ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เปิดรั้วโรงเรียนครู "คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

    ลำดับตอนที่ #29 : เรื่องน่ารู้ในรอบรั้วครอบครัวครุศาสตร์ จุฬาฯ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 14.38K
      11
      19 เม.ย. 55




    เรื่องน่ารู้ในรอบรั้วครอบครัวครุศาสตร์ จุฬาฯ



    ก่อนอื่นต้องบอกน้องๆ ก่อนเลยว่าข้อมูลทั้งหมดนี้ใช้ได้ทั้งอ่านเล่นๆ เพลินๆ หรือใช้เตรียมตัวสอบสัมภาษณ์เข้าศึกษาต่อทั้งในระบบรับตรง และระบบแอดมิชชั่นส์ เพราะพี่เชื่อว่าอาจารย์กรรมการสอบสัมภาษณ์ต้องถามข้อมูลทั่วไปของคณะครุศาสตร์กับน้องๆ แน่นอนครับ แต่หลายๆ เรื่องก็อ่านไว้เป็นความรู้เบื้องต้น ก่อนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวครุศาสตร์ของเรานะครับ


    การวางรากฐานสู่คณะครุศาสตร์

    คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีรากฐานมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งแรกของประเทศ มาผนวกรวมเป็นแผนกคุรุศึกษาของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตข้าราชการพลเรือนของประเทศ เป็นที่มาของคำว่า "จุฬาฯ คือเสาหลักของแผ่นดิน" วิชาชีพครูก็เป็นอาชีพชั้นสูงที่มีบทบาทในการพัฒนาสังคม จึงเป็นสาเหตุที่มีการสถาปนาแผนกคุรุศึกษา เพื่อผลิตข้าราชการครูแก่สยามประเทศ

    ต่อมาในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ เป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามรูปแบบสถาบันอุดมศึกษาในระดับสากลเป็นแห่งแรกของประเทศ จึงมีการปรับโครงสร้างของสถาบันใหม่ออกเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์

    ในขณะนั้นแผนกวิชาฝึกหัดครูรวมอยู่ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยจะศึกษาวิชาเอกทางด้านอักษรศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ 2 ปี และวิชาครูอีก 1 ปี ได้วุฒิการศึกษาเป็น ประกาศนียบัตรประโยคมัธยมซึ่งเป็นสถาบันแห่งแรกที่มีการมอบวุฒิการศึกษาด้านการศึกษาของประเทศ

    ในปี พ.ศ.2486 แผนกวิชาวิทยาศาสตร์แยกออกไปเป็นคณะวิทยาศาสตร์ ทำให้แผนกวิชาฝึกหัดครู เปลี่ยนชื่อเป็นแผนกวิชาครุศาสตร์ และในปี พ.ศ.2491 คณะอักษรศาสตร์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ เพื่อดำเนินการปรับหลักสูตรจากประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม 3 ปี เป็นหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี ซึ่งถือเป็น
    สถาบันที่มอบปริญญาทางการศึกษาแห่งแรกของประเทศ


    การสถาปนาคณะครุศาสตร์

    การสถาปนาคณะครุศาสตร์ริเริ่มโดยศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกวิชาครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ได้เสนอโครงการจัดตั้งคณะครุศาสตร์ให้ทางมหาวิทยาลัยพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดตั้ง แต่อธิการบดีไม่อนุมัติเนื่องจากมีงบประมาณไม่เพียงพอ 

    อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ก็ไม่ละความตั้งใจ จึงเรี่ยไรเงินจากคณาจารย์ในแผนกวิชารวมกับเงินบริจาคส่วนตัว และเงินจากการกุศล เพื่อซื้อที่ดินบริเวณทุ่งนาปทุมวันด้านหน้ามหาวิทยาลัย เนื้อที่กว่า 40 ไร่ เป็นที่ตั้งของคณะครุศาสตร์ในอนาคต และเก็บงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับก่อสร้างสถานที่เรียน และบริหารจัดการในอนาคต ต่อมาได้เสนอโครงการจัดตั้งคณะครุศาสตร์อีกครั้ง และก็ผ่านการพิจารณา แผนกวิชาครุศาสตร์จึงแยกออกจากคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะครุศาสตร์ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2500 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ เป็นคณะลำดับที่ 7 ของมหาวิทยาลัย ต่อจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ซึ่งคณะครุศาสตร์เป็นคณะแรกที่แยกออกไปตั้งอีกฝั่งหนึ่งของมหาวิทยาลัย


    พัฒนาการคณะครุศาสตร์

    เริ่มแรกคณะครุศาสตร์ได้จัดการศึกษาเป็น 4 แผนกวิชา คือ
    1. แผนกวิชาสารัตถศึกษา
    2. แผนกวิชาประถมศึกษา 
    3. แผนกวิชามัธยมศึกษา
    4. แผนกวิชาวิจัยการศึกษา
    โดยมีศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เป็นคณบดีคนแรกของคณะ และยังเป็นคณบดีหญิงคนแรกของประเทศไทยอีกด้วย ต่อมา
    - พ.ศ.2533 ภาควิชาพยาบาลศึกษา ได้สถาปนาขึ้นเป็นคณะพยาบาลศาสตร์
    - พ.ศ.2533 ภาควิชาจิตวิทยา ได้สถาปนาขึ้นเป็นคณะจิตวิทยา
    - พ.ศ.2541 ภาควิชาพลศึกษา ได้สถาปนาขึ้นเป็นสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ปัจจุบันเป็นคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา


    ข้อมูลทั่วไป

    สีประจำคณะ
    สีเพลิง (เพลิงที่เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ส่องทางไปสู่ปัญญา)

    สัญลักษณ์
    คบเพลิง

    ปรัชญา
    ความรู้คู่คุณธรรม ครูที่มีคุณภาพของสังคมจะต้องเป็นครูที่เก่งและดี

    ปณิธาน
    ความเรืองปัญญาและคุณธรรมคือมาตรฐานคุณภาพบัณฑิตครุศาสตร์

    เพลงประจำคณะ
    เพลงสีเพลิง

    คณบดีคนปัจจุบัน (ระวังโดนถามในห้องสัมภาษณ์นะ)
    ศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี


    ข้อมูลทั่วไป

    คณะครุศาสตร์จัดโครงสร้างการศึกษา แบ่งออกเป็น 6 ภาควิชา 25 สาขาวิชา ดังต่อไปนี้
    1. ภาควิชาหลักสูตรและการสอน แบ่งออกเป็น 9 สาขาวิชา ได้แก่
        - สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
        - สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
        - สาขาวิชาประถมศึกษา
        - สาขาวิชาการสอนภาษาไทย
        - สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ
        - สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา
        - สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์
        - สาขาวิชาการศึกษาคณิตศาสตร์
        - สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา
    2. ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา แบ่งออกเป็น 2 สาขาวิชา ได้แก่
        - สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา
        - สาขาวิชาคอมพิวเตอร์การศึกษา
    3. ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา แบ่งออกเป็น 2 สาขาวิชา ได้แก่
        - สาขาวิชาศิลปศึกษา
        - สาขาวิชาดนตรีศึกษา
    4. ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต แบ่งออกเป็น 3 สาขาวิชา (อนาคต) ได้แก่
        - สาขาวิชาการศึกษาตลอดชีวิต
        - สาขาวิชาพฤติศึกษา
        - สาขาวิชาการศึกษาชุมชน
    5. ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา แบ่งออกเป็น 5 สาขาวิชา ได้แก่
        - สาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา
        - สาขาวิชาอุดมศึกษา
        - สาขาวิชาบริหารการศึกษา
        - สาขาวิชานิเทศการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร
        - สาขาวิชาพัฒนศึกษา
    6. ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชา ได้แก่
        - สาขาวิชาวิจัยการศึกษา
        - สาขาวิชาสถิติทางการศึกษา
        - สาขาวิชาการวัดและประเมินผลทางการศึกษา
        - สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา
    นอกจากนี้ยังจัดการเรียนการสอนโรงเรียนสาธิตจำนวน 2 แห่ง ได้แก่
    1. โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม
    2. โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม


    หลักสูตรปริญญาตรี

    คณะครุศาสตร์จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาตรีทั้งหมด 3 หลักสูตร ได้แก่
    1. ครุศาสตรบัณฑิต 5 ปี จัดการเรียนการสอนทั้งหมด 4 ภาควิชา 10 สาขาวิชา 24 วิชาเอก
        1.1 ภาควิชาหลักสูตรและการสอน แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชา ได้แก่
             1.1.1 สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย 
                       - วิชาเอกการศึกษาปฐมวัย  (วิชาเอกเดี่ยว)
             1.1.2 สาขาวิชาประถมศึกษา 
                       - วิชาเอกประถมศึกษา (วิชาเอกเดี่ยว)
             1.1.3 สาขาวิชามัธยมศึกษา แบ่งเป็น
                       - วิชาเอกภาษาไทย (วิชาเอกเดี่ยว / วิชาเอกคู่)
                       - วิชาเอกภาษาอังกฤษ (วิชาเอกเดี่ยว / วิชาเอกคู่)
                       - วิชาเอกสังคมศึกษา (วิชาเอกเดี่ยว / วิชาเอกคู่)
                       - วิชาเอกภาษาฝรั่งเศส (วิชาเอกคู่)
                       - วิชาเอกภาษาเยอรมัน (วิชาเอกคู่)
                       - วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป (วิชาเอกเดี่ยว / วิชาเอกคู่)
                       - วิชาเอกฟิสิกส์ (วิชาเอกเดี่ยว / วิชาเอกคู่)
                       - วิชาเอกเคมี (วิชาเอกเดี่ยว / วิชาเอกคู่)
                       - วิชาเอกชีววิทยา (วิชาเอกเดี่ยว / วิชาเอกคู่)
                       - วิชาเอกคณิตศาสตร์ (วิชาเอกเดี่ยว / วิชาเอกคู่)
             1.1.4 สาขาวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา แบ่งเป็น
                       - วิชาเอกสุขศึกษา 
                       - วิชาเอกพลศึกษา 
        1.2 ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ได้แก่ 1 สาขาวิชา คือ
                       สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา แบ่งเป็น
                        - วิชาเอกเทคโนโลยีการศึกษา (วิชาเอกคู่)
                        - วิชาเอกคอมพิวเตอร์การศึกษา (วิชาเอกคู่)
        1.3 ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา แบ่งออกเป็น 2 สาขาวิชา ได้แก่
             1.3.1 สาขาวิชาศิลปศึกษา 
                        - วิชาเอกศิลปศึกษา (วิชาเอกเดี่ยว)
             1.3.2 สาขาวิชาดนตรีศึกษา แบ่งเป็น
                       - วิชาเอกดนตรีศึกษา (วิชาเอกเดี่ยว)
                       - วิชาเอกดนตรีไทย (วิชาเอกเดี่ยว)
                       - วิชาเอกดนตรีสากล (วิชาเอกเดี่ยว) 
        1.4 ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต ได้แก่ 1 สาขาวิชา คือ
                      สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน 
                       - วิชาเอกการศึกษานอกระบบโรงเรียน (วิชาเอกคู่)
        1.5 ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา ได้แก่ 1 สาขาวิชา คือ
                      
    สาขาวิชาธุรกิจศึกษา
                       - วิชาเอกธุรกิจศึกษา (วิชาเอกเดี่ยว) 
        1.6 ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา ได้แก่ 1 สาขาวิชา คือ
                      สาขาจิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนวและการศึกษาพิเศษ แบ่งเป็น
                       - วิชาเอกจิตวิทยาการปรึกษาและแนะแนว (วิชาเอกคู่)
                       - วิชาเอกการศึกษาพิเศษ (วิชาเอกคู่)
    หมายเหตุ : วิชาเอกคู่สามารถเลือกวิชาเอกของสาขาวิชาที่สังกัดอย่างน้อย 1 วิชาเอก เพื่อเลือกคู่การวิชาเอกของสาขาวิชาอื่น
    2. ครุศาสตรบัณฑิต 5 ปี โปรแกรมเกียรตินิยม จัดการเรียนการสอนทั้งหมด 3 ภาควิชา 6 สาขาวิชา 15 วิชาเอกเดี่ยว
       2.1 ภาควิชาหลักสูตรและการสอน แบ่งออกเป็น 3 สาขาวิชา ได้แก่
             2.1.1 สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย 
                       - วิชาเอกการศึกษาปฐมวัย  
             2.1.2 สาขาวิชาประถมศึกษา 
                       - วิชาเอกประถมศึกษา 
             2.1.3 สาขาวิชามัธยมศึกษา แบ่งเป็น
                       - วิชาเอกภาษาไทย 
                       - วิชาเอกภาษาอังกฤษ
                       - วิชาเอกสังคมศึกษา 
                       - วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป 
                       - วิชาเอกฟิสิกส์ 
                       - วิชาเอกเคมี 
                       - วิชาเอกชีววิทยา 
                       - วิชาเอกคณิตศาสตร์ 
        2.2 ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา แบ่งออกเป็น 2 สาขาวิชา ได้แก่
             2.2.1 สาขาวิชาศิลปศึกษา 
                        - วิชาเอกศิลปศึกษา 
             2.2.2 สาขาวิชาดนตรีศึกษา แบ่งเป็น
                       - วิชาเอกดนตรีศึกษา 
                       - วิชาเอกดนตรีไทย 
                       - วิชาเอกดนตรีสากล 
        2.3 ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา ได้แก่ 1 สาขาวิชา คือ
                       สาขาวิชาธุรกิจศึกษา
                       - วิชาเอกธุรกิจศึกษา



    คณะอื่นที่ร่วมจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต

    1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ : วิชาเอกคอมพิวเตอร์การศึกษา
    2. คณะอักษรศาสตร์ : วิชาเอกภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน
    3. คณะวิทยาศาสตร์ : วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์
    4. คณะรัฐศาสตร์ : วิชาเอกสังคมศึกษา
    5. คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี : วิชาเอกธุรกิจศึกษา
    6. คณะเศรษฐศาสตร์ : วิชาเอกสังคมศึกษา และธุรกิจศึกษา
    7. คณะนิติศาสตร์ : วิชาเอกสังคมศึกษา
    8. คณะพยาบาลศาสตร์ : วิชาเอกการศึกษาปฐมวัย
    9. คณะจิตวิทยา : วิชาเอกการศึกษาปฐมวัย และสุขศึกษา
    10. คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา : วิชาเอกสุขศึกษา และพลศึกษา



    สถานที่

    คณะครุศาสตร์ตั้งอยู่บนถนนพญาไทฝั่งสนามกีฬาแห่งชาติ (ฝั่งมาบุญครอง) ประกอบด้วยอาคาร 6 หลัง ได้แก่
    1.อาคารพูนทรัพย์ นพวงศ์ (อาคาร 1) ใช้เป็นสำนักงานคณบดี และห้องสมุดคณะ (หอน้อย)
    2.อาคารพระมิ่งขวัญการศึกษาไทย (อาคาร 2) กำลังตกแต่งภายใน ปัจจุบันเริ่มเปิดใช้ในส่วนของโรงอาหารชั้น 1 และศูนย์บรรณสารสนเทศทางการศึกษา (ห้องสมุดคณะ)
    3.อาคารประชุมสุข อาชวอำรุง (อาคาร 3) ใช้เป็นห้องประชุม (101) ห้องเรียน สำนักงานกิจการนิสิต ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา และภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา
    4.อาคาร 4 ใช้เป็นห้องเรียน และภาควิชาหลักสูตร การสอนและเทคโนโลยีการศึกษา
    5.อาคาร 6 ใช้เป็นสำนักงานวิชาการ หลักสูตรและการสอน  และห้องเรียนของสาขาวิชาดนตรีศึกษา
    6.อาคาร 8 ใช้เป็นห้องเรียนของสาขาวิชาศิลปศึกษา


    ครอบครัวครุศาสตร์

    สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นครอบครัวครุศาสตร์ คือ
    1. บ้าน : เรามีบ้านหลังเดียว คือ คณะครุศาสตร์ เพราะพวกเราอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ ไม่มีการแยกไปสังกัดคณะอื่น หรือแยกไปเรียนวิทยาเขตรอบนอก เราจึงมีบ้านที่อบอุ่น สนิทสนม และรักกันมาภายใต้ร่มจามจุรีสีเพลิงแห่งนี้
    2. เพื่อน : เพราะเรา คือ ชาวครุศาสตร์ เหมือนกัน เราเป็น "นิสิตคณะครุศาสตร์" เราอยู่ด้วยกันตลอด 5 ปี ทั้ง 400 คนเป็นเพื่อนกัน เราทุกคนรู้จักกัน สนิทสนม และคอยช่วยเหลือกันภายในบ้านครุศาสตร์
    3. สายรหัส : พวกเราทุกคนมีทั้งพี่และน้องที่รักกัน และมีระบบสายรหัสที่เข้มแข็งและเลื่องลือของจุฬาฯ เพราะพวกเราทั้ง 1,900 คนอยู่ในบ้านเดียวกัน จะไม่ให้รักกันได้อย่างไร
    4. กิจกรรม : การที่เราอยู่ด้วยกันภายใต้บ้านที่อบอุ่นแห่งนี้ จึงเกิดกิจกรรมมากมายที่เราร่วมกันทำ โดยเฉพาะกิจกรรมรับน้องใหม่ที่พี่ๆ ทุกคนไม่ว่าจะชั้นปีไหน สาขาวิชาใด ก็จะมาช่วยกันต้อนรับน้องใหม่เข้าสู่ครอบครัวครุศาสตร์อย่างอบอุ่น

    ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า เราคือ "ครอบครัวครุศาสตร์" ที่ถึงแม้จะแยกกันไปเรียนบางวิชาที่คณะอื่น แต่เราก็จะกลับมาเจอกันที่คณะครุศาสตร์ ซึ่งเป็นบ้านของเราเสมอ เพราะเราอยู่ที่นี่ด้วยกัน เราไม่ได้แยกจากกัน
    เราคือนิสิตคณะเดียวกัน "ครุศาสตร์ปราชญ์จุฬาฯ" 


    ปูชนียาจารย์และศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

    1. ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา : ปูชนียาจารย์แห่งการศึกษาไทย
        อักษรศาสตรบัณฑิต (รุ่นแรก)
    2. หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล : อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ และผู้สถาปนาโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง (มศว)
        อดีตหัวหน้าแผนกวิชาฝึกหัดครู คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 
    3. ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ : ราชบัณฑิต
        อักษรศาสตรบัณฑิต (แผนกวิชาฝึกหัดครู) และครุศาสตรบัณฑิต (ประถมศึกษา) เจ้าของบทความ "มหาวิทยาลัยมาม่า" ที่น้องๆ เจอในข้อสอบ PAT5 รอบตุลาคม 2552 นั่นแหละครับ
    4. ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน : อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
        อักษรศาสตรบัณฑิต และครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา)
    5. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ : ราชบัณฑิต และอดีตคณบดีคณะครุศาสตร์
        ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) และครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา)
    6. ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี : อดีตครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้งและอธิการบดีคนแรกของวิทยาลัยวิชาการศึกษา หรือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
        อักษรศาสตรบัณฑิต (แผนกวิชาฝึกหัดครู) และครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา)
    7. รองศาสตราจารย์สุนีย์ สินธุเดชะ : อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาการสอนภาษาไทย
        อักษรศาสตรบัณฑิต (แผนกวิชาฝึกหัดครู) และครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา : ภาษาไทย)
    8. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อุทุมพร จามรมาน : ผู้อำนวยการสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)
        ครุศาสตรบัณฑิต (ประถมศึกษา) และครุศาสตรมหาบัณฑิต (วิจัยการศึกษา)    
    9. ศาสตราจารย์กิตติคุณ สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ : ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพทางการศึกษา (สมศ.) และอดีตคณบดีคณะครุศาสตร์
        ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) และครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา)
    10. ดร.จรวยพร ธรณินทร์ : ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
           ครุศาสตรบัณฑิต (พลศึกษา) 
    11. วัลลภ ตังคณานุรักษ์  : อดีตสมาชิกวุฒิสภา และกรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก
           ครุศาสตรบัณฑิต (พลศึกษา)
    12. หม่อมหลวงสราลี จิราธิวัฒน์ : พระขนิษฐาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
           ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา)
    13. หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี : ผู้รับบทสมเด็จพระสุริโยทัย ในภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท
           ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา)      
    14. นายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา : อดีตประธานรัฐสภา
          ครุศาสตรบัณฑิต
    (มัธยมศึกษา)
    15. ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม : อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานที่ปรึกษาโรงเรียนทิวไผ่งาม
           ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา : ภาษาอังกฤษ) 
    16. คุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์ : ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และอดีตครูใหญ่โรงเรียนเรวดี
           ครุศาสตรบัณฑิต
    (มัธยมศึกษา)
    17. นิด อรพรรณ วัชรพล : ผู้บริหารบริษัท โพลีพลัส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด
           ครุศาสตรบัณฑิต
    (มัธยมศึกษา)
    18. นาเดีย วิชิตา นิมิตรวานิช : นักแสดงบริษัท โพลีพลัส จำกัด
           ครุศาสตรมหาบัณฑิต (การศึกษานอกระบบโรงเรียน)
    19. เอม ศิริพิชยา วิสิฐไวทยากุล : นักแสดง บริษัทเอกแซกท์และซีเนริโอ จำกัด
           กำลังศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน
    20. วุธ อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร : นักแสดงสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7
           ครุศาสตรบัณฑิต (ศิลปศึกษา)
    21. แพง ขวัญข้าว เศวตวิมล : นักจัดรายการวิทยุ
           ครุศาสตรบัณฑิต (ดนตรีศึกษา)
    22. เอมม่า วรรัตน์ สุวรรณรัตน์ : นักแสดง และรองนางสาวไทย พ.ศ.2540
           ครุศาสตรมหาบัณฑิต 
    23. กีตาร์ ศิริพิชญ์ กฤษณะเศรณี : นักแสดงบริษัท กันตนา จำกัด
           ครุศาสตรบัณฑิต (ดนตรีศึกษา)
    24. โดโด้ ยุทธพิชัย ชาญเลขา : นักแสดงอิสระ
           ครุศาสตรบัณฑิต
    (พลศึกษา)
    25. ต่อ นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล : นักแสดงอิสระ
           ครุศาสตรบัณฑิต (ดนตรีศึกษา)
    26. หลิว มนัสวี กฤตานุกูลย์ : นักแสดงอิสระ
           ครุศาสตรบัณฑิต (พลศึกษา)       

    27. น้ำผึ้ง ธนาภรณ์ รัตนเสน : นักแสดงสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 
           ครุศาสตรบัณฑิต 
    28. เอ้ ศตวรรษ เมทนี  : นักแสดงอิสระ
           ครุศาสตรมหาบัณฑิต (ดนตรีศึกษา)
    29. ปาน ธนพร แวกประยูร : นักร้อง
           ครุศาสตรมหาบัณฑิต (ดนตรีศึกษา)
    30. ป๊อด ธนชัย อุชชิน : นักร้องวง Moderndog
           ครุศาสตรบัณฑิต (ศิลปศึกษา)
    31. ตาร์ อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อุยธยา : นักร้องวง Padadox และอดีตครูโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม
           ครุศาสตรบัณฑิต (ศิลปศึกษา)
    32. สอง จักรพงศ์ สิริริน : นักร้องวง Padadox 
           ครุศาสตรบัณฑิต (ศิลปศึกษา) และครุศาสตรมหาบัณฑิต
    33. โก้ เศกพล อุ่นสำราญ : นักร้อง
           ครุศาสตรมหาบัณฑิต (ดนตรีศึกษา)
    34. ปิงปอง ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ : นักร้อง
           ครุศาสตรมหาบัณฑิต (ดนตรีศึกษา) 
    35. อั้ส ชนัญญา ตั้งบุญจิตร : นักร้อง และผู้เข้าแข่งขัน The Star 2
           ครุศาสตรมหาบัณฑิต (การศึกษาปฐมวัย)
    36. แจ๋ว ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ : ผู้กำกับละคร
         
    ครุศาสตรบัณฑิต
    37. แจ๊กกี้ อดิสรณ์ พึ่งยา : ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 
          ครุศาสตรบัณฑิต (พลศึกษา)     
    38. นายวิจิตร เกตแก้ว : อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย
           ครุศาสตรบัณฑิต (พลศึกษา)     
    39. ลีซอ ธีรเทพ วิโนทัย : นักฟุตบอลทีมชาติไทย
           กำลังศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต สาขาวิชามัธยมศึกษา (สุขศึกษาและพลศึกษา)
    40. ปอง สมปอง สอเหลบ : นักฟุตบอลทีมชาติไทย
           กำลังศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต สาขาวิชามัธยมศึกษา (สุขศึกษาและพลศึกษา)
    41. บิ๊ก นราธร ศรีชาพันธุ์ : อดีตนักเทนนิสทีมชาติไทย
           ครุศาสตรบัณฑิต (พลศึกษา)     
    42. ลูกหมี รัศมี ทองสิริไพรศรี : นางแบบ
           ครุศาสตรบัณฑิต (พลศึกษา)     
    43. พุ เหมันต์ เชตมี : ผู้กำกับภาพยนตร์บริษัท อาวอง จำกัดในเครือ RS
           ครุศาสตรบัณฑิต (ศิลปศึกษา)
    44. ครูพี่เมย์ ศศิมาลา จันทมาลา : ครูสอนภาษาอังกฤษสถาบัน Enconcept 
           ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา : ภาษาอังกฤษ)
    45. ครูป๊อป ณัทธนัท เลี่ยวไพโรจน์ : ผู้เขียนตำราวิชาสังคมศึกษาระดับมัธยมศึกษา สำนักพิมพ์ พ.ศ.พัฒนา
           ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา : สังคมศึกษา)
        
    นี่เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกครอบครัวครุศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาออกเป็น เสาหลักของแผ่นดิน ทั้งด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ 


    การประเมินคุณภาพทางการศึกษา

    คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกจากสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้รับผลการประเมินในระดับ "ดี"

    นอกจากนี้คณะครุศาสตร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนด้านสังคมศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนด้านสังคมศาสตร์ดีที่สุดในโลกโดย The Times Higher Education 2010 ผลการจัดอันดับมีดังนี้
    - อันดับที่   1 ของประเทศไทย
    - อันดับที่   3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
    - อันดับที่ 12 ของทวีปเอเชีย
    - อันดับที่ 78 ของโลก



    60 เรื่องน่ารู้รอบรั้ว "ครอบครัวครุศาสตร์"

    ประวัติและข้อมูลทั่วไป
    1. คณะครุศาสตร์ สถาปนาเป็นคณะที่ 7 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    2. คณะครุศาสตร์มีรากฐานมาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา โรงเรียนฝึกหัดครูแห่งแรกของประเทศ และถูกรวมในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ (จุฬาฯ ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดหลักสูตรฝึกหัดครูในระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศ
    3. คณะครุศาสตร์เป็นคณะแรกที่จัดหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาและการฝึกหัดครูเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก 
    4. คณะครุศาสตร์ มีจำนวนนิสิตมากเป็นอันดับที่ 4 ของจุฬาฯ รองจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
    5. คณะครุศาสตร์ มีจำนวนคณาจารย์มากเป็นอันดับที่ 2 ของจุฬาฯ รองจากคณะแพทยศาสตร์
    6. คณะครุศาสตร์ เป็น
    คณะแรกที่แยกออกมาตั้งจากจุฬาฯ ฝั่งใหญ่
    7. คณะครุศาสตร์ จัดเป็นคณะที่มีขนาดใหญ่ของจุฬาฯ โดยคณะอื่นที่มีขนาดใหญ่ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และแพทยศาสตร์

    การจัดการเรียนการสอน

    8. สาขาวิชายอดฮิตของคณะ คือ มัธยมศึกษา น้องๆ คนไหนอยากเรียนสาขามัธยมวิทย์และมัธยมศิลป์ก็ต้องไฟท์นิดนึง ส่วนสาขาอื่นๆ คะแนนชิวๆ นะ เลือกอะไรก็ได้เรียนหมด ยกเว้น มัธยมศึกษา นี่แหละ 
    9. เด็กสายศิลป์เข้ามัธยมวิทย์ ชีวิตอาจถึงฆาตได้
    10. คณะครุศาสตร์เปิดสอนวิชาเอกในระดับปริญญาตรีมากที่สุดถึง 24 วิชาเอก
    11. วิชาเอกยอดฮิตของคณะ คือ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีการศึกษา
    12. สาขาวิชาศิลปศึกษาจะเรียกตัวเองว่า "ครุอาร์ต
    13. คณะครุศาสตร์เป็นคณะเดียวของจุฬาฯ และอาจเป็นน้อยคณะในประเทศที่เปิดโอกาสรับนิสิตเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และนักเรียนโรงเรียนอิสลามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปอเนาะ) เข้าศึกษา
    14. วิชาเลือก (Gen Ed) ยอดฮิตของคณะ คือ วิชาธรรมะกับการครองตน โดยในอดีตจะมีวิชาวัฒนธรรมไทย ที่สอนโดยรองศาสตราจารย์สุนีย์ สินธุเดชะ หรืออาจารย์แม่
    15. วิชาสุดหินของเด็กครุ คือ จิตวิทยาพื้นฐานการศึกษา และสุนทรียนิยม
    16. คณะครุศาสตร์มักจะถูกนิสิตคณะอื่น กล่าวหาว่า ปล่อยเกรด ก็ลองมาเรียนดูสิจะรู้ว่าง่ายมั้ย ถ้าให้แลกระหว่าง ทำงานหนัก กับ อ่านหนังสือสอบหนัก เด็กครุคงเลือกอ่านหนังสือดีกว่า เพราะแม้เวลาสอบ งานก็ยังเคลียร์ไม่เสร็จกันเลย เกรดที่สวยๆ ก็มาจากการทำงานจนเกือบจะพลีชีพนี่แหละ  ถ้าเด็กคณะอื่นอยากได้เกรดสวยๆ ก็ลองมาปั่นงานแบบเด็กครุดูสิ 
    17. คณะครุศาสตร์มักจะไม่แจกเกรด F ก็บอกแล้วว่าอาจารย์ใจดี
    18. เป็นผลจากข้อ 17 ทำให้คณะครุศาสตร์มีนิสิตที่ได้รับเกียรตินิยมมากที่สุดของจุฬาฯ ปีหนึ่งก็จะมีประมาณ 100 กว่าคน (บัณฑิตครุศาสตร์ปี 2552 ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง 70 คน และอันดับสอง 117 คน)
    19. อาจารย์คณะครุศาสตร์มักจะเช็คเวลาเรียน
    20. คณะครุศาสตร์เคร่งครัดเรื่องการ
    แต่งชุดนิสิตเข้าเรียน
    21. อาจารย์ของคณะบางส่วนเป็นอาจารย์สาธิตจุฬาฯ ซึ่งมักจะใจดีและน่ารัก เราคณะนี้ก็รู้สึกเหมือนกับย้อนไปเรียนมัธยมปลายอีกครั้ง
    22. การสอบวิชาในคณะครุศาสตร์มีทุกรูปแบบ ทั้งข้อสอบปรนัย ข้อสอบเติมคำ ข้อสอบความเรียง ข้อสอบ Open Book และข้อสอบเทคโฮม
    23. เด็กครุมักจะเครียดก่อนสอบ ไม่ใช่เครียดกับการสอบนะ แต่จะเครียดกับการปั่นงานให้เสร็จทันอาจารย์จะส่งเกรดต่างหาก
    24. คณะครุศาสตร์ เป็นสถาบันด้านการศึกษาแห่งเดียวของประเทศที่กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้ทำหน้าที่จัดอบรมเพื่อพัฒนาข้าราชการครูทั่วประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพผู้บริหารสถานศึกษาและครูทั้งระบบตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ประจำปีงบประมาณ 2553 - 2555 โดยในปีงบประมาณ 2553 จะมีการประเมินสมรรถนะผู้บริหารและครู พัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมวิทยากรแกนนำ เพื่อไปทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการในการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 39,898 คน และพัฒนาครูจำนวน 17,408 คน
    25. คณาจารย์คณะครุศาสตร์  ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นราชบัณฑิต สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ประเภทสังคมศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ ของประเทศมากที่สุดถึง 5 ท่าน จากสายการศึกษาทั้งหมด 7 ท่าน ได้แก่
        - ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิง พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา
        - ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์
        - ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์
        - ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์
        - ศาสตราจารย์กิตติคุณ ทิศนา แขมมณี

    26. คณะครุศาสตร์ เป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับสูงสุดระดับประเทศด้านการวิจัยทางการศึกษา โดยเป็นสถาบันทางการศึกษาแห่งเดียวของประเทศที่มีนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติด้านการศึกษา จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ 

        - ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ พ.ศ.2548

        - ศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ วิรัชชัย พ.ศ.2551
    27. อาจารย์ที่เป็นที่น่าเกรงขามที่สุดของเหล่านิสิตครุศาสตร์คงไม่พ้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิรันดร์ แสงสวัสดิ์ ผู้สอนวิชาจิตวิทยาบังคับคณะ อย่าเข้าห้องสายเกิน 15 นาที และโปรดแต่งกายให้เรียบร้อย มิฉะนั้นจะถูกพิฆาต
    28. แม่พระแห่งมัธยมวิทย์ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อลิสรา ชูชาติ ใจดี แต่นิสิตไม่ค่อยจะใกล้ ไม่รู้ทำไม

    กิจกรรม
    29. กองสันทนาการของคณะครุศาสตร์มีชื่อเสียงมากในจุฬาฯ ในนาม "CU Miracle" อยากเห็นความแรงก็มายลในช่วงรับน้องใหม่ และงานฟุตบอลประเพณีฯ
    30. รับน้องคณะครุศาสตร์ขึ้นชื่อว่ามีทั้งโหด มัน ฮา นั่นจึงทำให้พวกเรากลายเป็นครอบครัวครุศาสตร์ที่รักกันมากๆ ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิมนุษยชน ทุกคณะของจุฬาฯ รับน้องอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีการใช้ความรุนแรง ไม่มีการข่มขู่ ไม่มีการอนาจาร และการทำให้อับอายแน่นอน
    31. เพลงประจำคณะ นอกจากจะมีเพลงสีเพลิงแล้ว เด็กครุยังยกให้ เพลงนกกระยาง เป็นอีกหนึ่งเพลงประจำคณะอีกด้วย
    32. คณะครุศาสตร์เป็นคณะแรกของประเทศที่จัดค่ายแนะแนวการศึกษาด้านวิชาชีพครู ชื่อว่า "ค่ายอยากเป็นครู" จัดขึ้นซึ่งริเริ่มขึ้นในปีการศึกษา 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการแนะแนวการศึกษาวิชาชีพครูแก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ ซึ่งล่าสุดโครงการ 5 ในปีการศึกษา 2554 มีผู้สมัครพันกว่าคน ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีการจัด ค่ายอยากเป็นครูที่จัดโดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับความสนใจมากมายจากเยาวชนทั่วประเทศ รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่มาขอทำสกู๊ปข่าวการศึกษาระหว่างการจัดค่าย ได้แก่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์มติชน โทรศัพท์สีกองทัพบกช่อง 7 เป็นต้น จนกลายมาเป็นแบบอย่างในการจัดค่ายแนะแนวการศึกษาด้านครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แก่สถาบันอื่น
    33. คณะครุศาสตร์ถูกยกให้เป็นเต็งหนึ่งของการประกวดพานไหว้ครู สแตนด์เชียร์กีฬาน้องใหม่ และกระทงใหญ่วันลอยกระทง ระดับมหาวิทยาลัยเสมอ

    เอกลักษณ์เฉพาะ
    34. บูมคณะครุศาสตร์ คือ 
    Baka BoBo Cheerka ChoCho BaBo CheerCho 
    Who are we? CHULALONGKORN Can you see? La
    E-E- EDU C-C-CAT I-I-ION E-D-U-C-A-T-I-O-N EDUCATEEEE.... 
    35. เด็กคณะอื่น มักกล่าวขานว่า สาวครุดุ แต่อาจารย์ครุใจดี
    36. เด็กครุมีจำนวนนิสิตหญิงเป็นเกือบ 3 เท่าของนิสิตชาย และในจำนวนนิสิตชายก็จะมีนิสิตเพศชายเป็น 2 เท่าของนิสิตผู้ชาย
    37. คณะครุศาสตร์ เป็นหนึ่งในคณะที่ถูกจัดอันดับว่า เป็นศูนย์รวมความเป็นท้องถิ่นมากคณะหนึ่งของจุฬาฯ จะเปิดเทอมหรือปิดเทอมที่สามารถนัดปาร์ตี้กันที่หัวลำโพง หมอชิต ได้เลยล่ะ
    38. คณะครุศาสตร์ ได้รับการชื่นชมด้านมารยาทของนิสิต และการแต่งกายที่เรียบร้อยและถูกระเบียบ
    39. นิสิตชายครุ ชั้นปี 1 ต้องสวมกางเกงนิสิตสีกรมท่าเช่นเดียวกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่คณะอื่นจะสวมกางเกงดำ
    40. เด็กครุมักจะแบกหนังสือที่ยืมจากหอสมุดพะรุงพะรังบ่อยๆ ไม่ใช่เอามาอ่านแน่นอน แต่เอามาทำรายงานต่างหาก
    41. เด็กครุที่อยู่หอมักจะเข้าเรียนสาย ก็หอมันใกล้คณะอ่ะ ขอนอนอีกนิดนะ แล้วค่อยไปเรียน (ทำบ่อยจนชินแล้ว 55)

    อาหาร
    42. อาหารขึ้นชื่อในอดีตของคณะครุศาสตร์ คือ "น้ำปั่น" เมนูยอดฮิตของนิสิตจุฬาฯ ที่มักจะเดินทางมาลิ้มลองความอร่อยที่คณะ คือ โอริโอ้ปั่นวิปครีม แต่ปัจจุบันย้ายไปถูกคณะสหเวชศาสตร์แล้ว เสียดายจัง
    43. หน้าคณะครุศาสตร์มีผลไม้สดๆ อร่อยๆ ของเด็กจุฬาฯ ซึ่งเด็กครุจะเรียกว่า "ผลไม้ร้านลุง"
    44. ที่จุฬาฯ ก็มี KFC เหมือนกันนะ แต่เป็นโรงอาหารคณะครุศาสตร์ (Karusart Food Center) ซึ่งเป็นโรงอาหารเดียวในจุฬาฯ ที่ติดแอร์เชียวนะ แต่ปัจจุบันได้ทุบเพื่อสร้างอาคารใหม่ และย้ายมาอยู่ใต้โถงอาคาร 2
    45. โรงอาหารครุก่อนทุบสร้างอาคารใหม่มักจะมีเด็กคณะอื่นชอบมากินข้าว เพราะจานใหญ่มาก และอร่อย ที่สำคัญคือ ราคาถูกเพียง 20 บาท แต่ปัจจุบันตรงกันข้ามกับในอดีตสิ้นเชิง
    46. คณะครุศาสตร์เป็นคณะแรกของจุฬาฯ ที่ลดการใช้แก้วพลาสติก โดยหันมาใช้แก้วกระดาษแทน

    สถานที่
    47. ในอดีต ก่อนที่จะทุบอาคาร 2 สร้างอาคารใหม่ คณะครุศาสตร์มีทางเดินยาวที่เรียกว่า "แคทวอล์คใช้เดินแบบได้เลยทีเดียว ปัจจุบันแคทวอล์คกลับมาแล้ว กว้างใหญ่ ไฉไลกว่าเดิม
    48. ห้องประชุมคณะครุศาสตร์ จะเรียกว่า "ห้องประชุม 101" ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร 3 ตึกถนนหน้าคณะด้านสำนักงานอธิการบดี
    49. อาคาร 6 จะถูกเรียกว่า "ตึกหกเหลี่ยม" ทั้งๆ ที่มันสร้างเป็นทรงแปดเหลี่ยม ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานหลักสูตรและการสอน (ทะเบียนคณะ) และห้องเรียนสาขาวิชาดนตรีศึกษา
    50. เด็กครุ จะเรียกห้องสมุดคณะครุศาสตร์ว่า "หอน้อย" และนิสิตจุฬาฯ ก็จะเรียกหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยว่า "หอกลาง" ซึ่งบรรณารักษ์หอน้อยตรงเคาน์เตอร์ยืมคืนนั้นดุยิ่งกว่าอาจารย์คณะเสียอีก ป้าเค้าเข้าสู่วัยทองแล้วต้องเข้าใจ
    51. ห้องคอมพิวเตอร์ของคณะบนอาคาร 3 ชั้น 3 ห้องน้ำเหม็นมาก ซึ่งในอดีตจะมีลุงกับป้าเป็นเจ้าหน้าที่หน้าห้อง และชอบโวยวายใส่นิสิต บ้างก็เจอนิสิตตอกกลับไปบ้าง ตอนนี้ลุงเกษียณแล้ว ป้าเหงาแย่เลย
    52. ยามของคณะส่วนใหญ่จะเป็นน้องหมาที่มักจะจับจองเตียงนอน ซึ่งในเวลากลางวันจะใช้เป็นโต๊ะนั่งนิสิต และโต๊ะรับประทานอาหาร
    53. เจ้าหน้าที่งานอาคารและสถานที่คนสำคัญของคณะ ชื่อลุงจอง หลายชั้น ใครจะจองห้องเรียนก็ต้องไปจองกับลุงจอง หลายชั้น
    54. คณะครุศาสตร์ไม่มีอาคาร 5 และอาคาร 7
    55. อาคาร 3 ชาวครุศาสตร์จะรู้จักในนาม "ตึก 3" แต่บุคคลภายนอกเวลาหาอาคารนี้ไม่เจอ จะถามเด็กครุศาสตร์ว่า "รู้จักอาคารประชุมสุข อาชวอำรุงมั้ยครับ" ซึ่งก็มีเด็กครุบางคนไม่รู้จัก เอ๊ะ ยังไง?
    56. ห้องน้ำคณะครุศาสตร์สะอาดมากๆ ห้างสรรพสินค้ายังอาย โดยเฉพาะห้องน้ำอาคาร 4 และอาคาร 3 ชั้นบนๆ เพราะไม่ค่อยมีคนใช้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบริเวณที่วังเวงมากๆ แต่ชั้น 2 นี่ไม่ไหวนะ

    ความเชื่อ
    57. ความเชื่อในคณะ คือ "บันไดกลาง" หน้าอาคาร 1 เชื่อว่าหากนิสิตคนใดเดินขึ้นลงบันใดกลาง จะเรียนไม่จบ แต่ความจริงแล้วเป็นอุบายของคณะที่จะให้นิสิตหลีกเลี่ยงการใช้บันไดกลาง เมื่อครั้นที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารียังทรงศึกษาที่จุฬาฯ เนื่องจากพระองค์จะทรงใช้บันไดกลางเสด็จพระดำเนินเข้าคณะครุศาสตร์เพื่อเรียนวิชาเลือกเสรีของพระองค์
    58. ในอดีตที่ยังมีแคทวอล์ค หมามักจะหอนประสานเสียงกันตอนประมาณ 1 ทุ่มเสมอ เพราะอะไร? นั่นสิ
    59. การขึ้นอาคารเวลากลางคืน ระวัง 2 เรื่อง คือ 1.เข้าห้องน้ำคณะ 2.การใช้ลิฟต์ โดยเฉพาะขณะที่ผ่านชั้นที่ปิดไฟมืด 555
    60. พระพรหมหน้าคณะครุศาสตร์ เด็กครุเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์มาก




    เพราะเรามี "บ้าน" หลังเดียวกัน
    เพราะเรา คือ
    นิสิตคณะครุศาสตร์ ไม่ใช่นิสิตครูคณะอื่น
    เพราะเราทุกคนรู้จักกัน และคอยเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน
    เพราะเรา
    เป็นหนึ่งเดียว

    เพราะพวกเราเป็นครอบครัวครุศาสตร์ 


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×