พระราชินีนาถวิคตอเรีย - พระราชินีนาถวิคตอเรีย นิยาย พระราชินีนาถวิคตอเรีย : Dek-D.com - Writer

    พระราชินีนาถวิคตอเรีย

    ราชินีผู้ยิ่งใหญ่แห่งสหราชอาณาจักรและพระจักรพรรดินีแห่งอินเดีย ผู้นำยุคแห่งการรุ่งเรืองของอังกฤษ

    ผู้เข้าชมรวม

    1,699

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    14

    ผู้เข้าชมรวม


    1.69K

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    1
    หมวด :  รักอื่น ๆ
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  26 เม.ย. 54 / 15:06 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น



     

    สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียผู้เป็นสมเด็จย่าแห่งยุโรป(Grandmother of Europe) พระราชินีผู้ปกครองยุคสมัยอันรุ่งเรืองของจักรวรรดิอังกฤษ ที่มีอาณานิคมอยู่ทั่วโลกจนได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน

    ทรงครองราชย์ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1837 - 22 มกราคม 1901 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ (63ปี) และทรงมีสายพระโลหิตสืบทอดมาเป็นเชื้อพระวงศ์ทั่วยุโรป

    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ


      ช่วงวัยเด็ก

      พระราชินีวิกตอเรียทรงประสูติในวันที่ 24 พฤษภาคม 1819 ทรงเป็นพระราชธิดาในเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ออกุสตุส ดยุคแห่งเคนท์และสตราเธิร์นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรกับชาร์ลอตต์แห่งเม็คเคล็นเบิร์ก-สเตรลิตซ์ สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักรพระราชชนนีคือเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งแซ็กซ์-โคเบิร์ก-ซาลเฟลด์ พระปิตุลา 2 พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรได้แก่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักรและสมเด็จพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร

      พระนามของพระองค์ ซึ่งแม้ว่าลงเอยในตอนท้ายเป็น อเล็กซานดรินา วิกตอเรีย ได้เป็นที่ถกเถียงกันระหว่างพระชนนีและบรรดาพระปิตุลา สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เสนอพระนามว่า เอลิซาเบธ ในขณะที่ทรงคัดค้านการขนานพระนามเจ้าหญิงตามพระชนนี โดยตรัสว่า วิกตอเรีย "ไม่เคยเป็นชื่อทางศาสนาคริสต์ที่รู้จักมาก่อนในประเทศนี้" แต่ดัชเชสแห่งเคนต์ทรงปฏิเสธ แม้พระนามชาร์ล็อตก็ไม่ได้รับการพิจารณา เพราะเป็นการไม่ให้เกียรติแก่เจ้าหญิงชาร์ล็อต ซึ่งสิ้นพระชนม์ขณะมีพระประสูติกาลก่อนหน้านี้

      พระชนกของเจ้าหญิงวิกตอเรียสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมะเร็ง หลังจากการประสูติได้เพียงแปดเดือน และสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 พระอัยกาได้เสด็จสวรรคตในอีกหกวันต่อมา เจ้าชายผู้สำเร็จราชการ จึงเสวยราชสมบัติสืบต่อมาเป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แต่พระองค์เสด็จสวรรคตโดยปราศจากรัชทายาทเมื่อเจ้าหญิงทรงมีพระชนมายุ 11 พรรษา ตอนนี้ราชบัลลังก์จึงตกเป็นของดยุคแห่งคลาเรนซ์และเซนต์แอนดรูว์ซึ่งเถลิงพระปรมาภิไธยเป็น สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4

       

      พระรัชทายาทแห่งบัลลังค์

      เจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงมีพระราชธิดาอยู่เพียงพระองค์เดียวคือ เจ้าหญิงออกัสตา ชาร์ล็อตแห่งเวลส์ เมื่อเจ้าหญิงสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2360 พระโอรสที่ยังไม่ได้ทรงอภิเษกสมรสของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ต่างทรงรีบเร่งที่จะอภิเษกสมรสและมีพระโอรสธิดาเพื่อรักษาลำดับการสืบราชบัลลังก์[1]

      แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ทรงเป็นพระชนกของพระโอรสธิดานอกกฎหมายจำนวนสิบคนที่เกิดจากโดโรธี จอร์แดน ซึ่งเป็นนางสนม โดยมีอาชีพเป็นนางละคร พระองค์ไม่ทรงมีพระโอรสธิดาที่ถูกต้องตามกฎหมายเลย เจ้าหญิงวิกตอเรียจึงทรงเป็นรัชทายในราชบัลลังก์ที่เปลี่ยนแปลงได้ (heiress presumptive)

      กฎหมายในขณะนั้นไม่ได้ให้สิทธิ์แก่พระมหากษัตริย์เด็ก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการหากเจ้าหญิงวิกตอเรียเสวยราชสมบัติก่อนการมีพระชนมายุครบ 18 พรรษา รัฐสภาจึงผ่านพระราชบัญญัติผู้สำเร็จราชการปี พ.ศ. 2373 (Regency Act 1830) กำหนดให้เจ้าหญิงวิกตอเรีย ดัชเชสแห่งเคนต์ พระชนนีทรงปฏิบัติพระราชภารกิจแทนในฐานะผู้สำเร็จราชการขณะที่พระราชินีนาถยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ อีกทั้งรัฐสภายังมิได้แต่งตั้งคณะองคมนตรีเพื่อจำกัดอำนาจของผู้สำเร็จราชการ สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 มิทรงโปรดดัชเชสแห่งเคนต์เลย และครั้งหนึ่งเคยตรัสว่าพระองค์ทรงมีพระประสงค์จะดำรงพระชนม์ชีพอยู่จนกระทั่งถึงวันประสูติครบรอบ 18 พรรษาของเจ้าหญิงวิกตอเรีย การปกครองโดยผู้สำเร็จราชการจึงไม่จำเป็นต้องไม่มีอีกต่อไป

      เจ้าชายพระสวามี

      เจ้าหญิงวิกตอเรียทรงพบกับเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา พระราชสวามีในอนาคตเมื่อพระชนมายุ 16 พรรษาในปี พ.ศ. 2379  แต่เป็นการพบกันครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2382 ที่พระองค์ตรัสถึงเจ้าชายว่า "...อัลเบิร์ตที่รัก...เขาช่างมีเหตุผล เมตตา ใจดี และอัธยาศัยดีมากเช่นกัน นอกจากนั้นแล้วยังมีลักษณะภายนอกและหน้าตาที่น่าพึงพอใจและน่ายินดีเป็นที่สุดเท่าที่เธอจะเห็นได้เลยล่ะ"  เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงเป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งในเจ้าหญิงวิกตอเรีย โดย เจ้าชายแอร์นส์ที่ 1 ดยุคแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา พระชนกในเจ้าชายทรงเป็นพระเชษฐาของพระชนนีของเจ้าหญิง ในฐานะพระประมุข พระองค์ต้องทรงขอ เจ้าชายอัลเบิร์ตอภิเษกสมรสด้วย การอภิเษกสมรสของทั้งสองถือว่ามีความสุขอย่างยิ่ง ทั้งสองทรงมีชีวิตคู่ที่ค่อนข้างมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง

       

      การอภิเษก

      สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งทรงเป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2383 ณ โบสถ์หลวง พระราชวังเซนต์เจมส์ เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในฐานะ เจ้าชายพระราชสวามี (Prince Consort) แม้ว่าจะไม่ได้ทรงรับการสถาปนาเป็นทางการจนกระทั่งปี พ.ศ. 2400 เจ้าชายมิเคยทรงได้รับบรรดาศักดิขุนนางเลย พระองค์มิทรงเป็นเพียงแค่ผู้ดูแลสมเด็จพระราชินีอย่างใกล้ชิด แต่ยังเป็นที่ปรึกษาทางด้านการเมืองคนสำคัญแทนลอร์ดเมลเบิร์นในฐานะบุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำในชีวิตของพระองค์อีกด้วย

      พระราชสกุล

      สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงอยู่ในราชวงศ์ฮาโนเวอร์ แม้บางคนจะให้ราชสกุล d'Este หรือ Welf กับพระองค์ แต่ก็มิทรงจำเป็นต้องใช้ราชสกุลเหล่านี้ (เชื้อสายพระองค์อื่นในราชวงศ์ฮาโนเวอร์ได้ใช้ราชสกุลฮาโนเวอร์ในประเทศอังกฤษ) ส่วนพระราชสวามีของพระองค์ทรงอยู่ในราชวงศ์แซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธาและหลังจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ราชวงศ์นี้ได้ครองราชสมบัติอังกฤษด้วยตัวบุคคลคือ สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระราชโอรสและรัชทายาทในราชบัลลังก์ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของพวกผู้ดีและเชื้อพระวงศ์ ภรรยาจะไม่ได้รับการเป็นสมาชิกในบ้านของสามี แต่ยังคงเป็นของบ้านตนเองอยู่ ดังนั้นสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียจึงมิได้ทรงอยู่ในราชวงศ์แซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา ในฐานะทรงเป็นสตรีสมรสแล้ว นักวงศ์วานวิทยาได้กำหนดราชสกุลของพระองค์เป็น ฟอน เว็ตติน (von Wettin) ซึ่งอิงหลักฐานจากสำนักงานตราประจำราชตระกูลแห่งอังกฤษ (College of Arms) ดังนั้นบางครั้งพระองค์ทรงเป็นรู้จักว่า อเล็กซานดรินา วิกตอเรีย ฟอน เว็ตติน ราชสกุลเดิม ฮาโนเวอร์

      ขณะที่เจ้าชายทรงอยู่ในราชวงศ์แซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา ราชวงศ์เยอรมันได้สืบเชื้อสายมาจากนสาขาของเจ้าชายเออร์เนสแห่งราชวงศ์เว็ตติน สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงขอให้เจ้าพนักงานกำหนดหาสาขาของเจ้าชายอัลเบิร์ตและราชสกุลในการอภิเษกของพระองค์เองว่าเป็นอันใด หลังจากการตวจสอบบันทึกต่างๆ จากจดหมายเหตุในราชวงศ์แซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา พวกเขารายงานว่าราชสกุลส่วนพระองค์ของพระราชสวามี ในฐานะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมาชิกพระองค์อื่นทั้งในสาขาของเจ้าชายเออร์เนสและเจ้าชายอัลเบิร์ต นั่นคือ เว็ตติน (หรือ ฟอน เว็ตติน) เอกสารต่างๆ ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียยังบันทึกถึงการไม่โปรดชื่อของราชสกุลนี้ไว้อีกด้วย

      สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระราชนัดดาของพระองค์ทรงศึกษาถึงประเด็นดังกล่าวอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งเมื่อทรงเปลี่ยนชื่อราชสกุลและราชวงศ์เป็นวินด์เซอร์ในปี พ.ศ. 2460 สำนักงานตราประจำราชตระกูลได้แจ้งพระองค์ทรงทราบว่าราชสกุลเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงคือ เว็ตติน ในปี พ.ศ. 2501 พระบรมราชโองการตามคำแนะนำของคณะองคมนตรีได้ปรับเปลี่ยนการตัดสินใจในปี พ.ศ. 2460 โดยการให้เชื้อสายในสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 บางพระองค์ใช้ชื่อราชสกุลเป็น เม้านท์แบ็ตเต็น-วินด์เซอร์ การให้ใช้ชื่อราชสกุลนี้ไม่ได้นำมาใช้กับเจ้าชายแห่งเวลส์และพระโอรสทั้งสองพระองค์ แต่แค่ใช้กับเชื้อสายพระองค์อื่นของสมเด็จพระราชินีนาถกับเจ้าชายฟิลิปที่ไม่ได้ขึ้นครองราชสมบัติเพียงเท่านั้น ตามตัวบทกฎหมายแล้ว องค์พระประมุขที่ครองราชย์"ทุกพระองค์"ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 เป็นต้นไปทรงมีพระราชสกุล "วินด์เซอร์" แม้ว่าจะเสด็จพระราชสมภพในพระราชวงศ์หรือไม่ก็ตาม

      การเป็นหม้าย

      เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ได้จากโลกไปด้วยโรคไทฟอยด์  ในช่วงที่เจ้าชายสิ้นพระชนได้สร้างความโทมนัสแด่พระองค์อย่างแสนสาหัส ซึ่งได้ทรงตกอยู่ในสภาพการไว้ทุกข์กึ่งถาวรและฉลองพระองค์เป็นสีดำตลอดพระชนม์ชีพที่เหลือ พระองค์ทรงหลีกเลี่ยงการปรากฏองค์ในที่สาธารณะและไม่ค่อยเสด็จเข้ากรุงลอนดอนในอีกหลายปีต่อมา การหลบพระองค์จากสาธารณชนทำให้ทรงมีพระนามเรียกเล่นๆ ว่า "แม่หม้ายแห่งวินด์เซอร์" พระองค์ทรงเห็นเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ที่ทรงใช้ชีวิตวัยเยาว์อย่างไม่รอบคอบและเหลวไหลไร้สาระ เป็นต้นเหตุของการสิ้นพระชนม์ของพระชนก

      การปลีกพระองค์อยู่โดดเดี่ยวจากสาธารณชนทำให้ความนิยมในระบอบกษัตริย์เสื่อมถอยลงอย่างมาก และแม้กระทั่งผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวของพวกสนับสนุนการเป็นสาธารณรัฐเพิ่มขึ้นไปด้วย แม้ว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย แต่ก็มิได้ทรงมีบทบาทในการปกครองมากเท่าใดนัก ยังคงหลบซ่อนพระองค์อยู่ในพระราชฐานอย่างปราสาทบัลมอรัลในสก็อตแลนด์ หรือ ตำหนักออสบอร์น บนเกาะไวท์ ในขณะนั้นรัฐสภาก็ได้การผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 19 คือ พระราชบัญญัติการปฏิรูปปี พ.ศ. 2410 (Reform Act 1867) ออกมา ลอร์ดพาล์มเมอร์สตันค้ดค้านการปฏิรูปการเลือกตั้งอย่างชนิดหัวชนฝา แต่สมัยการเป็นนายกรัฐมนตรีของเขาหมดลงหลังจากถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2408 ซึ่งเอิร์ลรัสเซลล์ (ซึ่งเป็นลอร์ด จอห์น รัสเซลล์ ในอดีต) ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน จากนั้นก็เป็นลอร์ดดาร์บี้ ซึ่งในสมัยการเป็นนายกรัฐมนตีของเขาก็ได้ผ่านพระราชบัญญัติการปฏิรูปออกมาเป็นผลสำเร็จ

      ปลายพระชนม์ชีพ

      ในปี พ.ศ. 2430 สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ก็ได้จัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย พระองค์ทรงครองราชสมบัติครบรอบปีที่ห้าสิบในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2430 โดยมีการจัดงานเลี้ยงพระกระยาหารซึ่งกษัตริย์และเจ้าชายจากราชวงศ์ในยุโรป 50 พระองค์ทรงได้รับเชิญมา แม้ว่าพระองค์จะมิทรงตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ก็มีการวางแผนไว้อย่างเปิดเผยโดยพวกต่อสู้เพื่ออิสรภาพชาวไอริชที่จะระเบิดมหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถเสด็จไปร่วมในงานขอบคุณพระเจ้า การลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันว่า "The Jubilee Plot" (แผนลอบสังหารในงานกาญจนาภิเษก) วันต่อมาพระองค์ทรงประทับในขบวนเสด็จ ซึ่งมาร์ค ทเวนได้กล่าวไว้ว่า "ทอดยาวไปสุดสายตาตลอดสองข้างฝั่ง" ในช่วงเวลานั้นสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเป็นองค์พระมุขอังกฤษที่เป็นที่นิยมอย่างสูงสุด

      สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียก็ต้องทรงอดทนกับสมัยการเป็นนายกรัฐมนตรีของวิลเลี่ยม เอวาร์ต แกลดสโตนอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2435 หลังจากพระราชบัญญัติปกครองตนเองของไอร์แลนด์ของเขาไม่ได้รับคะแนนเสียง เขาจึงลาออกไปในปี พ.ศ. 2437 แล้วมีผู้มารับหน้าที่แทนคือ ลอร์ดโรสเบอรี่ ซึ่งสังกัดพรรคเสรีนิยมที่สนับสนุนลัทธิจักรวรรดินิยม แล้วมีผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ ลอร์ดซอลส์เบอรี่ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจวบจนกระทั่งสิ้นรัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

      วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2439 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงแซงหน้าสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3ในฐานะที่ทรงเป็นองค์พระประมุขที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ สก็อตแลนด์และสหราชอาณาจักร พระองค์จึงทรงประสงค์ให้เลื่อนการเฉลิมฉลองของประชาชนแบบพิเศษต่างๆ ออกไปถึงปี พ.ศ. 2440 พร้อมพระราชพิธีพัชราภิเษกของพระองค์ นายโจเซฟ แชมเบอร์เลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมได้เสนอว่าพระราชพิธีพัชราภิเษกควรจะจัดให้เป็นการเฉลิมฉลองทั่วจักรวรรดิอังกฤษ

      ดังนั้นนายกรัฐมนตรีของอาณานิคมที่ปกครองตนเองต่างๆ พร้อมกับครอบครัวได้รับเชิญให้มาร่วมในงานฉลอง ในขบวนเสด็จที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงเข้าร่วมประกอบด้วยกองทหารจากอาณานิคมและดินแดนในปกครองอังกฤษแต่ละแห่ง พร้อมกับทารที่ส่งมาจากเจ้าครองรัฐหรือหัวหน้าดินแดนของอินเดีย (ซึ่งขึ้นกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จักรพรรดินีแห่งอินเดีย) การเฉลิมฉลองพระราชพิธีพัชราภิเษกก็ได้เป็นโอกาสที่แสดงถึงความรักอันท่วมท้นอย่างมากต่อสมเด็จพระราชินีนาถในวัย 70 พรรษาเศษ ซึ่งในขณะนั้นได้ประทับอยู่บนรถเข็น

      นักประวัติศาสตร์บางคนคิดว่าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงฉลองพระองค์สีขาวในพระราชพิธีพัชราภิเษกเพียงเท่านั้น ถึงแม้จะมิทรงสีดำอย่างที่ทรงฉลองพระองค์มาตลอดเวลาตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของพระราชสวามี

      ช่วงปลายพระชนม์ชีพของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย สหราชอาณาจักรได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามบัวร์ครั้งที่สอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นจากพระองค์ ชิวิตส่วนพระองค์ก็ทรงพบกับความโทมนัสอยู่หลายครั้ง รวมถึงการสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสทั้งสองพระองค์คือ เจ้าชายอัลเฟรด ดยุคแห่งแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา (ซึ่งก็คือ ดยุคแห่งเอดินเบอระ) และเจ้าชายเลโอโพลด์ ดยุคแห่งออลบานี และพระราชธิดาคือ เจ้าหญิงอลิซ (ต่อมาคือ แกรนด์ดัชเชสพระชายาแห่งเฮสส์) และพระราชนัดดาสามพระองค์คือ เจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ ดยุคแห่งคลาเรนซ์ เจ้าชายอัลเฟรดแห่งเอดินเบอระและแซ็กซ์-โคบูร์กและก็อตธา และเจ้าชายคริสเตียน วิกเตอร์แห่งชเลสวิก-โฮลชไตน์ การปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านพิธีการต่อประชาชนครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2442 เมื่อเสด็จไปในการวางฐานหินสำหรับอาคารหลังใหม่ของพิพิธภัณฑ์เคนซิงตันใต้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ต

      สวรรคต

      ตามธรรมเนียมที่ได้ทรงปฏิบัติมาตลอดตั้งแต่การเป็นหม้าย สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงใช้เวลาในวันคริสต์มาสที่ตำหนักออสบอร์น (เจ้าชายอัลเบิร์ต ทรงออกแบบไว้) อยู่บนเกาะไวท์ พระองค์เสด็จสวรรคตในที่แห่งนั้นด้วยอาการเส้นพระโลหิตแตกในสมองเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2444 สิริพระชนมพรรษา 81 พรรษา ขณะใกล้สวรรคตได้มีพระราชโอรส ซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปและสมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี พระราชนัดดาพระองค์ใหญ่เสด็จมาเฝ้า พระราชโอรสของพระองค์ได้ยกพระศพลงในโลง ซึ่งฉลองพระองค์สีขาวและผ้าคลุมหน้าอภิเษกสมรสอย่างที่ทรงมีพระประสงค์เอาไว้ งานพระราชพิธีศพมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และหลังจากตั้งพระศพไว้ให้ประชาชนเคารพเป็นเวลาสองวัน พระศพของพระองค์ถูกฝังลงเคียงข้างเจ้าชายอัลเบิร์ตในสุสานหลวงฟร็อกมอร์ ปราสาทวินด์เซอร์[6] เนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมิทรงโปรดงานพิธีศพสีดำ กรุงลอนดอนจึงประดับประดาด้วยระย้าที่เป็นสีม่วงและสีขาว ที่จริงแล้วเมื่อพระศพฝังลงในสุสานหลวงฟร็อกมอร์แล้ว หิมะก็เริ่มตกลงมาทำให้พื้นดินกลายเป็นสีขาว ซึ่งทำให้แนวคิดเรื่องงานพิธีศพของพระองค์สมบูรณ์แบบ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงครองสิริราชสมบัติรวมทั้งสิ้นหกสิบสามปี เจ็ดเดือน สองวัน ซึ่งเป็นรัชกาลที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×