ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    โขน

    ลำดับตอนที่ #2 : วิวัฒนาการของโขน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.09K
      4
      27 ม.ค. 50

    เรื่องที่แสดงโขนของไทยเราแสดงแต่เรื่องรามเกียรติ์เรื่องเดียว วิธีการแสดงโขนมีหลายชนิด แตกต่างกันด้วยวิธีการแสดง ดังจะอธิบายไปตามลำดับ ดังนี้

    1. โขนกลางแปลง

    2. โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว

    3. โขนโรงใน

    4. โขนหน้าจอ

    5. โขนฉาก

     

    โขนกลางแปลง

    โขนกลางแปลง เป็นโขนที่เกิดขึ้นในยุคแรก คงจะแสดงกับพื้นดินที่เป็นลานกว้างใหญ่เช่นเดียวกับการเล่นชักนาค ดึกดำบรรพ์เป็นโขนที่เรียกกันในชั้นหลังว่า "โขนกลางแปลง" กล่าวคือเป็นการเล่นโขนบนพื้นดินกลางสนาม นิยมแสดงแต่ตอนยกทัพมารบกันระหว่างฝ่ายพระรามกับทศกัณฐ์โดยใช้ผู้แสดงเป็นพลยักษ์ พลลิงจำนวนมาก สมมติพื้นที่นั้นเป็นกรุงลงกาด้านหนึ่ง เป็นพลับพลาพระรามด้านหนึ่ง ด้านกรุงลงกาสร้างเป็นปราสาทราชวัง มีกำแพงจำลองด้วยไม้และกระดาษ ด้านพลับพลาก็สร้างพลับพลามีรั้วเป็นค่ายจำลองเช่นเดียวกัน ปลูกร้านสูงประมาณ 2 เมตร ไม่ต้องสร้างโรงเล่น ดนตรี ประกอบการแสดงมีแต่บรรเลงหน้าพาทย์ประกอบการยกทัพ โขนกลางแปลงมีแต่บทพากย์กับบทเจรจาเท่านั้น แต่ไม่มีบทร้อง ตั้งวงปี่พาทย์ด้านละวง คนเจรจามีด้านละ 2 คนเป็นอย่างน้อย วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบกับการแสดงด้านที่วงประจำอยู่ แต่ถ้าเป็นส่วนกลาง เช่น การรบกันกลางสนามหรืออื่นๆ ก็แล้วแต่วงไหนอยู่ใกล้ก็เป็นผู้บรรเลง โขนกลางแปลงนี้มีปรากฏในพงศาวดาร เมื่อ พ.ศ. 2339 ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้จัดให้เล่นครั้งหนึ่งในงานฉลองพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมชนกาธิราช โดยจับตอนสิบขุนสิบรถ โขนวังหลวงที่เป็นทัพพระรามยกมาทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฑ์ยกออกจากพระราชวังบวรมาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา

    มีเรื่องเล่าขานกันว่า ได้เกิดมีโขนรบกันจริง กล่าวคือปกติฝ่ายทศกัณฑ์จะต้องแพ้ แต่การแสดงคราวนั้นโขนวังหน้าไม่ยอมแพ้จนถึงกับทะเลาะวิวาทกัน เกิดความบาดหมางระหว่างวังหลวงกับวังหน้าขึ้น สมเด็จพระพี่นางเธอสองพระองค์คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดีและสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาศรีสุดารักษ์ ต้องทรงเห็นผู้ไกล่เกลี่ย ทั้งสองฝ่ายจึงเลิกแล้วคืนดีกันเป็นปกติในเวลาต่อมา

    โขนนั่งราว

    โขนนั่งราว เป็นการแสดงที่จัดบนโรง เลียนแบบโขนกลางแปลง คือ ปลูกโรงสูงพอตาคนยืนดู ปูกระดานพื้นเป็นรูปสี่เหลียมผืนผ้า ฉากแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนกลางยาวประมาณ 10 เมตร ทำภาพนูน เขียนสีเป็นป่าเขา ส่วนนอกด้านขวา (ของโรง) ยาวประมาณ 3 เมตร ทำภาพนูนเขียนสีเป็นรูปพลับพลาและรั้ว ไม่มีเตียงสำหรับตัวนายโรงนั่ง มีราวพาดตามส่วนยาวของโรง ตรงหน้าฉากออกมามีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราวตัวโรงมีหลังคา สมมติเป็นพลับพลาพระราม ส่วนนอกด้านซ้ายยาวประมาณ 3 เมตร ทำภาพนูนเขียนสีเป็นปราสาทราชวังมีกำแพง สมมติเป็นกรุงลงกา มีประตูเข้าออก 2 ประตู อยู่คั่นระหว่างฉากส่วนกลางกับส่วนนอกข้างละประตู ตรงหน้าฉากออกมา ห่างฉากประมาณ 1.5 เมตร ทำราวไม้กระบอก มีเสารับสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ยาวเสมอขอบประตูข้างหนึ่งมาถึงขอบประตูอีกข้างหนึ่ง หัวท้ายของโรงทั้ง 2 ข้าง ปลูกร้านให้สูงกว่าพื้นโรงประมาณ 1 เมตร ตั้งวงปี่พาทย์ข้างละวง ปี่พาทย์ก็บรรเลงแต่เพลงหน้าพาทย์ เพราะต้องบรรเลงเพลงหน้าพาทย์มาก วงหนึ่งตั้งหัวโรง วงหนึ่งตั้งท้ายโรง หรือตั้งทางซ้ายและทางขวาของโรงจึงเรียกวงปี่พาทย์ 2 วงนี้ว่า "วงหัว" "วงท้าย" หรือ"วงซ้าย" "วงขวา"

    วิธีแสดง เมื่อตัวโขนแสดงบทของตนแล้วก็ไปประจำบนราวไม้กระบอกที่อยู่หน้าฉากนั้น สมมติเป็นเตียงหรือที่นั่งประจำตำแหน่ง วิธีนั่งถ้าหันหน้าไปทางขวาหรือซ้ายก็เอาเท้าข้างนั้นพับนั่งบนราว อีกเท้าหนึ่งห้อยลงเหยียบพื้นโรง ฝ่ายพระรามจะนั่งค่อนมาข้างขวา พระราม (ตัวประธานฝ่ายมนุษย์) นั่งสุดราวด้านขวา หันหน้าไปทางซ้าย บริวารทั้งหมดนั่งบนราวตามลำดับเรียงไป หันหน้ามาทางขวา และฝ่ายลงกา (ฝ่ายยักษ์) ตัวประธานนั่งสุดราวด้านซ้าย หันหน้ามาทางขวา บริวารทั่งหมดนั่งหันหน้ามาทางซ้าย ส่วนการแสดงในตอนที่ไม่นั่ง ก็แสดงได้ทั่วพื้นโรง

    ดำเนินเรื่องด้วยบทพากย์กับบทเจรจาเท่านั้น ไม่มีบทขับร้อง เหมือนโขนกลางแปลง

    ท่ารำ เป็นท่ารำที่ครบถ้วนตามแบบแผนศิลปะการรำ ทำบทตามถ้อยคำและรำหน้าพาทย์ตามเพลงปี่พาทย์

    วิธีบรรเลงปี่พาทย์ ทั้ง 2 วงจะผลัดกันบรรเลงวงละเพลง ตั้งแต่โหมโรงเป็นต้นไปจนจบการแสดง

    จากจดหมายเหตุของ เดอ ลาลูแบร์ ที่กล่าวถึงการละเล่นบนเวทีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีอยู่ 3 อย่าง คือ โขน ละคร ระบำ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าโขนในสมัยนั้นดีมีการปลูกโรงให้เล่นแล้ว และน่าจะเป็นลักษณะของโขนโรงนอกหรือโขนนั่งราวนี้เอง

    การแสดงโขนโรงนอกหรือโจนนั่งราวนี้ ยังมีวิธีการอย่างหนึ่งที่เรียกว่า "โขนนอนโรง" กล่าวคือ ในเวลาบ่ายก่อนถึงวันแสดงหนึ่งวัน ปี่พาทย์ทั้งสองวงจะบรรเลงเพลงโหมโรง พวกแสดงจะออกมากระทุ้งเส้าตามจังหวะเพลงที่กลางโรง

    จบการโหมโรงแล้วก็จะแสดงตอนพระพิราพออกเที่ยวป่าจับสัตว์กินเป็นอาหาร พระรามหลงเจ้าสวนพวาทองของพระพิราพ เสร็จการแสดงตอนนี้แล้วก็หยุดพัก นอนเฝ้าโรงอยู่คืนหนึ่ง ในตอนนี้เองคือที่มาของคำว่า "โขนนอนโรง" รุ่งขึ้นจึงแสดงตามเรื่องที่จัดไว้ต่อไป
    สำหรับการแสดงในวันนอนโรงนี้ ในสมัยโบราณจะเคยแสดงตอนอื่นหรือไม่นั้นยังไม่พบหลักฐาน แต่เท่าที่ปรากฏมีเพียงแต่ตอนพิราพพบพระรามเท่านั้น

     

    โขนโรงใน

    โขนโรงในเป็นโรงที่ได้รับการปรับปรุงผสมผสานกับการแสดงละครใน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากในช่วงที่นิยมเล่น "หนังจับระบำหน้าจอ" และ "หนังติดตัวโขน" ซึ่งเป็นการคลุกเคล้าปะปนกันของศิลปะการแสดงหน้าจอหนังใหญ่ ได้มีผู้นำเอกการแสดงโขนกับละครในมาผสมกัน โดยการแสดงดังกล่าวมีทั้งท่ารำ เต้น และ มีบทพากย์บทเจรจาตามแบบโขน กับนำเพลงขับร้องและเพลงประกอบกิริยาอาการของดนตรีแบบละครในและระบำรำฟ้อนมาผสมด้วย ภายหลังจึงเรียกกันว่า "โขนโรงใน"

    โขนโรงในนี้คงได้พัฒนาขึ้นในพระราชสำนักโดยการปรับปรุงบทและวิธีการแสดงให้งดงามยิ่งขึ้นโดยลำดับ เริ่มตั้งแต่สมัยที่นิยมนำเอาเรื่อง รามเกียรติ์ไปแต่งเป็นบทละครสำหรับเล่นละครใน เช่น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 และในรัชกาลที่ 2 เป็นต้น แสดงว่าวิธีการของโขนและละครในได้คลุกคละปะปนกันมาโดยลำดับตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว

    นอกจากนี้ จากบทเล่นโขนซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฎราชกุมารในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชนิพนธ์แก้ไขจากบทของเก่า และทรงบรรจุคำพากย์คำเจรจาและเพลงหน้าพาทย์ไว้โปรดเกล้าฯ ให้พวกโขนสมัครเล่นนำออกแสดงในตอนปลายรัชกาลที่ 5 และที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่แล้ว โปรดให้นำออกเล่นออกแสดงในรัชกาลที่ 6 ก็มีหลายชุด

    โขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงในปัจจุบันนี้ล้วนแล้วแต่มีลักษณะเป็นละครโรงในทั้งสิ้น หรือที่นำออกไปเล่นกลางแจ้วบนโรงหน้าจอเป็นครั้งคราวก็เล่นแบบโขนโรงใน

     

    โขนหน้าจอ

    โขนหน้าจอ วิธีการแสดง ทุก ๆ อย่างเหมือนโขนโรงในทุกประการ ผิดกันแต่สถานที่แสดงเท่านั้น เป็นโรงที่มีลักษณะต่างกัน

    โรงของโขนหน้าจอ ก็คือโรงหนังใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงให้สะดวกแก่การแสดงโขนเท่านั้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากโรงหนังใหญ่ก็คือ มีประตูเข้าออก 2 ประตู ใต้จอตอนกลางมีมู่ลี่หรือลูกกรงถี่ ๆ เพื่อให้คนร้องซึ่งนั่งอยู่ภายในมองเห็นตัวโขน จอตอนนอกประตูทั้ง 2 ข้างเขียนภาพ ข้างขวาเขียนภาพพลับพลาพระราม ข้างซ้ายเขียนภาพปราสาทราชวัง สมมติเป็นกรุงลงกา ตั้งเตียงห่างจากประตูออกมาพอสมควร 2 เตียง ข้างละเตียง วงปี่พาทย์สมัยก่อนตั้งด้านหน้าของที่แสดง สมัยปัจจุบันยกไปตั้งหลังจอตรงหลังคนร้อง

    โขนทุกประเภท ตั้งแต่โขนกลางแปลงมาจนถึงโขนหน้าจอ มีเครื่องดนตรีพิเศษอย่างหนึ่งประกอบ คือโกร่งเป็นไม้ไผ่ลำโตยาวประมาณ 3-4 เมตร มีเท้ารองหัวท้ายสูงประมาณ 8 เซนติเมตร วางกับพื้น ผู้ที่นั่งเรียงกันประมาณ 4-5 คน ถือไม้กรับทั้งสองมือตีตามจังหวะ ใช้เฉพาะเพลงที่ต้องการความครึกครื้น เช่น เพลงกราวนอก กราวใน เชิด ตั้งอยู่หลังฉากหรือจอ พวกแสดงโขนที่มิได้แสดงเป็นผู้ตี

     

    โขนฉาก

    ศิลปะการแสดงหรือมหรสพต่างๆ ของไทย ซึ่งรวมถึงโขนแต่ดั้งเดิมด้วยนั้น จะไม่มีการสร้างฉากประกอบเรื่อง การแสดงจะดำเนินเรื่องติดต่อกันไปโดยผู้ดู ต้องจินตนาการหรือนึกภาพเอาเอง

    การจัดฉากเป็นศิลปะที่ไทยได้รับมาจากตะวันตก โขนฉากจึงเกิดขึ้นเมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง โดยมีผู้คิดสร้างฉากประกอบการแสดงโขนบนเวทีขึ้น คล้ายกับละครดึกดำบรรพ์ และผู้แรกเริ่มคิดจัดฉากเข้าใจกันว่า คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์

    วิธีเล่นวิธีแสดงโขนฉากก็แบ่งฉากเล่นแบบเดียวกับละครดึกดำบรรพ์ แต่วิธีแสดงเป็นแบบโขนโรงในคือ มีทั้งบทพากย์ เจรจา ขับร้อง มีกระบวนรำ มีท่าเต้น มีหน้าพาทย์ตามแบบละครในและโขนโรงใน ประสมกัน

    มีการเขียนบทโดยแบ่งเป็นฉากเป็นองก์ การประดิษฐ์สร้างฉากขึ้นให้เข้ากับเหตุการณ์และสถานที่ในท้องเรื่อง ด้วยเหตุนี้จึงเรียกการแสดงโขนชนิดนี้ว่า "โขนฉาก" เช่น โขนที่กรมศิลปากรเคยนำออก แสดงหลายชุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×