ภูมิลักษณ์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย
ภูมิลักษณ์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย
ผู้เข้าชมรวม
7,822
ผู้เข้าชมเดือนนี้
4
ผู้เข้าชมรวม
ยินดีต้อนรับสู้ดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ อีสานบ้านเราเด้อ ภูมิลักษณ์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยภูมิภาคนี้มีลักษณะโดดเด่นกว่าส่วนอื่นของประเทศประกอบด้วยจังหวัด 19 จังหวัดคือ หนองคาย นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ สกลนคร อุดรธานี เลย ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อุดรธานี หนองบัวลำภู และ อำนาจเจริญ นับได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่และประชากรมากที่สุด นอกจากนั้นยังเป็นภูมิภาคที่มีปัญหาในด้านต่าง ๆ มากที่สุด เช่น ปัญหาความแห้งแล้ง ความยากจน ประชากรอพยพย้ายถิ่น ประชากรในภาคนี้พูดภาษาไทยสำเนียงอีสาน แตกต่างไปจากสำเนียงท้องถิ่นในภาคเหนือแต่ประชากรส่วนใหญ่สามารถพูด สำเนียงไทยภาคกลางได้ ประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ของตนคือหญิงมักจะนุ่งผ้าซิ่นทอ ด้วยฝ้ายมีเชิงคลุมเลยเข่าไปเล็กน้อย สวมเสื้อแขนสั้น ผู้สูงอายุมักตัดผมสั้นไว้จอน ส่วนผู้ชายไม่ค่อยมีรูปแบบที่แน่นอนนัก แต่มักนุ่งกางเกงมีขาครึ่งน่องหรือนุ่งโสร่งผ้าไหม อย่างไรก็ตามเครื่องแต่งกายดังกล่าวจะพบน้อยลง ในปัจจุบันประชากร วัยหนุ่มสาวจะแต่งกายตามสมัยนิยมอย่างที่พบเห็นในที่อื่น ๆ ของประเทศ
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
1.ขนาดที่ตั้ง และอาณาเขต
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบใหญ่ตอนใจกลางของแหลมทอง หรืออินโดแปซิฟิก อยู่ระหว่างเส้นแวง 101 องศา กับ 105 องศาตะวันออก และเส้นรุ้ง 14 องศา กับ 18 องศา 30 ลิปดาเหนือ มีทิวเขาเป็นกรอบล้อมรอบพื้นที่อยู่เกือบทุกด้าน จึงมีสภาพเป็นที่ราบสูง พื้นที่แยกออกจากภาคกลาง และภาคตะวันออกโดยมีทิวเขา และป่าใหญ่กั้นไว้ มีลำน้ำโขงกั้นอยู่ทางเหนือและทางตะวันออก และเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับลาว
2.สภาพทางธรณีวิทยา
3. ลักษณะภูมิประเทศ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะแยกตัวออกจากภาคเหนือและภาคกลางอย่างเด่นชัด ทั้งนี้เพราะการยกตัว ของแผ่นดินสองด้าน คือ ด้านตะวันตก และด้านใต้ ทำให้ภูมิประเทศตะแคงลาดเอียงไปทางตะวันออก การยกตัวของ แผ่นดิน ด้านตะวันตกทำให้เกิดขอบสูงชันตามแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ ต่อไปยังแนวเทือกเขาดงพญาเย็น โดยที่ด้านขอบชัน หันไปทางตะวันตกต่อบริเวณที่ราบภาคกลาง ภูมิประเทศทางด้านใต้ตามแนวเทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาดงรัก แผ่นดินยกตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกับทางด้านตะวันตก
4.ลักษณะภูมิอากาศ
ประเภทภูมิอากาศ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับร้อนแห้งแล้งหรือฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู
อุณหภูมิ
ฤดูร้อนอากาศร้อนจัดโดยทั่วไป อุณหภูมิสูงสุด 43.9 องศาเซลเซียส ที่ จ.อุดรธานี ฤดูหนาวอากาศเย็นจัด โดยทั่วไปอุณหภูมิต่ำสุด 0.1 องศาเซลเซียส ที่ จ.เลย ทั้งนี้เพราะ เป็น ลักษณะอากาศแบบภาคพื้นทวีป
ปริมาณน้ำฝน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับฝนอย่างเด่นชัด 2 ทางด้วยกันคือ ฝนจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ได้รับน้อยและไม่สม่ำเสมอเพราะมีทิวเขาเพชรบูรณ์ ดงพญาเย็น สันกำแพง และพนมดงรักกั้นฝนเอาไว้ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนมากจึงเป็นด้านปลายลมของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และฝนจากพายุ ดีเปรสชันที่เคลื่อนที่เข้ามาในทิศทางตะวันออก ไปทางตะวันตกปีละ 3-4 ลูก ทำให้ได้รับฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งจังหวัดทางด้านตะวันออกก็จะได้รับฝนมากกว่าจังหวัด ทางด้านตะวันตกเช่นเดียวกัน จังหวัดที่มีปริมาณฝนมากที่สุดของภาคคือ จ.นครพนม จังหวัดที่มีปริมาณฝนน้อยที่สุดคือ จ.นครราชสีมา
ฤดูกาล
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูร้อน
5.ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรดิน
หินเปลือกโลกส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหินทราย ซึ่งเมื่อสลายตัวจะเป็นดินทรายที่ขาดความอุดมสมบูรณ์และไม่เก็บน้ำ ทำให้เกิดปัญหา ความแห้งแล้งซึ่งปรากฎอยู่ทั่ว ๆ ไปในภูมิภาคนี้
ทรัพยากรน้ำ
- น้ำบนผิวดิน คือ น้ำที่ขังอยู่ตามแม่น้ำ หนอง บึง หรือกุด แต่สภาพทางธรณีวิทยาที่มีภูมิประเทศเป็นลูกคลื่น ผิวดินบางและเป็นดินทรายที่ไม่อุ้มน้ำนั้น เมื่อฝนตกน้ำก็จะไหลลงสู่แม่น้ำอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมในที่ต่ำ และในฤดูแล้งน้ำจะมีการระเหยออกจากผิวดินได้ง่าย จึงมักเกิดความแห้งแล้งขึ้น โดยทั่วไป การพัฒนาแหล่งน้ำบนผิวดินสามารถกระทำได้โดยการสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำ ขุดลอกกุดและขุดบ่อเก็บน้ำ โดยรองก้นบ่อด้วยแผ่นพลาสติกหรือ วัสดุอื่นที่กันการไหลซึมของน้ำ เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- น้ำใต้ดิน มีการเจาะน้ำบาดาลโดยกรมทรัพยากรธรณี สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กรมพัฒนาที่ดิน กรมการปกครอง เป็นต้น ประมาณ ๒๕,๐๐๐ บ่อ ร้อยละ ๓๐ เป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่มีความเค็มจนใช้การไม่ได้ เพราะมีหินเกลืออยู่ในระดับตื้นและปริมาณน้ำฝนที่จะไหลซึมลงไปเติมชั้นน้ำบาดาลมีเพียงร้อยละ ๓ ของปริมาณน้ำฝนที่ได้รับเท่านั้น
ทรัพยากรป่าไม้
จังหวัดที่มีป่าไม้มากที่สุดตามลำดับคือ จ.ชัยภูมิ (๓,๐๑๑ ตร.กม) จ.เลย (๒,๘๘๙ ตร.กม) จังหวัดที่มีป่าไม้น้อยที่สุดของภาค คือ จ. มหาสารคาม (๓๒ ตร.กม) จังหวัดที่มีป่าไม้ค่อนข้างหนาแน่นที่สุดของภาค คือ จ.อำนาจเจริญ (ร้อยละ ๓๒.๗ ของพื้นที่จังหวัด) จังหวัดที่มีป่าไม้เบาบางที่สุด คือ จ.มหาสารคาม (ร้อยละ ๐.๖ ของพื้นที่จังหวัด)
ทรัพยากรแร่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีทรัพยากรที่สำคัญ ได้แก่
- เกลือหิน แบ่งเป็น ๖ แหล่ง คือ แหล่งชัยภูมิ แหล่งนครราชสีมา แหล่งมหาสารคาม แหล่งยโสธร แหล่งอุบลราชธานี แหล่งอำนาจเจริญ แหล่งอุดรธานี และแหล่งหนองบัวลำภู
ทรัพยากรสัตว์ป่า
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เคยเป็นภาคที่อุดมด้วยสัตว์ป่ามาก่อนเพราะเป็นภาคที่มีพืชพรรณเป็นทุ่งหญ้าเมืองร้อนกว้างขวาง ปัจจุบันนี้มีสัตว์ป่าเหลืออยู่น้อยลง ที่เหลืออยู่บ้าง เช่น ตามภู (ภูกระดึง ภูหลวง ภูเรือ ภูหอ) ใน จ.เลย สัตว์ที่พบได้แก่ กระทิง กวาง เก้ง ช้าง ที่ทุ่งกุลาร้องไห้มีนกกระยางขาว นกกระสานวล ที่บึงแวงหรือหนองแวง อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ มีนกเป็ดน้ำ และมีนกเป็ดแดงบริเวณเหนือเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ สัตว์ที่นับว่ามีชื่อเสียงของประเทศไทย ที่มีแหล่งกำเนิดในภาคนี้ คือ แมวป่า (แมวโคราช)
6.สภาพแวดล้อมทางประชากร และสังคม
ลักษณะทั่วไปของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๑.จำนวนประชากร
เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดและจำนวนประชากรถึง ๒๑ ล้านคน หรือ ประมาณ ๑ ใน ๓ ของประชากรทั้งหมดในประเทศ จังหวัดที่มีประชากรเกินล้านคนมีถึง ๑๐ จังหวัด คือ นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และสกลนคร
๒.ความหนาแน่นของประชากร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีประชากรหนาแน่นเป็นที่ ๒ ของประเทศ รองจากภาคกลาง บริเวณที่มี ประชากรหนาแน่นมากจะอยู่ในจังหวัดที่ตั้งอยู่บริเวณ ที่ราบอันกว้างใหญ่ และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ จังหวัดที่มี ประชากรหนาแน่นที่สุด ได้แก่ จ.มหาสารคาม
๓.การเพิ่มของประชากร
ประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเกิดสูง เป็นภาคที่มีครอบครัวขนาดใหญ่ เมื่อพิจารณาถึง ภาวะการเจริญพันธุ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีภาวะการเจริญพันธุ์สูงที่ สุด
๔.การอพยพย้ายถิ่นของประชากร
ตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรอพยพย้ายถิ่นภายในภูมิภาคสูงมาก เป็นการอพยพย้ายถิ่นจากจังหวัดตอรนล่างซึ่งมีประชากร หนาแน่นกว่า
วัฒนธรรมและประเพณีของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ความเป็นอยู่ของชาวไทยภาคอีสานค่อนข้างเรียบง่าย อุปนิสัยซื่อตรง อ่อนโยน ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม เป็นมิตร อดทน และมีระบบสังคมเป็นแบบเครือญาติ จนได้ สมญาว่า "ถิ่นไทยดี"อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ตลอดจนสำเนียงภาษาที่ใช้พูดและลักษณะผิวพรรณ แล้ว วัฒนธรรมประเพณีของภาคอีสานแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
ภาคอีสานตอนบน หรือกลุ่มวัฒนธรรมแม่น้ำโขง ได้แก่ บริเวณพื้นที่เทือกเขาภูพานตอนบนไปจรดริมฝั่งแม่น้ำโขงหรือบริเวณแอ่งสกลนคร มีเทือกเขา
ใหญ ่น้อย รวมทั้งแอ่งต่าง ๆ มากมาย ตามเส้นทางการเดินทางของแม่น้ำโขง มีประชากรจำนวนมากได้อพยพย้ายถิ่นฐานจากฝั่งซ้ายมาสู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ดเลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากชาวไทยอีสานซึ่งมีมากถึง 95% แล้ว ยังมีชาวผู้ไทยอีกด้วย (เป็นคนไทยที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองจุไท หรือบริเวณเมืองแถน หรือเดียนเบียนฟู ของเวียดนามในปัจจุบัน ซึ่งแคว้นสิบสองจุไทนี้เคยเป็นของไทยมาก่อน)
ภาคอีสานตอนล่าง อยู่ในบริเวณพื้นที่เทือกเขาภูพานตอนล่างหรือบริเวณแอ่งโคราช ลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบสูง และแนวหินภูเขาไฟที่ดับ สนิทแล้ว เนื่องจากภาคอีสานตอนล่างเคยเป็นเส้นทางการเดินทางของกลุ่มขอมโบราณ จึงมีโบราณสถานเก่าแก่ที่ได้รับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมจาก "หัวเมือง เขมรป่าดง" มาก กลุ่มชนในภาคอีสานตอนล่างมีทั้งชาวเขมรสูง ชาวกุย (ส่วย) ชาวไทยโคราช ชาวกระโซ่ ชาวแสก ชาวกุลา และชาวไทยย้อ กลุ่มชนเหล่านี้อาศัยอยู่ใน จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์
7.การปรับตัวของประชากรให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๑.การตั้งถิ่นฐานของประชากร
ประชากรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะตั้งถิ่นฐานอยู่ตามที่ดอน บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของประชากร ในภาคนี้ที่แตกต่างไปจากภาคกลางและภาคเหนือ คือ มีการตั้ง ถิ่นฐานอยู่อย่างหนาแน่นเป็นกระจุกอยู่รอบๆ อ่างเก็บน้ำ เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญของการตั้งถิ่นฐานในเขต ที่มีความ แห้งแล้ง ซึ่งเป็นดินปนทรายไม่เก็บน้ำ นอกจากนั้นประชากรจะตั้งถิ่นฐานอยู่ตามแนวเส้นของถนนสายสำคัญที่ตัดผ่าน จังหวัดต่าง ๆ ในภาคนี้ ทำให้เกิดเป็นเมือง ศูนย์กลางที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เช่น บ้านไผ่ เมืองพล นครราชสีมา
๒.อาชีพสำคัญของประชากร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่มากกว่าอื่น ๆ แต่สภาพแวดล้อมไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ ซึ่งไม่เอื้ออำนวย ประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของประชากรในท้องถิ่นมากนัก คือ มีสภาพส่วนใหญ่เป็นดินทราย มีธาตุอาหารพืชน้อย มีการชะล้างพังทลายสูงและไม่อุ้มน้ำ แม้ว่าภาคนี้จะมีปริมาณฝนตกมากก็ตามแต่มักจะประสบกับความแห้งแล้ง โดย เฉพาะในฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคอยู่เสมอ และยังประสบปัญหาดินเค็มเป็นบริเวณกว้างอีกด้วย แต่ประชากรในท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็พยายามปรับตัว ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม โดยการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก นิยมปลูกข้าวสำหรับใช้บริโภคในครอบครัว นอกจากนั้นยังมีอาชีพอื่น ๆ อีกด้วย
8. ปัญหาสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. ปัญหาดินและน้ำ
เป็นดินเค็มและสภาพดินเป็นดินทราย เมื่อฝนตกไม่สามารถกักเก็บน้ำ ทำให้ขาดน้ำในช่วงฤดูแล้ง
2. ปัญหาความยากจนและการอพยพย้ายถิ่น
ซึ่งสภาพความยากจนของประชาชนมีทุกภาค แต่ภาคนี้มีความรุนแรง ทำให้ประชาชนในวัยทำงานส่วนมากอพยพย้ายถิ่น เพื่อหางานทำเข้าสู่เมืองใหญ่กลายเป็นปัญหาสังคมในเขตเมืองใหญ่
3. ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ลาวและเขมร
ปัญหาสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ส่งผลกระทบต่อปัญหาประเทศด้วย ดังนั้นรัฐจึงรณรงค์แก้ไขและพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดย โครงการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชน
ผลงานอื่นๆ ของ ลุง ทองม้วน น ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ ลุง ทองม้วน น
ความคิดเห็น