เรื่อง ฝนดาวตก
วัตถุท้องฟ้าอย่างหนึ่ง คล้ายก้อนน้ำแข็งสกปรกของหินและฝุ่น เกาะกันอยู่ ด้วยก๊าซและน้ำที่แข็งตัว เมื่อดาวหางเคลื่อนเข้าใกล้ ดวงอาทิตย์มากขึ้น ความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทำให้ น้ำแข็งรอบนอกระเหิดออก ปล่อยซากเศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ กระจายเป็นธารอุกกาบาตเคลื่อนที่ ไปตามเ
ผู้เข้าชมรวม
282
ผู้เข้าชมเดือนนี้
2
ผู้เข้าชมรวม
ข้อมูลเบื้องต้น
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ดาวหางเทมเพล - ทัดเทิล กับฝนดาวตกลีโอนิดส์
ดาวหางเทมเพล - ทัดเทิล ค้นพบโดย วิลเฮล์ม เทมเพล และฮอแรส ทัดเทิล ในปี พ.ศ.2408 เป็นดาวหางคาบ สั้น โคจรรอบดวงอาทิตย์ในคาบ 33.2 ปี วงโคจรรูปวงรี ระยะใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด อยู่ใกล้เขตวงโคจรของโลก และระยะไกล ดวงอาทิตย์ที่สุด อยู่เลยจากดาวยูเรนัสออกไป
ดาวหางเทมเพล - ทัดเทิล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหัวดาวหางราว 1.9 กิโลเมตร จึงเป็นดาวหางดวงเล็ก ๆ ดวงหนึ่ง อันดับความสว่างประมาณ 9 ไม่สามารถ มองเห็นได้ ด้วยตาเปล่า นอกจากจะอยู่ใน สภาพท้องฟ้าดีเยี่ยม แต่สามารถเห็นได้ หากใช้ กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก หรือใช้ กล้อง 2 ตา ขนาดใหญ่ส่องสังเกต
เป็นที่รู้กันดีว่า ดาวหางเทมเพล - ทัดเทิล เป็นแหล่งกำเนิดของซากเศษฝุ่น ต้นกำเนิดของฝนดาวตก ลีโอนิดส์ ซึ่งปรากฎให้เห็นในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ในปีอื่น ๆ ฝนดาวตกลีโอนิดส์เบาบาง จำนวนราว 10 ดวง ต่อชั่วโมงเท่านั้น แต่ในปี พ.ศ.2541 ดาวหางโคจรเข้าใกล้ ดวงอาทิตย์ที่สุด จึงคาดหมายว่า น่าจะเกิดปรากฏการณ์ พายุฝนดาวตก ในปี 2541 แต่ไม่เป็นไปตามคาด จึงติดตามเฝ้าดูกันในปีต่อ ๆ มา อย่างไร ก็ตาม ในปี 2544 ก็ยังถือว่า เป็นฝนดาวตกที่น่าดูอยู่
หลังจากดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดแล้ว ขณะเดินทางห่างออกไป เส้นทางโคจรของดาวหางตัดผ่านเส้นทางโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ เป็นมุม 17 องศา ซึ่งโลกเคลื่อนที่มาถึงจุดตัดดังกล่าว ในช่วงวันที่ 17-18-19 พฤศจิกายนของทุกปี
ฝนดาวตกควอดแดรนต์
ฝนดาวตกควอดแดรนต์ตั้งชื่อตามกลุ่มดาวควอดแดรนต์ (Quadrans Muralis) ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเก่า ปัจจุบันไม่มีแล้ว จุดกระจายดาวตกอยู่บริเวณตรงกลางระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส คนเลี้ยงสัตว์ และมังกร ฝนดาวตกควอดแดรนต์มีจำนวนสูงสุดราววันที่ 3-4 มกราคม ของทุกปี ประเทศที่เห็นฝนดาวตกกลุ่มนี้ได้ดีที่สุดคือประเทศในละติจูดสูง ๆ ของซีกโลกเหนือ
นักดาราศาสตร์ค้นพบฝนดาวตกควอดแดรนต์เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ไม่พบว่าวัตถุใดคือต้นกำเนิดของมัน จนกระทั่ง ค.ศ. 2003 เมื่อมีการค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช 1 (2003 EH1) ซึ่งมีวงโคจรใกล้เคียงกับดาวตกที่มาจากฝนดาวตกกลุ่มนี้ และยังพบว่ามันอาจเป็นชิ้นส่วนหรือเป็นวัตถุเดียวกับดาวหาง C/1490 Y1 ที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์เมื่อปลาย ค.ศ. 1490 อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติของฝนดาวตกควอดแดรนต์สูงถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง แต่มีช่วงเวลาสั้น แสดงว่าธารสะเก็ดดาวค่อนข้างแคบมาก
ปีนี้คาดว่าโลกจะผ่านธารสะเก็ดดาวในช่วงเช้ามืดวันอังคารที่ 4 มกราคม 2554 ตามเวลาประเทศไทย ทำให้คาดหมายว่าประเทศแถบเอเชียตะวันออกจะสามารถสังเกตดาวตกจากฝนดาวตกกลุ่มนี้ได้ค่อนข้างมาก ประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ตี 2 โดยอัตราตกจะต่ำมากในช่วงแรก หลังจากนั้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เวลาที่น่าจะพบเห็นดาวตกได้มากที่สุดคือช่วง 04:30 - 05:30 น. ภายใต้ฟ้ามืด ในหนึ่งชั่วโมงนี้อาจนับได้ราว 50 ดวง หากอากาศหนาวควรเตรียมตัวให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ
ฝนดาวตกเพอร์ซิอัส
ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสหรือฝนดาวตกวันแม่ เป็นฝนดาวตกที่มีชื่อเสียงในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในละติจูดสูง ๆ ทางเหนือ ซึ่งจุดกระจายดาวตกจะขึ้นไปอยู่สูงเกือบกลางฟ้าในเวลาเช้ามืด อัตราการเกิดดาวตกสูงถึงกว่า 100 ดวงต่อชั่วโมง และเกิดในฤดูร้อนซึ่งท้องฟ้าโปร่ง แต่การสังเกตฝนดาวตกกลุ่มนี้ในประเทศไทยมักพบอุปสรรคจากเมฆเพราะเป็นฤดูฝน
สะเก็ดดาวในฝนดาวตกเพอร์ซิอัสมาจากดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) ดาวหางดวงนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 1992 มีคาบ 130 ปี เป็นดาวหางที่มีแนวโคจรผ่านใกล้โลก จุดกระจายของฝนดาวตกเพอร์ซิอัสอยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างกลุ่มดาวเพอร์ซิอัสกับแคสซิโอเปีย เริ่มเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง แต่ยังมีดาวตกน้อย จะสังเกตได้ดีหลังเที่ยงคืนและดีที่สุดในช่วงที่จุดกระจายดาวตกอยู่สูงซึ่งตรงกับช่วง 1-2 ชั่วโมงก่อนท้องฟ้าสว่างในเวลาเช้ามืด ความเร็วขณะเข้าสู่บรรยากาศโลกของดาวตกกลุ่มนี้ประมาณ 59 กิโลเมตร/วินาที
ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสในปี 2554 มีแสงจันทร์รบกวน แต่อาจพอจะเห็นดาวตกดวงที่สว่าง ๆ ได้บ้างหากท้องฟ้าโปร่ง วิธีสังเกตที่แนะนำคือหันหลังให้ดวงจันทร์ หรือเลือกตำแหน่งที่มีอาคารบ้านเรือนหรือต้นไม้บังทิศที่ดวงจันทร์อยู่ เพื่อไม่ให้แสงจันทร์เข้าตา คาดว่ามีมากที่สุดในคืนวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม
ฝนดาวตกคนคู่
ฝนดาวตกคนคู่เกิดในฤดูหนาวที่ท้องฟ้าเปิดเป็นส่วนใหญ่และมีจำนวนมากหลายสิบดวงต่อชั่วโมง ปีนี้คาดว่าจะมีมากที่สุดในคืนวันอังคารที่ 13 ถึงเช้ามืดวันพุธที่ 14 ธันวาคม แต่แสงจากดวงจันทร์ที่สว่างเกือบเต็มดวงทำให้เห็นดาวตกได้น้อย จุดกระจายฝนดาวตกอยู่ใกล้ดาวคาสเตอร์ในกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกคนคู่เกิดจากดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟทอน (3200 Phaethon) ซึ่งน่าจะเคยเป็นดาวหางมาก่อน สามารถสังเกตดาวตกได้ตลอดทั้งคืนโดยเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 2 ทุ่ม จนถึงเช้ามืด มักตกถี่ที่สุดในช่วงประมาณตี 2 ซึ่งเป็นเวลาที่จุดกระจายฝนดาวตกอยู่สูงกลาง
ฝนดาวตกพิณ
ฝนดาวตกพิณเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16-25 เมษายน เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดในคืนวันเสาร์ที่ 21 เมษายน ถึงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2555 ซึ่งตรงกับช่วงจันทร์ดับ ฝนดาวตกพิณตั้งชื่อตามกลุ่มดาวพิณ (Lyra) มีจำนวนสูงสุดราววันที่ 21-22 เมษายน ของทุกปี อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติอยู่ที่ 18 ดวงต่อชั่วโมง (เคยสูงถึง 90 ในช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อ พ.ศ. 2525) ค้นพบเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต้นกำเนิดของฝนดาวตกพิณคือดาวหางแทตเชอร์ (C/1861 G1 Thatcher) เป็นดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ 415 ปี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2404 นักดาราศาสตร์ค้นพบใน 6 ปีต่อมาว่าตำแหน่งที่โลกอยู่ ณ วันที่ 20 เมษายน ของทุกปี เป็นตำแหน่งที่วงโคจรของดาวหางอยู่ห่างจากโลกเพียง 0.002 หน่วยดาราศาสตร์ หลังจากนั้นได้พบหลักฐานในบันทึกของจีน กล่าวถึงฝนดาวตกพิณเมื่อ 687 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ปีนี้คาดว่าโลกจะผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวในวันที่ 22 เมษายน เวลา 12:30 น. จากเวลานี้ พื้นที่ที่สังเกตได้ดีที่สุดคือด้านตะวันออกของอเมริกาเหนือ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาใต้ และด้านตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในอดีตแสดงว่าเวลาอาจเร็วหรือช้ากว่านั้นได้ โดยอยู่ในช่วง 04:30 - 15:30 น. ประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่ 4 ทุ่ม โดยอัตราตกค่อย ๆ เพิ่มขึ้น คาดว่าเวลาเที่ยงคืนถึงเช้ามืดวันที่ 22 เมษายน น่าจะเห็นดาวตกได้ด้วยอัตรา 10-15 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำ
ฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 เมษายน - 28 พฤษภาคม เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดในช่วงเช้ามืดวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555 ซึ่งตรงกับปลายข้างขึ้น ดวงจันทร์สว่างเกือบเต็มดวง จึงมีแสงจันทร์รบกวน ฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำตั้งชื่อตามดาวอีตา (η) ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (Aquarius) มีจำนวนสูงสุดราววันที่ 4-5 พฤษภาคม ของทุกปี อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติอยู่ที่ 70 ดวงต่อชั่วโมง (แปรผันได้ระหว่าง 40-85) ต้นกำเนิดคือดาวหางแฮลลีย์ (1P/Halley) เป็นดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 76 ปี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2529 ดาวหางแฮลลีย์ทำให้เกิดฝนดาวตกอีกกลุ่มหนึ่งในเดือนตุลาคมด้วย
คาดว่าโลกจะผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวในวันที่ 6 พฤษภาคม เวลาประมาณ 2 น. จากเวลานี้ พื้นที่ที่สังเกตได้ดีที่สุดคือกลางมหาสมุทรแปซิฟิก (แต่มีแสงจันทร์รบกวน) สำหรับประเทศไทย จุดกระจายขึ้นมาเหนือขอบฟ้าในเวลาตี 2 เวลาที่มีโอกาสเห็นดาวตกได้มากที่สุดคือช่วง 04:00 - 05:00 น. หากท้องฟ้าโปร่งอาจนับได้ราว 20-30 ดวง โดยพยายามหันหลังให้ดวงจันทร์ หรือเลือกตำแหน่งที่มีอาคารบ้านเรือนหรือต้นไม้บังทิศที่ดวงจันทร์อยู่ เพื่อไม่ให้แสงจันทร์เข้าตา
ฝนดาวตกเดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้ ฝนดาวตกเดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม - 23 สิงหาคม เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดใน 2 คืน ได้แก่คืนวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม ถึงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2555 และคืนวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม ถึงเช้ามืดวันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม 2555 ซึ่งตรงกับครึ่งหลังของข้างขึ้น ดวงจันทร์มีส่วนสว่างมากกว่าครึ่งดวง
ฝนดาวตกเดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้ตั้งชื่อตามดาวเดลตา (δ) ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (Aquarius) มีจำนวนสูงสุดราววันที่ 29-30 กรกฎาคม ของทุกปี อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติอยู่ที่ 16 ดวงต่อชั่วโมง ค้นพบเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต้นกำเนิดคือดาวหางมัคโฮลซ์ (96P/Machholz) เป็นดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบ 5 ปี ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2529 เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2550 ปีนี้ดาวหางมัคโฮลซ์จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในกลางเดือนกรกฎาคม ดาวตกจากฝนดาวตกกลุ่มนี้มีความสว่างน้อย เมื่อเทียบกับฝนดาวตกกลุ่มหลักกลุ่มอื่น ๆ คาดว่าโลกจะผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวของฝนดาวตกกลุ่มนี้ในวันที่ 30 กรกฎาคม จุดกระจายขึ้นเหนือขอบฟ้าในเวลาประมาณ 3 ทุ่ม อัตราตกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น คาดว่าเวลาตี 2 ถึงก่อนฟ้าสาง (ของทั้ง 2 คืน) น่าจะเห็นดาวตกได้ราว 10 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกนายพราน ฝนดาวตกนายพรานเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายน เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดในคืนวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม ถึงเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2555 และคืนวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม ถึงเช้ามืดวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2555 ซึ่งตรงกับข้างขึ้น ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวง รบกวนการดูดาวตกก่อนเที่ยงคืน ฝนดาวตกนายพรานตั้งชื่อตามกลุ่มดาวนายพราน (Orion) มีอัตราตกสูงสุดราววันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติอยู่ที่ 25 ดวงต่อชั่วโมง (ช่วง พ.ศ. 2549 - 2552 อัตราตกได้เพิ่มสูงผิดปกติไปอยู่ที่ 40-70 ดวงต่อชั่วโมงติดต่อกัน 2 หรือ 3 วัน) ต้นกำเนิดฝนดาวตกนายพรานคือดาวหางแฮลลีย์ (1P/Halley) เป็นดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 76 ปี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2529 คาดว่าโลกจะผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวในวันที่ 21 ตุลาคม จุดกระจายขึ้นมาเหนือขอบฟ้าในเวลา 4 ทุ่มครึ่ง เวลาที่มีโอกาสเห็นดาวตกได้มากที่สุดคือช่วง 03:00 - 05:00 น. โดยคาดว่าอัตราตกทั้ง 2 วันในช่วงเวลาดังกล่าวอาจอยู่ที่ 20 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกสิงโต
ฝนดาวตกสิงโตเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6-30 พฤศจิกายน เมื่อสังเกตจากประเทศไทยคาดว่าจะมีมากที่สุดในเช้ามืดวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน และเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งตรงกับข้างขึ้นอ่อน ๆ ดวงจันทร์เป็นเสี้ยวอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ จึงไม่รบกวนการดูดาวตก ฝนดาวตกสิงโตตั้งชื่อตามกลุ่มดาวสิงโต (Leo) มีอัตราตกสูงสุดราววันที่ 17 พฤศจิกายน ของทุกปี อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติอยู่ที่ 10-20 ดวงต่อชั่วโมง ต้นกำเนิดฝนดาวตกสิงโตคือดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล (55P/Tempel-Tuttle) เป็นดาวหางที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 120 ปี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2541 ธารสะเก็ดดาวของฝนดาวตกสิงโตมีหลายสาย ทำให้บางปีมีอัตราตกสูงมาก สำหรับโลกไม่ได้ผ่านใกล้ธารสะเก็ดดาวที่สำคัญ คาดว่าไม่น่าจะมีอัตราตกสูงเกินกว่าระดับปกติ
โลกจะผ่านระนาบวงโคจรของดาวหางเทมเพล-ทัตเทิลในวันที่ 17 พฤศจิกายน เวลา 16:30 น. จุดกระจายขึ้นมาเหนือขอบฟ้าในเวลาเที่ยงคืนครึ่ง เวลาที่มีโอกาสเห็นดาวตกได้มากที่สุดคือช่วง 03:00 - 05:00 น. ภายใต้ท้องฟ้ามืดและปราศจากเมฆหมอกรบกวน คาดว่าอัตราตกทั้ง 2 วันในช่วงเวลาดังกล่าวจะอยู่ที่ 10-15 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกยีราฟ
ซีกโลกด้านที่หันเข้าหาจุดกระจายของฝนดาวตกยีราฟ ณ เวลาที่คาดว่าจะมีดาวตกมากที่สุด บริเวณที่เห็นดาวตกได้ต้องเป็นเวลากลางคืน นั่นคือพื้นที่ส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือ
วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม 2557 อาจเกิดฝนดาวตกที่มีอัตราตกสูงเป็นพิเศษ ต้นกำเนิดของฝนดาวตกนี้คือดาวหาง 209 พี/ลีเนียร์ (209P/LINEAR) ซึ่งเป็นดาวหางรายคาบ ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2547 มีคาบการโคจรประมาณ 5 ปี ดาวหางลีเนียร์จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 และใกล้โลกที่สุดในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ห่างเพียง 8 ล้านกิโลเมตร ซึ่งนับว่าใกล้พอสมควร แต่จากความสว่างที่วัดได้ในอดีต คาดว่าขณะใกล้โลกไม่น่าจะสว่างกว่าโชติมาตร 11 จึงไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แบบจำลองโดยนักดาราศาสตร์ที่เชี่ยวชาญการพยากรณ์ฝนดาวตกแสดงว่าปีนี้โลกจะผ่านธารสะเก็ดดาวของดาวหางลีเนียร์ ข้อมูลเบื้องต้นคาดว่าอาจมีอัตราตกเมื่อจุดกระจายอยู่เหนือศีรษะและท้องฟ้ามืดสนิทในระดับสูงเกิน 100 ดวงต่อชั่วโมง มีความเป็นไปได้ที่อาจสูงหลายร้อย หรืออาจถึงระดับพายุ (สูงกว่า 1,000 ดวงต่อชั่วโมง)
การคำนวณทางทฤษฎีพบว่าจุดกระจายของฝนดาวตกนี้อยู่ในพื้นที่ของกลุ่มดาวยีราฟ จุดนี้อยู่ห่างดาวเหนือ 11 องศา บริเวณบนพื้นโลกที่คาดว่าจะสังเกตได้ดีจึงอยู่ในละติจูดสูงของซีกโลกเหนือ เวลาที่คาดว่าโลกจะผ่านกลางธารสะเก็ดดาวตรงกับเวลาประมาณ 14 น. ตามเวลาประเทศไทย หากเกิดปรากฏการณ์ตามผลการพยากรณ์ บริเวณที่จะสังเกตได้ดีที่สุดคือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือ เนื่องจากเป็นเวลากลางคืน และจุดกระจายอยู่สูงบนท้องฟ้า
ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นการคาดหมายทางทฤษฎี นักดาราศาสตร์ไม่ยืนยันว่าจะเกิดฝนดาวตกในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ได้จริง เนื่องจากยังไม่พบบันทึกปรากฏการณ์ในอดีตที่สามารถเชื่อมโยงมาถึงฝนดาวตกกลุ่มนี้ แตกต่างจากฝนดาวตกสิงโตที่มีบันทึกผลการสังเกตการณ์ให้สามารถนำมาเทียบได้
สำหรับประเทศไทย ช่วงที่คาดว่ามีดาวตกมากที่สุดเป็นเวลากลางวัน จึงไม่สามารถเห็นได้ เราไม่ทราบว่าช่วงเวลาที่เกิดฝนดาวตกจะยาวนานแค่ไหน (ในกรณีที่เกิดขึ้นจริง) หากเกิดต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง หรือผลการคำนวณคลาดเคลื่อนหลายชั่วโมง ประเทศไทยก็อาจสังเกตได้ในคืนนั้นตั้งแต่หัวค่ำ แต่อัตราตกอาจต่ำมาก เนื่องจากจุดกระจายอยู่สูงเหนือขอบฟ้าไม่มาก สภาพท้องฟ้าที่ส่วนใหญ่มีเมฆมากในฤดูฝนก็อาจเป็นอุปสรรคอีกด้วย
ผลงานอื่นๆ ของ Nichakorn Chobpon ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ Nichakorn Chobpon
ความคิดเห็น