ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    โขน

    ลำดับตอนที่ #3 : ลักษณะบทโขน

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 787
      0
      27 ม.ค. 50

    ประกอบด้วย

           บทร้อง  ซึ่งบรรจุเพลงไว้ตามอารมณ์ของเรื่อง บทร้องแต่งเป็นกลอนบทละครเป็นส่วนใหญ่ อาจมีคำประพันธ์ชนิดอื่นบ้างแต่ไม่นิยม บทร้องนี้จะมีเฉพาะโขนโรงในและโขนฉากเท่านั้น

            บทพากย  การแสดงโขนโดยทั่วไปจะเดินเรื่องด้วยบทพากย์ ซึ่งแต่งเป็นคำประพันธ์ชนิดกาพย์ฉบัง 16 หรือกาพย์ยานี 11 บทมีชื่อเรียกต่าง ๆ ดังนี้
    1  พากย์เมือง หรือพากย์พลับพลา คือบทตัวเอก เช่น ทศกัณฐ์หรือพระรามประทับในปราสาทหรือพลับพลา เช่น

     

    ครั้นรุ่งแสงสุริยโอภา

    พุ่งพ้นเวหา

    คิรียอดยุคันธร

     

    สมเด็จพระหริวงศ์ทรงศร

    ฤทธิ์เลื่องลือขจร

    สะท้อนทั้งไตรโลกา

     

    เสด็จออกนั่งหน้าพลับพลา

    พร้อมด้วยเสนา

    ศิโรตมก้มกราบกราน

     

    พิเภกสุครีพหนุมาน

    นอบน้อมทูลสาร

    สดับคดีโดยถวิล

    2 พากย์รถ เป็นบทชมพาหนะและกระบวนทัพ ไม่ว่าจะเป็นรถ ม้า ช้าง หรืออื่นใดก็ได้ ตลอดจนชมไพร่พลด้วย เช่น

     

    เสด็จทรงรถเพชรเพชรพราย

    พรายแสงแสงฉาย

    จำรูญจำรัสรัศมี

     

    อำไพไพโรจน์รูจี

    สีหราชราชสีห์

    ชักรชรถรถทรง

     

    ดุมหันหันเวียนวง

    กึกก้องก้องดง

    สะเทือนทั้งไพรไพรวัน

     

    ยักษาสารถีโลทัน

    เหยียบยืนยืนยัน

    ก่งศรจะแผลแผลงผลาญ

    3  พากย์โอ้ เป็นบทโศกเศร้า รำพัน คร่ำครวญ ซึ่งตอนต้นเป็นพากย์ แต่ตอนท้ายเป็นทำนองร้องเพลงโอ้ปี่ ให้ปี่พาทย์รับ เช่น

    อนิจจาเจ้าเพื่อนไร้

    มาบรรลัยอยู่เอองค์

    พี่จะได้สิ่งใดปอง

    พระศพน้องในหิมวา

    จะเชิญศพพระเยาวเรศ

    เข้ายังนิเวศน์อยุธยา

    ทั้งพระญาติวงศา

    จะพิโรธพิไรเรียม

    ว่าพี่พามาเสียชนม์

    ในกมลให้ตรมเกรียม

    จะเกลี่ยทรายขึ้นทำเทียม

    ต่างแท่นทิพบรรทม

    จะอุ้มองค์ขึ้นต่างโกศ

    เอาพระโอษฐ์มาระงม

    ต่างเสียงพระสนม

    อันร่ำร้องประจำเวร

    4 พากย์ชมดง เป็นบทตอนชมป่าเขา ลำเนาไพร  ทำนองตอนต้นเป็นทำนองร้อง เพลงชมดงใน ตอนท้ายเป็นทำนองพากย์ธรรมดา เช่น

     

    เค้าโมงจับโมงมองเมียง

    คู่เค้าโมงเคียง

    เคียงคู่อยู่ปลายไม้โมง

     

    ลางลิงลิงเหนี่ยวลดาโยง

    ค่อยยุดฉุดโชลง

    โลดไล่ในกลางลางลิง

     

    ชิงชังนกชิงกันสิง

    รังใครใครชิง

    ชิงกันจับต้นชิงชัน

     

    นกยูงจับพยูงยืนยัน

    แผ่หางเหียนหัน

    หันเหยียบเลียบไต่ไม้พยูง

    5  พากย์บรรยาย เป็นบทขยายความเป็นมา ความเป็นไป หรือพากย์รำพึงรำพันใดๆ เช่น พากย์บรรยายตำนานรัตนธนู

     

    เดิมทีธนูรัตน

    วรฤทธิเกรียงไกร

    องค์วิศวะกรรมไซร้

    ประดิษฐะสองถวาย

     

    คันหนึ่งพระวิษณุ

    สุรราชะนารายณ์

    คันหนึ่งนำทูลถวาย

    ศิวะเทวะเทวัน

     

    ครั้นเมื่อมุนีทัก-

    ษะประชาบดีนั้น

    กอบกิจจะการยัญ-

    ญะพลีสุเทวา

     

    ไม่เชิญมหาเทพ

    ธก็แสนจะโกรธา

    กุมแสงธนูคลา

    ณ พิธีพลีกรณ์

    6  พากย์เบ็ดเตล็ด เป็นบทที่ใช้ในโอกาสทั่วๆ ไป เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เข้าประเภทใด เช่นกล่าวว่า ใครทำอะไร หรือพูดกับใคร ว่าอย่างไร เช่น

     

    ภูวกวักเรียกหนุมานมา

    ตรัสสั่งกิจจา

    ให้แจ้งประจักษ์ใจจง

     

    แล้วถอดจักรรัตน์ธำมรงค์

    กับผ้าร้อยองค์

    ยุพินทรให้นำไป

     

    ผิวนางยังแหนงน้ำใจ

    จงแนะความใน

    มิถิลราชพารา

     

    อันปรากฏจริงใจมา

    เมื่อตาต่อตา

    ประจวบบนบัญชรไชย

    บทเจรจา  

    เป็นบทกวีที่แต่งเป็นร่ายยาว ส่งและรับสัมผัสกันไปเรื่อยๆ ใช้ได้ทุกโอกาส  สมัยโบราณเป็นบทที่คิดขึ้นสดๆ เป็นความสามารถของคนพากย์ คนเจรจา ที่จะใช้ปฏิภาณคิดขึ้นโดยปัจจุบัน ให้ได้ถ้อยคำสละสลวย มีสัมผัสแนบเนียน และได้เนื้อถ้อยกระทงความถูกต้องตามเนื้อเรื่อง  ผู้พากย์เจรจาที่เก่งๆ ยังสามารถใช้ถ้อยคำคมคาย เหน็บแนมเสียดสี บางครั้งก็เผ็ดร้อน โต้ตอบกันน่าฟังมาก  ปัจจุบันนี้ บทเจรจาได้แต่งไว้เรียบร้อยแล้ว ผู้พากย์เจรจาก็ว่าตามบทให้เกิดอารมณ์คล้อยตามถ้อยคำ โดยใช้เสียงและลีลาในการเจรจา  ผู้พากย์และเจรจาต้องทำสุ้มเสียงให้เหมาะกับตัวโขน และใส่ความรู้สึกให้เหมาะกับอารมณ์ในเรื่อง

    คนพากย์และเจรจานี้ใช้ผู้ชาย คนหนึ่งต้องทำหน้าที่ทั้งพากย์และเจรจา และต้องมีไม่น้อยกว่า 2 คน จะได้โต้ตอบกันทันท่วงที  เมื่อพากย์หรือเจรจาจบกระบวนความแล้ว ต้องการจะให้ปี่พาทย์ทำเพลงอะไรก็ร้องบอกไป เรียกว่า "บอกหน้าพาทย์" และถ้าการแสดงโขนนั้นมีขับร้อง คนพากย์และเจรจายังจะต้องทำหน้าที่บอกบทด้วย การบอกบทจะต้องบอกให้ถูกจังหวะ

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×