ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยายสไตล์ลาเวนเดอร์

    ลำดับตอนที่ #3 : (Sent) หวานใจพี่รหัส -- ริเศรษฐ์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 57
      1
      5 พ.ย. 61


    เรื่อง :: หวานใจพี่รหัส


    นามปากกา :: ริเศรษฐ์

    ลิงก์ :: http://my.dek-d.com/risait444/writer/view.php?id=1361915




    ก่อนอื่นต้องขออภัยที่หายไปนานมากเลยนะคะ กลับมาทำงานต่อแล้วค่ะ ;-;

     

    ด้านการบรรยาย/การเล่าเรื่อง

    ก่อนอื่นต้องขอชมว่าการบรรยายโดยรวมถือว่าอ่านได้ง่าย ไม่ใช้คำศัพท์ชวนงง คือเป็นนิยายอ่านได้เรื่อย ๆ สบาย ๆ และคำผิดเท่าที่เห็นเรียกได้ว่ามีน้อยมาก จึงไม่ทำให้การอ่านสะดุดเท่าไหร่นัก

     

    ส่วนที่รู้สึกแปลก ๆ มีอยู่ไม่กี่จุด ซึ่งทุกบทก็จะออกแนวคล้าย ๆ กันดังนั้นจะพูดโดยสรุปรวมก่อนแล้วกันนะคะ

    ประการแรกคือการเว้นวรรค เราว่ามีการเว้นวรรคไม่ถูกในบางจุด คือบางทีมันไม่จำเป็นต้องเว้นก็ได้ และการเว้นแบบมาตรฐานคือกด space bar 1 ครั้งพอค่ะ มากกว่านั้นมันจะทำให้ดูอ่านยาก

    ประการที่สอง อ่านแล้วรู้สึกว่าผู้เขียนไม่ค่อยใช้คำเชื่อมประโยคเท่าไหร่ เหมือนเอาประโยคต่าง ๆ มาแปะเรียงต่อ ๆ กัน อ่านแล้วจึงรู้สึกสะดุด ไม่ลื่นไหล คือฉากมันขาดความเป็นเอกภาพกันน่ะคะ ไม่กลมกลืนกัน


    เริ่มด้วยฉากเปิด

     

    อย่างแรกคือกด space bar เยอะเกิน อย่างที่บอกไปตอนต้นว่ากดครั้งเดียวก็พอ และตรงประโยค “แต่ไม่สำเร็จ” ส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็นต้องเว้นวรรคก็ได้ค่ะ เขียนติดกันเป็น “หลังจากวางแผนให้ทั้งคู่พบกันมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ไม่สำเร็จ เพราะพี่ชายตัวดีตันติดธุระ”


    ต่อมา นภา นางเอก(?) เดินไปตามหาเพื่อน ซึ่งจุดนี้อ่านแล้วขัดมาก เนื่องจากมันเป็นเหมือนเอาประโยคโดด ๆ มาแปะเรียงกันโดยไม่มีคำเชื่อม


    เท่าที่อ่าน ดูเหมือนผู้เขียนพยายามละประธาน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเพราะในงานเขียน บางประโยคก็สามารถละประธานได้ถ้าประโยคก่นหน้าหรือบริบทบ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นใคร แต่กับประโยคนี้น่าละประธานได้ เพราะเป็นการบรรยายถึงสองบุคคล ได้แก่เพื่อน (ปาร) และนภา จึงสมควรมีประธานบอกว่าใครทำกิริยาอะไร หรือถ้าจะละประธานเพื่อน ก็ต้องเอาประโยคที่ว่า น่าจะมาถึงสถานีรถไฟแล้ว เป็นประโยคในความคิดแทน

    เช่น  (1) เมื่อปลีกตัวออกมาได้ก็ตามหาเพื่อนซี้ทันที ปารน่าจะมาถึงสถานีแล้ว นภากวาดตามองหาเพื่อน

           (2) เมื่อปลีกตัวออกมาได้ก็ตามหาเพื่อนซี้ทันที

         น่าจะมาถึงสถานีแล้วนภากวาดตามองหาเพื่อน



    แล้วก็พากันไปขึ้นรถไฟ


    ส่วนฉากนี้รู้สึกว่าใช้คำว่า รถไฟ ซ้ำกันเยอะเกินไป สามารถตัดออกได้ เช่นตรงประโยค เดินแทรกผู้คนที่ยืนรอรถไฟอยู่เต็มชานชาลา จุดนี้ตัดรถไฟออกได้ เหลือเป็น เดินแทรกผู้คนที่ยืนอยู่เต็มชานชาลาเพราะโดยปกติแล้ว คนที่ไปยืนที่ชานชาลาย่อมต้องไปรอรถไฟอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่เพิ่มมาอีก

    และเช่นกัน ประโยค เตรียมพร้อมที่จะขึ้นรถไฟ อันนี้คิดว่าไม่ต้องใส่ก็ได้ค่ะ เพราะก่อนหน้านี้ก็บอกอยู่แล้วว่าสองคนนี้กำลังรอรถไฟอยู่


    นภาเห็นว่าพี่ชายเดินไปหาเพื่อนพอดีเลยดีใจมากเพราะอยากจับคู่ให้สองคนนี้มานานอยู่แล้ว 


    ตามปกติ ประโยคบรรยายมักไม่ใส่ ! กัน ยกเว้นเป็นการบรรยายแบบ pov1 และดูจากรูปประโยคของฉากนี้แล้ว คิดว่าต่อให้เป็น pov1 ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ ! อะค่ะ มันไม่ได้มีอะไรน่าตื่นตระหนกตกใจหรือตื่นเต้นขนาดนั้น โดยเฉพาตรง จ๊ะเอ๋! กัน!’ มันดูขัดอารมณ์เกินไปค่ะ


    และเพราะดีใจมาก เลยไปเหยียบเท้าคนหนึ่งเข้า แล้วก็เลยเถียงกันเพราะนรินทร์ พระเอก(?) บอกว่านภาไม่ดูทาง ส่วนนภาก็บอกว่าพระเอกไม่ดูทางเหมือนกันนั่นแหละ



    ฉากนี้คือตัวอย่างของทั้งสองประการที่พูดไว้ข้างต้น คือวรรคโดยไม่จำเป็นกับขาดคำเชื่อมประโยค

    ตรง “แล้วรีบหันไปดู” คิดว่าไม่จำเป็นต้องวรรคก็ได้ สามารถเขียนติดกับประโยคก่อนหน้า และประโยค “ไม่เห็นทั้งคู่ยืนอยู่ที่เดิม” ตรงนี้สมควรเขียนคำเชื่อมประโยคก่อนคะ โผล่ขึ้นมาโดด ๆ แบบนี้มันห้วนเกินไป อาจเพิ่มคำว่า แต่ แล้วเข้าไปเป็น “หันไปดูพี่ชายแต่ไม่เห็นทั้งคู่ยืนอยู่ที่เดิมแล้ว”

    อีกอย่างคือ คำว่า อีกฝ่าย มักใช้แทนฝ่ายตรงข้ามกับ narrator ในฉาก ซึ่งตอนนี้คนคนนั้นคือนภา และเพราะนภาไม่สามารถเป็นฝ่ายตรงข้ามในส่วนการเล่าเรื่องของตัวเองได้ ดังนั้น คำว่าอีกฝ่ายจึงควรใช้แทนตัวนรินทร์มากกว่า

     

    ด้วยความชุลมุนทำให้ปารคลาดกับเพื่อนนภา ไปคว้ามือใครก็ไม่รู้มาแทน


    คือก็คล้าย ๆ กับที่เขียนไปด้านบนค่ะ ไม่จำเป็นต้องใช้ ! และขาดคำเชื่อมประโยคไปพอสมควรเลย ทำให้ประโยคโดดมาก เช่น “ร่างสูงโปร่งทำให้เธอแทบจะต้อง” อันนี้มาโดดมาก หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะการเว้นวรรคที่ผิดพลาดก็ได้ เพราะถ้าจะรวบประโยคเป็น “แต่กลับเป็นชายหนุ่มร่างสูงโปร่งจนเธอแทบจะต้องแหงนคอมองเขาเลยทีเดียว” คิดว่าน่าจะดูลื่นไหลกว่าเยอะ

    ส่วน “มองมือตัวเอง” กับ รีบปล่อยมือ…” ก็เป็นประโยคที่โดดมากเช่นกัน สมควรต้องมีคำเชื่อมอย่าง เมื่อ ก็หรือ เมื่อจึง ด้วย


    ปารกับนภามาถึงมหาวิทยาลัยแล้วและได้เข้าร่วมการรับน้อง

    พอเป็นฉากยาว ๆ แล้วจะยิ่งเห็นชัดเจนค่ะ ว่าการไม่มีคำเชื่อมมันทำให้ฉากกลายเป็นอย่างไร คือยิ่งรู้สึกว่าเหมือนเอาประโยคมาตัดแปะกันเฉย ๆ อะค่ะ ขาดความเป็นเอกภาพมาก



    แล้วนภาก็ได้เจอกับนรินทร์ ชายหนุ่มที่เพิ่งมีเรื่องกันไปบนรถไฟอีกครั้ง และพบว่าอีกฝ่ายเป็นรุ่นพี่ทีคณะตัวเองไปซะงั้น


    คำว่า ซึ่งเป็นคำเชื่อมที่ไม่เหมาะกับบริบทนี้เท่าไหร่ เพราะซึ่งเป็นคำเชื่อมสองประโยคเพื่อละประธานของประโยคหลัง แต่ในประโยคนี้ “หนุ่มหล่อที่เธอเพิ่งมีเรื่องกับเขา” ไม่ใช่ประโยค แต่เป็นประธานที่มีคำขยาย (‘หนุ่มหล่อ เป็นประธาน ที่เพิ่งมีเรื่องด้วย เป็นคำขยายเพื่อเจาะจงประธาน) ดังนั้นจึงสามารถต่อด้วยกิริยา (กำลังแจกหมวกกระดาษ) ได้เลย ไม่ต้องมีคำเชื่อม 



    เนื่องจากว่าฉากต่อ ๆ มาก็คล้ายกับฉากก่อนหน้า ดังนั้นจะขอข้ามไปเพื่อความรวดเร็วนะคะ มาต่อที่ปารได้เป็นน้องรหัสของยนตร์พี่ชายนภา ซึ่งยนตร์ไม่ว่างเลยฝากหนังสือเรียนไปกับนรินทร์ ให้เอาไปให้น้องรหัสหน่อย



    คือคำว่าพลาง มันเป็นคำบอกว่าเราทำสองอย่างไปพร้อมกัน ดังนั้นจึงควรมีกิริยาสองตัวว่าทำอะไรคู่กับอะไร อย่างในฉากนี้ ควรจะเป็น พูดพลางตบไล่เพื่อนเบา ๆ หรือ ว่าพลางตบไหล่เพื่อนเบา ๆ  


    นรินทร์แสดงออกว่าชอบปาร นภาที่หวงเพื่อน ไม่ชอบนรินทร์ และอยากให้เพื่อนคู่กับพี่ชายเลยพยายามขัดขวาง       


    อันนี้ใช้คำซ้ำซ้อนมาก ทั้ง มอง และ อดไม่ได้น่าจะต้องปรับเปลี่นรูปประโยคเล็กน้อย

    เช่น นภาเห็นนรินทร์มองปารแล้วอดหมั่นไส้ไม่ได้ เลยต้องเข้าไปขัดจังหวะการมองเสียหน่อย

     

    จริง ๆ ว่าจะไม่แก้คำผิด แต่ตรงนี้ขอแก้เสียหน่อยค่ะ คือคำว่า ของของ ต้องเขียนแบบนี้ เพราะเป็นคำคนละหน้าที่กัน เครื่องหมาย ๆ ใช้เฉพาะคำที่หน้าที่เหมือนกันเท่านั้น


    ของ ตัวแรกเป็นคำสามัญนาม ส่วน ของ คำที่สองเป็นคำลักษณะนาม ดังนั้นจึงใช้ ๆ ไม่ได้

    คำว่า คนคนนั้น ก็เช่นกัน


    เนื่องจากว่าจุดนู้นจุดนี้ในบทต่าง ๆ ก็เหมือนกันเกือบจะทั้งหมด ดังนั้นขอข้ามไปนะคะ เพราะมันก็ซ้ำเดิมแหละค่ะ (แต่เราอ่านทั้ง 20 บทนะเออ ไม่ได้ข้าม)


    มาต่อที่บทเกือบจะท้าย ๆ ตอนที่ไปรับน้องที่ต่างจังหวัดกัน


    ตรงนี้ไม่ต้องเตอมเครื่องหมาย ? เพราะมีคำที่ใช้แสดงคำถามอยู่แล้ว (เปล่า) การจะใช้เครื่องหมาย ? จะใช้ก็ต่อเมื่อไม่มีคำแสดงการเป็นคำถา แต่ต้องการให้ประโยคเป็นประโยคคำถาม เช่น เอาจริง?

    และต่อให้ต้องใส่เครื่องหมายคำถาม มันก็มาแทรกผิดที่ด้วยอะค่ะ มาซะกลางประโยคเลย

     


    ตอนทำกิจกรรม นรินทร์ไปจับตัวนภาซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดกฎ จึงต้องถูกลงโทษ


    ตรงประโยคคำพูดใส่เครื่องหมายตกใจนั้นถูกต้องแล้วเพราะแสดงถึงอาการเสียงดัง แต่ตรงบทบรรยายไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องหมาย ! ก็ได้ และถึงจะใส่ โดยปกติแล้วจะใส่แค่ตัวเดียวเท่านั้น ใส่สองตัวมันดูตกใจแบบโอเวอร์เกินไปหน่อย แบบดูตื่นตะลึงน่ามหัศจรรย์โอ้ว้าว แถมไม่ตรงตามหลักด้วย 


    ในส่วนของการบรรยาย/การเล่าเรื่องก็ขอจบเพียงเท่านี้ เพราะโดยมากก็เป็นเหมือนกับที่พูดไปแล้ว ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่

    ดังนั้นมาต่อที่ความสมเหตุสมผลกันค่ะ



    ความสมเหตุสมผล


    เท่าที่อ่านมาก็ถือว่า ตัวละครต่าง ๆ มีความสมเหตุสมผลอยู่ในระดับที่ค่อนข้างโอเคทีเดียว ยังไม่มีใครทำอะไรที่ประหลาดเกินกว่าสามัญสำนึกของมนุษย์ปกติธรรมดาจะเข้าใจได้ และในส่วนของการคีปคาแรกเตอร์ ถือว่าทำได้ดีเลยค่ะ ตัวละครมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนและคงที่ ไม่แกว่งไปแกว่งมาหรือจู่ ๆ ก็เปลี่ยนลักษณะนิสัยกะทันหันโดยไม่มีเหตุผลอะไรมารองรับ


    ทางด้านเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็โอเค เป็นเหตุการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ยังไม่มีอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลมากนัก (จริง ๆ มีอยู่จุดนึงค่ะที่แปลกใจอยู่หน่อย ๆ แต่เดี๋ยวจะพูดข้างล่างนะคะ) 


    เริ่มต้นที่นภาก่อนค่ะ เพราะรู้สึกว่าเป็นคนที่มีบทเยอะมากที่สุดในเรื่อง ส่วนคนอื่นจะพูดแทรกไปนะคะ


    จากการบรรยาย รู้สึกว่าเธอเป็นเด็กที่เห็นแก่ตัวและเอาแต่ใจพอสมควรเลย อาจจะเพราะว่าเป็นน้องสาวคนเล็ก มีพี่ชายคอยตามใจตลอด จึงอาจจะทำอะไรเอาแต่ใจตัวเองไปบ้าง


    จุดที่เรารู้สึกว่าเธอเอาแต่ใจไปหน่อยก็คือเรื่องพี่ชายกับปารนี่แหละค่ะ คือทั้งที่พี่ชายกับเพื่อนก็ไม่ได้เจอกันทั้งหกปีแล้ว เป็นเรื่องน่าแปลกที่เธอยังอยากให้พี่ชายกับเพื่อนคู่กันตลอด และยังพยายามจับคู่โดยที่ไม่ยอมให้คนอื่นเข้ามาแทรกเลย และที่สำคัญก็คงเหมือนกับที่นรินทร์บอกว่าเธอไม่เคยถามความเห็นของพี่ชายหรือปารเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาสองคนชอบกันหรือเปล่า มีแต่คิดเองเออเองว่าเออสองคนนี้เหมาะสมกัน ทั้งที่ความเหมาะสมไม่ใช่สาเหตุเดียวที่จะทำให้คนสองคนรักกันได้ยืนนานเลย


    และจากเรื่องที่ว่าเธออยากให้ปารมาเป็นพี่สะใภ้มาก ทำให้เราแปลกใจว่าแล้วทำไมปารถึงจำหน้ายนตร์ไม่ได้เลย ทั้งที่เธอเป็นเพื่อนสนิทกับนภา นภาก็ต้องเคยเอารูปพี่ชายมาให้ดูอยู่บ้างสิ แม้ว่าพี่ชายจะไปอยู่กรุงเทพหรือไปต่างประเทศ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สาทารถติดต่อกันได้เสียหน่อย แล้วตอนนี้ไม่ใช่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่คนธรรมดาอย่างเรา ๆ จะไม่สามารถส่งจดหมายหากันเป็นระยะทางไกล ๆ ได้ เดี๋ยวนี้เรามี LINE มี Facebook มีอีเมล์ที่ทำให้สามารถส่งรูปถึงกันและกันได้ ยิ่งถ้านภาต้องการให้ปารเป็นพี่สะใภ้ เธอก็ต้องยิ่งพยายามไซโค พยายามอวดพี่ชายบ่อย ๆ สิ จุดนี้ที่ไม่เมคเซนส์เท่าไหร่


    ในฉากที่นภากับปารเจอจันทร์เจ้าซึ่งเป็นผู้หญิงที่ยนตร์เคยพยายามจีบแต่ไม่สำเร็จเลยอกหัก แล้วนภาก็คิดในใจว่าอ้อ นี่น่ะหรือผู้หญิงที่พี่ชายเคยชอบ หน้าตาเป็นแบบนี้นี่เอง คือเรางงจุดนี้มากค่ะ ถ้าเธอรู้ว่าผู้หญิงคนนี้คือคนที่พี่ชายเคยตามจีบ ทำไมถึงพูดเหมือนเพิ่งเคยเจอเป็นครั้งแรกคะ คือถ้าไม่รู้จักหน้า แล้วรู้ได้ไงว่านี่คือคนที่พี่ชายเคยตามจีบอะ


    ปารบอกว่าผู้หญิงคนนี้สวยเนอะ นภาก็คิดในใจว่า เหอะ แต่งหน้าขนาดนี้ วัน คงไม่ทำงานทำการอะไรเลยสินะ เอาแต่แต่งสวย คนแบบเนี่ยไม่เหมาะกับพี่ชายฉันหรอก เพราะว่าครอบครัวฉันเป็นคนที่ชอบความเรียบง่าย คนที่แต่งหน้านี่คือเข้ากับเราไม่ได้ ดีแล้วที่พี่ชายฉันจีบไม่ติด... คือเราไม่อาจเข้าใจตรรกะนี้ได้เลย  แต่งหน้าแล้วเกี่ยวอะไรกับการทำงาน คนแต่งหน้าคือวันวันเอาแต่ห่วงสวยไม่ทำงานทำการหรือ ไม่น่าใช่มั้งคะ เพราะเท่าที่เราเคยเดินบนถนนสีลมหรือสาทร พนักงานบริษัทที่เดินไปตามถนนแทบจะนับนิ้วได้เลยนะคะคนที่ไม่ได้แต่งหน้าอะ  คือลองคิดดูนะ ถ้าเราเป็นพนักงานที่ต้องไปเจอลูกค้า เราจะกล้าหน้าสดไปหาลูกค้าหรือ คิดว่าไม่ 


    ที่สำคัญคือ เรารู้สึกว่าบางทีบทมันก็พยายามยัดคำพูดเขาปากนภามากเกินไป เหมือนพยายามทำให้เธอดูพูดจามีศีลธรรม มีหลักการทั้งทั้งที่มันดูเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีคนพูดแบบนั้นในชีวิตจริง เช่น ฉากที่นริทร์ชวนนภาไปซื้อน้ำที่ร้านสะดวกซื้อ นภาบอกว่าไม่เอา ไปกินร้านข้างถนนดีกว่าเพราะไม่อยากสนับสนุนกลุ่มนายทุน อยากสนับสนุนคนหาเช้ากินค่ำ นรินทร์ก็รู้สึกว่าเธอนี่ช่างมีความคิดที่ดีเหลือเกิน ตัวเขาเองก็ไม่เคยคิดในแง่มุมนี้มาก่อน มันดูยัดเยียดบทเกินไปอะ


    อีกฉากคือตอนที่นภาไปซื้อก็บอกแม่ค้าว่าไม่เอาหลอดและถุงพลาสติกนะคะ แม่ค้าก็ทำหน้างง เธอเลยตอบว่า อ๋อเพราะว่าอยากลดโลกร้อนค่ะก็เลยลดการใช้พลาสติก แล้วหลอดเนี่ยแม้กระทั่งโรงงานเค้ายังไม่รับไปรีไซเคิลเลยนะคะ มันแปลกมาก เพราะปกติเวลาเราไม่รับถุง ไม่มีแม่ค้าคนไหนเขาทำหน้าสงสัยหรอกว่าทำไมไม่รับถุง แถมจะยังดีใจเพราะว่าลดต้นทุนไปอีก ถึงแม่ค้าทำหน้าสงสัย แต่ถ้าไม่ได้ถาม คนปกติก็คงไม่ไปอธิบายให้ฟังเป็นฉาก หรอกว่าทำไม ไม่ว่ามองมุมไหนมันก็ยัดเยียดจริง แหละค่ะ


    ทีนี้ตอนไปทริปรับน้อง นรินทร์กับยนตร์ก็ไปเช่าพวกรถราคาถูก มาแล้วเสียกลางทาง นรินทร์คิดในใจว่าเพราะว่าเราไม่อยากสนับสนุนกลุ่มนายทุน อยากสนับสนุนชาวบ้านธรรมดาหาเช้ากินค่ำคือเราอ่านแล้วงงว่าเกี่ยวอะไร นี่มันเรื่องความปลอดภัยไหมอะ พาน้องไปตั้งกี่ชีวิตแล้วยังไปเช่ารถถูก ด้วยเหตุผลอย่างอยากสนับสนุนชาวบ้านอีก แถมเหตุผลนั้นก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่นภาเคยบอก ก็เลยรู้สึกว่านรินทร์ถูกล้างสมองง่ายไปไหม


    ทางด้านปาร เรารู้สึกว่าเธอเป็นหญิงสาวที่ค่อนข้างหัวโบราณไปหน่อย ซึ่งเรื่องนี้จะไม่วิจารณ์เพราะมันก็ไม่ได้แปลกอะไร เราก็มีเพื่อนบางคนที่หัวโบราณจริง ๆ เนื่องจากครอบครัวเลี้ยงมาแบบนั้น แต่สงสัยอย่างหนึ่งค่ะ ตอนที่ปารตามหายาตร์ ไม่รู้ว่าพี่รหัสไปอยู่ไหน แล้วไม่กล้าถามคนอื่นเพราะรู้สึกว่าเป็นผู้หญิงไปถามหาผู้ชายมันก็ไม่เหมาะสม... คือการที่ถามหาปกติไม่ได้มีเจตนาอะไร ยิ่งเป็นพี่รหัสแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไม่เหมาะสมขนาดนั้นอะค่ะ ถึงจะเป็นคนหัวโบราณก็เถอะ ไม่จำเป็นต้องกลัวว่าจะมีคนคิดไม่ดีขนาดนั้น ส่วนตัวเองซื้อของไปฝากพี่รหัสและน้องรหัสที่เป็นผู้ชายหลายรอบเหมือนกัน พอไม่เจอก็ตามหาจากเพื่อน ๆ ของเขา ก็ไม่มีใครคิดว่าเราคิดอะไรกับพี่หรือน้องรหัสนะ คือเขาก็รู้ว่าที่ซื้อให้ที่ตามหาเพราะเป็นสายรหัสกัน




    ทั้งหมดก็ประมาณนี้ ขออนุญาตจบบทวิจารณ์เพียงเท่านี้นะคะ และขอบคุณที่มาใช้บริการของเราค่ะ! ^^



    ____________________________________________________________




    แบบฟอร์มรับคำวิจารณ์


    ชื่อเรื่อง :: 

    นามปากกา ::

    วันที่รับ ::

    อ่านคำวิจารณ์แล้วรู้สึกอย่างไรบ้างคะ :: 

    มีอะไรจะบอกกับเราไหมคะ บอกได้ เราใจดี~ ::



    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×