กว่าจะมาเป็นไทย...การเดินทางของประวัติศาสตร์แห่งชนชาติ - กว่าจะมาเป็นไทย...การเดินทางของประวัติศาสตร์แห่งชนชาติ นิยาย กว่าจะมาเป็นไทย...การเดินทางของประวัติศาสตร์แห่งชนชาติ : Dek-D.com - Writer

    กว่าจะมาเป็นไทย...การเดินทางของประวัติศาสตร์แห่งชนชาติ

    พอดีไปเจอบทความนี้ในเวปแห่งหนึ่งเข้า คิดว่า..เพื่อนๆ น่าจะสนจนนิสนึง อิอิ แบบว่า ... "เราเป็นคนไทยนี่ค่ะ" ดังนั้นเลยเอามาเป็นของฝากประดับหัวสมองกันซะหน่อย ^_^~

    ผู้เข้าชมรวม

    3,251

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    1

    ผู้เข้าชมรวม


    3.25K

    ความคิดเห็น


    3

    คนติดตาม


    2
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  11 ก.ค. 49 / 23:01 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      กว่าจะมาเป็นไทย...การเดินทางของประวัติศาสตร์แห่งชนชาติ

      การพยายามค้นหาต้นตอความเป็นมาเป็นไปเพื่อรู้จักตัวเอง คือพฤติกรรมทางจิตวิทยาขั้นพื้นฐานของมนุษย์   ดังนี้ความพยายามค้นหาถิ่นกำเนิดและความเป็นตัวตนที่แท้ของคนไทยจึงไม่ใช่เรื่องใหม่หากมันปรากฏลางๆมานานนับร้อยๆปี แสดงออกมาในรูปนิทานปรัมปราอธิบายที่มาของคนและชนชาติไทย 
                 
                      แต่เริ่มเอาจริงเอาจังขึ้นเมื่อเกิดภาวะคับขันลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตกแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่รอบข้างประเทศไทย บีบอัดและดูดกลืนเพื่อนบ้านให้ตกเป็นทาสฝรั่ง ด้วยข้อกล่าวหาว่าไร้อารยะ ยิ่งทำให้กระบวนการค้นหาความเป็นมาของชาติถูกเร่งรัด เพื่อนำมาแสดงให้ตะวันตกเห็นว่า ชาติสืบสายมาเก่าแก่ 

                      ด้วยพระราชนิยมและพระวิเทโศบายของรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 การค้นคว้าความเป็นมาของชาติไทยจึงเริ่มมาแต่ครั้งนั้น   

                      ก่อนขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่4 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงครองสมณเพศอยู่นานถึง 27 ปี ระหว่างเวลาอันยาวนานนั้นเอง พระองค์ได้เสด็จจาริกไปในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย ทำให้ทอดพระเนตรเห็นซากเมืองเก่าแก่ โบราณสถานมากมาย คือประจักษ์พยานความเป็นอารยะของแผ่นดินสยามที่ซ่อนอยู่ในไพรพฤกษ์ ดังนั้นหลังจากพระองค์เถลิงราชสมบัติแล้วจึงทรงพระราชนิพนธ์ประวัติศาสตร์ชาติไทยพระราชทานเซอร์จอห์น เบาริง หรือพระยาสยามานุกูลกิจ สยามมิศรมหายศ  ราชทูตอังกฤษซึ่งเข้ามาในสยามเมื่อปี พ.ศ.2398 โดยทรงเล่าว่าคนไทยเริ่มตั้งอาณาจักรเป็นแห่งแรกทางตอนเหนือของประเทศ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำยม  ซึ่งรู้จักกันในนาม สุโขทัย ทรงอาศัยหลักฐานทั้งจากศิลาจารึกซึ่งทรงค้นพบ และโบราณสถานมากมายในเขตเมืองนั้นเป็นกรณีศึกษา นับเป็นประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่รับทราบกันในยุคนั้น 

                      กระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภัยจากการล่าอาณานิคมอุบัติขึ้นรอบตัวและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สยามจึงเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับที่มาของชนชาติอย่างกว้างขวาง นักปราชญ์หลายคนอาทิ สมเด็จ ฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาอนุมานราชธน หลวงวิจิตรวาทการ เสนอทฤษฏีมากมายขึ้นมา             ทั้งเชื่อว่าไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไตทางตอนใต้ของประเทศจีน อพยพมาจากทางตอนกลางแถบลุ่มแม่น้ำแยงซี อพยพขึ้นมาจากแถบเส้นศูนย์สูตรทางตอนใต้ของประเทศไทย เป็นต้น 

                      แต่ทฤษฎีเหล่านี้ก็ถูกลบล้างไปด้วยวิทยาการและการพิสูจน์ด้วยความรู้สมัยใหม่ซึ่งใช้เวลายาวนานนับสิบๆปี  กระทั่งสรุปว่าแท้จริงเราไม่ได้มาจากไหน แต่เราลงหลักปักฐาน ตั้งรกรากอยู่ที่นี่มาแต่ครั้งบรรพกาล 

                      จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบในพื้นที่เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น  อุดรธานี  พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี  ที่พบโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากสำริด  เครื่องปั้นดินเผา และโครงกระดูกจำนวนมาก สันนิษฐานว่ามีอายุราว 4,500 – 5,000 ปี ซึ่งตรงกับยุคสำริดและยุคเหล็ก นับเป็นแหล่งโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์

                      ไม่เพียงเท่านั้นมนุษย์ในยุคนั้นยังตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ทั่วไปในเขตประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง เช่นแถบภาคกลาง เช่นจังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี เรื่อยไปจนถึงกาญจนบุรี ขึ้นเหนือไปที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และลงใต้ไปจนถึงแถบจังหวัดพัทลุง เป็นต้น

                      ผู้คนในยุคนั้นมีความเจริญถึงขั้นรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่ม มีความสามารถในการหลอมโลหะ ถลุงเหล็ก           ทำเครื่องปั้นดินเผา เป่าแก้ว มีการเลี้ยงสัตว์และทำเกษตรกรรม นับถือภูตผีปีศาจและอำนาจลี้ลับ เชื่อในโลกหลังความตายอันส่งผลต่อพิธีกรรมในการฝังศพ และมีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานทั้งเพื่อหาแหล่งที่อยู่ใหม่และ เพื่อการค้า 

                      เมื่อการค้าเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเช่นนั้นจึงเกิดการเดินทางแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวต่างชาติ อารยธรรมจากดินแดนไกลโพ้นเริ่มเข้ามามีบทบาทในดินแดนแถบนี้ โดยเฉพาะอารยธรรมที่เจริญอย่างยิ่งยวดทางทิศตะวันตกของประเทศไทย  อารยธรรมอินเดีย  

                      สันนิษฐานว่าอารยธรรมอินเดียเดินทางเข้ามาในพื้นที่แถบนี้พร้อมพ่อค้าและเหล่านักบวชทั้งทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์  โดยเฉพาะเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองท่าทางทะเลอย่างลพบุรี นครสวรรค์ ปราจีนบุรี และกาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี 

                      อิทธิพลอารยธรรมอินเดียช่วยวางรากฐานทางการเมืองและสังคมแก่คนพื้นเมืองแถบนี้กระทั่งเจริญรุ่งเรืองกลายเป็นเมืองใหญ่ภายใต้นาม อาณาจักรทวาราวดี เมื่อราว พุทธศตวรรษที่ 11 – 13  ร่องรอยความเจริญครั้งนั้นหลงเหลือมาในรูปของพระพุทธรูปและเทวรูปหินสลัก เหรียญเงิน เครื่องประดับมีค่าจำพวกทองคำและหินกึ่งอัญมณี  รวมถึงซากเมืองโบราณขนาดมหึมาที่กระจายอยู่ตามเมืองเก่าดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นอาทิ

                      ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 13 อาณาจักรทางตะวันออกของทวาราวดี คือ กัมพูชา เรืองอำนาจขึ้นและแผ่ขยายอิทธิพลเข้าครอบงำรัฐทวาราวดีที่กำลังเสื่อมโทรมเพราะภัยรุกรานจากพม่า ทำให้ผู้คนในอาณาจักร                 ทวาราวดีหันมายอมรับนับถือชาติที่เข้มแข็งกว่าอย่างขอม ก่อกำเนิดยุคสมัยที่เรียกว่า ละโว้ หรือลพบุรี ซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองลพบุรีในฐานะเมืองหลวงแห่งที่สองของราชอาณาจักรกัมพูชา ในเวลานี้ บ้านเมืองในเขตนี้มลังเมลืองไปด้วยศาสนสถานแบบขอม ปรางค์ปราสาทถูกก่อร่างสร้างขึ้นบนผืนแผ่นดินที่เคยเรียกตัวเองว่า สยาม มาแต่โบราณ ซึ่งเป็นคนละชนชาติกับพวกละว้าทางเหนือ ที่ต่อมาก่อตั้งอาณาจักรล้านนาขึ้น 

                      ส่วนในพื้นที่ทางใต้ของสยามก็ปรากฏอาณาจักรใหญ่ที่รับอิทธิพลอินเดียผ่านเขมรมาเช่นกัน ทั้งทางศิลปะ ศาสนาความเชื่อ ระบบการปกครองและสังคม นั่นคืออาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งน่าจะมีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี แผ่ขยายอธิพลครอบคลุมแถบศูนย์สูตรเกือบทั้งหมด

                      กระทั่งในราว พ.ศ. 1732 เมื่อกษัตริย์ผู้ทรงศักดานุภาพของขอมอย่างพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคตลงอาณาจักรกัมพูชาเริ่มอ่อนแอ  คนสยามในเมืองเล็กๆแถบลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านทางตอนเหนือ ก็รวบรวมไพร่พลขับไล่ผู้ปกครองจากเขมรกลุ่มสุดท้ายออกไป 

                      ประมาณปี พ.ศ. 1781 พ่อขุนบางกลางท่าวและพ่อขุนผาเมืองได้รวบรวมกำลังพลขับไล่ขอมสบาทโขลญลำพง ผู้ปกครองชาวเขมรออกจากเมืองสุโขทัยได้สำเร็จ แล้วสถาปนาขึ้นเป็นอาณาจักรสุโขไท ซึ่งหมายถึงความสุขอันเกิดจากความอิสระ พ่อขุนบางกลางท่าวปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักร พระนาม พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ นับเป็นเมืองหลวงของชาวสยามแท้ๆแห่งแรก และเป็นปฐมบทของชาติไทยโดยแท้

                      พ.ศ. 1820 พระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เสวยราชสมบัติอาณาจักรสุโขทัย พระนามพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชายิ่ง ทรงจัดระบบการชลประทานในเมืองเพื่อขจัดปัญหาขาดแคลนน้ำด้วยการสร้างเขื่อนดินขนาดใหญ่ นาม สรีดภงค์ นับเป็นเขื่อนแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นการชลประทานในยุคเริ่มแรกของประวัติศาสตร์  ที่สำคัญที่สุดทรงประดิษฐ์ลายสือไทและอักขระวิธีแบบไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1826  ซึ่งพัฒนามาเป็นอักษรไทยในปัจจุบัน 

                      พ.ศ. 1890 พระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงครองราชย์สมบัติกรุงสุโขทัยในพระนาม สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท พระองค์ทรงปกครองประเทศด้วยนโยบายทางพระพุทธศาสนา ทรงวางรากฐานทางพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทให้กับแคว้นเล็กแคว้นน้อยรอบข้างสุโขทัย ทั้งแพร่ พะเยา ล้านนา นครศรีธรรมราช และ มอญ เป็นต้น ทรงสร้างพระพุทธปฏิมาอันงามล้ำเลิศเป็นที่ยอมรับไปทั่วทุกทิศานุทิศ นั่นคือ พระพุทธชินราชแห่งเมืองพิษณุโลก   3 ปีหลังจากขึ้นครองราชย์เมืองเล็กๆทางทิศใต้ของสุโขทัยซึ่งมั่งคั่งเพราะการค้าก็แยกตัวเป็นอิสระ สถาปนาตนเองเป็นแคว้น มีชื่อว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร 

                      กระทั่ง พ.ศ. 1893 พระเจ้าอู่ทองเจ้านายในเมืองอโยธยาศรีรามเทพนครทรงพาไพร่พลหลีกหนีโรคระบาดไปสร้างเมืองใหม่  จนพบทำเลเหมาะและสถาปนาเมืองขึ้นมีศูนย์กลางอยู่ที่หนองโสน( บึงพระราม ) พระราชทานนามว่า กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา  จากนั้นก็ทรงปราบปรามเมืองเล็กเมืองน้อยให้เข้ามาอยู่ใต้อำนาจทั้งด้วยการรบและอาศัยความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เช่นเมืองสุพรรณบุรี ละโว้ นครศรีธรรมราช  เป็นต้น 

                      กระทั่งพ.ศ.1991 เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงครองกรุงศรีอยุธยา และสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่4(  บรมปาล ) แห่งสุโขทัยสวรรคต  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงอ้างความชอบธรรมที่ทรงมีสายเลือดสุโขทัยทางพระมารดาเข้าครองกรุงสุโขทัย จึงถือได้ว่าอาณาจักรสุโขทัยล่มสลายอย่างราบคาบในเวลานี้ 

                      กรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปี 2112 พม่าจึงยกทัพเข้าโจมตีกรุง กษัตริย์พม่าแต่งตั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชา ( ซึ่งแต่เดิมเป็นขุนพิเรนทรเทพ )ให้ครองกรุงศรีอยุธยาต่อไปภายใต้อาณัติพม่า แต่สุดท้ายพระราชโอรสของพระองค์ คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงประกาศเอกราชได้สำเร็จในปี 2121 ไทยจึงเป็นไทอีกครั้ง 

                      จากนั้นมากรุงศรีอยุธยาก็กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง และถึงขีดสุดในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งนับเป็นยุคทองของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงทำนุบำรุงศิลปะ วรรณคดี การเมืองการปกครอง การทหาร การค้า  แม้เมื่อพระราชโอรสของพระองค์ คือสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นครองสิริราชสมบัติในปี 2209 บ้านเมืองก็ยิ่งเจริญรุดหน้า ด้วยทรงนำวิทยาการตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศ ทรงติดต่อเจริญพระราชไมตรีกับต่างชาติ หลายชาติหลายภาษา ทรงทำนุบำรุงศิลปะและโปรดฯให้ชาวต่างชาติเข้ารับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณ โปรดฯให้สถาปนาเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีที่สอง จนได้รับฉายาว่า แวร์ซายแห่งตะวันออก 

                      แต่กรุงศรีอยุธยาก็ต้องถึงกาลดับสูญ หลังจากตั้งเป็นราชธานีอยู่ได้ยาวนานถึง 417 ปี เมื่อพระเจ้ามังระแห่งพม่ายกทัพมาตีกรุงในปี 2310 และเผากรุงศรีอยุธยาจนวอดวาย 

                      แต่ขุนนางท่านหนึ่งมิได้ยอมแพ้ นำไพร่พลน้อยนิดตีฝ่าพม่าออกมาซุ่มอยู่ที่จันทบุรี ก่อนจะกลับไปตั้งบ้านแปงเมืองรวบรวมครัวไทยที่แตกกระสานซ่านกระเซ็นกันไปคนละทิศละทางให้กลับมารวมกันอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แถบป้อมวิไชยประสิทธิ์ ประกาศเอกราชจากพม่าแล้วสถาปนานครใหม่นาม  กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร ทรงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ พระนาม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 

                      แม้กรุงธนบุรีจะมีอายุสั้นเพียง 15 ปี แต่พระเจ้าตากก็ทรงทำหน้าที่สำคัญในการวางรากฐานและความมั่นคงในทุกๆด้าน  รวบรวมสรรพปัญญาความรู้และผู้คนจากทุกทิศเข้ามารวมกันอีกครั้ง เพื่อวันหนึ่งจะกลับมาเติบโตและเข้มแข็ง ....และแล้วก็เติบโตมาเป็นชาติ โตมาเป็นเรา ..คนไทย .. ในกรุงรัตนโกสินทร์

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×