนผมหลายครั้งหลายหน ห้ามไม่ให้เล่าให้ใครฟัง ท่านว่าเขาไม่เชื่อเราเขาจะหาว่าเราบ้า แต่ผมก็อดไม่ได้แอบเล่าให้พวกกันจริงๆ ฟังไปหลายคน โดยได้พยายามเลือกคนที่จะฟัง เลือกแล้วเลือกอีก กลัวเขาจะหาว่าบ้านะซิครับ!!! (แค่ไม่ได้เล่าเรื่องนี้ พวกเขาก็ว่าอย่างงั้นอยู่แล้ว ก็ว่าบ้าน่ะซีครับ ถามได้) ” …

    ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ตลอดจนพระบารมีของครูบาอาจารย์ที่เคารพทุกๆ ท่าน โปรดคุ้มครองรักษาท่านทั้งหลาย ให้ประสบแต่ความสุขสวัสดี มีจิตอันเข้มแข็งในการปฏิบัติ เพื่อก้าวสู่แดนแห่งความบริสุทธิ์ คือ พระนิพพาน ด้วยกันทุกท่าน ... เทอญ

    จากคุณ : คนรู้น้อย   16-03-2003, 07:42 .

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×