แนวโน้มผู้เล่นอินเทอร์เน็ตทั่วโลกนับวันจะเพิ่มสูงขึ้น กูเกิล ผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตจึงจุดประกายความคิดว่า สื่อไร้สายที่อุดมไปด้วยข้อมูลข่าวสาร และความบันเทิง หากสามารถพัฒนาระบบบนเครื่องโทรศัพท์มือถือให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ คาดว่าจะได้รับความนิยมจากตลาดมือถือในอนาคต กูเกิลจึงออกชุดพัฒนาซอฟต์แวร์บนระบบปฏิบัติการมือถือชื่อ แอนดรอยด์ (Android) ขึ้น แม้ว่า Android จะเพิ่งเปิดตัวมาได้เพียง 3 เดือน แต่บรรดาโปรแกรมเมอร์ทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจ เข้ามาทดลองใช้ระบบปฏิบัติการชุดนี้กันไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามบางคนอาจยังไม่รู้จักว่า ระบบปฏิบัติการนี้คืออะไร และมีรูปแบบการทำงานอย่างไร ทางเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค จึงอาสาเข้ามาเป็นโต้โผผลักดันให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยเข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความสามารถไอทีของคนไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย อธิบายถึงรายละเอียดชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวนี้ ว่า ระบบปฏิบัติการ Android ไม่ใช่หุ่นยนต์ตามที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นชุดพัฒนาแอพลิเคชันมือถือ ที่รันการทำงานบนระบบปฏิบัติการ หรือ โอเอสที่เป็นลีนุกซ์ และเขียนระบบด้วยโปรแกรม Java ผู้สนใจที่ต้องการพัฒนาแอพลิเคชันนี้ ต้องดาวน์โหลดโปรแกรม Android SDK เพราะมีชุดคำสั่งเฉพาะ ที่ใช้ในการพัฒนาบนระบบ Android เท่านั้น สามารถดาวน์โหลดโปรแกรม Android ได้ที่ www.code.google.com/android ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย อธิบายต่อว่า Android แตกต่างจากระบบปฏิบัติบนโทรศัพท์มือถืออื่น ตรงที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สนใจ เข้ามาต่อยอดสร้างสรรค์ความคิดพัฒนาแอพพลิเคชันอย่างไม่จำกัด และไม่เสียค่าใช้จ่ายดาวน์โหลดโปรแกรมพัฒนาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะ กูเกิลต้องการสังคมออนไลน์ เพื่อเพิ่มผลงานแอพลิเคชันใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นบน Android อย่างรวดเร็ว “Android เป็นระบบที่ใช้งานง่าย สามารถดึงแอพลิเคชันที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาต่อได้ดี ส่วนการทำงานยังเป็นระบบเบต้า ฟังก์ชันหลายอย่างในชุดพัฒนา อาจมีข้อที่ต้องปรับปรุง อีกทั้งคนพัฒนาจึงยังมีอยู่น้อยมาก การแบ่งปันความคิด และความรู้ยังจำกัดในวงแคบ เนื่องจากชุดพัฒนาที่เพิ่งออกสู่ตลาด แต่ทางกูเกิลก็หมั่นอัพเดทแอพลิเคชันและแก้ไขจุดบกพร่องอย่างสม่ำเสมอ” นายธนชาติ กล่าวถึง นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยว่า การแข่งขันในระดับสากล แนวคิดต้องแตกต่าง สร้างสรรค์และมีประโยชน์ พร้อมทั้งตอบโจทย์ทั้งด้านนวัตกรรม และโครงสร้างธุรกิจให้ได้ เช่น ทำออกมาแล้วกลุ่มเป้าหมายที่จะขายเป็นใคร ที่สำคัญสิ่งที่ทำให้เราได้เปรียบในการแข่งขัน คือ ใบเสนองาน ที่ต้องแสดงวัตถุประสงค์การทำงาน แนวคิด วิธีนำไปประยุกต์ใช้ต่อในอนาคต อย่างละเอียด ถ้ากรรมการปิ้งไอเดียจากแผ่นกระดาษก่อนแล้ว ผลงานที่ตามออกมาจะชนะใจได้รับรางวัลได้อย่างไม่ยาก ด้าน นายณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ครีเอเทค ซอฟต์แวร์ จำกัด กล่าวว่า ลูกเล่นใหม่ที่จะเข้ามาสู่โทรศัพท์มือถือ หลังจากเปิดตัว Android มีระบบมัลติทัชเป็นการสัมผัสหน้าจอโดยใช้นิ้วมือ ต่อไปจะพัฒนาให้ทั้งสัมผัสได้และเขียนได้ในคราวเดียวกัน ในระบบเครือข่าย สามารถรองรับระบบได้ทั่วโลก ส่วนกล้องถ่ายวิดีโอมีความละเอียดขึ้น และในส่วนแอพลิเคชันที่มีอยู่แล้ว จะนำกลับมาพัฒนาให้เล่นง่ายขึ้น กก.ผจก.บจก. ครีเอเทค ซอฟต์แวร์ กล่าวต่อว่า ไอเดียเป็นสิ่งสำคัญที่นักพัฒนาไทยต้องค้นหาให้โดนใจกรรมการ อาจนำวิถีการดำเนินชีวิตของชาวเอเชีย คัดเอาเอกลักษณ์ในแต่ละประเทศนำมาสร้างแอพลิเคชัน ดึงดูดใจกรรมการได้ เพราะผู้ตัดสินผลงานเป็นชาวตะวันตก ไม่คุ้นเคยกับรูปแบบชีวิตคนตะวันออก ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกใหม่ ที่สำคัญนักพัฒนาไม่ควรลอกความคิดผู้อื่นมาใช้ ด้าน นายพีระพล ฉัตรอนันทเวช ผู้จัดการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทบนโทรศัพท์มือถือในเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จนบัดนี้โทรศัพท์มือถือเป็นทุกอย่าง มีหน้าที่สารพัดประโยชน์ ทั้งกระเป๋าจ่ายเงิน คลังเพลง และตู้เกมเคลื่อนที่ ประชากร 37% ทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านคน ใช้โทรศัพท์มือถือ “ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนปี 2550 ตัวเลขอยู่ที่ 10% ทั่วโลก คาดว่ายอดขายได้ในปี 2010 ประมาณ 200 300 ล้านเครื่อง และจะเพิ่มขึ้นถึง 30% ในปี 2012 โดยปี 2551 ยอดขายโทรศัพท์ทั่วโลกอยู่ที่ 1,200 1,300 ล้านเครื่อง ตลาดเมืองไทยอยู่ที่ 9 ล้านเครื่อง โทรศัพท์มือถือโนเกียครองส่วนแบ่งตลาดในไทยอยู่ที่ 60% สัดส่วนตลาดประเทศไทย 50% ราคามือถือที่ซื้ออยู่ที่ 2,000 3,000 บาทเท่านั้น แต่คาดว่าแนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า ความนิยมโทรศัพท์มือถือประสิทธิภาพสูงจะมีมากขึ้น”ผู้จัดการฝ่ายการตลาดฯ บ.โมโตโรล่า กล่าว นายพีระพล กล่าวต่อว่า ตัวเลขรายได้กูเกิ้ลปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1,000 ล้านเหรียญ 98.9% ของรายได้มาจากการโฆษณา ปีนี้กูเกิลมีโครงการทำมือถือ จีโฟน โดยนำร่องด้วยการใช้ชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ Android เข้ามาเร่งกระแสอินเทอร์เน็ตบนมือถือก่อน หลังจากที่ตัวแอพพลิเคชัน Android สมบูรณ์แบบมากขึ้นแล้ว คงจะได้เห็นมือถือจีโฟนออกสู่ตลาด ผจก.ฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์และพัฒนาธุรกิจ บจก. โมโตโรล่าฯ กล่าวด้วยว่า ทางโมโตโรล่าได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาระบบปฏิบัติการบนมือถือแบบ Open Source มาโดยตลอด และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มพันธมิตร Open handset Alliance ที่ให้การสนับสนุนโครงการ Android ในระดับนานาชาติ บริษัทจึงส่งเสริมการพัฒนา Android ในประเทศไทยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้แนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต ก็จะยึด Android เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มหลัก เพื่อมุ่งเน้นการเชื่อมโยงบริการและคอนเทนท์ต่างๆ จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือเข้าด้วยกัน ด้านข้อมูลจากเว็บไซต์กูเกิลระบุว่า การประกวดผลงานพัฒนาซอฟต์แวร์มือถือ ด้วยโปรแกรม Android ชิงเงินรางวัลรวม 10 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ ราว 340 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกเปิดรับผลงานตั้งแต่วันนี้ 14 เม.ย. 2551 ประกาศผล 50 ชิ้นงานที่เข้ารอบ ในวันที่ 5 พ.ค. 2551 รับเงินรางวัล 25,000 เหรียญสหรัฐ และประกาศรางวัลรอบสุดท้ายวันที่ 21 ก.ค. 2551 แบ่งเป็นผลงานยอดเยี่ยม 10 รางวัลๆ ละ 275,000 เหรียญสหรัฐ และผลงานดีเด่น 10 รางวัลๆ 100,000 เหรียญสหรัฐ โดยในช่วงที่ 2 เว็บไซต์กูเกิลจะประกาศข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นของระบบปฏิบัติการบนมือถือตัวล่าสุด Android ที่นักพัฒนาโปรแกรมมือถือทั่วโลก ยังคงต้องเรียนรู้กันไป พร้อมๆ กับตัวโปรแกรม Android ที่ยังต้องพัฒนาต่อไปด้วยเช่นกัน ในส่วนการประกวดการสร้างแอพลิเคชัน Android ก็คงเป็นตัวกระตุ้นหนึ่ง ที่ทำให้กลไกธุรกิจของกูเกิล ได้เดินหน้าต่อไปอย่างมีสีสัน |
ความคิดเห็น