ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เปิดรั้วโรงเรียนครู "คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

    ลำดับตอนที่ #28 : ต้นกำเนิดและการวางรากฐานการฝึกหัดครูในประเทศไทย

    • อัปเดตล่าสุด 18 เม.ย. 54



    กำเนิด "โรงเรียนฝึกหัดครู" แห่งสยามประเทศ


    ข้อมูลในบทความนี้ขอแสดงเจตนาอันเป็นกลางแก่ทุกสถาบันที่มีการฝึกหัดครู โดยไม่มีการแสดงข้อมูลอันลำเอียงแก่สถาบันตนเองแต่อย่างใด


    โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์พระนคร : สถาบันฝึกหัดครูแห่งแรกแห่งสยามประเทศ
    โรงเรียนฝึกหัดครูแห่งแรกของประเทศกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2435 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ในบริเวณโรงเลี้ยงเด็ก ตึกสายสวลีสัณฐาคาร ถนนบำรุงเมือง กรุงเทพฯ  สังกัดกระทรวงธรรมการ ทำหน้าที่ผลิตครูเพื่อรองรับการขายตัวของการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียน โดยมีมิสเตอร์กรีนรอด ชาวอังกฤษเป็นอาจารย์ใหญ่คนเแรก วัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้กุลบุตรกุลธิดา ได้รับความรู้มีการศึกษา โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ได้พัฒนาโดยลำดับ


    โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก
    ต่อมาในปี พ.ศ.2446 โดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ในขณะนั้น ได้สถาปนา "โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก" ขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2446 สำหรับผลิตครูที่มีคุณภาพเพื่อสอนในหัวเมือง เนื่องจากในขณะนั้นการศึกษาระหว่างหัวเมืองกับกรุงเทพมหานครเหลื่อมล้ำกันมาก เพราะคุณภาพของครูแตกต่างกัน 


    โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา
    ผลของการจัดการศึกษาฝึกหัดครูระยะนั้นได้ขยายตัวออกไปต่างจังหวัดมากขึ้น ดังนั้นทางราชการเห็นว่าการฝึกหัดอาจารย์ที่มีอยู่เดิมจะให้ได้ประโยชน์อย่างสูง ควรจัดเป็นโรงเรียนประจำ จึงให้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นนักเรียนกลางวันมาอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตกแล้วเรียกชื่อใหม่ว่า " โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ฝั่งตะวันตก" เมื่อ พ.ศ.2449 และต่อมาเรียกว่า " โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา" 


    แผนกคุรุศึกษา โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ในปี พ.ศ.2453 พระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็น "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของสยามประเทศ ขั้นตอนเปิดสอน 5 แผนก ได้แก่
    1. แผนกรัฏฐประศาสนศึกษา (เดิมเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบรมมหาราชวัง)
    2. แผนยันตรศึกษา (เดิมเป็นโรงเรียนยันตรศึกษา หอวัง)
    3. แผนกเนติศึกษา (เดิมเป็นโรงเรียนกฎหมาย สะพานผ่านพิภพลีลา)
    4. แผนเวชศึกษา (เดิมเป็นโรงเรียนราชแพทยาลัยศิริราช)
    5. แผนกคุรุศึกษา (เดิมเป็นโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์พระนครและโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา)

    ซึ่งในปี พ.ศ.2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์พระนคร และโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยาไปสังกัดเป็นแผนกหนึ่งของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน แต่ยังตั้งอยู่ที่เดิมจนถึงปี พ.ศ.2458 จึงได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ไปอยู่ที่วังใหม่ (บริเวณสนามศุภชลาศัยในปัจจุบัน) 


    คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แผนกฝึกหัดครู จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2459 โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการประดิษฐานขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" จัดตั้งคณะต่างๆ ขึ้น 4 คณะ คือ

    1. คณะแพทยศาสตร์
    2. คณะรัฐประศาสนศาสตร์
    3. คณะวิศวกรรมศาสตร์
    4. คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์

    แผนกคุรุศึกษา (โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยาเดิม) ถูกรวมอยู่ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่ในปี พ.ศ.2461 ได้ย้ายไปสังกัดกรมศึกษาธิการ ในนาม "โรงเรียนฝึกหัดครู" เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) และได้ย้ายไปตั้งที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ในปี พ.ศ. 2475 เรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระราชวังสนามจันทร์"

    ในปี พ.ศ.2471 การฝึกหัดครูกลับมีขึ้นอีกครั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกระทรวงธรรมการมีวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มพูนความรู้และส่งเสริมวิทยฐานะของครู จึงมอบให้คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.) โดยจัดเป็นหลักสูตร 3 ปี คือ เรียนวิชาเอกทางอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 2 ปี และวิชาครู 1 ปี


    โรงเรียนฝึกหัดครูพระนครระยะที่ 2 สู่วิทยาลัยครูพระนคร
    ในปี พ.ศ. 2477 ได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระราชวังสนามจันทร์มาตั้งที่กองพันทหารราบที่ 6 ถนนศรีอยุธยา หลังวังปารุสกวัน (ปัจจุบันคือ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์) จึงเรียกชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร" และ พ.ศ. 2490 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร" ผลิตครูตามหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) ใช้เวลา 3 ปี

    ในพ.ศ. 2499 ได้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูพระนครมาตั้ง ณ ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร หลังวัดพระศรีมหาธาตุวรวิหารอันเป็นที่ตั้งปัจจุบัน ต่อมาใน พ.ศ. 2509 กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร ขึ้นเป็น "วิทยาลัยครูพระนคร"


    โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาระยะที่ 2 สู่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
    ในปี พ.ศ. 2484 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายผลิตครูมากขึ้น จึงให้เปิดสอน " โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา" อีกครั้ง โดยเปิดสอนหลักสูตรประโยคครูประถม ( ป.ป.) เป็นโรงเรียนประจำ ต่อมาใน พ.ศ. 2499 ได้ยุบหลักสูตรดังกล่าวและเปิดสอนหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง 

    ในปี พ.ศ. 2501 โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยาได้ยกฐานะเป็น "วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา"  ซึ่งเป็นวิทยาลัยครูแห่งแรกของประเทศ


    คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    ในปี พ.ศ. 2486 คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้แยกเป็น 2 คณะ และแผนกฝึกหัดครูได้เปลี่ยนชื่อเป็นแผนกวิชาครุศาสตร์ สังกัดอยู่ในคณะอักษรศาสตร์

    ในปี พ.ศ. 2491 คณะอักษรศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ เพื่อให้นิสิตฝึกหัดครูมีสิทธิรับปริญญาทางครุศาสตร์ในโอกาสต่อไป สำเร็จผู้ที่สำเร็จหลักสูตร 3 ปี จะได้รับอนุปริญญาครูมัธยมแทนประกาศนียบัตรครูมัธยม ต่อมา พ.ศ.2492 จึงเปลี่ยนเป็นอนุปริญญาครุศาสตร์ และปี พ.ศ.2496 ได้ขยายหลักสูตรครุศาสตร์อีก 2 ปีต่อจากปริญญาหรืออนุปริญญาในสาขาวิชาอื่น แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นหลักสูตรครุศาสตร์ 4 ปี โดยในปี พ.ศ.2497 ได้ผลิตบัณฑิตหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกจำนวน 41 คน ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศที่จัดหลักสูตรปริญญาทางการฝึกหัดครู


    โรงเรียนฝึกหัดครูขั้นสูง สู่วิทยาลัยวิชาการศึกษา
    ในปี พ.ศ.2492 กระทรวงศึกษาธิการสถาปนา โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง  ณ ถนนประสานมิตร กรุงเทพมหานคร เพื่อผลักดันการศึกษาทางด้านวิชาชีพครู ในช่วงเวลาที่วิชาชีพครูขาดแคลน จากการผลักดันของ ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการอยู่ในขณะนั้น 

    ในปี พ.ศ.2497 ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี (บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แผนกวิชาฝึกหัดครู จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ได้เสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการให้ก่อตั้ง "วิทยาลัยวิชาการศึกษา" แทนโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง


    คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    ในปี พ.ศ.2500 แผนกวิชาครุศาสตร์ได้แยกออกจากคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จัดตั้งเป็น "คณะครุศาสตร์" เป็นคณะลำดับที่ 7 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันมี 19 คณะ) โดยมีศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา (อาจารย์คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ แผนกวิชาครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นคณบดีคนแรกของคณะครุศาสตร์


    สรุป
    พ.ศ.2435 เกิดโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งแรกแห่งสยามประเทศพ.ศ.2446 ชื่อว่า "โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์พระนคร"
    เกิดโรงเรียนฝึกหัดครูอีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก"
    พ.ศ.2449 โรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก เปลี่ยนเป็น โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ฝั่งตะวันตก" และต่อมาเรียกว่า " โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา" 
    พ.ศ.2456 เกิดแผนกวิชาการฝึกหัดครูขึ้นในการสอนระดับอุดมศึกษา โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์พระนคร และโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยาย้ายไป ณ วังใหม่ ปทุมวัน รวมเป็นแผนกคุรุศึกษา ของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    พ.ศ.2459 โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" โดยแผนกฝึกหัดครูรวมอยู่ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์
    พ.ศ.2461 แผนกคุรุศึกษา คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์  ได้ย้ายไปสังกัดกรมศึกษาธิการในนาม "โรงเรียนฝึกหัดครู" ตั้งที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
    พ.ศ.2471 เกิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูขึ้นเป็นครั้งแรก คือ ประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.) โดยแผนกวิชาฝึกหัดครู คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งการฝึกหัดครูกลับมีขึ้นอีกครั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
    พ.ศ.2477 โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระราชวังสนามจันทร์ย้ายมาตั้งที่กองพันทหารราบที่ 6 ถนนศรีอยุธยา หลังวังปารุสกวัน (ปัจจุบันคือ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์) จึงเรียกชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนคร" ต่อมาเรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร"
    พ.ศ.2484 โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เปิดสอนอีกครั้ง
    พ.ศ.2486 คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้แยกเป็น 2 คณะ และแผนกฝึกหัดครูได้เปลี่ยนชื่อเป็นแผนกวิชาครุศาสตร์ สังกัดอยู่ในคณะอักษรศาสตร์
    พ.ศ.2491 คณะอักษรศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ 
    พ.ศ.2492 กระทรวงศึกษาธิการสถาปนา โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง  ณ ถนนประสานมิตร
    พ.ศ.2496 เกิดหลักสูตรปริญญาทางด้านการฝึกหัดครูเป็นครั้งแรก คือ หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 
    โดยคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์

    พ.ศ.2497 เกิดสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งการฝึกหัดครูแห่งแรกของประเทศ คือ วิทยาลัยวิชาการศึกษา ที่พัฒนาจากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง
    พ.ศ.2499 โรงเรียนฝึกหัดครูพระนครย้ายมาตั้ง ณ ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร หลังวัดพระศรีมหาธาตุวรวิหารอันเป็นที่ตั้งปัจจุบัน 
    พ.ศ.2500 แผนกวิชาครุศาสตร์ได้แยกออกจากคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จัดตั้งเป็นคณะครุศาสตร์
    พ.ศ.2501 เกิดวิทยาลัยครูแห่งแรกของประเทศ คือ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ต่อมาพัฒนาเป็น สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาตามลำดับ
    พ.ศ.2505 เกิดหลักสูตรปริญญาโทด้านการฝึกหัดครูเป็นครั้งแรก คือ หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต 
    สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโททางการศึกษาหลักสูตรแรกในประเทศไทย
    พ.ศ.2509 โรงเรียนฝึกหัดครูพระนครยกฐานะเป็นวิทยาลัยครูพระนคร ต่อมาพัฒนาเป็น สถาบันราชภัฏพระนคร และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครตามลำดับ
    พ.ศ.2517 เกิดหลักสูตรปริญญาเอกด้านการฝึกหัดครูเป็นครั้งแรก คือ หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาเอกทางการศึกษาหลักสูตรแรกในประเทศไทย

    - โรงเรียนฝึกหัดครูแห่งแรกของประเทศ
       = โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร ในปี พ.ศ.2435
           ต่อมารวมกับโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ย้ายมาตั้งเป็นแผนกวิชาคุรุศึกษา สังกัดโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ณ ตำบลวังใหม่ ปทุมวัน
    -
    สถาบันที่เริ่มการฝึกหัดครูในระดับอุดมศึกษาครั้งแรกของประเทศ
      = แผนกวิชาคุรุศึกษา โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ในปี พ.ศ.2456
         ต่อมาพัฒนาการเป็นแผนกวิชาฝึกหัดครู สังกัดคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เมื่อโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ได้รับการประดิษฐานเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    -
    สถาบันที่มีหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูแห่งแรกของประเทศ
       = จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2471
           เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมัธยม จัดสอนโดยแผนกวิชาฝึกหัดครู คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 
    -
    สถาบันที่มีหลักสูตรปริญญาด้านการฝึกหัดครูแห่งแรกของประเทศ
      = จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2496
          เป็นหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต จัดสอนโดยแผนกวิชาครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์
    -
    สถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งการฝึกหัดครูแห่งแรกของประเทศ
      = วิทยาลัยวิชาการศึกษา ในปี พ.ศ.2497
         ต่อมาพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปี พ.ศ.2517
    - สถาบันที่มีหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกด้านการฝึกหัดครูแห่งแรกของประเทศ
      = จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรปริญญาโทเริ่มในปี พ.ศ.2505 และหลักสูตรปริญญาเอกเริ่มในปี พ.ศ.2517

    -
    วิทยาลัยครูแห่งแรกของประเทศ
      = วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในปี พ.ศ. 2501
         ปัจจุบันมีสถานภาพเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏ

     
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×