ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    การเขียนนิยายสไตล์มัลลิกา

    ลำดับตอนที่ #6 : กว่าจะเป็นนิยาย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 876
      7
      1 มี.ค. 50



    กว่าจะเป็นนิยาย

     

     

                    สวัสดีค่า... มัลลิกามาแล้วค่ะ ดูชื่อเรื่องก็น่าจะรู้นะคะว่าวันนี้จะเล่าเรื่องอะไร อิอิ ^^ ช่ายแล้วค่ะ วันนี้ลิก้าจะมาเปิดเผยความลับ กลวิธีการเขียนนิยายสไตล์มัลลิกา ว่าเขียนยังไง เขียนอย่างไร ออกมาเป็นนิยายที่อาจจะไม่ได้เลิศหรูนัก แต่ก็ถูกใจเพื่อนๆ นักอ่านไม่ใช่น้อย (หลงตัวนิดหน่อยคงให้อภัยกันนะคะ)

     

     

                    มัลลิกาเข้าสู่วงการนักเขียนไซเบอร์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 เพราะตามหนังสือของดร.ป๊อปเข้ามา ตอนแรกไม่รู้เลยว่ามีเว็บที่ให้ลงนิยายแบบนี้ พอตามเข้ามาตอนแรกก็อ่านก่อน อ่านไปอ่านมาก็ลงนิยายของตัวเองบ้าง เรื่องแรกก็คืออนาตาคาเลีย ภาค1 ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก จนมาลงพันธนาการหัวใจ ชื่อมัลลิกาจึงเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ที่พูดนี่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเขียนนิยายหรอกนะคะ เพียงแต่คนแก่อยากบ่นเท่านั้นเอง อิอิ ^^

     

     

                    เอาล่ะเข้าเรื่อง การจะเขียนนิยายขึ้นมาสักเรื่องหนึ่งนั้นต้องมีกรรมวิธี ซึ่งกรรมวิธีการเขียนนิยายของนักเขียนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันค่ะ แต่ในที่นี่จะพูดแต่กรรมวิธีการเขียนนิยายของมัลลิกา เพราะลิก้าไม่รู้ว่าคนอื่นเขียนอย่างไร รู้แต่ว่าตัวเองเขียนอย่างไร อิอิ ^^ รวนอีกแล้ว

     

     

                    ถึงเวลาสำคัญแล้วค่ะ กรรมวิธีการสร้างนิยายสไตล์มัลลิกา ได้แก่ แท๊น แท้น แท๊น แทนนนนนน (เร้าใจไหมหว่า หรือว่ารำคาญหนอ --”

     

     

                    1.แรงบันดาลใจ (ปิ๊งไอเดียร์)

                    นิยายทุกเรื่องของมัลลิกาเริ่มจากแรงบันดาลใจเสมอ ซึ่งเจ้าแรงบันดาลใจนี่เกิดจากอะไรก็ได้ อาทิเช่น การพูดคุยกับเพื่อน การอ่านนิยาย ดูหนัง ดูการ์ตูน ฟังเพลง หรือความฝันก็ได้

                    อย่างเช่น เรื่องพันธนาการหัวใจ ธีมของเรื่อง ลิก้าได้มาจากความฝัน เมื่อนานมาแล้วนอนหลับแล้วฝันถึงพี่น้องสามคน ที่ทุ่มเทความรักให้กับน้องสาวตัวน้อย พอตื่นขึ้นมาก็รีบจดไว้ แล้วมาเขียนพล็อตที่หลัง

     

     

                    2.ธีม

                  เมื่อได้แรงบรรดาลใจแล้วก็มากำหนดธีมของเรื่อง ซึ่งธีมของเรื่องก็คือแก่นของเรื่อง ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ธีมหลักๆ ในนิยายก็มีไม่มากนัก เช่น ซินเดอเรลล่า แม่ผัวลูกสะใภ้ รักต่างวัย รักต่างชนชั้น ฯลฯ โดยปกติก่อนที่ลิก้าจะเขียนพล็อตนิยาย ลิก้าจะกำหนดธีมของเรื่องก่อนว่าจะเป็นเรื่องแนวไหน เพื่อไม่ให้ตัวเองหลงประเด็น

     

     

                    3.สร้างโครงเรื่องหรือพล็อตหลัก

                  พล็อตหลักเป็นส่วนผสมระหว่างแรงบันดาลกับประสบการณ์ จากนั้นก็เติมจินตนาการลงไป มันก็ออกมาเป็นพล็อตหลักแล้ว พล็อตหลักก็เหมือนเรื่องย่อๆ ของนิยาย จะเล่าเรื่องนิยายที่เราจะเขียน ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ส่วนมากพอปิ๊งไอเดียร์ขึ้นมาลิก้าก็จะเขียนพล็อตหลักเก็บไว้ก่อน ตอนนี้ในคอมเลยมีพล็อตหลักเพียบเลย แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ ลิก้าโรยเกลือไว้แล้ว รับรองคอมไม่เน่าแน่นอน ^^

     

     

                    4.ตั้งชื่อเรื่อง

                  ใครตั้งชื่อเรื่องตอนไหนลิก้าไม่รู้ แต่ลิก้าจะตั้งชื่อเรื่องนิยายของตัวเองไว้ก่อนเสมอ เพื่อเป็นหลักยึดให้กับเนื้อเรื่องอีกทีหนึ่ง การตั้งชื่อเรื่องนั้นยากกว่าที่คิดนะคะ เพราะนิยายจะดังไม่ดังก็ขึ้นอยู่กับชื่อเรื่องเหมือนกันค่ะ ชื่อเรื่องที่ดีควรจะมีลักษณะที่น่าสนใจ ฟังแล้วติดหู เป็นตัวแทนของเรื่องทั้งเรื่อง และไม่ควรจะยาวเกินไปนัก (ถ้ายาวมากเวลาทำปกแล้วมันจะไม่สวยค่ะ)

     

                    ชื่อเรื่องเอามาจากไหน ชื่อเรื่องของมัลลิกาก็เอามาจากรอบๆ ตัวค่ะ อ่านหนังสือ ฟังเพลง แต่ต้องยึดเนื้อหาของนิยายเป็นหลักนะคะ อย่างเช่น หอบรักห่มใจ ชื่อนี้ลิก้าได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงค่ะ ชื่อเพลง วอนฟ้าห่มดาว วอนสาวห่มใจ ตอนนั้นชอบฟังเพลงนี้มาก ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อเรื่อง ตอนแรกจะตั้งชื่อว่า วอนรักห่มใจ แต่พอคิดว่าพระเอกเหมือนหอบรักมาจากอีกขอบฟ้าหนึ่งมามอบให้นางเอก จึงตั้งชื่อเรื่องว่า หอบรักห่มใจ

     

     

                    5.กำหนดตัวละคร (ตัวเอก ตัวรอง ตัวโกง กำหนดชื่อตัวละคร บุคลิกภาพ)

                    เมื่อได้พล็อตหลักและชื่อเรื่องแล้ว ลิก้าก็จะกำหนดชื่อและบุคริกภาพตัวละคร ว่านางเอก พระเอก ตัวโกง ตัวรอง ควรมีลักษณะอย่างไร ซึ่งชื่อตัวละครสไตล์มัลลิกาจะสั้นและเก๋ พวกชื่อยาวๆ เวอร์ๆ ลิก้าไม่ชอบค่ะ (เพราะขี้เกียจพิมพ์) ชื่อตัวละครจะปรากฏอยู่ทั้งเรื่อง

                    การตั้งชื่อยาวๆ ลิก้ารู้สึกว่าเหนื่อยในการพิมพ์และจำว่าใครมันชื่ออะไรบ้าง ดังนั้นตัวละครของลิก้าจะตั้งชื่อสั้นๆ เช่น บัว เจมส์ อ๋อ การตั้งชื่อเป็นเซตก็ชอบนะคะ ดังจะเห็นได้จากเรื่องพันธนาการหัวใจ ชื่อตัวละครทั้งหมดอยู่บนฟ้าทั้งนั้น เช่น ตะวัน เดือน วายุ เมฆิน น้องดาว ฯลฯ

     

     

                    6.เขียนพล็อตย่อย

                    เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วลิก้าก็จะลงมือเขียนพล็อตย่อยของเรื่อง ซึ่งพล็อตย่อยจะเขียนจากพล็อตหลัก โดยแบ่งออกเป็นบทๆ มีบทเปิดเรื่อง บทไคลแมกซ์ และบทส่งท้าย จะเขียนลงไปเลยว่าแต่ละบทมีเหตุการณ์อะไรบ้าง มีตัวละครกี่ตัว ทำอะไรกันบ้าง ตั้งแต่บทนำถึงบทส่งท้าย จากนั้นจึงลงมือเขียนนิยายตามพล็อตที่วางไว้ ซึ่งพล็อตย่อยลิก้าจะเขียนใส่กระดาษแผ่นเล็กๆ เย็บไว้เป็นบทๆ เพื่อให้ง่ายต่อการหยิบมาเขียน

     

     

                    7.หาข้อมูลประกอบในการเขียน

                    ถ้าเรื่องที่เขียนนอกเหนือจากประสบการณ์และจินตนาการ ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเพื่อให้เรื่องสมจริง การหาข้อมูลประกอบการเขียนสำคัญจึงสำคัญมาก ลิก้ามีความลับมาบอก นิยายที่ผ่านๆ มา 3 เรื่องของลิก้ามาจากจินตนาการและประสบการณ์เป็นหลัก จึงไม่ต้องหาข้อมูลมากนัก

     

                    แต่พอถึงเรื่องที่สี่ เรื่อง ลิขิตรักลำน้ำไนล์ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยงกับอียิปต์โบราณที่ลิก้าไม่มีความรู้มากนัก ลิก้าจึงต้องค้นข้อมูลและอ่านหนังสืออย่างจริงจังเพื่อนำข้อมูลนั้นไปเขียนนิยาย (ขอบอกว่าเหนื่อยมาก ลิก้าเรียนโทประวัติศาสตร์ตะวันตก แต่เสียดายตอนเรียนไม่ได้ลงเรียนประวัติศาสตร์ยุคโบราณ เพราะมันเปิดตรงกับวิชาบังคับ ประวัติศาสตร์อียิปต์และเมโสโปเตเมียจึงเป็นวิชาเดียวที่มัลลิกาไม่ได้เรียน ตอนนี้ยังนั่งเสียใจอยู่ ต้องหาหนังสืออ่านเอง)

     

     

                    8.ลงมือเขียนตามพล็อตที่วางไว้

                    เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็ลงมือเขียนได้เลยจ้ะ อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าลิก้าจะเขียนนิยายตามพล็อตที่เขียนไว้ในกระดาษ เพื่อไม่ให้นิยายออกทะเล หรือหาทางจบไม่ได้ค่ะ เมื่อเขียนพล็อตย่อยเสร็จก็จะลงมือเขียนนิยายทันที แต่การเขียนตามพล็อตย่อยที่วางไว้ก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดมากนักนะคะ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามความเหมาะสม)

     

     

                    9.รีไรท์ 2 ครั้ง

                    เมื่อเขียนจบแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนของการรีไรท์ การรีไรท์ก็เพื่อตรวจหาคำผิด ดูความกลมกลืนของเนื้อหา และความลื่นไหลของสำนวนพร้อมๆ กับดำเนินการจัดหน้าให้เป็นระเบียบสวยงามไปด้วยในตัว การจัดการต้นฉบับให้สวยงามลิก้าถือว่าเป็นหน้าที่ของนักเขียนนะคะ

     

                    แม้ว่าสนพ.จะต้องทำอยู่แล้ว แต่การจัดการต้นฉบับให้สวยงามก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้งานเราผ่านการพิจารณาได้ง่ายขึ้น นึกดูสิคะ ว่าถ้าเราเปิดออกมาต้นฉบับมั่วไปหมดต่อให้เขียนสนุกเราก็ไม่อยากอ่านเท่าไร การรีไรท์เป็นสิ่งสำคัญมากที่นักเขียนต้องทำแม้ว่ามันจะน่าเบื่อก็ตาม

     

     

                    10.จดลิขสิทธิ์

                    การจดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญที่ลิก้าต้องทำทุกเรื่อง บางคนอาจคิดว่าไม่สำคัญ เพราะกฏหมายคุ้มครองอยู่แล้ว แต่สำหรับลิก้าคิดว่าเราควรจดค่ะ เพื่อความปลอดภัยและความภูมิใจของเราเอง โดยจะต้องจดก่อนโพสตอนจบในเน็ตนะคะ เพื่อป้องกันการขโมยผลงานค่ะ

     

     

                    11.ส่งสำนักพิพม์ที่หมายตาไว้

                  เมื่อรีไรท์เสร็จก็เข้าสู่ขั้นตอนที่สำคัญแล้วค่ะ นั่นก็คือการส่งเรื่องของเราไปสำนักพิมพ์ ซึ่งการเลือกสำนักพิมพ์ก็มีส่วนสำคัญนะคะ ลิก้าขอแนะนำให้เพื่อนๆ ควรเลือกสำนักพิมพ์ที่เหมาะกับแนวนิยายของเรา หรือสำนักพิมพ์ที่เราต้องการร่วมงานด้วย เป็นหลัก

     

     

                    12.รอผลการพิจารณาด้วยความอดทน

                    เมื่อส่งผลงานไปแล้ว ก็ต้องรอค่ะ รอด้วยความอดทน ถ้าใจไม่สงบก็ไปทำบุญเสริมดวงไปพลางๆ ก่อนก็ได้ค่ะ หากผ่านเพื่อนๆ ก็จะมีผลงานเป็นของตนเอง แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ต้องเสียใจนะคะเอานิยายขอเรากลับมาดำเนินการตามข้อ 9 ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

     

     

                    เป็นไงค่ะ อ่านกรรมวิธีสร้างนิยายของลิก้าแล้วคิดว่ายังไงค่ะ อิอิ ^^ นิยายเรื่องหนึ่ง กว่าจะออกมาเป็นหนังสือได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่ไหมค่ะ แต่ก็ไม่ยากเกินความพยายามหรอกค่ะ เอาใจช่วยนักเขียนไซเบอร์ทุกคน วันนี้เมื่อยมือแล้ว บ้าย บาย แล้วเจอกันใหม่ อ๋อ...ตอนหน้าลิก้าจะเอาเทคนิคการเตรียมต้นฉบับส่งสำนักพิมพ์มาบอกนะ รับรองพลาดไม่ได้ ลิก้าจัง


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×