การเลือกใช้ยางรถยนต์ - นิยาย การเลือกใช้ยางรถยนต์ : Dek-D.com - Writer
×

    การเลือกใช้ยางรถยนต์

    สำหรับคนรักรถ

    ผู้เข้าชมรวม

    2,991

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    6

    ผู้เข้าชมรวม


    2.99K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    จำนวนตอน :  0 ตอน
    อัปเดตล่าสุด :  1 ก.ย. 66 / 17:52 น.
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

    การเลือกและใช้ยาง


    ถ้าการเดินทางภาคพื้นดินฝากไว้กับรถยนต์และหากรถยนต์มีชีวิต ทั้งคนและรถยนต์ก็ต้องฝากชีวิตไว้กับยางทั้ง 4 เส้นการเลือกใช้ยางรถยนต์มิได้ง่ายเพียงแค่ขับรถยนต์เข้าไปแล้วเลือกยี่ห้อที่มั่นใจ พร้อมบอกว่าใช้ขนาดเดิมและตั้งศูนย์ถ่วงล้อให้ด้วยเท่านั้นเลือกไม่ยาก ใช้ไม่ยุ่ง ถ้าใส่ใจในรายละเอียด

    เ ลื อ ก ข น า ด
    ไม่สามารถสรุปได้ในรถยนต์ทุกรุ่นว่ายางขนาดใดดีที่สุด เพราะรถยนต์บางรุ่นเลือกขนาดยางโดยเน้นการลดต้นทุนเป็นหลัก แต่ขนาดยางในรถยนต์บางรุ่นก็มีความเหมาะสมแล้ว ความเชื่อที่ว่าไม่สามารถเปลี่ยนขนาดยางจากมาตรฐานเดิมได้ เพราะช่วงล่างจะสึกหรอเร็วนั้นไม่จริงเสมอไป พิสูจน์ได้จากรถยนต์ตัวถังเดียวกันแต่ต่างรุ่น เช่น 1.5, 1.6 หรือ 1.8 ยังใช้ยางมาตรฐานต่างขนาดกัน ถ้าต้องการเปลี่ยนขนาดยางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเกาะถนน ต้องดูถึงอาการของยางขนาดเดิมในการใช้งานที่ผ่านมาว่าลงตัวไหม รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในช่วงความเร็วสูงหรือในทางโค้งหรือไม่ ถ้าอยากเพิ่มประสิทธิภาพการเกาะถนนโดยเพิ่มขนาดยาง ต้องเลือกอย่างมีหลักการและยอมรับผลกระทบด้านอื่นที่ตามมาด้วย โดยต้องเน้นเรื่องเส้นรอบวงของยางที่เปลี่ยนใหม่ให้ใกล้เคียงกับยางขนาดเดิมมากที่สุด

    เ ส้ น ร อ บ ว ง ข อ ง ย า ง ส ำ คั ญ
    เส้นรอบวงของยางเกี่ยวข้องกับอัตราเร่ง, อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง, ความเพี้ยนของการแสดงผลของมาตรวัดความเร็ว, ช่องว่างระหว่างยางกับขอบบังโคลน ความสูงของรถยนต์ และความเร็วสูงสุด เพราะผู้ผลิตรถยนต์กำหนดเส้นรอบวงของยางไว้ให้เหมาะสมกับอัตราทดเกียร์, เฟืองท้าย และรอบเครื่องยนต์ เช่น ยางเดิมมีเส้นรอบวง 1,900 มิลลิเมตร ที่เกียร์ 5 เครื่องยนต์หมุน 3,000 รอบ/นาที อัตราทดเกียร์ 1:1 เฟืองท้าย 4.0:1 ล้อจะหมุน 750 รอบ/นาที ได้ระยะทาง 1,900 X 750 = 1,425,000 มิลลิเมตร หรือ 1,425 เมตร (จาก 1,000 มิลลิเมตร = 1 เมตร) คิดเป็นเมตร/ชั่วโมง ก็คูณ 60 นาทีเข้าไปได้ 1,425 X 60 = 85,500 = 85.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง (คิดจาก 1,000 เมตร = 1 กิโลเมตร) มาตรวัดความเร็ว อัตราเร่ง และความสิ้นเปลืองก็จะเป็นไปตามการออกแบบ

    ล ด เ ส้ น ร อ บ ว ง
    การเปลี่ยนยางใหม่ที่มีขนาดเส้นรอบวงลดลงโดยไม่เปลี่ยนองค์ประกอบอื่น เช่น ตัวรถยนต์, เครื่องยนต์, เกียร์ และเฟืองท้าย จะมีผลกระทบ เพราะไม่เกี่ยวข้องเลยว่ายางถูกเปลี่ยนเป็นเส้นรอบวงเท่าไร ถ้าเครื่องยนต์หมุน 3,000 รอบ/นาที ที่เกียร์ 4 แล้ว ล้อก็ยังหมุน 750 รอบ/นาที แต่ได้ระยะทางสั้นลงจากระยะ/1 รอบการหมุนของยาง มาตรวัดความเร็วขึ้น 85.5 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่าเดิม แต่น้อยกว่าความเร็วจริง (ไมล์อ่อน) และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น เพราะเครื่องยนต์ทำงานหนักขึ้นในทุกช่วงความเร็ว อัตราเร่งตีนต้นดีขึ้นบ้าง เพราะล้อหมุนลากน้ำหนักตัวถังได้ง่ายขึ้น ต้องเปลี่ยนเกียร์ขึ้นสูงเร็วขึ้นในระยะทางสั้นลง เช่น เกียร์ 1 ที่ 6,000 รอบ/นาที เคยได้ระยะทาง 80 เมตร เมื่อเส้นรอบวงยางลดลง เมื่อใช้รอบเครื่องยนต์เท่าเดิม จะได้ระยะทางสั้นลง เช่น 70 เมตร ก็ต้องเปลี่ยนขึ้นสู่เกียร์สูงขึ้นความเร็วปลายที่แท้จริงลดลง เช่น เกียร์ 5 ที่ 5,000 รอบ/นาที ล้อหมุน 1,500 ครั้ง/นาที เคยได้ระยะทางยาวและความเร็ว 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมื่อเส้นรอบวงยางลดลง เมื่อใช้รอบเครื่องยนต์เท่าเดิม จะได้ระยะทางและความเร็วจริงลดลง แต่มาตรวัดความเร็วชี้ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่าเดิม

    เ พิ่ ม เ ส้ น ร อ บ ว ง
    การเปลี่ยนยางใหม่ที่มีขนาดเส้นรอบวงเพิ่มขึ้นโดยไม่เปลี่ยนองค์ประกอบอื่น ในการคำนวณอาจเสมือนว่าจะทำให้รถยนต์มีความเร็วเพิ่มขึ้น เพราะเครื่องยนต์, เกียร์ และเฟืองท้าย ทำงานที่รอบเครื่องยนต์เท่าเดิม แต่ได้ระยะทางจากการหมุนของยางต่อรอบมากขึ้นในความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการเพิ่มเส้นรอบวงของยางเป็นการเพิ่มภาระให้กับเครื่องยนต์ เนื่องจากส่งกำลังให้ยางหมุนครบรอบได้ยากขึ้น เช่น ออฟโรดเปลี่ยนไปใส่ยางบิ๊กฟุต-ล้อโต จะทำให้อัตราเร่งแย่ลง, สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น, บั่นทอนอายุการใช้งานของช่วงล่าง, มาตรวัดความเร็วแสดงผลน้อยกว่าความเร็วจริง (ไมล์แข็ง) และไต่ขึ้นสู่ความเร็วสูงยาก ยกเว้นการปรับแต่งเพิ่มกำลังของเครื่องยนต์หรือเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์พลังแรง การเปลี่ยนยางที่มีเส้นรอบวงมากขึ้น จะช่วยให้อัตราเร่งตีนต้นไม่จัดเกินไป และความเร็วปลายเพิ่มขึ้น แต่ควรลดอัตราทดเฟืองท้ายจะดีกว่า

    ห น้ า ก ว้ า ง เ ท่ า เ ดิ ม & ห น้ า แ ค บ
    ตัวอย่างรหัสบนแก้มยาง 185/70/R13 ตัวเลขชุดแรก 185 คือ ความกว้างของหน้ายางจากซ้ายสุดถึงขวาสุด หน่วยเป็นมิลลิเมตร แม้ระบุค่าเท่ากัน แต่หน้าสัมผัสที่แท้จริงในยางต่างรุ่นต่างยี่ห้ออาจไม่เท่ากันเป๊ะ แต่ใกล้เคียงกันมาก ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่มิได้เลือกความกว้างของหน้ายางที่จะให้สมรรถนะในการเกาะถนนของรถยนต์รุ่นนั้นสูงสุดเสมอไป เพราะมีหลายตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเลือกยางหน้ากว้างพอประมาณ จะได้ประสิทธิภาพการเกาะถนนช่วงความเร็วปานกลาง-สูง และในโค้งหนักๆ ดีมาก แต่ส่งผลให้พวงมาลัยหนักขึ้น, ช่วงล่างเสียเร็วขึ้น, อัตราเร่งลดลง, สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจากน้ำหนักและแรงต้านการหมุน และที่สำคัญคือต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นการใช้งานทั่วไปที่ใช้ความเร็วไม่จัดจ้านนัก ด้วยเหตุผลข้างต้น ยางขนาดมาตรฐานของรถยนต์ทั่วไป จึงอาจมีหน้ากว้างน้อยกว่าที่จะให้ประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงความเร็วสูงอยู่ประมาณ 10-20 มิลลิเมตร เพื่อให้การใช้งานปกติ พวงมาลัยไม่หนัก, ช่วงล่างทนทาน, อัตราเร่งดี และประหยัดเชื้อเพลิง เพราะมีน้ำหนักและแรงต้านการหมุนน้อย รวมทั้งลดต้นทุนการผลิต โดยยอมสูญเสียประสิทธิภาพการเกาะถนนในช่วงความเร็วสูงที่ไม่ค่อยได้ใช้งานลงไป ถ้าใช้รถยนต์ในเมืองหรือไม่ได้ใช้งานด้วยความเร็วสูงจัดจ้าน หน้ายางขนาดมาตรฐานมีความเหมาะสมอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องการเพิ่มความมั่นใจในช่วงความเร็วปานกลาง-สูง โดยยอมสูญเสียคุณสมบัติที่ดีในช่วงความเร็วต่ำ-ปานกลางไปบ้าง สามารถเลือกยางหน้ากว้างขึ้นสัก 10 มิลลิเมตร (หรือเพิ่มเต็มที่ 20 มิลลิเมตร) ใส่กับกระทะล้อเดิมได้ โดยผลเสียที่เพิ่มขึ้นมีน้อยมากและไม่ต้องกังวล แต่ต้องเกี่ยวข้องกับซีรีส์ของแก้มยางที่ต้องเปลี่ยนแปลง การเพิ่มขนาดหน้ายางขึ้น 10 มิลลิเมตรกับกระทะล้อเดิม ควรลดความสูงของแก้มยางลง 5 ซีรีส์ เพื่อรักษาความสูงของแก้มยางและเส้นรอบวงของยางเช่น ยางเดิมขนาด 185/70/R13 แก้มยางมีความสูงเท่ากับ 185 X 0.70 = 129.5 มิลลิเมตร เปลี่ยนเป็นยางหน้ากว้างขึ้น 10 มิลลิเมตร โดยลดแก้มยางลง 5 ซีรีส์ จาก 70 เป็น 65 ซีรีส์ เป็นขนาด 195/65/R13 แก้มยางมีความสูงเท่ากับ 195 X 0.65 = 126.75 มิลลิเมตร ต่างจากแก้มยางเดิมเพียง 129.5 - 126.75 = 2.75 มิลลิเมตร แทบไม่แตกต่าง รักษาความนุ่มนวลและเส้นรอบวงของยางไว้ ทำให้คงอัตราเร่ง การแสดงผลของมาตรวัดความเร็ว และความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไว้ได้ ถ้าเพิ่มขนาดหน้ายางขึ้น 10 มิลลิเมตรกับขนาดกระทะล้อเดิม แต่ไม่ลดความสูงของแก้มยางลง แก้มยางจะสูงขึ้นเล็กน้อย แต่เป็นค่ามากกว่าการลดความสูงของแก้มยางลง 5 ซีรีส์ คือ เปลี่ยนยางเป็นขนาด 195/70/R13 70 ซีรีส์เท่าเดิม แก้มยางมีความสูงเท่ากับ 195 X 0.70 = 136.5 มิลลิเมตร แก้มยางสูงกว่าเดิมมากถึง 136.5 - 129.5 = 7 มิลลิเมตร ต่างจากการลดความสูงของแก้มยางลง 5 ซีรีส์ ที่เตี้ยลงเพียง 2.75 มิลลิเมตร แก้มยางที่สูงขึ้นมากในกระทะล้อขนาดเท่าเดิมมีผลให้อัตราเร่งต่ำลง มาตรวัดความเร็วชี้น้อยกว่าความเป็นจริง (ไมล์แข็ง) และอาจสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น การลดหน้ายางให้แคบกว่ามาตรฐานเดิม ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง แม้ในหลักการแล้วจะช่วยลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงลงบ้าง จากน้ำหนักและแรงต้านการหมุนที่ลดลง แต่จะสูญเสียประสิทธิภาพการเกาะถนนลงเกือบตลอดการใช้งาน

    แ ก้ ม ย า ง เ ตี้ ย & สู ง ไ ด้ อ ย่ า ง เ สี ย อ ย่ า ง
    ตัวอย่างรหัสบนแก้มยาง 185/70/R13 เลขตัวกลาง 70 คือ ความสูงของแก้มยางเป็นเปอร์เซ็นต์จากความกว้างของหน้ายาง ต้องผ่านการคำนวณก่อนจึงจะทราบความสูงของแก้มยางที่แท้จริง กรณีนี้ คือ 185 X 0.70 = แก้มยางสูง 129.5 มิลลิเมตร ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วไปที่ไม่ใช่รถสปอร์ตสมรรถนะสูง มักเลือกใช้ยางแก้มสูงเพื่อช่วยซึมซับแรงสั่นสะเทือนจากพื้น ให้ความนุ่มนวลโดยรวม ป้องกันกระทะล้อคดหรือแตก และลดต้นทุนได้ทั้งยางและกระทะล้อ อันเป็นการเลือกที่ลงตัวดีสำหรับการใช้งานปกติช่วงความเร็วปานกลาง-ถึงสูงแบบไม่จัดจ้านนัก แต่ก็ยังมีความต้องการของผู้ใช้ ที่อยากเปลี่ยนขนาดยางและลดซีรีส์ความสูงของแก้มยางลงอีก ด้วยหลายเหตุผล เช่น อยากเพิ่มความสวย หรือลดการบิดตัวของแก้มยางขณะเปลี่ยนเลนหรือใช้ความเร็วสูง ซึ่งต้องยอมรับผลเสีย คือ ความกระด้างจากแก้มยางที่เตี้ย ทำให้ซึมซับแรงสั่นสะเทือนจากพื้นได้น้อยลง และล้อแม็กคด-แตกง่ายขึ้น อยากสวย อยากเกาะ ต้องยอมกระด้าง

    ส รุ ป สั้ น ๆ แ ล ะ ชั ด เ จ น ว่ า
    ยางแก้มสูง นุ่มนวล ราคาไม่แพง แต่บิดตัวมากในการเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลนอย่างรวดเร็ว และไม่สวยยางแก้มเตี้ย กระด้าง เพราะมีช่วงการซึมซับแรงสั่นสะเทือนน้อย แต่ให้ความฉับไวและแม่นยำในการควบคุมบนทางโค้งหนักๆ -เปลี่ยนเลน สวย และราคาแพง ถ้าไม่เปลี่ยนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกระทะล้อ หรือไม่เพิ่มความกว้างของหน้ายาง จะไม่สามารถลดความสูงของแก้มยางได้เลย เช่น ถ้าใช้ยางหน้ากว้าง 175 มิลลิเมตรกับกระทะล้อ 13 นิ้วเท่าเดิม หากเพิ่มจากแก้มยาง 70 ซีรีส์ เป็น 80 ซีรีส์ เพราะต้องการเพิ่มความนุ่มนวลหรืออะไรก็แล้วแต่ แก้มยางจะสูงขึ้น 175 X 0.10 (คิดจาก 10 เปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น) = 17.5 มิลลิเมตร เกือบ 2 เซนติเมตร ในทางกลับกัน อยากให้รถยนต์ดูเตี้ยโดยไม่ลดความสูงด้วยการเปลี่ยนช่วงล่าง ลดแก้มยางลง 10 ซีรีส์ แก้มยางก็เตี้ยลง 17.5 มิลลิเมตร เส้นรอบวงของยางจะเปลี่ยนไปมาก ในทั้งกรณีลดและเพิ่มซีรีส์โดยไม่เปลี่ยนขนาดอื่นของยาง หากต้องการลดความสูงของแก้มยางเพื่อความสวยงามหรือลดการบิดตัว ต้องเปลี่ยนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกระทะล้อชดเชยกัน และต้องคำนวณอย่างละเอียด เพื่อรักษาเส้นรอบวงของยางไว้ โดยการประมาณคร่าวๆ หากอยากลดความสูงของแก้มยางลง 10 ซีรีส์ ต้องเปลี่ยนขนาดกระทะล้อเพิ่มขึ้น +1 นิ้ว หรือ 20 ซีรีส์ก็ +2 นิ้ว ถ้าจะให้แน่นอนต้องคำนวณ หรือนำยางขนาดใหม่มาตั้งเปรียบเทียบความสูงกับยางเส้นเดิมขนาดมาตรฐาน
    และอย่าลืมเผื่อระยะที่ดอกของยางเส้นเดิมสึกหรอลงไปแล้วด้วย

    เ ส้ น ผ่ า ศู น ย์ ก ล า ง ก ร ะ ท ะ ล้ อ แ ล ะ ย า ง เ ป ลี่ ย น ไ ด้ แ ต่ ต้ อ ง ย อ ม รั บ
    ตัวอย่าง รหัสบนแก้มยาง 185/70/R13 เลขตัวสุดท้าย 13 คือเส้นผ่าศูนย์กลางกระทะล้อ มีหน่วยเป็นนิ้ว สำหรับใส่ยางเส้นนั้น ปัจจุบันนิยมขนาด 13-18 นิ้วเป็นหลัก ในการใช้งานปกติไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนขนาด แต่ก็มีความต้องการเปลี่ยนในทางใหญ่ขึ้น คือ เปลี่ยนกระทะล้อเพื่อความสวยงาม หรืออยากใช้ยางแก้มเตี้ยลงเพื่อความสวยและลดการบิดตัว ซึ่งมีราคาแพงขึ้น แต่คงเส้นรอบวงไว้ได้ ล้อแม็กวงโตกับยางแก้มเตี้ย มีความสวยมากขึ้น เพราะล้อแม็กที่วาววับจะสร้างความสะดุดตา ส่วนสีดำของแก้มยางที่ลดลงก็ลดความหนาทึบในการมอง คล้ายล้อและยางตามสไตล์รถแข่งทางเรียบ เมื่อเปลี่ยนล้อแม็กขนาดใหญ่ขึ้น ต้องลดซีรีส์ความสูงของแก้มยางลงให้เหมาะสม เพื่อรักษาขนาดเส้นรอบวงของยางไว้ กระทะล้อหรือล้อแม็กในมาตรฐานเดียวกัน ยิ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ย่อมมีราคาแพง คด-แตกง่าย เป็นภาระกับระบบช่วงล่าง ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นบ้างจากน้ำหนักและแรงต้านการหมุนที่เพิ่มขึ้น แต่สวยและสามารถเปลี่ยนขนาดดิสก์เบรกให้ใหญ่ขึ้นได้สำหรับรถยนต์โมดิฟาย

    ย า ง ใ ห ม่ ต้ อ ง ป รั บ ส ภ า พ
    ไม่เฉพาะแต่รถยนต์และเครื่องยนต์เท่านั้น ที่ต้องมีการปรับสภาพในช่วงแรกของการใช้งาน ในช่วง 100-200 กิโลเมตรแรกของการใช้งานยางใหม่ ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 80-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลงหลุมหรือทางขรุขระควรหยอดเบาๆ เพื่อให้โครงสร้าง แก้มยาง และหน้ายางปรับสภาพในการใช้งาน

    ใ น & น อ ก ป ร ะ เ ท ศ
    ยังมีความเชื่อแบบเก่าอยู่บ้างว่า ยางผลิตจากต่างประเทศมีคุณภาพเหนือกว่ายางผลิตในประเทศอาจจริงในยุค 10-20 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้สรุปในทันทีไม่ได้ เพราะพัฒนาการของผู้ผลิตยางรถยนต์ในประเทศก้าวหน้าขึ้นมาก ไม่เก่าเก็บ และไม่ต้องขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมา ยางจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่มักถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานในแถบประเทศนั้นๆ หรือสภาพทั่วไป คือ ไม่ร้อนมากและถนนเรียบ ต่างจากไทยที่ทั้งร้อนและสภาพถนนแย่ ผู้ผลิตยางในประเทศจึงน่าจะมีการพัฒนาและวิจัยที่ตรงกับลักษณะการใช้งานมากกว่า ยังเคยพบว่ายางจากนอกบางรุ่นใช้งานในเมืองไทยแล้วประสิทธิภาพแย่กว่าหรือไม่ทนทานก็มี นอกจากเทคโนโลยีและสูตรในการผลิตแล้ว ความเก่าเก็บของยางก่อนใช้งานก็เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพโดยรวมของยางด้วย ยางที่เก็บไว้นานๆ เนื้อยางจะเริ่มแข็งและโครงสร้างของยางกระด้างขึ้น ยางจากต่างประเทศมักใช้การขนส่งทางเรือ อาจค้างสต็อกนาน และเคยมีข่าวว่า ผู้นำเข้าบางรายเลือกนำเข้ายางล็อตเก่าที่ต่างประเทศโละมาในราคาถูกก็มี ยางแก้มเตี้ยสมัยก่อนไม่มีการผลิตในประเทศไทย ปัจจุบันมีการผลิตเกือบทุกยี่ห้อและหลายรุ่น นอกจากนี้ ยางจากต่างประเทศต้องใช้เงินต่างสกุลสั่งซื้อมา ซึ่งแน่นอนว่า หลังหมดสต็อกเดิมจากปี 2540 ที่ค่าเงินบาทเพิ่งลอยตัว ยางนำเข้าล็อตใหม่ ณ กลางปี 2541 เป็นต้นไป ต้องมีราคาสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 50-100 เปอร์เซ็นต์ตามค่าเงิน ยางนำเข้าเส้นละ 6,000-10,000 บาท ต่อไปคงเป็นเรื่องปกติ ยางในประเทศรุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่มีความน่าสนใจมากกว่าทั้งในด้านคุณภาพ, ราคา และความสดแต่ก็ยังมียางนำเข้าบางยี่ห้อบางรุ่น ที่ถูกเลือกมาตรฐานมาให้เหมาะสำหรับการใช้งานในเมืองไทย และมีการเจรจาลดราคาจากผู้ผลิตโดยตรง จนสามารถตั้งราคาได้ไม่สูงนักและมีประสิทธิภาพคุ้มค่า

    ย า ง รุ่ น ใ ห ม่ น่ า ส น ใ จ
    สรุปได้เกือบเต็มที่เลยว่า ยางยี่ห้อเดียวกันแต่รุ่นใหม่กว่ามีคุณภาพโดยรวมสูงกว่า คล้ายกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น รถยนต์, โทรทัศน์, คอมพิวเตอร์ ฯลฯ นอกจากนั้นยังลดความเสี่ยงเรื่องเก่าเก็บจนหมดสภาพได้อีกด้วย

    เ ป ลี่ ย น ข น า ด เ พื่ อ เ ก า ะ & ส ว ย
    การเปลี่ยนขนาดของยางมี 2 กรณีหลัก คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัว และเพื่อความสวยงามการเปลี่ยนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทรงตัวมี 2 กรณีหลัก คือ เพิ่มความกว้างของหน้ายางเพื่อเพิ่มพื้นที่สัมผัส หรือลดความสูงของแก้มยางเพื่อลดการบิดตัวในทางโค้งหรือเปลี่ยนเลน อาจเลือกเปลี่ยนกรณีเดียวหรือควบคู่กัน การเปลี่ยนขนาดยางเพื่อความสวยงามมีสูตรสำเร็จอยู่ที่ยางหน้ากว้าง-แก้มเตี้ย ประกบกับล้อแม็กวงโต แต่ไม่ว่าจะเลือกเปลี่ยนขนาดของยางเพื่ออะไรก็ตาม ต้องรักษาเส้นรอบวงโดยรวมของยางไว้

    แ ห ล่ ง ใ ห ญ่ ย า ง ใ ห ม่ แ ล ะ เ ก่ า
    วงเวียน 22 กรกฎาคม แถบหัวลำโพง จากกึ่งกลางวงเวียน กระจายไปยังแยกที่จะไปโรงพยาบาลกลาง หรือวัดเทพศิรินทร์ ราคาถูกกว่าร้านทั่วไปเส้นละ 100-300 บาท (แล้วแต่รุ่น) เดินสอบถามกัน และต้องคำนวณถึงความคุ้มค่าที่ต้องฝ่าการจราจรเข้าไปกับราคาที่ต่างกันไม่มากนักด้วย

    ย า ง มื อ ส อ ง บ า ง ก ร ณี น่ า ส น ใ จ
    อย่ารีบสรุปว่ายางมือสองหรือที่เรียกกันว่ายางเปอร์เซ็นต์ไม่น่าสนใจ หากยางนั้นถูกเปลี่ยนออกเพราะหมดสภาพ แล้วร้านยางนำมาทำความสะอาดจำหน่าย ถือว่าไม่น่าสนใจ เพราะราคาถูก แต่อาจเกิดอันตรายยางมือสองที่น่าสนใจ คือ ยางขนาดมาตรฐานที่ถูกถอดออกเพราะอยากเปลี่ยนขนาด หรือเลือกเปลี่ยนล้อแม็กวงโตพร้อมยางแก้มเตี้ย บางครั้งใช้งานมาเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็ยังมี ถ้ายางมือสองเหล่านี้มีขนาดตรงตามความต้องการ ราคาจะถูกกว่ายางใหม่ประมาณ 30-50% แต่สภาพเกือบ 100% บางคันออกจากโชว์รูมไม่กี่วันก็ถูกเปลี่ยนออกแล้ว ยางมือสองในกรณีนี้หาได้ตามร้านล้อแม็กใหญ่ทั่วไป แต่ควรศึกษาก่อนว่า ยางขนาดที่ต้องการมีใช้ในรถยนต์ทั่วไปมากแค่ไหน ส่วนใหญ่ยาง 65-70 ซีรีส์ ขนาด 13-15 นิ้ว หาไม่ยาก

    ต้ อ ง ถ่ ว ง ล้ อ
    เพราะกระทะล้อและยางหมุนรอบจัดและเปลี่ยนแปลงตลอดการขับ จึงต้องมีการถ่วงสมดุล โดยเฉพาะล้อคู่หน้า แต่ถ้าให้ดีควรถ่วงทั้ง 4 ล้อ เพราะการไม่ได้สมดุลในล้อหน้า จะแสดงผลชัดเจนจากอาการพวงมาลัยสั่นในบางช่วงความเร็ว และทุกล้อที่ไม่ได้สมดุลจะบั่นทอนอายุของช่วงล่าง โดยเฉพาะลูกปืนล้อ เมื่อเปลี่ยนยางใหม่ ถอดยางออกจากกระทะล้อเพื่อปะหรือสลับระหว่างล้อหลังกับล้อหน้า ต้องมีการถ่วงสมดุลเสมอ รวมทั้งเมื่อใช้งานไปสัก 40-50% ของอายุการใช้งานยาง ควรถอดมาถ่วงสมดุล เพราะการสึกหรออาจไม่สม่ำเสมอกันถ้าใช้วิธีถอดกระทะล้อออกมาถ่วงสมดุล แล้วยังมีอาการสั่นของพวงมาลัยบางช่วงความเร็ว ต้องขยับไปใช้วิธีถ่วงแบบจี้ คือ ไม่ต้องถอดล้อออกจากรถยนต์ เป็นการถ่วงสมดุลกระทะล้อ ยาง, จานดิสก์เบรก, เพลาขับ (ถ้าล้อนั้นมี), ลูกปืนล้อ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง แต่โดยทั่วไปการถอดล้อออกมาถ่วงภายนอกเพียงพอแล้ว

    ก า ร ดู แ ล แ ล ะ ใ ช้ ย า ง
    วัดแรงดันลมให้ได้มาตรฐาน หากยางปกติ ไม่มีการรั่วซึม ตรวจแรงดันลมทุกสัปดาห์ก็พอ แรงดันลมมาตรฐานของยางรถยนต์ทุกรุ่นมีระบุไว้ที่ตัวรถยนต์หรือคู่มือประจำรถยนต์ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 28-32 ปอนด์/ตารางนิ้ว (PSI) สำหรับรถยนต์นั่งการวัดแรงดันลมยางต้องกระทำในขณะที่ยางยังเย็นหรือร้อนไม่มาก (ขับไม่เกิน 2-3 กิโลเมตร) หากเติมและวัดลมตามปั๊มน้ำมันพร้อมเติมน้ำมันก็สะดวกดี แต่เมื่อยางร้อนแล้วต้องเผื่อแรงดันที่วัดได้เกินจากมาตรฐานสัก 1-2 ปอนด์/ตารางนิ้ว แล้วดูว่ายางเส้นไหนลมอ่อนมากกว่ายางเส้นอื่นมากหรือเปล่า หากมีแสดงว่ามีปัญหารั่วซึม ระวังความเพี้ยนของมาตรวัดแรงดันลมตามปั๊มน้ำมันไว้ด้วย เพราะมักถูกใช้งานหนัก ควรซื้อมาตรวัดแรงดันลมส่วนตัวไว้ และต้องเลือกแบบที่มีมาตรฐานราคาแพงสักหน่อย ปั๊มหรือเครื่องมือเติมลมส่วนตัวมี 2 แบบหลัก คือ แบบเท้าเหยียบ ควรซื้อแบบลูกสูบคู่จะรวดเร็ว และแบบปั๊มไฟฟ้า อาจไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้ดูแลรถยนต์ด้วยตัวเอง แต่ควรมีมาตรวัดแรงดันลมส่วนตัว

    แ ร ง ดั น ล ม อ่ อ น - แ ข็ ง
    แรงดันลมน้อย-ยางอ่อน แก้มยางมีการบิดตัวมากและร้อนง่าย สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น และอัตราเร่งลดลงจากแรงต้านการหมุนที่เพิ่มขึ้นหากยางอ่อนมากๆ โครงสร้างภายในจะหมดสภาพเร็วขึ้น และมีการสึกหรอบริเวณริมนอกซ้าย-ขวาของหน้ายางมากกว่าแนวกลางแรงดันลมมาก-ยางแข็ง ประสิทธิภาพการเกาะถนนลดลง ถ้ายางแข็งมากๆ เสี่ยงต่อการระเบิด และมีการสึกหรอบริเวณแนวกลางมากกว่าริมนอกซ้าย-ขวา

    เ ดิ น ท า ง ไ ก ล เ ติ ม แ ร ง ดั น ล ม เ พิ่ ม
    ควรเติมแรงดันลมยางแข็งกว่าปกติ 2-3 ปอนด์/ตารางนิ้ว เพื่อป้องกันยางร้อนมาก หรือแรงดันลมสูงเกินไปจนระเบิดอาจสวนความคิดที่ว่า เมื่อเดินทางไกลยางหมุนด้วยความเร็วสูงและต่อเนื่อง ยางน่าจะร้อนและมีผลให้แรงดันลมเพิ่มขึ้น จากหลักการของก๊าซเมื่ออากาศร้อนจะขยายตัว-แรงดันลมเพิ่ม และหากเย็นจะหดตัว-แรงดันลมลดลง จึงเสมือนว่าน่าจะลดแรงดันลมลงจากปกติ หากมีการลดแรงดันลมยางลงในการเดินทางไกล ยางกลับจะร้อนและมีแรงดันสูงขึ้นมาก เพราะยางอ่อนแก้มยางจะบิดตัวมากจนร้อน และทำให้แรงดันลมสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว วิธีที่ถูกต้อง คือ เพิ่มแรงดันลมขึ้น 2-3 ปอนด์/ตารางนิ้ว เพื่อป้องกันการบิดตัวของแก้มยางมากจนร้อนและแรงดันลมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นการป้องกันล่วงหน้า เช่น ยางที่มีแรงดันลม 32 ปอนด์/ตารางนิ้ว มากกว่าปกติ 2 ปอนด์/ตารางนิ้ว เมื่อเดินทางไกลอาจมีแรงดันลมเพิ่มขึ้นจากความร้อนเพียง 2 ปอนด์ แต่ถ้าลดแรงดันลมเหลือเพียง 28 ปอนด์/ตารางนิ้ว อาจร้อนมากและมีแรงดันลมเพิ่มขึ้นถึง 5-6 ปอนด์/ตารางนิ้ว รวมแล้วมากกว่าการเติมลมยางเผื่อไว้แข็งและร้อนแล้ว

    เ ส้ น ท า ง ข รุ ข ร ะ
    ลดความเร็วให้เหมาะสม เพื่อลดภาระของหน้ายางและโครงสร้างยาง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยและถนอมช่วงล่างด้วย

    นํ้ า ย า เ ค ลื อ บ ส ว ย แ ต่ ต้ อ ง ร ะ วั ง
    เป็นเรื่องปกติของคนไทยที่รักสวยรักงาม สำหรับการทาน้ำยาเคลือบแก้มยางเพื่อเพิ่มความสวย มีข้อควรระวังคือ น้ำยาบางชนิดมีฤทธิ์ต่อเนื้อยางของแก้มยาง ทำให้บวม ควรเป็นสารประเภทซิลิโคนจะปลอดภัยที่สุด

    เ บี ย ด ท า ง เ ท้ า ร ะ วั ง แ ก้ ม ย า ง
    การเข้าจอดเลียบทางเท้าหรือทางที่มีขอบสูง ระวังการเบียดของแก้มยางทั้งในขณะจอด หรือจอดเบียดแก้มยางทิ้งไว้ เพราะจะทำให้แก้มยางบวมหรือรั่ว ซึ่งไม่สามารถซ่อมแก้มยางให้ใกล้เคียงปกติเหมือนหน้ายางรั่วได้ในการเข้าจอดเลียบทางเท้า ถ้าไม่มั่นใจว่าจะเบียดแก้มยางหรือเปล่า ควรชะลอให้ช้าที่สุด และอย่าจอดเบียดแก้มยางทิ้งไว้ ควรจอดให้แก้มยางไม่เบียดอะไรเลย

    ส ลั บ ย า ง
    ทุก 10,000 กิโลเมตร สลับยางพร้อมกระทะล้อหน้า-หลังในแต่ละด้าน เพื่อให้มีการสึกหรอจนหมดใกล้เคียงกันทั้ง 4 เส้น เพราะยางที่ใส่กับล้อคู่ขับเคลื่อน จะมีการสึกหรอมากกว่ายางอีกคู่หนึ่ง อย่าลืมดูทิศทางการหมุนและถ่วงสมดุลใหม่ด้วยถ้าไม่สลับยางแล้วมีการสึกหรอไม่เท่ากัน หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนยางครั้งละคู่หรือ 2 ล้อ เพราะจะทำให้ต้องเปลี่ยนสลับครั้งละคู่ไปเรื่อยๆ เสียเวลาและไม่ถูกต้อง ยางต้องเปลี่ยนพร้อมกันทั้ง 4 เส้น เพราะมีอายุการใช้งานเท่ากันทุกเส้น ควรเปลี่ยนยางพร้อมกันทั้ง 4 เส้น และอย่าใช้ยางต่างรุ่นต่างดอกกันในล้อข้างซ้ายและขวาในคู่เดียวกัน เพราะประสิทธิภาพการเกาะถนนจะแย่ลง ควรใช้ยางขนาดเดียวและรุ่นเดียวกันทั้ง 4 ล้อ ไม่มีความจำเป็นต้องเลียนแบบรถแข่งที่ใช้ยางหน้ากว้างกว่าในล้อขับเคลื่อน

    ห มั่ น ต ร ว จ ส อ บ ก า ร สึ ก ห ร อ ข อ ง ด อ ก ย า ง
    นอกจากตรวจสอบความลึกของดอกยางและสลับตามระยะ ยังต้องสังเกตการสึกหรอที่ผิดปกติตลอดหน้ายาง ซึ่งมีหลายลักษณะยางต้องมีการสึกหรอสม่ำเสมอใกล้เคียงกันตลอดหน้ายางซ้ายจรดขวา หากมีการสึกหรอของดอกยางผิดปกติ ควรตรวจสอบและตั้งศูนย์ล้อใหม่

    อ ย่ า จ อ ด ทิ้ ง ไ ว้ น า น
    รถยนต์ที่จอดนิ่งอยู่กับที่ น้ำหนักของตัวรถยนต์ทั้งหมดจะตกสู่ยางแต่ละเส้นในจุดเดียว โครงสร้างภายในและแก้มยางจะมีการยึดตัวและเสียความยืดหยุ่นลงไป ยิ่งจอดนิ่งนาน โครงสร้างของยางยิ่งมีโอกาสเสียง่ายขึ้น ถ้าต้องจอดนานมาก ทุก 1 สัปดาห์ควรสตาร์ทเครื่องยนต์ และนำรถยนต์ออกไปแล่นอย่างน้อย 2-3 กิโลเมตร หรือเดินหน้าถอยหลัง 5-10 เมตรหลายๆ ครั้ง เพื่อให้แก้มและโครงสร้างของยางมีการขยับตัว ทำให้ระบบช่วงล่างและเบรกมีการใช้งานด้วย

    ด อ ก ย า ง สึ ก ห ร อ ผิ ด ป ก ติ
    ปกติแล้วยางทุกเส้นต้องมีการสึกหรอของดอกยางสม่ำเสมอตลอดหน้ายางซ้ายจรดขวาและรอบวง แต่อาจอนุโลมได้บ้างสำหรับรถยนต์ที่ใช้ช่วงล่างแบบอิสระในล้อซ้าย-ขวา ไม่ได้เป็นเพลาตรงแท่งเดียวกัน หน้ายางด้านในอาจสึกหรอมากกว่าด้านนอกเพียงเล็กน้อย แต่ยังเรียบเป็นแนวตรงลูบมือผ่านโดยไม่สะดุด เพราะในการขับช่วงล่างจะมีการยุบตัว ล้อเปลี่ยนมุมจากแนวตั้งฉากแบะ (มุมแคมเบอร์ลบ) ด้านล่างออก ด้านบนหุบเข้า น้ำหนักกดลงที่หน้ายางด้านในมากกว่าเล็กน้อย สำหรับรถยนต์ที่ใช้ช่วงล่างแบบอิสระในล้อซ้าย-ขวา และโหลดลดความสูงโดยไม่ได้ปรับให้ล้อตั้งฉากกับพื้น (หรือปรับไม่ได้) ล้อแบะ (มุมแคมเบอร์ลบ) หน้ายางด้านในจะสึกหรอมากกว่าด้านนอกมาก และใช้ยางได้ไม่คุ้ม ต้องสลับหน้ายางในออกนอกด้วยการถอดออกจากกระทะล้อทุก 10,000-20,000 กิโลเมตร นอกเหนือจากการสลับหน้า-หลัง หากยางรุ่นนั้นกำหนดทิศทางการหมุนต้องใส่ให้ถูกต้องหากไม่ได้ลดความสูงของตัวรถยนต์ แล้วมุมล้อมีมุมแคบเบอร์ลบหรือบวกผิด ต้องปรับตั้งให้ได้มาตรฐานด้วยวิธีที่ถูกต้อง ถ้าหน้ายางมีการสึกหรอด้านใน-นอกไม่เท่ากันและเป็นบั้ง แสดงว่ามุมโทอิน-โทเอ๊าท์ผิดปกติ คือ มุมล้อที่เมื่อมองจากด้านบนแล้วล้อซ้าย-ขวาในแต่ละคู่ต้องขนานกัน หรือเกือบขนานกันตามมาตรฐาน มุมล้อโทอินมากเกินไป คือ มองจากด้านบนแล้วด้านหน้าของล้อซ้าย-ขวาหุบเข้าหากันมากเกินไป ดอกยางริมนอกจะสึกมากกว่าด้านในและเป็นบั้ง ลูบมือผ่านแล้วสะดุด มุมล้อโทเอ๊าท์มากเกินไป คือ มองจากด้านบนแล้วด้านหน้าของล้อซ้าย-ขวาอ้าออกจากกันมากเกินไป หรือด้านหลังของล้อซ้าย-ขวาหุบเข้าหากันมากเกินไป ดอกยางริมในจะสึกมากกว่าด้านในและเป็นบั้ง ลูบมือผ่านแล้วสะดุดถ้ามุมโทผิดปกติ ต้องนำไปตั้งศูนย์ล้อในค่าใช้จ่ายประมาณ 150-300 บาท เสียเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง และรถยนต์ทั่วไปมักกำหนดให้ต้องตั้งมุมล้อโทอินไว้บ้าง คือ ล้อด้านหน้าหุบเข้าหากันเล็กน้อย เพื่อให้เวลารถยนต์แล่นมีแรงกระทำด้านหน้าแล้วมุมโทจะพอดี ถ้าตั้งโทเอ๊าท์มากเกินไป เมื่อรถยนต์แล่นล้อด้านหน้าจะยิ่งอ้าออก รถยนต์ทุกรุ่นมีการกำหนดค่ามาตรฐานของมุมล้อแตกต่างกันออกไป

    ย า ง แ ต ก
    ปกติแล้วยางแบบเรเดียลไม่ใช้ยางใน จะแตกเองยากมาก และหากถูกของมีคมขนาดไม่ใหญ่ทิ่มแทง จะมีการรั่วของลมช้า และถ้าทิ่มค้างอยู่ ก็ยิ่งรั่วช้าลงอีกถ้ารถยนต์แล่นอยู่แล้วยางแตกกะทันหัน หากค่อยๆ รั่วช้าๆ สัก 5-10 วินาที และใช้ความเร็วไม่สูงนัก รถยนต์จะไม่เสียการทรงตัวมาก แต่ถ้ารั่วเร็วต้องตั้งสติเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดี ไม่ว่ายางจะรั่วช้าหรือเร็ว อย่ากระแทกแป้นเบรกกะทันหัน บังคับพวงมาลัยให้มั่นคง เพราะจะมีแรงดึงผิดปกติ ต้องเบรกช้าๆ และเบาที่สุด ถ้ายางล้อหน้าแตกในรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหลัง ยังพอใช้การลดเกียร์ต่ำช่วยได้บ้าง แต่ถ้าเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้าให้ใช้เบรกเบาๆ เท่านั้น เพราะหากลดเกียร์ต่ำช่วย ล้อหน้าอาจมีการกระตุกจนเสียการทรงตัวหรือตัวรถยนต์หมุนได้ เมื่อยางแตกแล้ว ต้องจอดหลบให้ปลอดภัย อย่าบดยางยาวต่อเนื่องไปอีก เพราะขอบกระทะล้อจะกดลงบนแก้มยางอย่างรุนแรง จนแก้มยางเสียและต้องทิ้งยางเส้นนั้นไปเลย ยางรถยนต์ในยุคใหม่มีโอกาสรั่วน้อยมาก ไม่น่าเกิน 1-2 ครั้ง/ปี ยางอะไหล่จึงมักไม่ค่อยได้รับความสนใจในการตรวจสอบทุกสัปดาห์เหมือนยางเส้นปกติ จึงควรเติมลมยางอะไหล่ไว้มากหน่อย คือ 40 ปอนด์/ตารางนิ้ว และตรวจสอบทุกเดือน เมื่อต้องสลับมาใช้ยางอะไหล่ ถ้าแรงดันลมที่มีอยู่สูงเกินไปก็ปล่อยออกให้เท่าปกติ หรือยางอ่อนนิดหน่อยก็ควรขับต่อด้วยความเร็วต่ำ ดีกว่าบดยางเส้นที่แตกจนเสีย การเปลี่ยนยางที่รั่วสลับกับยางอะไหล่เป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุด แต่อาจไม่สะดวกในหลายกรณี เช่น การจราจรคับคั่ง พื้นที่เปลี่ยว หรือเป็นสุภาพสตรีโฟมสเปรย์อุดรอยรั่วของยางช่วยได้ ถ้ารอยรั่วไม่ใหญ่นัก กระป๋องละไม่กี่ร้อยบาท เติมให้หมดกระป๋อง ยางอาจจะอ่อนไปหน่อย แต่สามารถขับไปร้านปะยางหรือหลบจากพื้นที่คับขันได้ เมื่อถอดยางออกปะต้องล้างโฟมนั้นออกให้หมดไม่มีความจำเป็นต้องเติมโฟมอุดรอยรั่วไว้ล่วงหน้าทุกล้อ เพราะสิ้นเปลือง และอาจทำให้น้ำหนักของล้อและยางไม่สมดุล เกิดการสั่นของพวงมาลัยได้

    ป ะ ย า ง 2 แ บ บ
    การรั่วที่หน้ายางปะได้ 2 แบบ แต่การรั่วที่แก้มยางต้องทิ้งยางเส้นนั้นไป เพราะแก้มยางต้องมีการยืดหยุ่นตลอดการหมุนถ้ารอยรั่วไม่ใหญ่นักสามารถเลือกปะได้ 2 แบบ คือ สอดเส้นยางพิเศษที่เบ่งตัวจนแน่นเข้าไปได้โดยไม่ต้องถอดยางออกจากกระทะล้อ ใช้เวลาน้อย หรือปะแบบสตีมใช้ความร้อน ถอดยางออกจากกระทะล้อ ใช้แผ่นปะปิดจากด้านในแล้วอัดทับด้วยความร้อนสักพักใหญ่ ซึ่งแน่นหนาทนทานกว่าการปะแบบแรก แต่จะทำให้เนื้อยางบริเวณนั้นแข็งกระด้างจากความร้อนสูง และต้องถ่วงสมดุลใหม่ เพราะยางถูกถอดออกจากกระทะล้อและมีน้ำหนักจากแผ่นปะเพิ่ม หากรอยรั่วใหญ่ต้องปะแบบสตีมใช้ความร้อน

    เ มื่ อ ไ ร ห ม ด ส ภ า พ
    ยางหมดอายุได้ใน 6 ลักษณะหลัก เช่น ดอกหมด, ไม่เกาะ, เนื้อแข็ง, โครงสร้างกระด้าง เสียงดัง หรือแก้มบวม เกิดขึ้นเพียงลักษณะเดียวหรือควบคู่กันก็ถือว่าหมดอายุ ไม่จำเป็นต้องดอกหมดแล้วยางถึงจะหมดสภาพเสมอไป เพราะความลึกของดอกยางเกี่ยวข้องกับการรีดน้ำ ฝุ่น และโคลนเป็นหลักเท่านั้น ประสิทธิภาพการเกาะถนนและการทรงตัวต้องขึ้นอยู่กับความแข็งของเนื้อยาง การเก่าเก็บ และโครงสร้างภายในด้วยยางรถยนต์ส่วนใหญ่จะเริ่มแข็งตัวขึ้นเมื่อผ่านการใช้งานไประยะหนึ่ง ตามพื้นฐานของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางที่แพ้ความร้อนเนื้อยางที่แข็ง แม้ดอกยังลึกอยู่ แรงเสียดทานระหว่างหน้ายางกับผิวถนนจะลดลง ดอกยางสึกช้าลง และโครงสร้างยางก็เสื่อมสภาพลง หากเปรียบเทียบอัตราการสึกของดอกยางต่อระยะทาง แทบไม่มียางรุ่นไหนที่ดอกสึกเร็วขึ้นเมื่อผ่านการใช้งาน ส่วนใหญ่มักจะสึกช้าลงหรือแทบไม่สึกเลยเมื่อเนื้อยางแข็งกระด้างเต็มที่ ทดสอบง่ายๆ โดยใช้เล็บจิกลงบนเนื้อของหน้ายาง เปรียบเทียบกับยางใหม่ๆหากดอกไม่หมดเฉลี่ยคร่าวๆ ว่า 3 ปี หรือไม่เกิน 35,000-50,000 กิโลเมตร ถือว่ายางเสื่อมสภาพแล้ว และควรหลีกเลี่ยงยางเก่าเก็บเพราะจะทำให้ระยะเวลาในการใช้ยางสั้นลงกว่า 3 ปี

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น