รายงานพิเศษชุดนี้ จะมีความยาวติดต่อกันหลายวัน เพราะต้องแจกแจงถี่ถ้วนมากกว่าการเป็นเนื้อข่าว เพราะจะต้องลงไปถึงเนื้อหา โดยแยกเป็นตอนๆ ไปในชื่อเรื่องเดียวกัน และสิ่งที่จะต้องทำในวันแรกหรือตอนแรกนี้ คือการทำความเข้าใจในพื้นฐานองค์รวม เพราะหากว่าขาดความเข้าใจในสิ่งนี้แล้ว คำถามที่จะนำมาซึ่ง “ข่าว” ก็ตามผิด และผู้ที่จะตอบในลักษณะของ “ข่าว” ก็ตอบผิด อันจะหมายไปถึงการวิจารณ์โดยทัศนะ หรือการวิเคราะห์ที่จะต้องมีพื้นฐานของการรู้ความจริง ทั้งข้อมูล ความเป็นไป ความเป็นจริง หรือสิ่งที่จะเกิดตามมา ก็จะพลอยผิดเป็นพวงกันไปทั้งขบวน
แล้วจะกลายเป็นเรื่องอื่น หรือประเด็นอื่น กลายเป็นคนละเรื่องกันไป เริ่มด้วยปัญหาอาณาเขตทางทะเลในอ่าวไทยนั้น บริเวณก้นอ่าวไทยไม่มีปัญหาอะไร เพราะสองฝั่งของอ่าวไทยคือด้านตะวันออก ตะวันตก ด้านเหนือ ก็เป็นราชอาณาจักรไทยทั้งสิ้น การลากเส้นเขตทางทะเล 200 ไมล์ออกไปจากชายฝั่ง ก็เป็นของไทยทั้งสิ้น แต่ใต้ลงไปสู่บริเวณปากอ่าวไทยนั้น ประเทศที่อยู่รอบบริเวณนั้น คือไทย เขมร เวียดนาม และมาเลเซีย ต่อจากนั้นเป็นเขตน่านน้ำสากล เขตทะเลลึก (BLUE SEA)-บลู ซี ไประยะหนึ่งจนพ้นเขตปากอ่าวไทย และเข้าสู่น่านน้ำของมาเลเซียกับบรูไน ต่อไปถึงอินโดนีเซียกับสิงคโปร์และอินโดนีเซีย
ที่ปากอ่าวไทย ได้มีการประกาศน่านน้ำของเวียดนาม (ขณะเป็นเวียดนามใต้) โดยถือปลายสุดของแหลมญวนกับจุดต่อของไทย-มาเลเซีย เป็นจุดวัดน่านน้ำของเวียดนาม (ใต้) ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2514 ด้วยความมุ่งหมายทางสงคราม คือ
กองทัพสหรัฐอเมริกาในเวียดนาม ต้องการให้มีเขตชัดเจนของน่านน้ำเวียดนาม (ใต้) เพื่อครอบคลุมการเคลื่อนไหวของต่างชาติเช่น
กองเรือรัสเซีย (โดยเฉพาะเรือดำน้ำ) กองทัพสหรัฐฯ ได้ถือเป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางทหาร และนั่นเป็นการประกาศเส้นแรกในอ่าวไทย (ตอนปากอ่าว) โดยเส้นที่ประกาศใน พ.ศ. 2514 นี้ ไม่กระทบผลต่อไทยโดยตรง แต่มีปัญหากับมาเลเซียที่ว่า เส้นนี้กินอาณาเขตน่านน้ำของมาเลเซียเข้ามาประมาณ 3 ไมล์ทะเล
เมื่อเวียดนามใต้โดยสหรัฐอเมริกา ประกาศเขตน่านน้ำปลายแหลมญวนแล้ว เขมรซึ่งขณะนั้นปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่เกือบจะเป็นราชาธิปไตย เพราะกษัตริย์นโรดม สีหนุ ควบคุมอำนาจทั้งหมด และไม่เป็นมิตรกับทางสหรัฐอเมริกา (แม้ว่าจะประกาศตัวเป็นกลางในสงครามเวียดนาม) ได้ประกาศเขตน่านน้ำของตนใน พ.ศ. 2515 โดยอาศัยสนธิสัญญาไทยและฝรั่งเศส เมื่อครั้งเขมรอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. 2488 เป็นเครื่องรองรับการประกาศดังกล่าวว่าไทยและฝรั่งเศส ทำสัตยาบันเรื่องเขตแดนอย่างชัดเจนแล้ว โดยทางบกเริ่มตั้งแต่ช่องบก (ตรงข้ามอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี) ซึ่งพรมแดนไทย-ลาว และเขมร มีจุดร่วมกันอยู่ที่นั่น มาตามแนวสันเขาแบ่งเขมรสูงและเขมรต่ำ (เทือกเขาบรรทัด) ผ่านที่ราบบางส่วนโดยแบ่งเขตแดนที่ลำคลองและภูมิประเทศอื่นๆ) ได้ปักปันเขตแดนกันไว้โดยมีหลักเขตเป็นแท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยมขนาด 1 ฟุต สูง 3 ฟุต มีรากฐานของหลัก (ตีนหลัก) อยู่ 74 หลัก โดยหลักที่ 73 อยู่บนบกติดกับทะเล (อ่าวไทย) ที่แหลมสารพัดพิษ ด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเขตจังหวัดเกาะกง ของเขมร และอีกด้านเป็นบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด และยิงแนวเขตแดน (ของเขมร) ออกไปในอ่าวไทย ทำมุมเกือบจะเป็นเส้นตรง แต่เฉียงปลายลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้เล็กน้อย ไปจนถึงเขตกึ่งกลางอ่าวไทย โดยฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตะวันตกอยู่ที่บริเวณอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ขออธิบายโดยไม่มีรายละเอียดถึงละติจูด ลองติจูด หรือองศา ลิปดา ฟิลิปดา แต่เป็นการกล่าวโดยทำให้เกิดความเข้าใจโดยง่ายว่า เขมรประกาศน่านน้ำของตนใน พ.ศ. 2515 จากหลักเขตที่ 73 ไปทางตะวันตกเฉียงใต้เล็กน้อยเหนือเส้นละติจูดที่ 11 ค่อนไปจนถึงเกือบจะถึงละติจูดที่ 12 (แนวนอนตามแผนที่โลก) มาจนถึงลองติจูดที่ 101 (ตามแนวตั้งของแผนที่โลก) ต้นทางของการลากเส้นนั้น อยู่ที่เกือบถึงละติจูดที่ 12 และปลายเส้นที่ค่อนลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้อยู่กึ่งกลางระหว่างเส้นละติจูดที่ 11 และ 12 จะเห็นได้ว่าเป็นมุมเอียงอย่างชัดเจน
เส้นบนสุดนี้มีความยาวจากบก (หรือเขตที่ 73) ออกไปในทะเลประมาณ 185 กิโลเมตร
เส้นที่ประกาศใน พ.ศ. 2515 ของเขมรนี้ ลากเส้นออกไปในทะเล (อ่าวไทย) ผ่านกลางเกาะกูดโดยเส้นที่เขมรประกาศนี้ เท่ากับว่าเขมรอ้างสิทธิเหนือเกาะกูดทางด้านใต้ และเขมรยังอ้างด้วยว่า หลักเขตที่ไทยกับฝรั่งเศสทำสัตยาบันกันไว้นั้นมีอยู่ 74 หลัก โดยหลักบนบกที่ 73 อยู่ที่แหลมสารพัดพิษ และหลักที่ 74 อยู่บนเกาะกูด
จากจุดปลายสุดทางด้านบน เส้นเขตน่านน้ำที่เขมรประกาศ หักลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร แล้วหักกลับไปทางฝั่งแผ่นดินเขมร คือทางตะวันออกเฉียงใต้อีก 80 กิโลเมตร และหักลงจากเหนือลงใต้อีกประมาณ 100 กิโลเมตร แล้ววกกลับไปทางตะวันออกเฉียงใต้อีกประมาณ 170 กิโลเมตร จนถึงจุดหักกลับเข้าแผ่นดินเขมรที่ติดกับเวียดนาม ที่เหนือเส้นละติจูดที่ 8 เล็กน้อย แล้วลากเส้นประกาศขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือไปอีกประมาณ 80 กิโลเมตร
การที่เขมรประกาศเส้นเขตแดน น่านน้ำ จากบนบก (หลักเขตที่ 73) มาตามที่ว่านี้ แล้วมาหยุดอยู่กลางอ่าวไทย ไม่ได้ลากเส้นเข้าหาฝั่ง (คือเขตแดนเขมรและเวียดนาม) อย่างชัดเจน เป็นการประกาศสิ้นสุดเขตอยู่กลางอ่าวไทยไม่มาบรรจบกับฝั่งแผ่นดินนั้น เป็นเพราะแผนที่ของฝรั่งเศส (ตามที่เขมรอ้างว่ารับการปกครองมาจากฝรั่งเศส เมื่อได้รับเอกราชแล้ว) สิ้นสุดเพียงเท่านั้น เพราะฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมปกครองทั้งเขมรและญวน จึงไม่มีการแบ่งเขตน่านน้ำระหว่างเขมรและเวียดนาม (ญวน) ไว้
นี่เป็นการประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียวของเขมร เป็นการอ้างสิทธิทั้งน่านน้ำ และครึ่งหนึ่งของเกาะกูดตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ซึ่งไทยไม่ยอมรับ และไม่ให้ความสนใจต่อการอ้างสิทธินี้ด้วย คือประกาศได้ก็ประกาศไป เกาะกูดทั้งเกาะก็เป็นของไทย เป็นที่อยู่ของคนไทยทั้งหมด และอธิปไตยเหนือน่านน้ำนี้เป็นของไทยโดยชอบ แต่เพียงการประกาศจะมาแบ่งหรือแย่งเกาะกูดไปไม่ได้ การที่เขมรยกเอาแผนที่และสนธิสัญญาเก่าขึ้นมาประกาศซ้ำนี้ นักการทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้ชี้ว่า อาจจะเป็นเพราะแรงกดดันทางทหารอันเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนามในขณะนั้น คือเมื่อเวียดนาม (ใต้) โดยสหรัฐอเมริกาประกาศเขตน่านน้ำเวียดนามปลายแหลมญวน เมื่อ พ.ศ. 2514 ทางเขมรก็ประกาศเมื่อ พ.ศ. 2515 ในทำนองตอบโต้กับสหรัฐอเมริกา คือการทำสงครามเวียดนามนั้น ฐานทัพหลายแห่งของสหรัฐฯ ตั้งอยู่ในไทย มีการลำเลียงอาวุธและยุทธปัจจัยต่างๆ ทางเรือมายังท่าเรือน้ำลึกที่สัตหีบ โดยมีเส้นทางเดินเรือตามที่ปฏิบัติกันมา และเป็นที่ยอมรับทางสากล เมื่อเขมรประกาศเช่นนี้ ก็เหมือนกับเป็นการปิดขวางเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัยของสหรัฐอเมริกา คือถ้าหากเรือจะใช้เส้นทางค่อนไปทางตะวันออกตามปกติ ก็จะเป็นการล้ำน่านน้ำเขมรที่ประกาศเขตออกมาถึง 185 กิโลเมตร จากชายฝั่ง คือเกือบจะถึงกลางอ่าวไทย
เขมรได้แสดงความเป็นเจ้าของน่านน้ำที่ประกาศใน พ.ศ. 2515 นี้ ด้วยการที่ใช้เรือติดอาวุธเข้าล้อมจับ
เรือสินค้าบรรทุกยุทธปัจจัยของสหรัฐฯ ที่มุ่งหน้าสู่สัตหีบลำหนึ่ง เป็นเรือของบริษัทเอกชนผู้รับจ้างมาจากกองทัพเป็นเรือไม่มีอาวุธและทหาร กัปตันและลูกเรือไม่มีชาวอเมริกัน เป็นเรือถือสัญชาติและชักธงปานามา แล้วบังคับให้เรือสินค้าลำนี้เข้าไปเทียบท่าเรือกำปงโสม (สีหนุวิลล์) ทางสหรัฐฯ ได้ยื่นคำขาดกับเขมรว่า มีการกระทำอันเป็นโจรสลัด ทำการยึดคร่าเรือโดยผิดกฎหมาย และขู่ว่าจะใช้กำลังกับเขมรเพื่อนำเรือคืนมา เขมรก็ตอบโต้ว่า เรือลำนี้เข้ามาในน่านน้ำเขมรที่ประกาศไว้เมื่อ พ.ศ. 2515 โดยผิดกฎหมาย จึงต้องใช้กำลังทหารเข้ายึดเรือและลูกเรือไว้
ต่อมาอีก 5 วัน สหรัฐฯ ก็ส่งนาวิกโยธินจำนวนหนึ่งเข้าปฏิบัติการยึดเรือบรรทุกยุทธปัจจัยลำนี้ออกมาจากการควบคุมของเขมรที่กำปงโสมได้ และเรือลำนี้เดินทางต่อมายังท่าเรือน้ำลึกที่เสม็ด สัตหีบได้อย่างปลอดภัย นั่นคือการประกาศออกไปโดย “ข่าว” สู่สากลว่า เขมรได้ถือเอาเส้นเขตแดนที่เขาประกาศเมื่อ พ.ศ. 2515 เป็นเหตุผลในการยึดเรือบรรทุกยุทธปัจจัยของกองทัพสหรัฐฯ อันเป็นการประกาศเขตน่านน้ำของตน ซึ่งไม่มีคนให้ความสนใจนัก ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยการปฏิบัติการดังกล่าว
เมื่อเขมรประกาศเขตน่านน้ำของตนใน พ.ศ. 2515 แล้ว
ใน พ.ศ. 2516 คือปีถัดมา ทางไทยจึงได้มีการประกาศเขตน่านน้ำของเรา โดยยึดหลักเขตที่ 73 หาดสารพัดพิษ เช่นเดียวกับเขมรเป็นจุดเริ่มต้น โดยลากเส้นออกไปในอ่าวไทย ลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตามรูปของอ่าวไทยฝั่งตะวันตก คือในแนวตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาจนถึงแนวของหมู่เกาะอ่างทอง เหนือเกาะพงัน และเกาะสมุย ต่ำกว่าเส้นละติจูดเล็กน้อย อยู่ระหว่างเส้นลองติจูด 101 และ 102 มีระยะทางประมาณ 185 กิโลเมตร แล้วหักไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร และหักไปทางตะวันออกเฉียงใต้อีกประมาณ 70 กิโลเมตร โดยไม่บรรจบกับเส้นใดๆ ที่เขมรประกาศไว้ก่อนเมื่อ พ.ศ. 2515
การที่มีจุดเริ่มต้นที่หลักเขตที่ 73 เหมือนกัน แต่การเล็งไปในอ่าวไทยนั้นต่างกัน คือเส้นของเขมร (พ.ศ. 2515) เส้นจากตะวันออกไปตะวันตกเกือบจะเป็นแนวตรงขนานกับละติจูด โดยการประกาศน่านน้ำของเราทำมุมไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เส้นเขตที่เขมรประกาศกับที่ไทยประกาศ (พ.ศ. 2516) มีความห่างกันประมาณ 225 กิโลเมตร แต่มีแนวหักตรงปลายคือเมื่อหักเข้าฝั่งทางด้านตะวันออกที่เส้นเขมรและไทย ห่างกันประมาณ 40 กิโลเมตรถึง 75 กิโลเมตร จนเกือบจะขนานกันได้ในส่วนปลายเส้น
บริเวณที่มีการทับซ้อนกันนี้ ได้มีการสำรวจพบโดยแผนที่ดาวเทียมและทางธรณีวิทยา ว่าเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบขนาดใหญ่อยู่ใต้ทะเลอ่าวไทย คือบริเวณที่เส้นของเขมร และเส้นของไทยมามีส่วนที่ชิดกันที่สุด คือในบริเวณที่ห่างกัน 40 กิโลเมตรดังกล่าว โดยมีการพบและเปิดเผยกันเมื่อ พ.ศ. 2548 นี้
ทางเขมรก็ว่าบริเวณดังกล่าวเป็นของเขมรทั้งหมด จากการที่ประกาศเขตน่านน้ำ พ.ศ. 2515
ไทยก็ว่าเป็นของเขตไทย และอาจจะเป็นของเขมรในบางส่วน จากการประกาศของไทย พ.ศ. 2516 เขมรอ้างสิทธิตามสนธิสัญญาที่ฝรั่งเศสทำไว้ และจากการประกาศซ้ำเมื่อ พ.ศ. 2515 ซึ่งไทยก็ได้ประกาศไม่ยอมรับการอ้างสิทธิดังกล่าว โดยยืนยันว่าไทยเป็นผู้มีอธิปไตยเหนือน่านน้ำตามประกาศ พ.ศ. 2516 โดยทั้งไทยและเขมรไม่ยอมรับอาณาเขตทางทะเลของกันและกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 และ พ.ศ. 2516 นั้นแล้ว และราชนาวีไทยได้มีกองเรือที่เข้าปฏิบัติการอยู่ในน่านน้ำอาณาเขตทางทะเลที่ประกาศแสดงความเป็นเจ้าของอย่างเต็มที่โดยเปิดเผย
ในการชัดเจนหรือจะตอบคำถามเพื่อเป็น “ข่าว” นั้น จะต้องรู้เหตุผลและความเป็นมาเช่นนี้อย่างชัดเจนถ่องแท้เสียก่อน เพื่อจะได้เป็นคำถามที่ถูกและตอบถูกตามข้อเท็จจริงของเรื่องราว
คำตอบที่ว่า เรายังไม่ได้เสียเกาะกูดหรือยกเกาะกูด (ครึ่งหนึ่ง) ให้กับเขมรนั้นคือความจริง
เพราะเขมรเอาไปไม่ได้ เนื่องจากไทยไม่ยอมรับการประกาศของเขมร เมื่อ พ.ศ. 2515 แต่ต้องมีการยอมรับว่า มีการประกาศจากฝ่ายเขมรเช่นนั้นจริง อันเป็นการ “อ้างสิทธิ” ตามแผนที่ ซึ่งเขาทำแล้วและห้ามเขาไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ไทยประกาศใน พ.ศ. 2516 ว่าเกาะกูดและน่านน้ำบริเวณนั้นเป็นของไทยทั้งหมด ซึ่งไทยเราจะต้องดำรงอยู่อย่างหนักแน่น ยืนกรานว่า เขตน่านน้ำของราชอาณาจักรไทยเป็นเช่นนั้น โดยจะต้องยืนกรานอย่างเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว และประกาศถึงการปกป้องอธิปไตยโดยฝ่ายทหาร (ซึ่งก็กระทำอยู่ในปัจจุบัน โดยกองทัพเรือ) และการประกาศหรือมีแนวทางอย่างชัดเจน โดยกระทรวงการต่างประเทศว่า
เส้นเขตแดนที่เขมรประกาศใน พ.ศ. 2515 นั้น ไทยยอมรับไม่ได้ และไม่สนใจให้ความสำคัญ
ขอให้เขมรยอมรับในเส้นเขตแดนที่ไทยประกาศใน พ.ศ. 2516
ต้องยืนกรานอย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคงเช่นนี้ ซึ่งก็ทำกันมาทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ยกเว้นรัฐบาลปัจจุบันนี้ รัฐบาลครั้งก่อนๆ มีความพยายามมาโดยตลอดที่จะลบหรือให้เขมรยกเลิกการประกาศเส้นเขตแดนใน พ.ศ. 2515 ของเขมรเสีย แต่ก็ไม่มีช่องทางที่จะทำอย่างนั้น เพราะการเจรจากับเขมรโดยตรงทำไม่ได้ เนื่องจากไทยและเขมรตัดความสัมพันธ์ทางการทูตมาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่กรณีเขาพระวิหารเป็นต้นมา แล้วก็มีการตัดกันบ้างกลับมาต่อกันบ้างเป็นระยะๆ แล้วแต่ภาวะความเป็นไปทางการเมืองในเขมร
ครั้งหนึ่ง, เมื่อเปิดความสัมพันธ์กัน หลังจากที่ตัดความสัมพันธ์กันมานานปี
พล.ต.ต.ชนะ สมุทวณิช จากกรมตำรวจ ได้เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำพนมเปญ เป็นคนแรก ก็ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้เป็นผู้ไปเจรจาลบเส้นการประกาศ พ.ศ. 2515 ของเขมร และให้เขมรยอมรับเส้นประกาศเขตแดนของไทย การเจรจาของ พล.ต.ต.ชนะ เป็นไปด้วยดี มีความคืบหน้าเกือบจะเป็นผลสำเร็จ แต่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และรูปแบบการปกครองในเขมรเสียก่อน ซึ่งหากว่างานของ พล.ต.ต.ชนะ ในครั้งนั้นมีเวลายาวพอที่จะให้การเจรจาลุล่วงไป ก็คงจะมีแต่เส้นเขตแดนน่านน้ำไทย พ.ศ. 2516 อยู่เท่านั้น
นี่คือ-ความเป็นจริงในปัญหาเกาะกูดที่มีมาก่อน
รายงานพิเศษในวันต่อไป จะได้กล่าวถึงความเป็นจริงของวันนี้, ไม่ว่า “ทักษิณ” จะกลับหรือไม่กลับ “ทักษิณ” จะอยู่หรือไม่อยู่ พื้นที่ซึ่งเกิดปัญหากรณีเกาะกูดก็จะเป็นรายงานต่อไป และขอให้สังเกตว่า พื้นที่การประกาศของเขมรใน พ.ศ. 2515 นั้น ก็มีลักษณะเป็นเหลี่ยมๆ ซึ่งช่างบังเอิญเสียนี่กระไร ที่มาปูดเอาตอนคนหน้าเหลี่ยมคล้ายพื้นที่นี้ด้วย
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น