ลิเก ภูมิปัญญาไทยที่ใกล้เลือนหาย
ลิเกหรือยี่เก เมื่อทุกคนได้ยินคำนี้ คงคิดว่าลิเกนั้นเป็นการแสดงของประเทศไทยชนิดหนึ่งที่แต่งตัวสวยงาม หรูหรา มีการร้องรำทำเพลง อ่อนช้อย งดงาม พร้อมกับความตลกขบขันไปด้วยในตัวโดยไม่คำนึงถึงความสำคัญ ความเป็นมา ความหมายและคุณค่าที่ควรรักษาของลิเกเลย และคงมองด
ผู้เข้าชมรวม
9,179
ผู้เข้าชมเดือนนี้
109
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
บทนำ
ลิเกหรือยี่เกนั้นเป็นศิลปะประจำชาติไทยแต่โบราณตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษซึ่งชาวคณะลิเกทุกคนทุกคณะล้วนที่จะสืบทอดนาฎยศิลป์นี้ให้มาจนถึงปัจจุบันเพื่อให้ลูกหลานได้สัมผัสความเป็นไทย สิ่งที่งดงามของไทย และนัยที่แอบแฝงไว้ในลิเก แต่ถึงอย่างไรก็ตามมีบางคณะที่ต้องปิดคณะลงและไม่สามารถจะสืบทอดลิเกนี้ต่อไปใด้เนื่องด้วยเหตุผลที่หลากหลายและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามยุคและสมัยซึ่งบางทีไม่สามารถที่จะทำตามเจตนารมณ์ของตนเองและบรรพบุรุษที่จะรักษาสืบทอดลิเกนี้ต่อไปได้แต่บางคณะนั้นมีความอดทนมากพอและมีปัจจัยหลายๆอย่างซึ่งทำให้พวกเขาได้ยืนโลดแล่นบนเวทีลิเกพร้อมกับแสดงลิเก ร้อง รำ เล่นตามบทละครสร้างความสุขให้กับคนดูและสืบทอด สั่งสอนลูกหลานจนเล่นลิเกเป็นและพร้อมที่จะทำหน้าที่นั้นต่อไป
กว่าจะมาเป็นลิเก
เห่ เฮ เฮ เฮ้ เฮเห่เฮ เฮเห่เฮ เฮเห่เฮ เฮ้เฮเฮเฮ
สาลามานา ฮัดชาสาเก
ปลาดุกกระดุกกระดิก เอาไปผัดพริกอร่อยดีเฮ
สวัสดีพ่อแม่ทั้งหลาย พี่น้องหญิงชายที่สนใจลิเก
ฮาเลวังกา รีบ ๆ เข้ามาดูลิเก
มีบันทึกว่า พวกแขกเจ้าเซ็นได้สวดถวายตัวในการบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อ พ.ศ. 2423 ต่อมาคิดสวดแผลงเป็นลำนำต่าง ๆ คิดลูกหมดเข้าแกมสวด ร้องเป็นเพลงต่างภาษา และทำตัวหนังเชิด โดยเอารำมะนาเป็นจอก็มี ลิเกจึงกลายเป็นการเล่นขึ้น ต่อมามีผู้คิดเล่นลิเกแบบละคร คือ เริ่มร้องเพลงแขก แล้วต่อไปเล่นแบบละครรำ และใช้ปี่พาทย์แบบละคร
ดังนั้นจึงแบ่งลิเกเป็นยุคต่าง ๆ ได้ดังนี้
ยุคลิเกลูกบท อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงช่วงภายหลังสงคราม รวมเวลานานประมาณ 10 ปี ลิเกในยุคนี้ แต่งกายแบบสามัญ คือ เสื้อคอกลมแขนสั้น โจงกระเบนมีผ้าคาดพุงคล้ายเครื่องแต่งกาย ของลำตัดในปัจจุบันทั้งนี้เพราะเป็นช่วงที่อยู่ในสภาวะขาดแคลน แต่การแสดงลิเกก็ยังเป็นที่นิยมกกันอย่างกว้างขวาง เนื้อเรื่องที่แสดงเปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ ซึ่งอาศัยพื้นฐานของบทละครนอก และละครพันทางอยู่มาก
ยุคลิเกลอยฟ้า เป็นยุคที่เวทีลิเกเปลี่ยนจากรูปแบบเดิมที่มีเวทีดนตรีอยู่ทางขวาของผู้แสดงมาเป็นเวทีที่วางเครื่องดนตรีอยู่บนยกพื้นหลังเวทีการแสดง ให้ผู้ชมได้เห็นวงดนตรีทั้งวง และได้ขยายขนาดเวทีการแสดงออกไปจากประมาณ
ยุคลิเกสวดแขก คือ ยุคที่ชาวไทยมุสลิมเดินทางจากภาคใต้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพมหานคร ในสมัยรัชการที่ 3 แล้วได้นำการสวดสรรเสริญพระเจ้าประกอบ การตีรำมะนา (กลองหน้าเดียวตีประกอบลำตัดในปัจจุบัน) เข้ามามาด้วยต่อมาในสมัยรัชการที่ 5 ลูกหลานชาวไทยมุสลิมก็ใช้ภาษาไทยแทนภาษามลายู สำหรับการแสดงลิเกสวดแขกนั้น ผู้แสดงชายนั่งล้อม
1. ลิเกบันตน เริ่มด้วยร้องเพลงบันตน(เพี้ยนจาก ปันตนหรือปันตุน)เป็นภาษามลายู ต่อมาก็แทรกคำไทยเข้าไปบ้าง ดนตรีก็ใช้รำมะนา จากนั้นก็แสดงเป็นชุด ๆ ต่างภาษา เช่น แขก ลาว มอญ พม่า ต้องเริ่มด้วยชุดแขกเสมอ ผู้แสดงแต่งตัวเป็นชาติต่าง ๆ ร้องเอง พวกตีรำมะนาเป็นลูกคู่ มีการร้องเพลงบันตนแทรกระหว่างการแสดงแต่ละชุด
2.
3. ลิเกทรงเครื่อง เป็นการผสมผสาน ระหว่างลิเกบันตนและลิเกลูกบท มีท่ารำเป็นแบบแผน แต่งตัวคล้ายละครรำ แสดงเป็นเรื่องยาวๆ อย่างละคร เริ่มด้วยโหมโรงและบรรเลงเพลงภาษาต่างๆ เรียกว่า "ออกภาษา" หรือ "ออกสิบสองภาษา" เพลงสุดท้ายเป็นเพลงแขก พอปี่พาทย์หยุด พวกตีรำมะนาก็ร้องเพลงบันตน แล้วแสดงชุดแขก เป็นการคำนับครู ใช้ปี่พาทย์รับ ต่อจากนั้นก็แสดงตามเนื้อเรื่อง ลิเกที่แสดงในปัจจุบันเป็นลิเกทรงเครื่อง
4. ลิเกป่า เป็นศิลปะการแสดงที่เคยได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและ จังหวัดทางภาคใต้ทั่ว ๆ ไป แต่ในปัจจุบันลิเกป่ามีเหลืออยู่น้อยมาก ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เดิมลิเกป่าจะมีแสดง ให้ดูทุกงาน ไม่ว่าจะเป็นบวชนาค งานวัด หรืองานศพ
พัฒนาการของลิเก
นักวิชาการส่วนใหญ่อธิบายว่า การแสดงลิเกอย่างที่เราคุ้นชินในปัจจุบันมีที่มาจากการสวดที่เรียกว่า “ดจิเก” จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวระบุว่า ได้จัดให้มีการสวดดจิเกถวายหน้าพระที่นั่งเนื่องในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) อย่างไรก็ดี สันนิษฐานว่าการสวดดจิเกนี้น่าจะเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว โดยเข้ามาพร้อมกับชาวมุสลิมนิกายชิอิทหรือที่มักเรียกว่าพวกเจ้าเซ็นจากเปอร์เซีย (อิหร่าน)
การสวดดจิเกได้คลี่คลายเป็นมหรสพของชาวไทยที่สำคัญอย่างน้อย 2 ชนิดคือ ลำตัด และลิเก โดยเฉพาะเมื่อคนไทยเริ่มนำการแสดงสิบสองภาษาเข้าผสมกับการสวดดจิเก กลายเป็นการแสดงที่เรียกว่า “ลิเกบันตน” คำนี้สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “ปันตน” ซึ่งเป็นฉันทลักษณ์ชนิดหนึ่งในการสวดดจิเก อาจารย์มนตรี ตราโมท อธิบายถึงวิธีการแสดงของลิเกบันตนไว้ว่า
“เมื่อได้โหมโรงและร้องเพลงบันตนพอสมควรแล้ว ก็เริ่มแสดงออกเป็นชุดต่างๆ โดยมากมักเป็นชุดต่างภาษา เริ่มด้วยภาษาแขกก่อนภาษาอื่นเสมอ เช่น แขกรดน้ำมนต์ เป็นต้น การแสดงมีออกตัวแสดงแต่ละตัวด้วยเสื้อผ้าไปตามภาษานั้นๆ ผู้แสดงร้องเอง และผู้ตีรำมะนาที่นั่งล้อมวงกันอยู่นั้นร้องเป็นลูกคู่รับ เมื่อหมดกระบวนของการแสดงชุดหนึ่งผู้แสดงเข้าฉากแล้ว พวกตีรำมะนาก็ร้องเพลงบันตนสลับ รอการแต่งตัวชุดต่อไปและร้องเพลงภาษานำการแสดงชุดต่อไปด้วย คือ ถ้าชุดต่อไปจะแสดงมอญ ก็ร้องเพลงที่เป็นลูกรับภาษามอญ นำให้ตัวแสดงร้องออกมา การแสดงแบบนี้เรียกว่า ลิเกบันตน
”
สำหรับลิเกที่มีเหลือเค้ามาจนทุกวันนี้เห็นจะมีแต่การออกแขก พอเป็นกริยาซึ่งสืบเนื่องมาจากการแสดงชุดแขกรดน้ำมนต์ในชั้นแรกนั่นเอง สาเหตุที่เหลือไว้เพราะเห็นว่าเป็นชุดให้พรและเคยถือเป็นชุดศักดิ์สิทธิ์เนื่องมาแต่ศาสนา นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ทำการโฆษณาคณะลิเกของตนตลอดจนเกริ่นเรื่องราวของการแสดง เช่น เรื่องย่อที่จะให้เล่นในวันนั้น รวมทั้งดาราที่แสดง เป็นการประชาสัมพันธ์คณะไปในตัว
ในขณะที่ลิเกบันตนกำลังเป็นที่นิยมอยู่นั้น พวกปี่พาทย์นำลิเกบันตนไปแสดงประกอบการบรรเลงเพลงลูกบท โดยใช้ปี่พาทย์ทำเพลงรับแทนการใช้ลูกคู่ประกอบการตีรำมะนาอย่างลิเกบันตน จึงเกิดมีลิเกที่ใช้ปี่พาทย์บรรเลงประกอบขึ้นเรียกว่า ลิเกลูกบท เหตุที่เรียกว่าลูกบทนี้ อาจารย์มนตรี ตราโมท อธิบายว่า
ระหว่างที่ลิเกบันตนและลิเกลูกบทต่างแย่งความนิยมจากคนดูอยู่นั้น ได้มีผู้คิดผสมการแสดงทั้งสองชนิดเข้าด้วยกันแล้วขยายการเล่นออกไปให้มีแบบแผนคล้ายละครรำเข้าทุกที สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จเมื่อคราวที่เสด็จไปทอดพระเนตรลิเกที่วิกพระยาเพชรปาณีว่า
เดิมทีลิเกบันตนและลิเกลูกบทแต่งตัวธรรมดามีเสื้อคอกลม นุ่งโจงกระเบน มีผ้าคาด เป็นจ้าวก็สวมสังเวียนปักขนนก ครั้นมาถึงยุคพระยาเพชรปาณีเล่นลิเกเป็นประจำในวิกท่าน ได้คิดเครื่องแต่งกายเสียใหม่ให้หรูหราจับตาจับใจ โดยนำเครื่องแต่งกายข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 มาดัดแปลง เครื่องแต่งกายแบบนี้ลิเกต้องสวมเครื่องยอดที่เรียกว่า ปันจุเหร็จยอด สวมเสื้อเยียรบับ นุ่งผ้ายก สวมถุงเท้าขาว ประดับนพรัตน์ราชวราภรณ์กำมะลอ ใส่สังวาล แพรสายสะพายและโบว์แพรที่บ่า เป็นต้น
พระยาเพชรปาณีทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ว่า ที่ต้องให้ตัวลิเกทรงเครื่องหรูหรามากมายด้วยเหตุเพราะ “แต่งอย่างนั้นผู้หญิงเห็นว่าสวย มักติดใจชอบไปดู มีผู้หญิงไปดูมาก พวกผู้ชายก็มักพากันไปดูผู้หญิง ก็การตั้งโรงยี่เกเป็นข้อสำคัญอยู่ที่อยากให้มีคนชอบไปดูมาก จึงต้องคิดแต่งตัวยี่เกไปทางนั้น” เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ตรัสถามว่า เหตุใดลิเกวิกนี้จึงใช้แต่เพลงเชิดเป็นทั้งบทร้อง และกระบวนฟ้อนรำดูก็ไม่เอาใจใส่ให้เป็นอย่างปราณีต พระยาเพชรปาณีทูลตอบว่า “คนที่ชอบดูยี่เกไม่เอาใจใส่ในการขับร้องฟ้อนรำหรือปี่พาทย์ ชอบแต่ 3 อย่าง คือ ให้แต่งตัวสวยอย่าง 1 ให้เล่นขบขันอย่าง 1 กับเล่นให้เร็วทันใจอย่าง 1 ถ้าฝืนความนิยมก็ไม่ชอบดู” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงสรุปไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จว่า “หม่อมฉันฟังอธิบายก็ต้องชมว่าแกช่างสังเกตและรู้จักจับความนิยมของคนดู จะติไม่ได้เพราะกิจที่เล่นยี่เกก็เพื่อจะหาเงินค่าดู เล่นอย่างใดจะได้เงินมากก็ต้องเล่นอย่างนั้น”
กล่าวได้ว่า ลิเกแบบทรงเครื่องได้ปรับการแสดงลิเกให้มีระเบียบแบบแผนและความปราณีตมากขึ้น โดยเฉพาะได้หันไปเลียนแบบการแสดงของละครรำมากขึ้นทุกที ลิเกในยุคนั้นจึงเริ่มนำเค้าโครงเรื่องของละครนอกมาเล่น เช่น ไชยเชษฐ ลักษณาวงษ์ แก้วหน้าม้า เกษสุริยง มณีพิชัย คาวี หรือแม้แต่อิเหนาซึ่งเป็นละครในก็นำมาเล่นด้วยเช่นเดียวกัน แต่ลิเกไม่ได้นำเอาบทละครของเดิมมาร้อง เพียงแต่จำวิธีการดำเนินเรื่องและกลอนไพเราะบางตอนมาใช้
กำเนิด Week (วิก) ลิเก
เมื่อลิเกมีคนนิยมมากขึ้นจึงเริ่มมีการปลูกโรงลิเกหรือที่มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วิกลิเก” เก็บค่าดูตามอย่างโรงละครปริ้นสเธียเตอร์ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง คำว่าวิกนั้นมาจากคำว่า Week ในภาษาอังกฤษ แต่มีความหมายเปลี่ยนไป เพราะเจ้าคุณมหินทร์ฯ ปิดประกาศหน้าโรงว่า วีกนี้จะแสดงเรื่องนั้นเรื่องนี้โดยใช้คำว่า “วีก” แทนคำว่าสัปดาห์หรือช่วง 7 วันโดยประมาณที่มีเดือนหงายสะดวกต่อการสัญจรไปมาของคนดู ชาวบ้านไม่รู้คิดว่าเป็นศัพท์ใหม่ให้เรียกแทนโรง เลยเรียกปากต่อปากกันสั้นๆ ว่า “วิก” แต่นั้นมา เมื่อมีโรงลิเกเกิดขึ้นจึงเรียก วิก ตามไปด้วย
ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่สามารถหาหลักฐานที่แน่ชัดได้ว่าโรงลิเกที่เปิดกิจการแสดงแห่งแรกเป็นของใครและตั้งอยู่ที่ไหน แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันในข้อสันนิษฐานที่ว่า วิกลิเกแห่งแรกของสยามน่าจะเป็นของพระยาเพชรปาณี (ตรี) อย่างไรก็ดี ที่เคยเชื่อกันว่าวิกลิเกนี้เริ่มต้นก็ตั้งอยู่ที่หลังกำแพงเมือง (เขตชุมชนป้อมมหากาฬในปัจจุบัน) ตรงข้ามวัดราชนัดดานั้น อเนก นาวิกมูลได้ค้นคว้าจนพบข้อมูลใหม่ว่า พระยาเพชรปาณีได้เคยตั้งวิกลิเกที่แถวถนนบ้านหม้อมาก่อนแล้ว หลังจากนั้นจึงค่อยย้ายไปที่หลังกำแพงเมือง โดยมีหลักฐานชิ้นสำคัญคือ หนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ลงข่าวสั้นๆ ว่า
“ลิเกพระยาเพชรปาณีที่ตั้งโรงเล่นแถวถนนบ้านหม้อเปนที่พอใจแก่คนดูนั้น อีกไม่ช้าวันแล้ว จะได้ไปตั้งเล่นที่โรงใหม่ ข้างวัดราชนัดดา ประตูพฤฒิบาต ผู้ที่ใกล้เคียงเคยดูลิเกบ่อยๆ แถวนั้นคงจะเปนที่เสียใจ”
ส่วนเรื่องการระบุเวลาก่อตั้งวิกลิเกพระยาเพชรปาณีให้แน่ชัดลงไปนั้น ในปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถกระทำได้โดยตรง ทำได้แต่เพียงเทียบเคียงจากหลักฐานอื่น เอนก นาวิกมูล กล่าวว่า ที่อาจารย์สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ได้สันนิษฐานว่าวิกลิเกของพระยาเพชรปาณีควรจะเริ่มมีขึ้นในช่วง พ.ศ. 2439-2441 นั้น มีความใกล้เคียงกับหลักฐานที่เอนกได้ค้นพบใหม่ นั่นคือ ในหนังสือพิมพ์สยามไมตรี เมื่อ พ.ศ. 2440 ลงข่าวว่า มีการตัดสินความ คดีพวกลิเกพระยาเพชรปาณีทำร้ายพลตระเวน “ที่ถนนบ้านหม้อ” โดยศาลตัดสินให้พระยาเพชรปาณีเสียค่าทำขวัญแก่พลตระเวนผู้บาดเจ็บคนละเท่าๆ กัน หลักฐานนี้ช่วยยืนยันว่า อย่างน้อยคณะลิเกและวิกลิเกของพระยาเพชรปาณีมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 แล้ว
เนื่องจาก “เครื่องทรง” ของลิเกทรงเครื่องเป็นจุดผลิกผันครั้งใหญ่และนำลิเกเข้าสู่รูปแบบการแสดงอย่างที่รู้จักในปัจจุบัน จึงขอขยายความในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิวัฒนาการของการแต่งกายในการแสดงลิเกดังนี้
ครั้งแรกสุดที่ยังเป็นลิเกบันตน ใช้เครื่องแต่งกายแบบสามัญชน แต่มีสีฉูดฉาดอย่างการแสดงลำตัดในสมัยนี้ ชายสวมเสื้อคอกลมแขนสั้น นุ่งโจงกระเบน มีผ้ายี่โป้คาดพุง หญิงสวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสะไบ นุ่งโจงหรือซิ่น ส่วนลิเกลูกบทที่คลี่คลายมาจากลิเกบันตนก็ไม่ได้เพิ่มเติมให้พิสดารแต่อย่างใด ยังคงแต่งกายด้วยชุดแบบสามัญเช่นเดิม ลิเกมาเริ่มทรงเครื่องในยุคของวิกลิเกพระยาเพชรปาณีตามที่ได้กล่าวไปบ้างแล้วนั่นเอง
สำหรับเครื่องประดับมี ชฎา เรียกว่า ปันจุเหร็จยอด ซึ่งพัฒนามาจากผ้าหูกระต่ายปักปิ่น อาจารย์สุรพล วิรุฬห์รักษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปันจุเหร็จมาจากคำชวาแปลว่า ทหาร เดิมที ปันจุเหร็จ เป็นเครื่องประดับศรีษะไม่มียอด เข้าใจว่ามีมาแต่สมัยอยุธยา เพราะมีเครื่องประดับศรีษะบางอย่างที่ขุดพบในกรุงศรีอยุธยามีรูปร่างคล้ายปันจุเหร็จ ต่อมารัชกาลที่ 2 ทรงเห็นว่าเหมาะกับบทอิเหนาตอนแปลงเป็นปันหยีจึงทรงใช้แทนชฎา นอกจากนี้ลอมพอกที่พระยาแรกนาสวมนั้น ถ้าถอดกรวยตรงกลางออกก็คล้ายปันจุเหร็จแบบเก่าเป็นอันมาก
เมื่อลิเกนำมาใช้ก็ได้ต่อยอดแบบโปร่งขึ้นไป โดยในครั้งแรกมีรูปร่างเพรียวไม่ทูมทามอย่างปัจจุบัน ส่วนเครื่องประดับยศก็มีสังวาลกำมะลอติดโบว์ที่หัวไหล่ทั้ง 2 ข้าง เลียนแบบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น จักรีฯ หรือ จุลจอมเกล้าฯ “มีสายสะพายจากไหล่ซ้ายไปขวา เลียนแบบสายสะพายตำรวจหลวงในรัชกาลที่ 5 ซึ่งของจริงปักดิ้นเลื่อมพันลายมีอักษรพระนาม จ.ป.ร. แต่แปลงเสียให้แต่เพียงลวดลาย และพื้นที่ต่างๆ กัน”
ส่วนตัวนางสวมเสื้อแขนหมูแฮม ห่มสไบเลียนแบบสไบจุลจอมเกล้าฯ ฝ่ายใน นุ่งผ้ายกทอง จีบหน้านาง ชุดนี้คล้ายเครื่องทรงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 สวมถุงน่องสีขาว ส่วนเครื่องสวมศรีษะนั้น ถ้าเป็นนางชั้นสามัญก็ใช้กระบังหน้าที่มีมาแล้วในการแต่งกายละครพร้อมๆ กับปันจุเหร็จ แต่ถ้าเป็นนางกษัตริย์ก็ใช้กระบังหน้านั้นติดต่อยอดเป็นมงกุฎขึ้นเรียกว่า “มงกุฎสตรี”
เครื่องแต่งกายตัวพระ เสื้อ เปลี่ยนจากผ้าแพรหัวเป็ดเป็นผ้าเยียรบับ ปลายแขนมีแผงเพชรติดแทนการปัก ท่อนล่างเพิ่มสนับเพลา ไม่มีเชิงงอนอย่างละคร ปันจุเหร็จยอด เปลี่ยนจากเครื่องขี้รักเป็นเครื่องเงินติดเพชร และมีทรงป้อมขึ้นขนนก มามีในชั้นหลังมากแล้ว น่าจะเกิดจากการเลียนแบบขนนกวายุภักษ์ของ ชฎาห้ายอดในสมัยรัชกาลที่ 6 สังวาลดอกใหญ่ขึ้นเต็มหน้าอกและหลัง จำนวนดอกแต่ละด้านไม่แน่นอน เก้าก็มีสิบก็มี โบว์ไหล่มีอินทรธนูเป็นลายกระหนกตามอย่างละคร หรือชุดโสกัณฑ์ของเจ้าฟ้าบางพระองค์ บางครั้งติดอินทรธนูเป็นกระหนก 3 หัว ทับบนพู่จอมพลเรือ แต่ทำด้วยเพชร ส่วนเครื่องแต่งกายตัวนาง เสื้อเปลี่ยนเป็นผ้าเยียรบับ แขนสั้นมีระบาย ยกเลิกสไบ ใช้สังวาลอย่างตัวพระ แต่ติดผีเสื้อเพชรที่โบว์แทน อินทรธนู มงกุฎสตรีก็โตและทรงป้อมกว่าเดิม ทำด้วยเงินติดเพชรแทนเครื่องขี้รัก
เครื่องแต่งกายของลิเกทรงเครื่องเสื่อมความนิยมไป เพราะคนเริ่มเบื่อเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องที่ต้องใช้เครื่องดังกล่าว ลิเกเองก็ขี้เกียจขนเครื่อง ครั้นถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าวของอุปกรณ์ที่จะทำเครื่องลิเกหายาก ทั้งคนดูและลิเกจึงหันไปสนใจสิ่งที่ง่ายกว่า คือ ลิเกลูกบท และลิเกแต่งเครื่องแบบทหาร บางทีก็แต่งอย่างละครพันทาง สำหรับเครื่องแต่งกายลิเกในปัจจุบัน บางทีก็เรียกกันว่า เครื่องลูกบทเพชร คือแต่งอย่างลูกบท แต่มีเพชรหรูหรา
หลังจากที่รัฐบาลจอมพล ป. ได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมเกี่ยวกับการแสดงละครขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 ได้บัญญัติกฏเกณฑ์และลักษณะต่างๆ ของละครขึ้นตามแบบอย่างของฝรั่งโดยแบ่งการละครของไทยออกเป็น 3 ประการคือ อุปรากร นาฏกรรม และนาฏดนตรี โดยมีคำจำกัดความดังนี้
“อุปรากร ถือเอาดนตรีและการขับร้องเป็นสำคัญ ยิ่งกว่าบทบาทและการเจรจา
นาฏกรรม ถือคำพูดและบทบาทเป็นสำคัญ ไม่มีดนตรีและการขับร้อง
นาฏดนตรี ซึ่งเฉลี่ยความสำคัญให้แก่ดนตรี การขับร้อง คำพูดและบทบาท”
เมื่อลิเกถูกสั่งห้ามเพราะเป็นของต่ำไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทยในสมัยนั้น ทำให้ลิเกจำต้องเปลี่ยนชื่อการแสดงของตนเป็นนาฏดนตรีเพื่อความอยู่รอด บรรดาลิเกทั้งหลายต้องสอบผ่านเกี่ยวกับความรู้ด้านนาฏศิลป์ที่จัดสอบโดยกรมศิลปากร จึงจะได้บัตรประจำตัวเทียบเท่าศิลปิน ผู้มีบัตรเท่านั้นจึงมีสิทธิ์เล่นลิเกเป็นอาชีพ คำว่านาฏดนตรีนี้ใช้กันจนสิ้นบุญจอมพล ป. จึงค่อยเลิกไป และหันกลับมาใช้คำว่าลิเกอีกครั้งหนึ่ง
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างในวงการลิเกซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมในยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย คือ การใช้ชายจริงหญิงแท้ในการแสดงลิเก ก่อน พ.ศ. 2485 มีผู้หญิงเล่นลิเกอยู่บ้างแล้วบางคณะมีผู้หญิงมากถึงกับเป็นพระเอก เช่น ลิเกของกำนันหนู บ้านผักไห่ อยุธยา (มนตรี ตราโมท, การละเล่นของไทย, หน้า 87) แต่ลิเกในครั้งอดีตยังคงนิยมให้ผู้ชายแสดงทั้งหมดโดยเฉพาะตัวนาง เมื่อมีการปฏิวัติวัฒนธรรม ลิเกจึงจำเป็นต้องเล่นบทผู้หญิงด้วยศิลปินหญิงแท้สืบมาจนถึงปัจจุบัน
อันลิเกลามกตลกเล่น
รำเต้นสิ้นอายขายหน้า
ไม่ควรจดจำเป็นตำรา
มันจะพาเสียคน ป่นปี้เอย
กล่าวได้ว่ากลอนดอกสร้อยบทนี้ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ นั้น เป็นที่สะเทือนใจบรรดาศิลปินลิเกทั้งหลายเสมอมา และเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่บรรดาผู้มีรสนิยมสูงไม่ค่อยได้สนใจลิเก อย่างไรก็ดี การที่จะว่าลิเกตลกหยาบโลนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ดูเป็นสำคัญ สอดคล้องกับที่ นายสี ตลกมีชื่อในสมัยก่อนว่าเอาไว้ดังนี้
“เมื่อออกมาจากฉากก็ต้องดูคนดูเสียก่อนว่ามีคนชั้นสูงหรือชั้นกลางหรือชั้นต่ำมาดูอยู่มาก ถ้ามีคนชั้นสูงมาดูมาก ต้องเล่นให้ขันโดยละเมียด ไม่เจือด้วยหยาบ จึงจะถูกใจคนชั้นสูง ถ้าเห็นคนชั้นกลางมาดูต้องเล่นให้เป็นสองง่าม คือจะเป็นดีก็ได้เป็นหยาบก็ได้จึงจะถูกอกถูกใจคนดูชั้นกลาง ถ้าเห็นคนชั้นต่ำมาดูมาก ต้องเล่นให้หยาบง่ามเดียวจึงจะพึงใจเขา ตกเป็นอันว่าเล่นไปตามนิสัยแห่งคนดูแล้วแต่เขาจะพึงใจ คำเดียวกับที่เราพูดกันอยู่ว่า เทศนาตามเนื้อผ้า”
“ถ้าจะให้ผู้เขียนลงความเห็นว่า ใครเป็นกวีของประชาชนอย่างแท้จริง ก็เห็นจะต้องบอกว่าตัวละครเหล่านี้เป็นแน่แท้ และที่น่าเอ็นดูที่สุดคือ ท่านเหล่านี้ทำหน้าที่โดยไม่รู้ตัว ไม่เคยพะวงสงสัยสนใจถึงกับต้องไปถกเถียงกันถึงวรรณโรควรรณกรรม หรือ ถึงเรื่องศิลปะ ศิลปิน ศิลโป๊”
ดังนั้นถ้าเกิดมีคนอุตริคิดจะปรับปรุงลิเกให้ สะอาด จะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เหมือนลิเกอิตาลี่ที่เรียกว่า คอมเมเดียนเดลลาเต้ ซึ่งถูกโกลโดนี่ ศิลปินนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของอิตาลี ชำระ จน ของสด กลายเป็น ของแห้ง และหมดรสชาติขาดคนชมไปในที่สุด โชคดีที่ลิเกไทยยังไกลจากคนที่มีความคิดเช่นนั้น แม้ว่าจะกระทบกระเทือนบ้างในสมัยจอมพล ป. ปฏิวัติวัฒนธรรมก็ไม่นาน ทำให้ลิเกมีชีวิตสืบต่อมา
ถึงแม้จะถูก มองข้าม ว่าเป็นของต่ำ ฮาเฮ
เป็นศิลปิน ร่อนเร่ เพื่อเล่นลิเก รำร้อง
เป็นหนึ่ง ของศิลปินไทย ที่มีหัวใจ แข็งแกร่ง
เป็นรากเหง้า ที่เฉาแห้ง รอความเปลี่ยนแปลง สนอง
ช่วยเก็บเอาไว้ ด้วยใจสงสาร ไม่ต้องขึ้นชั้น สุมกอง
ลิเก และ ยี่เก แตกต่างกันอย่างไร และมีความเป็นมาอย่างไร
ยังมีบางข้อสันนิษฐานกล่าวว่า ลิเกนั้นมากับชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ และคำว่า ยี่เก ซึ่งเป็นชื่อแรกเริ่มก่อนจะมาเรียกว่า ลิเก ในภายหลังนั้น ยังคงนิยมใช้อยู่ในภาษาพูดของชาวไทยมุสลิมมาจนถึงปัจจุบัน คำว่า ยี่เก ก็น่าจะมาจากดจิเกอันเป็นคำในภาษามาเลย์ถิ่นที่ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล มากกว่าจะมาจากคำว่า ดิกร ในภาษาถิ่นในอินโดนีเซีย หรือ ดชิกร อันเป็นภาษาอาหรับในตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ข้อสันนิษฐาน หากก็ทำให้พอเห็นค่าได้ว่า ดจิเก หรือการสวดบูชาพระอัลเลาะห์น่าจะเข้ามายังเมืองไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา และเข้ามาเป็นระลอกตามการอพยพของชาวมุสลิมนิกายชิอิท หรือแขกเจ้าเซนจากเปอร์เซีย
ลิเกเพิ่งเริ่มมามีบันทึกปรากฏเป็นหลักฐานที่เก่าที่สุดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชาวไทยมุสลิมในกรุงเทพ ร่วมกันแสดงลิเกถวายหน้าพระที่นั่ง เนื่องในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวี ( พระนางเรือล่ม ) ลิเกสมัยนั้นยังเป็นการแสดงเชิงศาสนาอิสลามประกอบดนตรี เพื่อความเป็นสิริมงคล การแสดงประกอบไปด้วยดนตรีรำมะนาหลายคน พร้อมด้วยเครื่องประกอบจังหวะ นั่งล้อมกันเป็นวง ปากก็ร้องเพลงเป็นภาษามลายู
ลิเกในปัจจุบันยังคงมีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะของการแสดงอย่างไม่หยุดยั้ง โดยนำการแสดงอันเป็นที่นิยมของแต่ละยุคมาดัดแปลงให้เข้ากับรูปแบบการแสดงของเดิม ดังจะเห็นได้จากการที่ลิเกได้นำเพลงลูกทุ่งมาปรับใช้ในการแสดงของตน นอกจากนั้นเมื่อลิเกไปแพร่หลายอยู่ในถิ่นฐานใด ก็ได้นำเอาศิลปะการแสดงซึ่งเป็นที่นิยมในท้องถิ่นนั้นมาผสมผสานกันจนกลายรูปแตกยอดออกไปดังเช่น หมอลำหมู่ หรือลิเกลาวในอีสาน และลิเกเขมรบริเวณแถบอีสานใต้
ขั้นตอนการแสดงลิเก
ลำดับขั้นตอนของการแสดงลิเกได้แก่
เพลงโหมโรง คือ การประโคมดนตรีเบิกโรง ตามความเป็นจริงแล้ว เพลงโหมโรงเป็นเพลง ที่ต้องใช้บรรเลงเป็นเพลงแรก ก่อนที่จะมีรายการอื่น ๆ ตามมา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ใหญ่ ๆ เป็น ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ เป็นการแสดงความเคารพ และอัญเชิญเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลย ตามความเชื่อถือของนักดนตรีไทยให้ลงมาประชุมอำนวยอวยพร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้บรรเลงดนตรี รวมทั้งผู้เป็นเจ้าของงานนั้น ๆ ด้วย
ประการที่ ๒ เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านและบุคคลทั่วไป ได้ทราบว่า บ้านงานนั้น ๆ กำลังมีงานอะไรกัน เช่น ถ้าปี่พาทย์ทำเพลงชุดโหมโรงเย็น ชาวบ้านก็จะรู้ว่า บ้านงานนั้นจะมีพระมาสวดมนต์เย็น หรือถ้าปี่พาทย์ทำเพลงโหมโรงเช้า ชาวบ้านก็จะได้ทราบว่า บ้านงานนั้นจะมีการเลี้ยงพระเช้า เป็นต้น
2.สาธุการไหว้ครู
3.รำถวายมือ
4.ออกแขก
การออกแขก มี ๔ ประเภทคือ ออกแขกรดน้ำมนต์ ออกแขกหลังโรงออกแขกรำเบิกโรงและออกแขกอวดตัว
ออกแขกรดน้ำมนต์ โต้โผ คือ หัวหน้าคณะหรือผู้แสดงอาวุโสชาย แต่งกาย แบบแขกมลายูบ้าง ฮินดูบ้าง มีผู้ช่วยเป็นตัวตลกถือขันน้ำตามออกมา แขกร้องเพลงออกแขกชื่อว่า เพลงซัมเซ เลียนเสียงภาษามลายู จบแล้วกล่าวสวัสดีและทักทายกันเอง ออกมุขตลกต่างๆ เล่าเรื่องที่จะแสดงให้ผู้ชมทราบ จบลงด้วยแขกประพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การแสดงและเป็นการอวยพรผู้ชมการออกแขกรดน้ำมนต์ไม่ค่อยมีแสดงในปัจจุบัน
ออกแขกหลังโรง โต้โผหรือผู้แสดงชายที่แต่งตัวเสร็จแล้วช่วยกันร้องเพลงซัมเซอยู่หลังฉากหรือหลังโรงแล้วจึงต่อด้วยเพลงประจำคณะที่มีเนื้อเพลงอวดอ้าง คุณสมบัติต่างๆของคณะจากนั้นเป็นการประกาศชื่อและอวดความสามารถของศิลปิน ที่มาร่วมแสดง ประกาศชื่อเรื่องและเนื้อเรื่อง ย่อที่จะแสดงแล้วลงท้ายด้วยเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม
ออกแขกรำเบิกโรง คล้ายออกแขกหลังโรงโดยมีการรำเบิกโรงแทรก ๑ ชุด ก่อนลงท้ายด้วยเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม รำเบิกโรงนี้มักแสดงโดยลูกหลานของผู้แสดง ที่มีอายุน้อยๆ เป็นการฝึกเด็กๆให้เจนเวที เป็นการรำชุดสั้นๆสำหรับรำเดี่ยว เช่น พม่ารำขวาน พลายชุมพล มโนห์ราบูชายัญ หรือชุดที่คิดขึ้นเอง เช่น ชุดแขกอินเดีย ในกรณีที่เป็นการแสดงเพื่อแก้บน รำเบิกโรงจะเป็น รำเพลงช้าเพลงเร็ว โดยผู้แสดงชาย - หญิง ๒ คู่ ตามธรรมเนียมของการรำแก้บนละคร ซึ่งเรียกว่า รำถวายมือ เมื่อจบรำเบิกโรงแล้ว ข้างหลังโรงจะร้องเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม
ออกแขกอวดตัว คล้ายออกแขก รำเบิกโรง แต่เปลี่ยนจากรำเดี่ยวหรือรำถวาย มือมาเป็นการอวดตัวแสดงทั้งโรง ผู้แสดงทุกคนจะแต่งเครื่องลิเก นำโดยโต้โผหรือพระเอกอาวุโสร้องเพลงประจำคณะ ต่อด้วยการแนะนำผู้แสดงเป็นรายตัว จากนั้นผู้แสดง ออกมารำเดี่ยว หรือรำหมู่ หรือรำพร้อมกันทั้งหมด คนที่ไม่ได้รำก็ยืนรอ เมื่อรำเสร็จ แล้วก็ร้องเพลงซัมเซอวยพรผู้ชม แล้วทยอยกันกลับเข้าไป
การออกแขกเป็นการแสดงลิเกที่สืบทอดมาจากลิเกสวดแขก แม้จะเปลี่ยนแปลง ไปตามกาลเวลา ก็ยังพอเห็นองค์ประกอบเดิมอยู่บ้าง เช่น เพลงและการที่ผู้แสดง แต่งตัวเป็นแขก
5.แสดงเนื้อเรื่อง
วิธีแสดง เดินเรื่องรวดเร็ว ตลกขบขัน การแสดงเริ่มด้วยโหมโรง 3 ลา จบแล้วบรรเลงเพลงสาธุการ ให้ผู้แสดงไหว้ครู แล้วจึงออกแขก บอกเรื่องที่จะแสดง ในอดีตมีการรำถวายมือหรือรำเบิกโรง แล้วจึงดำเนินเรื่อง ต่อมาการรำถวายมือก็เลิกไป ออกแขกแล้วก็จับเรื่องทันที การร่ายรำน้อยลงไปจนเกือบไม่เหลือเลย คงมีเพียงบางคณะที่ยังยึดศิลปะการรำอยู่
ผู้แสดง เดิมใช้ผู้ชายล้วน ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ให้บุตรสาวชื่อละออง แสดงเป็นตัวนางประจำคณะ ต่อมาคณะอื่นก็เอาอย่างบ้าง บางคณะให้ผู้หญิงเป็นพระเอก เช่น คณะกำนันหนู บ้านผักไห่ อยุธยา การแสดงชายจริงหญิงแท้นั้น คณะนายหอมหวล นาคศิริ เริ่มเป็นคณะแรก ผู้แสดงต้องมีปฏิภาณในการร้องและเจรจา ดำเนินเรื่องโดยไม่มีการบอกบทเลย หัวหน้าคณะจะเล่าให้ฟังก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ การเจรจาต้องดัดเสียงให้ผิดปกติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของลิเก แต่ตัวสามัญชนและตัวตลกพูดเสียงธรรมดา ในยุคหลังจากนั้นก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยการเกิดรายการลิเกทางโทรทัศน์ขึ้นมาเช่น ลิเกรวมดาวของ คุณ วิญูญู จันทร์เจ้า โดยมี สมศักดิ์ ภักดี เป็นพระเอกลิเกคนแรกของประเทศไทยที่ได้ออกโทรทัศน์ และต่อมาก็เริ่มมีคณะลิเกเด็กเกิดขี้นมาตามลำดับเช่น คณะลิเกเด็กวัดสวนแก้ว คณะลิเก ศรราม-น้ำเพชร ฯลฯ
เพลง ดำเนินเรื่องใช้เพลงหงส์ทองชั้นเดียว แต่ดัดแปลงให้ด้นได้เนื้อความมาก ๆ แล้วจึงรับด้วยปี่พาทย์ แต่ถ้าเล่นเรื่องต่างภาษา ก็ใช้เพลงที่มีสำเนียงภาษานั้นๆ ตามท้องเรื่อง แต่ด้นให้คล้ายหงส์ทอง ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ได้ดัดแปลงเพลงมอญครวญของลิเกบันตนที่ใช้กับบทโศก มาเป็นเพลงแสดงความรักด้วย
เรื่องที่แสดง นิยมใช้เรื่องละครนอก ละครใน และเรื่องพงศาวดารจีน มอญ ญวน เช่น สามก๊ก ราชาธิราช ฉันใดเวือง และเรื่องที่แต่งขึ้นมาตามชีวิตจริงของคนหรืออาจดัดแปลงบทจากวรรณคดีต่างๆให้เข้ากับยุคสมัย
การแต่งกาย แต่งตัวด้วยเครื่องประดับสวยงาม เลียนแบบเครื่องทรงกษัตริย์ จึงเรียกว่าลิเกทรงเครื่อง บางครั้งก็ลดเครื่องแต่งกายที่แพรวพราวลงไป โดยตัวนายโรงยังแต่งเลียนแบบเครื่องทรงของกษัตริย์ในส่วนที่มิใช่เครื่องต้น เช่น นุ่งผ้ายกทอง สวมเสื้อเข้มขาบหรือเยียรบับ แขนใหญ่ถึงข้อมือ คาดเข็มขัดนอกเสื้อ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ แต่ดัดแปลงเสีย
สถานที่แสดง ลานวัด ตลาด สนามกว้าง ๆ ในโทรทัศน์ ฯลฯ โดยปลูกเพิงสูงระดับตา ด้านหน้าเป็นที่แสดง ด้านหลังเป็นที่พักที่แต่งตัว มีฉากเป็นภาพเมือง วัง หรือป่าเขาลำเนาไพร
การแต่งกาย
ชุดลิเกทรงเครื่อง เป็นรูปแบบการแต่งกายของลิเกแบบเดิมเมื่อเริ่มมีลิเกในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเลียนแบบการแต่งกายของข้าราชสำนักในยุคนั้น และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่อมาบ้างจนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อวัสดุที่ใช้สร้างเครื่องแต่งกายลิเกที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศขาดแคลน ชุดลิเกทรงเครื่องก็หมดไป คงเหลือให้เห็นเฉพาะในการแสดงสาธิตเท่านั้น
ชุดลิเกเพชร เป็นชุดที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยการนำเพชรซีกและแถบเพชรมาประดับเครื่องแต่งกายชุดลิเกลูกบท สวมเสื้อกั๊กทับเสื้อตัวเดิมให้ดูหรูหราขึ้น จากนั้นก็เพิ่มความวิจิตรขึ้นจนกลายเป็นเครื่องเพชรแทบทั้งชุด สำหรับชุดของผู้แสดงหญิงมีแบบหลากหลาย แต่ไม่ประดับเพชรมากเท่าชุดของผู้แสดงชาย
เวทีลิเกมี ๒ แบบ คือ เวทีลิเกแบบเดิม และเวทีลิเกลอยฟ้า
เวทีลิเกแบบเดิม เป็นเวทีติดดินหรือยกพื้นเล็กน้อย ทำด้วยไม้ มีหลังคาที่เป็นทรงหมาแหงน แบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วนคือ เวทีแสดง หลังเวทีซึ่งใช้สำหรับเตรียมตัวก่อนออกแสดงหรือพักผ่อน และเวทีดนตรี เวทีลิเกมีขนาดมาตรฐานคือ กว้าง ๖ เมตร ลึก ๖ - ๘ เมตร มีฉากผ้ากั้นกลางสูง ๓.๕ เมตร หน้าฉากเป็นเวทีแสดง หลังฉากเป็นหลังเวที ถัดจากเวทีแสดงไปทางขวามือของผู้แสดงเป็นเวทีดนตรีสูงเสมอกัน ขนาดกว้าง ๓ เมตร ลึก ๔ เมตร บนเวทีแสดงมีตั่งอเนกประสงค์ตั้งกลางประชิดกับฉาก
ฉากลิเกเป็นฉากผ้าใบเขียนเป็นภาพต่างๆด้วยสีที่ฉูดฉาด ฉากลิเกแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ ฉากชุดเดี่ยว ฉากชุดใหญ่ และฉากสามมิติ
ฉากชุดเดี่ยว คือ มีฉากผ้าใบ ๑ ชั้น เป็นฉากหลัง เขียนภาพท้องพระโรงขนาด ๓.๕ x ๕ เมตร และ/หรือผ้าใบ ๒ ผืน อยู่ทางด้านซ้าย - ขวาของเวที เขียนเป็นภาพประตูสมมติให้เป็นทางเข้า - ออกของผู้แสดง และมีระบายผ้าเขียนชื่อคณะลิเกอีก ๑ ผืน ฉากชุดเดี่ยวนี้เป็นฉากมาตรฐานของลิเกที่จัดแสดงเพียงคืนเดียว
ฉากสามมิติ คือ ฉากผ้าใบที่เขียนให้ดูคล้ายจริง เช่น ฉากป่าจะมีฉากหลังเขียนเป็นทิวทัศน์ของป่าจริงๆ และมีผ้าใบเขียนเป็นต้นไม้เถาวัลย์ ฯลฯ ตัดเจาะเฉพาะลำต้นและใบ แขวนห้อยสลับซับซ้อนกัน มีแสงสีสาดส่องเห็นฉากลึกเป็นสามมิติ ฉากสามมิติจะมีหลายฉากเพื่อให้เหมาะแก่การแสดงลิเกประเภทปิดวิก ซึ่งเก็บค่าเข้าชมการแสดง โดยแสดงเรื่องหนึ่งติดต่อกันหลายคืนจนจบ และต้องแสดงความงดงามสมจริงของฉากเพื่อให้ผู้ชมติดใจกลับมาชมอีก
ดนตรี
วงปี่พาทย์ไทย |
วงปี่พาทย์มี 8 แบบ คือ
1. วงปี่พาทย์เครื่องห้า เป็นวงปี่พาทย์ที่เป็นวงหลัก มีจำนวนเครื่องดนตรีน้อยชิ้นที่สุด ดังนี้
ปี่ใน 1 เลา
ระนาดเอก 1 ราง
ฆ้องวงใหญ่ 1 วง
กลองทัด 2 ลูก
ตะโพน 1 ลูก
ฉิ่ง 1 คู่
ในบางกรณีอาจใช้ฉาบ กรับ โหม่งด้วย
2. วงปี่พาทย์เครื่องคู่ เป็นวงปี่พาทย์ที่ประกอบด้วยเครื่องทำทำนองเป็นคู่เนื่องด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้คิดเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีก 2 อย่าง คือ ระนาดทุ้มกับฆ้องวงเล็ก และนำเอาปี่นอกซึ่งใช้ในการบรรเลงปี่พาทย์สำหรับการแสดงหนังใหญ่สมัยโบราณมารวมเข้ากับวงปี่พาทย์เครื่องห้าที่มีอยู่เดิม
วงปี่พาทย์เครื่องคู่มีเครื่องดนตรีดังนี้
ปี่ 1 คู่ คือ ปี่ในและปี่นอก ระนาด 1 คู่ คือ ระนาดเอกและระนาดทุ้ม
ฆ้องวง 1 คู่ คือ ฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็ก กลองทัด 1 คู่
ตะโพน 1 ลูก ฉิ่ง 1 คู่
ฉาบเล็ก 1 คู่ ฉาบใหญ่ 1 คู่
โหม่ง 1 ใบ กลองสองหน้า 1 ลูก (บางทีใช้กลองแขก 1 คู่ แทน)
ในบางกรณีอาจใช้กรับด้วย
3. วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ คือ วงปี่พาทย์เครื่องคู่ที่เพิ่มระนาดเอกเหล็กกับระนาดทุ้มเหล็ก ซึ่ง
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น กลายเป็นวงปี่พาทย์ที่มีระนาด 4 ราง โดยตั้งระนาดเอกเหล็กที่ริมด้านขวามือและตั้งระนาดทุ้มเหล็กที่ริมด้านซ้ายมือ ซึ่งนักดนตรีนิยมเรียกกันว่า "เพิ่มหัวท้าย" วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัวบางวงก็เพิ่มกลองทัด รวมเป็น 3 ใบบ้าง 4 ใบบ้าง ส่วนฉาบใหญ่นำมาใช้ในวงปี่พาทย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วงปี่พาทย์ทั้งเครื่องห้า เครื่องคู่ และ
เครื่องใหญ่ ถ้ามีการบรรเลงเพลงภาษาจะใช้เครื่องดนตรีกำกับจังหวะของภาษานั้น ๆ ด้วย เช่น
ภาษาเขมร ใช้ โทน
ภาษาจีน ใช้ กลองจีน กลองต๊อก แต๋ว
ภาษาฝรั่ง ใช้ กลองมริกัน (อเมริกัน) หรือกลองแตร็ก (side drum, snare drum)
ภาษาพม่า ใช้ กลองยาว
ภาษามอญ ใช้ ตะโพน เปิงมาง
4. วงปี่พาทย์นางหงส์ คือ วงปี่พาทย์ธรรมดาซึ่งใช้บรรเลงทั่วไป แต่เมื่อนำมาใช้ประโคมในงานศพ จะนำวงบัวลอยซึ่งประกอบด้วยปี่ชวา 1 เลา กลองมลายู 1 คู่ และเหม่ง 1 ใบ ที่ใช้ประโคมในงานศพเข้ามาผสม (ดู วงบัวลอย ประกอบ) โดยตัดปี่ใน ตะโพน และกลองทัด ออก ใช้ปี่ชวาแทนปี่ใน ใช้กลองมลายูแทนตะโพนและกลองทัด ส่วนเหม่งนั้นมีเสียงไม่เหมาะกับวงปี่พาทย์จึงไม่นำมาใช้ ใช้แต่โหม่งซึ่งมีอยู่เดิม เรียกว่า "วงปี่พาทย์นางหงส์"
วงปี่พาทย์นางหงส์ใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพมาแต่โบราณก่อนวงปี่พาทย์มอญ สาเหตุที่เรียกว่าปี่พาทย์นางหงส์ ก็เพราะใช้เพลงเรื่องนางหงส์ 2 ชั้น เป็นหลักสำคัญในการบรรเลง นอกจากนี้ยังมีวิวัฒนาการไปใช้บรรเลงเพลงภาษาต่าง ๆ เรียกว่า "ออกภาษา" ด้วย
5. วงปี่พาทย์มอญ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ได้อิทธิพลมาจากมอญ เช่น ฆ้องมอญ
ปี่มอญ ตะโพนมอญ และเปิงมางคอก ปัจจุบันวงปี่พาทย์มอญมี 3 ขนาด ได้แก่
5.1 วงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า ประกอบด้วยปี่มอญ ระนาดเอก ฆ้องมอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก และเครื่องกำกับจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง
5.2 วงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่อง
5.3 วงปี่พาทย์มอญเครื่องใหญ่ มีลักษณะเดียวกับวงปี่พาทย์มอญเครื่องคู่ แต่เพิ่ม
ระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็ก
วงปี่พาทย์มอญนั้นที่จริงแล้วใช้บรรเลงในโอกาสต่าง ๆ ได้ทั้งงานมงคล เช่น งานฉลองพระแก้วมรกตในสมัยธนบุรี และงานอวมงคล เช่น งานศพ แต่ต่อมานิยมบรรเลงในงานศพ เนื่องจากท่วงทำนองเพลงมอญมีลีลาโศกเศร้า โหยหวน ซึ่งเหมาะกับบรรยากาศของงาน จนบางท่านนึกว่าปี่พาทย์มอญใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น
เทคนิคการเล่นลิเก
การด้น
ลิเกเป็นการแสดงละครที่อาศัยการด้นเป็นปัจจัยหลัก การด้น หมายถึง การผูกเรื่องที่จะแสดงบทเจรจาและบทร้อง ท่ารำ อุปกรณ์การแสดง ในทันทีทันใดโดยมิได้เตรียมตัวมาก่อน แต่ทั้งนี้โต้โผและผู้แสดงมีประสบการณ์ที่สั่งสมมาก่อนแล้ว ดังนั้น การด้นจึงมักเป็นการนำเรื่อง คำกลอน กระบวนรำ ที่อยู่ในความทรงจำกลับมาใช้ในโอกาสที่เหมาะสม น้อยครั้งที่โต้โผต้องด้นเรื่องใหม่ทั้งหมดหรือผู้แสดงต้องด้นกลอนร้องใหม่ทั้งเพลง
การด้นบทร้องบทเจรจา ผู้แสดงจะแต่งบทเจรจาและบทร้องตลอดการแสดงลิเก สำหรับบทเจรจานั้น ผู้แสดงสามารถด้นสดได้ทั้งหมด เพราะเป็นภาษาพูดที่เข้าใจง่าย ไม่มีใจความที่ลึกซึ้ง ส่วนบท
การด้นท่ารำ ลิเกจะเน้นการร้องทั้งบทกลอนและน้ำเสียง ส่วนการรำเป็นเพียงส่วนประกอบ ดังนั้น ผู้แสดงจึงไม่เคร่งครัดในการรำให้ถูกต้อง ทั้งๆที่นำแบบแผนมาจากละครรำ การรำของลิเกจึงเป็นการย่างกรายของแขนและขา ส่วนการใช้มือทำท่าทางประกอบคำร้องที่เรียกว่า รำตีบท นั้นตามธรรมเนียมของละครรำมีเพียงไม่กี่ท่านอกเหนือจากนั้น ผู้แสดงจะรำกรีดกรายไปตามที่เห็นงาม การด้นท่ารำอีกลักษณะหนึ่งเป็นการรำแสดงความสามารถเฉพาะตัวของผู้แสดงบางคนในท่ารำชุดที่กรมศิลปากรได้สร้างสรรค์เป็นมาตรฐานเอาไว้แล้ว แต่ผู้แสดงลิเกลักจำมาได้ไม่หมด ก็ด้นท่ารำของดั้งเดิมให้เต็มเพลง
การร้องและการ เจรจาของลิเกมีลักษณะเฉพาะ ผู้แสดงจะเปล่งเสียงร้องและเสียงเจรจาเต็มที่ แม้จะมีไมโครโฟนช่วย จึงทำให้เสียงร้องและเจรจาค่อนข้างแหลม นอกจากนั้นยังเน้นเสียงที่ขึ้นนาสิกคือมีกระแสเสียงกระทบโพรงจมูก เพื่อให้มีเสียงหวาน การร้องเพลงสองชั้นและเพลงราชนิเกลิงนั้น ผู้แสดงให้ความสำคัญที่การเอื้อนและลูกคอมาก ในการร้องเพลงสองชั้น ผู้แสดงร้องคำหนึ่ง ปี่พาทย์บรรเลงรับท่อนหนึ่ง เพื่อให้ผู้แสดงพักเสียงและคิดกลอน ส่วนการเจรจานั้น ผู้แสดงพูดลากเสียงหรือเน้นคำมากกว่าการพูดธรรมดา เพื่อให้ได้ยินชัดเจน อนึ่ง คำที่สะกดด้วย “น” ผู้แสดงลิเกจะออกเสียงเป็น “ล” นับเป็นลักษณะของลิเกอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ลิเกนิยมแสดงเรื่องจักรๆวงศ์ๆที่มีกษัตริย์เป็นตัวเอก แต่ผู้แสดงมักใช้คำราชาศัพท์ที่ไม่ถูกต้องด้วยสาเหตุ ๒ ประการคือ ความไม่รู้ และความตั้งใจให้ตลกขบขัน
รำเพลง คือ การรำในเพลงที่มีกำหนด ท่ารำไว้ชัดเจน เช่น เพลงช้า - เพลงเร็ว เพลงเสมอ ผู้แสดงพยายามรำเพลงเหล่านี้ให้มีท่ารำและกระบวนรำใกล้เคียงกับแบบฉบับมาตรฐานให้มากที่สุด
รำใช้บทหรือรำตีบท คือ การรำทำท่าประกอบคำร้องและคำเจรจา เป็นท่าที่นำมาจากละครรำและเป็นท่าง่ายๆ มีประมาณ ๑๓ ท่า คือ ท่ารัก ท่าโศก ท่าโอด ท่าชี้ ท่าฟาดนิ้ว ท่ามา ท่าไป ท่าตาย ท่าคู่ครอง ท่าช่วยเหลือ ท่าเคือง ท่าโกรธ และท่าป้อง ซึ่งเป็นท่าให้สัญญาณปี่พาทย์หยุดบรรเลง
ชีวิตและมุมมองลิเก
ป้านิตรู้สึกอย่างไรเมื่อได้เล่นลิเกคะ?(ป้านิตตอบอย่างทันทีพร้อมกับสายตาที่สะท้อนแสงประกายของความภาคภูมิใจ)
ป้านิตตอบว่า “ชีวิตลิเกไม่ใช่ชีวิตแบบที่คนทั่วไปมองกัน ป้าไม่ได้เต้นกินรำกิน ป้าไม่ได้หวังที่จะให้แม่ยกเอาพวงมาลัยมาให้ ป้าทำงานที่สุจริต ป้าทำงานที่ป้ารัก ป้าได้สืบสานศิลปะวัฒนธรรมไทยให้กับคนรุ่นหลังได้รู้จักและสืบทอดต่อไป ป้าก็แค่อยากบอกว่าป้าภูมิใจมากที่ได้ใช้ชีวิตแบบคนลิเกได้พูด ได้ร้อง ได้รำ แบบคนลิเก แค่นี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ลิเกเป็นชีวิตและสายเลือดของป้า” และเราก็ได้ป้อนคำถามสุดท้ายที่ว่า ป้านิตคิดว่าป้าจะสืบทอดศิลปะลิเกไปได้นานแค่ใหนแล้วมันจะสูญหายไปจากประเทศไทยหรือเปล่า? “ป้าจะสืบทอดต่อไปจนกว่าป้าจะตายนั่นแหละลูก แต่ว่าป้าคิดว่าลิเกไม่มีทางหายไปจาประเทศไทยแน่นอน ด้วยแรงและกำลังของป้าป้าจะทำทุกทางให้มันอยู่คู่ประเทศไทยต่อไป”
อวสานการลิเก
ลิเกนั้นมีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษดังนั้นลิเกจึงต้องเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยถ้าหากวัฒนธรรมตะวันออกเข้ามารุ่งเรืองในดินแดนแห่งรอยยิ้มหรือเมืองไทยแล้วรวมถึงปัจจัยอื่นๆเช่น เงินทุนไม่เพียงพอ ความไม่สนใจลิเกไทยของคนไทย เป็นต้น อาจจะทำให้ลิเกคงสูญหายไป แต่นักแสดงลิเกทุกคนล้วนมีเจตนารมณ์เดียวกันคือจะรักษาและสืบทอดลิเกต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน ชาวลิเกนั้นมีอุดมการณ์ที่แน่นอนและตั้งมั่นที่จะอนุรักษ์ลิเกให้สำเร็จ และพร้อมที่จะเอาชีวิตเข้า
สรุป“ ลิเก ” เป็นศิลปะและภูมิปัญญาของชนชาติไทยที่ทุกวันนี้อาจจะสูญหายไปเพียงเพราะขึ้นอยู่กับเหล่าวัยรุ่นและเยาวชนไทยที่ไม่เคยรู้จักและไม่เคยคิดที่จะรักษาเอาไว้แต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว พบว่าวัยรุ่นไทยยังคงเป็นห่วงภูมิปัญญาไทยอย่างลิเก และกว่าที่ลิเกจะพัฒนามาได้ในแต่ละยุคนั้นต้องอาศัยกำลังทั้งทางกายและทางใจในการพัฒนาศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชนชาติตนเองกว่าจะพัฒนามาถึงทุกวันนี้ได้ศึกษาและทุ่มเทกันเป็นอย่างมากเพื่อที่จะให้ลิเกนั้นได้เป็นศิลปะและมรดกที่งดงามสามารถอวดโฉมให้กับสายตาของคนทั้งโลกได้อย่างภาคภูมิใจ
ลิเกนั้นมีความสำคัญและประโยชน์มากมาย และเนื่องจากลิเกเป็นศิลปะของชนชาติไทยลิเกจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการดำเนินชีวิตของชาวไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพราะเรื่องราวที่ใช้แสดงลิเกนั้นเป็นเรื่องราวที่นำมาจากวรรณคดีด้วยส่วนหนึ่ง และก็แต่งและเรียบเรียงเองด้วยส่วนหนึ่งโดยแต่ละเรื่องที่แต่งขึ้นนั้นได้มีแนวทางในการดำเนินชีวิตมากมายและยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมของสังคมในขณะนั้นเพื่อนำไปใช้และนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและนำปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ลิเกยังป็นมรดกที่งดงามและสำคัญมากแก่การดูแลและอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปะของไทยเพื่อให้ลูก ๆ หลานๆ ของเราได้รู้จักและอนุรักษ์เช่นกัน
“ ลิเก ” ไม่ได้เป็นแค่ศิลปะไทยประเภทหนึ่งเท่านั้นแต่ยังเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวไทยมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนกระทั่งทุกวันนี้ เราทุกคนควรที่จะช่วยกันรักษาและพัฒนาศิลปะของเราให้คงอยู่คู่ประเทศไทยของเราต่อไป
ผลงานอื่นๆ ของ บุรุษแห่งรัตติกาล ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ บุรุษแห่งรัตติกาล
ความคิดเห็น