L@k$Am0Ln
ดู Blog ทั้งหมด

ทำไม...แล้วก็ทำไม...เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมถึง....

เขียนโดย L@k$Am0Ln
ทำไม....ทำไม...แล้วก็ทำไม...เคยสงสัยกันไหมว่าทำไม...ก็นั่นน่ะสิ...ทำไมล่ะ
 
1. ทำไมหมาเห่าใบตองแห้ง



หมาเห่าใบตองแห้ง
เป็นสำนวน มีความหมายว่า พูดเอะอะแสดงวาจาว่าเป็นคนเก่งกล้าไม่กลัวใคร แต่จริง ๆ แล้วขี้ขลาดและไม่กล้าจริง

หมาเห่าใบตองแห้ง เป็นสำนวนที่เปรียบเทียบกับสุนัขที่ชอบเห่าใบตองแห้ง คือเห่าใบกล้วยที่แห้งติดอยู่กับต้น เวลาลมพัดใบกล้วยแห้งจะแกว่งหรือเสียดสีกัน มีเสียงแกรกกราก สุนัขเห็นอะไรไหว ๆ หรือได้ยินเสียงแกรกกรากก็จะเห่าขึ้น แต่ก็เห่าไปอย่างนั้นเอง ไม่กล้าไปกัดใบตองแห้ง


กิริยาของสุนัขนี้จึงนำมาเปรียบกับคนที่ชอบพูดจาเอะอะในลักษณะที่อวดตัวว่าเก่งกล้า แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ได้กล้าสมกับคำพูด เช่น พวกนี้หมาเห่าใบตองแห้งทั้งนั้น ได้แต่ตะโกนด่าเขาลับหลัง ถ้าเขาเอาจริงก็ขี้คร้านจะวิ่งหนีไม่ทัน

ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย"

2. ทำไมเรียกอเมริกาว่า เมืองลุงแซม



บ่อยครั้งที่ได้ยินคนใช้คําว่า "ลุงแซม" แทนคําว่าสหรัฐอเมริกา เช่น เมืองลุงแซม มีใครเคยสงสัยไหมว่า "ลุงแซม" น่ะมีตัวตนจริงหรือเปล่า
ความจริงแล้วเรื่องมันมีที่มาว่า ระหว่างการสงครามเมื่อปี 1812 นายแซมวล วิลสัน แห่งเมืองทรอย นิวยอร์ค เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้บรรจุเนื้อเค็มลงถังส่งไปให้ทหารแนวหน้า ซึ่งก่อนที่จะส่งไปนั้น วิลสัน จําเป็นจะต้องตรวจสอบให้เรียบร้อย ดังนั้น เพื่อแสดงว่าเขาได้ตรวจสอบเนื้อเค็มแล้ว วิลสันได้ประทับอักษร "U.S." ลงบนแผ่นเนื้อ เพื่อระบุว่ามันเป็นของรัฐบาล แต่เพื่อนบ้านของวิลสันผู้ชอบเรียกเขาว่า "ลุงแซม" กลับไปตีความหมายว่าเป็นชื่อย่อของ "Uncle Sam Wilson" 
 
หลายปีผ่านไป หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งสร้างรูปการ์ตูนชื่อ "ลุงแซม" เป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลอเมริกัน และภาพนั้นก็แพร่หลายยิ่งขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยโชว์รูป "ลุงแซม" ไว้ในดาวและแถบของธงสหรัฐ การ์ตูน ลุงแซมที่ดังมากคือ รูปนิ้วชี้แล้วพูดว่า "ผมต้องการคุณเพื่อนกองทัพบกสหรัฐ" เรื่องก็เป็นเช่นนี้นั่นเอง 

ที่มา:wikipedia

3. ทำไมเรียกเงาะโรงเรียน



ก็เพราะเงาะพันธ์นี้ไม่ได้ปลูกในวิทยาลัยอาชีวะหรือในมหาวิทยาลัยนะสิ


เงาะโรงเรียนหรือเงาะพันธุ์โรงเรียน เป็นเงาะพันธุ์ที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน เงาะในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ตลอดทั้งเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ก็ไม่มีประเทศใดที่มีเงาะคุณภาพดีเท่ากับเงาะพันธุ์โรงเรียน แม้แต่ในมาเลเซียซึ่งเราได้เมล็ดเงาะพันธุ์นี้มา จึงกล่าวได้ว่าเงาะพันธุ์โรงเรียนเป็นเงาะพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลกเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้


คำว่า "โรงเรียน" หมายถึง โรงเรียนนาสาร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เงาะต้นแม่พันธุ์มีเพียงต้นเดียว ปลูกด้วยเมล็ดเมื่อปี พ.ศ.2469
โดยชาวจีนผู้หนึ่งมีสัญชาติมาเลเซีย ชื่อ Mr. K. Wong มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เมืองปีนัง บุคคลผู้นี้ได้เข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกที่หมู่บ้านเหมืองแกะ ตำบลนาสาร อำเภอบ้านนาสาร ตรงกันข้ามกับโรงเรียนนาสาร เมื่อ Mr. K. Wong มาทำเหมืองแร่ก็ซื้อที่ดินริมทางรถไฟด้านทิศตะวันตก ใกล้กับสถานีรถไฟนาสารเป็นเนื้อที่ 18 ไร่ แล้วสร้างบ้านพักบนที่ดินดังกล่าว เมื่อสร้างบ้านเสร็จ Mr. K. Wong ก็นำพันธุ์(เมล็ด)เงาะมาจากเมืองปีนัง(ขณะนี้เงาะพันธุ์นี้ที่เมืองปีนึงไม่มีแล้ว) มาปลูกข้างบ้านพักจำนวน 4ต้น ต่อมาปรากฏว่าเงาะมีลูกเป็นสีเหลืองบ้าง แดงบ้าง รสเปรี้ยวบ้าง หวานบ้าง เฉพาะต้นที่ 2 นับจากทิศตะวันออกมีลักษณะพิเศษกว่าต้นอื่น คือ เนื้อสุกแล้วเปลือกผลเป็นสีแดง แต่แม้สุกจัดเท่าไหร่ก็ตาม ขนที่ผลยังมีสีเขียวอยู่ รูปผลค่อนข้างกลม เนื้อกรอบ หวาน หอม เปลือกบาง เงาะต้นนี้คือ
"เงาะพันธุ์โรงเรียน"

สาเหตุที่เรียกว่าเงาะพันธุ์โรงเรียน เพราะในปี พ.ศ.2479 Mr. K. Wong ต้องเลิกล้มกิจการเหมืองแร่และเดินทางกลับไปอยู่ที่เมืองปีนังภูมิลำเนาเดิม จึงขายที่ดินดังกล่าวพร้อมด้วยบ้านพักให้แก่กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) แผนกธรรมการ อำเภอบ้านนา (อำเภอบ้านนาสาร)
ทางราชการจึงปรับปรุงบ้านพักใช้เป็นอาคารเรียน และย้ายโรงเรียนนาสารซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่วัดนาสารมาอยู่อาคารดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 พฤศจิการยน พ.ศ.2479 แต่เงาะพันธุ์โรงเรียนในขณะนั้นยังมิได้แพร่หลายแต่ประการใด เนื่องจากการส่งเสริมทางการเกษตรยังไม่ดีพอ ในปี พ.ศ.2489-2498 มีบุคคลตอนกิ่งไปขายพันธุ์เพียง 3-4 รายเท่านั้น

ครั้นถึงปี  พ.ศ.2500-2501 ได้มีกรรมวิธีแพร่พันธุ์เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือการทาบกิ่ง มีการทาบกิ่งเงาะต้นนี้ไปเป็นจำนวนมาก ในระยะเดียวกันนั้น เงาะที่มาจากจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส คือเงาะพันธุ์ยาวี เจ๊ะโมง เปเราะ ก็เข้ามาแพร่หลายพอสมควร ประชาชนเห็นว่าเงาะต้นนี้ยังไม่มีชื่อ จึงชักชวนกันเรียกเงาะต้นนี้ว่า "เงาะพันธุ์โรงเรียน" เพราะต้นแม่พันธุ์อยู่ที่โรงเรียนนาสาร

ปี  พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯมาที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้นำชาวสวนเงาะผู้หนึ่งได้ทูลเกล้าฯถวายเงาะพันธุ์โรงเรียน และขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อพันธุ์เงาะนี้เสียใหม่ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ชื่อเงาะพันธุ์โรงเรียนดีอยู่แล้ว" นับแต่นั้นมา ไม่มีใครกล้าที่จะเปลี่ยนชื่อเงาะพันธุ์นี้อีกต่อไป

ที่มา:108 ซองคำถาม

4. ทำไมเรียกลอดช่องสิงคโปร์



ใครจะรู้บ้างว่า คำว่า ลอดช่องสิงคโปร์นั้น แท้จริงแล้วต้นกำเนิดไม่ได้มาจากประเทศสิงคโปร์ แต่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยเรานี่เอง ที่ได้นำแป้งมันสำปะหลังมาปั้น และนวดให้เหนียว รับประทานกับกะทิสด และน้ำเชื่อม น้ำแข็งป่น ก็เพิ่มความสดชื่นให้กับผู้บริโภคได้แล้ว แต่หลายคนคงสงสัยว่าแล้วคำว่า สิงคโปร์ล่ะ มาจากไหน ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันจนติดปาก ถึงบริเวณที่ตั้งร้านนี้ ที่เป็นเจ้าแรก ในการทำ “ลอดช่องสิงคโปร์” นั่นเอง

เพราะหากย้อนไปเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน ร้านนี้บังเอิญไปตั้งอยู่บริเวณ หน้าโรงภาพยนต์สิงคโปร์ (เดิม) หรือโรงหนังเฉลิมบุรี บนถนนเยาวราช และเมื่อลูกค้าจะไปทาน ก็มักจะเรียกว่า “ไปทานลอดช่องหน้าโรงหนังสิงคโปร์” สุดท้ายก็เรียกให้สั้นลงว่า “ลอดช่องสิงคโปร์” แทน

 
ส่งผลให้ร้าน “สิงคโปร์โภชนา” เป็นร้านต้นกำเนิดลอดช่องสิงคโปร์ ที่เรียกกันติดปากมาจนถึงปัจจุบัน โดยนายณรงค์ จักรธีรังกูร เจ้าของร้านสิงคโปร์โภชนา ได้ย้อนอดีตให้ฟังว่า ธุรกิจกิจนี้เป็นของผู้เป็นพ่อ โดยได้รับการถ่ายทอดสูตรมาจากเพื่อนอีกทีหนึ่ง ซึ่งรวมระยะเวลาที่ร้านลอดช่องสิงคโปร์เปิดบริการให้ลูกค้าได้ลิ้มลองก็ประมาณกว่า 60 ปี โดยตั้งที่บริเวณแยกหมอมี ตรงข้ามธนาคาร UOB ถ.เจริญกรุง ซึ่งแต่เดิมเป็นโรงหนังสิงคโปร์ จนกระทั่งถูกรื้อทิ้ง สร้างใหม่เป็นโรงหนังเฉลิมบุรี 
ร้านลอดช่องสิงคโปร์ โภชนานั้น ปัจจุบันได้กลายเป็นตำนานบนถนนเยาวราช เพราะไม่เพียงแต่ความเก่าแก่ที่ครองใจผู้บริโภคมานานกว่า 60 ปีแล้ว ร้านนี้ยังถูกทางสำนักงานเขตสัมพันธ์วงศ์ ได้ขอให้คงอยู่ไว้ เพราะถือว่าร้านนี้กลายเป็นตำนานและเป็นส่วนหนึ่งของเยาวราชที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว

ที่มา:dmc.tv

5. ทำไมถึงเรียก วินมอเตอร์ไซค์



เป็นที่เข้าใจกันว่า วิน หมายถึง "สถานที่ซึ่งผู้ขี่จักรยานยนต์รับจ้างหรือรถตู้โดยสารนำรถมาจอดคอยรับผู้โดยสาร" การจอดนั้นก็ต้องจอดกันอย่างมีระเบียบ กล่าวคือ  ใครมาถึงก่อนก็ได้จอดอยู่ในลำดับต้น ใครมาทีหลังก็ได้จอดต่อ ๆ กันไป ผู้ใช้บริการที่รู้ธรรมเนียมก็จะไปใช้บริการที่คันแรกสุดก่อน

รถที่เข้ามาร่วมในกระบวนการนี้จึงเรียกว่า  "รถวิน" ผู้ขับขี่รถดังกล่าวจึงเรียกว่า "ผู้เข้าวิน" หรือ "ผู้ขับรถวิน" สถานที่จอดรถก็เรียกว่า "วิน" ซึ่งอาจจะเป็นที่สาธารณะหรือที่ส่วนบุคคลก็ได้ผู้ดูแลหรือผู้เก็บค่าธรรมเนียมก็เรียกว่า "เจ้าของวิน" "ผู้คุมวิน" "เจ้าพ่อวิน" "เจ้าแม่วิน" ฯลฯ

คำนี้มาจากภาษาอังกฤษว่า "win" แปลว่า ชัยชนะ ซึ่งได้มาจากการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกีฬา ที่คนไทยรู้จักกันดีก็คือการแข่งม้าตัวที่ชนะที่หนึ่งก็เรียกกันว่า "เข้าวิน" ตัวที่ชนะเป็นที่ 2 ถ้าคิดแบบอเมริกันก็เรียกว่า "เข้าเพลซ" (place) ถ้าคิดแบบอังกฤษตัวที่ชนะเป็นที่สองหรือสามก็เรียกกันว่า "เข้าเพลซ" ได้เหมือนกัน

ในภาษาไทย ความหมายของคำว่า วิน ได้เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น "สถานที่จอดรถ" 
ลักษณะการนำรถเข้ามาจอดแบบมาถึงก่อนได้ก่อน ก็เป็นการแข่งขันกลาย ๆ เมื่อนำรถมาจอดที่ "วิน" ได้ ก็เรียกว่า "เข้าวิน" ทุกคน ไม่มีใคร "เข้าเพลซ" 

ที่มา:108 ซองคำถาม

6. ทำไม มีจุดแดงบนหน้าผากสตรีชาวอินเดีย




จุดแดงที่แต้มกลางหน้าผากเรียกว่า "ติกะ" (Tika) แต่ในบางครั้งอาจเรียกว่า "บินดิ" (Bindi) ซึ่งหมายถึงจุดที่เจิมบริเวณแสกผม โดยใช้นิ้วป้ายขึ้นไปตามรอยแสกผมปัจจุบันจุดบนหน้าผากสตรีอินเดีย อาจเรียกปนกันทั้ง ติกะ และ บินดี
   
สตรีในศาสนาพราหมณ์ฮินดูแต่โบราณนานมา เมื่อแต่งงานแล้วจะแต้มจุดแดงที่กลางหน้าผาก เป็นสัญลักษณ์ของการมีพันธะด้านการครองเรือน ในฐานะผู้เป็นภรรยา ผู้เป็นแม่

สตรีอินเดียถือสามีเสมือนเทพ จะให้ความรักความเคารพอย่างสูงการเจิมหน้าผากจะทำในวันแต่งงาน เมื่อคู่บ่าวสาวเดินรอบกองไฟแล้วพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีวิวาห์ หรือผู้เป็นเจ้าบ่าวจะเจิมหน้าผากให้เจ้าสาวเป็นการประกาศว่าหญิงผู้นั้นเป็นภรรยาอย่างถูกต้องตามประเพณีสตรีชาวอินเดียจะต้องมีจุดนี้อยู่ตราบที่สามียังมีชีวิตอยู่ และจะต้องลบออกเมื่อสามีเสียชีวิต

ในกรณีที่เลิกร้างกัน สตรีผู้นั้นจะลบจุดออกได้ต่อเมื่อเป็นการเลิกร้างโดยคำสั่งของศาล
หากสตรีผู้นั้นลบจุดติกะออกโดยที่สามียังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ได้เลิกกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จะถือว่าเป็นการกระทำสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ
   
โดยทั่วไปจุดสีแดงนี้จะทำจากมูลวัวที่นำมาเผาและบดจนละเอียดแล้วผสมกับสีแดงชาดที่ได้จากรากไม้ มูลวัวไม่ถือว่าเป็นของสกปรกเพราะวัวเป็นพาหนะของพระเจ้า และกินพืชเป็นอาหารผงสีนี้เรียกว่า "ผงวิภูติ" มีจำหน่ายตามร้านค้า ผงนี้อาจมีการนำไปทำพิธีก่อนนำมาใช้ก็ได้    

ลักษณะของจุดติกะมีหลายแบบ เดิมนิยมจุดกลม คนที่ยังสาวจะนิยมจุดเล็กเพราะสวยงามกว่าแต่พออายุมากขึ้นอาจแต้มจุดให้ใหญ่ขึ้น ปัจจุบันมีรูปแบบจุดอื่น ๆ เช่น รูปคล้ายหยดน้ำ หรือเป็นวงกลมและมีรัศมีโดยรอบเหมือนดวงอาทิตย์ ปัจจุบันติกะพัฒนารูปแบบไปมากทั้งรูปทรงและสีสัน บางทีก็ทำเป็นสติกเกอร์เพื่อสะดวกใช้
   
มีข้อสังเกตว่า ในบางครั้งจุดติกะอาจไม่ใช่สัญลักษณ์ของสตรีที่แต่งงานเพียงอย่างเดียว
ติกะถือว่าเป็นสิ่งมงคล ชาวอินเดียบางกลุ่มจะใช้ในโอกาสอื่น ๆ เช่นเวลาไหว้พระ พราหมณ์จะให้ผงวิภูติ ผู้รับจะนำมาเจิมเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ก็เป็นการเจิมเพียงชั่วคราวเท่านั้น

   
คนที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมอินเดียมักเข้าใจว่าจุดแดงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาวอินเดีย จึงมักแต้มจุดแดงเวลาที่แต่งกายเป็นชาวอินเดีย เช่นนางเอกในละครแม้ยังเป็นสาวเป็นแส้ ก็แต้มจุดแดงกับเขาด้วยนี่เป็นเรื่องของการนำมาใช้โดยไม่ศึกษาให้ถ่องแท้
   
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจุดแดงจะเป็นวัฒนธรรมของพวกพราหมณ์ฮินดูแต่สตรีชาวอินเดียที่แต่งงานแล้ว และไม่ใช่ชาวฮินดูแท้ ๆ อาจรับวัฒนธรรมนี้ไปใช้
   
ในชาวอินเดียบางกลุ่ม สัญลักษณ์ของสตรีที่แต่งงานแล้วอาจเป็นการห้อยสายสร้อยสังวาลมงคล ซึ่งสามีมอบให้
 

ที่มา:wikipedia


7. ทำไม จึงเรียกว่าสบู่



สินค้าจากญี่ปุ่นมีสบู่ใช้ซักผ้าและถูตัวด้วย สบู่ไม่ใช่สินค้าของญี่ปุ่น แต่เป็นของคนยุโรปที่ไปค้าขายในญี่ปุ่น และคนญี่ปุ่นเรียกโซป (SOAP) เป็นโซปปุ (SOAPU) ดังนั้น ญี่ปุ่นที่มาขายสินค้าในไทยจึงเรียกตามสำเนียงตนเองว่า โซปปุ แต่ประสาไทย ๆ เรียกเพี้ยนไปว่า สบู่ เป็นอันว่าคนไทยพูดฟังไทยได้ภาษาที่เป็นไทยเป็นภาษาไทยตลอดมา

แม้เรื่องคำเพี้ยน ๆ เนี่ยคนไทยถนัดกันนัก โดยเฉพาะคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ อย่างเช่น สบู่ ที่ยกตัวอย่างไปนั้น และนี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมจึงเรียกว่า สบู่

ที่มา: ภาษาคาใจ

8. ทำไมเจ้าตูบตัวผู้ต้องยกขาฉี่



เชื่อว่าเจ้าของสุนัขหลายคนคงต้องมีคำถามในใจว่า ทำไมท่าฉี่ของสุนัขตัวผู้และตัวเมียจึงแตกต่างกัน สุนัขตัวผู้ชอบยกขาฉี่มากกว่านั่งยองๆ ฉี่เหมือนเช่นตัวเมีย
 
นั่นก็เพื่อทำให้กลิ่นของฉี่ที่จะบ่งบอกถึงอาณาเขต ยังคงใหม่สดมากกว่ากลิ่นฉี่ที่ถูกปล่อยอยู่ตามพื้น เพราะจะโดนเหยียบไปเหยียบมา ไม่เหมือนตามกำแพง หรือเสาไฟฟ้าที่ไม่มีใครมายุ่งด้วย และการยกขาฉี่ยังทำให้กลิ่นนั้นอยู่สูงขึ้นมาถึงระดับจมูกของสุนัขตัวอื่นๆเพื่อบอกให้รู้ว่า แถวนี้น่ะมีเจ้าถิ่นคุมอยู่แล้วนะ

ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการฝากข้อความไว้ให้ตัวเอง เพื่อที่เวลาไปไหนมาไหนจะได้ไม่หลงทาง แถมยังบอกเป็นนัยให้สุนัขตัวอื่นๆ รู้ถึงสภาพทางเพศของเขา และขอบเขตอาณาจักรที่ครอบครองอยู่ นั่นคือ ทำให้สุนัขตัวเมียรับรู้ว่ามีตัวผู้เนื้อหอมอาศัยอยู่แถวๆนี้ หรืออาจทำให้สุนัขร่อนเร่ไม่กล้าเข้ามาแหยมก็มีสิทธิเหมือนกัน

ที่มา: นิตยสาร Lisa


9. ทำไมนกเพนกวินถึงบินไม่ได้

นกเพนกวินเป็นนกที่บินไม่ได้ เพราะมีการดัดแปลงอวัยวะสำหรับใช้ในการบินเป็นใช้เพื่อการว่ายน้ำ และยังสามารถเดิน วิ่ง กระโดดและปีนป่ายได้เป็นอย่างดีบนก้อนน้ำแข็ง 

อันเนื่องมาจากเพนกวิมีนิ้วเท้าที่มีพังพืดและมีเล็บที่แข็งแรงใช้สำหรับว่ายน้ำ
มีหางไว้ใช้เป็นหางเสือ และใช้ทำให้ก้อนน้ำแข็งแตกได้ง่าย

นกเพนกวินมีขนสั้น ๆ ปกคลุมตัว ปลายขนจะคลุมทับกันแน่นคล้ายกระเบื้องมุงหลังคา

ทำให้ป้องกันน้ำเข้าถึงผิวหนังและทำให้ร่างกายอบอุ่น ซึ่งเราสามารถพบเจอนกเพนกวินตามธรรมชาติได้ที่ทะเล มหาสมุทร เฉพาะทางซีกโลกใต้เท่านั้น 

นกเพนกวินเป็นสัตว์สังคม พบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นฝูง ส่งเสียงดังเพื่อช่วยในการติดต่อสื่อสาร
และมีความสามารถในการว่ายน้ำได้เร็วถึง 8-16 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทีเดียว 0.0

อาหารของนกเพนกวิน ได้แก่ ปลา ปลาหมึกขนาดเล็ก หอยและกุ้ง นั้นเอง

คงหายสงสัยกันแล้วใช่ไหมหละ?
 
 ถึงเพนกวินจะบินไม่ได้แต่ก็สามารถทำอย่างอื่นได้อีกมาก

ที่มา: student

10. ทำไมร้านขายยาถึงได้มีเครื่องหมาย Rx



เครื่องหมาย Rx เป็นสัญลักษณ์ของวิชาเภสัชกรรมเป็นเครื่องบ่งบอกว่าร้านที่มีเครื่องหมายนี้เป็นร้านขายยาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพเภสัชกรรม

ตัว "R" มาจากภาษาลาตินว่า
รีซิเป (Recipe) แปลว่า จงเอา(to take)

เวลาแพทย์เขียนใบสั่งยาขึ้นต้นด้วย Rx ตามด้วยส่วนผสมต่าง ๆ แล้วมอบให้เภสัชกร ก็แปลว่า จงนำเอาส่วนผสมต่าง ๆ ที่บอก ไปปรุงเป็นยานั่นเอง

ส่วนเครื่องหมาย "/" ที่หางตัว R เชื่อกันว่าเป็นเครื่องหมายแสดงถึงดวงตาของเทพเจ้าโฮรัส (Horus) หรือ จูปีเตอร์ (Jupiter) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการบำบัดรักษาโรคของโรมัน



สัญลักษณ์อีกอย่างของวิชาชีพเภสัชกรรม คือ รูปงูพันถ้วยยาของเทพีไฮเยีย(Hygeia)
ซึ่งเป็นหมอเชี่ยวชาญเรื่องยาและเป็นเทพีแห่งสุขภาพในเทพนิยายของกรีก

ที่มา:wikipedia


11. ทำไมฝนจึงตกเป็นเม็ด



ฝน (rain) เป็นรูปแบบหนึ่งของการตกลงมาจากฟ้าของน้ำ นอกจากฝนแล้วยังมีการตกลงมาในรูป หิมะ เกล็ดน้ำแข็ง ลูกเห็บ น้ำค้าง. ฝนนั้นอยู่ในรูปหยดน้ำซึ่งตกลงมายังพื้นผิวโลกจากเมฆ. ฝนบางส่วนนั้นระเหยกลายเป็นไอก่อนตกลงมาถึงผิวโลก ฝนชนิดนี้เรียกว่า "virga"

ฝนที่ตกลงมานั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของวัฏจักรของอุทกวิทยา ซึ่งน้ำจากผิวน้ำในมหาสมุทรระเหยกลายเป็นไอ ควบแน่นเป็นละอองน้ำในอากาศ ซึ่งรวมตัวกันเป็นเมฆ และในที่สุดตกลงมาเป็นฝน ไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง ไปสู่ทะเล มหาสมุทร และวนเวียนเช่นนี้เป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุด

ปริมาณน้ำฝนนั้นวัดโดยใช้ มาตรวัดน้ำฝน โดยเป็นการวัดความลึกของน้ำที่ตกลงมาสะสมบนพื้นผิวเรียบ สามารถวัดได้ละเอียดถึง 0.25 มิลลิเมตร หรือ 0.01 นิ้ว บางครั้งใช้หน่วย ลิตรต่อตารางเมตร (1 L/m² = 1 mm)

หยาดน้ำฝนนั้น ในการ์ตูนมักจะถูกวาดเป็นรูปหยาดน้ำตา คือ ก้นกลมและปลายบนแหลม ซึ่งไม่ถูกต้องในความเป็นจริง หยาดฝนเม็ดเล็กนั้นจะมีรูปเกือบเป็นทรงกลม ส่วนเม็ดฝนที่ใหญ่ขึ้นก็จะมีรูปร่างที่ค่อนข้างแบนคล้ายขนมปังแฮมเบอเกอร์ ส่วนเม็ดที่ใหญ่มากๆนั้นจะมีรูปร่างคล้ายร่มชูชีพ โดยเฉลี่ยแล้วเม็ดฝนนั้นจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ถึง 2 มิลลิเมตร เม็ดฝนที่ใหญ๋ที่สุดที่ตกลงถึงผิวโลกนั้น ตกที่ ประเทศบราซิล และ เกาะมาร์แชล ในปี ค.ศ. 2004 โดยมีขนาดใหญ่ถึง 10 มิลลิเมตร ขนาดใหญ่ของเม็ดฝนนี้เนื่องมาจากละอองน้ำในอากาศที่มีขนาดใหญ่ หรือ จากการรวมตัวกันของเม็ดฝนหลายเม็ด เนื่องมาจากความหนาแน่นฝนที่ตกลงมา

โดยปกติแล้ว ฝนจะมีค่า pH ต่ำกว่า 6 เล็กน้อย เนื่องมาจากการรับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเข้ามาซึ่งทำให้ส่งผลเป็นกรดคาร์บอนิก ในพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายนั้นฝุ่นในอากาศจะมีปริมาณแคลเซียมคาร์บอเนตสูง ซึ่งส่งผลต่อต้านความเป็นกรด ทำให้ฝนนั้นมีค่าเป็นกลาง หรือ แม้กระทั่งเป็นเบส ฝนที่มีค่า pH ต่ำกว่า 5.6 นั้นถึอว่าเป็น ฝนกรด (acid rain)

ที่มา: wikipedia

12. ทำไมจึงเห็นน้ำทะเลเป็นสีฟ้า



วัตถุแต่ละชนิดมีการสะท้อนและดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ในแต่ละช่วงคลื่นแตก ต่างกัน ค่าการสะท้อนเชิงคลื่นของแต่ละวัตถุนี้เรียกว่า "ลายเซ็นการสะท้อนเชิงคลื่น (spectral reflectance signature)" ซึ่งเป็นลักษณะที่ใช้แยกความแตกต่างของวัตถุแต่ละชนิด เช่น ค่าการสะท้อนแสงของน้ำโดยทั่วไปจะต่ำ แต่จะมีการสะท้อนสูงที่ปลายคลื่นน้ำเงิน ซึ่งทำให้น้ำใสจะปรากฏเป็นสีน้ำเงินเข้ม ดินจะมีค่าการสะท้อนสูงกว่าพืชไปจนถึงช่วงคลื่นอินฟราเรด ค่าการสะท้อนของดินขึ้นอยู่กับส่วนผสมของดิน ตัวอย่างดินที่แสดงในภาพจะปรากฏเป็นสีน้ำตาล ส่วนพืชจะมีค่าการสะท้อนแสงที่แตกต่างดินและน้ำ คือ ค่าการสะท้อนจะต่ำในช่วงคลื่นน้ำเงินและแดง ในขณะที่จะมีค่าการสะท้อนสูงที่ช่วงคลื่นเขียวและช่วงคลื่นใกล้อินฟราเรด หรือ


1. น้ำทะเลสะท้อนแสงจากท้องฟ้า ซึ่งมีสีฟ้า และจะเห็นว่า ถ้าวันไหนเมฆเยอะ ทะเลจะสีไม่ฟ้ามากนัก

2. น้ำทะเลเองก็กระเจิงแสงในทำนองเดียวกับท้องฟ้า ซึ่งเมื่อแสงกระเจิงจากอนุภาคที่ขนาดเล็กกว่าความยาวคลื่น แสงสีน้ำเงินซึ่งความยาวคลื่นต่ำจะกระเจิงได้ดีที่สุด ในขณะที่แสงสีแดงซึ่งความยาวคลื่นมากจะกระเจิงได้น้อย ทำให้เมื่อลงไปอยู่ในน้ำทะเล ก็ยังคงเห็นน้ำเป็นสีฟ้า เพราะแสงสีน้ำเงินกระเจิงเข้าตามากที่สุดนั่นเอง


โดย ดร.ไซมอน บ็อกซอลล์ แห่งสถาบัน National Oceanography Centre ในเซาธ์แฮมตัน อธิบายว่า
คลอโรฟิลล์จะดูดซับสีน้ำเงินและสีแดงจากคลื่นแสง และสะท้อนสีเขียวออกมาซึ่งก็คือสิ่งที่เราเห็นนั่นเอง ฉะนั้น ในที่ซึ่งน้ำทะเลอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไฟโตแพลงก์ตอน และแสงสีน้ำเงินถูกดูดซึมไปเป็นส่วนใหญ่ เราจึงจะเห็นน้ำทะเลเป็นสีเขียว แต่ในที่ซึ่งมีไฟโตแพลงก์ตอนน้อยกว่า และแสงสีน้ำเงินไม่ได้ถูกดูดซับไปจนหมด  ทะเลจึงดูเป็นสีน้ำเงินอย่างที่เราเห็นนั่นแหละ 
ที่มา: netdev

ขอบคุณเนื้อเรื่องทั้งหมดที่รวมไว้ให้อ่านจาก teenee.com



ความคิดเห็น

กระต่ายซาลีอา
อ่านเเล้วได้รับความรู้เยอะเเยะเลย
ต่อไปนี้เวลาใครถามก็จะได้ตอบเค้าได้
ความคิดเห็นที่ 2
ขอบคุงค่ะ ได้รู้เพิ่มเติม
ความคิดเห็นที่ 3
ดี ๆ นร๊ น่า สน จัย มาก //-+-//
ความคิดเห็นที่ 4
เนื้อหาน่าอ่านมากๆๆ แต่อ่านลำบากมากค่ะ
ความคิดเห็นที่ 5
ความรู้ทั้งนั้น ขอบคุณครับ หายงงเลย เงาะโรงเรียน
มิน นะ
มิน นะ 30 พ.ย. 58 / 20:06
ทำไมหยดน้ำถึงเป็นรูปวงกลม